“คนเราต้องทำสิ่งที่ชีวิตสอนให้ทำ” ทางขึ้นยอดเขาแห่งการเรียนรู้ในแปดขุนเขา
“คนเราต้องทำสิ่งที่ชีวิตสอนให้ทำ” ทางขึ้นยอดเขาแห่งการเรียนรู้ในแปดขุนเขา
- แปดขุนเขา วรรณกรรมอิตาลีจาก เปาโล คนเญตติ หยิบเรื่องราวของเขาและพ่อที่มักชวนกันไปปีนเขา มาเป็นแก่นหลักของวรรณกรรมเล่มนี้
- เรื่องราวดำเนินอยู่บนความสัมพันธ์ของปิเอรโตรและบรูโน่ และคำถามที่ว่า “ใครได้เรียนรู้มากกว่ากันระหว่างคนที่ท่องไปทั้งแปดขุนเขาหรือคนที่ไปถึงยอดเขาพระสุเมรุ”
- ในชีวิตของแต่ละตัวละคร พวกเขาต่างต้อง ‘เรียนรู้’ บางอย่างเสมอ ซึ่งสิ่งที่เรียนรู้มิได้มีเพียงความรู้เสมอไป
“ในรถยนต์ระหว่างทางยาวไกลที่ต้องพาผมไปโรงเรียน บางวันแม่ก็ร้องเพลงเก่าๆ แม่ขึ้นท่อนแรกขณะรถติด ครู่ต่อมาพ่อก็ร้องตาม เพลงเหล่านั้นพูดถึงพ่อกับแม่ผม หมายถึงชีวิตจริงของพ่อกับแม่ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นก็อธิบายไม่ได้ว่าทำไมน้ำเสียงของทั้งคู่ถึงแอบเผยความซาบซึ้งใจออกมาชัดเจนขนาดนั้น”
พ่อแม่ของ ‘ปิเอโตร’ (ตัวละครนำ) เติบโตที่เมืองเล็กๆ บนเขา หลังแต่งงาน ทั้งคู่ย้ายมาอยู่ที่มิลาน แต่ทุกปิดเทอมพ่อแม่จะพาปิเอโตรขึ้นไปอยู่บ้านพักตากอากาศบนเทือกเขาแอลป์ ที่นั่นปิเอโตรได้รู้จักกับเด็กเลี้ยงวัวในหมู่บ้านที่มีรุ่นราวคราวเดียวกับเขาชื่อว่า ‘บรูโน่’
วรรณกรรมอิตาลี ‘แปดขุนเขา’ โดย เปาโล คนเญตติ (Paolo Cognetti) ชาวมิลานที่พ่อ (ยังมีชีวิตอยู่) มักจะพาไปปีนเขา คนเญตติจึงเลือกเล่าเรื่องผ่านการไต่เขา ในทุกฉาก ทุกวิวทิวทัศน์ เขาเขียนมาจากฉากในขีวิตประจำวันและการเดินทางไปเพื่อพรรณามันออกมาเป็นตัวอักษร
“ผมเอาเรื่องของพ่อมาเขียน จากความทรงจำแท้ๆ ดัดแปลงเป็น ‘โจวานนี (พ่อของตัวละครนำ)’ ซึ่งมีบางส่วนเหมือนและไม่เหมือนพ่อผม ในเมื่อผมไม่มีโอกาสรู้จักเขามากขึ้น นี่คงเป็นโอกาสบอกเขาว่าผมรู้สึกอย่างไรที่เป็นลูกเขา และบอกว่าผมรักเขาเพียงใด” เปาโล คนเญตติ
แปดขุนเขาเล่าเรื่องราวมิตรภาพบนเส้นทางที่แยกและกลับมาบรรจบกันของเพื่อนวัยเด็กสองคน ปิเอโตรและบรูโน่ มีฉากหลังเป็นเทือกเขาแอลป์ ดำเนินเรื่องไปบนคำถามที่ไร้คำตอบว่า “ใครได้เรียนรู้มากกว่ากันระหว่างคนที่ท่องไปทั้งแปดขุนเขาหรือคนที่ไปถึงยอดเขาพระสุเมรุ”
“ผมต้องได้เห็นกับตา เห็นโลกที่สร้างความสุขมากมายนี้ให้พ่อ”
วันหนึ่งปิเอโตรและบรูโน่ขอพ่อไปปีนเขาด้วย ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่ปิเอโตรไปปีนเขากับพ่อ เมื่อปีนเขากับพ่อ พ่อให้เขาเดินนำหน้าโดย ‘ห้ามหยุด ห้ามถาม ห้ามพูดคุย และห้ามชะลอ’ ทุกครั้งที่มีคณะปีนเขากลุ่มใดเดินนำหน้า พ่อต้องเร่งฝีเท้าเพื่อเดินแซงคณะปีนเขากลุ่มนั้น ในครั้งนั้นปิเอโตรคลื่นไส้วิงเวียนจนเกือบเป็นลม
