จ๋า-ธนภรณ์ สุขธนะ Designer Maker ที่ใช้ศิลปะเพื่อเข้าใจตัวเอง และโอบกอดตัวเองเพื่อเข้าใจศิลปะ
จ๋า-ธนภรณ์ สุขธนะ Designer Maker ที่ใช้ศิลปะเพื่อเข้าใจตัวเอง และโอบกอดตัวเองเพื่อเข้าใจศิลปะ
“ไปทำงานที่อื่นมา พอกลับมาบ้านแล้วบาลานซ์กับคนในบ้านได้ไหม” จ๋าถามเราแทบจะทันทีที่เจอหน้า
จ๋า – ธนภรณ์ สุขธนะ เป็นเพื่อนที่เรารู้จักมาตั้งแต่มัธยมต้น หลายปีหลังจากนั้น จ๋าบอกกับเพื่อนๆ ว่าจะไปเรียนออกแบบที่อังกฤษ ครั้งสุดท้ายที่เราเจอจ๋าคืองานเลี้ยงส่งเธอ เราร้องสาวเลยยังรอ และตะโกน ‘ลมพัดตึ้ง’ กันอย่างสนุกสนาน เมื่อลมพัดผ่านมาอีกครั้งพวกเราก็ได้ข่าวจากเพื่อนว่าเธอชนะการออกแบบพัดของ The Worshipful Company of Fan Makers ประเทศอังกฤษ เราติดตามงานของจ๋ามาเรื่อยๆ จนเธอกลับไทย และบางครั้งเราจะเห็นคุณยายวัย 80 กว่าปีของจ๋ามานั่งดูหลานทำงานในคลิปที่เธอโพสต์หัวข้อที่เราอยากชวนจ๋าสนทนาในวันที่เราได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง จึงเป็นเรื่องการสนับสนุนและแรงใจจากครอบครัวในการทำศิลปะ
ดังนั้น คำถามของจ๋ากับน้ำเสียงที่ดูอึดอัดจึงทำให้เราอดเลิ่กลั่กไม่ได้ เมื่อบทสนทนาที่กินเวลาไปกว่า 3 ชั่วโมงของเราจบลง เราจึงพบว่าการมาพูดคุยกับจ๋าครั้งนี้ คือเรื่องของคนวัย 30 ที่ยังคงตั้งคำถามกับตัวเองบ้างในบางหน หาคำตอบให้ตัวเองได้ในบางเรื่อง ไม่ทั้งหมด และยังคงค้นหาตัวเอง ค้นหาพื้นที่และความสัมพันธ์อันเหมาะสมของตัวเองกับสิ่งต่างๆ โดยมีศิลปะไว้เป็นเครื่องมือ และพยายามทำความเข้าใจตัวเองเพื่อเป็นเครื่องมือในศิลปะด้วยเช่นกัน
เมื่อได้ทำอะไรที่หัวใจเต้นแรง
ความชอบในศิลปะและงานคราฟต์ของจ๋าอาจเริ่มตั้งแต่เธอยังเด็ก อาจเพราะทั้งยายและแม่เป็นช่างตัดผ้า แถมยายยังเปิดร้านอุปกรณ์ตัดเย็บ ดีเอ็นเอนั้นจึงถูกส่งต่อมาให้เธอด้วย หากตุ๊กตาของเธอไม่มีชุดใส่ ยายกับแม่ก็จะสอนตัดชุดให้ตุ๊กตาใส่ หรือเมื่อเด็กหญิงจ๋าอยากทำบ้านตุ๊กตา พ่อของเธอก็จะเอาไม้อัดมาตัดให้เธอประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์เล็กๆ
เธอรักงานประดิดประดอยและศิลปะมาตั้งแต่ตอนนั้น เพียงแค่ยังไม่รู้ว่าจะเอามาทำเป็นอาชีพได้ไหม
เมื่อจ๋าที่เลือกเรียนสายวิทย์คณิตยังไม่กล้าฟันธงว่าเธออยากเรียนต่อในด้านไหน ทั้งครอบครัวและญาติๆ ของจ๋าจึงเชียร์ให้เธอเลือกอะไรที่มั่นคงกว่า อย่างการเป็นหมอ แต่บางครั้งเมื่อเราไม่ชอบทำอะไร เราก็มักจะทำสิ่งนั้นออกมาได้ไม่ดี จ๋าพยายามสอบทันตแพทย์สองปี และผิดหวังทั้งสองครั้ง แต่นั่นก็เป็นโอกาสที่ทำให้เธอเริ่มคิดว่าอะไรกันแน่คือสิ่งที่เธอชอบ
“การสอบไม่ติดมันก็เสียใจนะ แต่อีกใจก็โล่งเพราะเรามองในแง่ดีว่าเป็นโอกาสให้ได้เลือกในสิ่งที่ชอบจริงๆ แล้วตอนนั้นมีโอกาสได้เรียนภาษาที่ลอนดอน ซึ่งมีพิพิธภัณฑ์สำหรับงานศิลปะแบบเฉพาะเจาะจงทุกแขนงเลย เราไปอยู่ที่นั่นสองเดือน ทุกวันเราจะหาทางไปดูแกลเลอรี ไปนั่งในสวนสาธารณะ ไปดูนิทรรศการ ช่วงนั้นเป็นหน้าร้อน ผู้คนก็ออกมาใช้ชีวิต พอเราไปเห็นก็รู้สึกว่าหัวใจไม่เคยเต้นแรงเท่านี้มาก่อน เรื่องนี้เล่าให้ใครฟังก็อ่อนไหวทุกที คือแค่นอนเฉยๆ ในสวนสาธารณะก็น้ำตาไหลออกมาด้วยความสุขเลยว่า ‘ทำไมมันสงบสุขขนาดนี้ ทำไมมันมีความสุขจัง’ เลยคิดว่าสักวันหนึ่งถ้าได้กลับมาอีกก็อยากจะกลับมา”
