“เพียงแต่ผมเลิกรักเขาแล้ว วันหนึ่งเขาก็จะตาย” “เขาไม่ใช่พ่อผม พ่อผมตายแล้ว” ชวนอ่าน ‘ต้นส้มแสนรัก’ เมื่อครอบครัวสร้างรอยร้าวที่ไม่อาจต่อติด เพื่อมีชีวิตอยู่ต่อได้ เราจึงสร้างโลกแสนรัก

“เพียงแต่ผมเลิกรักเขาแล้ว วันหนึ่งเขาก็จะตาย” “เขาไม่ใช่พ่อผม พ่อผมตายแล้ว” ชวนอ่าน ‘ต้นส้มแสนรัก’ เมื่อครอบครัวสร้างรอยร้าวที่ไม่อาจต่อติด เพื่อมีชีวิตอยู่ต่อได้ เราจึงสร้างโลกแสนรัก

“…ผมฆ่าอยู่ในใจ เพียงแต่ผมเลิกรักเขาแล้ว วันหนึ่งเขาก็จะตาย…”

“…เขาไม่ใช่พ่อผม พ่อผมตายแล้ว…”

เวลาที่เราพูดกันถึงเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว ไปจนถึง ‘สายสัมพันธ์’ ในครอบครัว หลายคนอาจกำลังคิดถึงความรู้สึกอุ่นๆ ในหัวใจที่ถักสานออกมาจากความรักความผูกพันจนเชื่อมโยงถึงกันได้ของคนในครอบครัว ทำให้คนเรารู้สึกมีตัวตนในหัวใจของใครสักคน ไม่โดดเดี่ยว และมีความหวังต่อการมีชีวิตอยู่ แต่ ‘สายสัมพันธ์’ ในครอบครัวที่โอบกอดหัวใจเช่นนี้ ไม่ใช่สายสัมพันธ์เดียวกันกับที่เด็กน้อยวัย 5 ขวบคนนั้นได้พบแน่ๆ เพราะสำหรับเขาครอบครัวดูเหมือนจะมีสายสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยคมมีดซึ่งเฉือนและทิ่มหัวใจของเขาได้ในทุกๆ วัน 

ฉันกำลังพูดถึง ‘เซเซ่’ ในเรื่องราว ต้นส้มแสนรัก (My Sweet – Orange Tree) วรรณกรรมเยาวชนที่อยู่ในหัวใจของนักอ่านหลายๆ คน ผลงานจากปลายปากกาของ โจเซ่ วาสคอนเซลอส นักเขียนชาวบราซิลที่ผลงานชิ้นนี้ของเขาได้รับการแปลไปหลายประเทศทั่วโลก ถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กน้อยวัย 5 ขวบที่เตาะแตะและเติบโตขึ้นมาท่ามกลางครอบครัวฐานะยากจนในบราซิล ดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางพี่น้องหลายคนและอยู่ท่ามกลางปัญหาความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนในครอบครัวที่เต็มไปด้วยปัญหาทางการเงิน ความไม่เข้าใจกัน ความเศร้า ความตึงเครียด และความรุนแรง กลายเป็นบาดแผลร้าวลึกในหัวใจอันอ่อนบาง กลายเป็นความสงสัยแคลงใจของเด็กน้อยอย่างเซเซ่ที่ถามคำถามเดิมๆ ให้ผู้อ่านได้พบเห็นตลอดทั้งเรื่อง “พ่อรักผมไหม” “แม่รักผมไหม” “พี่รักผมไหม” “นายรักฉันไหม” กระนั้นแม้คำตอบหลายคราวจากผู้คนต่างๆ ที่เขาถามจะคือ “รัก” แต่ทำไมในหัวใจของเขาจึงไม่เคยรู้สึกได้รับมันอย่างเปี่ยมล้นเลยแม้สักครั้ง 

1

“บางทีปัญหาของทุกคนอาจจะเป็นเพราะแสงสลัวๆ ของตะเกียง

ที่ใช้แทนไฟฟ้าที่ได้ถูกตัดสายออกไปก็ได้”

นั่นคือคำพูดของ ‘ลาลา’ พี่สาวของเซเซ่ในเย็นวันคริสต์มาสอีฟ ช่วงเวลาที่เซเซ่คิดว่าจะเต็มไปด้วยเรื่องตื่นเต้นสุขสันต์และเขาจะได้รับ ‘ของขวัญ’ จากพระเจ้าในวันพิเศษนี้แน่ๆ กลับตาลปัตร เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นคืออาหารอันน้อยนิด ของขวัญที่หายไป และบรรยากาศแห่งความสุขที่ราวกับว่าไม่มีช่องทางจะผุดเกิดขึ้นมาในบ้านของเขาได้เลย ด้วยสาเหตุที่บ้านไม่มีเงิน และครอบคลุมด้วยความตึงเครียดที่พ่ออยู่ในช่วงตกงานมาหมาดใหม่ ส่วนแม่ก็ทำงานหนักอย่างแสนสาหัส เซเซ่บรรยายความรู้สึกในคืนนั้นของเขาให้คนอ่านได้รับฟังอย่างหมดจดว่า 

“บรรยากาศของการรับประทานอาหารเย็นวันนี้แย่มาก จนผมไม่อยากคิดถึงมันเสียด้วยซ้ำ ขณะที่กินไม่มีใครพูดกันเลยและพ่อก็ชิมเฟรนชโทสไปนิดเดียวแค่นั้นเอง พ่อไม่อยากจะโกนหนวดไม่อยากจะทำอะไรเลย ไม่มีใครไปร่วมพิธีที่โบสถ์ในคืนนี้ด้วยซ้ำ ที่ร้ายที่สุดก็คือ ไม่มีใครพูดอะไรกับใคร วันนี้มันเหมือนกับวันที่พระเยซูตื่นขึ้นมาเฉย ๆ มากกว่าจะเป็นวันที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ พ่อใส่หมวกแล้วออกไปข้างนอก ใส่รองเท้าไม้ไปด้วยโดยไม่ได้ร่ำลาหรือให้พรใครเพื่อมีความสุขในวันหยุดอย่างนี้เลย ย่าหยิบผ้าเช็ดหน้าออกมาเช็ดน้ำตา แล้วบอกให้ลุงเอ็ดมันโดพากลับบ้าน ลุงเอ็ดมันโดเอาเหรียญ 500 เร อันหนึ่งใส่มือผม และอีกอันหนึ่งว่างลงบนมือของโททอก้า เขาอาจจะอยากให้มากกว่านี้แต่ไม่มี หรืออาจอยากเอาเงินนี้ให้ลูกของเขาที่อยู่ในเมืองแทนที่จะให้เราก็ได้ เพราะได้คิดอย่างนี้ ผมก็เลยกอดเขา มันอาจจะเป็นอาบราโซหนเดียวในวันคริสต์มาสอีฟปีนี้

ภาพที่เซเซ่ฉายให้เราเห็นในวันแห่งความฝันที่ไม่เป็นดั่งฝันนั้น ทำให้เห็นว่าสถานะทางการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของครอบครัวได้ยื่นมือเข้ามาสร้างบรรยากาศของครอบครัวให้เต็มไปด้วยความตึงเครียดและโศกเศร้า มากไปกว่านั้นคือเข้ามาจัดการความสัมพันธ์บางอย่างในครอบครัวอย่างแนบเนียน ถ่างแยกคนในครอบครัวออกจากกัน สร้างร่องรอยว่างเปล่าเอาไว้เป็นพื้นที่เติบโตให้กับ ‘ความไม่เข้าใจ’ 

“ไม่มีใครกอดกัน ไม่มีใครอยากพูดอะไรเพราะๆ แม่เข้าไปในห้องส่วนตัว ผมแน่ใจว่าแม่ต้องแอบไปร้องไห้ ทุกๆ คนรู้สึกอยากจะร้องไห้” 

แน่นอนว่าแม้เซเซ่จะเห็นใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับพ่อแม่ของเขา แต่เซเซ่ก็ไม่อาจจะเข้าใจได้ เพราะไม่เคยมีคำอธิบายใดๆ จากคนในครอบครัว ไม่มีการกอด การพูดคุยอย่างที่เซเซ่เล่านั่นแหละ และเมื่อไม่มีสิ่งเหล่านี้มาทำงานพยุงหัวใจของเซเซ่ในวันที่ปัญหาครอบครัวถาโถม จึงทำให้เขาเผลอพูดกับพี่ชายออกมาว่า “มีพ่อจนๆ นี่มันเวรเหลือเกินจริงๆ นะ” ซึ่งในจังหวะนั้นพ่อได้มาได้ยินพอดี ทำให้เซเซ่รู้สึกเสียใจอย่างมากที่ตัวเองทำให้พ่อเสียใจ และแม้ทั้งสองจะปรับความเข้าใจกันในเรื่องนี้ได้ในเวลาถัดมาจากการที่เซเซ่ไปหาทำงานเก็บเงินซื้อบุหรี่มาให้พ่อ แต่ความตึงเครียดต่อปัญหาความยากจน ความเงียบงันต่อกันก็ยังคงดำรงอยู่และยังเข้ามาปิดกั้นการสนทนาของพ่อลูกในหลายมิติอยู่เสมอ ไม่เพียงเท่านั้นการพลั้งพูดสิ่งนี้ต่อพ่อและไม่มีใครที่มาอธิบายหรือแนะนำเซเซ่ในสถานการณ์นี้อย่างเข้าอกเข้าใจเลย ซ้ำยังมีแต่คำดุด่าจากพี่ และสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเหตุการณ์นั้น ยังทำให้เซเซ่ฝังใจและเชื่อไปว่า ‘ปีศาจ’ ได้เกิดขึ้นในตัวเขาแล้ว เกิดขึ้นมาแทนของขวัญวันคริสต์มาสเป็นที่เรียบร้อย สะท้อนภาพของเด็กที่ถูกทอดทิ้งให้รู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘เด็กไม่ดี’ ซึ่งถูกขับเน้นจากคำพูด การกระทำ การผลักไสของคนในครอบครัว 

“ผมเป็นคนไม่มีค่าหรอกครับ ผมเลวมาก นั่นแหละฮะที่ทำให้ปีศาจมาหาผมในวันคริสต์มาสแทน แล้วผมก็ไม่ได้อะไรเลย ผมเป็นไอ้ตัวเชื้อโรคน่ะฮะ เป็นเชื้อโรคตัวเล็กๆ เป็นหมา ไม่ดีเลย พี่ผมคนหนึ่งบอกว่า คนเลวอย่างผมไม่ควรจะเกิดมา” 

คำพูดทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียว แต่เซเซ่พูดออกมาบ่อยราวกับเป็นตราประทับของชีวิตเขาเลยละ ฉันอดคิดไม่ได้ว่าหากเขาเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ เขาอาจกลายเป็นแบบนั้นจริงๆ ในสักวันเมื่อเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองของสังคมก็ได้ เพราะสังคมที่เขาอยู่ทำให้เขาเพียรท่องแบบนั้นอยู่เป็นประจำไม่ว่างเว้น 

“เจ้าปีศาจน่ะฮะที่มันกระตุ้นให้ผมทำ…แล้ว…แล้ว…ผมก็ทำฮะ อาทิตย์นี้ผมเผารั้วของแนกา ยูเจเนีย ผมเรียกคุณนายคอร์เคเลียว่ายายเป็ดอ้วน แล้วเธอก็โมโหใหญ่ ผมเตะลูกบอลที่ทำด้วยผ้ากระเด็นเข้าไปในหน้าต่างถูกกระจกเงาอันใหญ่ของคุณนายนาร์ซีซาแตก ผมเอาหนังสติ๊กยิงหลอดไฟแตกไปสามดวง ผมเอาหินโขกหัวลูกชายคุณอาเบล” 

ภาพจาก: https://www.youtube.com/watch?v=jK7kTwReXMo 

2

“เขาเคยชินแล้วละฮะที่จะตีผม”

ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่ปะทะเข้ามาในครอบครัวยังเอื้อมมือเข้ามาสร้าง ‘ความรุนแรง’ ให้กลายเป็นความปกติธรรมดาของครอบครัวนี้ เพราะความตึงเครียดจากปัญหาครอบครัวและไม่ได้มีเวลามากพอที่จะทำความเข้าใจกันหรือให้การเรียนรู้แก่กัน โดยเฉพาะกับเซเซ่ที่คนในครอบครัวมักมองว่าเขาดื้อ ซน มีความคิดที่แก่แดด มีความคิดแปลกต่างไม่เชื่อฟัง เซเซ่จึงเป็นคนที่ได้รับความรุนแรงจากครอบครัวนี้มากที่สุด ครอบครัวได้ทิ้งทั้งแผลฟกช้ำ รอยเฆี่ยนตี และความบาดเจ็บเอาไว้กับเขาในระดับเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงที่สุดหลายต่อหลายครั้ง เขาเล่าให้ฉันที่กำลังอ่านอยู่ถึงการตีที่เกิดขึ้นกับเขาเหมือนกับว่าการถูกตีนั้นเป็นกิจวัตรประจำวันของเขาและเป็นส่วนใหญ่ในความทรงจำของเขาเลยละ 

“ผมนอนที่เตียง กล้ำกลืนน้ำตาพลางคิดว่า เตียงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะช่วยบรรเทาความเจ็บจากการถูกตี” 

“คนที่บ้านไม่รู้ว่าผมเท้าเจ็บ ถ้าเขารู้ เขาจะตีผม เพื่อสั่งสอนไม่ให้ผมทำตัวให้บาดเจ็บอีก” 