เขาไม่เคยเข้าใจว่าทำไมพ่อต้องปีนเขา ‘อย่างนั้น’ เขาหงุดหงิดพ่อที่หากเขาไม่ทำตามนั้นแล้วพ่อจะหงุดหงิด เหนือสิ่งอื่นใด เขาไม่เคยเข้าใจที่พ่อเป็นคนขี้หงุดหงิดและนิยามพ่อว่าเป็นคน ‘เกะกะ ชอบวางอำนาจ ชอบให้คนที่อยู่รอบตัวเขาทำอย่างที่เขาต้องการให้ทำ’
ปิเอโตรตีตัวออกห่างจากพ่อมากขึ้นเรื่อยๆ และแตกหักเมื่อเขาเลือกเดินเส้นทางภาพยนตร์ และโดนพ่อด่าว่าเขา “โยนชีวิตตัวเองทิ้ง” กลับกัน แม่เขาให้กำลังใจว่า “ลูกเก่งทางด้านนี้มาแต่ไหนแต่ไร” และสนับสนุนให้เขาเดินสายอาชีพนี้มาตั้งแต่ตอนนั้น
กว่าเขาจะเข้าใจ พ่อก็จากไปแล้ว สิ่งที่เขาเหลือไว้ คือ ที่ดินว่างเปล่าบนขุนเขาที่ฝากฝังให้ปิเอโตรและบรูโน่ร่วมสร้างบ้านพักตากอากาศด้วยกัน
“ผมกับบรูโน่อาจกำลังใช้ชีวิตอยู่ในความฝันของพ่อจริงๆ ก็ได้”
ปิเอโตรค่อยๆ พบชิ้นส่วนในอดีตของพ่อหลังจากนั้น เขาเริ่มเข้าใจที่พ่อต้องรู้สึกว่ามีอะไรค่อยไล่จี้ ต้องแข่งกับใครเขาไปทั่ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขารู้ดีอยู่แล้วคือ พ่อรักเขา แต่ด้วยการกระทำของพ่อไม่ทำให้เขารู้สึกสบายใจที่จะอยู่ด้วยเลย จะเป็นไปได้ไหม หากพ่อไม่ปิดกั้นความทรงจำวัยเด็กและเล่าให้เขาฟัง ไม่แน่ว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่อาจไม่ลงเอยอย่างนี้
“ใครสอนฉันเรื่องการเป็นพ่อคน หรือ ที่แน่ๆ คือไม่ใช่พ่อฉัน”
ส่วนบรูโน่นั้นตรงกันข้าม บรูโน่ไม่เคยรู้สึกว่าได้รับความรักใดๆ จากพ่อแย่ๆ ขี้เมา รวมถึง ‘คนแบบแม่’ ที่ชอบการอยู่คนเดียวแต่เพราะเป็นผู้หญิง ‘สังคม’ จึงบังคับให้แต่งงาน
“ฉันกับแม่เราเหมือนกัน เพียงแต่ว่าแม่เป็นผู้หญิง ถ้าฉันเข้าไปอยู่ในป่าจะไม่มีใครว่าอะไร แต่ถ้าผู้หญิงเข้าไปคนจะหาว่าเป็นแม่มด ถ้าฉันนิ่งเงียบแล้วจะมีปัญหาอะไร ฉันก็แค่ผู้ชายที่ไม่พูด ส่วนผู้หญิงที่ไม่พูดคงสติสตังไม่ดีแน่ๆ”
“ถ้าแม่เป็นผู้ชาย แกคงใช้ชีวิตอย่างที่แกต้องการ ฉันว่าแกคงไม่ใช่คนประเภทที่อยากแต่งงานมีครอบครัว ที่แน่ๆ ไม่ใช่กับพ่อฉัน แม่โชคดีอยู่อย่างเดียว คือ เป็นอิสระจากพ่อ”
เขามองว่าตัวเองมีครอบครัวที่แย่เพราะครอบครัวไม่รักเขา เขาจึงเชื่อเสมอว่าตนเอง ‘เก่ง’ มากพอที่จะสร้างครอบครัวที่ดีได้ด้วยความรัก
“ไม่มีใครดูแลคนอื่นได้หรอก แค่ดูแลตัวเองยังยากเลย คนเราเกิดมาถ้าเก่งก็เอาตัวรอดได้เสมอ แต่ถ้าคิดว่าตัวเองเก่งมากๆ สุดท้ายก็ล่มจม”
เขาพูดคำคำนี้ออกมาเมื่อ ‘อนิต้า’ ภรรยาของเขาขอหย่า พร้อมกับพาลูกลงไปใช้ชีวิตในเมือง หลังจากการทะเลาะกันทุกคืนด้วยหัวข้อเดิมๆ คือ ธุรกิจทำชีสของเขาขาดทุนและถูกธนาคารฟ้องอายัดฟาร์ม วันที่อนิต้าจากไปและเขาหมดอาลัยจนให้ธนาคารฟ้องล้มละลาย ปิเอโตรบินจากเนปาลกลับมาหาเขา เขาทำได้แต่เพียงก่นด่าตนเองที่ไม่รู้เรื่องการเงินหรือการบริหารธุรกิจเลย
“คนเราต้องทำสิ่งที่ชีวิตสอนให้ทำ ตอนอายุน้อยอาจยังเลือกที่จะเปลี่ยนเส้นทางเดินได้ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งควรหยุดแล้วบอกตัวเองว่า เอาล่ะสิ่งนี้เราทำได้ สิ่งนี้ทำไม่ได้” บรูโน่กล่าว
แม้ว่าสมัยเด็กๆ แม่ของปิเอโตรที่มองผ่านเลนส์ของคนเมืองเคยคิดจะพาบรูโน่ลงเขาไปเรียนหนังสือ แต่สุดท้ายแล้ว บรูโน่ก็ไม่ได้ไป หากมองในมุมอื่นนอกเหนือจากมุมมองของคนเมืองย่อมสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่า บรูโน่ไม่เหมาะกับระบบการศึกษาเลย เพราะระบบการศึกษาทำให้เขามี “ผลการเรียนปานกลาง” จึงนับเขาเป็น “คนกลางๆ”
เขาอาจจะไม่จำเป็นต้องผันกริยาให้ถูกไวยากรณ์อิตาลี เรียนภาษาเขียนตามที่ระบบการศึกษาบังคับให้เรียน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิต เขาไม่สามารถหนีเรื่องการบริหารจัดการเงินพ้น เรียกได้ว่า “ชีวิตบังคับเขาให้เรียนรู้”
ในชีวิตของแต่ละตัวละคร พวกเขาต่างต้อง ‘เรียนรู้’ บางอย่างเสมอ ซึ่งสิ่งที่เรียนรู้มิได้มีเพียงความรู้เสมอไป
แม้ความรู้จะเป็นสิ่งที่พ่อปิเอโตรมี ทว่าสิ่งหนึ่งที่ชีวิตบังคับให้เรียนรู้ แต่เขากลับปฏิเสธมันมาตลอดคือ การหยุดพักหายใจสักนิดและหันกลับมามองคนรอบตัว รวมถึงการเข้าใจคนรอบตัว
สิ่งที่ปิเอโตรอยากเรียนรู้ยิ่งกว่าสิ่งใดจึงเป็นการรักษาความสัมพันธ์
“ในตัวแม่นั้น ผมเห็นดอกผลการทะนุถนอมความสัมพันธ์ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน หมั่นดูแลรักษาเช่นเดียวกับดอกไม้บนระเบียง ผมนึกสงสัยว่าพรสวรรค์แบบนี้คนเราเรียนรู้กันได้ไหมหรือว่าต้องเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เกิดเท่านั้น”
อ้างอิง
บทสัมภาษณ์เปาโล คนเญตติ
https://www.wordswithoutborders.org/dispatches/article/an-interview-with-paolo-cognetti-francesca-pellas-jessie-chaffee
Writer
รุจิภาส กิจติเวชกุล
อินเทิร์นผู้มีคำถามแรกๆ ในชีวิตว่าคนเราเกิดมาทำไม และถามคำถามต่อๆ มาที่สังคมไม่อยากฟัง จึงหาคำตอบส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน
illustrator
กรกนก สุเทศ
เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง