เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา : ผมศรัทธาว่าผู้สร้างสวรรค์ทรงดำรงอยู่ และผมจะทำทุกอย่างให้เจ้าของสวรรค์พึงพอใจ

เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา : ผมศรัทธาว่าผู้สร้างสวรรค์ทรงดำรงอยู่ และผมจะทำทุกอย่างให้เจ้าของสวรรค์พึงพอใจ

งานเซรามิกจากดินปะนาเระเรียงวางเป็นแถวละลานตาในโรงงานเบญจเมธา

เดินเข้าไปในอาคารอีกหลัง เราจะพบกับห้องเรียนพร้อมกระดานฟลิปชาร์ทปึกใหญ่ซึ่งขีดเขียนความรู้และปรัชญาในการดำเนินชีวิตด้วยลายมือเพื่อสื่อสารกับผู้คนที่มาเยือนถึงความตั้งใจในการออกแบบการงานและการใช้ชีวิตเพื่อให้จิตวิญญาณเชื่อมต่อกับพระเจ้าทุกขณะ เป็นสิ่งที่เขาเลือกแล้วว่าจะทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อพระองค์

ออกมาข้างนอกเราอาจเห็นไก่วายน์ดอทจ้ำม่ำเดินอวดลวดลายบนตัว ส่วนด้านหลังเป็นรังชันโรง แมลงพื้นเมืองในกลุ่มเดียวกับผึ้งที่ไม่มีเหล็กในที่ให้น้ำหวานรสชาติหวานอมเปรี้ยว

ไม่ใกล้ไม่ไกลจากจุดนั้น แพะสายพันธุ์ ‘กำปงปาลัส’ พันธุ์แพะพื้นเมืองสีเทาตัวเล็กบางตัวกำลังเล็มหญ้า บ้างเดินไปมาในทุ่งหญ้าเล็ก ๆ บ้างอยู่ในโรงเลี้ยง ส่งเสียงร้องเป็นระยะ เราเดาว่ามันคงอยากออกไปเดินเล่นกลางทุ่งหญ้านั่นบ้าง

ข้าง ๆ ทุ่งหญ้าที่เหล่าแพะกำลังใช้ชีวิตสโลวไลฟ์ หม้อเซรามิกหมักครามหลายใบตั้งเรียงเป็นแถว ใกล้กันนั้นมีชั้นวางแม่พิมพ์ลาย ทั้งที่ทำจากเหล็กและไม้ไผ่

เหลือบมองไปทางทุ่งนา เราเห็นเป้าธนูที่ทำจากฟางซึ่งถูกสานโดยชาวบ้านในชุมชน

บางครั้งบางที หากเรานั่งเล่นที่บริเวณชานครัวเปิดโล่งใต้เงาไม้ ‘จูดี้’ แมวสามสีแม่ลูกอ่อนก็จะเดินมาคลอเคลีย

กิจกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ในที่ดินราว 5 ไร่นี้ ถูกออกแบบและจัดวางสเปซไว้อย่างดีโดย เอ็ม – เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา ศิลปินเซรามิกชาวปัตตานี เพื่อให้เป็นไปตามปรัชญาชีวิต ‘มาจากดิน อยู่กับดิน กลับสู่ดิน’ ปรัชญาที่มาจากวิถีมุสลิมที่เชื่อว่ามนุษย์ถูกสร้างมาจากดิน เราอยู่บนหน้าดิน และวันหนึ่ง กายของเราก็จะกลับคืนสู่ดิน

“ ‘มาจากดิน’ ก็เป็นอีกนัยยะของการกลับมาสู่พื้นถิ่น คุณไปร่ำเรียนเดินทางตรงไหนก็ได้ แต่คุณจะกลับมาบ้านเกิดของคุณ คุณมาจากปัตตานี คุณก็ต้องกลับมาอยู่ปัตตานี แต่ก่อนตายก็มีเงื่อนไขว่าคุณต้องทำประโยชน์อะไรไว้ให้สังคมบ้านของคุณ”

เช่นนั้นเอง เอ็มโซเฟียนที่เคยเดินทางจากบ้านเพื่อโบยบินลัดฟ้าไปเรียนการออกแบบเฟอร์นิเจอร์และศิลปะภาพพิมพ์ถึงฝรั่งเศสจึงกลับมายังบ้านเกิดพร้อมกับความรู้ทางด้านการออกแบบ เพื่อนำมาใช้ต่อยอดและพัฒนาทรัพยากรในพื้นที่ และแปรทรัพยากรเหล่านั้นเป็นผลผลิตหรือองค์ความรู้ที่อาจไม่เคยมีหรือเคยมีแต่กลับลบเลือนไปแล้วในบ้านเกิดของเขา โดยมีเป้าหมายมั่นคงคือการส่งต่อให้ชุมชน

และทุกอย่างที่เขาทำ มีหลักคำสอนของอิสลามและความศรัทธาในพระเจ้าเป็นแรงผลักดันอยู่เบื้องหลัง

“ท่านนบีมูฮัมหมัด ศาสนฑูตสุดท้ายของพระเจ้าได้กล่าวไว้ว่า เมื่อมนุษย์คนหนึ่งตายไป ทุกผลกรรมของเขาจะถูกตัดขาด ยกเว้นสามประการที่มันจะดำรงยั่งยืน เป็นผลบุญกับเขาต่อก็คือ การทิ้งองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ สองคือการบริจาคทานต่อเนื่อง สามคือกัลยาณบุตร ลูกที่ดีเพื่อจะมาต่อยอดและวิงวอนให้แก่คุณ”

เอ็มพาเราเดินชมบริเวณบ้านของเขา แนะนำครอบครัวที่ประกอบไปด้วยภรรยาและลูก ๆ 4 คนให้รู้จัก พูดคุยอย่างสนุกถึงสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเซรามิก เลี้ยงชันโรง เลี้ยงไก่ไข่สี เพาะพันธุ์แพะ ยิงธนูผ้าย้อมคราม และเลี้ยงลูก ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่เขาชอบ ถนัด และมีจุดเชื่อมโยงคือชุมชนจะได้ประโยชน์

ใกล้เย็นย่ำแล้ว ตอนที่เรานั่งลงตรงชานครัวลักษณะเหมือนเรือนไม้หลังเล็กที่เอ็มออกแบบเอง และเริ่มฟังเรื่องเล่าของอดีตเด็กชายที่ไม่เอาไหนในการเรียน ก่อนค้นพบความสนใจด้านการออกแบบ และนำความรู้ที่ได้จากการเรียนออกแบบมาสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้บ้านเกิด โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างสัมพันธ์กับพระเจ้า ทำให้พระเจ้าของเขาพึงพอใจ และรับเขาเข้าสู่สวรรค์ของพระองค์ในวันที่เขา ‘กลับสู่ดิน’

โบยบินเพื่อกลับบ้าน

ชื่อของ เอ็มโซเฟียน ประกอบขึ้นด้วยคำสองคำ คือ ‘เอ็ม’ ที่เป็นตัวย่อของชื่อมูฮัมหมัด พ่วงด้วย ‘โซเฟียน’ ที่มีความหมายทางกรีกหมายถึงปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่ทางอาหรับ ‘ซุฟยาน’ แปลว่าสว่างไสวและชัดเจน ราวเม็ดทรายที่ยังส่องประกายแม้อยู่ในพายุ และเขาจึงพยายามเป็นให้ได้อย่างชื่อที่พ่อแม่ตั้งไว้ให้ ซึ่งเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และเป็นคนที่ชัดเจน

เอ็มเกิดและเติบโตในปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ทั้งพ่อและแม่ของเขาเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขผู้ต้องเดินทางไปให้องค์ความรู้และดูแลรักษาชาวบ้านตามบ้านต่าง ๆ แถมบางทีแม่ก็ยังต้องออกบ้านดึก ๆ ดื่น ๆไปช่วยเหลือบ้านที่เพิ่งคลอดลูก ชีวิตวัยเด็กของเขาจึงได้เห็นและซึมซับการแบ่งปันความรู้เสียสละเพื่อชุมชนและเห็นสายสัมพันธ์ของพ่อแม่กับชุมชน ที่สำคัญพ่อของเอ็มเป็นคนทำคลอดตัวเขาเองโดยมีแม่ที่กำลังจะคลอดชี้แนะพ่อไปด้วยอยู่บนเตียงในบ้านของเขา