“อาทิตย์นี้ผมถูกตีตั้งหลายหนแล้วละฮะ บางครั้งเจ็บ บางทีก็โดนตีทั้ง ๆ ที่ผมไมได้ทำผิด ผมถูกดุด่าทุกเรื่องเลย” 

“ที่แย่ที่สุดก็ตอนที่ผมหลับ พ่อก็เอารองเท้าแตะมาตีผม ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมผมถึงต้องถูกตี”

การตีและการถูกตีดูจะเป็นเรื่องเคยชินของครอบครัวเซเซ่ หากแต่ความเจ็บก็ยังคงสดใหม่เสมอสำหรับเซเซ่ เขาไม่สามารถชินกับมันจนไม่รู้สึกรู้สาอะไรได้ ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวของเขานี้สะสมและบั่นทอนจนเขารู้สึกไร้ค่าแล้วยืนยันว่าตัวเองนั้นเป็น ‘คนเลว’ จึงถูกกระทำอย่างนี้อยู่เสมอ สะท้อนให้เราเห็นว่าการใช้ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกแต่อย่างใดในการสอนสั่งให้ใครทำตามสิ่งที่เราอยากจะสอนเขาให้เข้าใจ อย่างที่เซเซ่เผชิญอยู่นั่นเอง

ภาพจาก: https://www.youtube.com/watch?v=jK7kTwReXMo 

 3 

“ถึงผมจะร้องเพลงดังๆ ไม่ได้ ผมก็ร้องอยู่ข้างในได้”

สายสัมพันธ์ในครอบครัวของเซเซ่เข้าขั้นวิกฤต มีเพียงพี่สาวที่ชื่อ ‘โกเดีย’ ที่จะใจดีและเข้าใจเซเซ่มากที่สุดในหมู่พี่น้อง ซึ่งเซเซ่ก็ได้เล่าให้คนอ่านฟังอยู่เรื่อยๆ ถึงมุมที่น่ารักของพี่สาวคนนี้ที่หลายครั้งปกป้องเขาจากการโดนตี หลายครั้งคอยทำแผลให้กับเขา และยังกอดหอมเธอให้เราได้เห็นนานๆ ครั้ง แต่ความสัมพันธ์ที่มีปัญหาในครอบครัวโดยภาพรวมแล้วก็ไม่สามารถผดุงหัวใจเซเซ่ไว้ได้ ดังนั้นโลกของเขาจึงดูเหมือนว่าจะมีทั้งโลกที่เขาเผชิญอยู่ และโลกที่เขาหลีกหนีไปซ่อนตัวอยู่ โลกใบหนึ่งของเขาคือ ‘เสียงเพลง’ 

“…ถึงผมจะร้องเพลงดัง ๆ ไม่ได้ ผมก็ร้องอยู่ข้างในได้ มันพิสดารหน่อยแต่ก็สนุกดี ผมจำเพลงที่แม่ร้องตอนที่ผมยังเล็กมากๆ ได้ แม่จะยืนอยู่ที่อ่างซักผ้า…แม่ซักผ้าจากบ้านคุณหมอโฟลฮาเบอร์ เพื่อจะได้มีเงินมาช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายในบ้าน แม่เป็นคนผอมสูง แต่สวยมาก ผิวคล้ำ ผมดำและเหยียดตรง เวลาแม่ปล่อยผม มันจะยาวลงมาถึงเอว เวลาที่ร้องเพลง เสียงของแม่จะเพราะมาก ผมมักจะชอบยืนฟังอยู่ใกล้ๆ…” 

คำบอกเล่าของเซเซ่ทำให้ฉันเข้าใจเขามากๆ ว่าลึกลงไปเขามีความผูกพันอยู่กับแม่ของเขาอย่างไร เขาได้สร้างบทเพลงขึ้นมาภายในใจเป็นตัวแทนความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับแม่เมื่อตอนเด็กๆ ขณะเดียวกันตลอดทั้งเรื่องที่เขาเล่าผ่านหนังสือเล่มนี้แทบจะไม่มีเวลาที่เขากับแม่ใช้เวลาด้วยกัน เพราะแม่ต้องคอยแต่ทำงานถึงมืดค่ำ การที่เซเซ่บอกกับเราว่าเขา “ร้องเพลงเสียงดังๆ ไม่ได้” ช่างเป็นทั้งเรื่องน่าเศร้าและไม่น่าแปลกใจอะไร ในเมื่อเขาอยู่ในสภาพครอบครัวและสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นในการเปล่งเสียงของตัวเองออกมาแต่อย่างใด แต่การที่เซเซ่บอกกับเราอีกว่า “เขาร้องเพลงอยู่ข้างในได้” ก็ฉายชัดให้เราเห็นว่าเขาพยายามสร้างพื้นที่ทดแทนเพื่อยึดโยงกับโลกข้างในของตัวเองในการที่จะยืนหยัดและดำรงชีวิตต่อไปให้ได้นั่นเอง ซึ่งตัวแทนของเสียงร้องนั้นคือ ‘นกน้อย’ ตัวหนึ่งในความคิดของเขาที่ส่งเสียงร้องเพลงไปด้วยกัน

“ตอนผมยังเด็ก ผมคิดว่ามีนกตัวเล็กๆ ในตัวผม แล้วก็เจ้านกนี่เองฮะที่มันร้องเพลง”

เมื่อเดินทางมาถึงวัย 5 ขวบก็ดูเหมือนว่านกน้อยตัวนี้จะต้องจากเขาไปแล้ว เซเซ่ปรึกษาลุงของเขาแล้วได้คำตอบว่ามันคือการเติบโตขึ้นนี่เอง เขาจึงตั้งใจที่จะปลดปล่อยนกตัวนี้ไปจากเขาก่อนวันที่จะเข้าเรียนในโรงเรียน ซึ่งการให้นกตัวนี้โบยบินจากไปก็นำความว่างเปล่ามาในหัวใจของเขา ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสายสัมพันธ์กับบางสิ่งบางอย่างที่สร้างขึ้นในใจของเด็กๆ นั้นมีความสำคัญอย่างไร 

“ผมลุกขึ้นอย่างตื่นเต้นและเปิดเสื้อออก ผมรู้สึกว่ามันบินออกจากหน้าอกผอมๆ ของผม บินไปเถอะ นกน้อยๆ ของฉัน บินสูงๆ ไปหาแสงที่นิ้วของพระเจ้า พระองค์จะได้เอาเจ้าไปให้เด็กเล็กๆ คนอื่น แล้วเจ้าจะได้ร้องเพลงเพราะ อย่างที่ร้องให้ฉันฟังบ่อยๆ ลาก่อนนะ นกน้อยแสนสวยของฉัน”

“…ผมรู้สึกถึงคราวว่างเปล่าว้าเหว่ที่ไม่ยอมจากไป…”

เขาปล่อยให้นักตัวนี้โบยบินจากไปขณะที่เขาอยู่กับเพื่อนแสนรักที่เพิ่งได้ทำความรู้จักกันไม่นาน แต่ก็อยากจะมาหาเพื่อนรักคนนี้บ่อยๆ ไม่อยากจากไปไหน เพื่อนคนนี้เขาตั้งชื่อให้ว่า ‘มิงกินโย’ เป็นต้นส้มน้อยวัยไม่ต่างจากเซเซ่นัก และยังเป็นต้นส้มที่พูดคุยกับเซเซ่ได้อีกด้วย 

ภาพจาก: https://www.youtube.com/watch?v=jK7kTwReXMo 

 4 

“ผมต้องเล่าความพ่ายแพ้ของผมให้มิงกินโยฟังจนได้” 

มิงกินโยหรือต้นส้มของเซเซ่ ยืนต้นอยู่ข้างหลังบ้านหลังใหม่ที่ครอบครัวเขาย้ายไป เซเซ่มักจะได้พบกับมิงกินโยอยู่เป็นประจำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่เขาถูกตีและถูกลงโทษกักบริเวณไว้หลังบ้าน เขาก็จะได้พูดคุยกับเพื่อนคนนี้อยู่เสมอ จนกลายเป็นความผูกพันและดูเหมือนว่าจะกลายเป็นโลกทั้งใบที่พยุงหัวใจน้อยๆ ของเซเซ่เอาไว้ให้ยังสดใสอยู่ได้ 

เซเซ่เล่าให้คนอ่านฟังว่า

“ความจริงผมไม่อยากไปยุโรป ที่ผมอยากจริงๆ ก็คืออยู่กับมิงกินโยเท่านั้น เพราะเขาไม่ล้อเลียนผม และไม่เห็นตาที่บวมของผมเป็นเรื่องตลก” 

นี่อาจเป็น ‘ความต่าง’ ที่มิงกินโยมี แต่ครอบครัวและสังคมรอบตัวของเขาไม่สามารถให้ได้ คือการ ‘รับฟัง’ อย่างไม่ตัดสินและมองเห็นความเจ็บปวด เสียงร้องไห้ของเซเซ่เป็นเรื่องสำคัญเสมอสำหรับมิงกินโย ทำให้เซเซ่พร้อมที่จะเล่าเรื่องต่างๆ ให้มิงกินโยฟัง ซึ่งหากเราสังเกตขณะที่อ่านอยู่จะพบว่าเรื่องต่างๆ ที่เซเซ่เล่าให้ต้นส้มของเขาฟังนั้น ล้วนเป็นเรื่องที่เขาไม่มีโอกาสได้เล่าและไม่กล้าจะเล่าให้ พ่อ แม่ และ พี่ๆ น้องๆ ของเขาฟังเลย จึงไม่มีใครในครอบครัวที่เขาอยากจะเล่าความภูมิใจใดๆ ให้ฟัง เซเซ่บอกคนอ่านอย่างตื่นเต้นว่า “ผมนึกหน้าของมิงกินโยตอนที่เขาเห็นชุดนักเรียนใหม่ของผมออก 2-3 วันต่อมาผมก็เล่าให้เขาฟังหมด อะไรเป็นยังไง ไม่เป็นยังไง” 

จะเห็นว่าเขามีความหวังเมื่อได้สวมชุดนักเรียน แต่เขาไม่ได้มีความหวังขึ้นมาได้เพราะเขาได้สวมชุดนักเรียนเท่านั้น หากแต่เขามีความหวังเพราะมี ‘ใครสักคน’ ที่จะดีใจไปกับก้าวของการเติบโตครั้งนี้ เซเซ่จึงนึกถึงต้นส้มแสนรักที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ทั้งยังเป็นคนที่เขาเชื่อว่าพร้อมจะภูมิใจไปกับเขานั่นเอง และแน่นอนว่าครอบครัวจะไม่มีวันได้ยินเรื่องเล่าแห่งความสุขเช่นนี้จากเขาเลย 

“ผมเล่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในห้องเรียนและเวลาพักให้เขาฟัง เขาภูมิใจมาก เมื่อผมเล่าว่าในชั่วโมงอ่าน ครูเซซีเลีย เพม พูดว่าผมอ่านเก่งที่สุด เป็นนักผู้อ่านที่ดีที่สุด” 

ไม่เพียงแต่ความภาคภูมิใจ สายสัมพันธ์ที่ดีนั้นย่อมสามารถโอบกอดเราในขณะที่ความพ่ายแพ้มาเยือนได้ เซเซ่กล้าๆ กลัวๆ อยู่นานก่อนจะตัดสินใจเล่าให้มิงกินโยฟังถึงความพ่ายแพ้ที่ตัวเองเผชิญจากการที่พี่ชายหลอกให้เขาไปชกต่อยกับคู่อริของพี่ชายแทนจนแพ้ในการชกต่อยแล้วเจ็บตัวในที่สุด 

“ผมต้องเล่าความพ่ายแพ้ของผมให้มิงกินโยฟังจนได้ ผมซ่อนตาข้างที่เขียวไม่ได้ ดังนั้นเมื่อพ่อเห็นเข้าก็เลยเขกหัวผมแล้ว

อบรมพี่ชายผม พ่อไม่เคยฟาดก้นโททอก้าเลย ผมน่ะหรือฮะ ใช่ฮะก็เพราะผมเลวไปหมดทุกอย่างนะสิ มิงกินโยตั้งใจฟังทุกเรื่อง ก็ผมจะไม่เล่าให้เขาฟังได้ยังไงฮะ เขาฟังอย่างโกรธเกรี้ยว พอผมเล่าจบเขาก็พูดอย่างโกรธแค้นว่า ‘ไอ้คนขี้ขลาด’” 

จากคำบอกเล่าของเซเซ่จะเห็นว่าเมื่อความเจ็บปวดที่เขาเผชิญได้ถูกเล่าให้ 2 คนในความสัมพันธ์ที่แตกต่างฟัง ย่อมให้ผลที่แตกต่าง เมื่อพ่อเขาเห็นดวงตาฟกช้ำของเขา พ่อกลับไม่ได้ถามไถ่หรือถามถึงเรื่องราวต่างๆ อย่างเข้าอกเข้าใจแต่อย่างใด แต่ยังใช้ความรุนแรงโดยการ ‘เขกหัว’ เพื่อสั่งสอนแทน แตกต่างจากมิงกินโยที่ ‘ตั้งใจฟังทุกเรื่อง’ และเข้ามาอยู่ในอารมณ์ร่วมโกรธและรู้สึกถึงความรู้สึกลึกๆ ข้างในไปกับเซเซ่ได้ พร้อมกับตำหนิคนที่เป็นต้นเรื่องให้เซเซ่ต้องไปทำการชกต่อย และเมื่อต้นส้มแสนรักและเซเซ่คุยกันไปเรื่อยๆ ก็ค่อยๆ ทำให้ความโกรธจากเหตุการณ์นี้ที่สีสดเข้มข้นทาทับในใจของเซเซ่ค่อยๆ จืดจางลง 

ความสัมพันธ์ที่มิงกินโยและเซเซ่สร้างขึ้นมาร่วมกัน สะท้อนกลับให้เราเห็นว่าสายสัมพันธ์ที่ดีควรที่จะถักทอขึ้นมาจากการรับฟังทั้งความทุกข์ ความสุข ไปจนถึงมองเห็นความเจ็บปวดของกันและกันอย่างลึกซึ้ง ขณะเดียวกันก็ไม่ตัดสินหรือผลักไสกันไปยังโลกที่มืดมนกว่าเดิมอย่างการด่าทอและแปะป้ายว่าเป็นเด็กเลว เด็กไม่ดี หรือไม่มีทางดีขึ้นได้ 

‘ต้นส้มแสนรัก’ กลายเป็นโลกใบใหม่ที่ทำให้โลกใบเก่าของเซเซ่ดำเนินไปได้ และต่อมาเขาก็ได้พบโลกใบที่ดีไม่น้อยไปกว่าโลกที่เขาสร้างกับมิงกินโย คือโลกที่เขาสร้างกับ ‘ลุงโปรตุก้า’ ชายผู้เคยมีเรื่องบาดหมางกัน แต่มาพูดคุยปรับความเข้าใจกันใหม่ในภายหลัง กลายเป็นว่าคนคนนี้คอยรับฟัง คอยมองเห็นคุณค่าในตัวเซเซ่ ทำให้โปรตุก้ากับเซเซ่ปลูกสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันขึ้นมาได้ เซเซ่จึงมองลุงโปรตุก้าเป็นเหมือนพ่อของเขา แต่เขาก็มาพบว่าลุงคนนี้ได้จากเขาไปตลอดกาลจากอุบัติเหตุโดย ‘รถไฟมานการาติบา’ ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับที่เซเซ่เจ็บปวดที่สุดในชีวิตจากพ่อแท้ๆ ที่ตบตีเขาอย่างรุนแรง จนเขามองว่าพ่อแท้ๆ ของเขาไม่ใช่พ่อของเขาอีกต่อไป หลังจากเหตุการณ์นั้นที่พ่อตีจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด สะท้อนปัญหาสายสัมพันธ์ที่ขาดสะบั้นในครอบครัวอย่างยากจะต่อติดได้ 

 “ผู้ชายคนที่อุ้มผมนั่งตักนี่เขาต้องการอะไร เขาไม่ใช่พ่อผม พ่อผมตายแล้ว รถไฟมานการาติบาฆ่าเขา” 

การจากไปของโปรตุก้าทำให้เซเซ่เศร้าถึงขนาดที่ว่าจะสิ้นลมหายใจ คนในครอบครัวต่างหันมาเป็นห่วงเขาและคิดกันว่าเพราะต้นส้มแสนรักของเขากำลังโดนตัด เขาจึงเป็นหนักขนาดนี้ แม้พ่อแท้ๆ ของเขาจะพูดปลอบใจว่าต้นส้มจะยังไม่ถูกตัดเร็วๆ นี้แต่เซเซ่ๆ ก็ยืนยันว่า “เขาโค่นมันแล้วละฮะพ่อ ตั้งแต่อาทิตย์กว่ามาแล้วที่เขาโค่นต้นส้มของผม…” 

เราเข้าใจได้ทันทีว่าต้นส้มนั้นคือสายสัมพันธ์ที่โอบกอดชีวิตน้อยๆ ของเขาเอาไว้นั่นเอง แม้ต้นส้มจะยังยืนต้นอยู่อย่างที่พ่อบอกเขา แต่สายสัมพันธ์ที่ดีซึ่งถักทอขึ้นมาในชีวิตของเขาได้ถูกทำให้สั่นคลอนอย่างหนักในช่วงเวลาและเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา โดยเฉพาะการจากไปของลุงโปรตุก้าที่เขาเห็นเป็นเหมือนพ่อและพื้นที่เกาะยึดเพื่อมีชีวิตอยู่ เซเซ่จึงบอกกับคนอ่านและพ่อของเขาว่ามันถูกโค่นลงแล้ว (แม้ว่ามันจะยังยืนต้นอยู่ก็ตาม)

ภาพจาก: https://www.youtube.com/watch?v=jK7kTwReXMo 

________

5

“ลูกบอลลูนของฉันน่ะพี่ มันจะสวยอยู่แล้ว” 

เซเซ่ทำให้เราเห็นว่า ‘สายสัมพันธ์’ สำคัญกับการมีชีวิตอยู่ของคนเรามากแค่ไหน การเติบโตของเด็กคนหนึ่งที่ยังเตาะแตะ พยายามจะคลาน เดิน และวิ่ง จำเป็นมากที่จะต้องมีที่เกาะเกี่ยวให้หัวใจของพวกเขามีกำลังไปต่อ มีพื้นที่ที่รู้สึกว่าหันไปพึ่งพาได้ มีใครสักคนที่คว้าเอาไว้ได้เมื่อล้มลง หรือมีใครสักคนที่เราอยากบอกให้รู้ว่าฉันลุกขึ้นยืนเองได้แล้ว อย่างที่นกน้อย ต้นส้มมิงกินโย และโปรตุก้า รวมถึงคนใจดีบางคนในเรื่องเป็นส่วนเติมเต็มสายสัมพันธ์ที่สำคัญในส่วนนี้ให้กับเซเซ่ ทว่าสายสัมพันธ์ในครอบครัวที่มีปัญหาก็สร้างบาดแผลอย่างลึกซึ้งเหลือเกิน จึงทิ้งความเจ็บปวดฝังลึกอย่างยากจะรักษาหรือแก้ไขเอาไว้กับเซเซ่เช่นกัน 

ฉันนึกถึงตอนหนึ่งที่เซเซ่ดูจะมีความสุขมากขึ้นจากที่ผ่านมาด้วยสายสัมพันธ์ที่เขากำลังลงเเรงก่อร่างขึ้นกับต้นส้มและลุงโปรตุก้ากำลังไปได้ด้วยดี แต่วันดีคืนร้ายเขากลับมาเจอเหตุการณ์ที่พี่ๆ ของเขารุมทำร้ายตบตีอย่างรุนแรงเช่นเดิม จน ‘บอลลูน’ ที่เซเซ่กำลังตั้งใจสานสร้างให้สำเร็จเพื่อไปอวดมิงกินโยและโปรตุก้าพังลงเสียก่อน ทั้งที่ “ลูกบอลลูนของฉันน่ะพี่ มันจะสวยอยู่แล้ว” โกเดียพี่สาวอีกคนเข้ามาช่วยเซเซ่ไว้อย่างเคย เธอทำแผล แล้วปลอบใจน้องว่า “เราไปบ้านย่ากันแล้วก็ไปซื้อกระดาษอีก พี่จะช่วยทำบอลลูนที่สวยที่สุดในโลกให้ไง สวยขนาดที่ดวงดาวยังต้องอิจฉาเลย” แต่คำตอบที่เซเซ่ตอบกลับมานั้นก็ให้คำตอบกับคนอ่านอย่างฉันว่าในบางครั้งสายสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยบาดแผลและความพยายามของเด็กคนหนึ่งที่ถูกสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขาขว้างทิ้งจนแตกสลาย อาจไม่สามารถต่อสานมันขึ้นมาใหม่ให้สวยได้อีกเลยก็เป็นได้ 

“ไม่มีประโยชน์หรอกโกเดีย พี่จะทำบอลลูนสวยๆ ได้ก็ตอนทีแรกเท่านั้นแหละ มันไม่มีทางดีหรอก เพราะพี่จะทำไม่ถูกหรือไม่ก็ไม่อยากทำ”

ฉันอดคิดไม่ได้ว่าเซเซ่ไม่ได้พูดถึงเพียง ‘ตอนทีแรก’ ของการสานสร้างลูกบอลลูนเท่านั้น หากแต่กำลังพูดถึง ‘ตอนทีแรก’ ของการสานสร้างชีวิตมนุษย์อย่างช่วงวัยเด็กอันเปราะบางนั้นด้วยวัยที่เราอยากเป็น ‘แสนรัก’ ของใครสักคน และอยากมีใครสักคนที่เป็น ‘แสนรัก’ เพื่อถักสานสายสัมพันธ์เอาไว้เกาะเกี่ยวหัวใจทั้งในวันนี้และพรุ่งนี้ต่อไป 

คำถามต่อมาก็คือว่าบรรยากาศและโครงสร้างสังคมแบบไหนจะช่วยสร้างโลกแสนรักขึ้นได้และปรากฏอยู่จริงในชีวิตของเด็ก ‘ทุกคน’ 


อ้างอิง

วาสคอนเซลอส, โจเซ่. (2550). ต้นส้มแสนรัก(พิมพ์ครั้งที่ 1)(มัทนี เกษกมล, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: ประพันธ์สาส์น

Writer
Avatar photo
ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

illustrator
Avatar photo
สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts

Related Posts