

สีฟ้าเล็กเล็ก กับ สีเหลืองเล็กๆ
สีฟ้าเล็กเล็ก กับ สีเหลืองเล็กๆ
นิทานที่ไม่ได้ว่าด้วยการผสมสี แต่ว่าด้วยเรื่องของตัวตน มิตรภาพ การเปลี่ยนแปลง และการยอมรับ
นิทานภาพที่เกิดขึ้นในยุคของการเปลี่ยนแปลง
ในปี 1959 ท่ามกลางกระแสของสงครามเย็น การเรียกร้องสิทธิพลเมืองในสหรัฐอเมริกา และโลกที่ยังเต็มไปด้วยเส้นแบ่งทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม “สีฟ้าเล็กเล็ก กับ สีเหลืองเล็กเล็ก” (Little Blue and Little Yellow) ได้ถือกำเนิดขึ้นจากมือของศิลปินและนักเล่าเรื่องอย่าง Leo Lionni
เขากำลังนั่งรถไฟไปกับหลานๆ แต่ไม่ได้เตรียมของเล่นหรืออุปกรณ์วาดรูปมา ด้วยสายตาศิลปินที่เห็นงานศิลปะในสิ่งธรรมดาทั่วไป Leo หยิบนิตยสารขึ้นมา ฉีกกระดาษเป็นชิ้นเล็กๆ สีฟ้าและสีเหลือง แล้วเริ่มเล่าเรื่อง…
นั่นคือจุดเริ่มต้นของหนังสือภาพเล่มแรกที่กลายเป็นผลงานคลาสสิกไปชั่วนิรันดร์ เป็นหนังสือสำหรับเด็กที่ไม่มีตัวละครเป็นมนุษย์หรือสัตว์ ไม่มีใบหน้า ไม่มีคำพูดที่ฟุ่มเฟือย แต่กลับพูดถึงสิ่งที่ซับซ้อนอย่าง ตัวตน มิตรภาพ การเปลี่ยนแปลง และการยอมรับ
เรื่องราวของการเปลี่ยนแปลง ที่ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง
สีฟ้าเล็กเล็ก อาศัยอยู่กับพ่อสีฟ้าและแม่สีฟ้าในบ้านหลังเล็กๆ เขามีเพื่อนรักคือ สีเหลืองเล็กเล็ก ที่อยู่ข้างบ้าน ทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทกัน พวกเขาเล่นด้วยกัน วิ่งเล่นในสวน เล่นซ่อนหา และทำทุกอย่างร่วมกัน วันหนึ่ง เมื่อพวกเขาเล่นกันอย่างสนุกสนาน สีฟ้าเล็กเล็ก และสีเหลืองเล็กเล็ก วิ่งเข้าหากันแล้วกอดกันแน่น
และแล้วสิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น… พวกเขากลายเป็น สีเขียว!
Illustration from Little Blue and Little Yellow. (Courtesy Penguin Random House; Alfred A. Knopf BFYR) ภาพจาก : https://untappedjournal.com/stories/leo-lionni-little-blue-little-yellow-graphic-design
พวกเขาดีใจและตื่นเต้นกับการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่เมื่อถึงเวลากลับบ้าน ปัญหาใหญ่ก็เกิดขึ้น
เมื่อสีเขียวกลับมาถึงบ้านของสีฟ้า พ่อและแม่สีฟ้าไม่รู้จักเขา “นี่ไม่ใช่ลูกของเรา” พวกเขาพูด สีเขียวเศร้าใจมาก และเมื่อไปถึงบ้านของสีเหลือง ก็เกิดเหตุการณ์เดียวกัน พ่อและแม่สีเหลืองไม่รู้จักเขาเช่นกัน
สีเขียวทั้งสองร้องไห้ด้วยความเศร้าอย่างแสนสาหัส ร้องไห้จนร่างของพวกเขากลายเป็นหยดน้ำตาเล็กๆ สีฟ้าและสีเหลือง และพอทั้งสองกลับมาเป็นสีฟ้าเล็กๆ และสีเหลืองเหมือนเดิมอีกครั้ง พวกเขาก็ลองกลับบ้านอีกครั้ง “คราวนี้พ่อกับแม่จะเชื่อว่าเป็นเราไหมนะ”
Illustration from Little Blue and Little Yellow. (Courtesy Penguin Random House; Alfred A. Knopf BFYR) ภาพจาก : https://untappedjournal.com/stories/leo-lionni-little-blue-little-yellow-graphic-design
พ่อแม่ดีใจเมื่อเจอลูกที่กลับมาเป็นสีฟ้าเหมือนเดิม พวกเขากอดสีฟ้าเล็กเล็ก กับ สีเหลืองเล็กเล็ก ด้วยความรัก
และคราวนี้เมื่อทุกคนกอดกัน..
ทุกคนก็กลายเป็นสีเขียวไปหมด!
การกอดครั้งนี้ ทำให้พ่อแม่เข้าใจทั้งหมด โดยไม่ต้องอธิบายว่าทำไมลูกถึงกลายเป็นสีเขียว เป็นเพราะความรักนั่นเอง ที่ทำให้เราต่างยอมรับในความต่างของกันและกัน ไม่มีใครกลัวหรือไม่รู้จักกันแล้ว เพราะพวกเขาเข้าใจแล้วว่า แม้จะเปลี่ยนสี แต่ความรักและความผูกพันยังคงอยู่เหมือนเดิม
นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของการ “เปลี่ยนแปลงทางกายภาพ” แต่มันสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในอัตลักษณ์ ในตัวตน และการเผชิญหน้ากับโลกที่ยังไม่พร้อมจะเข้าใจหรือโอบรับ “สิ่งใหม่” แม้สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นจากความรักก็ตาม
Picture Book Decode: ถอดรหัสนิทานภาพ
การอ่านเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อนหลายระดับ เมื่อเราเปิดหนังสือ “สีฟ้าเล็กเล็ก กับ สีเหลืองเล็กเล็ก” หรือหนังสือเล่มอื่นๆ ขึ้นมา เรากำลังเดินทางไปสู่ความหมาย ซึ่งมีหลายระดับและหลายมิติ ตั้งแต่การรับรู้ข้อมูลเบื้องต้น ไปจนถึงการสร้างความหมายที่ซับซ้อน
การรับรู้ระดับของการอ่านแต่ละขั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุเลย เด็กๆ หลายคนที่ได้อ่านหนังสือภาพคุณภาพดี และมีผู้ใหญ่แวดล้อมรอบตัวเปิดโอกาสให้หนังสือภาพได้ทำงานกับพวกเขาอย่างเต็มที่ คือเปิดช่องว่างให้ได้คิดและตีความ เด็กๆ จะสามารถอ่านไปถึงระดับความหมายได้อย่างเป็นธรรมชาติ หรือเด็กๆ จะเก็บข้อมูลสะสมเอาไว้ จนกระทั่งเมื่อวันหนึ่งพวกเขาโตพอที่ประสบการณ์จะช่วยทำให้ความหมายที่ได้อ่านสะสมชัดเจนขึ้น พวกเขาจะเข้าใจมันได้เอง
ภาพนามธรรมกับความหมายที่ปรากฎขึ้นในตัวแต่ละคน
หนังสือ “สีฟ้าเล็กเล็ก กับ สีเหลืองเล็กเล็ก” มีความพิเศษของภาพอยู่ประการหนึ่ง ที่ Leo Lionni เลือกใช้ คือการเลือกใช้เทคนิคคอลลาจ สร้างภาพตัวละครที่ไม่มีหน้าตา เป็นเพียงสีและรูปทรง และคำเพียงเล็กน้อย ซึ่งแตกต่างจากนิทานภาพอื่นๆ ในยุคนั้น ที่ตัวละครชัด แสดงอารมณ์ โกรธ เศร้า หรือมีความสุขได้ผ่านสีหน้า ท่าทาง
ความต่างของการใช้ภาพแบบนามธรรม (Abstract) ทำให้ผู้อ่านไม่ว่าวัยไหนจะต้องตีความมากกว่าปกติทันทีตั้งแต่เริ่มเปิดหนังสือขึ้นมา นั่นหมายถึงว่า ผู้สร้างงานชิ้นนี้ใช้งานของเขาในการผลักให้ผู้อ่านเกิดกระบวนการในสมองของเขาต่อ
ส่วน “ความหมาย” จะเป็นอย่างไร ลองหยิบ “สีฟ้าเล็กเล็ก กับ สีเหลืองเล็กเล็ก” มาถอดรหัสกันค่ะ
ระดับขั้นของการอ่าน และการรับรู้ความหมาย