นอกจากการใช้เวลากับพ่อแม่แล้ว เอ็มจำได้ว่าช่วงเวลาวัยเด็กของเขาเป็น ‘เวลาที่มีไว้เล่น’ เขามักจะออกไปเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ ในชุมชนตามทุ่งนาและในป่า ก่อนจะเล่น เขาและเพื่อนก็ต้องประดิษฐ์ของเล่นจากวัสดุธรรมชาติกันก่อน นั่นอาจเป็นที่มาของความสนใจในการออกแบบและงานคราฟท์และสิ่งแวดล้อมก็เป็นได้ 

“ออกไปเล่นคือไปประดิษฐ์ เพราะพ่อแม่ผมไม่ค่อยซื้อของเล่นหรอก เขารู้ว่าพอซื้อของเล่นมาลูกเขาจะเล่นคนเดียวและเหมือนจะฟุ่มเฟือย เพื่อนในชุมชนเขาเล่นอะไรกันก็เล่นอย่างนั้น ผมถูกบ่มเพาะมาเรื่อย ๆ พอเจออะไรก็คิดอยากประดิษฐ์ทำนู่นทำนี่ ทำของเล่นสารพัดเลยนะตอนเด็ก ทำรถตักดินด้วยไม้สาคู ออกมามันดูดีมาก เลยรู้สึกว่าวัยเด็กสมัยก่อนมีโปรเจกต์ให้สนุกให้เล่นกับเพื่อนๆในชุมชนตลอดเวลา ยิ่งพอแต่ละฤดูกาลมาถึง เช่น ฤดูเล่นว่าว เล่นลูกข่าง เราก็ทำว่าวทำลูกข่าง”

เล่าเรื่องนอกห้องเรียนไปแล้ว เอ็มก็เล่าถึงการเรียนว่าเขาไม่ใช่เด็กที่เรียนหนังสือเก่ง ด้วยระบบการศึกษาที่ไม่ได้เอื้อต่อความสามารถและความสนใจของเด็กทุกคน ทำให้เอ็มไม่มีโอกาสได้ค้นพบสิ่งที่เขาชอบและถนัด

“คนอย่างเธอไม่มีปัญญาเรียนหรอก” คือคำพูดของครูแนะแนวตอนที่เขาบอกครูว่าเขาอยากเรียนสถาปัตย์เพราะเป็นสิ่งเดียวที่เขารู้จักสนใจในขณะนั้น เอ็มยอมรับว่าคำพูดของครูทำให้เขาอึดอัดและบอบช้ำแต่มันก็ทำให้เขาตัดสินใจเลือกเส้นทางที่หากมองย้อนกลับมา จะเรียกมันว่าทางที่ถูกต้อง ก็คงไม่ผิดนัก

“ผมเลยบอกพ่อว่า ผมขอไปสายอาชีพดีกว่า พ่อก็ไม่มีปัญหา พ่อแม่เคี่ยวเข็ญให้ลูกขยัน แต่เขาก็มี space ให้เรา ยังปล่อยให้ลูกเล่น ยังมาช่วย แต่ไม่ได้เข้มงวดมาก เราเลยอยากเรียนแผนกสถาปัตย์ เชิงช่างสายเทคนิค พอไปเรียนปั๊บมันคลิกเลย เพราะก่อนที่จะเรียนเขียนแบบก็ต้องเรียนรู้ทำโต๊ะเขียนแบบก่อน ผมรู้สึกว่าอันนี้ใช่แล้ว มาถูกทาง”

การเลือกไปศึกษาที่วิทยาลัยเทคนิคยะลาคือครั้งแรกที่เอ็มต้องห่างบ้าน และระยะทางระหว่างเขากับบ้านเกิดที่รักก็ค่อย ๆ ขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ จากระยะทางระหว่างยะลากับปัตตานี ก็เปลี่ยนเป็นกรุงเทพถึงปัตตานีเมื่อเขาไปศึกษาต่อที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และช่องว่างระยะทางก็ขยายใหญ่ขึ้นเป็นคนละฝั่งโลกตอนที่เอ็มตัดสินใจไปเรียนด้านศิลปะและการออกแบบต่อในฝรั่งเศส

“พอไปเรียนแล้วมันก็สนุกมากเลย ตอนแรกเราเอาวุฒิปริญญาตรีไปยื่นสอบสัมภาษณ์ ก็ยังเข้าไม่ได้สุดท้ายปีถัดมาเลยไปสอบใหม่โดยเอาวุฒิ ปวช. ไปให้ อาจารย์ฝรั่งเขาบอกว่า ถ้าเกิดคุณเอาวุฒิวิชาชีพไปยื่นตั้งแต่ตอนนั้น คุณจะได้รับการพิจารณาเข้าได้ตั้งนานแล้ว ที่นี่เห็นค่าสายอาชีพทันที”

“พอเรียนสถาปัตย์สองปีแรก สมัยปริญญาตรี ผมรู้เลยว่าผมจะไม่เป็นสถาปนิกแน่นอน ผมเข้าใจผิดมาตลอดว่าผมอาจจะเป็นสถาปนิก ผมแค่ชอบวิชาของมัน แค่ชอบศาสตร์ของมัน แต่ถามว่าผมอยากเป็นอะไร ผมก็ยังไม่คิดว่าผมจะต้องเป็นอะไรด้วย เหมือนยังไม่ถึงเวลา”

เอ็มจึงเบนเข็มไปเรียนการออกแบบเฟอร์นิเจอร์และศิลปะภาพพิมพ์ ศาสตร์ที่เขาเชื่อว่าจะสามารถนำกลับมาใช้ในการพัฒนาและส่งต่อองค์ความรู้ให้กับบ้านเขาได้

“ก็เอากลับมาใช้กับการพัฒนางานดินจริง ๆ ทรัพยากรในบ้านเรา ผมตั้งใจจะเอามาออกแบบให้มากที่สุด เรารู้สึกว่าดีไซน์ที่เราร่ำเรียนมาเราได้ใช้แล้วแหละ พอได้มาใช้เราก็รู้สึกว่าเราจะเชื่อมโยงทั้งหมดกับการดีไซน์ ทำให้รู้สึกว่าการดีไซน์เป็นเครื่องมือที่จำเป็นและน่าสนใจในการส่งต่อองค์ความรู้ให้ครอบครัวและชุมชน”

นอกจากจะเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแล้ว พ่อของเอ็มยังเคยทำโรงงานอิฐมอญ เมื่อกลับมาบ้าน เขาจึงนำทักษะการออกแบบมาต่อยอดวัตถุดิบสุดพื้นฐานและเป็นทรัพยากรที่หาได้ง่ายที่สุดจากบ้านเกิดของเขา ทรัพยากรที่เคยเป็นวัตถุดิบในการทำอิฐมอญของพ่อ นั่นคือ ‘ดินปัตตานี’ และนี่ก็คือจุดกำเนิดของโรงงานเซรามิกเบญจเมธาจนถึงวันนี้

นอกจากนั้น ก่อนที่จะกลับมาบ้าน เอ็มก็คิดวางแผนในการกลับบ้านมาโดยตลอด ราวกับมีสัญชาตญาณและแม่เหล็กย้ำเตือนในหัวให้กลับมาวางไข่และมีครอบครัว และเอ็มก็เลือกที่จะมีครอบครัวที่ดีในบ้านเกิดใกล้พ่อแม่ เขาวางแผนหาความรู้เรื่องศาสนาก่อนกลับบ้าน และหาแม่ที่ดีของลูก ๆ

“เวลานั้นผมจึงเลือกเข้าหาสังคมกลุ่มเพื่อนที่ดีมีศาสนาก่อน เพราะกลุ่มเพื่อนดีจะแนะนำคนดีให้เข้าหากัน เราคิดง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนอย่างนั้น แล้วมันก็จริง มันเรียงลำดับตามที่ตั้งใจเลย ถึงบางคนจะบอกว่า เฮ้ย! เอ็มซีเรียสไปหรือเปล่า แต่ว่ามันคือผลลัพธ์ทุกวันนี้ เพราะมันคือการวิงวอนและการออกแบบวิถีของเราเอง”

