Little by little, a little makes a lot. – LittleLot เมื่อ ‘การเล่น’ กลายเป็นพื้นที่ปลดปล่อยจินตนาการไม่รู้จบ

Little by little, a little makes a lot. – LittleLot เมื่อ ‘การเล่น’ กลายเป็นพื้นที่ปลดปล่อยจินตนาการไม่รู้จบ

“Little by little, a little makes a lot.” 

การเล่นที่ดูเหมือนเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ จะค่อยๆ สั่งสมและกลายเป็นสิ่งที่มอบคุณค่ามากมายให้กับเด็กๆ

เพราะเชื่อว่า ‘การเล่น’ นั้นแฝงคุณค่าที่มากไปกว่า ‘ความสนุก’

‘แตงกวา-นัชชา จิระคุณ’ และ ‘ป๊อปปี้-ภาณุ จิระคุณ’ จึงจับมือกันพัฒนา LittleLot สื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กที่ต่อยอดจากวิทยานิพนธ์ในชีวิตมหาวิทยาลัย ให้กลายมาเป็นแบรนด์ ‘สื่อการเล่น’ ที่ทำให้เด็กๆ เรียนรู้ได้และสนุกด้วย

“เด็กๆ มีวิธีการเรียนรู้คนละแบบ” แตงกวาเล่าถึงสิ่งที่เธอมองเห็น เมื่อย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นในตอนที่ LittleLot ยังเป็นเพียงชื่อผลงานวิทยานิพนธ์ของเธออยู่

ในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย แตงกวาเคยเป็นครูสอนเปียโนให้กับเด็กที่มีภาวะการเรียนรู้ต่างจากเด็กคนอื่นๆ และได้เห็นว่าหนังสือหรือแบบเรียนทั่วไปนั้นไม่ได้รองรับภาวะการเรียนรู้ในรูปแบบที่ต่างออกไป เธอจึงตัดสินใจลงมือทำสื่อที่จะช่วยรองรับและสนับสนุนรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กเหล่านี้ โดยมีป๊อปปี้เข้ามาช่วยต่อยอดให้วิทยานิพนธ์ชิ้นนั้นกลายมาเป็นแบรนด์ LittleLot ในวันนี้

“พอเราได้ลองจับงานออกแบบที่เกี่ยวกับเด็กแล้วมันสนุกมาก เด็กๆ มีจินตนาการที่เยอะกว่าผู้ใหญ่อย่างเรา ความคิดของเขายังไม่มีกรอบ ดังนั้นเราจะไม่ไปบังคับเด็กๆ ในการเรียนรู้ แต่เราจะสังเกตได้ว่าเวลาที่เด็กได้เล่นของเล่น เขาจะสนุกและอยากเล่นอีก การเล่นมันทำให้เขาได้เรียนรู้และซึมซับด้วยตัวเองโดยที่เขาไม่รู้ตัว” ป๊อปปี้เล่าให้เราฟังถึงเหตุผลที่เลือกใช้ ‘การเล่น’ มาประยุกต์เป็นสื่อการเรียนรู้

ประกอบกับในตอนนี้ที่บทบาทของทั้งคู่ได้ก้าวเข้าสู่การเป็น ‘คุณพ่อและคุณแม่’ ทำให้ทั้งแตงกวาและป๊อปปี้เริ่มเข้าใจถึงวิธีการเรียนรู้ของเด็กๆ มากขึ้น LittleLot จึงเริ่มพัฒนารูปแบบสื่อการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์และเข้ากับการเล่น อีกทั้งยังเริ่มพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ที่ออกแบบอยู่ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

“พอมีลูกแล้วเราสังเกตเห็นว่าเวลาที่ปล่อยให้เด็กๆ เล่น เขาจะใช้เวลาไปกับการสำรวจ พยายามแก้ปัญหาแม้ว่าจะเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ กระบวนการเรียนรู้มันเกิดขึ้นเองในตอนที่เขาได้เล่น ยิ่งโตขึ้นกระบวนการก็จะยิ่งซับซ้อนขึ้น แต่เขาจะเข้าใจได้เองโดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งแบบฝึกหัดการคิดวิเคราะห์ กระบวนการเหล่านี้มันเกิดขึ้นโดยวิถีของเขาเลย” แตงกวาเล่า

