Self-directed Play ‘การเล่น’ ที่ให้เด็กๆ เป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

Self-directed Play ‘การเล่น’ ที่ให้เด็กๆ เป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

‘การเล่น’ (Play) ถือเป็นงานของเด็ก และเรารู้กันดีว่า การเล่นมีประโยชน์ต่อเด็กๆ ทั้งร่างกาย จิตใจ ที่จะส่งผลไปถึงความมั่นคงทางตัวตน อารมณ์ และสังคม อีกทั้งการเล่นยังเป็นการเรียนรู้ที่ดีในรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยม เพราะในหลายต่อหลายครั้งไม่ว่าจะเรียนรู้อย่างตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่การเล่นก็มักจะนำพาให้เราไปเจอบทเรียนใหม่ๆ บางอย่างอยู่เสมอ

การเล่นแบบเด็กเป็นผู้นำ (Self-directed Play) เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้การเล่นเพียงหนึ่งครั้งอาจได้อะไรมากกว่าที่คิด แถมยังให้พวกเขาได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งการเล่นในรูปแบบนี้เกิดจากความกระตือรือร้นและ ‘ความอยาก’ ของเด็กๆ เองที่ถูกกระตุ้น 

พวกเขาสามารถสร้างโลก กฎเกณฑ์บางอย่าง และใช้อิสระในการวาดจินตนาการได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการเล่นในห้วงเวลาดังกล่าวเหล่านั้นจะช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ และสรรค์สร้างตัวตนในแบบของตัวเองได้อย่างแท้จริง

ปีเตอร์ เกรย์ (Peter Gray) นักจิตวิทยาและผู้เขียน Free to Learn : Why Unleashing the Instinct to Play Will Make Our Children Happier, More Self-Reliant, and Better Students for Life นิยามถึงการเล่นแบบ Self-directed Play เอาไว้ว่า “การเล่นในแบบที่พ่อแม่ คุณครู หรือผู้ใหญ่รอบข้างเด็กๆ กำหนดเอาไว้ ไม่ใช่การเล่นแบบอิสระที่แท้จริง และนั่นอาจทำให้เด็กๆ ถูกลิดรอนเสรีภาพในการเล่น”

เกรย์ยังมองว่า ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 จนถึงปัจจุบัน เวลาการเล่นของเด็กๆ ลดน้อยลง ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด หากแต่เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่กำลังบอกอะไรกับเราบางอย่าง เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรือกระทั่งปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับมวลอารมณ์และความเครียด ซึ่งนอกเหนือจะส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตของเด็กๆ แล้ว นั่นก็จะส่งผลต่อตัวตน และทักษะทางสังคมของเด็กๆ ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งหากการเล่นอิสระลดน้อยจนหายไป นั่นอาจเป็นการกีดกันเด็กๆ ให้ขาดการเรียนรู้ก็เป็นได้

“เด็กต้องเป็นผู้นำ ไม่ใช่ผู้ใหญ่”

นี่คือเงื่อนไขข้อเดียวสำหรับการเล่นแบบ Self-directed Play และในช่วงขวบปีแรกๆ ของชีวิต เราในฐานะผู้สนับสนุนการเล่นของเด็กๆ อาจลองปล่อยให้พวกเขาได้ใช้เวลากับการเล่นด้วยตัวเองอย่างเต็มที่

ซึ่งนอกเหนือไปจากนั้น ในช่วงขวบปีดังกล่าวยังเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเหม็งของเด็กๆ ในการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า EF (Executive Functions) ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำ ซึ่งองค์ประกอบพื้นฐานของ EF นั้นมี 3 อย่างได้แก่ ความจำขณะกระทำ, การยับยั้งชั่งใจตนเองในแต่ละสถานการณ์ และความยืดหยุ่นในกระบวนการคิด ซึ่ง EF จะควบคุมกระบวนการข้างต้นนี้ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ครูหม่อม (ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร) ผู้ผลักดันให้ EF ได้เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมในไทย ได้อธิบายถึง EF เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

“EF คือกระบวนการการทำงานของสมองส่วนหน้า ใช้กำหนดความคิด อารมณ์ พฤติกรรม เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ถามว่ากรณีไหนบ้างล่ะที่เราต้องกำกับสิ่งเหล่านี้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เด็กคนหนึ่งร้องไห้ ถ้าเราอยากให้เขาหยุดร้องไห้ เราต้องกำกับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมเขา นี่คือ EF