อยู่กับดิน

“ตั้งแต่เรามองว่าสามจังหวัดเราไม่มีเซรามิกมาก่อน เราก็ตั้งเป้าหมายแล้วว่าอยากให้สามจังหวัดมีเซรามิกบ้าง และด้วยความสนิทกับพี่ติ้ว-เถ้าฮงไถ่แห่งราชบุรี ก็แอบอิจฉาพี่เขานิด ๆ ที่บ้านพี่เขามีเซรามิกที่มีตั้งแต่รุ่นก๋งแล้ว เพราะฉะนั้นเรามาทำอะไรให้หลานเราดีกว่า เราก็เป็นก๋งแทนแล้วกัน พอทำเซรามิกก็รู้สึกว่าสำเร็จไปหนึ่งอย่าง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เซรามิกจะเป็นแค่หนึ่งเครื่องมือ ผมทำเพื่อเอาวิธีคิดมาพัฒนาบางอย่าง และเซรามิกคืออีกศาสตร์หนึ่งที่ในสามจังหวัดบ้านผมไม่มี พอผมทำให้มันเกิดขึ้นได้ ผมก็รู้สึกว่ามันมีอีกหลายอย่างเลยที่ผมอยากให้เกิดขึ้นที่บ้าน คราฟท์ที่ผมทำทุกวันนี้มันก็เป็นเครื่องมือเพื่อเติมเต็มบางอย่างที่ชุมชนเราขาด”

‘ตอบโจทย์และเติมเต็มบางอย่างที่ชุมชนเราไม่มี’ คือจุดร่วมที่ร้อยรัดงานคราฟท์และทุกกิจกรรมที่เอ็มกำลังทำอยู่ไว้ด้วยกัน ตอบโจทย์ที่ว่าหมายถึงการนำทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นมาใช้ในงานคราฟท์แต่ละชิ้น ส่วนเติมเต็มคือการทำสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ให้เกิดขึ้นในปัตตานี หรือในชุมชนตัวเอง

“มันต้องเจอปัญหาอุปสรรคก่อน ถึงจะเกิดเป็นภูมิปัญญา เราจึงพยายามเรียนรู้ฝึกฝนจนเกิดเป็นทักษะที่เป็นอัตลักษณ์ แต่ก่อนผมชอบครามพอ ๆ กับเซรามิกเลย แต่ผมยังไม่คิดที่จะเรียนรู้การทำครามก็เพราะสนใจที่จะทำงานที่มีวัตถุดิบอยู่ในท้องถิ่นเป็นอันดับแรก ซึ่งเซรามิกเรามีแหล่งดินพื้นบ้านอยู่ในบ้านเราอยู่แล้ว และผมเคยเข้าใจว่าครามนั้นมันไม่มีในปัตตานี เวลานั้นผมไม่คิดจะนำสายพันธุ์อะไรจากที่อื่นมาปลูกในบ้าน ผมต้องเอามาจากสิ่งที่เรามีก่อน ถ้าเรามีรากมันจะแข็งแรง มีต้นทุนในพื้นที่ เราจะพัฒนามันเอง และมีเรื่องเล่าที่ดี ผมเรียน furniture design แต่ผมไม่คิดจะกลับมาทำเฟอร์นิเจอร์เพราะผมแค่จะเรียนรู้ดีไซน์เพื่อนำกลับมาประยุกต์ใช้ที่บ้าน แล้วเริ่มเรียนรู้วัตถุดิบแวดล้อมจากสิ่งที่มี และวัตถุดิบที่เบสิกมากก็คือดิน ยังไงใต้ฝ่าเท้าเราก็มีดินแน่นอน ก็เลยได้ไอเดียเอาดินมาพัฒนา บ้านเราต้องมีเซรามิกให้ได้”

“อย่างเซรามิกของพี่ติ้วทำมาสามรุ่น ตั้งแต่ก๋ง มาพ่อ มาพี่ติ้ว เลยคิดว่าทำไมเราไม่ทำไว้ให้ลูกหลานเราในอนาคตจะเสียเวลาอะไร เวลาแค่ร้อยปี วัตถุดิบพื้นเมืองคือสิ่งที่เราอยากใช้ที่สุด มันยั่งยืน และเราเจตนาอยากให้สามจังหวัดมีงานคราฟท์ใหม่ ๆผสมผสาน โดยไม่จำเป็นต้องต่อยอดศิลปหัตถกรรมเดิม ๆ เพราะเดี๋ยวมันจะถูกแช่แข็งกลับมาเล่าเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา และไม่มีอะไรหลากหลาย จึงอยากให้เกิดนวัตศิลป์ใหม่ ๆ ให้พื้นที่ เพราะผมเชื่อว่าศิลปะวัฒนธรรมมลายูในอดีต เกิดขึ้นจากความหลากหลายผสมผสานกันจากการเป็นเมืองท่าซึ่งเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้าและศิลปวัฒนธรรม”

“ผมตกผลึกได้ว่า สิ่งที่ทำทั้งหมดมันต้องมาจากสิ่งที่ชอบ ถนัด และมีตัวเชื่อมคือชุมชนต้องได้ประโยชน์แล้วมันจะเชื่อมโยงกัน ที่ทำทุกวันนี้ต้องมีความชอบและหลงใหลด้วย แล้วก็ถนัดด้วย พอทำแล้วมันก็รู้สึกว่าทำได้ บางครั้งรู้สึกถนัดก่อนที่จะทำมันด้วยซ้ำ และผมจะอาศัยจินตนาการไปก่อนว่าตัวเองถนัดและทำได้เหมือนเป็นจิตวิทยากับตัวเองว่าเราเข้าใจมัน พอคิดว่าตัวเองเข้าใจมันก็ทำได้เลย” เอ็มเล่ายิ้ม ๆ

กำปงปาลัสและเดินดินลิตเติ้ลฟาร์ม

พอเริ่มทำงานเซรามิก เอ็มก็เริ่มสนใจงานคราฟท์อื่น ๆ อย่างการเกษตร ก่อนจะลามมาสนใจปศุสัตว์ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาสนาส่งเสริมไปด้วย แรกทีเดียวเขาชักชวนลูกให้สนใจการผสมพันธุ์ปลากัดป่าพื้นเมือง ด้วง แมลงเล็ก ๆ สายพันธุ์ต่าง ๆ แต่แล้วก็พบว่าน่าจะเพาะเลี้ยงอะไรที่เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นให้โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แก่ชุมชน จนมาลงเอยที่การพัฒนาสายพันธุ์แพะพื้นเมืองที่กำลังจะสูญหายและไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐหรือใคร ๆ เลย เขาตั้งชื่อแพะพันธุ์นี้ว่า ‘กำปงปาลัส’ ตามชื่อของหมู่บ้าน

เอ็มพาเราแวะไปที่โรงเลี้ยงแพะก่อนจะจูงแพะ 2-3 ตัวลงออกมาทักทายเรา เจ้ากำปงปาลัสคือแพะตัวเล็กกว่าแพะทั่ว ๆ ไปที่เราเคยเห็นจนเราต้องถามย้ำเพื่อความแน่ใจว่านี่คือแพะที่โตเต็มวัยแล้วหรือไม่ หูของพวกมันชี้ตั้งเหมือนแพะพื้นเมืองที่ใกล้จะสูญพันธุ์ไปแล้ว และมีขนสีเทาที่เอ็มตั้งใจจะให้เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนและจะรักษาให้เป็นสีนี้ไปตลอด

“ไม่ดุ ๆ” เขาบอกพวกเราเมื่อใครสักคนเกิดอยากจะเข้าไปทักทายเจ้าแพะใกล้ ๆ แต่ก็ยังกล้า ๆ กลัว ๆ เอ็มตั้งใจจะพัฒนากำปงปาลัสให้เป็นสายพันธุ์พื้นเมืองที่ทั้งอึดแข็งแรงทนโรคพื้นถิ่น ทั้งนิสัยไม่ก้าวร้าว

“ผมเคยเลี้ยงแพะสายพันธุ์นอกที่ต้องประคบประหงมมาก พอชาวบ้านรับไปเลี้ยงต่อแล้วเขาเลี้ยงไม่ได้เขาเลี้ยงแล้วตาย เราเลยรู้สึกว่ามันไม่ใช่ เลี้ยงไม่ง่าย และไม่ยั่งยืนแน่นอน เราเลยพยายามสร้างสายพันธุ์ที่มีภูมิต้านทานและแกร่งต่อสภาพแวดล้อมพื้นเมือง เพราะหัวใจสำคัญคือถ้าชาวบ้านเอาไปเลี้ยงตามวิถีง่าย ๆ แล้วมันก็ยังรอด ให้ชุมชนสามารถเลี้ยงด้วยได้” 

ใกล้กับฟาร์มแพะ มีเล้าไก่ไข่สี ทั้งพันธุ์วายน์ดอทและไก่ซีไบร์ทไก่ลวดลายกราฟิกแปลกตา ราวกับภาพวาดลายเส้นการ์ตูนมังงะ นอกจากนั้น ที่นี่ยังมีแมวสามสีแม่ลูกอ่อนที่เพิ่งออกลูกเป็นคอกที่สองอย่าง ‘จูดี้’ ที่ชอบเดินมาคลอเคลียมนุษย์อยู่บ่อย ๆ  เอ็มบอกว่าการให้ลูก ๆ ของเขาได้สัมผัสและเปรียบเทียบระหว่างการเลี้ยงแมวและเลี้ยงไก่ ก็เป็นบทเรียนชีวิตสอนให้เด็ก ๆ ได้เหมือนกัน

“ผมให้ลูกเลี้ยงไก่กับแมวเพื่อให้เข้าใจความแตกต่าง เพราะไก่เมื่อเราให้อาหารมันไป กินเสร็จมันก็สะบัดตูดไปแล้ว เราก็สอนลูกว่าผลตอบแทนที่เราจะได้จากไก่ไม่ใช่ความเชื่องเหมือนหมาเหมือนแมว แต่สิ่งที่เราจะคาดหวังจากมันได้หรือสิ่งชี้วัดความรักจากมันคือ สุขภาพที่ดีของมัน ขนมันเงาของมัน ไข่ที่สมบูรณ์ของมัน แต่อย่าคาดหวังความรักกลับมาเพราะมันไม่ใช่นิสัยมัน ส่วนเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวมันเป็นอีกแบบหนึ่ง คนถึงตกเป็นทาสแมวทาสหมาเพราะไม่มีใครจงรักภักดีเท่านั้นแล้ว และนั่นคือการแฝงการสอนลูก ๆ ให้เติบโตขึ้นมาอยู่ในสังคมที่แตกต่าง หลายความคิด หลายครอบครัว และไม่คาดหวังหรือผิดหวังเมื่อเราเรียนรู้และเลือกถึงการเป็นผู้ให้”

บ้านธนูเดินดิน

นอกจากปศุสัตว์แล้ว อีกสิ่งที่ศาสนาส่งเสริมก็คือการเล่นกีฬา หนึ่งในนั้นคือธนู เอ็มจึงเริ่มสนใจในกีฬาธนู โดยเฉพาะธนูเทรดดี้ (ชื่อเล่นของธนู traditional) ที่เขาออกแบบชุด คันธนู และเป้าธนูซึ่งทำจากฟางก่อนจะส่งต่อให้ชุมชนจักสานในชุมชนเป็นผู้ผลิต กลายเป็นอีกแหล่งรายได้ให้กับชุมชน ปัจจุบันนี้ พื้นที่ส่วนหนึ่งในบริเวณบ้านของเอ็ม กลายเป็น ‘บ้านธนูเดินดิน’ พื้นที่ที่ให้เด็ก ๆ ซึ่งส่วนใหญ่คือเด็กในพื้นที่ได้มาเรียนรู้การยิงธนู พ่วงด้วย ‘บ้านเดินดิน’ ศูนย์สร้างแรงบันดาลใจ ที่เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ปรัชญาในการดำรงชีวิตและอาชีพ ผ่านคำสอนของอิสลามที่ผสมผสานกับวิถีของการยิงธนู

บนกระดาษชาร์ตแผ่นหนึ่งซึ่งติดอยู่ในห้องเรียนอันเป็นพื้นที่ที่รองรับเด็ก ๆ ที่มาทำกิจกรรม มีคำว่า ‘คูชัวะ’ เขียนไว้ด้วยปากกาไวท์บอร์ดตัวโต

“คูชัวะ แปลว่า สมาธิ ความสงบนิ่ง” เอ็มอธิบายเมื่อเห็นว่าเรามีท่าทีสงสัย “มารยาทในการยิงต้องมีสมาธิมีสติ มีการทบทวนตัวเองมี dry run ทบทวนกระบวนการทั้งหมดในจินตภาพ เช่น เราจะยืนยังไง ฟอร์มยังไง วางมือจับคันธนูยังไง เราปล่อยลูกยังไง การยิงของคุณต้องมีคุณภาพเหมือนเดิมและให้ทบทวนทุกครั้ง การศึกษาศาสนาก็เหมือนกัน ที่ต้องอาศัยการทบทวนตัวเองเพื่อจะได้มีศักยภาพในการตักเตือนสังคม บางครั้งเราเองก็เคร่งครัดกับคนอื่นมากกว่าตัวเราเอง จนลืมทักษะ จังหวะ และเวลาที่เหมาะสมในการตักเตือนคนอื่น และเผลอไปตัดสินคนอื่นผิดคนอื่นบาปไปหมด เราจึงต้องหันมาทบทวนขัดเกลาตัวเองมากขึ้น สำนึกในความผิดพลาดของเราเองบ่อย ๆ และดำรงในวิถีของตัวเองให้ดี จะได้มีการเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น  มีความจริงใจ อดทน ด้วยทักษะมารยาทที่ดีและได้รับความไว้วางใจในการตักเตือนสังคม แล้วมันจะเป็นสังคมที่มีความหวัง ความปรารถนาดี และมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีไปด้วยกัน”  

“เรื่องธนูนั้นผมพูดได้ยาวเลย” เขาเดินทางไปศึกษาการยิงธนูเทรดดี้ถึงคุนหมิงจากครูขง ทายาทขงจื้อรุ่นที่ 78 สิ่งที่ได้มานอกจากความรู้ในการยิงธนูก็คือปรัชญาในการใช้ชีวิต และครูขงก็ได้ฝากฝังให้ลูกศิษย์เอาความรู้และปรัชญาที่ร่ำเรียนกลับไปสอนชุมชนของเขาในวิถีอิสลามที่บ้านเกิด

“การยิงธนูส่วนตัวผมจะสนใจในการใช้สัญชาตญาณที่จะมองด้วยสองตาและด้วยความรู้สึกซึ่งจะทำให้การปล่อยลูกธนูเป็นธรรมชาติ ไม่กังวล ส่วนการเล็งเราจะมองด้วยตาข้างเดียวแล้วก็เล็งซึ่งค่อนข้างซีเรียส การใช้สัญชาตญาณเราจะใช้ความรู้สึกเป็นสำคัญ ยิงให้สนุกและมีความสุข ข้อดีของการยิงธนูแบบนี้คือไม่มีความกังวล ไม่คาดหวังการแข่งขันเพื่อเอาชนะ ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องระยะและการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะการเคลื่อนที่หรือจะอยู่บนหลังม้า คุณก็จะใช้เซนส์ซึ่งเป็นของขวัญของคุณตั้งแต่เกิด”

กระดาษชาร์ทแผ่นท้าย ๆ เอ็มเขียนกิจกรรมที่เขาอยากให้เกิดขึ้นในชุมชนในอนาคต มีกีฬาบางชนิดที่ศาสนาสนับสนุนเช่น การวิ่ง มวยปล้ำ ว่ายน้ำ ขี่ม้า ยิงธนู ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สอดรับกับคำสอนของนบีมูฮัมหมัดที่ว่า “ผู้ศรัทธาที่แข็งแรงย่อมประเสริฐกว่าผู้ศรัทธาที่อ่อนแอ”