ระดับที่ 1: อ่านได้ (Reading the Lines)
หมายถึงการเข้าใจในสิ่งที่เขียนไว้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องตีความ เหมือนการอ่านป้ายบอกทางที่เขียนว่า “ห้องน้ำ” เราก็รู้ทันทีว่าห้องน้ำอยู่ตรงนั้น ไม่ต้องคิดว่าอาจหมายถึงอะไรอื่น เห็น “สีฟ้า” “สีเหลือง” ที่ผสมกันเป็น “สีเขียว”
ในระดับนี้ ผู้อ่านตอบคำถามพื้นฐาน เช่น:
- สีฟ้าเล็กเล็กกับสีเหลืองเล็กเล็กเป็นเพื่อนกันไหม? → ใช่
- เมื่อพวกเขากอดกันจะกลายเป็นสีอะไร? → สีเขียว
- พ่อแม่รู้จักสีเขียวไหม? → ไม่รู้จัก
นี่คือระดับแรกของการอ่าน เป็นระดับ Who What When Where Why หรือการเห็นสิ่งที่ปรากฏชัด มันเป็นพื้นฐานระดับแรกของการอ่าน แต่ในนิทานภาพแต่ละเล่ม โดยเฉพาะนักวาดภาพประกอบที่มีชั้นเชิงการเล่าเรื่องอย่าง Leo Lionni เขามักจะซ่อน “ความหมาย” อื่นเอาไว้อีก
ระดับที่ 2: อ่านรู้ (Reading Between the Lines)
ระดับนี้เราเริ่มหาความหมายที่ผู้เขียนไม่ได้บอกตรงๆ แต่แอบซ่อนไว้ให้เราค้นหา เข้าใจความหมายเบื้องต้น รู้ว่า “วงกลมสีฟ้า” หมายถึงอะไร ภาพสัญลักษณ์อื่นๆ หมายถึงอะไร และเชื่อมโยงกับระดับความรู้สึก ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวาดภาพประกอบ หรือคนสร้างหนังสือนิทานซ่อนเอาไว้ระหว่างบรรทัด
ในระดับนี้ ผู้อ่านเริ่มมีคำถามว่า “ทำไมพ่อแม่ถึงไม่รู้จักสีเขียว?” และเริ่มคิดถึงความรู้สึกเศร้าของสีเขียว อาจจะนึกถึงประสบการณ์ที่ตัวเองเปลี่ยนไป อย่างเช่นตัดผมทรงใหม่มาแล้วเพื่อนไม่ให้เล่นด้วย
ในระดับนี้เราพอจะรู้กันแล้วว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของสี แต่เป็นเรื่องของความเศร้าจากการรู้สึกถูกปฏิเสธ หรือเห็นเป็นคำสอนแบบนิทาน ที่สอนให้รู้ว่า “ท้ายที่สุดครอบครัวก็ต้องรัก ยอมรับ และเข้าใจกัน” หรือบางคนอาจจะเข้าใจไปว่า Leo Lionni เขียนเรื่องการเมือง หรือการยอมรับความหลากหลาย
ระดับที่ 3: อ่านลึก (Reading Beyond the Lines)
ความคิดที่เกิดขึ้นในหัวของเราอาจจะไม่ใช่ภาพและคำที่ผู้เขียนเขียนตัวอักษร หรือวาดเป็นรูปไว้เลย แต่ “ภาพ” และ “คำ” ทำให้เราสร้าง “ความคิด” ที่อยู่ภายใน
ไม่เพียงเข้าใจเรื่องราว หรือสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวเท่านั้น แต่เรายังประเมิน วิเคราะห์ เชื่อมโยงกับสังคม โลกภายนอก และอาจสร้างความหมายใหม่ๆ หรือในบางครั้งความคิดถูกรื้อขึ้นมาแล้วประกอบเป็นความหมายใหม่ (Construct & Reconstruct)
คนที่อ่าน “สีฟ้าเล็กเล็ก กับ สีเหลืองเล็กเล็ก” มาถึงจุดนี้แล้วมีความคิดบางอย่างเกิดขึ้น อาจจะค้นพบว่า “Leo Lionni ฉลาดจริงๆ เขาไม่ได้เขียนแค่เรื่องการเมือง เขาเขียนเรื่องความเป็นมนุษย์”
ความคิดเหล่านั้นไม่ได้ตายตัว มีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนที่สามารถเชื่อมโยงไปได้ ตัวอย่างความหมายที่อาจเกิดขึ้น:
- มิตรภาพที่ทำให้บางอย่างในตัวเราเปลี่ยนไป
มิตรภาพที่แท้จริงไม่ใช่แค่การอยู่ข้างๆ กัน แต่เป็นการผสมผสานกันจนเกิดสิ่งใหม่ที่สวยงามกว่าเดิม การที่สีฟ้าและสีเหลืองกลายเป็นสีเขียวแสดงถึงมิตรภาพที่มีอิทธิพลต่อกัน เปลี่ยนแปลงกัน และสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากอยู่คนเดียว
- เรื่องของความรักที่ปรับตัวได้
ความรักที่แท้จริงไม่ใช่ความรักที่ต้องการให้คนที่เรารักคงเดิมไปตลอด แต่เป็นความรักที่เติบโตและปรับตัวไปกับการเปลี่ยนแปลง พ่อแม่ในเรื่องเรียนรู้ที่จะรักลูกในรูปแบบใหม่ และลูกก็เรียนรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ได้หมายความว่าจะสูญเสียความรัก
- เรื่องของการเติบโตและความกลัวของเด็ก
“เมื่อลูกเราเปลี่ยนแปลง เราจะยังรักเขาอยู่ไหม?”
ถ้าเขาเป็นวัยรุ่น กลายเป็นผีเสื้อที่ไม่ใช่หนอนตัวใหญ่ขึ้น
ถ้าเขาคิดแตกต่างจากพ่อแม่ แตกต่างจากเด็กคนเดิมที่เราเคยเลี้ยงดูมา
เด็กๆ มักมีความกังวลลึกๆ ว่าเมื่อตัวเองเปลี่ยนแปลง พ่อแม่จะยังรู้จักและรักเหมือนเดิมไหม เมื่อเราเรียนรู้สิ่งใหม่ มีเพื่อนใหม่ หรือมีความคิดที่แตกต่างจากเดิม จะยังเป็น “ลูกที่ดี” ในสายตาพ่อแม่อยู่ไหม?
อะไรหนอที่จะทำให้เขากล้าแสดงความเปลี่ยนแปลงให้เราเห็น กล้าเผชิญความไม่เข้าใจกัน โดยไม่ต้องปิดบัง
- สังคมและความหลากหลาย
ฉากสุดท้ายที่ทุกคนกลายเป็นสีเขียวไปหมด แต่ยังคงเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นสัญลักษณ์ของสังคมที่ยอมรับความหลากหลาย เมื่อเราเข้าใจและยอมรับความแตกต่าง เราสามารถเป็นหนึ่งเดียวกันได้โดยไม่ต้องสูญเสียเอกลักษณ์ของตัวเอง
- ความขัดแย้งระหว่างกระบวนการปรับตัว เป็นเรื่องธรรมดา
แม้ตอนที่สีเขียวเล็กๆ จะร้องไห้เศร้าโศกเพียงใดเมื่อถูกพ่อแม่เข้าใจผิดและปฏิเสธ แต่การเล่าเรื่องของ Leo Lionni ไร้ซึ่งน้ำเสียงของการตำหนิอย่างสิ้นเชิง เขาเป็นเพียงผู้ถ่ายทอดความเป็นจริงของมนุษย์อย่างซื่อสัตย์ ระหว่างการเปลี่ยนแปลง และการยอมรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นตัวเราเองหรือยอมรับผู้อื่น ย่อมเป็นเวลาแห่งความขัดแย้งทั้งนั้น แต่เราจะผ่านพ้นมันไปได้ด้วยความรักที่มั่นคงเสมอ
Illustration from Little Blue and Little Yellow. (Courtesy Penguin Random House; Alfred A. Knopf BFYR) ภาพจาก : https://untappedjournal.com/stories/leo-lionni-little-blue-little-yellow-graphic-design
อ่านจบแล้วอย่าเพิ่งพาทำกิจกรรมผสมสี ^^
สำหรับคุณครูหรือคุณพ่อคุณแม่ที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว และกำลังมองหากิจกรรมหลังจากอ่านนิทาน ครูอักษรขอแนะนำว่า อย่ารีบพาไปทำกิจกรรมผสมสี หรือแม้ตัดกระดาษแล้วเอามาซ้อนกัน
เพราะหลังอ่านนิทาน คือจังหวะที่นิทานกำลังทำงานกับเด็ก สมองของเด็กๆ กำลังเรียนรู้อย่างหนัก เพื่อตีความ ทำความเข้าใจ เปรียบเทียบประสบการณ์เก่า ถ้าเรารีบเอากิจกรรมอื่นมาขัดจังหวะ เด็กจะไม่มีโอกาสได้อยู่กับเนื้อหาที่ได้ฟัง
หากเรารีบเอากิจกรรมอย่างการผสมสียื่นไปให้เด็ก สมองของเด็กๆ จะรับประสบการณ์ใหม่ และตีความข้อมูลใหม่ทันที เขาจะไม่มีโอกาสได้อยู่กับเนื้อหาที่ได้ฟัง เพราะถ้าได้อ่านเรื่องไปด้วยกันแล้วจะรู้ได้ชัดว่า นี่ไม่ใช่นิทานที่เอาไว้ใช้สอนศิลปะเลย
แทนที่จะหยิบยื่นกิจกรรม หรือแค่ชวนมองว่า เพราะอะไรสีฟ้ากับสีเหลืองถึงผสมกันออกมาแล้วได้สีเขียว เราอาจชวนเด็กๆ คุยถึงประเด็นคำถามเหล่านี้
- สีเขียวรู้สึกอย่างไรเวลาพ่อแม่จำเขาไม่ได้?
- เพราะอะไรพ่อแม่ถึงจำเขาไม่ได้?
- ถ้าเราเป็นสีเขียว เราจะรู้สึกยังไง?
- แล้วถ้าเพื่อนของเรากลายเป็นสีใหม่ เราจะทำอย่างไร?
คำถามเหล่านี้จะพาเด็กไปสู่การเรียนรู้และช่วยสมองเด็กให้ตีความและทำงานกับนิทานอย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่การสร้างบทสนทนาที่น่าสนใจกับเด็กๆ
นิทานดีๆ ที่ไม่มีวันล้าสมัย
กว่า 60 ปีแล้วที่นิทานเรื่องนี้อยู่ในมือของเด็กๆ ทั่วโลก และยังคงอยู่เหมือนเดิม ไม่เคยล้าสมัย เพราะโลกยังต้องการนิทานที่พูดเรื่องความแตกต่างโดยไม่ตัดสิน โลกยังต้องการเรื่องเล่าที่สอนว่าเราสามารถรักในความเปลี่ยนแปลงได้ และโลกยังต้องการพื้นที่ที่เด็กจะเรียนรู้ว่า เขาไม่ต้องเหมือนเดิมเสมอไป
‘สีฟ้าเล็กเล็ก กับ สีเหลืองเล็กเล็ก’ จึงไม่ใช่แค่หนังสือเด็กเล็ก และไม่ได้สอนเรื่องการผสมสี แต่เป็นบทเรียนของมนุษย์ทุกคน ที่กำลังเรียนรู้จะยอมรับใครสักคนแม้เขาไม่ใช่สีเดิมอีกต่อไป และโลกนี้ไม่ใช่มีแค่สีพื้นสามสี แต่เต็มไปด้วยสีเขียว สีม่วง สีส้ม และเฉดเฉพาะตัวอีกนับไม่ถ้วน
และทุกเฉด ต่างก็มีคุณค่าในแบบที่เป็น