ยิ่งเล่น ยิ่งรู้

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ผู้ใหญ่และพ่อแม่หลายคนอาจกังวลถึงผลเสียของการที่เด็กๆ เข้าถึงเทคโนโลยีได้ตั้งแต่ยังเล็ก ทว่าท่ามกลางกระแสเหล่านั้น LittleLot เลือกที่จะใช้ ‘เทคโนโลยี’ เข้ามาเป็นสื่อกลางในการเล่น และผนวกเข้ากับสื่อการเรียนรู้

ป๊อปปี้เล่าว่าวิธีการทำ ‘สื่อการเล่น’ ของ LittleLot ไม่ใช่การทำให้เด็กขลุกอยู่กับหน้าจอ หรือใช้เวลาไปกับการจดจ่ออยู่กับเทคโนโลยีทั้งวัน แต่สิ่งที่ LittleLot ทำ คือการนำเทคโนโลยีมา ‘ขยายความคิด’ ของเด็กๆ ให้สนุกยิ่งขึ้น

“เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่พัฒนารวดเร็วมาก แล้วก็เป็นสิ่งที่ยากที่จะหลีกเลี่ยง สำหรับ LittleLot เราเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเป็นสื่อกลางที่จะขยายความคิดของเด็กให้สนุกยิ่งขึ้น เทคโนโลยีในทุกวันนี้มีหลายรูปแบบมาก มันไม่ได้มาในรูปแบบของหน้าจอเพียงอย่างเดียว” 

ในกิจกรรมเวิร์กชอปสร้างเกมของ LittleLot นั้น ทุกขั้นตอนจะอยู่บนแผ่นกระดาษทั้งหมด เด็กๆ จะได้วาดภาพออกแบบตัวละคร ออกแบบสิ่งกีดขวาง และออกแบบรูปแบบเกมด้วยตัวเอง ก่อนที่สิ่งที่พวกเขาออกแบบ จะถูกนำไปแปลงเป็นเกมด้วยเทคโนโลยี

“เทคโนโลยีมันเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะขยายความคิดของเด็กๆ พอเขาได้เห็นว่าสิ่งที่เขาทำมันทันโลกนะ มันสนุก มันสร้างความยิ่งใหญ่ได้ เด็กๆ ก็จะรู้สึกอินกับสิ่งที่เขาทำมากขึ้น มันเข้ามาในลักษณะที่จะช่วยขยายความคิดสร้างสรรค์ของเด็กมากกว่า” 

เรียนรู้ผ่านการเล่น ด้วยเทคโนโลยีที่เป็นมิตร

ปัจจุบัน LittleLot มีผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่ เวิร์กชอป product personalization และสื่อการเล่นเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยทั้ง 3 รูปแบบนี้ ได้รับการออกแบบมาบนพื้นฐานคอนเซ็ปต์ของการใช้ ‘เทคโนโลยีที่เป็นมิตร’ หรือในรูปแบบของ Interactive Learning เพื่อให้เด็กๆ มีปฏิสัมพันธ์ ไม่ได้เป็นเพียงผู้รับสื่ออย่างเดียว

เวิร์กชอปของ LittleLot แฝงด้วยการเรียนรู้หลายรูปแบบและหลายประเด็น แตกต่างกันไปตามหัวข้อของกิจกรรมในแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเมืองหรือสร้างเกม แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่แตงกวาและป๊อปปี้บอกกับเราคือ LittleLot ให้ความสำคัญกับการให้พื้นที่เด็กๆ ได้ลองค้นหาและมีส่วนร่วมในสิ่งที่ชอบหรือสนใจ เพื่อที่เขาจะได้สนุกและเรียนรู้ในแบบที่ต้องการได้

“เวิร์กชอปแรกของเราคือเวิร์กชอปสร้างเมือง เด็กๆ จะได้ออกแบบเมืองและเรียนรู้เรื่อง Computational Thinking ภายในระยะเวลา 3 วันเขาจะได้เรียนรู้ตั้งแต่วิธีการวางผังเมือง การออกแบบตึก การแก้ปัญหาเรื่องเมือง การเดินทาง แล้วสุดท้ายเราจะทำการ Projection Mapping ลงไปให้เมืองมันมีชีวิตขึ้นมา เด็กๆ เขาก็พยายามจะไปถึงจุดนั้นให้ได้เพราะมันสนุกและท้าทาย”

“อีกเวิร์กชอปที่เราทำคือ Game Design ให้เด็กๆ วาดรูปตัวเอง วาดตัวละคร วาดตัวเอก วาดสิ่งกีดขวาง คิดคะแนนและวิธีการเล่น เสร็จแล้วก็เอาสิ่งเหล่านี้ไปสแกนทำให้เป็นเกม แล้วเขาก็สามารถเล่นในเว็บไซต์ของเราได้” 