“การจะสอนเด็กคนหนึ่งให้มีความรับผิดชอบ ควบคุมอารมณ์ เจอปัญหาที่ท้าทายแล้วควบคุมอารมณ์ให้อยู่กับปัญหา ล้มแล้วลุกได้ สิ่งเหล่านี้ต้องพึ่ง EF ทั้งหมด นั่นเป็นเหตุผลที่ครูออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ ถ้า EF เด็กไม่ทำงาน สิ่งที่เราอยากสอนเขาจะไม่ติดเป็นนิสัย เพราะ EF คือสมองของเขา ถ้าสมองส่วนไหนทำงานซ้ำๆ มันจะกลายเป็นนิสัย บุคลิกภาพ ทักษะ และนิสัยที่ดี

“สิ่งที่ครูเน้นย้ำกับผู้ปกครองและครูผู้สอนบ่อยๆ คือกระบวนการการทำงานของ EF ซึ่งเวลาที่ EF จะทำงานนั้นจะมีการดึงประสบการณ์เดิมมาประมวลผลก่อนเพื่อกำกับอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมเพื่อไปถึงเป้าหมาย พูดง่ายๆ คือต้องมีประสบการณ์เดิมที่ถูกดึงไปให้เด็กได้คิด วิเคราะห์ ตัดสินใจ ควบคุมอารมณ์และวางแผน เพื่อลงมือทำอะไรบางอย่างกับสถานการณ์ปัจจุบัน”

ซึ่งการเล่นแบบ Self-directed Play นั้นถือเป็นสิ่งที่สอดคล้องกันอย่างแยกไม่ขาดกับการพัฒนา EF  เพราะการที่เด็กๆ ได้ทดลองเป็นผู้ริเริ่มและกำหนดการเล่นได้ด้วยตัวเองนั้น ผนวกกับการพัฒนาสมองในส่วนดังกล่าว จะช่วยเพิ่ม ‘ทักษะการจัดการและบริหารชีวิต’ ในด้านต่างๆ เพื่อให้ประสบความสำเร็จในแบบที่อยากได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ก็จะยิ่งทำให้เกิดการเรียนรู้ ปรับตัว และแก้ปัญหาเป็น 

เราอาจเริ่มต้นสร้างสรรค์การเล่นแบบ Self-direcrted Play ง่ายๆ อย่างการสนับสนุนให้เด็กๆ ได้เล่นอย่างที่ใจอยาก อาจจะชวนตั้งเป้าหมายโดยให้พวกเขาเองเป็นคนกำหนด โดยที่เราเองก็เป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ในฐานะคนที่คอยสนับสนุนการเรียนรู้ ให้คำปรึกษา และสร้างสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยกับการลองผิดลองถูก ซึ่งนอกเหนือจากจะเป็นการสนับสนุนให้เด็กๆ เป็นผู้เรียนรู้เชิงรุก (active learner) แล้ว ยังช่วยให้พวกเขาเห็นแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) แม้ว่าในวันหนึ่งเขาจะไม่ได้เป็นเด็กอีกต่อไปแล้วก็ตาม

อ้างอิง :

https://www.edmentum.com/intl/articles/self-directed-play/
https://uwaterloo.ca/centre-for-teaching-excellence/catalogs/tip-sheets/self-directed-learning-four-step-process
https://www.thegeniusofplay.org/genius/expert-advice/articles/the-evolutionary-importance-of-self-directed-play.aspx
https://mappamedia.co/posts/panadda-ef
https://www.twinkl.co.th/teaching-wiki/thaksa-ef
https://www.facebook.com/InnerArttoAesthetics/photos/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81-self-directed-play-in-the-waldorf-kindergarten-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2/1030807815032944/?_rdr
https://www.educathai.com/knowledge/articles/535

Writer
Avatar photo
ภาพตะวัน

แสงแดดยามเช้า กาแฟหนึ่งแก้ว และแมวหนึ่งตัว

illustrator
Avatar photo
ลักษิกา บรรพพงศ์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรีส์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเป็นทาสแมว

Related Posts

Related Posts