ครูคือมนุษย์ก่อนจะเป็นครู Self-Esteem, ความปลอดภัยในใจ และโครงสร้างที่ควรเปลี่ยนตาม

ครูคือมนุษย์ก่อนจะเป็นครู Self-Esteem, ความปลอดภัยในใจ และโครงสร้างที่ควรเปลี่ยนตาม

สรุปสาระจากวงเสวนา Keep ครู, Stay ครู “เป็นตัวเองในวันที่ฉันเป็นครู” ในงาน INSKRU FESTIVAL

“เราต้องทำทั้งสองทางคู่กัน หนึ่งคือทำให้ครูมั่นคงในคุณค่าที่เขาสมัครใจมาเป็นครูในวันแรก และอีกขาคือ ปรับนโยบายให้ตอบสนองฟีดแบคจากครูอย่างทันท่วงที”
ศานนท์ หวังสร้างบุญ, รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ในงาน INSKRU FESTIVAL เวทีที่เปลี่ยนห้องเสวนาให้กลายเป็นพื้นที่เยียวยาใจครู คำพูดของศานนท์ หวังสร้างบุญ สะท้อนความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า “การพัฒนาครู” ไม่ใช่แค่เรื่องของทักษะการสอน แต่คือการ “รักษาหัวใจของคนที่ดูแลเด็ก” 

หัวใจของงาน INSKRU FESTIVAL ในปีนี้หมุนรอบคำว่า Self-Esteem ซึ่งถูกคลี่คลายอย่างค่อยเป็นค่อยไปผ่านเสียงของครู นักวิชาการ และผู้ขับเคลื่อนนโยบาย 4 คน ได้แก่ ครูอาร์ม สุขพิชัย ผู้เชี่ยวชาญด้าน Social Emotional Learning, ครูเติ้ล สุริยัน ปัญญาทอง ครูผู้เปลี่ยนห้องเรียนให้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย, ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส. และศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

Self-Esteem คืออะไร และทำไมครูต้องมี

ครูอาร์ม สุขพิชัย เปิดประเด็นแรกว่า Self-Esteem หรือ “การเห็นคุณค่าในตัวเอง” เปรียบเสมือนรากของต้นไม้ ถ้ารากไม่แข็งแรง ต้นไม้ก็โอนเอนง่ายเมื่อเจอลมแรง เช่นเดียวกับครูที่ต้องรับมือกับปัจจัยมากมายในห้องเรียน

เขาอธิบายว่า Self-Esteem ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ (1) Self-Worth  ความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า แม้ไม่มีคำชม หรือแม้ในวันที่รู้สึกล้มเหลว และ (2) Self-Efficacy  ความเชื่อว่าตนเองมีความสามารถและสามารถพัฒนาได้

เมื่อครูมีทั้งสองสิ่งนี้ เขาจะสามารถอยู่ในห้องเรียนได้อย่างมั่นคง รับฟังเด็ก เข้าใจเด็ก และไม่ตอบสนองต่อความท้าทายด้วยความหงุดหงิดหรือหมดพลัง

ครูในโลกจริง: แรงกดทับ โครงสร้าง และความไม่มั่นคง

ครูเติ้ล สุริยัน ปัญญาทอง เล่าจากประสบการณ์ตรงว่า แม้ครูอยากเปลี่ยนห้องเรียน อยากทดลอง อยากออกแบบการเรียนรู้ใหม่ แต่สิ่งที่ฉุดรั้งไว้ไม่ใช่ความรู้ หากคือความไม่มั่นคงที่เกิดจากบริบทของระบบ

“คุณครูหลายคนอยากออกแบบ แต่ต้องแบกรับความไม่มั่นใจว่าตัวเองจะผิดหรือเปล่า เพราะปลายทางยังเป็นการวัดผลแบบเดิม ๆ”  ครูเติ้ล สุริยัน ปัญญาทอง

เขาเล่าว่าในระบบที่วัดผลจาก “สาระพิสัย พุทธพิสัย” ครูอาจรู้สึกว่าแม้จะตั้งใจสอนแบบใหม่ สุดท้ายก็ถูกบังคับให้กลับสู่การสอนแบบท่องจำ ยิ่งถ้าครูไม่มีพื้นที่ให้ความกล้าหาญและความเป็นตัวเองก็จะถูกระบบและวิธีการประเมินทำให้ครูไม่กล้าเปลี่ยนแปลง และทำตามอำนาจแบบเดิมๆ 

นอกจากนั้น ครูเติ้ลยังเชื่อว่า “สิ่งที่หล่อเลี้ยงครู” ไม่ใช่ระบบเท่านั้น แต่คือปฏิสัมพันธ์เล็ก ๆ กับนักเรียน เช่น เด็กคนหนึ่งที่ไม่เคยกล้าร้องเพลง กลับกล้ามากขึ้นเพราะได้เห็นว่าครูให้คุณค่ากับเสียงของเขา

เมื่อความเหนื่อยล้าไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

หนึ่งในข้อมูลที่ชัดเจนที่สุดในงานนี้มาจากการนำเสนอประเด็นของ คุณณัฐยา บุญภักดี ที่สะท้อนเสียงจากผลสำรวจครูของ INSKRU ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามนับพัน

“มากกว่า 70% ของครูในระบบ มีอาการ Burnout มีทั้งซึมเศร้า เครียด ร้องไห้ ดื่มหนัก ปวดหลัง ปวดหัว เป็นหวัดเรื้อรัง และไม่อยากลุกไปทำงาน” ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สำนัก 4) สสส. 

ที่น่าตกใจคือ สาเหตุหลักของ Burnout ไม่ได้มาจากเด็กหรือการสอน แต่คือ

  1. งานเอกสารจำนวนมาก
  2. ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน
  3. ระบบที่ไม่มีพื้นที่ให้ครูรู้สึกเป็นมนุษย์

คุณผึ้ง ณัฐยาเน้นว่า “ก่อนจะเป็นครู เราคือมนุษย์” และความเป็นมนุษย์นี้มักถูกกลบเมื่อระบบบีบให้ครูต้องเล่นบทบาทแบบที่ไม่ได้สอดคล้องกับตัวตน เช่น ต้องคุมห้องเรียน ต้องนิ่ง ต้องไม่แสดงออก

การดูแลครูในฐานะมนุษย์ จึงอาจเป็นหนึ่งในจุดเริ่มของระบบบ่มเพาะมนุษย์อย่างระบบการศึกษาก็เป็นได้

ระบบที่ฟังเฉยๆ หรือระบบที่รับฟังแล้วเปลี่ยนตาม

ศานนท์ หวังสร้างบุญ แบ่งปันว่า การฟื้นใจครูต้องทำสองทางคู่กัน ทางแรกคือภายใน: ดึงคุณค่าของครูกลับมา ส่วนทางที่สองคือภายนอก: ปรับระบบให้ยืดหยุ่น เช่น การลดภาระเอกสาร การเติมครูให้เร็วขึ้น และการกระจายอำนาจให้โรงเรียนสามารถออกแบบการประเมินได้เอง ซึ่งในส่วนที่สองเป็นส่วนของการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย

เขายกตัวอย่างการขับเคลื่อน SLC (School as a Learning Community) ว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้ครูรู้สึกว่า “ไม่โดดเดี่ยว” โดยให้ครูเปิดห้องเรียนให้เพื่อนครูเข้ามาดู ร่วมสะท้อน และออกแบบแผนการเรียนรู้ใหม่ร่วมกัน 

“ไม่ใช่การประเมิน แต่คือการร่วมกันเรียนรู้ว่าห้องเรียนแบบไหนส่งผลกับเด็กจริง ๆ”  ศานนท์ หวังสร้างบุญ

พื้นที่ภายในใจ: เริ่มได้ที่ตัวเอง

แต่หากรอแล้วรออีก โครงสร้างก็ยังไม่เปลี่ยนสักที ครูอาร์มเสนอว่า “Self-Esteem เริ่มได้ที่พื้นที่ในใจตัวเอง”ด้วยเทคนิคง่าย ๆ เช่น ถามตัวเองว่า “วันนี้ฉันทำอะไรได้ดีบ้าง?” ตั้ง checklist สัปดาห์ละ 5 ข้อ เช่น “ไม่เปรียบเทียบตัวเอง” หรือ “ช่วยเพื่อน 1 ครั้ง””เมื่อครูรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ใจจะนิ่งขึ้น และเข้าใจเด็กได้มากขึ้น” — ครูอาร์ม

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

การปฏิรูปการศึกษาอาจเริ่มจากตำราได้ยาก แต่เริ่มจากหัวใจของครูได้ง่ายกว่า และที่สำคัญกว่านั้น ต้องเริ่มจาก ระบบที่ฟัง และปรับตาม ไม่ใช่แค่ระบบที่สั่งหรือฟังเฉยๆ แล้วไม่เปลี่ยนแปลงอะไร พร้อมกับครู และระบบนิเวศรอบตัวครู ที่ช่วยประคับประคองจิตใจของครูในฐานมนุษย์คนหนึ่ง

และนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของระบบการศึกษาที่เข้าใจว่า ความรู้ไม่เคยเติบโตในพื้นที่ที่ครูหมดไฟ

แต่เติบโตได้ดีในห้องเรียนที่ครูรู้สึกว่า ตัวเองมีความหมาย