จากตอนแรกที่เธอยังนึกภาพไม่ออกว่าจะต่อยอดจากสิ่งที่เธอชอบได้อย่างไร การไปลอนดอนเหมือนการเปิดโลกความเป็นไปได้สำหรับจ๋า และนั่นทำให้จ๋าตัดสินใจจะเรียนออกแบบ โดยเลือกเรียนที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะเป็นคณะที่ให้โอกาสคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานศิลปะและยังไม่รู้ตัวว่าชอบอะไรกันแน่อย่างเธอการได้ทำกิจกรรมหลายอย่างทำให้จ๋าเริ่มค้นพบตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองและเปิดประตูไปสู่โลกอีกใบที่เป็นโอกาสครั้งใหญ่ของเธอ เมื่อรุ่นพี่คนหนึ่งแนะนำให้เธอได้ฝึกงานที่ Vivenne Westwood
หน้าที่ของจ๋าคือ Jewellery Creative Assistant ที่ทำให้เธอได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ กับวัสดุต่างๆ เธอสนุกถึงขั้นเดินไปขอให้หัวหน้าที่เป็นนักออกแบบช่วยสอนเธอออกแบบด้วย และแม้จะกลับมาย้อนคิดว่าตอนนั้นตัวเองทำไปได้ยังไง แต่ความกล้าครั้งนั้นก็ทำให้จ๋าได้เห็นกระบวนการทำงานตั้งแต่การเริ่มหาแรงบันดาลใจไปจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สุดท้าย รวมถึงการหาหลักการ (Principle) ในการทำงานง่ายๆ อย่างการนำของที่ชอบมาไว้ใกล้ตัวให้ได้เห็นอยู่เสมอ จึงกลายเป็นหลักการที่เธอยึดถือมาจนทุกวันนี้
เวลาปีกว่าๆ ที่ทำงานใน Vivienne Westwood ก็ทำให้จ๋าได้ค้นพบว่าเธอชอบหยิบจับสิ่งต่างๆ มาทดลองและสำรวจอะไรใหม่ๆ และนั่นทำให้เธอตัดสินใจเรียน MA designer maker ที่ University of the Arts London
“บทสนทนาในคอร์สเขาจะเน้น practice-based คือการทำอะไรสักอย่าง และสำรวจว่าเราทำสิ่งนี้ไปทำไม ทำแล้วได้อะไร สะท้อนว่าระหว่างทำมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในความคิดของเราชอบอะไรและเกี่ยวโยงอะไรกับเรา
มันสนุกมากเลยกับการที่เราไปแบบไม่รู้ว่าจุดหมายคืออะไร เพราะมันมีอิสระมากๆ
หัวข้อที่เราเลือกทำก็กว้างมากคือ Shininess (ความแวววาว) ก็คิดนะว่าจะทำงานจบยังไงดี แต่เขาก็สนับสนุนให้เราสำรวจสิ่งที่อาจจะไม่ได้เป็นตัวจบของเราด้วย ไม่ว่าจะในเชิงกวี หนังสือ บทเพลง หรืออย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับมันเลยก็ได้ แต่เราจะสามารถจำแนกอะไรออกมาจากสิ่งนั้นแล้วมาเชื่อมโยงผลงานของเราได้ยังไงบ้าง และเราเห็นอะไรของตัวเองในนั้น”
การเรียน MA Designer Maker ก็เหมือนกับการเรียนปรัชญาในแง่หนึ่ง และการบ้านที่เธอต้องทำสัปดาห์ละสองครั้งก็คือการเขียนเรียงความเชิงสะท้อนความคิด หรือ reflective essay จากงานที่กำลังค้นคว้าอยู่
“เมื่อก่อนเราเคยไม่ชอบงานตัวเองเพราะรู้สึกว่าไปไม่สุด พอทำสิ่งนี้เลยได้รู้ว่าคอนเซปต์และแรงบันดาลใจอย่างเดียวยังไม่พอ สิ่งที่ขาดหายไปคือบริบทที่เชื่อมโยงงานเรากับคนอื่นและบทสนทนาที่จะเกิดหลังจากนั้น มันทำให้งานของเราแน่นขึ้น ซึ่งเป็นผลดีมากกับดิไซเนอร์ เพราะถึงเราจะบอกว่าผลงานเราทำมาเพื่อตอบสนองตัวเอง แต่การจะให้คนอื่นมาดูแล้วเสพมัน เราก็ต้องรู้ด้วยว่าเขาจะเชื่อมโยงสิ่งนี้กับตัวเองได้ยังไง”
วิธีการนี้เองที่เป็นจุดกำเนิดของผลงานที่อาจเรียกได้ว่าโดดเด่นที่สุดของจ๋าจนถึงตอนนี้คืองานพัดที่ชนะการประกวด ‘The Worshipful Company of Fan Makers Competition’ ของประเทศอังกฤษ
จากความวิบวับแวววาวถึงข้าวของที่ทำให้บ้านเป็นบ้าน
ผลงานชิ้นแรกของจ๋าที่เราเห็นและจำได้ขึ้นใจ คือพัดแปลกๆ ส่องแสงวิบวับแวววาว นอกจากมันจะทำให้เธอชนะการแข่งขัน The Worshipful Company of Fan Makers Competition แล้ว ในกระบวนการออกแบบพัดที่ว่าก็ทำให้เธอได้เรียนรู้ทั้งในเรื่องของหลักการทำงานและการหันกลับมาเข้าใจตัวเอง
จ๋ามีความหลงใหลในความแวววาว ดังนั้น shininess หรือ ความแวววาว จึงกลายเป็นสารตั้งต้นของผลงานชิ้นนี้
“เราคิดว่าถ้าเราหลงใหลกับมันขนาดนี้ คนอื่นก็อาจจะเป็นเหมือนกัน เราเลยไปศึกษาดูว่าทำไมคนชอบความแวววาว พบว่าส่วนหนึ่งเพราะย้อนกลับไปในอดีตมนุษย์ต้องหาปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้อยู่รอด นั่นคือ ‘น้ำ’ ที่เมื่อสะท้อนแสงก็จะเกิดความแวววาว สัญชาตญาณเลยดึงดูดเราเข้าหาของแวววาวด้วย
“ตอนแรกเราทำเป็นเครื่องประดับชิ้นเล็กๆ แต่เวลาถ่ายรูปเพื่อจะเขียน reflective essay เราก็ชอบถ่ายเป็นวิดีโอเพื่อทำให้เห็นความแวววาว เลยสังเกตต่อไปอีกว่าพอมันเคลื่อนไหวแล้วน่าสนใจ ยิ่งอยู่บนตัวมนุษย์ยิ่งน่าสนใจ มันสื่อถึงพลังงานของจักรวาลที่ไม่หยุดนิ่ง แล้วก็เลยมาคิดว่าเมื่อมนุษย์เกิดมาแล้ว ชีวิตก็ต้องดำเนินไปโดยที่หยุดไม่ได้ ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ยังต้องเคลื่อนไหว มีพลังขับเคลื่อนตลอดเวลา ทำให้สิ่งที่อยู่บนร่างกายมนุษย์มันแวววาวตลอดเหมือนมีชีวิตขึ้นมา”
สิ่งหนึ่งที่มีความแวววาวและเป็นสิ่งที่จ๋าชื่นชอบคือสิ่งที่เรียกว่า wind spinner หรือ กระดิ่งลมโลหะ ที่เธอนำมาแขวนไว้ในห้องตามหลักการนำสิ่งที่ชอบมาไว้ใกล้ๆ และลงมือศึกษาหลักการของ wind spinner เพื่อมาใช้ในการออกแบบงาน
นอกจากความแวววาวแล้ว จ๋ามองว่า wind spinner เป็นดีไซน์ที่ง่ายแต่จบในตัว และสามารถทำให้แสงเคลื่อนจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งต่อกันไปเรื่อยๆ ได้ ซึ่งสร้างความพึงใจและชวนให้รู้สึกว่าสิ่งต่างๆ เป็นไปตามระบบระเบียบของจักรวาล
เมื่อได้หลักการดังกล่าวมาแล้ว เธอก็ทดลองออกแบบไปเรื่อยๆ จากที่ดีไซน์แรกยังเห็นได้ว่าต่อยอดมาจากพัดทั่วไปที่พับได้ จ๋าจึงลองเปลี่ยนแบบแผนไปเรื่อยๆ จากสี่เหลี่ยม เป็นวงกลม เป็นดาว จากแบบแผนที่ไม่ได้สอดประสานกันแต่เป็นเพียงแค่การทำซ้ำ ก็กลายเป็นวงกลมซ้อนวงกลมที่ให้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
“ถ้าต้องเลือกงานที่ชอบที่สุดก็จะเลือกงานพัดนี่แหละ เพราะทำให้เราสนุกกับการหาหัวข้อโดยไม่ต้องมองว่าจุดจบคืออะไร มันคือการทดลองไปเรื่อยๆ ให้เข้าใจวิธีการ เพราะก่อนหน้านี้ เวลาออกแบบเราจะมีคอนเซปต์มีแรงบันดาลใจแล้วทำตัวจบ ซึ่งบางทีมันก้าวกระโดดไป งานพัดมันไม่ต้องมีภาพในหัวตอนสุดท้ายเลย เราเลือกในสิ่งที่ชอบแล้วระหว่างทางก็ค่อยๆ แตกแขนงออก สุดท้ายเราก็จะชอบทุกอย่างและเข้าใจผลงานของเรา ทำให้เราทั้งเข้าใจตัวเองและก็เข้าใจพัดด้วย”
แม้ว่าช่วงหนึ่งเราจะเห็นจ๋าทำชิ้นงานเป็นสิ่งแวววาวออกมามากมาย แต่เมื่อติดตามไปเรื่อยๆ เราก็ได้เห็นว่าจ๋าทำงานศิลปะหลากหลายประเภท รวมทั้งวัสดุมากมายหลายแบบ เธอมีทั้งงานออกแบบเสื้อผ้า งานเครื่องประดับชิ้นเล็กๆ โปรเจกต์ภาพถ่าย และผลงานเซรามิก
ที่ที่เรานั่งคุยกันอยู่คือสตูดิโอเซรามิกของจ๋าที่เพิ่งเปิด ในตอนนี้สตูดิโอเปิดใหม่ของเธอยังเป็นเพียงห้องเล็กๆ ที่มีผลงานทั้งเสร็จและไม่เสร็จของเธอวางเรียงอยู่บนชั้นซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นของใช้ในบ้าน โดยโปรเจกต์แรกที่เธอกำลังทำอยู่คือโคมไฟที่มีฐานเป็นเซรามิกและมีตัวโคมเป็นลวดลายผ้าที่เธอออกแบบ
“ตอนแรกไม่ได้คิดจะทำเซรามิกด้วยซ้ำ แต่เรารู้สึกว่าคาแรกเตอร์ของดินเป็นวัสดุที่ทำงานด้วยง่าย เย็นๆ ช้าๆ แห้งไปก็เติมน้ำ แต่สุดท้ายพอเผาแล้วมันอยู่ได้นานมาก และมันไม่สิ้นเปลืองเพราะตราบใดที่เราไม่เอามันไปเผา ดินก็สามารถนำกลับมาใช้ต่อได้เรื่อยๆ เราแค่ต้องเข้าใจหลักการของมัน ซึ่งหลักการก็มีแค่ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้นเลย”
เมื่อถามว่าทำงานมาหลายประเภทแล้ว เธอจะนิยามตัวเองว่าเป็นศิลปินแบบไหน เธอตอบว่าเธอนิยามตัวเองเป็น Designer-Artist หรือ ‘เป็นคนทำของตกแต่งบ้านที่เพิ่มคาแรกเตอร์ให้กับบ้านหรือเจ้าของ’ อาจเป็นเพราะการเคยประดิษฐ์ของเล่นเองในวัยเด็กทำให้จ๋าสนใจการเป็นเจ้าของของสิ่งต่างๆ และเธอยังเชื่อว่าความต้องการที่จะแสดงตัวตนของตัวเองออกมาคือหนึ่งในความต้องการของมนุษย์ และการเป็นเจ้าของบางสิ่งบางอย่างก็ตอบสนองความต้องการนั้นได้
“หนังสือเล่มหนึ่งของ The School of Life พูดเรื่องการมองศิลปะ ว่าคนทั่วไปจะเชื่อมโยงกับศิลปะได้ยังไง เขายกตัวอย่างว่า เวลาเข้าไปในแกลเลอรี ให้มองว่าภาพไหนที่เราอยากเอามาไว้ในบ้าน ทำไมเราเห็นสิ่งนี้ในบ้านเรา เพราะคนในภาพนั้นทำให้เรานึกถึงคุณยายเหรอ หรือเพราะโทนของภาพทำให้เรานึกถึงหน้าร้อนที่เราได้ไปเที่ยวกับครอบครัวเหรอ
“เราเลยชอบศิลปะในเชิงการตกแต่งเพราะมันทำให้เรารู้สึกบางอย่างกับพื้นที่ หรือทำให้บ้านกลายเป็นบ้านของเรา และงานคราฟต์มันผ่านการทำด้วยมือของมนุษย์คนหนึ่ง เวลาที่เราเอามาลงกับมัน ก็เหมือนส่วนหนึ่งของชีวิตเราและส่งต่อไปให้อีกคน มันเลยเหมือนมี human touch ในบ้าน และพื้นที่ที่เขาเอาของเราไปวาง มันก็คือสิ่งที่เขาคัดสรรมาแล้ว การเอาไปวางไว้ในบ้านแปลว่าเขาต้องชอบมันแค่ไหนถึงอยากจะเห็นมันทุกวัน มันคงเป็นส่วนตัวมากๆ และมีประโยชน์กับเขา มันเลยมีความหมายสำหรับเราด้วย เลยเป็นงานที่เติมเต็มความรู้สึกตัวเองนิดหนึ่ง ไม่ใช่ได้เงินอย่างเดียว”
การทำในสิ่งที่รักที่ทำให้เข้าใจตัวเอง และการเข้าใจตัวเองที่ทำให้กล้าทำในสิ่งที่รัก
“เราชอบเอาเรื่องของตัวเองมาทำ ฟังดูหลงตัวเองไหม” จ๋าตอบติดตลกเมื่อเราถามถึงแรงบันดาลใจในงานแต่ละชิ้น “พอทำชิ้นที่ไม่เกี่ยวกับตัวเองมันไม่มีแรงบันดาลใจในการค้นคว้าข้อมูลเลย พอทำธีสิสเรื่องโรคกระดูกสันหลังคดในปีสี่ ก็รู้สึกว่าการเล่าเรื่องตัวเองมันดีจัง”
งานที่จ๋าพูดถึงมีชื่อว่า ‘ความสวยงามของความบิดเบี้ยวไม่สมบูรณ์’ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘โรคกระดูกสันหลังคด’ ที่เธอเป็นอยู่ จ๋าเป็นโรคนี้และได้รับการผ่าตัดตั้งแต่ช่วงมัธยมต้น การเป็นโรคนี้ทำให้จ๋ารู้สึกไม่สมบูรณ์พร้อมเหมือนคนอื่นๆ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา จ๋าไม่เคยพูดถึงหรือยอมรับการมีอยู่ของมันเลย กระทั่งเธอได้พูดถึงมันผ่านเสื้อผ้าในงานดังกล่าว
“พอเลือกทำเรื่องนี้เลยถือโอกาสสำรวจตัวเอง เราประกาศลงเฟซบุ๊กขอสัมภาษณ์คนที่เป็นโรคนี้ด้วย ปรากฏว่าคนเป็นเยอะมากๆ เลยได้คุยกับคนที่มีประสบการณ์เหมือนกัน ได้แชร์ว่าเราไม่ได้ตัวคนเดียว พอมาทำงานนี้เลยเหมือนได้ทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้น ความรู้สึกจริงๆ มันคืออะไร มันส่งผลกระทบกับเรายังไง ก็สนุกกับมัน พอเราพูดถึงมันบ่อยๆ จากที่มันใหญ่มาก มันก็เล็กลงเลย”
ที่จริงความเจ็บปวดทางกายนี้อาจส่งผลกับจิตใจของเธอมาตลอด แม้ว่าในสายตาเพื่อนอย่างเรา จ๋าจะดูสดใสเสมอ แต่จ๋ากลับเล่าให้เราฟังว่าเธอมีปัญหาเรื่องความวิตกกังวล (anxiety) และซึมเศร้า (depression) โดยเฉพาะตอนไปอยู่อังกฤษ ความต่างบ้านต่างเมือง การต้องอยู่คนเดียว ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่โควิด-19 ระบาด ทำให้สุขภาพจิตของเธอย่ำแย่ลง แต่นั่นก็เป็นโอกาสให้เธอได้หันกลับมาเข้าใจตัวเองจริงๆ
“เราเป็นคนเซนซิทีฟและไม่เข้าใจว่าเกิดขึ้นได้ยังไง แต่เราไม่ทำความเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง กดความรู้สึกไว้ พอไปอยู่อังกฤษเจอช่วงล็อกดาวน์ก็หนักเลย เลยได้เจอนักจิตบำบัดที่เขาเชี่ยวชาญด้านความเจ็บปวดทางร่างกายที่ส่งผลกับสุขภาพจิตพอดี ในช่วงที่เราผ่าตัดหลังตอนม.ต้น กระดูกมันกลับมาคดอีกแล้วปวดมากๆ เราทนปวดอยู่สองปี เขาบอกว่าความเจ็บปวดสองปีนั้นทำให้เกิดการกลัวการผูกมัด
“ในช่วงที่เจ็บหลังเราตัดความรู้สึกออกไปหมดเพื่อจะรับมือกับมันให้ได้ นักจิตบำบัดคนนั้นเขาบอกให้เราต้องยืนหยัดเพื่อตัวเอง โอบรับทุกความรู้สึกของตัวเอง ร้องไห้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด พอรู้จักเรื่องนั้นแล้วมันก็ดีขึ้น เรารู้จักรับมือกับความรู้สึกตัวเอง ที่จริงทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกเจ็บปวดกับบางเรื่องอยู่ แต่ก็เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่มีขึ้นมีลงแหละ”
อีกสิ่งที่เราสังเกตเห็นจากงานหลายๆ งานของจ๋าคือความเชื่อในพลังของจักรวาล เมื่อโยนคำถามไปว่าเธอดูเป็นคนสนใจในเรื่องนี้ จ๋าก็ยอมรับว่าเธอชอบเรื่องของพลังงานจักรวาล คอนเซปต์ shininess ที่เคยทำก็เป็นอีกงานที่สื่อถึงความไม่หยุดนิ่งของพลังจักรวาล นอกจากนั้นเธอยังรับเอาแนวคิดแบบ New Thought Movement มาเป็นเครื่องมือให้ใจดีกับตัวเองมากขึ้นด้วย
“ในปัจจุบันวัฒนธรรมหนังสือพัฒนาตัวเองมีสองแบบ แบบแรกคือคุณทำได้ทุกอย่างถ้าคุณตั้งใจพอ สตีฟ จ็อบส์หรืออีลอน มัสก์ทำได้ คุณก็ต้องทำได้ โดยไม่ได้คิดถึงปัจจัยอื่นในชีวิตที่แตกต่างกันเลย ซึ่งมันอาจมีประโยชน์ในระยะสั้น ถ้าเราอยากทำอะไรอยู่แล้ว แล้วต้องการแรงบันดาลใจ แต่ในระยะยาวมันเป็นการกดดันตัวเอง เพราะเมื่อเราเชื่อว่าอำนาจทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวเองทั้งหมด วันไหนที่เราล้มเหลวเราก็จะโทษตัวเองทั้งหมด ภาระความผิดพลาดมันก็ตกที่เราทั้งหมด
“ในขณะที่หนังสือพัฒนาตัวเองอีกแบบคือแบบยอมรับตัวเอง (self-acceptance) คือตัวเราเป็นคนยังไง จะทำยังไงให้เรารู้สึกมีความสุขและเติมเต็มขึ้น ดังนั้นการเชื่อว่ามีพลังงานบางอย่างไม่ว่าจะเป็นพลังของจักรวาล เทพเจ้า หรือแม้แต่เรื่องบาปบุญ อยู่เหนือเราขึ้นไป ก็เหมือนเป็นการแบ่งภาระทางใจไปส่วนหนึ่ง เพราะเรารู้ว่ามีบางสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ซึ่งสำหรับเราสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้คือโลกทั้งหมด เราเลือกเกิดไม่ได้ เลือกจังหวะชีวิตไม่ได้ แม้บางครั้งเราจะทำดีที่สุดแต่จังหวะชีวิตมันอาจไม่เอื้ออำนวย เมื่อเราผิดพลาดขึ้นมาเราจะได้ไม่ต้องโทษตัวเองมากเกินไปและมูฟออนได้โดยไม่เป็นภาระทางใจขนาดนั้น มันก็ทำให้เรารักชีวิตมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะมองแค่นั้นนะ ตัวเราเองก็ต้องสู้ ต้องทำให้ดีที่สุด”
ในแง่การสร้างสรรค์งาน สมองเป็นสิ่งที่จ๋ารัก แต่เมื่อหยุดพักจากการทำงานเมื่อไร เธอก็อดรำคาญมันไม่ได้ในบางครั้ง เพราะบางเวลามันก็คิดไอเดียบรรเจิดขึ้นมาได้ แต่อีกหลายครั้งมันก็มักจะคิดเรื่องร้ายๆ ขึ้นมา จนพาเธอดำดิ่งไปในอารมณ์มืดมนไม่รู้จบ และสิ่งที่ช่วยให้จ๋าพาสมองกลับมาคิดเรื่องดีๆ ได้ ก็คือการทำงานศิลปะ
“สมองเราด้านดีคือมันช่างประเสริฐที่ช่วยคิดอะไรแบบนี้ บางทีก็รู้สึกว่ามันฉลาดมากเลย แต่พอมันไม่ได้คิดเรื่องงานมันก็เอาพลังงานไปทำอย่างอื่น การรับมือกับมันก็คือต้องทำงานที่ท้าทายให้เกิดปัญหา ให้เราแก้ดีกว่า ไม่งั้นสมองฉันจะเอาพลังงานที่เหลือไปสร้างปัญหาใหม่ให้เรามาไล่แก้แทน”
จ๋าบอกเราว่าในอดีตมีผลงานของตัวเองหลายชิ้นที่เธอไม่ชอบและได้แต่ถามว่าทำไปเพื่ออะไร แต่เมื่อเธอได้สำรวจและทำความเข้าใจสภาพจิตใจและบาดแผลของตัวเองที่ไม่เคยพูดถึง ทั้งผ่านทางการเข้าพบนักจิตบำบัดหรือกระบวนการสร้างชิ้นงานที่ทำให้เธอได้สำรวจตัวเอง เช่น งานพัดหรือการออกแบบเสื้อผ้าจากโรคที่เธอเป็นแล้ว มุมมองที่เธอมีต่อผลงานที่ผ่านมาก็เปลี่ยนไปด้วย เพราะต่อให้จะตอบไม่ได้ว่าทำมาทำไม อย่างน้อยที่สุดผลงานแต่ละชิ้นก็คือทุกก้าวที่เธอได้เรียนรู้
“แต่ก่อนเราเปลี่ยนใจง่ายเวลาใครมาพูดอะไร ข้อดีคือเป็นการเปิดรับมุมมองคนอื่น แต่ข้อเสียคือเหมือนเราไม่มีจุดยืน ตอนนั้นมันคิดว่าทำไมลองอันนั้นก็ไม่ชอบ อันนี้ก็ไม่ชอบ บางงานก็สงสัยว่าทำไปทำไม ทำเพื่ออะไร แต่ตอนนี้ข้ามผ่านแล้วว่า มันเป็นเรื่องปกติของการทดลองบางอย่างของเด็ก พอเจอสิ่งที่ชอบและเห็นแล้วว่าตัวเองจะทำได้ในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า ก็เข้าใจว่าที่ลองไปตอนนั้นลองให้รู้ว่าชอบไม่ชอบอะไร อย่าไปคิดเลยว่ามันจะเสียเวลา เราเพิ่งจะ 30 เอง ยังมีเวลาให้อยู่ ไม่เป็นไรหรอก ตอนนี้ใจดีกับสิ่งนี้ขึ้นเยอะแล้ว”
“เดี๋ยวนี้เวลามีไอเดียเกิดขึ้นมาเราก็ไม่อยากเมินมัน สมองมันให้ความคิดนี้เรามาแล้ว เราต้องเคารพมัน เราต้องเอาความคิดนั้นมาปฏิบัติจริง พอเราเคารพความคิดตัวเองแล้วมันก็ให้เรามาเรื่อยๆ มันอาจจะรู้สึกว่าฉันพูดอะไรเธอก็ฟัง ซึ่งก็ทำให้รู้สึกดีกับตัวเอง เวลามันเกิด creative block คิดงานไม่ออก ก็บอกตัวเองว่าไม่เป็นไรหรอก เพราะมองกลับไปมันก็มีข้อพิสูจน์ว่าที่จริงเราก็แค่ต้องการพัก ไม่ใช่ว่าคิดอะไรไม่ได้เลย”
H รักบ้าง เบื่อบ้าง นี่แหละครอบครัว
“ไปทำงานที่อื่นมา พอกลับมาบ้านแล้วบาลานซ์กับคนในบ้านได้ไหม” ย้อนกลับมาคำถามแรกๆ ที่จ๋าถามเราด้วยน้ำเสียงอึดอัดหลังจากไม่ได้เจอกันมาหลายปี แม้จะเลิ่กลั่กกับคำถามเพราะความตั้งใจแรกของเราในการมาสัมภาษณ์จ๋าคือเรื่องการสนับสนุนและแรงใจจากครอบครัวในการทำศิลปะ แต่อย่างไรเราก็ยังคิดว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวที่รักบ้างเบื่อบ้างแต่ยังคงสนับสนุนเธอเสมอก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
แน่นอนว่าครอบครัวหรือแม้แต่ทั้งตระกูลของจ๋าอยากให้เธอเป็นหมอ แต่ในวันที่เธอตัดสินใจล้มเลิกความตั้งใจที่จะสานฝันของตระกูล แม้จะมีเสียงคัดค้านบ้าง แต่ที่สุดทุกคนก็เคารพการตัดสินใจของเธอ
แต่ปัญหา ‘การบาลานซ์’ ที่จ๋าถามเรา อาจเป็นปัญหาที่คนเป็นลูกเป็นหลานต้องเจอเมื่อคุ้นชินกับการอยู่คนเดียวจนกระทั่งต้องกลับมาบ้าน ในความอบอุ่นที่ได้กลับมาอยู่กับครอบครัว ยังมีความอึดอัดบางอย่างของคนที่เคยได้รับอิสระให้เป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่เมื่อได้โบยบินไปไกลบ้าน ที่ต้องกลับมาเป็นเด็กอีกครั้งในสายตาของพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่
คนหนึ่งที่สนับสนุนสิ่งที่จ๋าทำไปและบ่นไป แต่ก็มักจะมานั่งดูหลานสาวทำงานอยู่บ่อยๆ
(ซึ่งจ๋าพูดติดตลกว่าทำให้เธอรู้สึกเป็น ‘ดาวเด่นของบ้าน’) พร้อมกับถามด้วยความอยากรู้อยากเห็นแม้ไม่ค่อยเข้าใจในคำตอบนัก ก็คือคุณยายวัย 80 กว่าปีของจ๋า ที่ยังคงเปิดร้านขายอุปกรณ์ตัดเย็บอยู่ตรงข้ามสตูดิโอของหลานสาวที่เพียงแค่ข้ามถนนไปก็เจอกัน จึงไม่แปลกหากความใกล้ชิดสร้างทั้งสายสัมพันธ์และการกระทบกระทั่งขึ้นมา
“ตอนทำเซรามิกแรกๆ เราจะขนไปเผาที่สตูดิโอของเพื่อนในตัวเมือง บางทียายก็จะไปด้วย และก็จะเดินมาดูว่าอันนี้ต้องทำยังไง เราบอกว่าต้องเอาไปเผากับเพื่อน เป็นเตาเผาที่ใช้อุณหภูมิสูง ยายก็กลัวว่าเราจะไปรบกวนเพื่อน เลยพูดว่า ถ้าถูกหวยยายจะซื้อให้นะ ซึ่งตอนเด็กๆ เคยอยากได้สระว่ายน้ำยายก็บอกว่าถ้าถูกหวยจะสร้างให้ เราก็เลยพูดเล่นๆ ไม่ได้คิดอะไรว่า โอ๊ย ให้ถูกสักทีเถอะ พูดว่าถูกหวยจะซื้อให้ตั้งแต่เด็ก วันหนึ่งยายก็บอกว่า ยายมีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง ให้ยืมไปซื้อเตาแล้วค่อยมาคืนยายทีหลังก็ได้ หลานมันดูแลยายดี”
จ๋าบอกว่าในทางปฏิบัตินั้น การกลับมาอยู่บ้านส่งผลดีกับตัวเธอ เพราะที่จริงสตูดิโอที่เรานั่งกันอยู่ พ่อของเธอก็เป็นคนทำให้ หรือแม้แต่โต๊ะกับชั้นที่เธอใช้วางชิ้นงานก็เป็นฝีมือของคุณพ่อนั่นเอง ส่วนแม่ก็ช่วยออกเงินอีกครึ่งสมทบทุนซื้อเตาร่วมกับยาย และแม้แต่เรื่องข้าวปลาอาหารเธอก็ไม่ต้องเสียเวลาไปคิดว่าจะกินอะไร เพราะมีกับข้าวที่แม่ทำไว้รออยู่แล้ว ทว่าในแง่ของการสร้างสรรค์นั้น คำพูดด้วยความเป็นห่วงของครอบครัวกลับทำให้เธอกลัวที่จะสร้างสรรค์
‘งานแบบนี้จะขายได้เหรอ’
‘ใครจะซื้อ’
‘เป็นยายยายไม่ซื้อนะ’
คือสิ่งที่จ๋ามักได้ยินจากยายเสมอ
“ยายไม่เข้าใจเราเลยแต่เขาก็สนับสนุนเต็มที่ บางทีเขาก็มีการแสดงความคิดเห็นด้วยความเป็นห่วง ซึ่งบางอย่างที่เขาพูดมันก็จริงนะ และมันมีผลกับการตัดสินใจของเราเยอะมากเพราะเขาเป็นคนไม่กี่คนที่เราเจอในชีวิตประจำวัน ความกลัวในตัวเราเองมันมีอยู่แล้ว แล้วยิ่งต้องรับความกลัวของเขาเข้ามาด้วย ยิ่งทำให้เราไม่กล้าทำอะไรเลย ตอนนี้เราเลยพยายามป้องกันความรู้สึกตัวเอง ตอบโต้ไปทุกครั้งตามที่นักจิตบำบัดบอกว่าต้องยืนหยัดเพื่อตัวเองบ้าง แต่ก็คิดอยู่ว่าจะแสดงออกยังไงไม่ให้อีกฝ่ายเสียใจ เพราะเราไม่ใช่เราคนเดิมแล้ว แต่สำหรับเขาเรายังเป็นเด็กคนเดิมอยู่”
ความจริงหลังจากที่กลับมาจากอังกฤษ จ๋าประสบกับภาวะ ‘ไม่รู้จะทำอะไรดี’ เธอเคยเป็น Technician อยู่ที่ University of Arts London ในอังกฤษ เคยทำงาน creative ในบริษัทแฟชั่นระดับโลก แต่จ๋ากลับรู้สึกว่าทุกสิ่งที่ว่ามายังไม่ใช่ตัวเธอ แต่ครั้นจะทำสิ่งที่เป็นตัวเธอ จ๋าก็ยังกลัวที่จะล้มเหลว
“เราได้แต่นอนเล่นๆ ทั้งวัน แต่เครียดมาก มันไม่มีงานทำตามที่ครอบครัวเคยถาม ตอนนั้นก็คิดว่า ‘ความกลัวที่สุดของพวกเธอมันกลายเป็นความจริงแล้วจ้า’ พอคิดมากๆ เข้าก็ไปปรึกษาเพื่อน เพื่อนก็ให้คำแนะนำว่าถึงกลัวก็ไม่เป็นไรหรอก มันเป็นโอกาสที่จะได้ลองได้รู้ว่าจะทำได้หรือไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็แค่มูฟออน ทำได้ทำไปเลย เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสได้ลองแบบนี้”
‘ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสแบบนี้’ คือสิ่งที่จ๋ารู้ตัวอยู่เสมอ แม้จะรู้สึกอึดอัดกับความเป็นห่วงของครอบครัวบ้าง แต่จ๋าก็รู้ว่าเธอเป็นคนมี privilege และแรงสนับสนุนจากครอบครัวก็เอื้อให้เธอได้ทำตามความฝัน และเมื่อคิดได้ดังนั้น เธอก็สามารถสลัดความกลัวทิ้งไปได้บ้างและเริ่มลงมือทำสตูดิโอเซรามิกตามที่คิดไว้
“ที่จริงเขาก็กลัวเราจะลำบากเฉยๆ แหละ ซึ่งตอนนี้มันก็ลำบากแบบที่เขาคิดแล้วเพราะเราก็ยังไม่มีรายได้มากพอ แต่เขาก็สนับสนุนได้ แต่บางทีเขาก็ห่วงมากไปหรือทำให้เรารู้สึกว่าเขามองเราเป็นเด็กหรือไม่ไว้ใจกัน หลังๆ เราเลยตอบโต้ตลอด ซึ่งบางครั้งมันไม่ดีหรอก แต่ที่เรารู้สึกว่าเราตอบโต้กลับไปได้แบบนี้เพราะรู้ว่ายังไงที่บ้านก็รัก
“ที่จริงเรารู้สึกว่าครอบครัวก็ทำดีที่สุดที่เขาทำได้แล้ว เราเพิ่งบอกแม่ไปว่า ถ้าไม่มีแม่จ๋าก็ไม่ได้ทำแบบนี้หรอก บางทีก็โกรธและน้อยใจที่เขาตำหนิ แต่โดยรวมเขาก็ทำดีที่สุดแล้ว เราเป็นคนมี privilege นะที่ได้มีโอกาสได้เลือก ได้มีโอกาสเอาความชอบหรือไม่ชอบมาเป็นตัวแปรในการทำงาน ได้มีโอกาสเอาคำว่าตัวตนมาเกี่ยว เพราะมันไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสนั้น เราว่าเราโชคดีแล้วที่ได้มาทำตรงนี้ และโชคดีมากที่เกิดมามีคนรอบข้างดีๆ พอคิดแบบนี้ความกลัวก็น้อยลง มันก็ยังกลัวอยู่แหละ ตอนนี้ก็ยังกลัว แต่ก็คิดว่าถ้ามันจะอยู่แบบนี้ต่อไปก็ลงมือทำไปซะเถอะ”
การตัดสินใจเปิดสตูดิโอในเมืองรองที่เงียบเหงาอาจเป็นเรื่องยาก และอาจยากกว่าที่จะประคับประคองมันไปจนสำเร็จและพิสูจน์ตัวเองให้ครอบครัวได้รู้ว่าเธอไม่ใช่เด็กคนนั้นอีกต่อไปแล้ว แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น อย่างน้อยในวันนี้จ๋าก็คือคนที่ได้เรียนรู้ ได้ค้นหา ได้เข้าใจ จนสามารถก้าวข้ามความกลัวและบาดแผลบางอย่างมาได้ และได้เริ่มทำในสิ่งที่รัก ซึ่งอาจนำเธอไปสู่เส้นทางของการค้นหาและเรียนรู้มากขึ้น เพื่อจะเติบโตขึ้น เพื่อจะ ‘สร้างบาลานซ์’ และเพื่อจะเข้าใจโลก ครอบครัว หรือแม้แต่ตัวเองต่อไป
Writer
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา
อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า