“ผู้ศรัทธาที่รักษาสุขภาพของเขา ไม่ใช่เพียงจิตวิญญาณ แต่ทางกายภาพคุณก็ต้องแกร่งและมีคุณธรรมสูงพร้อมๆกัน เพราะสันติมันจะไม่เกิดขึ้นหากปล่อยให้ความชั่วร้ายคุกคามเราโดยไม่ต่อสู้ป้องกัน สันติต้องมาจากการที่อย่ายอมให้คนอื่นมาทำร้ายคุณ และคุณก็อย่ายอมให้ตัวเองทำร้ายคนอื่น และอย่ายอมให้คนอื่นทำร้ายคนอื่นเช่นกัน”

ปัตตานีก็มีคราม

งานคราฟท์ผลงานล่าสุดที่เอ็มเริ่มทำมาได้ 5-6 เดือนที่ผ่านมาก็คือการปลูก เก็บเกี่ยว สกัดกรองเนื้อคราม ย้อมและเลี้ยงหม้อคราม เราอาจคุ้นเคยกับครามของสกลนครและจังหวัดอื่น ๆ ทางภาคอีสานและอาจจะคิดไปว่าไม่ว่าจะในช่วงเวลาไหน ต้นครามก็พบได้แค่ในอีสานเท่านั้น เอ็มเองก็เคยคิดแบบนั้นเช่นกัน ทำให้เขาไม่เคยจะหยิบจับการย้อมครามแม้จะหลงใหลครามมากพอ ๆ กับเซรามิก เพราะต้องการจะใช้เพียงทรัพยากรในพื้นที่เท่านั้น จนกระทั่งวันที่เขาค้นพบว่า ครามเคยเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกอันสำคัญของปัตตานี ก่อนที่จะสูญหายไปในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมาจากข้อมูลบอกเล่าของคุณทวดคนทำครามคนสุดท้าย

“เมื่อ 2-3 ร้อยปีก่อน ปัตตานีขึ้นชื่อเรื่องครามเป็นสินค้าส่งออกถัดจากเกลือหวานปัตตานี ข้าว และทองเหลือง เพื่อโล้สำเภาไปขายถึงตรังกรานูและต่างชาติ และมีข้อมูลว่าฮอลันดาก็มาเอาครามจากปัตตานีที่เชื่อว่าเป็นครามที่ดีที่สุดไปปลูกที่อินโดนีเซีย จากนั้นก็ไม่มีใครรู้จักครามปัตตานีอีกต่อไป จนมาวันนึงผมไปเจอต้นครามพื้นเมืองที่ขึ้นในพื้นที่ธรรมชาติริมนาเกลือจากคำแนะนำของอาจารย์เจี๊ยบ อาจารย์นักวิจัยคนหนึ่งที่วิจัยเรื่องครามในพื้นที่ปัตตานี แล้วมันเป็นครามพื้นถิ่นที่ชาวบ้านไม่มีใครรู้จักอีกแล้ว และคิดว่าเป็นวัชพืชเลยตัดมันทิ้งตลอดเวลา แต่มันก็ยังคงขึ้นเติบโตคงกระพัน ผมดีใจตื่นเต้นมากจนชวนลูก ๆ ไปเก็บนำเมล็ดมาปลูก มาทำฟาร์มครามกว่าครึ่งไร่ที่บ้าน”

“ผมก็เห็นว่า ช่วงตอนน้ำท่วมแล้วมันรอด อากาศร้อนแบบนี้ไม่มีการรดน้ำ มันก็ยังรอด เลยรู้สึกว่าอันนี้แหละใช่เลย มันคือครามพื้นเมืองบ้านเราแล้ว มันยั่งยืนมาก ผมต้องอนุรักษ์ฟื้นฟูกลับมาให้ได้ ผมไม่ได้สนใจเลยว่าหน้าตาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากครามในอดีตเป็นยังไง ผมสนแต่ว่าตอนนี้เราจะไปเรียนรู้อะไรกับมัน เหมือนอดีตของปัตตานีที่เป็นเมืองท่า มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งจีน แขก อินเดีย อาหรับ ศิลปวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นเพื่อรับใช้วิถีทุกคน วิธีคิดที่สามารถหลอมรวมกันได้แบบนี้มากกว่าที่เราอยากจะเรียนรู้จากอดีต”

ในบางพื้นที่ของอีสานจะมีพิธีกรรมบางอย่างก่อนที่จะทำการย้อมคราม เมื่อเราถามเอ็มในเรื่องนี้ เอ็มตอบว่า คนมุสลิมนั้นไม่มีพิธีกรรม แต่เขาตั้งใจทำทุกภารกิจในทุกกระบวนการโดยการรำลึกถึงและมอบหมายแต่พระเจ้าองค์เดียวเท่านั้น ไม่ต้องมีพิธีรีตรองอะไรทั้งสิ้น มันเรียบง่ายทั้งหมด ตั้งแต่การเกิด การแต่งงาน การทำงาน การตาย และเขาเชื่อว่าพระเจ้าสร้างสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเขาเองหรือจุลินทรีย์จึงล้วนแต่เป็นสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เช่นกัน บางครั้งเอ็มจึงเพียงเปิดอัลกุรอานฟังหรืออ่านกุรอานเองเพื่อทบทวนขณะย้อมคราม

“เวลาเราส่งอะไรดี ๆ ทั้งการอ่านกุรอานหรือบทการรำลึกพระเจ้าให้ตัวเราเองหรือครามฟัง ใจคนทำก็นิ่งมีสติทบทวน มันก็มีเรื่องดี ๆ มากมายแล้ว” เอ็มว่าพลางกวนน้ำครามไปด้วย

ใกล้กับไหเซรามิกหม้อครามที่ทำเอง มีบล็อกแม่พิมพ์วางเรียงรายอยู่บนชั้นอย่างเป็นระเบียบ บ้างเป็นเหล็ก บ้างเป็นงานไม้เนื้อหนา และบางชิ้นก็เป็นงานไม้ไผ่ ทั้งลวดลายปลากัดป่าปัตตานี ลายเรือสำเภา ลายเรือนมลายู และลายมัสยิดวาดิลฮูเซ็นหรือที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันในชื่อ ‘มัสยิดสามร้อยปี’ ล้วนเป็นลวดลายที่ผูกพันกับพื้นที่ เอ็มบอกว่า หากจะเรียกบล็อกแม่พิมพ์ที่ทำจากไม้ไผ่ว่าเป็นนวัตกรรมก็คงไม่ผิดนัก เพราะเขาเพิ่งคิดค้นเองและทดลองทำโดยที่ยังไม่เคยเห็นใครทำมาก่อน จนเขาต้องจดสิทธิบัตรเก็บไว้

“ในอดีตเวลาทำงานบาติก ตัวพิมพ์ลายจะทำเป็นงานเหล็กกับงานไม้ แต่นี่คืองานไม้ไผ่ ซึ่งงานไม้ไผ่มาจากทักษะเชิงช่างของคนทำว่าวพื้นเมือง เพราะเรายังไม่มีศักยภาพความรู้ในการทำแม่พิมพ์โลหะ วิถีเราไม่ได้อยู่กับเหล็ก เลยรู้สึกว่าบล็อกพิมพ์มันไม่จำเป็นต้องถาวรก็ได้ งานคราฟท์ควรมีเวลาของเขาแล้วทำใหม่ได้ เพราะชาวบ้านก็อยากทำงานตลอดเวลา แต่ถ้างานคราฟท์ทนทานอยู่ยงคงกระพันแล้วช่างจะพัฒนาฝีมืออย่างไร แล้วเราจะไม่สนับสนุนเขาอีกแล้วเหรอ เราเลยจำเป็นต้องเข้าใจว่างานคราฟท์เขามีเวลาอายุของเขาเอง ผมรู้สึกว่าคราฟท์มันคือชีวิต เราอินกับธรรมชาติที่มีความดับสลายและความไม่สมบูรณ์แบบ”

เรียนรู้ระยะในความสัมพันธ์ผ่าน Islamic geometric art

ลายบล็อกพิมพ์บนชั้นวางของเอ็ม ยังมีอีกลายที่เป็นศิลปะแบบ Islamic geometric  ซึ่งเอ็มบอกว่าในนั้นมีปรัชญาแฝงอยู่ว่าด้วยความเป็นนิรันดร์ของพระเจ้าในมุมปรัชญาของงานเรขาคณิตอิสลามิก และการทำตัวให้เล็กเพื่อค้นพบสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกับจุดบนลวดลายของ islamic geometric art ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการปักตำแหน่งของวงเวียนเพื่อสร้างลาย ซึ่งหากคนทำไม่ใส่ใจในจุดเล็ก ๆ เหล่านี้ก็จะไม่สามารถไปต่อได้

“การที่คุณจะอยู่ในจุดที่มันเป๊ะ คุณต้องมีสติสมาธิสำรวม ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน คุณทำตัวให้เล็กเมื่อไหร่คุณจะสัมผัสสิ่งที่ยิ่งใหญ่แน่นอน ถ้าเราไม่เข้าใจจุดเล็ก ๆ เราจะไม่เข้าใจจักรวาล มันย่อลงมาให้เราแล้วคุณไม่จำเป็นต้องเข้าใจกาแล็กซีทั้งหมดหรอก คุณแค่อยู่กับครอบครัว อยู่กับสิ่งเล็ก ๆ จุลินทรีย์ที่คุณหมัก อยู่กับธรรมชาติรอบตัวคุณ เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้คุณเข้าใจจักรวาลทั้งหมดจากพระเจ้าผู้สร้าง ไม่ต้องไปถึงอะตอมหรอก แค่เรื่องสัมพันธภาพระหว่างครอบครัวก่อน ผมว่าความสัมพันธ์แบบนี้มันมหัศจรรย์มาก มันคือความสัมพันธ์ที่เรียกว่า space นั่นเอง”

ว่าแล้วเขาก็อธิบายเรื่อง space ต่อ

“ผมจะให้ความสำคัญความสัมพันธ์ในเรื่อง space ระหว่างคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อกับลูก ๆ ทั้ง 4 คน พ่อกับแม่ ลูกสะใภ้ ลูกเขย กับพ่อตาแม่ยาย ถ้าจัดการ space เป็นเมื่อไหร่ คุณผ่านเลย ถ้าจัดการไม่ได้ ก็จะอึดอัด คับที่คับใจ ท่านนบีมูฮัมหมัดสอนว่า อาหารหนึ่งจานที่คุณมองแล้วคิดว่าทานพอดี กระเพาะเราสามารถแบ่งพื้นที่ได้สามส่วน หนึ่งส่วนของอาหาร หนึ่งส่วนของน้ำ และอีกหนึ่งส่วนของอากาศ เพราะฉะนั้นคุณสามารถแบ่งอาหารสำหรับคน3คนได้ น้ำก็เหมือนกัน การดื่มน้ำ ท่านนบีมูฮัมหมัดสอนว่าเมื่อเราดื่มน้ำให้เว้นอากาศ ยกดื่มเป็นจังหวะหายใจด้วยกันสามครั้ง เพื่อรสชาติของมันและเพื่อสุขภาพของเรา ซึ่งมันเป็นสัจจะ หากเรากระดกดื่มน้ำเต็มแก้วรวดเดียว คุณจะสำลักและอึดอัด ไม่ส่งผลดีกับสุขภาพแน่ ๆ แนวคิดเรื่องที่ว่างนี้ผมจึงเอามาใช้ในการจัดการวิถีและงานออกแบบ เพื่อสร้าง space ในสิ่งที่ผมทำทั้งหมดให้เกิดความหมายและการเห็นคุณค่าของจังหวะที่ว่าง ไม่มากไม่น้อยแต่พอดี และมีชีวิตหายใจได้ต่อ”

อิคลาส อิฮซาน อิตกอน อินอาม

อิคลาส อิฮซาน อิตกอน และอินอาม คือชื่อลูก ๆ ทั้ง 4 คนของเอ็มโซเฟียน และความหมายของแต่ละชื่อของลูก ๆ ก็คือสิ่งที่เขาอยากจะจารึกทิ้งไว้ในงานคราฟท์และงานศิลปะของเขาทั้งหมด นั่นคือความบริสุทธิ์ใจความดีงาม ความพิถีพิถัน ความโปรดปราน และของขวัญจากพระเจ้า

“ศาสนาส่งเสริมให้ตั้งชื่อลูกๆให้มีความหมายเพราะมันจะช่วยตอกย้ำบางอย่างจากเรา อิคลาส แปลว่าบริสุทธิ์ใจ ส่วน อิฮซาน แปลว่า ความดีงาม (เปรียบการทำความดีเสมือนคุณเห็นพระเจ้า ต่อให้คุณไม่เห็นพระเจ้า แต่พระเจ้าก็ทรงมองเห็นคุณ) อิตกอน คือ ความพิถีพิถัน หรือทำความดีอย่างประณีต เมื่อวานเพิ่งเล่าให้ลูกฟัง ลูก ๆ ก็ขำปนตั้งใจฟังว่า สมัยอบี (พ่อ) เรียนก็ละเอียดเนอะ นั่งตามแกะมดออกจากทางระบายน้ำในห้องน้ำตอนเช้าทุกวันเพราะหวังว่า จะมีมดสักตัวที่เราช่วยไม่ให้จมน้ำจะเป็นปัจจัยให้เราได้เข้าสวรรค์ ถือโอกาสเล่าเรื่องความพิถีพิถันแก่ลูก ๆ คนที่สี่ อินอาม ฟังเหมือนภาษาอังกฤษที่แปลว่าในอ้อมแขนเนอะแต่จริง ๆ อินอาม แปลว่า ของขวัญจากพระเจ้า ความโปรดปรานของพระเจ้า ผลจากการกระทำแห่งความเมตตาได้เกิดเป็นอินอาม เพราะเราวิงวอนขอพระเจ้าว่าลูกคนที่สี่ เราขอมีลูกผู้หญิงสักคน แล้วเราก็ได้ลูกผู้หญิง เราเลยรู้สึกว่านี่คือของขวัญกำลังใจ และชื่อลูก ๆ ทั้งหมดนี้มันคือคำจำกัดความของงานคราฟท์และศิลปะที่ผมพยายามตั้งใจทำ”

ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับลูก ๆ คือความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ความยืดหยุ่นและมารยาท ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาอยากสอนลูก ๆ เอ็มบอกว่า การเลี้ยงลูกคนแรกของเขาก็ไม่ต่างอะไรจากการปั้นดินใบแรกหรือยิงธนูลูกแรก เขาตั้งใจก้มหน้าก้มตาหาข้อมูล อ่านตำราหลายเล่ม เป็นการ ‘ตั้งใจปั้น’ จนลืมไปว่า ชุดความคิดใดชุดความคิดหนึ่งหรือวิธีการที่มนุษย์คนอื่นสอนในตำราอาจใช้ไม่ได้กับทุกครอบครัว เมื่อรู้ดังนี้ เขาจึงเลือกเลี้ยงลูกคนถัดมาอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น ส่วนลูกคนที่สามนั้น เอ็มมีทักษะเพิ่มขึ้น และใช้ ‘ความสัมพันธ์พ่อ-ลูก’ และศาสนาเป็นตัวนำทาง และเริ่มการเลี้ยงลูก ๆ ทุกคนด้วยความประณีตจากภายในของเขาเอง ถ่อมตนกับลูก ๆ และยืดหยุ่นมากขึ้น

