Performance Art in Chiang Mai : คุยกับ ‘กลุ่มศิลปินเชียงใหม่’ ที่อยากเห็นศิลปะขยับจินตนาการและขับขานอิสรภาพ

Performance Art in Chiang Mai : คุยกับ ‘กลุ่มศิลปินเชียงใหม่’ ที่อยากเห็นศิลปะขยับจินตนาการและขับขานอิสรภาพ

เป็นอีกปีที่ฝุ่น PM 2.5 ยังคงมาตามนัดและดูเหมือนจะสาหัสกว่าที่เคย ถึงแม้ว่าขณะนี้ผู้คนในหลายจังหวัดพอจะหายใจหายคอปลอดโปร่งและดำรงชีวิตนอกบ้านโดยปราศจากหน้ากากอนามัยชิ้นหนากันได้บ้าง ทว่าสถานการณ์ที่ดีขึ้นนี้มาจากความปรานีของฝนฟ้า มากกว่าเป็นผลของความกระตือรือร้นแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังของภาครัฐ

ต้นเดือนเมษายนที่ละอองฝุ่นปกคลุมเมืองเชียงใหม่อย่างหนาแน่น บริเวณลานประตูท่าแพมีการแสดงฟ้อนรำชุดพิเศษเกิดขึ้น ท่ามกลางบรรดานักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาเช็กอินแลนด์มาร์กประจำจังหวัด พลางพักชมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมชวนตื่นตาและแปลกใหม่ จากนางรำที่สวมใส่หน้ากากกันสารเคมีกรีดกราย โปรยดอกไม้ผสมแป้งกับข้าวโพด สลับโยนใส่นักแสดงที่มีถุงกระสอบปุ๋ยคลุมศีรษะ การแสดงดำเนินไปอย่างราบรื่นต่อหน้าผู้ชมที่จับจ้องไม่วางตาและสมาร์ตโฟน ครู่ต่อมานักแสดงอีกคนจึงก้าวออกมากล่าวคำขอบคุณและอวยพรสั้นๆ เป็นสัญญาณว่าการแสดงชุดนี้จบลงแล้ว

“ขอบคุณที่เดินทางมาเที่ยวและช่วยคนท้องถิ่นสูดหายใจเอาฝุ่นเข้าปอด ฉันหวังว่าเมื่อคุณกลับถึงบ้าน คุณจะได้รับประสบการณ์ดีๆ ที่ไม่ใช่แค่มะเร็ง”  

ภาพโดย : Got.Surreal

แม้จะทำให้หลายคนไขว้เขวอยู่บ้าง แต่แน่นอนว่านี่ไม่ใช่กิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวหรือแคมเปญต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ที่จัดกันอย่างคึกคัก หากเป็นการแสดง Performance Art หรือศิลปะแสดงสด ‘โปรดมาเที่ยวเมืองฉัน’ ที่ชวนทุกคนหันมาตระหนักและตั้งคำถามต่อวิกฤตฝุ่นควันตรงหน้า ซึ่งพุ่งทะลุค่ามาตรฐานในระดับกระทบต่อสุขภาพ รวมทั้งระบบทางเดินหายใจมาอย่างต่อเนื่องนานหลายสัปดาห์

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ยังมีการแสดง ‘ข้าวโพดมนุษย์’ สะท้อนประเด็นฝุ่นควันผ่านการสร้างสัญลักษณ์ลายข้าวโพดทั่วร่างกาย ทั้งหมดนี้เป็นผลงานของกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ อย่าง เต้-จักรพันธ์ ศรีวิชัย, อาย-ประภัสสร คอนเมือง, มีน-ฉัตรชัย สุขอนันต์, กอล์ฟ-นลธวัช มะชัย, เมษา สุขพงษ์ และ เฎียร์-นันทัชพร ศรีจันทร์ ที่มารวมตัวกันต่อยอดศิลปะแสดงสดผสานประเด็นทางสังคมร่วมสมัย สู่ Performance Art เฉพาะกิจ 

บนความตั้งใจอยากเปิดพื้นที่สื่อสาร แลกเปลี่ยนความคิด เพื่อจุดประกายแนวทางและมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ขึ้นในสังคม

เฉพาะกิจการแสดง

“เราเริ่มหันมาทำงานศิลปะลักษณะนี้จากการร่วม ‘เทศกาล Performance Art เฉพาะกิจ’ ตั้งแต่ช่วงที่มีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ปี พ.ศ. 2563 พอสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลงก็พบว่า Performance Art ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่แปลงร่างเข้าไปทำงานในพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น หรือในประเด็นทางสังคมที่แต่ละคนสนใจ กลายเป็นภาพจำของเมืองเชียงใหม่ จนคนชอบแซวกันว่าตำรวจเชียงใหม่น่าจะได้ดู Performance Art มากที่สุดในโลกแล้ว”

กอล์ฟหัวเราะร่วน เมื่อเล่าถึงที่มาของกิจกรรม Performance Art เฉพาะกิจ สำหรับใครที่อยู่ในแวดวงศิลปการละครหรือติดตามการแสดง Performance Art ในเชียงใหม่ เชื่อว่าคงจะพอคุ้นหน้าคุ้นตากับกอล์ฟ เพราะเขาคือผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ลานยิ้มการละคร’ คณะละครที่ผลิตการแสดง ละคร รวมถึง Performance Art สะท้อนประเด็นทางสังคมร่วมสมัย และปัจจุบันยังเป็นหนึ่งในคณะ Performance Art เฉพาะกิจที่มีเพื่อนจากหลากหลายสาขาอาชีพ อาทิ ผู้ช่วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักกิจกรรมด้านสังคมและสิทธิมนุษยชน นักศึกษาศิลปะ ศิลปิน และนักการละคร มาปฏิบัติการทางศิลปะร่วมด้วย

“เราไม่ได้ทำงานแบบทีมเดียวอยู่ตลอด เพียงแต่เรามาแสดงออกในพื้นที่เดียวกัน เพราะมีอุดมการณ์ใกล้เคียงกันมากกว่า”

 

ภาพโดย : Got.Surreal

อายขยายรูปแบบการดำเนินงานเพิ่มเติม “ไม่ได้บอกว่าเหมือนกันด้วยนะ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะสามารถคิดเหมือนกันหมด เพียงแต่ในบางประเด็นปัญหาเราอาจมองคล้ายกัน และทนไม่ไหวที่ต้องนิ่งเฉยหรือเรียกร้องแค่ในโลกออนไลน์เท่านั้น เราจึงนัดรวมตัวกันกระโจนลงไปบนท้องถนนเพื่อแสดงออกผ่านงานศิลปะ”

นอกจากทิศทางที่สอดคล้อง พวกเขายังเชื่อมร้อยกันด้วยความสนใจในศิลปะ Performance Art เครื่องมือที่ทุกคนมองว่ามีประสิทธิภาพในการขยับจินตนาการและปลูกอิสรภาพทางการแสดงออก

กอล์ฟอธิบายเรื่องนี้ให้ฟังว่า “Performance Art เป็นงานที่ดูแล้วไม่รู้ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร เหตุนี้มันจึงเปิดพื้นที่ให้คนดูได้ใช้จินตนาการและตีความอย่างอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางบรรยากาศสังคมที่เต็มไปด้วยการสอดส่อง สอดแนม Performance Art จึงเปรียบเสมือนพื้นที่ปลอดภัยในเชิงการรับรู้ แม้หัวใจสำคัญของมันจะเป็นการแสดงที่เกิดขึ้น ณ ตรงนั้น จบลงตรงนั้น แต่ก็มีจุดเด่นตรงที่สามารถขยายความไปต่อได้ไกลตามแต่คนดูจะเก็บเอาไปรู้สึก คิด หรือให้ความหมาย”

ศิลปะต้องสงสัย

พูดได้ว่าท่วงท่าแปลกประหลาด การแสดงออกที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ ยากจะจับต้นชนปลาย กลายเป็นลักษณะที่มักทำให้ Performance Art ไกลห่างความเข้าใจของคนทั่วไป เรื่องนี้มีนเองยอมรับว่าเขามักได้ยินคนพูดถึงประเด็นนี้อยู่บ่อยครั้ง บางคนเลยเถิดถึงขั้นกล่าวหาศิลปินว่าแค่ทำท่ามั่วๆ 

เมื่อสารไม่อาจส่งไปถึงผู้รับ แล้ว Performance Art จะช่วยสร้างแรงกระเพื่อมขับเคลื่อนสังคมได้อย่างไร เราสงสัย  

“ถึงจะพูดว่าเป็นศิลปะแสดงสด แต่จริงๆ แล้ว เราคิดเสมอว่าจะบอกเล่าอะไรในบริบทหรือท่าทีแบบไหน ทว่าบางเนื้อหามันก็เป็นเรื่องที่ยากจะสื่อสารชัดๆ ให้เข้าใจ ประกอบกับ Performance Art เป็นศิลปะการแสดงที่เล่นกับความรู้สึกร่วมของคนดู หากบางคนเขาไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมหรือความรู้สึกร่วมอาจจะไม่เข้าใจว่าทำทำไม ทำไปเพื่ออะไร”

“อย่างไรก็ตาม ความสงสัยที่เกิดขึ้นในแง่หนึ่งเราก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะอย่างบางชุดการแสดงที่สื่อช่วยนำไปเผยแพร่ทางช่องทางออนไลน์ เราสังเกตเห็นว่ามีคนเข้ามาดู มาคอมเมนต์ แม้จะไม่เข้าใจแต่เขายังให้ความสนใจ แล้วก็มักจะมีคนอื่นๆ มาช่วยอธิบาย ตีความ ซึ่งทำให้เกิดการตั้งคำถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และความรู้ซึ่งกันและกัน”

“ในฐานะคนสร้างงาน ยิ่งถูกพูดต่อในวงกว้างไม่ว่าจะเชิงบวกหรือลบ เราถือว่าประสบความสำเร็จแล้วล่ะ” อายเห็นด้วย “เพราะการที่เราทำให้คนคนหนึ่งตั้งคำถามว่า ทำไม แล้วก็มีคนมาตอบและถกกันต่อไปอีกเรื่อยๆ นั่นเท่ากับว่างานของเรากำลังทำหน้าที่ของมันอยู่”

มีนเสริมต่อว่าบางครั้งในการแสดงของเราก็ไม่ได้มีแค่การสะท้อนประเด็นปัญหาที่อยากจะบอกเล่า แต่เราจงใจโยนคำถามด้วยเหมือนกัน ว่าพอจะมีแนวทางไหนอีกบ้างที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งท้ายสุดจะได้รับคำตอบหรือไม่นั้นก็ไม่สำคัญ เพราะสำหรับเราเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุด มันได้จุดประกายทางความคิดให้กับผู้คนแล้ว”

เช่นเดียวกันกับเฎียร์ที่มอง Performance Art ว่าเป็นงานศิลปะที่สอนให้รู้จักตั้งคำถาม เธอยืนยันว่าแม้คนดูจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างกับสิ่งที่ศิลปินสื่อสารก็ตาม แต่สิ่งนี้จะก่อให้เกิดการตั้งคำถาม และคำถามนั้นทำให้คนยังเป็นคนอยู่ 

ภาพโดย : Got.Surreal

เบื้องหน้า-เบื้องหลัง

“เราหาความเป็นไปได้ของการสร้างสรรค์งานสักชิ้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นสมมติถ้าวันพรุ่งนี้เราจะทำงาน 1 ชิ้น งานที่เราจะทำอาจไม่ได้คิดวันนี้ อาจคิดวันพรุ่งนี้ หรือจริงๆ คิดมาเป็นปีแล้วก็ได้ อย่างการแสดง ‘โปรดมาเที่ยวเมืองฉัน’ ที่จัดบริเวณลานประตูท่าแพ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราคิดคอนเซปต์นี้มาตั้งแต่ปี 2562 แค่ไม่เคยนำออกมาใช้ เพราะรู้สึกว่ายังไม่สบจังหวะที่เหมาะสม พอวันหนึ่งมีนผุดประเด็นนี้ขึ้นมา เราก็เลือกภาพในที่หัวเหมาะสมกับบริบทที่สุดมานำเสนอ”

อายแลกเปลี่ยนกระบวนการออกแบบการแสดงในแนวทางของตัวเอง ส่วนประเด็นใดที่ทางกลุ่มให้ความสนใจเป็นพิเศษนั้น กอล์ฟบอกกับเราว่า ‘ตอบยาก’ เพราะไม่ได้ถูกกำหนดไว้ตายตัว หากแต่ยึดโยงกับปรากฏการณ์ที่สร้างความรู้สึกร่วมของผู้คนในสังคม ตลอดจนความสนใจเฉพาะของแต่ละศิลปิน ซึ่งกรณีของอายสะท้อนเรื่องนี้ได้ค่อนข้างชัด 

ขณะที่ตัวตั้งตัวตีอย่างมีน เล่าว่า ‘โปรดมาเที่ยวเมืองฉัน’ เป็นการแสดงที่ต้องการแสดงความเคารพและไว้อาลัยให้แก่คณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เสียชีวิตจากผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 และเน้นย้ำถึงปัญหาฝุ่นควันที่กระทบต่อวิถีชีวิตและสุขภาพของประชาชน ซึ่งมีหลายคนต้องเจ็บป่วยจากการสูดหายใจเอามลพิษทางอากาศเข้าปอดตลอดคืนวัน แต่กลับไม่ได้รับการใส่ใจจากภาครัฐเท่าที่ควร

“ในขณะที่ปัญหาฝุ่นควันรุนแรงมาก แต่ภาครัฐกลับไปให้ความสำคัญในเรื่องของเทศกาลสงกรานต์และการท่องเที่ยว ไม่ได้มีการคิดหาแนวทางป้องกันหรือพูดคุยกันอย่างจริงจัง เราเลยทำ Performance Art ที่ปรับประยุกต์มาจากการฟ้อนขันดอก ซึ่งมักใช้เป็นการแสดงต้อนรับนักท่องเที่ยวมาสื่อสารประเด็นปัญหาสำคัญนี้”

อายเสริมต่อว่า ก่อนหน้านั้นช่วงปลายเดือนมกราคม เธอเองเคยจัดการแสดงชุด ‘Breath Dust In The Air’ บอกเล่าประเด็นฝุ่นควันในลักษณะ Performance Art 24 ชั่วโมง ซึ่งหนึ่งในเสียงตอบรับน่าสนใจคือมีคู่สามีภรรยาชาวอังกฤษที่เข้ามาพูดคุยพร้อมแลกเปลี่ยนว่า ก่อนเดินทางมาประเทศไทยพวกเขาเตรียมตัวมาอย่างดี แต่สิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็คือประเทศไทยมีปัญหาฝุ่น PM 2.5 พอมาถึงพวกเขาจึงแสบคอและเป็นไข้ เสียงสะท้อนนี้ทำให้เห็นว่า หากภาครัฐยังไม่แก้ไขอย่างจริงจังและให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา วันข้างหน้าปัญหานี้ก็จะต้องวกกลับมากระทบต่อภาคการท่องเที่ยวเช่นเดิม

ไม่เพียงเท่านั้น ในประเด็นเดียวกัน เต้ก็เป็นอีกคนที่ลุกขึ้นมาบอกเล่าผ่านการขีดปากกาเมจิกสีส้มทั่วร่างกายในผลงาน ‘มนุษย์ข้าวโพด’ เพื่อสะท้อนต้นตอแท้จริงของวิกฤตฝุ่นควัน 

“สำหรับคนทั่วไปที่ยังโทษแต่คนเผาป่า เราอยากให้เขารับรู้ว่าสิ่งนี้ต่างหากที่เป็นตัวการ” เต้กระชับใจความของสารที่เขาต้องการสื่อ ก่อนเปรยถึงการทำงานก้าวต่อไปว่า 

“เรารู้สึกว่าปัญหาฝุ่นควันไม่ควรพูดกันแบบเฉพาะกิจ คือพอหมดช่วง แล้วฝนตก อากาศดีขึ้น ก็พากันลืม ปีหน้าพอฝุ่นมา จึงกลับมาพูดอีก วนเวียนอยู่แบบนี้ ดังนั้นเราจึงตั้งใจว่าจะใช้การแสดงมนุษย์ข้าวโพด พูดเรื่องนี้ต่อไปเรื่อยๆ แม้เข้าฤดูฝนหรืออยู่ในช่วงฤดูหนาวก็จะทำต่อเท่าที่เราพอจะสามารถทำได้ในวิถีทางของเรา จนกว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลง”

ภาพโดย : Got.Surreal

ต้นทุนความฝัน

เนื่องจากเป็นการรวมตัวกันทำกิจกรรมรูปแบบเฉพาะกิจ ทุนในการทำงานสร้างสรรค์ทุกบาททุกสตางค์ จึงมาจากการควักกระเป๋าตัวเอง เราจึงอยากรู้ว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้พวกเขาสละแรงกาย ทุ่มเทแรงใจ และลงทุนเพื่อการทำงานศิลปะขับเคลื่อนสังคม

“เราคิดว่ามีคนที่เสียสละมากกว่าศิลปินเยอะมากเรามีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนมากที่ยังอยู่ในคุก มีคนที่ออกมา Take Action แบบที่ไม่ได้มีเกราะป้องกันในนามศิลปะอยู่อีกจำนวนมาก ฉะนั้นในฐานะศิลปินที่สามารถเข้าร่วมในห้วงเวลาความขัดแย้งทางสังคมได้และศิลปะแสดงสดคือเครื่องไม้เครื่องมือที่เรามี จึงไม่ได้เกินกำลังของพวกเรามากนัก เรามองว่าการเลือกไม่ทำอะไรเลยนั่นแหละที่จะทำให้เสียหายมากกว่า” กอล์ฟ พูด

เต้เสริมว่า “สำหรับเราทุนแค่อย่างเดียวที่ต้องเสีย คือ ทุนในการมีชีวิตอยู่ต่อไป จริงๆ แล้วงานของเราใช้ทุนน้อยมาก เพราะ Performance Art มันทำงานบนร่างกายเป็นหลัก ที่เหลืออีก 20 เปอร์เซ็นต์อาจจะเป็นพร็อพ เพียงแต่เราต้องหาเงินมาประคองชีวิต เพื่อที่จะมีสมองคิดงานต่อไปได้อีกเรื่อยๆ”

เช่นเดียวกันกับมีนที่บอกว่าต้นทุนหลักของศิลปิน Performance Art คือทักษะและร่างกาย ไม่ใช่ทุนทรัพย์  “ถ้าเรามัวแต่รอว่าเมื่อไหร่จะมีโครงการสนับสนุน รอได้ทุนสนับสนุนแล้วค่อยทำ คงไม่ได้ทำ และจะทำแบบนั้นไม่ได้ด้วย เพราะถ้าปัญหามันเกิดขึ้นแล้วและเรารู้สึกว่าไม่ไหว เราต้องลงมือทำ อีกอย่างการส่งเสริมสนับสนุนศิลปะร่วมสมัยในบ้านเราก็มีไม่มาก ส่วนใหญ่งบประมาณมักถูกเทไปทางด้านศิลปวัฒนธรรมมากกว่า ยิ่งงานของเราเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ภาครัฐด้วยแล้วยิ่งยากเข้าไปอีก”

เมื่อพูดถึงเรื่องส่งเสริมสนับสนุนศิลปะ เมษาตั้งข้อสังเกตว่าไม่ใช่เพียงแค่งบประมาณสนับสนุน แต่พื้นที่สาธารณะสำหรับรองรับงานศิลปะของคนรุ่นใหม่ก็มีน้อยมากเช่นเดียวกัน ซึ่งเธอหวังว่า ในอนาคตทางรัฐบาลจะเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างพื้นที่สาธารณะในการแสดงออกทางด้านการศิลปะ การแสดงความคิด หรือจัดกิจกรรมสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้นกว่านี้

“เราเห็นด้วยกับเมษานะ” เฎียร์พูด 

“ไม่ว่าจะเป็นศิลปินหรือใครก็ตาม ทุกคนควรมีพื้นที่รองรับความฝัน มีอำนาจในการกำหนดชีวิตตัวเอง และสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปพร้อมๆ กัน” 

เหนืออื่นใด กอล์ฟบอกว่า สำหรับเขาแล้วศิลปิน Performance Art ไม่ได้เป็นผู้เล่นเดี่ยวในการแก้ปัญหาทางสังคม หากเป็นเพียงนักสร้างสรรค์ศิลปะที่จะช่วยหลอมรวมผู้คน ระดมสมอง เพื่อหาทางออก และส่งไม้ต่อสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย จุดหมายปลายทางที่ทุกความฝันจะขยับเข้าใกล้ความเป็นจริง

ภาพโดย : Got.Surreal

Writer
Avatar photo
คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า และอยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาฟันสวย แต่ไม่ค่อยยิ้มแฉ่ง

Related Posts

Related Posts