เรื่องที่ยังต้องเล่าเพราะไม่อยากให้เขาถูกลืม คุยกับ ‘วสุ วรรลยางกูร’ ถึงชีวิตและสิ่งที่รู้สึกผ่านศิลปะการแสดง

เรื่องที่ยังต้องเล่าเพราะไม่อยากให้เขาถูกลืม คุยกับ ‘วสุ วรรลยางกูร’ ถึงชีวิตและสิ่งที่รู้สึกผ่านศิลปะการแสดง

บ่ายวันหนึ่ง ทีม Mappa เดินทางมาที่ Act it House เพื่อพบกับ ตั๊กแตน-วสุ วรรลยางกูร นักการละครผู้ก่อตั้งกลุ่มละคร Underduck 

เขาคือลูกชายคนที่สองของวัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนชาวไทยที่ใช้งานเขียนสะท้อนเรื่องราวทางการเมืองมากว่าหลายสิบปี และยังเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต้องลี้ภัยจากเหตุการณ์การยึดอำนาจของรัฐประหาร

การเติบโตในบ้านที่มีเรื่องเล่าในป่าเป็นนิทานก่อนนอน หล่อหลอมให้ทั้งวสุ และพี่น้องของเขาเติบโตมาเป็น ‘นักเล่าเรื่อง’ ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งงานศิลปะ งานการสื่อสาร และ ‘การละคร’ ที่เป็นช่องทางการเล่าเรื่องที่วสุสนใจและถนัด

ผลงานที่โดดเด่นอย่างมากของเขาคือการใช้ ‘ละครใบ้’ สื่อสารและขับเคลื่อนในประเด็นเรื่องสันติภาพภายใต้ความเงียบที่ไร้ซึ่งวาจา หากแต่ใช้ภาษาร่างกายในการสร้างผลกระทบและความรู้สึกบางอย่างที่ส่งตรงมาถึงจิตใจของผู้ชม ผ่านการทำงานภายใต้กลุ่มละคร Underduck และการร่วมงานกับกลุ่มเธียเตอร์ B-Floor 

นอกเหนือจากการเติบโตในฐานะลูกชายและพี่ชายคนกลางของบ้าน ต่อด้วยความสนใจในการเล่าเรื่องผ่านศิลปะของเขา และในท้ายที่สุดแล้วนั้นกับการที่วันหนึ่งเขาได้มาเป็น ‘คุณพ่อ’ ของลูกเองเช่นกัน เรื่องราวเหล่านี้มีความเป็นมาอย่างไร และตัวตนของเขาจะเป็นเช่นไร 

ชวนติดตามได้ในบทสัมภาษณ์ ‘โตมายังไง’ และทำความรู้กับ วสุ วรรลยางกูร ได้ที่นี่ ตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป 

ลูกชายคนกลางจากบ้านวรรลยางกูร

ที่เติบโตมากับ ‘เรื่องเล่าตอนเข้าป่า’ ของนักศึกษาเดือนตุลา

วสุเติบโตอย่างใกล้ชิดที่บ้านไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี กับคุณพ่อ คุณแม่ พี่ชาย และน้องสาว ในบ้านที่เต็มไปด้วยหนังสือและเรื่องเล่า 

“คุณพ่อคุณแม่มักจะเล่าเรื่องนักศึกษาเข้าป่าเป็นเหมือนนิทานก่อนนอนกับลูกๆ ทุกคนในพี่น้อง ตุ๋ย แตน เตย ตอนเด็กๆ เรานอนห้องเดียวกันหมด เขาก็จะเล่าว่า พวกเขาเข้าป่าไปทำอะไร พ่อแบกเป้ข้ามภูเขาไปเจอกับแม่ จีบกันผ่านจดหมาย พอเหตุการณ์เริ่มคลี่คลายพวกเขาก็ตัดสินใจออกจากป่ากลับมาใช้ชีวิตในเมือง แม่ก็มาเรียนต่อ ส่วนพ่อก็มาเป็นนักเขียน”