“เราต้องการให้เด็กออกแบบเอง ทำให้เขาได้รู้ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ออกแบบได้ แต่ว่าเด็กอาจจะต้องการ Inspiration ในการลงมือทำ เพราะฉะนั้นเราจะโปรย Inspiration นั้นให้กับเขา”

และเมื่อเด็กๆ ได้เป็นเจ้าของชิ้นงานและออกแบบผลงานของตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ‘จินตนาการที่ไร้ขอบเขต’ ซึ่งจะขยายกลายเป็นไอเดียที่ใหญ่ไปเรื่อยๆ นี่คือความพิเศษที่ LitleLot มองเห็นในงานแต่ละครั้งที่เด็กๆ ได้ลงมือออกแบบเอง จนกระทั่งมีแผนพัฒนาไอเดียจากชิ้นงานที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ ให้ออกมาเป็นสิ่งของและผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ แถมยังมีชิ้นเดียวในโลก

“การที่ให้เด็กออกแบบเอง เขาจะมีจินตนาการที่เหนือกว่าเรา ซึ่งพอเราได้เห็นเด็กๆ ออกแบบเราจะพบว่ามันสนุกมาก บางทีเราลืมความสนุกนี้ไปแล้ว พอได้มาเห็นก็รู้สึกว่าเจ๋งมากเลย” ป๊อปปี้เล่าถึงความสนุกในการทำโปรเจกต์เหล่านี้ 

“ถ้าเราวางวิธีการออกแบบให้มันสนุกเหมือนการเล่น สิ่งที่เด็กจะได้จากตรงนั้นคือเขาจะภูมิใจในผลงานของตัวเอง เขาจะภูมิใจที่ได้สร้างคาแรกเตอร์ขึ้นมา และเมื่อเขาภูมิใจในสิ่งไหน เขาจะยิ่งอยากเรียนรู้สิ่งนั้นมากขึ้นไปอีก” 

“ถ้าเกิดอยู่ดีๆ เราไปบอกเขาว่านี่คือคาแรกเตอร์นะ นี่คือกวางนะ เขาก็จะไม่ค่อยสนใจ แต่ถ้าเด็กๆ เป็นคนออกแบบคาแรกเตอร์เอง เขาจำได้ว่าเมื่อกี้เลือกชิ้นส่วนนี้มา อันนี้คือกระต่าย เขาก็จะเริ่มสนใจว่ากระต่ายหน้าตาเป็นยังไง ก็ไปหาข้อมูลเพิ่ม มันทำให้เขาภูมิใจในผลลัพธ์ ทำให้เขาอยากจะค้นคว้าต่อ อยากที่จะวิ่งตามต่อ มันเลยเป็นวิธีการเรียนรู้ที่สนุก”

‘Design & Play Photo Booth’ คือโปรเจกต์ใหม่ล่าสุดของ LittleLot ที่ให้เด็กๆ ออกแบบตัวการ์ตูนจากสัตว์ตัวโปรดหรือจากจินตนาการผ่านตู้ถ่ายรูปแบบป็อปอัป จนได้ออกมาเป็นตัวการ์ตูนหน้าตาแบบใหม่ที่มีตัวเดียวในโลก และยังมีเกมแสนสนุกที่เล่นได้พร้อมกันทั้งครอบครัว อีกทั้งยังสามารถสั่งไอเทมจากตัวการ์ตูนที่ออกแบบเองกลับไปเล่นต่อที่บ้านได้ ขั้นตอนทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียง 5 – 10 นาทีเท่านั้น

“ตอนเด็กๆ พวกเราวาดรูปบนกระดาษ แต่ในตอนนี้เทคโนโลยีก็เป็นเสมือนผืน canvas ให้กับเด็กๆ” แตงกวาอธิบายให้เห็นภาพ

ลานลองเล่นเปิดจินตนาการ

“เราเคยสอนศิลปะเด็ก พอเขาจะระบายสีต้นไม้ เราก็ยื่นสีเขียวให้ เขาถามว่าทำไมต้องเป็นสีเขียว เขาจะระบายต้นไม้สีชมพู เราเลยเห็นว่าบางทีความเป็นผู้ใหญ่มันก็สร้างกรอบบางอย่างจนทำให้เราหลงลืมความสนุกไป ถ้าเราให้เด็กทำเองก็จะได้เห็นอะไรที่มันสนุกกว่า” แตงกวาเล่าถึงเหตุผลที่ LittleLot อยากให้เด็กๆ เป็นผู้สร้างและออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยใช้จินตนาการที่มีอยู่อย่างเต็มที่

