พื้นที่ที่คำถามดีพอ จนคำตอบอาจไม่จำเป็น : บทสัมภาษณ์ ดร.พีรจุฬา จุฬานนท์

พื้นที่ที่คำถามดีพอ จนคำตอบอาจไม่จำเป็น : บทสัมภาษณ์ ดร.พีรจุฬา จุฬานนท์

Mappa มีโอกาสได้พบคุณภู ดร.พีรจุฬา จุฬานนท์ และครอบครัว ในกลางวันที่ร้านอาหารไทยใจกลางกรุงเทพ ในช่วงที่คุณภู เดินทางกลับมาเยี่ยมครอบครัวที่เมืองไทย

คุณภูได้รับทุนการศึกษาด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยฮุมโบลท์ ประเทศเยอรมนี และศึกษาต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเขาใช้ชีวิตเป็นนักวิชาการด้านปรัชญาและอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัย Toronto Metropolitan University ประเทศแคนาดา และแม้ดูเหมือนการเรียนของเขาจะดูไปถึงจุดสูงสุดของระบบการศึกษาแล้ว แต่เขายังคงมุ่งมั่นศึกษาตั้งคำถามเกี่ยวกับมนุษย์ สังคม และความหมายของชีวิตอยู่เสมอ

สำหรับเรา การสนทนานี้จึงไม่ใช่แค่บทสัมภาษณ์ หากคือโอกาสพิเศษในการร้อยเรียงความทรงจำของการเติบโต การตั้งคำถาม และความคิดเห็นต่อระบบการศึกษาและการเติบโตของเด็กไทย และสิ่งที่น่าตื่นเต้นในการพูดคุยกับเขาครั้งนี้ อาจไม่ใช่คำตอบเชิงปรัชญาที่เขามอบให้ แต่คือวิธีที่เขาชวนเราเดินไปรอบคำถาม หยิบมาพลิก พิจารณา และชวนเรามองมันใหม่ด้วยสายตาที่เปิด และความคิดที่อ่อนโยน เต็มไปด้วยระลอกคลื่นของความคิด 

ชวนหยิบกระดานโต้คลื่น แล้วค่อยๆ คุยไป โต้ไปกับคุณภู ดร.พีรจุฬา จุฬานนท์ ได้ตั้งแต่ตอนนี้

ระลอกที่ 1: เด็กชายชอบตั้งคำถามที่ได้รู้ว่าภายใต้ข้อเท็จจริงที่คิดว่าจริงที่สุดแล้ว ก็ยังมีคำถามซ่อนอยู่อีก

“จริง ๆ จะบอกว่ามันไม่ได้เกิดจากความตั้งใจเลย” เขาเริ่มเล่าเมื่อเราถามถึงจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายความคิด “เหมือนว่าโอกาสพามา แล้วเราก็เลือกสิ่งที่เราสนุกกับมันที่สุดในตอนนั้น”

คุณภูเล่าย้อนถึงเรื่องราวในวัยเยาว์ที่กรุงเทพฯ ที่ซึ่งความสนใจใคร่รู้ในโลกวิทยาศาสตร์ได้จุดประกายความคิดระลอกแรก  “จริงๆ ผมหันมาสนใจปรัชญาผ่านทางวิทยาศาสตร์ สมัยเรียนมัธยมผมสนใจวิทยาศาสตร์ เคยอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์” เขาเล่าถึงเมื่อครั้งเป็นเด็กสายวิทย์เต็มตัว คุณภูเล่าว่าเขาชื่นชอบการทดลองในห้องแล็บ การค้นพบกฎธรรมชาติใหม่ๆ และเคยคิดว่าชีวิตนี้คงจะมุ่งสู่อาชีพนักวิทยาศาสตร์

ทว่าจุดเปลี่ยนสำคัญได้เกิดขึ้นเมื่อเขาได้ลองหยิบหนังสือ ปรัชญาวิทยาศาสตร์ เล่มหนึ่งขึ้นมาอ่าน หนังสือเล่มนั้นตั้งคำถามพื้นฐานที่สะกิดใจเขาว่า มันมีอะไรสักอย่างบนโลกนี้ไหมที่เราเชื่อได้อย่างสนิทใจว่ามันเป็นจริง?” คำถามดังกล่าวเปิดประตูสู่โลกความคิดใหม่ที่กว้างขวางกว่าเดิม คุณภูค้นพบว่าภายใต้ความแม่นยำของสูตรคำนวณและข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ยังมีคำถามเชิงปรัชญาซ่อนอยู่ เช่น เรารู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่วิทยาศาสตร์บอกเรานั้น “จริง” จริงๆ

“พอเราเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่วิทยาศาสตร์อ้างว่ามันเป็นจริง ว่าแท้จริงแล้วมันจริงหรือเปล่า นั่นเลยเป็นจุดหักเห” คุณภูอธิบายถึงห้วงเวลาสำคัญที่ทำให้เขาเปลี่ยนทิศทางชีวิต จากที่เคยมุ่งแต่จะสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์ ก็เริ่มหันมาสนใจศาสตร์ใหม่ที่ไม่เคยคิดฝันมาก่อน “ก่อนจะเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้ลึกซึ้ง เราต้องมาถามก่อนนะว่า อะไรคือรากฐานของมัน?” เขาย้ำถึงคำถามที่ผลักดันให้ตัวเองหันเหสู่เส้นทางปรัชญา การใคร่ครวญถึงรากฐานของความรู้ทั้งมวลนี้เองที่ทำให้เด็กสายวิทย์ในวันนั้นตัดสินใจออกเดินทางสู่โลกของปรัชญาในที่สุด

หลังจบมัธยมปลายในประเทศไทย เขาออกเดินทางไกลไปยังประเทศเยอรมนีเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้านปรัชญาที่มหาวิทยาลัยในกรุงเบอร์ลิน จากเด็กไทยที่เคยอยู่ในระบบการศึกษาแบบเอเชีย คุณภูต้องปรับตัวเข้าสู่วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่ กลายเป็นนักศึกษาปรัชญาต่างแดนที่ต้องถกเถียงและตั้งคำถามเป็นภาษาเยอรมัน แต่ด้วยความมุ่งมั่น เขาฝ่าฟันอุปสรรคทางภาษาและวัฒนธรรมจนสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี จากนั้นจึงไปต่อยอดความรู้ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา ในระดับปริญญาเอก จวบจนกลายเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาที่ Toronto Metropolitan University ในแคนาดาในวันนี้

พอเราถามถึงครอบครัวของคุณภูต่อการตัดสินใจอย่างมุ่งมั่นของเขา เขาตอบกลับมาว่า “ที่บ้านไม่ยุ่งกับเรื่องการเรียนเลยนะครับ ผมเลยรู้สึกว่าการเรียนมันเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเรา” และนั่นทำให้เราได้เรียนรู้อย่างหนึ่งว่าแรงขับเคลื่อนทางการเรียนรู้จะเกิดได้เมื่อคนรู้สึกว่า “การเรียนรู้” คือ “พื้นที่ที่เป็นของเขา” 

ระลอกที่ 2: จากเด็กสายวิทย์สู่ผู้ลี้ภัยทางความคิด

เขาเล่าว่าตัวเขาในวัยนั้นไม่ได้ชอบ “โรงเรียน” มากนัก แต่เขาชอบการ “รู้” สิ่งต่าง ๆ และการเติบโตมาด้วยแม่และพ่อที่ไม่บังคับ ไม่กดดันในเรื่องการเรียนเลย แต่มีกุโศลบายในการสร้างบรรยากาศห้อมล้อมตัวเขาด้วยหนังสือที่หลากหลาย และไม่ปิดกั้นหนังสือประเภทไหนเลย ทำให้ตัวเขามีหนังสือเป็นสะพานสร้างความเข้าใจว่าโลกใบนี้ทำงานอย่างไร

เมื่อบทสนทนามาสู่เรื่องการศึกษา คุณภูหยิบยกประสบการณ์ของตนเองทั้งในไทยและต่างประเทศมาเปรียบเทียบให้ฟังอย่างน่าสนใจ เขาเติบโตมากับระบบโรงเรียนไทยระดับท็อปที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ มีระเบียบแบบแผน และมุ่งมั่นสร้างเด็กที่เป็นครีมออฟครีม ซึ่งอาจมีจำนวนไม่ถึง 5% ของเด็กในประเทศไทย “สมัยมัธยมที่ไทย เราเรียนเพื่อสอบ พยายามจำให้ได้มากที่สุดและตอบให้ถูกต้อง” คำตอบของคุณภู ทำให้เห็นภาพห้องเรียนไทยที่เด็กๆ นั่งเงียบกริบฟังครูบอกคำตอบในรูปแบบที่พูดแล้วหลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี

หลังออกจากโรงเรียนที่เขาเรียนได้ไม่ถึงครึ่งทาง เขาและครอบครัวตัดสินใจร่วมกันว่าจะเรียนรู้และศึกษาด้วยตัวเอง พ่วงกับการลงทะเบียนในการศึกษานอกระบบ (กศน.)  และสำรวจชีวิตผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เล่นดนตรี อ่านปรัชญา ฟังเพลงคลาสสิก เรียนภาษาต่างๆ 

“ตอนนั้นผมเริ่มรู้สึกว่า การตั้งคำถามมันสำคัญกว่าคำตอบ แล้วปรัชญามันก็เหมือนจะให้เครื่องมือในการทำแบบนั้น”

คุณภูเสริมว่าในวัฒนธรรมการศึกษาบ้านเรา เด็กๆ มักไม่กล้าตั้งคำถามหรือโต้แย้งในห้องเรียน เพราะถูกปลูกฝังมาว่าการถามอาจถูกมองว่าท้าทายครู ผู้ใหญ่หลายคนตีความว่าการตั้งคำถามคือการก้าวร้าว ดังนั้นเด็กไทยจำนวนมากจึงเลือกเงียบและจดจำสิ่งที่ครูสอนแทนที่จะถาม “เราโตมาแบบถูกสอนให้เชื่อฟังและรับความรู้จากผู้ใหญ่” เขากล่าว คำว่า “ทำไม” มักไม่มีที่ทางในห้องเรียนไทยมากนัก

หากแต่ประสบการณ์ในต่างประเทศของเขากลับแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อย้ายไปศึกษามหาวิทยาลัยในเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา คุณภูต้องเผชิญกับชั้นเรียนที่มีบรรยากาศเปิดกว้างสำหรับการตั้งคำถามอย่างแท้จริง “ที่เบอร์ลิน ผมเจอเพื่อนร่วมชั้นที่กล้าถามอาจารย์แบบตรงไปตรงมา ไม่มีใครมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ” เขาเล่า พร้อมอธิบายว่าในมหาวิทยาลัยตะวันตก นักศึกษาจะถูกกระตุ้นให้ตั้งคำถามแสดงความคิดเห็นของตนเอง แม้กระทั่งการแย้งหรือโต้แย้งกับผู้สอนก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ทุกคนมีสิทธิสงสัยในสิ่งที่อ่านหรือได้ยิน เพื่อฝึกวิพากษ์ให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

คุณภูสะท้อนให้เห็นว่า “วัฒนธรรมของเรามันไปด้วยกันกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นแบบนี้มานาน ทำให้การคิดเชิงวิพากษ์เป็นไปได้ยากกล่าวคือ สังคมไทยมีโครงสร้างเชิงอำนาจที่ส่งผลให้ห้องเรียนไทยยังขาดพื้นที่สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์แตกฉาน ในขณะที่ต่างประเทศโดยเฉพาะตะวันตกเน้นการให้เสรีภาพทางความคิดมากกว่า ทั้งสองระบบมีข้อดีข้อเสียต่างกัน แต่สำหรับเขาแล้ว การได้สัมผัสทั้งสองแบบทำให้ผมเห็นว่าอะไรที่ขาดหายไปจากอีกฝั่ง”

ในสายตาของคุณภู การศึกษาที่ดีไม่ควรปิดกั้นการถาม แต่ควรสนับสนุนให้เกิดคำถาม เขาเชื่อว่าคำถามคือจุดเริ่มของการเรียนรู้ที่แท้จริง “ถ้านักเรียนเอาแต่ท่องจำโดยไม่เคยถามว่าทำไม เราก็แค่ผลิตคนที่ทำตามได้เก่ง แต่คิดเองไม่เป็น” เขากล่าวตรงๆ ด้วยน้ำเสียงจริงจัง การเรียนรู้ที่แท้ต้องหมายถึงการกล้าเผชิญกับความไม่รู้และตั้งคำถามเพื่อเข้าใจมัน ซึ่งสิ่งนี้เองคือหัวใจที่เขาอยากเห็นในห้องเรียนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลความรู้หาได้ง่าย แต่ความกระหายใคร่รู้ต้องปลูกฝังขึ้นมาจากภายใน

ระลอกที่ 3: วิทยาศาสตร์ ปรัชญา และการตั้งคำถามในชีวิต

“จริงๆ การเรียนปรัชญาคือเรียนแล้วได้คำถามเพิ่ม” เขาหัวเราะในจังหวะที่เหมือนจะรู้ว่าผู้ฟังก็เริ่มเห็นพ้องกับเขา “แต่มันช่วยนะครับ มันช่วยให้เราเข้าใจว่าเรากำลังคิดอะไรอยู่ และคำถามของเรามาจากไหน”

“ถ้าเราสืบกลับไปถึงต้นตอของคำถาม หลายครั้งเราจะพบว่า ปัญหานั้นมันควรถูก ‘dissolve’ (ค่อยๆ คลายไป)​ มากกว่าจะ ‘solve’ (แก้)​” เขาพูดช้าๆ ชัดๆ “ปรัชญาไม่ใช่วิชาที่ให้คำตอบ แต่มันให้ทักษะในการตั้งคำถาม และเครื่องมือในการอยู่ร่วมกับสิ่งที่เราตอบไม่ได้”

คำถามหลายข้อ เช่น “ชีวิตมีความหมายไหม” หรือ “เราจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวตนของเราคืออะไร” ไม่ได้มีคำตอบที่ตายตัว แต่การที่เราได้คิด ได้สงสัย ได้คลี่มันออกมาในรูปของภาษาและเหตุผล นั่นต่างหากคือความหมายของมัน

แล้วบทสนทนาของเราไหลลื่นมาถึงประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับปรัชญา สิ่งที่ดูเผินๆ เหมือนจะอยู่กันคนละปลายทางของความรู้ แต่แท้จริงแล้วกลับเชื่อมโยงกันด้วยเส้นด้ายของ “ความสงสัยใคร่รู้” เดียวกัน เราเอ่ยถามคุณภูเพราะเรารู้จักคนไม่กี่คนที่ก้าวเดินมาทั้งสองเส้นทางว่า สองศาสตร์นี้เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราอย่างไรบ้าง เขาหยุดคิดครู่หนึ่งก่อนตอบด้วยน้ำเรียบๆ ว่า

“ผมมองว่าวิทยาศาสตร์กับปรัชญาเริ่มต้นจากจุดเดียวกันคือความสงสัย” คุณภูเริ่มอธิบาย “นักวิทยาศาสตร์เห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติแล้วถามว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร จากนั้นก็ทดลองหาคำตอบ ส่วนนักปรัชญาเห็นปรากฏการณ์เดียวกันแล้วอาจถามต่อว่า ทำไมมันถึงสำคัญ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นความจริง?” 

คุณภูอธิบายเพิ่มเติมว่าวิทยาศาสตร์ให้ชุดความรู้ที่เป็นรูปธรรม เป็นข้อเท็จจริงที่ทดลองและพิสูจน์ได้ ขณะที่ปรัชญาตั้งคำถามเชิงนามธรรมเกี่ยวกับความหมายและหลักการพื้นฐานของความจริงเหล่านั้น “การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) มีในทุกศาสตร์แหละครับ ไม่ว่าจะเรียนวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ คุณก็ต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่รับรู้มาอยู่แล้ว” เขากล่าว “แต่สิ่งที่ทำให้ปรัชญาแตกต่างออกมาคือการคิดใคร่ครวญ (reflective thinking)” นั่นคือการย้อนถามถึงความหมายและที่ทางของสิ่งต่างๆ ในภาพรวมที่กว้างขึ้น

เขายกตัวอย่างให้ฟังว่า ในขณะที่วิทยาศาสตร์อาจถามว่า “ชีวิตเกิดขึ้นได้อย่างไร” ปรัชญาจะถามต่อว่า “อะไรคือความหมายของชีวิต” และคำถามหลังนี้เองที่วิทยาศาสตร์อาจไม่ได้ตอบ (หรือไม่จำเป็นต้องตอบ) แต่เป็นคำถามสำคัญที่มนุษย์ทุกคนล้วนพยายามค้นหา คำถามเชิงปรัชญาจึงเป็นเสมือนการก้าวถอยหลังหนึ่งก้าวเพื่อมองภาพรวมของความรู้ทั้งหลาย แล้วถามว่า “สิ่งนี้มีความหมายอย่างไรต่อชีวิตเรา?” ซึ่งสำหรับคุณภูแล้ว นี่คือบทบาทเฉพาะตัวของปรัชญาที่ศาสตร์อื่นไม่อาจทดแทน

ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป คำถามเชิงปรัชญาอาจดูเหมือนห่างไกล ทว่าคุณภูกลับเห็นว่ามันซ่อนอยู่ในทุกการตัดสินใจ “ลองคิดดู เราจะตัดสินใจเรื่องสำคัญได้ยังไงถ้าไม่เคยถามตัวเองก่อนว่าอะไรคือสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับเรา” เขายกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การเลือกอาชีพ หรือการใช้ชีวิตคู่ ล้วนสะท้อนปรัชญาชีวิตของแต่ละคนทั้งสิ้น ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม “บางคนอาจให้ค่ากับความสุขระยะยาว บางคนเน้นความสุขทันที เราก็ต้องถามตัวเองก่อนว่าสุดท้ายชีวิตแบบไหนที่เราเชื่อว่าดี” คุณภูสรุป “เราไม่สามารถมีชีวิตที่ดีได้โดยที่ไม่ตั้งคำถามว่าชีวิตที่ดีคืออะไร” สิ่งที่ปรัชญาสอนเรา แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย แต่คือการตั้งคำถามพื้นฐานที่สุดเพื่อกำหนดทิศทางชีวิตของเราเอง “ผมว่าเราควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับคำถาม ไม่ใช่รีบหาคำตอบตลอดเวลา เพราะการมีคำถาม มันคือการที่เรายังมีชีวิตอยู่”

ระลอกถัดมา : ห้องเรียนปรัชญา พื้นที่ฝึกลอยตัวอยู่กับความไม่รู้ และถึงบางอย่างจะรู้แล้วก็ไม่แน่นอนอยู่ดี

หลังจากพูดคุยถึงความหมายของปรัชญาในชีวิต คุณภูก็พาเราคุยลึกขึ้นไปอีกขั้น สู่แก่นของการศึกษาปรัชญาในฐานะ “การฝึกฝน” บางอย่าง เขามองว่าการเรียนปรัชญาไม่ได้เป็นเพียงการท่องจำทฤษฎีของเพลโตหรือค้านท์ หากแต่เป็นการฝึกทักษะและปลูกฝังทัศนคติที่ติดตัวไปชั่วชีวิต

“ผมรู้สึกว่าการเป็นนักปรัชญาจริงๆ คือ การสมาทานวิถีชีวิตแบบหนึ่ง” การฝึกฝนกระบวนการคิดในห้องเรียนปรัชญานั้น บางครั้งไม่มีคำตอบตายตัว ไม่มีสูตรลัดว่าจะต้องคิดอย่างไรจึงจะ “ถูกต้อง” ผู้เรียนกลับถูกท้าทายให้คุ้นชินกับความไม่แน่นอนและความไม่รู้ คุณภูเน้นย้ำว่าคุณค่าหนึ่งที่สำคัญมากในการเรียนปรัชญาคือ ความสามารถที่จะอยู่กับความไม่รู้โดยไม่ตระหนก “ส่วนหนึ่งของการทำงานคือ ในที่สุดแล้วเราต้องรู้สึกยอมรับได้อย่างสบายใจกับการที่เราไม่ได้ปักใจเชื่อไปในทางใดทางหนึ่งในสิ่งที่เราไม่รู้ หรือไม่แน่ใจ” 

การจะสบายใจกับความไม่รู้ได้ ต้องอาศัยการฝึกใจและใจที่เปิดกว้าง คุณภูเสริมว่า “เราต้องเปิดพื้นที่ให้เรายังสามารถที่จะคิดต่อไปได้ เป็นความสามารถที่จะลอยตัวอยู่ในอะไรบางอย่างที่มันไม่แน่นอน และไม่มีความชัดเจน” นักปรัชญาก็ไม่ต่างจากนักว่ายน้ำในมหาสมุทรอันเวิ้งว้างของความคิด เขาไม่รู้ว่าเกาะแห่งความจริงอยู่ที่ไหน แต่เขาก็ว่ายต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ และรู้จักพักลอยน้ำเมื่อต้องรับมือกับคลื่นความไม่แน่นอน 

“สุดท้ายสิ่งที่เราเรียนรู้จากปรัชญาไม่ใช่ความรู้ชุดใหญ่โตเกี่ยวกับโลกหรือชีวิตหรอก” คุณภูสรุปพร้อมรอยยิ้มบางๆ “แต่มันคือการตระหนักว่าจริงๆ แล้ว เรารู้น้อยมาก เกี่ยวกับตัวเราเอง เกี่ยวกับโลกที่เราอยู่ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นๆ” 

อย่างไรก็ตาม คุณภูไม่ได้นำเสนอความไม่รู้นี้ในเชิงลบ หากแต่ในเชิงที่ว่า “การไม่รู้อะไรหลายๆ อย่างเป็นเรื่องปกติของมนุษย์” และยิ่งไปกว่านั้น ปรัชญาสอนให้เรารู้จักที่จะ ไม่หยุดตั้งคำถาม แม้ในเรื่องที่เราอาจไม่มีวันได้คำตอบที่ชัดเจนก็ตาม “ถ้าตอนนี้มีคนถามผมว่า ชีวิตที่ดีคืออะไร? หรือ ความหมายของชีวิตที่เราควรแสวงหาคืออะไร? ผมก็ตอบไม่ได้ เพียงแต่อย่างน้อยก็รู้ว่ามันมีคำถามนี้อยู่ และเรารู้ว่า ณ ตอนนี้มันยังไม่มีคำตอบ”

สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่ปล่อยให้การไม่มีคำตอบนั้นหยุดยั้งคำถามในตัวเรา “เราก็ใช้ชีวิตแบบที่เราถามหาความหมายของมันไปพร้อมๆ กัน” คุณภูกล่าว ชีวิตที่ดีในมุมมองของเขา คือชีวิตที่ดำเนินไปบนเส้นทางของการตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง และพร้อมจะปรับเปลี่ยนตนเองเมื่อพบคำตอบใหม่ๆ หรือคำถามใหม่ๆ อยู่เสมอ การฝึกคิดและยอมรับความไม่รู้ในห้องเรียนปรัชญาจึงเป็นเสมือนการเตรียมความพร้อมให้เรารับมือกับความซับซ้อนของชีวิตจริง ที่ซึ่งไม่มีใครมี “คู่มือ” ความจริงแท้สำหรับทุกเรื่องราว

กลับไปที่ฝั่งอีกครั้ง: การเลี้ยงดูที่เปิดพื้นที่ให้ถามได้ทุกคำถาม

หลังจากพูดคุยเรื่องบทบาทของการตั้งคำถามในการศึกษาและชีวิต เราอดไม่ได้ที่จะถามคุณภูเกี่ยวกับมุมมองเรื่อง “การเลี้ยงดู” โดยเฉพาะเมื่อคุณภูเติบโตมาในบ้านที่แม่เป็นนักเขียนรางวัลซีไรส์ถึงสองสมัยที่มีภาษาในการอธิบายความคิดและความรู้สึกอย่างเฉียบคม กับคุณพ่อที่พร้อมเปิดกว้างให้ชีวิตคุณภูเป็นไปได้ทุกรูปแบบ เราอยากรู้อยากเห็นว่าครอบครัวที่ไม่ฆ่าและทำลายคำถาม ความสงสัย นิสัยช่างถาม และความคิดเชิงวิพากษ์ในวัยเยาว์นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร แน่นอนว่าเราจินตนาการไม่ออก เพราะเราอยู่ในสังคมที่การเลี้ยงดูที่ดีคือการทำให้เด็กเชื่อและฟังผู้ใหญ่โดยไม่ตั้งคำถาม

ประสบการณ์การเติบโตของคุณภู ทำให้คุณภูมีความคิดเห็นที่หนักแน่นว่าการจะสร้างผู้ใหญ่ที่คิดเป็น จำเป็นต้องเริ่มจากการเลี้ยงดูเด็กๆ อย่างถูกทางตั้งแต่ต้น

“เด็กทุกคนล้วนเกิดมาพร้อมความอยากรู้อยากเห็น ลองสังเกตเด็กเล็กๆ สิครับ เขาจะถามว่า นี่อะไร? ทำไมเป็นอย่างนั้น? ตลอดเวลา” แต่ปัญหาคือเมื่อเด็กโตขึ้น สังคมและโรงเรียนกลับค่อยๆ ดับไฟความสงสัยนั้นลง “พ่อแม่หลายคนพอถูกลูกซักถามมากๆ เข้าก็อาจรำคาญ หรือไม่ก็กลัวจะตอบไม่ได้ เลยจบด้วยการบอกว่า ‘ไม่ต้องถามมาก’ หรือ ‘เดี๋ยวก็รู้เอง’” บ่อยครั้งผู้ใหญ่คิดว่าการถามของเด็กเป็นความน่ารำคาญหรือลบหลู่ โดยไม่รู้ตัวเราอาจกำลังส่งสัญญาณให้เด็กเรียนรู้ว่า การถามเป็นสิ่งไม่ดี

“ผมว่าเราต้องเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เติบโตมาพร้อมกับคำถามนะ” เขากล่าวอย่างมุ่งมั่น “เราควรเลี้ยงดูเขาโดยไม่ดับไฟนั้น” คุณภูเสนอแนวคิดว่าพ่อแม่และครูควรส่งเสริมให้เด็กตั้งคำถามง่ายๆ รอบตัว และร่วมค้นหาคำตอบไปด้วยกันแทนที่จะบอกให้หยุดถาม ตัวอย่างเช่น หากเด็กถามว่า “ทำไมหญ้าถึงสีเขียว” แทนที่ผู้ใหญ่จะตอบแบบขอไปทีหรือบอกให้เงียบ เราอาจชวนเขาคิดต่อ “อืม ทำไมหญ้าถึงสีเขียวนะ ลูกคิดว่าเพราะอะไร?” แล้วค่อยๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือหาหนังสือมาอ่านด้วยกัน วิธีนี้ไม่เพียงให้ความรู้ แต่ยังสอนให้เด็กเห็นว่าความสงสัยของเขามีคุณค่า

เมื่อถามเขาว่าแล้วในชีวิตจริง พ่อแม่ที่อาจไม่เก่งปรัชญาจะทำอย่างไร คุณภูก็ยิ้ม “ไม่จำเป็นต้องตอบคำถามของลูกได้หมดทุกเรื่องหรอกครับ” เขากล่าวอย่างอารมณ์ดี “บางทีการยอมรับกับลูกว่า ‘เรื่องนี้พ่อก็ไม่รู้เหมือนกัน เรามาหาคำตอบด้วยกันไหม’ จะเป็นบทเรียนที่ดีด้วยซ้ำ” เพราะมันสอนให้ลูกรู้ว่าแม้แต่ผู้ใหญ่ก็ยังมีเรื่องที่ไม่รู้ และการไม่รู้ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ตรงกันข้าม มันคือโอกาสที่จะได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นต่างหาก

ในสายตาของพีรจุฬา การเลี้ยงดูที่ดีไม่ใช่การยื่นทุกคำตอบให้เด็ก แต่คือการให้เครื่องมือและทัศนคติที่ถูกต้องในการค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง “สุดท้ายเด็กที่ถูกสอนให้ตั้งคำถาม จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่หยุดนิ่งต่อความสงสัยใคร่รู้ของตัวเอง” เขาสรุป พร้อมฝากข้อคิดว่าเราทุกคนควรรักษา “หัวใจเด็ก” ที่ช่างสงสัยของเราเอาไว้ ไม่ว่าอายุจะเพิ่มขึ้นเพียงใดก็ตาม

ปรัชญากับสังคมที่ไม่เปิดให้ตั้งคำถาม

เราขอวกกลับมาที่สังคมไทยอีกหน่อย เราแลกเปลี่ยนกันเรื่องบรรยากาศที่ไม่เปิดให้ตั้งคำถามมากนัก โดยเฉพาะในโรงเรียนหรือในบ้าน “ถ้าจะทะลุออกจากสังคมแบบนี้ ผมคิดว่า มันต้องเริ่มจากการเมือง” เขาตอบตรงไปตรงมา “ถ้าเรายังไม่มีประชาธิปไตยจริงๆ มันยากที่เราจะมีการศึกษาแบบที่เปิดให้เด็กคิด”

เขาอธิบายว่าการศึกษาของไทยผูกอยู่กับโครงสร้างอำนาจ ซึ่งเน้นการส่งผ่านความรู้แบบบนลงล่าง มากกว่าการสร้างพื้นที่ให้เรียนรู้ผ่านการตั้งคำถาม “ระบบไม่เชื่อในศักยภาพของเด็กที่จะเป็นมนุษย์ที่คิดเองได้ ก็เลยออกแบบให้เด็กต้องเชื่อฟัง ต้องท่อง ต้องสอบ”

“ผมว่าการจะเลี้ยงเด็กให้โตมา ‘ดี’ มันต้องเริ่มจากการถามก่อนว่า คำว่า ‘ดี’ หมายถึงอะไร” เขานิ่งไปครู่หนึ่งแล้วพูดต่อ “คือถ้าโตมาแล้วเป็นคนดี แบบไม่โกงใคร ไม่ทำร้ายใคร มันพอแล้วหรือยัง”

เขาย้ำว่าไม่อยากนิยามความสำเร็จหรือการเติบโตไว้แบบเดียว “เราควรเปิดให้เด็กมีศักยภาพที่แตกต่างกันไป แล้วสนับสนุนให้เขาค้นหาสิ่งนั้นได้ ไม่ใช่มีสูตรเดียวสำหรับการเติบโต” “สุดท้ายแล้ว ผมว่าเราควรมีสิทธิ์ที่จะถามชีวิตของเราว่ามันคืออะไร ไม่ใช่แค่ทำตามระบบ” 

บทเรียนจากการเดินทาง: สิ่งที่ “ภู” ได้เรียนรู้

จากวัยเด็กที่ไทย สู่การแสวงหาความรู้ในเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งมาเป็นอาจารย์ผู้สอนปรัชญาในต่างแดน การเดินทางทางวิชาการของ ดร.พีรจุฬา จุฬานนท์ เปรียบเสมือนการเดินทางไกลที่เต็มไปด้วยบทเรียนล้ำค่า ทั้งในเชิงวิชาการและเชิงชีวิต เราเอ่ยถามเขาว่า ตลอดเส้นทางที่ผ่านมา มีบทเรียนสำคัญอะไรบ้างที่เขาได้รับ ซึ่งอยากจะส่งต่อให้ผู้อื่น

คุณภูยิ้มบางๆ กับคำถามนี้ ดวงตาหลังแว่นดูทอประกายครุ่นคิด “เยอะมากเลยครับ” เขาหัวเราะ “เอาสักสองสามข้อดีไหม” ฉันเองก็หัวเราะตาม บรรยากาศการสนทนาในห้องทำงานเล็กๆ ของเขาที่มหาวิทยาลัยในบ่ายวันนั้นเป็นกันเองและอบอุ่น เราต่างผ่อนคลายราวกับเพื่อนเก่าที่กำลังแลกเปลี่ยนบทเรียนชีวิตกัน

“ข้อแรกเลยที่ผมได้เรียนรู้คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตนทางปัญญา” คุณภูเริ่มต้นด้วยน้ำเสียงจริงใจ เขาเล่าว่าเมื่อครั้งวัยรุ่นตอนที่สอบติดมหาวิทยาลัยต่างประเทศใหม่ๆ ก็อดภูมิใจในตัวเองไม่ได้ คิดว่าตนรู้เยอะและเก่งพอตัว แต่พอได้ไปนั่งฟังอาจารย์ระดับโลกพูด หรือถกกับเพื่อนที่หัวกะทิจากทั่วสารทิศ เขาจึงได้รู้ว่าที่ตัวเองรู้มานั้นเทียบไม่ได้เลยกับความรู้อันกว้างใหญ่ที่ยังมีอยู่ “ยิ่งเรียนผมยิ่งรู้สึกว่าเรารู้น้อยลง” เขากล่าวพลางยิ้ม “ถึงที่สุดแล้ว การศึกษาสูงสุดมิได้นำมาซึ่งความหยิ่งผยองว่าตนรู้ทุกสิ่ง แต่กลับนำมาซึ่งความเข้าใจว่า “เราไม่มีวันรู้ทุกสิ่ง” ต่างหาก บทเรียนเรื่องความอ่อนน้อมทางปัญญานี้สอดคล้องกับสิ่งที่เราได้พูดคุยกันก่อนหน้าว่า ปรัชญาสอนให้เราตระหนักถึงขอบเขตของความรู้ของตนเอง และเปิดใจรับสิ่งใหม่อยู่เสมอ

บทเรียนต่อมาที่คุณภูได้รับจากการเดินบนเส้นทางที่ไม่ธรรมดาของเขาคือ ความกล้าที่จะแตกต่างและเชื่อในเส้นทางของตัวเอง เขายอมรับว่าการเลือกเรียนปรัชญาอาจไม่ใช่เส้นทางยอดนิยม โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันที่หลายคนมองหาวิชาที่เรียนจบแล้วมีอาชีพรองรับชัดเจน อย่างหมอ วิศวกร นักธุรกิจ “ตอนตัดสินใจเรียนปรัชญา ก็มีคนถามเยอะนะว่าจะไปทำมาหากินอะไร” เขาหัวเราะเบาๆ “ซึ่งตอนนั้นผมก็ไม่ได้มีคำตอบชัดๆ หรอก รู้แค่ว่ามันคือสิ่งที่ผมสนใจจริงๆ” การยืนหยัดเลือกในสิ่งที่ตนรักท่ามกลางความสงสัยของคนรอบข้างไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คุณภูก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเมื่อเราตั้งใจจริงและมุ่งมั่น สุดท้ายก็สามารถสร้างเส้นทางอาชีพจากความหลงใหลนั้นได้ ปัจจุบันเขาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และมีผลงานวิจัยด้านปรัชญาที่ได้รับการยอมรับ ความสำเร็จนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายคนที่อาจรักในสิ่งที่ไม่ใช่กระแสหลัก

นอกจากนี้ คุณภูยังได้เรียนรู้ การประนีประนอมระหว่างอุดมคติกับความจริงของโลก เขาเล่าว่าตอนเรียนปรัชญาใหม่ๆ เคยรู้สึก “โลกสวย” อยู่ช่วงหนึ่ง คิดว่าถ้ามนุษย์ทุกคนตั้งคำถามอย่างมีเหตุผล โลกก็คงจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ได้เห็นสภาพสังคมและการเมืองจริงๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ เขาพบว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างต้องอาศัยอะไรมากกว่าการตั้งคำถามหรือความคิดดีๆ บนกระดาษ “บางทีสิ่งที่เราทำมันไม่ได้เป็นสิ่งที่สังคมต้องการจริงๆ” เขาเคยตั้งคำถามกับตัวเองเมื่อกลับมาเมืองไทยและเห็นว่าบ้านเมืองยังมีปัญหามากมายที่เรื้อรัง “ผมเขียนบทความปรัชญาไป จะไปช่วยชาวบ้านที่เขาหาเช้ากินค่ำยังไง?” เขาเอ่ยความอึดอัดใจที่เคยเกิดขึ้น

แต่นั่นก็ทำให้เขาได้บทเรียนว่า นักคิดก็ต้องรู้จักถ่อมตนและร่วมมือกับคนอื่นๆ คุณภูเรียนรู้ที่จะเคารพบทบาทของคนหลากหลายอาชีพในสังคม ปรัชญาไม่ใช่ยาวิเศษที่จะเยียวยาทุกปัญหา หากแต่มันทำหน้าที่เสนอแนวคิด หลักการ หรืออุดมคติ เป็นเหมือน “แสงไฟ” ที่ส่องทาง ส่วนการจะเดินไปให้ถึงแสงสว่างนั้น อาจต้องอาศัยมือของนักกิจกรรม นักการเมือง วิศวกร แพทย์ และผู้คนทุกภาคส่วนช่วยกัน การสอนปรัชญาให้เยาวชนคิดเป็นจึงเป็นเพียงจิ๊กซอว์หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ใหญ่กว่านั้น เช่นเดียวกับทุกอาชีพที่เป็นจิ๊กซอว์มาสานต่อกัน

สุดท้ายก่อนที่เราจะแยกย้าย เราถามคุณภูว่า ณ จุดนี้ของชีวิต เขามีอะไรอยากฝากถึงผู้อ่านหรือคนรุ่นใหม่ที่อาจกำลังเดินอยู่บนเส้นทางการเรียนรู้ของตัวเองบ้าง คำตอบของเขาเรียบง่าย “อย่ากลัวที่จะถาม หลายครั้งเราไม่กล้าถามเพราะกลัวถูกมองว่าโง่ แต่จริงๆ แล้วการไม่กล้าถามต่างหากที่ทำให้เราไม่ได้เรียนรู้” เขาเชื่อว่าคำถามคือเพื่อนแท้ของผู้แสวงหาปัญญา เราอาจไม่ได้คำตอบทุกคำถาม แต่ทุกครั้งที่ถาม เราจะขยับเข้าใกล้ความเข้าใจมากขึ้นทีละนิด

และด้วยบทเรียนสุดท้ายนี้ บทสนทนาของเราก็เดินทางมาถึงบทสรุป เป็นบทสรุปที่เราเองรู้สึกชื่นมื่นกับการโต้คลื่นอยู่รอบๆ คำถาม เราได้ฟังเรื่องราวชีวิตของคุณภู ในขณะเดียวกันก็ได้คำถามมากมายกับชีวิตตัวเอง และสังคมที่เแป็นอยู่ในระหว่างการสนทนา จนเราเริ่มรู้สึกจริงๆ ว่า “หรือว่านี่คือความเบาสบายของการลอยตัวอยู่ในความไม่รู้ ซึ่งเกิดจากการที่เราได้สนทนากับนักปรัชญาที่ถูกฝึกอยู่กับความไม่รู้และความไม่แน่นอนของความรู้หรือเปล่านะ? 

Related Posts

Related Posts