Hear&Found ตามหาเสียงที่ชอบ แล้วเราจะรู้จักตัวเองมากขึ้น! คุยกับ ‘เม-รักษ์’ เมื่อในคนมีเสียง—ในเสียงมีคน การฟังจึงพาเดินทางไกลจนถึงข้างในตัวเรา

Hear&Found ตามหาเสียงที่ชอบ แล้วเราจะรู้จักตัวเองมากขึ้น! คุยกับ ‘เม-รักษ์’ เมื่อในคนมีเสียง—ในเสียงมีคน การฟังจึงพาเดินทางไกลจนถึงข้างในตัวเรา

“เครื่องอัดเสียงมันพาเราเดินทางออกไป มันช่วยทำให้เราเติบโตทางความคิดความรู้สึกผ่านหูของเรา” 


“ดนตรีมันมีอย่างอื่นนอกจากสิ่งที่เขาร้องออกมาหรือเล่นออกมา มันมีตัวคนที่เล่น มีตัวคนทำเครื่องดนตรี มีตัวคนและบริบทที่เกี่ยวข้อง เราเลยรู้สึกว่าดนตรีหรือเสียงมันสามารถเล่าเรื่องบางอย่างได้ด้วย”  

เม-ศิรษา บุญมา และ รักษ์-ปานสิตา ศศิรวุฒิ ผู้ร่วมก่อตั้ง Hear&Found เล่าถึงแรกเริ่มความรู้สึกที่ทำให้ทั้งสองสนใจทำงานกับเรื่องใกล้หูอย่าง “เสียง” 

เม-ศิรษา บุญมา

จุดเริ่มต้นความสนใจของ “เม” มาจากการเป็นนักศึกษา sound engineer มหาวิทยาลัยศิลปากรในระดับปริญญาตรี เมเล่าว่าโดยความเข้าใจทั่วไปการเรียน sound engineer ก็คือการเรียนเพื่อไปทำงานด้านดนตรี เพราะมันคือการเรียนทำเสียงในห้องอัด จวบจนในช่วงปี 3 ถึงปี 4 อาจารย์ที่สอนในขณะนั้นได้ชวนพูดคุยถึงประเด็น soundscape (ทัศนียภาพของเสียง) ทำให้มีโอกาสทำงานเรื่องดนตรีกับชุมชนในจังหวัดสุรินทร์-แม่ฮ่องสอน ช่วงเวลานั้นเองที่เมได้ถือเครื่องอัดเสียง 1 เครื่องออกเดินทาง จากการทำงานเรื่องเสียงที่อยู่เฉพาะในห้องอัดขยายขอบออกไปนอกห้องอัดเสียงอย่างไม่รู้จบ และเจ้าเครื่องอัดเสียงที่เก็บกักความละเอียดซับซ้อนของเสียงรอบตัวไว้อย่างคมชัดนี้เองทำให้เมได้เติบโตทางความคิดและค้นพบว่า ‘โลกข้างนอกกับหูของเรามันไม่ได้ไกลกันขนาดนั้น เสียงมันมีอยู่รอบตัวเราตลอดเวลา และอยู่ในทุกมิติของชีวิต’  

รักษ์-ปานสิตา ศศิรวุฒิ

ส่วน “รักษ์” ไม่ได้เริ่มต้นมาจากการศึกษาเรื่องเสียงโดยตรง แต่เริ่มก่อร่างจากประสบการณ์ในขณะเป็นนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่การทำกิจกรรมเกี่ยวกับชุมชนทำให้สนใจประเด็นสังคมและวัฒนธรรมอันแตกต่างหลากหลาย ความสนใจนี้เองที่ทำให้หลังจากเรียนจบรักษ์เลือกทำงานในบริษัทโซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์ที่ทำเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนและได้พบเจอกับ “เม” ในขณะทำงานที่นั่น  จึงได้ทำโปรเจ็กต์เล็กๆ ชื่อว่า  Hear&Found ในประเด็น “วัฒนธรรมหายไป” ซึ่งเกิดจากความสนใจการสื่อสารประเด็นชุมชนของรักษ์กอบกับความสนใจเรื่องเสียงของเม โดยในช่วงหนึ่งของโปรเจ็กต์นั้นรักษ์ได้เดินทางเข้าไปสัมภาษณ์ผู้คนในชุมชนด้วยตัวเองซึ่งเป็นการสัมภาษณ์นักดนตรีประมาณ 20-30 คน นักดนตรีทุกคนมีความเชื่อในเรื่องดนตรีและเสียงเหมือนกันว่ามันเป็นมีเดียที่เข้าถึงคนง่ายที่สุด เพราะว่าคนก็ฟังเพลง แล้วเสียงก็อยู่รอบตัวเรามากที่สุด ตรงนั้นก็เลยเป็นจุดที่ทำให้รู้สึก connect กับเรื่องดนตรีและเสียงขึ้นมาเรื่อยๆ’ รักษ์ได้พบว่าเรื่องเสียงสัมพันธ์กับผู้คนอย่างแนบแน่น หรือกล่าวอีกทางหนึ่งคือมี “คน” ปรากฏอยู่เสมอในเสียงที่ถูกนำเสนอออกมา  

การทำงานและการเดินทางร่วมกันไปฟังเสียงในพื้นที่ต่างๆ หลอมกลายเป็นความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติต่อผู้คน ทำงานกับความแตกต่างหลากหลายเพื่อการเข้าใจผู้อื่นไปจนถึงภายในของตัวเองผ่าน “เสียงและดนตรี” Hear&Found จึงก่อร่างขึ้นอย่างเป็นทางการ 

“Hear&Found ตั้งขึ้นมา เพื่อที่จะทำให้คนทั่วไปโดยเฉพาะคนที่อาจจะไม่ได้มีโอกาสเข้าถึงความหลากหลายได้รู้ว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมขนาดไหน มีกลุ่มคนแบบไหนอยู่บ้าง เขามีวิถีชีวิตยังไง เขามีแนวคิดยังไง เขามีดนตรีเป็นแบบไหน เสียงของเขาเป็นแบบไหน” 

บทความนี้จะมาชวนฟัง “เสียง” ของสองผู้ปลุกปั้น Hear&Found ที่ปรากฏอยู่ในความคิดความเชื่อ ตัวตน ความทรงจำ ไปจนถึงมุมมองว่าด้วยเรื่องเสียงของพวกเขา ที่จะชวนไปทำความรู้จักหลากหลายมิติที่เสียงทำงานกับคนเราตั้งแต่ความคิดไปจนถึงการผ่อนคลายความคิดและทำความรู้จักกับภายในของเรา 

ฟังที่หู—เข้าที่ใจ 

ตั้งต้นพูดคุยกันในประเด็นแรกถึง “การฟัง” กับ “การค้นพบ” ซึ่งเป็นความหมายของ “Hear” และ “Found” ทั้งสองคำนี้สัมพันธ์หรือทำงานถึงกันในแง่มุมไหน แล้วมันจะพาเราไปเข้าใจผู้คนหรือกระทั่งเปลี่ยนความคิดได้อย่างไรกัน 

ตัวเมเองก็เปลี่ยนความคิด ความรู้สึกที่มีต่อกลุ่มคนชนเผ่าพื้นเมืองผ่านการฟัง มันพาให้เราไปเจอเรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคม เรื่องสิทธิมนุษยชน” 

เม ชวนเริ่มพูดคุยต่อประเด็นนี้จากตัวเองที่การเปลี่ยนแปลงความคิดเดินทางมาพร้อมเสียง รวมทั้งยกตัวอย่างการทำงานของ Hear&Found ที่ตอบคำถามในประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจ อาทิ ‘งานดนตรีชนเผ่า’ ที่เชิญพี่ศิลปินที่ชื่อ ดิปุนุ-บัญชา มุแฮ นักดนตรีชาวปกาเกอะญอมาเล่นที่กรุงเทพฯ โดยจัดเป็นอีเวนต์เล็กๆ มีทั้งดนตรีที่มีเนื้อหาสะท้อนความคิดและวิถีชีวิต มีเรื่องเล่านิทรรศการขนาดย่อมว่าด้วยเรื่องป่ากับคน หลังจากนั้นได้มีการทำแบบสอบถามว่า ก่อนมางานมีแนวคิดอย่างไรเกี่ยวกับการเผาป่า แล้วหลังจากที่ฟังเรื่องราวผ่าน “บทเพลง” ของดิปุนุแล้ว พวกเขาเห็นเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง 

“ปรากฏว่า 80% ของคนที่มางาน เขารู้สึกว่าเขาได้รู้เรื่องที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน เช่น ได้รู้ว่าการทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนปกาเกอะญอมันเป็นการทำเพื่อรื้อฟื้นระบบนิเวศอย่างไร หรือมีพี่นักดนตรีคนหนึ่งในช่วงถามตอบพี่เขาพูดขึ้นมาว่า ‘ความคาดหวังเขาคืออยากมาฟังดนตรีและอยากรู้ว่าเสียงมันเป็นยังไง แต่พอได้ฟังแล้ว ถ้าหลังจากนี้มีเรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมือง เขาจะหาข้อมูลให้มากขึ้นกว่านี้’ อันนี้คือสิ่งที่เปลี่ยนไปจากการที่มีเสียงกับดนตรีเข้ามาเป็นตัวกลาง” 

รักษ์เสริมในประเด็นนี้ต่อโดยชี้ชวนให้เห็นว่าเสียงหรือดนตรีก็เป็นทางหนึ่งในการค้นพบคำตอบอะไรบางอย่าง เธอยกตัวอย่าง workshop ที่ทีมเคยทำซึ่งชวนคนมาสังเกตตัวเองผ่าน “การฟัง” มีหมุดหมายคืออยากให้คนได้มารู้จักหูตัวเองมากขึ้นว่าเสียงที่อยู่รอบตัวเรา จริงๆ แล้วมีอยู่ตลอดเวลาและมีอยู่แทบในทุกพื้นที่  โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้หรือแม้แต่การชวนตั้งคำถามถึงพื้นที่ที่เราคิดว่าเงียบ มันเงียบจริงไหมหรือจริงๆ แล้วมีเสียงอะไรซุกซ่อนอยู่ 

“การที่เราชวนคนมารู้จักการฟัง เพราะว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาจะได้รู้จักตัวเอง ถ้าเขาได้รู้จักตัวเองว่าเขาชอบฟังอะไร ไม่ชอบฟังอะไร มันก็เป็นอีกพาร์ตหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถเปิดหูฟังคนอื่นได้ด้วยในอีกทางหนึ่ง”

คนกับเสียงเชื่อมโยงถึงกันอย่างไร 

เมื่อชวนพูดคุยต่อถึงตัวกลางอย่าง “เสียง” ว่ามีความพิเศษยังไงและมีบทบาทอะไรกับคนเราบ้าง เมได้ให้คำตอบชวนฟัง 

ถ้าเกิดว่าเราเป็นคนในกลุ่มที่มีความสามารถในการใช้หูได้ มันแปลว่ามนุษย์มีความสามารถในการได้ยินตลอดเวลา แล้วถ้าพูดในเชิงวิทยาศาสตร์ก็คือ ที่เดียวที่ไม่มีเสียงก็คือ ‘อวกาศ’ ตราบใดที่มี ‘อากาศ’ มันย่อมยังมีเสียงอยู่ แค่ว่าเราจะได้ยินเสียงมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับระดับความสามารถของหูเราเอง ซึ่งแต่ละคนก็อาจจะได้ยินได้ไม่เท่ากัน เป็นเรื่องของภายในของเราแล้ว

ถ้าเราเข้าใจเบื้องต้นแบบนี้ เราจะเห็นอีกเลเยอร์นึงว่า เสียงมีบทบาทอื่นๆ ยังไงบ้าง เสียงมีบทบาทในเชิงการให้ข้อมูล การให้สุนทรียะ การให้ความรู้สึก อารมณ์ร่วมอย่างเสียงร้องไห้เวลาเราดูละครหรือเพื่อนเรานั่งร้องไห้ เราก็จะรู้สึกเศร้าตาม เสียงยังเข้าไปจนถึงความทรงจำของมนุษย์ บางทีอาจทริกเกอร์เสียงบางเสียงที่มีทรอม่า หรืออาจจะเป็นความทรงจำที่ดีมากๆ เหมือนเวลาที่เราได้กลิ่นบางกลิ่น มันเป็นเรื่องของประสาทสัมผัสที่เป็นเรื่อง automatic ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน”

รักษ์เพิ่มเติมประเด็นปฏิสัมพันธ์ของคนเรากับเสียงที่ต่างกันออกไปว่า 

“อย่างเสียงขยำกระดาษหรือเสียงที่ขูดอะไรบางอย่าง บางคนรู้สึกผ่อนคลาย แต่บางคนรู้สึกว่าไม่ชอบเลย มันเป็นเรื่องของประสบการณ์ของแต่ละคนว่าเขาไปเจออันนี้แล้วเขานึกถึงความทรงจำอะไรในอดีต” 

รักษ์ยกตัวอย่างโปรเจ็กต์หนึ่งที่ได้ไปเก็บเสียงในมิวเซียมสยาม ซึ่งเป็นเสียง ASMR เบื้องหลังของแต่ละอาชีพ มีทั้งอาชีพภัณฑารักษ์ อาชีพคนดูแลโบราณวัตถุ อาชีพชงกาแฟ เป็นเบื้องหลังของคนในมิวเซียมสยามที่คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้  แล้วเอามาจัดแสดงให้คนมานั่งฟังเพลย์ลิสต์นี้ หลังจากฟังก็จะมีการโหวตว่าแต่ละคนรู้สึกยังไงกับเสียง ชอบเสียงไหนที่สุด แล้วเสียงนั้นมันทำให้คุณรู้สึกยังไงบ้าง 

“จากผลที่ออกมา มันก็จะมีเสียงธรรมชาติยามเช้ากับยามเย็นที่คนจะรู้สึกผ่อนคลาย แต่ว่ามันก็จะมีเสียงอย่างเสียงขูดทานาคาซึ่งอันนี้ครึ่ง-ครึ่งมาก บางคนบอกว่าเสียงนี้เพราะมันผ่อนคลายมาก อีกฝั่งหนึ่งบอกว่ารู้สึกอึดอัด ไม่ชอบ หรือเสียงชงกาแฟ บางคนรู้สึกว่ามันทำให้นึกถึงการจะต้องไปกินกาแฟแล้ว แต่บางคนก็จะรู้สึกว่ามันดูอึดอัดมากเลย เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้รู้สึก connect กับการชงกาแฟ ซึ่งมันก็จะเป็นเรื่องของประสบการณ์หรือว่าความทรงจำของเขาที่ผ่านมาด้วย”  

เพื่อคลี่ขยายให้เห็นถึงความรู้สึกเชื่อมโยงต่อเสียงที่แตกต่างกันมากขึ้นของคนเรา เมชวนตั้งคำถามผ่านโลกดนตรีว่า ทำไมคอนเสิร์ตโบ-จอยซ์ อาร์เอส-แกรมมี่จึงขายดี นั่นก็เพราะคนยุค 90s ต่างอยากมาซื้อบัตร เพราะอยากอยู่ในบรรยากาศแบบนั้น ทั้งๆ ที่ตอนนี้มีเพลงใหม่เต็มไปหมดนั่นเอง

“มันอยู่ภายใต้แนวคิด record of youth คือดนตรีของเยาวชน แต่ว่าในที่นี้มันไม่ได้หมายความว่าเยาวชนคือ ‘คนรุ่นปัจจุบัน’ แต่หมายความว่า ‘มันเป็นความทรงจำของเยาวชน’ มันเป็นเสียงที่เราคุ้นเคยในตอนที่เราโตขึ้นมา แล้วเป็นความทรงจำที่ดีของเรา มันเลยทำงานกับเราข้างในอย่างแยบยล” 

เมยังยกตัวอย่างกลุ่ม “พี่มานิ” เป็นอีกกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองหนึ่งที่ส่วนมากอยู่ในจังหวัดสตูล ดนตรีและบทเพลงของพวกเขามีที่มาที่ไปจากการเลียนเสียงธรรมชาติที่ได้ยินในป่าแล้วทำออกมาเป็นเสียงร้องของพวกเขาเอง เมชี้ชวนให้เห็นจากกรณีนี้ว่า มนุษย์มีความสามารถในการเลียนแบบซึ่งนับเป็นเบื้องต้นของความเป็นมนุษย์ กล่าวคือ เมื่อมนุษย์ได้ยินจึงเลียนแบบเสียงนั้นออกมา ในอีกทางหนึ่งคือมนุษย์มีความสามารถในการที่จะเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ แล้วคนกลุ่มนี้ก็เรียนรู้ธรรมชาติผ่านการเลียนแบบเป็นธรรมชาติอีกทีหนึ่ง ทำให้เห็นว่า 

“จริงๆ แล้วความสามารถของคนเรากับเสียงมันไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวขนาดนั้น มันอยู่ในข้างในเราลึกๆ มันน่าจะอยู่ในจิตวิญญาณของเราด้วยซ้ำ แต่ว่าเราเลือกที่จะสังเกตมันมากน้อยขนาดไหนมากกว่า”

ค้นหาเสียงที่ชอบ จุดเริ่มต้นของการฟังเสียง ‘ข้างใน’ ตัวเอง

พูดคุยกันมาสักพักก็ทำให้เราเห็นว่าเสียงเชื่อมโยงกับภายในของคนเราอย่างลึกซึ้งและมีบทบาทต่อการทำความเข้าสังคมและผู้คนอย่างหลากหลายแง่มุม แล้วหากเราจะหวนกลับมามองลึกลงไปในตัวเราเอง เสียงจะเยียวยาหัวใจหรือทำให้เราเข้าอกเข้าใจตัวเองได้บ้างไหม ชวนไปฟัง “เสียง” จากคนทำงานเรื่องเสียงทั้งสองคนกันเลย 

Q: เสียงแบบไหนที่อยู่ในความทรงจำส่วนตัวของคุณเม-คุณรักษ์ ที่รู้สึกว่ามัน connect กับเราได้ตลอดและมีความหมายกับตัวเรามาก?  

เม: ส่วนตัวเมชอบเสียงธรรมชาติมากค่ะ อาจจะเริ่มต้นมาตั้งแต่ตอนปี 3 ที่ถือเครื่องอัดเสียงออกไปข้างนอกพื้นที่ อัดเสียง แล้วก็ยืนอยู่ตรงนั้นโดยที่เราไม่สามารถขยับตัวได้เยอะเพราะเสียงมันจะเข้า มันเลยทำให้เราจดจ่อและมีสมาธิในการฟัง ทำให้เรารู้เลยค่ะว่า ‘ตัวเราเล็กมาก’ เมื่อเทียบกับสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ไม่ว่าจะต้นไม้พริ้วไหว ลมพัดแรงๆ นกร้อง มอเตอร์ไซค์ที่วิ่งจากอีกหมู่บ้านหนึ่ง คือเราเป็นมนุษย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวทั้งหมด เราไม่ได้เป็นคนที่ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งนั้น 

รักษ์: ก่อนหน้านี้รักษ์ชอบเสียงธรรมชาติ คือมันทำให้เราสงบ ยิ่งไปอยู่ในพื้นที่ป่าของแต่ละแห่งที่ไม่เหมือนกัน มันทำให้เราสังเกตว่าแต่ละที่มันมีสัตว์แตกต่างต้นไม้ก็ให้เสียงที่แตกต่างกัน เราเลยรู้สึกอะเมซซิ่งกับตรงนี้ แต่พอปีที่แล้วที่มีโอกาสได้ไปงานฟาดข้าวของหมู่บ้านกะเหรี่ยงโผล่ว (Pwo) ที่กาญจนบุรี เราได้ไปเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมนั้นซึ่งเขาจัดแบบดั้งเดิม ทำให้เห็นว่าวิธีการฟาดข้าวหรือการเคารพข้าวของคนกะเหรี่ยงมันมีพลังมาก เรารู้สึกว่าเสียงของการที่คนรวมตัวกันเพื่อไปฟาดข้าวบนแท่นที่เขาให้ความเคารพมัน remind เราอยู่เรื่อยๆ เพราะทุกมื้อเราก็ต้องกินข้าว เราก็จะนึกถึงภาพนั้นตลอดค่ะ

Q: แล้วเสียงที่ฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลายที่สุดล่ะ คือเสียงอะไร?

เม: คิดว่าขึ้นอยู่กับแต่ละโหมดค่ะ สมมติต้องการทำงานแล้วต้องการมีสมาธิหรือมีความต่อเนื่องในการทำงาน ก็จะเปิดเพลงในกลุ่ม ambient music ที่ผสมกับเสียงธรรมชาติ คือความนิ่งเรียบไม่ขึ้นลงหรือหวือหวามาก อย่างเพลงของนักเปียโนคนหนึ่งในกลุ่ม minimalism ที่ไม่ได้เล่นโน้ตเยอะมาก เล่นเรียบๆ เรื่อยๆ เราจะชอบโทนนี้ ส่วนถ้าผ่อนคลายแบบอื่นๆ ก็จะชอบอยู่ในที่ที่มีเสียงน้อยที่สุด หรือเสียงที่ได้ยินก็ควรเป็นเสียงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา ก็จะรู้สึกนิ่งที่สุดหรือสบายตัวที่สุด เราว่าความเป็นธรรมชาติมันคือความมั่นคงข้างในลึกๆ  

รักษ์: ถ้าวันที่รู้สึกเหนื่อยแล้วอยากนอนพัก จะคล้ายๆ กับคุณเมคือเสียงธรรมชาติ แต่ว่าเหตุผลอาจต่างกันคือเรารู้สึกว่าพอเราได้ฟังเสียงธรรมชาติ สมมติมีสิ่งมีชีวิตอยู่ในนั้น เช่น เสียงนก ตั๊กแตน จิ้งหรีด มันก็จะทำให้เราไปคิดเรื่องอื่น เช่น นกมันคุยอะไรกัน เสียงตัวนี้มันสูงกว่าตัวนี้นะ เราก็จะรู้สึกว่าได้ติดตามชีวิตของสิ่งมีชีวิตอื่น หรือได้หลุดออกไปจากพื้นที่นั้น มันเลยทำให้เราผ่อนคลายมากขึ้นด้วยค่ะ

Q: หลายคนทำงานในโรงงาน เป็นพนักงานออฟฟิศ อยู่ในตัวเมืองแออัด ซึ่งก็ดูจะยากมากในการเข้าถึงเสียงธรรมชาติหรือมีเวลาหยุดฟังเสียงเพื่อทำงานกับมันอย่างตั้งใจ เราจะทำยังไงดีที่จะเข้าถึงเสียงแบบนั้นได้

เม: จริงๆ ตอนนี้เทคโนโลยีมีเยอะมาก สามารถที่จะเข้าถึงได้ฟรี เราเข้าไปหาเสียงธรรมชาติผ่าน YouTube ผ่าน Spotify อะไรพวกนี้ได้ เมว่ามันเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราไม่จำเป็นต้องดั้นด้นไปถึงที่  Hear&Found เองก็มี YouTube channel ที่มีเสียงธรรมชาติเหมือนกัน สามารถเข้าไปฟังได้ฟรีๆ เลย แล้วมันเป็นเสียงของบ้านเราด้วย กาญจนบุรีเสียงเป็นยังไง ปัตตานีเสียงเป็นยังไง ภูเก็ตเสียงเป็นยังไง เชียงใหม่เสียงเป็นยังไง ซึ่งการได้ฟังเสียงของประเทศไทยเองมันก็อาจจะเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ทำให้เราได้ connect กับรากตัวเองอย่างไม่รู้ตัว 

อีกเรื่องหนึ่งที่เมว่ามันสำคัญคืออยากให้ลองคุยกับตัวเองดู ลองถามตัวเองว่าเราชอบเสียงไหน ไม่ชอบเสียงไหน การที่เรารู้ว่าเราชอบสิ่งไหน ไม่ชอบสิ่งไหน เราอาจจะยังไม่ต้องรู้ก็ได้ว่าเพราะอะไร แต่เราจะไปหาเสียงนั้นได้ง่ายขึ้น แล้วถ้าพูดถึงการดูแลจิตใจตัวเอง จากประสบการณ์ส่วนตัวของเม ความมั่นคงภายในจะเกิดขึ้นได้เราก็ต้องรู้จักตัวเอง อาจจะเริ่มรู้จักจากความชอบและความไม่ชอบ ซึ่งเราใช้ประสาทสัมผัสของเราในการเริ่มเรียนรู้สิ่งนี้ได้ เหมือนการที่เรารู้ว่าเราชอบกินอะไร ไม่ชอบกินอะไร เราชอบเสียงอะไร เราไม่ชอบเสียงอะไร มันเป็นการเรียนรู้ข้างใน แล้วมันก็จะอยู่กับเราไปได้นาน

รักษ์: เห็นด้วยกับคุณเมเกือบทั้งหมดค่ะ ถ้าเรารู้ว่าเราชอบอะไร เราก็จะไปหาสิ่งนั้นได้ถูกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราชอบ และในกรุงเทพฯ ที่บอกว่ามันเป็นเมืองแออัด ต้นไม้น้อย ส่วนตัวรักษ์ก็อยู่ใจกลางเมือง แต่ว่าทุกเช้าก็มักจะได้ยินเสียงนกที่คุยกันตลอด ถ้าเราสามารถหาเสียงใกล้ตัวที่เป็นเสียงธรรมชาติได้ รักษ์ว่ามันก็เป็นอีก element เล็กๆ ที่อาจจะทำให้เราผ่อนคลายได้สำหรับคนที่ชอบเสียงธรรมชาติ แต่ว่าถ้าบางคนที่รู้สึกว่าอยากจะ explore เสียงอื่นๆ เหมือนมีความชอบเสียงในรูปแบบอื่น รักษ์ก็คิดว่าการสังเกตเสียงรอบตัว ติ๊กว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ก็น่าจะเป็นตัวช่วยที่ดี


ดูเหมือนว่าเสียงจะพาเราไปค้นพบโลก ตั้งแต่โลกรอบๆ ตัว พาออกเดินทางไปไกลแสนไกลในโลกที่เราไม่เคยได้ยินเสียง หวนมาฟังเสียงที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลหัวใจอย่างเสียงที่อยู่ในความทรงจำ ไปจนการเข้าถึงการพักผ่อน เข้าอกเข้าใจและโอบกอดหัวใจตัวเองได้ผ่านสิ่งที่ไร้ตัวตนอย่าง “เสียง” 

เมและรักษ์ที่ทำงานเรื่องมนุษย์กับเสียงมาหลากหลายรูปแบบได้สกัดบางแง่มุมที่พวกเขาได้เรียนรู้จากการเดินทางที่ผ่านมาทั้งหมดเอาไว้อย่างน่าสนใจ 

เมว่าเราได้รู้ว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่เรา มันมีเพื่อนมนุษย์กลุ่มอื่นๆ อีกเต็มไปหมดเลยที่มีไลฟ์สไตล์เป็นของตัวเอง แล้วก็เสียงมันพาให้เราเดินทางไป มันก็เปิดโอกาสให้เราเข้าใจโลกและเข้าใจว่ามีเราอยู่ไปทำไม ได้รู้เรื่องคุณค่าของตัวเรา คุณค่าของมนุษย์คนอื่นๆ แล้วก็คุณค่าของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ” 

“รักษ์รู้สึกว่าเสียงมันทำให้เราเดินทาง ตั้งแต่แรกที่ทำ Hear&Found ที่ได้ไปคุยกับคนเรื่องดนตรีและเสียง ทำให้เราได้รู้จักตัวตนของคนในแต่ละพื้นที่ ทั้งได้รู้จัก ได้มิตรภาพ เมื่อเราอยากจะเรียนรู้ อยากฟังเสียงเขา อยากเข้าใจเขาจริงๆ มันก็เลยทำให้เกิดมิตรภาพระหว่างคน และการที่เขาเปล่งเสียง ทั้งเสียงดนตรี หรือเสียงพื้นที่ธรรมชาติออกมาก็ทำให้ตัวคนที่อาจจะไม่ใช่เราก็ได้ อาจจะเป็นชุมชนหรือตัวคนนั้นนั้น กับคนอื่นๆ เชื่อมโยงถึงกัน”  

ในตอนท้ายก่อนบทสนทนาจบลง ทั้งสองยังพูดถึง Hear&Found ที่กำลังมุ่งเดินทางในปีต่อๆ ไป พร้อมกับเชิญชวนให้มาร่วมเดินทาง “ฟัง” เสียงใหม่ๆ อย่างไม่รู้จบไปด้วยกัน

save indigenous people to save our planet เราเชื่อเรื่องนี้ save indigenous people ในที่นี้ก็คือ อยากชวนลองทำความรู้จัก ลองทำความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนทั้งของตัวเองและของคนอื่น ลองมองคนชนเผ่าพื้นเมืองไม่ใช่แค่เป็นผู้มีวัฒนธรรมแล้วสามารถนำไปต่อยอดเป็นสินค้าแบบซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างเดียว แต่อยากให้มองลึกลงไปมากกว่านั้นว่าเขามีตัวตนแบบไหน เขาอยากบอกอะไร เขาไม่อยากบอกอะไร มองเป็นคนที่เป็นเพื่อนกันน่ะค่ะ” 

เม ศิรษา บุญมา

“ปีใหม่ ชวนให้ฟังเสียงใหม่ๆ ชวนฟังสิ่งใหม่ที่อาจจะยังไม่เคยฟัง แล้วถ้าอยากลองอะไรใหม่ๆ เสียงมันก็น่าจะทำให้ได้ไปเจออะไรใหม่ๆ ที่น่าจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งใหม่ๆ ในชีวิตได้ เราก็ยังเชื่ออยู่เหมือนเดิมค่ะว่าถ้าเราได้ฟังมากขึ้น ฟังกันมากขึ้น เราก็จะได้ค้นพบอะไรใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ด้วยกัน”

รักษ์ ปานสิตา ศศิรวุฒิ 
Writer
Avatar photo
ศิรินญา สุวรรณโค

มีฝีมือในการทำอาหารประเภทยำ และอยู่อย่างมีความหวังเสมอ ในวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน

Photographer
Avatar photo
ณัฐวุฒิ เตจา

illustrator
Avatar photo
สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts

Related Posts