“เด็กแต่ละคนมีความชอบเป็นของตัวเอง มีจินตนาการเป็นของตัวเอง และทุกคนเรียนรู้ได้ในทางของตัวเอง” 

“ผมเคยทำเวิร์กชอปวาดรูปแล้วมีเด็กคนหนึ่งไม่วาดอะไรเลย แต่สิ่งที่เขาบอกกับผมคือเขาวาดเสร็จแล้ว นี่คือหมีขาวในหิมะ มันก็ได้ของมันเหมือนกันนะ แล้วเราก็ได้รู้ว่าเขาไม่ชอบด้านนี้ แต่ปรากฏว่าเขาไปสนุกกับตอนที่ได้ปั้นดินน้ำมัน เพราะฉะนั้นเราจะบังคับเด็กไม่ได้จริงๆ เขามีความชอบของเขา เราแค่ต้องสร้าง framework เพื่อให้เขาทำในสิ่งที่เขาอยากทำได้” 

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ LittleLot แตกต่างจากแบรนด์สื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กทั่วๆ ไป คือการมีพื้นที่อิสระให้เด็กๆ ได้ลองเล่น ลองคิด และลองออกแบบ โดยมีเทคโนโลยีทำหน้าที่คอยสนับสนุนและขยายจินตนาการของเด็กๆ ให้ใหญ่ขึ้น ทำให้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ โดยในแต่ละขั้นตอนของการลองเล่น ลองคิด ลองออกแบบ จะถูกเชื่อมโยงด้วย Learning Process ทั้งหมด และทีม LittleLot ยังคงมีแผนที่จะพัฒนาสื่อการเล่นเหล่านี้ให้มีความหลากหลายมากขึ้นไปอีกในอนาคต

“ระหว่างที่เราทำชิ้นงาน เรามี Service ในการไปร่วมมือออกแบบกับองค์กรต่างๆ เราออกแบบสื่อ ทั้งเว็บไซต์ หนังสือ เกม บอร์ดเกม ร่วมกับองค์กรที่ออกแบบสื่อ ร่วมมือกับโรงเรียนอินเตอร์ ร่วมมือกับโรงเรียนไทย เพราะฉะนั้นเราจะสามารถเก็บข้อมูลได้ว่าแต่ละกลุ่มต้องการอะไร จากนั้นเราก็จะจัดเวิร์กชอปเพื่อมาทดลองไอเดียกัน แล้วค่อยๆ พัฒนาต่อยอดออกไปเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ เป็น product ที่ไม่มีวันจบและพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ”

“เวลาทำเวิร์กชอปหรือทำสื่อออกมาแล้วเห็นเด็กๆ ตาเป็นประกายในตอนที่เขาเล่นสื่อที่เราทำ ได้เห็นเขามีปฏิสัมพันธ์และสนุกไปกับมันมากๆ หรือมีเด็กกลับไปเล่าให้ผู้ปกครองฟังว่าอยากให้ถึงวันอังคารจังเลย เพราะวันอังคารมีวิชานี้ อยากมาเรียนเพราะสื่อที่เราทำ มันทำให้ใจฟูมากแล้วก็อยากทำต่อ รู้สึกว่าเราก็ทำให้เขาสนุกได้ หรืออาจจะ Inspire เขาได้นะ”

เหมือนอย่างที่แตงกวาและป๊อปปี้เล่าถึงความชอบในวัยเด็กของทั้งคู่ให้เราฟัง 

ของเล่นชิ้นเล็กๆ อย่างตัวต่อหรือเลโก้ที่แตงกวาเคยชอบ ประกอบกับความฝันที่เคยอยากมีสวนสนุกเป็นของตัวเองของป๊อปปี้ ตอนนี้ความชอบและความฝันของทั้งคู่ได้ประกอบร่างออกมาเป็น ‘LittleLot’ ที่มีทั้งพื้นที่ให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และมีทั้งความสนุกตื่นตาตื่นใจให้เด็กๆ ได้สัมผัส 

ไม่แน่ว่าความมหัศจรรย์ของ ‘การเล่น’ ที่ LittleLot มอบให้กับเด็กๆ อาจช่วยจุดประกาย ‘ความฝัน’ และทำให้พวกเขาได้ลงมือทำสิ่งนั้นให้เป็นจริงในอนาคตก็เป็นได้

Writer
Avatar photo
ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Photographer
Avatar photo
ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

illustrator
Avatar photo
สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts

Related Posts