“ผมจะสอนลูกยิงธนูผมก็บอกลูกให้ยิงให้มีความสุข ลูกไม่อยากยิงก็วางไว้ แต่ไม่ให้ทิ้งหายไป บางทีก็ใช้ปรัชญาธนูมาสอนชีวิต อย่าได้ตึงอย่าได้หย่อน อย่าได้พักอย่าได้เพียร ทำตัวเหมือนคันธนูน้อมโค้งเพื่อยืดหยุ่นปล่อยลูกธนูอย่างมีประสิทธิภาพ ผมอยากสอนลูกให้มีทักษะสัญชาตญาณที่ดี ธรรมชาติจากทักษะพื้นฐานอย่างคุณธรรมและ empathy การเห็นอกเห็นใจ อะลุ่มอล่วยต่อผู้อื่นมากขึ้น และอีกเรื่องที่ย้ำสอนลูกคือ อิสลามสอนเรื่องความเสมอภาค ไม่มีใครดีกว่าใครยกเว้นความนอบน้อมยำเกรงต่อพระเจ้า เวลาที่เราเห็นภาพมุสลิมร่วมละหมาดที่เมกกะที่รวมผู้คนทุกสารทิศ ทุกมุมโลก มุสลิมจะเรียงรายก้มกราบต่อพระเจ้าเป็นแถว ๆ คล้ายก้นหอย เท้าของคนข้างหน้าแทบจะจรดแตะหัวคนด้านหลัง ต่อให้เป็นเท้าคนยากจน ด้านหลังเป็นหัวของกษัตริย์ ก็อยู่ระดับเดียวกันหมด ไม่แบ่งชนชั้นสีผิว และนั่นคือสิ่งที่เราส่งภาพให้ลูก ๆ เห็น และผมจะต้องพยายามสอนให้ลูก ๆ ทำตัวให้ถ่อมตนมากที่สุด ห้ามถือเด่นอวดรู้ยโสต่อใคร ทำตัวให้ตัวเล็กมากที่สุด เพราะคุณจะได้สัมผัสสิ่งที่ยิ่งใหญ่อย่างผู้สร้างเบื้องบนได้ง่ายขึ้น จักรวาลนี้หรือแม้แต่ที่ว่างอากาศธาตุรอบตัวเรามันยังมีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกเยอะมากเลย ทำตัวให้เล็กแล้วคุณจะได้เข้าใจอะไรอีกมากขึ้น”

อีกสิ่งที่เขาปลูกฝังลูกตั้งแต่เด็ก ๆ ก็คือ ความจริงที่ว่าความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ระหว่างการพาเราเดินชมงานคราฟท์และกิจกรรมต่าง ๆ บริเวณบ้านของเขา เอ็มก็พาเรามาหยุดยืนบนพื้นที่ยกสูงกว่าบริเวณอื่นเล็กน้อย ทว่าไม่มีสิ่งปลูกสร้างหรือวัสดุอุปกรณ์ใด ๆ ตั้งอยู่บนนั้น มันเป็นเพียงที่โล่งเตียนกว้างราว ๆห้องเล็ก ๆ ห้องหนึ่ง

“นี่คือสวนกูโบร์ (สุสาน) ที่เราเตรียมและออกแบบไว้ เป็นโปรเจกต์ที่มันต้องจบในปรัชญา ‘มาจากดิน อยู่กับดิน กลับสู่ดิน’  เราจะนอนกันตรงนี้ ลูกเราจะสัมผัสอยู่ตรงนี้ ช่วงนี้เวลามีใครเสียชีวิตเลยจะชวนลูก ๆ ไปละหมาดและช่วยพาเขาไปจนถึงการขุดหลุมฝัง ผมรู้สึกว่ามันเป็นทักษะสำคัญที่ต้องฝึกและเข้าใจ เราพูดเรื่องความตายเหมือนเป็นเรื่องโกหก เรื่องอัปมงคล ทั้งที่มันเป็นเรื่องโคตรจริงเลย เราต้องเตรียมพร้อมกับลูกตลอดเวลา ลูกจะได้รู้สึกปลอดภัย ถ้าเราไม่สอน ไม่อยากให้ลูกรู้ แล้ววันหนึ่งในใจลูกจะกังวลตลอดว่าถ้าพ่อแม่ไม่อยู่จะเป็นยังไง แล้วจะพยายามไม่คิดถึง แต่เราสอนลูกให้คิดจนเขามีทักษะในการวางแผนว่าเขาจะเดินต่อยังไงในวันที่พ่อแม่ไม่อยู่”

การให้ลูกเรียนรู้เรื่องความตายสำหรับเขาไม่ใช่การทำให้ลูกกลัว กลับกันเป็นการทำให้ลูกอยู่ในความปลอดภัย ตั้งมั่นอยู่ในความเข้าใจ และเห็นว่าสิ่งที่มนุษย์ทุกคนไม่มีทางหนีพ้นอย่างความตายนั้นเป็นเรื่องสามัญธรรมดา

“ที่ผมสอนเขาเรื่องความตาย เขาจะได้สงบแต่ต้น เวลาไปเจอความตายเขาจะได้รู้ว่า เวลาอบีตาย เดี๋ยวอบีก็อยู่ตรงนี้แล้วนะและศาสนาสอนว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างหลังจากเราตายไป ลูกอย่าลืมฝังอบีตรงนี้นะ ลูกไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องสั่งเสียกันเลยเนอะ เพราะเราเตรียมพร้อมเก็บเกี่ยวความดีเป็นเสบียงในการเดินทางแล้ว ใช้ชีวิตต่อเลย ผมสอนลูกให้รู้จักพระเจ้าตั้งแต่เด็ก จนเขารู้เลยว่าทุกอย่างมันเกิดขึ้นเองไม่ได้ ฝนตกหนึ่งหยดบนใบไม้หนึ่งใบที่ใดที่หนึ่ง พระเจ้าก็กำหนดให้หมดแล้ว แล้วใจเขาก็จะสงบ อบีกับลูก ๆ จะตายตอนไหนที่ไหนก็ถูกออกแบบไว้หมดแล้วเช่นกัน”

“ผมจะทำทุกอย่างให้เจ้าของสวรรค์พึงพอใจ”

ทุกสิ่งที่เอ็มทำ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างนวัตกรรมจากวัตถุดิบของบ้านเกิดเพื่อส่งต่อเป็นองค์ความรู้ให้ชุมชนไปจนถึงการทุ่มเทให้กับการเลี้ยงลูก ๆ นั้น มีความศรัทธาในพระเจ้าอยู่เบื้องหลัง

ดังที่กล่าวข้างต้น ท่านนบีมูฮัมหมัดได้สอนไว้ว่า เมื่อมนุษย์คนหนึ่งตายไป ทุกผลกรรมของเขาจะถูกตัดขาด ยกเว้นความดีสามประการที่มันยั่งยืน ที่สามารถส่งต่อดำรงต่อไป และเป็นผลบุญสะสมแต้มกับเขาต่อในวันที่เขาเฝ้ารอคำพิพากษาก็คือ การทิ้งไว้ซึ่งองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์

“อย่างที่ผมหวังคือพยายามทิ้งทุกความรู้ที่เราเรียนรู้และเชี่ยวชาญเพื่อการถ่ายทอดส่งต่อ ทั้งความรู้เรื่องเซรามิก ปศุสัตว์หัตถกรรม ธนู คราม การสอนลูก ๆ ฯลฯ สองคือทานบริจาคต่อเนื่อง หากคุณสร้างโรงพยาบาล โรงเรียนศูนย์เรียนรู้ สะพานถนนหนทาง เมื่อคุณตายไปสิ่งเหล่านี้ก็จะยังคงดำรงรับใช้เกิดประโยชน์กับคนอื่น ๆ ต่อไป สามคือการมีกัลยาณบุตร การบ่มเพาะลูกที่ดีเพื่อจะมาสืบสานและวิงวอนให้แก่คุณเมื่อคุณจากโลกนี้ไป”