“เรารู้สึกว่ากึ่งๆ เหมือนเป็นนิทาน ซึ่งแน่นอนว่าเขาก็จะเล่าในมุมที่ว่านักศึกษาคือฮีโร่ที่มากอบกู้แต่ถูกไล่เข้าไปในป่า แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่ได้กำหนดกรอบความคิดและความเชื่อของเรา เรายังคงไปโรงเรียน ร้องเพลงชาติ ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีอยู่ อาจด้วยเพราะเราจะคุยกันเป็นเหตุการณ์มากกว่าคุยกันในเชิงโครงสร้าง รวมถึงเขาจะส่งเสริมให้เราหาความชอบหรือสิ่งที่รักเป็นของตัวเองมากกว่า”

“คุณพ่อคุณแม่มีหนังสือจำนวนมาก ซึ่งพวกเขาก็จะสนับสนุนให้เราอ่าน กลางคืนเราก็จะมานั่งอ่านหนังสือด้วยกัน”

วสุยังเล่าว่าพวกเขาได้ดูละครเวทีมาตั้งแต่เด็กๆ โดยเฉพาะ ‘ละครเดือนตุลา’ ในงานรำลึกถึงวีรชนเดือนตุลาฯ ที่หอประชุมเล็กแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกเหนือจากนั้นก็ยังมีลิเกของมะขามป้อม, ละครจากคณะพระจันทร์เสี้ยว และละครชนบท ฯลฯ ที่เป็นเรื่องโปรดของเขา และในหลายครั้งก็ไปเกาะถึงข้างเวทีเพื่อรอชมละครเหล่านั้นอย่างใกล้ชิด

“พอเรามาเรียนละครถึงเข้าใจว่า ละครคือการเล่าเรื่องของผู้คนและการกดทับ ซึ่งสำหรับเรามันคือ ‘ศิลปะเพื่อชีวิต’ มันมีเรื่องราวที่ยังเล่าเพื่อผู้คนที่ถูกหลงลืม ซึ่งมันก็ส่งผลกับเราตั้งแต่ครั้งยังเด็กๆ ถึงแม้ว่าตอนนั้นจะยังไม่ได้อยากเรียนละครอย่างจริงจัง แต่ก็รู้ตัวว่าเราชอบสิ่งนี้จัง” วสุว่า

ในแง่การเติบโตของคนคนหนึ่งนั้น หาก ‘เรื่องเล่าในวัยเด็ก’ สร้างตัวตนบางอย่างของคนเราขึ้นมา วสุเองก็ไม่ต่างกัน การที่เขาได้ฟังเรื่องการเมืองด้านกลับจากกระแสหลัก ทำให้เขาได้ฟัง ‘เสียง’ และเรื่องราวของคนที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง ซึ่งเขาคิดว่า เรื่องราวเหล่านี้มันเด่นชัดเรื่อยๆ เมื่อเขาโตขึ้น โดยที่ทั้งหมดนี้มี ‘คุณพ่อ’ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเติบโต

“ตอนเด็กๆ คุณครูเคยให้วาดรูปขึ้นในการตอบคำถามว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร? เราแอบดูสมุดเพื่อนๆ เขาก็ตอบกันว่า อยากเป็นทหาร ตำรวจ หรือพ่อค้าแม่ค้า ในขณะที่เราเขียนว่าอยากเป็นนักเขียน โดยการวาดรูปคุณพ่อลงไปนั่นแหละ”

เราอยากลองชวนผู้อ่านทุกท่านจินตนาการภาพถึงคุณวัฒน์ถือกระเป๋าแบบเจมส์ บอนด์ ผูกเนกไท ไปพร้อมๆ กัน และนี่คือภาพที่วสุวาดออกไป ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณวัฒน์ในลุคนี้ก็ดูเท่ไม่หยอก แม้ว่าในถัดมาวสุจะเล่าต่อว่า ภาพจริงๆ ของคุณพ่อคือนุ่งผ้าขาวม้าอยู่บ้าน

“จนครูถามว่า ทำไมเราอยากเป็นนักเขียน และนักเขียนคืออะไรสำหรับเรา เราก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ว่าเพราะคุณพ่อบอกเราว่า ‘เขาเป็นนักเขียน’ แล้วเขาก็เขียนหนังสือด้วย จนคุณครูฟังแล้วสนใจเลยจัดทัศนศึกษาให้เพื่อนๆ มาเที่ยวบ้านเรา”

ตอนนั้นรู้สึกเท่ไหม? เราถาม วสุเล่าต่อด้วยรอยยิ้มว่า ในทีแรกก็รู้สึกตกใจและเคอะเขินเล็กน้อย แต่เหตุการณ์นั้นก็เกิดขึ้นเป็นภาพน่ารักๆ ที่เพื่อนๆ ไปเกาะอยู่ตามประตูเพื่อดูคุณวัฒน์เขียนหนังสือในห้องหลังบ้าน ในขณะที่คุณแม่ก็ซื้อนมเปรี้ยวราว 30 ขวดมาแจกเพื่อนๆ ของเขา ซึ่งสำหรับวสุในวันนั้นก็มองว่าพ่อเท่มากกว่าในวันปกติเช่นกัน

หลังจากเติบโตในโรงเรียนต่างจังหวัด เมื่อถึงเวลาของการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย วสุก็ได้คุยกับครอบครัวว่าเขาลังเลในการเลือกสาขาศึกษาต่อว่าจะไปเรียนวรรณกรรมสำหรับเด็กหรือศิลปะการแสดงดี 

“โอย ถ้าจะเรียนวรรณกรรม เรียนเขียนหนังสืออ่านเอาก็ได้เดี๋ยวก็เขียนได้ (ขำ)” วสุเล่าถึงคำตอบของคุณพ่อเมื่อเขาไปปรึกษาเรื่องการเรียน ซึ่งก็ทำให้เขาเลือกเรียนการแสดง และนั่นก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเขาเช่นกัน

ชีวิตและความเป็นมนุษย์ที่ทำความเข้าใจผ่านงานการแสดง

วสุเข้าเรียนในสาขาการแสดงและกำกับการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ท่ามกลางบริบทการเมืองไทยที่ร้อนระอุจากม็อบกปปส. 

“การที่ได้เติบโตมาแบบนั้นมันก็เป็นเบ้าหลอมเราเหมือนกัน ในช่วงเวลาที่การเมืองผันผวนมากๆ เราเองก็สับสนว่า สิ่งที่เราเจอคืออะไร และเราควรไปทางไหน แต่ในขณะเดียวกันพอค่อยๆ มองย้อนกลับมามันก็ดึงเรากลับมาได้” วสุเล่าถึงช่วงที่ออกจากบ้านมาอยู่ด้วยตัวเองที่กรุงเทพครั้งแรกตอนเข้ามหาวิทยาลัย ในบริบทที่เพื่อนๆ รอบข้างเริ่มไปเข้าชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ดีในแง่ของการเรียนละคร ในพาร์ตหนึ่งของการทำงานศิลปะคือการหา ‘สื่อ’ (medium) หรือช่องทางการเล่าเรื่องของตัวเองให้เจอ ซึ่งเมื่อเขาเรียนการแสดงอย่างจริงจังก็ได้เจอกับคุณครูหลายคนในชีวิต เช่น ครูสืบ (บุญส่ง นาคภู่) ที่ในขณะนั้นครูสืบมาทำงานกับคุณพ่อของเขาพอดี ครูสืบจึงติวพื้นฐานการแสดง (acting) ให้ 

“มีมุมมองหนึ่งจากครูสืบที่เรามองว่าน่าสนใจมาก แกเล่าว่า มนุษย์เป็นสิ่งที่แปลก เพราะเรามักจะเลือกเก็บมากกว่าแสดงออกมา หรือเมื่อรู้สึกอะไร มนุษย์มักเลือกปกปิดเอาไว้ก่อนซึ่งมันจะค่อยๆ ถูกเปิดเผยและคลี่คลายขึ้นหลังจากนั้น และมันเป็นความน่าสนใจของการแสดง เพราะเมื่อชมการแสดง เราอาจไม่สามารถตอบได้ทันทีว่า คนที่อยู่ตรงหน้ารู้สึกอะไรอยู่ แต่อาจจะต้องอาศัยการตีความเพิ่มเติม และอยู่ที่ว่าเขาจะเลือกให้เราเห็นแค่ไหน”

ต่อมาเมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย วสุได้พบกับ ครูอั๋น (ไพฑูรย์ ไหลสกุล) นั่นจึงทำให้เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับ ‘ละครใบ้’ อย่างลึกซึ้ง

“ละครใบ้เป็นโลกใบใหม่สำหรับเรามากๆ เพราะเป็นละครที่ใช้ทั้งร่างกาย ซึ่งการเป็นนักแสดงเราไม่จำเป็นต้องอยู่บนเวทีตลอดเวลา เราเล่นข้างถนนได้ และความท้าทายคือเราจะเล่าเรื่องอย่างไรเพราะว่ามันมีแค่ตัวเรา” 

“ละครใบ้คือการใส่ใจกับการทำสิ่งที่ไม่มีอยู่ให้มันปรากฏขึ้น และเราต้องละเอียดกับมัน รู้สึกในทุกๆ ขั้นตอน เพื่อให้คนดูรู้สึกไปด้วย ซึ่งพอคนดูเริ่มรู้สึกตามกับสิ่งที่เราสร้างขึ้น มันยิ่งเหมือนเป็นความมหัศจรรย์ เพราะเราไม่ได้ต้องเล่ามันทั้งหมดแต่มีที่ว่างให้ระหว่าง ‘การตีความร่วมกัน’ อยู่”

“เวลาที่ทำงานละครมันก็ต้องมาจากชีวิตและการพูดความจริง เป็นงานศิลปะที่เป็นแสงตะเกียงให้กับคน สำหรับเราคือ ‘เล่า’ แล้วอะไรเปลี่ยนแปลง และนั่นไม่ใช่การมานั่งใช้เวลาแล้วมองว่าเป็นความบันเทิงที่สนุกจัง”

“แต่ปัญหาคือเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างบางอย่างของประเทศไทยที่อาจจะไม่เอื้อให้คนทำงานศิลปะขนาดนั้น เด็กละครมักชอบพูดกันว่า จบไปแล้วจะทำอะไรดี มันก็ค่อนข้างสะท้อนบางอย่างอยู่เหมือนกัน หรือกระทั่งมายาคติบางอย่าง เช่น คนไทยไม่ชอบดูการแสดงหรอก เพราะมันไม่ใช่วัฒนธรรมของเรา มันไม่ใช่มหรสพแบบที่เราจะดู แต่สำหรับผมมองว่าเป็นเราเองต่างหากที่ต้องหาคนดูของเราให้เจอ”

วสุยังเล่าแง่มุมที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกว่า การเรียนการแสดงนั้นเป็นกระบวนการที่ต้องมีการฝึกฝนและทำความเข้าใจกับมันอย่างลึกซึ้ง ซึ่งสำหรับเขามองว่า เรื่องราวเหล่านี้มี ‘เรื่องเล่า’ เป็นส่วนสำคัญ เพราะการเรียนการแสดงนั้นได้ฝึกฝนให้สำรวจไปถึงสภาวะของตัวเรา ความเป็นมนุษย์ และอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ‘การเข้าใจตัวละคร’ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ฝึกทักษะการเข้าถึงใจอย่างไม่ใคร่ตัดสิน (empathy skill) ได้อย่างดีที่สุดในแง่หนึ่ง เพราะต้องทำงานผ่านการตีความ

‘เรื่องที่ต้องเล่า’ และเขาในฐานะ ‘ศิลปิน’ ที่เป็น ‘นักรู้สึก’

การทำงานศิลปะมันเกี่ยวข้องกับความรู้สึก ศิลปินจึงทำงานในฐานะ ‘นักรู้สึก’  ผ่านการมีเรื่องราวที่อยากเล่า ซึ่งในหลายครั้ง เรื่องราวเหล่านั้นคือสิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบชีวิต ความรู้สึก และประสบการณ์ของวสุเอง

เพราะเหตุใดจึงอธิบายว่า ศิลปิน = นักรู้สึก? คำตอบของวสุนั้นเรียบง่ายหากแต่ทรงพลัง “การทำงานศิลปะคือการที่เรากำลังพูดในสิ่งที่เรากำลังคิด กำลังเห็น กำลังรู้สึก และมันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะถ่ายทอดมันออกมาให้คนดูรู้สึกได้ หากเราเพิกเฉยหรือเลี่ยงที่จะรู้สึกกับมัน เราเห็นความอยุติธรรม เห็นปัญหาเดิมๆ ซ้ำๆ ที่ยังไม่ถูกแก้ เรารู้สึกว่า เรา ‘ทน’ กับมันไม่ได้”

ในช่วงชีวิตที่ผ่านมาวสุไม่ปฏิเสธว่า เขา ‘รู้สึก’ กับเรื่องของคุณพ่อเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ตอนที่คุณแม่ของเขาเสีย คุณพ่อก็ตัดสินใจขับเคลื่อนในประเด็นเรื่องการเมืองอย่างเต็มที่จนกระทั่งต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งวสุเองก็มีโอกาสไปเยี่ยมคุณวัฒน์ทั้งที่ลาวและกัมพูชา และได้รู้จักกับผู้ลี้ภัยทางการเมืองในแคมป์เดียวกันกับคุณวัฒน์อีกหลายคน 

“มาวันหนึ่งคนนี้ถูกอุ้มหายไป อีกคนหายสาบสูญ พอกลับไปและกลับมาอีกครั้งอีกหลายคนก็หายไปแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รู้สึกมากในตอนนั้น จริงๆ แล้วแม้กระทั่งตอนนี้…”

“เราเคยฟังเรื่องที่พ่อแม่เล่าตอนเด็กหลายเรื่อง อย่างเรื่อง 6 ตุลาฯ นักศึกษาเข้าป่า ถึงแม้ว่าตอนนั้นจะได้ฟังทั้งเรื่องเล่า ดูภาพและวิดีโอเหล่านั้น ไปงานรำลึกทุกปี เราคิดว่าเรารู้สึกกับสิ่งนี้แต่ก็ยังเป็นในเชิงของคนที่ไม่ได้เกิดทัน

“แต่พอเป็นเรื่องของผู้ลี้ภัย เรายิ่งรู้สึกกับมันมากขึ้นเพราะเราอยู่ในเรื่องนี้ด้วย เป็นคนหนึ่งที่ไปเห็นหน้าสบตาเขา แม้กระทั่งเพื่อนรุ่นๆ เดียวกันที่สนิทและทำละครด้วยกัน ก็ต้องติดคุก คือเรารู้สึกกับมันมากจริงๆ ยิ่งคุณพ่อป่วยและเสีย เราก็ยิ่งรู้สึกจม จมลงไปในเรื่องราวเหล่านั้นจนแทบไม่เข้าใจว่า ทำไมเรื่องนี้ต้องเกิดขึ้นกับเรา ทำไม ทำไม”

“เหมือนกับว่าเราดู journey ชีวิตเรา บางทีเราแอบชอบคิดเล่นๆ ว่า ชีวิตมันมี story บางอย่างที่เขียนเอาไว้ หากชีวิตนี้เหมือนภาพยนตร์ ตอนเด็กๆ ก็คงเป็นชีวิตที่อบอุ่น ได้อ่านวรรณกรรมเด็ก ใช้ชีวิตที่บ้านอยู่ใกล้น้ำตก เลิกเรียนไปเตะบอล ไปกระโดดเล่นแม่น้ำแควแล้วก็กลับมากินข้าวกับที่บ้าน ถึงแม้จะไม่ได้ร่ำรวยหรูหราแต่ก็เป็นชีวิตที่สมบูรณ์มากๆ ที่ได้อยู่กับครอบครัวและเพื่อนๆ

พอโตมาคือหักมุมแบบ 360 องศา จนบางครั้งก็รู้สึกสับสนเหมือนกันว่า หากชีวิตนี้คือสิ่งที่ถูกเขียนเอาไว้ นี่คงเป็นเรื่องตลกมากที่มันจบลงแบบนี้ ผมเคยคิดอย่างนั้น

แต่พอมาย้อนดูอีกทีจริงๆ มันก็ยังไม่ได้จบ” วสุว่า

การต่อสู้ ความยุติธรรม และความหวังใน ‘ไข่ใบสุดท้าย’

“เวลาเล่าเรื่องชีวิตตัวเอง มันอาจจะยังมีบางส่วนที่อาจจะยังรู้สึกเจ็บปวดกับบางรอยแผลในชีวิต แต่เมื่อได้สื่อสารและเล่าออกไป มันมักจะมีบทสรุปหรือข้อความบางอย่างกลับมาเสมอ”

“เคยมีจุดที่เราไม่เข้าใจว่า ทำไมคุณพ่อถึงเลือกวิธีนี้ เขาไม่เคยถามเราหรือครอบครัว ตอนนั้นเราก็ไม่เข้าใจหรอก แต่เราก็รู้ว่าเขาเลือกแล้วจริงๆ”

“สำหรับครอบครัว เขาคือวีรชน แต่ลึกๆ มันคือการพรากจากกัน และเราไม่ได้เตรียมใจขนาดนั้น จนกระทั่งตอนที่เขาบอกว่า เขาจะไม่ได้กลับมาที่เมืองไทยแล้ว สิ่งที่ทำได้หลังจากนั้นมันคือการประคับประคองกัน ผ่านการไปมาหาสู่และพูดคุยกัน”

‘ไข่ใบสุดท้าย’ คือละครที่ว่าด้วยกลุ่มอัศวินที่ปกป้องไข่ใบหนึ่งจากมังกร ซึ่งเป็นเรื่องราวที่วสุสะท้อนถึงประสบการณ์ของผู้ลี้ภัยทางการเมือง ที่ตั้งคำถามว่า ในโลกที่ดูจะไร้ซึ่งความยุติธรรมนั้น ท้ายที่สุดแล้ว ‘เสรีภาพ’ จะกลับมาหาเราหรือไม่ ซึ่งเขาเล่าเรื่องราวเหล่านี้ทั้งในฐานะนักเล่าเรื่อง นักแสดงละครเวที และลูกชาย ที่เขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะช่วยกระตุ้นให้ผู้คนรับรู้ว่า ‘เรา’ ควรมีสิทธิเสรีภาพในการพูดและแสดงออกอย่างสันติ รวมถึงเราสามารถตั้งคำถามต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือความอยุติธรรมได้ และท้ายที่สุดแล้วนั้น เราเองยังสู้ได้อย่างไม่ท้อถอยด้วยการมีความหวัง

วสุเล่าเรื่องไข่ใบสุดท้ายอยู่หลายครั้ง และยอมรับว่า สิ่งที่คุณพ่อเลือกและทำคือความกล้าหาญ

“ถึงจุดหนึ่งเราถึงรู้ได้ว่า ที่จริงแล้ว พ่อมีชีวิตของเขา เราก็มีชีวิตของเรา มันเป็นความผูกพันกันก็จริง แต่มันก็เป็นความผูกพันที่ทุกคนมีสิทธิเลือกว่า เราจะมีชีวิตและอยู่ไปเพื่ออะไร”

ปัจจุบันและบทถัดไปของชีวิตในฐานะ ‘คุณพ่อ’ ที่ให้อิสระในฐานะผู้สนับสนุนการเติบโตของลูก

วสุมีลูกในช่วงหลังที่คุณพ่อของเขาจากไปแล้วไม่นานนัก เขาเล่าว่า ในบางครั้งเมื่อเห็นรูปของลูกตัวเองก็จะคิดถึงคุณพ่ออยู่ตลอด ซึ่งสำหรับเขาเองถึงจะเป็น Wednesday’s child boy ที่คุณพ่อเคยล้อว่า เพราะเป็นลูกคนกลางจึงขี้งอน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เมื่อวสุกลายมาเป็นคุณพ่อบ้างแล้วจริงๆ เขาก็เข้าใจเลยว่า ไม่มีพ่อแม่คนไหนหรอกที่จะไม่รักลูก

เราถามไปว่า คิดว่าเขาเองจะเป็นพ่อแบบไหน เขาตอบแบบไม่ลังเลใจว่า นี่เป็นคำตอบที่ตอบยากมากๆ แต่ถึงจะไกด์ไลน์ชีวิตให้ในเบื้องต้นได้อย่างไร ‘การปล่อยให้เขาเป็นอิสระ’ คือสิ่งที่สำคัญมากที่สุดที่เขาจะมอบให้ลูก

“เราอาจจะแนะนำโลกใบนี้ให้เขารู้จักได้ แต่สุดท้ายเขาก็ต้องเป็นคนตัดสินใจเลือกเองอยู่ดีว่า จะไปมีชีวิตแบบไหนยังไง ซึ่งมันคงเป็นภาพเดียวกับที่เราโตมานั่นแหละ ที่การไม่ได้ถูก shape บางอย่างมาคือวิธีการเลี้ยงลูกที่ดีที่สุดแล้ว ฟังดูอาจจะน่าเป็นห่วงสำหรับพ่อแม่ไปบ้าง แต่เราคิดว่า อย่างไรเด็กๆ เขาก็มีวิธีเข้าใจโลกในแบบของเขา”

“เรามีหน้าที่พาเขามาเห็นมาดูผ่านการใช้ชีวิตมากกว่าที่จะไปบอกเขาว่า เขาจะต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้”

ในฐานะนักแสดงและคุณพ่อ เขามักจะชวนลูกไปดูละครด้วยกันตามงานต่างๆ ซึ่งวสุมองว่า เด็กๆ มีความช่างสังเกตและเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าผู้ใหญ่ในบางครั้งเสียอีก ถึงแม้ว่าเด็กเล็กๆ อาจจะยังไม่สามารถเล่าอธิบายภาพบางอย่างออกมาเป็นคำพูดอย่างละเอียดได้ แต่สิ่งเหล่านั้นมันจะอยู่ในความรู้สึกและความทรงจำของเขาอยู่เสมอ และมันจะเป็นไปอย่างซื่อตรง

‘สายวสันต์ วรรลยางกูร’ คือชื่อของเด็กน้อยคนนี้ และยังเป็นชื่อเดียวกันกับที่คุณวัฒน์ตั้งให้วสุเมื่อครั้งยังเด็ก ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นชื่อปัจจุบัน

“เราจะรู้สึกเวลาเรียกชื่อเขา เพราะเราจะระลึกถึงคุณพ่อไปด้วยว่า ชื่อนี้คือชื่อที่เขามอบให้เรา วันนี้เราก็มอบให้ลูกชายของเราอีกที” วสุว่าด้วยรอยยิ้มบางๆ

เขายืนยันว่า จะยังคง ‘เล่า’ เรื่องราวเหล่านี้ต่อๆ ไปในฐานะนักแสดงและนักการละครเวที ทั้งเรื่องบ้านเมือง เรื่องของคนรุ่นเก่าๆ และแน่นอนที่สุด เรื่องของคุณปู่และคุณย่า

ในฐานะ ‘คุณพ่อ’ เขาจะเล่าทุกอย่างให้ลูกชายฟังถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยการเล่าเป็นนิทาน หากแต่ไม่ได้เล่าด้วยความรู้สึกน่ากลัว แต่อยากให้ฟังแล้วรู้สึกกล้าหาญ รู้ว่าครอบครัวผ่านอะไรมาบ้าง ให้รู้ว่า เพราะเหตุใดคุณปู่จึงตัดสินใจเช่นนี้ รวมถึงชีวิตของคุณปู่อื่นๆ ด้วยความรักและคิดถึง

“เราชอบถามเขาเวลาเจอฟ้าร้องว่า แบบนี้กลัวไหม เขาก็บอกว่าไม่กลัว แต่ก็จะตัวสั่นและวิ่งมากอด แต่กับเด็กๆ เราคิดว่า หากเราไม่กลัวเขาก็จะไม่กลัว ถ้าเราเล่าบางอย่างด้วยความรู้สึกแบบใดไป เขาก็จะรู้สึกเช่นนั้นไปด้วย เรื่องนี้ก็ไม่ต่างกัน มันไม่ใช่ภาพที่น่ากลัว แต่เป็นเรื่องราวที่เขาพูดถึงมันได้ เอาไปเล่าต่อได้ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องปิดบังซ่อนเร้นหรือห้ามพูดถึง เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ว่า มันเกิดขึ้นแล้ว”

ในฐานะนักเล่าเรื่อง นักแสดง และนักการละคร เขาก็จะขยับไปเล่าเรื่องราวใหม่ๆ ที่กว้างขึ้น เป็นเรื่องของทุกๆ คน ที่อาจไม่ได้ตั้งต้นจากประสบการณ์หรือชะตาชีวิตของเขาอีกแล้ว ซึ่งล่าสุดในปีนี้ (2567) เขาก็ได้เริ่มทำงานขับเคลื่อนในประเด็นเชิงสิ่งแวดล้อมในลุ่มแม่น้ำโขง โดยที่เขาเองก็มองว่า แทบทุกเรื่องที่เป็นปัญหาในประเทศไทยนั้นล้วนเกิดจาก ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ แทบทั้งหมดที่ถึงแก้เพียงเรื่องเดียวอาจยังไม่สำเร็จ

และในท้ายที่สุดนี้ วสุคิดว่า สิ่งที่เขาและครอบครัวของเขาเจอนั้นอาจไม่ได้กำหนดชะตาชีวิตเขาขนาดนั้น อาจเป็นบทเรียนหนึ่งในชีวิตที่เขาเองก็ต้องสรุปบทเรียนกับมัน โดยที่เขาจะไม่วนอยู่ซ้ำๆ กับสิ่งเดิม กับงานละครก็เช่นกัน

“ถึงแม้ว่าตอนนี้จะยังไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ ขอแค่เราตั้งใจไว้ก็พอ สำหรับวิธีการเราหามันได้ใหม่อยู่ตลอด” วสุทิ้งท้าย

Writer
Avatar photo
มิรา เวฬุภาค

Writer
Avatar photo
รุอร พรหมประสิทธิ์

หนังสือ ไพ่ทาโรต์ กาแฟส้ม แมวสามสี และลิเวอร์พูล

Photographer
Avatar photo
ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

illustrator
Avatar photo
Arunnoon

มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด

Related Posts

Related Posts