“ผมจะไม่ละเลยการเลี้ยงลูกเด็ดขาดเพราะว่าเขาเป็นของขวัญอย่างบรรจงจากพระเจ้า” สมการที่เชื่อมโยงระหว่างเอ็มกับลูก ๆนั้นลึกซึ้งไปกว่าที่เขามอบความรักให้ลูก และลูกมอบความรักให้เขากลับเท่านั้น เขาไม่ได้สอนลูกให้สำนึกบุญคุณจากพ่อแม่แต่หากให้ลูกสำนึกบุญคุณจากพระเจ้ามากกว่า และจิตสำนึกในการดูแลพ่อแม่ก็คือพันธสัญญาระหว่างลูก ๆ ที่ต้องขอบคุณต่อพระเจ้าของเขา และมันจะเรียงร้อยเชื่อมโยงสวยงามเอง เพราะสำหรับเอ็มแล้ว การเลี้ยงลูกอย่างดีพิถีพิถันก็เปรียบเหมือนพันธสัญญาภารกิจต่อพระเจ้าเพื่อให้ลูกของเขาประพฤติดีและทำประโยชน์ให้สังคมต่อไป

ชาวมุสลิมส่วนใหญ่นั้นถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กให้ขอบคุณพระเจ้าในทุกวันที่ตื่นขึ้นมา เมื่อเด็ก ๆ รู้ถึงการมีอยู่ของพระเจ้า เด็กก็จะถูกฝึกตระหนักเสมอว่าเขาต้องประพฤติตนยังไงให้พระเจ้าพอใจในทุกการกระทำอย่างมีสติ ทั้งข้อห้ามข้อสั่งใช้ เพราะพระเจ้ากำลังมองเห็นอยู่ ศรัทธาที่เอ็มมีต่อพระเจ้าก็เกิดขึ้นตั้งแต่เด็กเช่นกัน และยิ่งตอกย้ำชัดเจนขึ้นเมื่อเขาเริ่มตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบของการมีอยู่ของพระเจ้าด้วยตัวเขาเอง การเกิดขึ้นของทุกสรรพสิ่งทุกอย่างและความหมายของชีวิต เราเกิดมาเพื่ออะไรและต้องไปไหนต่อ และโลกที่สวยงามสันตินี้ ถูกออกแบบมาอย่างลงตัวพอเหมาะพอดีจนมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นและดำรงอยู่เป็นวัฏจักรที่สมบูรณ์ ดาวทุกดวงที่โคจรในระบบสุริยะจักรวาลที่ดูราวกับมีกฎเกณฑ์ให้น้อมรับเคร่งครัดเชื่อฟังอย่างศานติ สิ่งนี้คือความหมายของคำว่าอิสลาม และเขาก็ค้นพบคำตอบว่า สิ่งเหล่านี้สมบูรณ์แบบเกินกว่าจะให้เป็นเรื่องบังเอิญ และธรรมชาติสร้างขึ้นมาเอง

“ช่วงหนึ่งผมตั้งคำถาม ทุกอย่างคือความดีแต่เราต้องเลือกสิ่งที่ใช่ที่สุดเช่นกัน เพราะดีแต่ละคนนิยามต่างกัน สิ่งสำคัญคือความจริงใจในการค้นหาสัจธรรม ผมพบว่ามีการเชื่อมโยงในทุกศาสนา เป็นรากเดียวกันหมด จุดเชื่อมโยงนั้นมีหลักการสอนที่ดีเหมือนกันอยู่มาก แต่นั่นไม่ทำให้เราหยุดในการหาสัจธรรมที่เราต้องเลือกก่อนที่เราจะตาย และสิ่งที่เราเลือก และต้องถูกกลั่นกรองเหมาะกับมนุษย์ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด ปฏิบัติได้จริงทั้งที่มีวุฒิภาวะหรือไม่มีวุฒิภาวะ ผมก็มองว่า อิสลามยังเน้นความชัดเจน สุราก็ยังคงถูกห้ามกับคนทุกเพศทุกวัยทุกวุฒิภาวะ จะเสรีหรือไม่เสรีก็ตามแต่ก็ไม่มีผลกับมุสลิมที่ศรัทธา มันยังคงดำรงการปฏิบัติเป็นรูปธรรม และยังคงเด็ดขาดชัดเจนได้ผลและเกิดความสันติในทุกมิติของความปลอดภัย ผมก็ทบทวนว่าตัวเองอยากจะอยู่ในครรลองที่ชัดเจนแบบนี้ และเราก็ค่อนข้างจริงใจกับสัจธรรมที่เราใช้สติปัญญาตามหาเช่นกัน ไม่ได้เพื่อตอบโจทย์ตามกิเลสอารมณ์โลกสวยของเรา และนั่นอาจไม่มีตัวเลือกอื่นแล้วสำหรับผมที่ดีกว่านี้”

“ความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันของแต่ละสิ่งทำให้เรามีข้อสงสัยอยากรู้ความจริง แต่ข้อสงสัยนี้อยู่บนพื้นฐานของการวางตัวให้สำรวมอ่อนน้อมถ่อมตนไว้ ถ้าคุณมีความจริงใจกับสัจธรรม คุณจะสงบเสงี่ยม พร้อมจะหาความรู้ต่อไป และขัดเกลาตัวเองอย่าด่วนตัดสินหากเราไม่รู้จริง การอ่อนน้อมถ่อมตนคือวางตัวในที่ปลอดภัย และระหว่างความคิดหากสวรรค์เป็นเรื่องโกหกหรือมันไม่มีจริงในโลกหน้าแล้วไซร้เราจะใช้ชีวิตที่เหลืออย่างสงบอย่างไร แต่สัญชาติญาณจิตสำนึกก็เหมือนจะบอกว่ามันไม่ดีแน่กับชีวิตหลังความตายหากประพฤติชั่วแม้ในที่ที่ไม่มีใครเห็น ผมจึงเลือกเจตนาทำความดีเพื่อพระเจ้าองค์เดียวก่อน ดีกว่าทำความชั่วตามอารมณ์ฝ่ายต่ำหรือตามเทพเจ้าหลายองค์อะไรก็ได้ เพราะเมื่อทำความดีต่อให้จะเป็นในกรอบของศาสนาใดก็เป็นคนดี แต่สิ่งที่ผมอยากหาคำตอบคือ อะไรที่มันเป็นความดีกับเราในมาตรฐานของพระเจ้าเจ้าของสวรรค์อันนั้นที่น่าสนใจกว่า และผมก็ต้องหาอย่างบริสุทธิ์ใจ และยืนยันกับตัวเองได้ว่าเราศึกษาพิถีพิถันสุดความสามารถแล้วในชีวิตที่เหลือน้อยนิดบนโลกใบนี้ ผมคิดว่าความสัมพันธ์ของผมกับพระเจ้าโรแมนติกมากกว่านั้น ผมเลยต้องตั้งคำถามแบบลับ ๆ และหาแบบลับ ๆ แล้วก็รักแบบลับ ๆ ผมว่ามันโรแมนติกมาก”

เมื่อถามว่าเป้าหมายของทุกสิ่งที่เขาทำในทุกวันนี้คืออะไร เอ็มตอบเราทันทีว่าคือการไปสวรรค์ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการกลับสู่ดินของเขา

“เป้าหมายของผมคือผมต้องการไปสวรรค์ ผมศรัทธาการมีอยู่ของสวรรค์เหมือนการมีอยู่ของสวรรค์ในทุกศาสนา ด้วยเหตุผลนั้นเองก็ต้องตั้งคำถามว่าสวรรค์มีได้อย่างไร และต้องศรัทธาการดำรงมีอยู่ของผู้สร้างสวรรค์เช่นกัน และผมจะทำทุกอย่างให้เจ้าของสวรรค์พึงพอใจ แล้วผมก็รู้ว่าในทางศาสนา ผู้ที่ทำประโยชน์กับส่วนรวมคือผู้ประเสริฐ ก่อนจะจากไปเราจะเก็บเสบียงทั้งหมดอย่างละเอียด แล้วก็จะต้องรู้ว่าสิ่งที่ทำตอนนี้มันจะเป็นประโยชน์ให้ส่วนรวมได้อย่างยั่งยืน ทั้งองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ ทานบริจาคต่อเนื่อง และมีลูกที่ดี มันคือต้นทุนทั้งหมดที่จะเก็บเกี่ยว พอผมตายไป กลับสู่ดินเมื่อไหร่ ผมจะมีเป้าหมายต่อดั่งที่กล่าวไว้และออกแบบทั้งหมด”

Writer
Avatar photo
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Photographer
Avatar photo
ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts