“ผมรู้สึกโดดเดี่ยวจนเหมือนผี ไร้ตัวตน” วรรจนภูมิ ลายสุวรรณชัย กับมนุษย์ที่ไม่อยากเป็นสุญญากาศ ใน School Town King

“ผมรู้สึกโดดเดี่ยวจนเหมือนผี ไร้ตัวตน” วรรจนภูมิ ลายสุวรรณชัย กับมนุษย์ที่ไม่อยากเป็นสุญญากาศ ใน School Town King

  • เริ่มจากการอยากคุยเรื่อง Soft Power กับ ‘เบสท์’ วรรธนภูมิ ผู้กำกับ School Town King ที่ตอนนี้ดูได้ใน Netflix 
  • แต่ไปๆ มาๆ เราพบว่าเบสต์เป็นคนที่ใช้ Soft Power มาตั้งแต่เล็กๆ ในฐานะกรรมการคอยห้ามพ่อกับแม่เวลาทะเลาะกันเลยเถิดไปถึงขั้นใช้ความรุนแรง
  • “โดดเดี่ยว ความรู้สึกว่าโลกนี้มีเราอยู่แค่คนเดียว เป็นแค่ผีที่เป็นแบบไร้ตัวตน ภาวะนี้ทำให้เบสต์รู้สึกเชื่อมโยงกับคนแบบอย่างบุ๊ค อย่างนนท์ ใน School Town King ได้ง่าย” 

“ผมมาจากครอบครัวมีปัญหา” 

ประโยคเดียวของ ‘เบสท์’ วรรจนภูมิ ลายสุวรรณชัย ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี School Town King และผู้ก่อตั้ง Eyedropper Fill ที่เคยให้สัมภาษณ์ที่อื่นแล้วหยุดไว้แค่นั้น ทำให้เราอยากคุยต่อ และคิดว่ามันน่าจะมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับ School Town King แน่ๆ 

แล้วก็ใช่จริงๆ ด้วย 

“อันนี้ไม่เคยให้สัมภาษณ์ที่ไหนเลย น้อยคนที่จะรู้ คำหนึ่งที่เบสท์รู้สึกมาเสมอจนถึงตอนนี้คือ โดดเดี่ยว ความรู้สึกว่าโลกนี้มีเราอยู่แค่คนเดียว การเป็นลูกคนเดียวแล้วอยู่ท่ามกลางปัญหาของพ่อแม่ที่สี่ห้าทุ่มก็ทะเลาะกันรุนแรง แล้วบ้านเบสต์แถวนั้นแม่งเปลี่ยวมากอะ เวลาเราห้ามเขา เขาไม่เคยฟังเลย เหมือนเราหายไปชั่วขณะ กรรมการเหมือนสุญญากาศ เรารู้สึกว่าเป็นแค่ผี เป็น ghost เป็นแบบไร้ตัวตน

เบสท์เลยคิดว่าภาวะนี้ทำให้เบสท์รู้สึกเชื่อมโยงกับคนแบบอย่างบุ๊ค อย่างนนท์ ใน School Town King ได้ง่าย” 

ซ้ำเติมด้วยระบบใหญ่ของสังคมที่ทำให้หลายคนกลายเป็นผีได้ตลอดเวลา 

“มนุษย์มันอยากถูกคนเห็น ไม่มีใครอยากถูกลืม โดยเฉพาะระบบที่มันไม่อุ้มใครแบบนี้ สวัสดิการรัฐที่ทอดทิ้งคน มันทำให้คนเป็นผีได้ตลอดเวลาเลย” 

และบางจังหวะก็เล่นตลก ทำให้ผีอยู่ใกล้กับคน แต่ไม่มีตัวตน ซึ่งมาจากการมองคนว่าไม่เท่ากัน 

“เบสท์ว่ามันน่าโมโหนะ อย่างงานสุพรรณหงส์ คนได้รางวัลต้องได้พูด แต่คนแบบเบสท์ สาย documentary ไม่ได้พูดนะ ได้พูดแค่ดาราหรือผู้กำกับยอดเยี่ยมเท่านั้น วิธีการมองคนไม่เท่ากันมันแทรกอยู่ในวัฒนธรรมของทุกอย่าง”

ถัดจากนี้คือตัวหนังสือที่ไม่ได้ทำหน้าที่แค่สัมภาษณ์แต่เป็นการตามหาตะกอนบางอย่างในวัยเด็กของผู้กำกับสารคดีที่เพิ่งค้นพบว่ามี empathize อยู่ในงานแทบทุกชิ้น 

ทราบมาว่า เบสท์เป็นลูกคนเดียว และเติบโตมาในครอบครัวที่มีปัญหา เล่าได้ไหมว่าปัญหาอะไร 

เบสท์เป็นลูกคนเดียวเติบโตท่ามกลาง violence (ความรุนแรง) ของพ่อแม่ คือพ่อแม่ค่อนข้าง violence ต้องมีกรรมการคอยห้าม ตั้งแต่จำความได้เลยครับ เรียกได้ว่าเราเป็นเด็กที่โตมาในครอบครัวที่ไม่ค่อยอบอุ่น เราโตมากับการเห็นพ่อแม่ตีกันรุนแรงมาก แล้วก็เขาป่วยด้วย มากไปกว่านั้นคือแม่เริ่มป่วยเป็น Panic disorder ตั้งแต่เด็กๆ เลย แล้วเราเป็นลูกคนเดียว ไม่มีเพื่อนแถวบ้าน เล่นคนเดียวเยอะ ใช้เวลาไปกับการต่อเลโก้ เป็นช่วงเวลาที่เรา escape จากความจริง มันช่วยให้เรามีพื้นที่ในการคุยกับตัวเอง ได้ express ความทุกข์ของตัวเอง 

Violence แค่ไหน 

เราเรียกว่าเป็น violence ในการใช้คำหยาบคาย ใช้กำลัง อย่างเช่น พ่อทะเลาะแล้วพลั้งมือ แล้วเราก็ได้เห็นช็อตแบบนี้ในเมโมรี่ของเรา เออ เราก็ไม่ชอบอะ พูดกันจริงๆ แล้วหน้าที่ของผมวัยเด็กคือ เป็น communicator 

เพราะพ่อแม่ไม่คุยกันเลย?  

ใช่ๆ คือฉันต้องเป็นคนกลาง แล้วพอเราไม่มีพี่น้อง เรารู้สึกว่าเราโดดเดี่ยว เราต้องเป็น communicator อยู่คนเดียวแล้วก็คอย translate ข้อมูลจากคนหนึ่งไปอีกคน แต่สิ่งหนึ่งที่เบสท์ได้มาคือเราไม่ judge ว่าใครผิด คือเบสท์จะถามแม่ตั้งแต่เด็กว่า ม้าคิดอะไรอยู่ เหมือนสถานการณ์ทำให้เราเป็นนักสัมภาษณ์เขาตั้งแต่เด็กๆ คอย consult แม่ตั้งแต่ประถม แบบม้าเป็นอะไรเหรอ ป๊าเป็นอะไร ไปฟังพ่อทีฟังแม่ที แล้วพยายามจะทำให้เขาเข้าใจกัน เรียกว่าเป็น mission ของเราในวัยเด็ก

เพิ่งมาถอด lesson learn ได้ว่าจริงๆ มันมีผลต่องานที่เราทำ ณ ปัจจุบันมากโดยที่เราไม่รู้ตัว 

ในการพยายามประสาน ถ้าสื่อสารผิดพลาด มันหนักไหม เพราะเราจะเป็นคนแรกๆ เสมอที่จะรับแรงปะทะนั้น 

หูย หนัก บางทีก็เข้าตัว เบสท์ว่าเบสท์โชคดีที่ไม่ได้เป็นซึมเศร้า

คือเราเป็นคนที่คุ้นชินกับภาวะของความเศร้าตั้งแต่วัยเด็ก เบสท์จำได้ว่าตอนประถมเบสต์ไปนั่งมองท้องฟ้าแล้วเบสท์ก็รู้สึกว่าทำไมวันนี้ฟ้ามันไม่สวยเลยวะ เราจำได้ว่าเรามีภาวะเศร้าตั้งแต่เด็กเลย แต่เราไม่รู้ว่ามันเรียกว่าโรคซึมเศร้า พอโตมาเราก็ยังเป็นคนเศร้าๆ เป็นคนหมองๆ แต่เบสท์โชคดีที่ช่วงหนึ่งของชีวิต เบสท์ได้เจอกับ art therapist แล้วเราได้มีพื้นที่ ได้คุยกัน เราก็เลยเข้าใจตัวเองว่า เอ๊ย จริงๆ แล้ว เหมือนเรามีเกณฑ์วัดรู้ว่าข้างในเราเป็นยังไงอยู่ มันก็เลยทำให้เราไม่ได้ไปถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า 

จริงๆ แล้วก็เป็นความหนักมากสำหรับเด็ก นึกภาพลูกคนหนึ่งที่ต้องมานั่งเจอพ่อแม่แบบนี้ตลอด 20 ปี เบสท์ว่ามันไม่ healthy เลย แล้วเบสท์ก็เคยบอกว่ามันไม่แฟร์สำหรับเบสท์นะ ก็ต้องยืนยันว่าเขาต้องมีส่วนในการปรับตัวตัว และรับผิดชอบกับการที่เขาให้ชีวิตเรามา แล้วก็มานั่ง define กันใหม่ว่าความรักจริงๆ มันคืออะไร เราก็พยายามจะคุยเรื่องนี้กับเขา จนเขาก็ปรับตัวตาม

พ่อปรับอย่างไร

เขาก็ฟังเบสท์ขึ้นครับ แต่เบสท์ว่าก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นได้อะ โห จริงๆ มันต้องมีความซับซ้อน

ต้องมีการทะเลาะไหม

ทะเลาะครับ วัยรุ่นมันก็มีทะเลาะแบบปัง แต่พอโตมาเราก็ calm ลง แล้วก็ไม่ judge ว่าพ่อผิด ถึงพ่อจะเป็นคนที่เราไม่ชอบเลย แต่พอเราทำงานศิลปะ ทำธีสิสก็ทำเรื่องครอบครัว มันทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้นว่า เราโทษปัจเจกอย่างเดียวไม่ได้ มันมาจาก route ของพ่อ ความเป็นจริง ความกดทับ วัฒนธรรม สังคมที่บังคับเขาอยู่  ก็เริ่มเห็นใจเขา ความโกรธหรืออคติมันก็หายไปเลย จนบอกเขาว่า เรารู้นะว่าเขารู้สึกผิด แล้วเราก็รู้สึกให้อภัยเขา แล้วเขาไม่จำเป็นต้องรู้สึก guilty กับเรา แต่เราต้องมาหา way ร่วมกันว่าเราจะอยู่ร่วมกันยังไง 

สุดท้ายแล้วพ่อก็ย้ายไปอยู่ข้างนอก มันเป็น learning ของเบสท์เหมือนกันว่า space มันเป็นสิ่งสำคัญ distance ระหว่างมนุษย์จำเป็นต้องมี เราคิดว่าความรักคือ intimacy ไง แต่จริงๆ ก็ไม่เสมอไป สำหรับบางคนแล้วอาจจำเป็นต้องมีระยะของความสัมพันธ์ด้วย

ความสามารถในการสื่อสารของเบสต์มาจากไหน 

เบสท์ว่าเนี่ยแหละ เหมือนพ่อแม่ไม่เข้าใจกัน แล้วเราต้องเป็นคน translate เขา 

จนเริ่มตอนทำธีสิสมั้ง  มหา’ลัยให้โจทย์ว่าเราต้องทำเรื่องที่อินที่สุด เรารู้สึกว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เบสท์มีเรื่องเดียวคือ violence ในครอบครัว  พอ nature มันเป็นงาน มันบังคับให้เราต้อง research ประเด็นนี้ไปโดยปริยาย เราเริ่มรู้จักทฤษฎีของจิตวิเคราะห์ ไปเริ่มรู้จัก art tools art therapy ตั้งแต่ตอนนั้น

เราสั่งสมสกิลของการเข้าใจมนุษย์ตั้งแต่เด็กๆ ตอนมัธยมเรารู้แค่ว่าพยายามจะทำความเข้าใจเพื่อน ถามเขาว่าเป็นยังไง แล้วพยายามฟังเขาให้เยอะที่สุด ถึงแม้เราจะไม่โอเค แต่เราก็พยายามจะฟังเขา เพื่อความสมานฉันท์ เราอยากจะให้เขาอยู่กันแบบแฮปปี้ แล้วเราก็ไม่ชอบเวลาเขาทะเลาะกัน มันก็เพื่อตัวเราด้วย เราไม่อยากอยู่แบบพ่อแม่ไม่เข้าใจกัน

แล้วบางทีมันเป็นเรื่องมองคนละมุม อย่างเช่นเราทะเลาะ แต่จริงๆ แล้วเรารัก อยากจะสื่อสาร แต่พอมันผิด way  คนรับสารตีความผิด ก็เท่ากับว่าสิ่งนั้นไม่ได้มีอยู่จริง  เลยคิดว่าหน้าที่ของเราตั้งแต่เด็กจนโตคือการเป็นเหมือน spectrum ที่จะคอยบิดแสงให้ตรงกับ receiver เสมอ 

ตอนทำธีสิสจบ ก็เพิ่งมารู้ว่าไม่ได้เป็นเพราะพ่ออย่างเดียว แต่เป็นเพราะว่ารากของแม่ก็มีปมเหมือนกัน เลยรู้สึกว่า เออ มนุษย์เรานี่มันช่างมีจุดให้เราเข้าใจไม่มีที่สิ้นสุด เบสท์รู้สึกว่าเราไม่สามารถตัดสินใครได้ขนาดนั้นว่าเขาเป็นคนดีหรือคนไม่ดี เพราะพอเราเริ่มเข้าไปเข้าใจมนุษย์คนหนึ่ง เราก็เริ่มเห็นว่า โห แม่ง เห็นใจเขาว่ะ เขาทำแบบนี้ออกมา แต่ว่าในใจจริงๆ ของเขามันอ่อนแอมาก

อย่างภาวะของพ่อเวลาเขาโกรธ เขาจะใช้ความ aggressive นำ ซึ่งเบื้องลึกลงไปคือพยายาม protect ความเปราะบางของตัวเอง แล้วยิ่งชายเป็นใหญ่แบบคนจีน มันโคตรจะไม่ accept ความผู้ชายร้องไห้

เบสท์เลยกลายเป็นตรงข้าม เป็นคนที่โอเคกับการที่เราจะยอมรับความเปราะบางของตัวเองได้ เบสท์เลยพยายามที่จะซอฟต์กับพ่อ พ่อก็พยายามซอฟต์ขึ้น

เป้าหมายของการสื่อสารของเบสท์ในเนื้องานทุกวันนี้คืออะไร

คำที่ตรงกับความรู้สึกที่สุดคือคำว่า empathy นะ คือเข้าใจ บริษัทของเบสตท์ พนักงานมีความหลากหลายจริงๆ บริษัทเบสท์ทำ multimedia ก็คือเอาคนต่างสาย ต่างความคิด ต่างความสนใจมา mix อยู่ด้วยกัน แล้วเบสต์ว่าเมื่อถึงเวลาวิกฤติจริงๆ ถ้าเราไม่เข้าใจกันมันพังหมดเลย

ย้อนกลับไปเรื่องที่บ้าน จริงๆ เขาอาจจะอยากสื่อสารบางอย่างเหมือนกัน แต่แค่ไม่เข้าใจกัน มันเลยเป็น key ให้เกิด violence ตามมา 

เบสท์มีเพื่อนในวัยเด็กที่หลากหลายอะ เบสท์โตมากับโลก 2 โลก 3 โลกเสมอ มีเพื่อนแถวบ้านแบบหนึ่ง เพื่อนช่วงมัธยมเป็นเด็กสเก็ต เด็ก subculture เพื่อนบางคนโตกว่า 5 ปี เพื่อนเล่นยา เพื่อนไม่เรียน เรารู้สึกว่าเราโตมาท่ามกลางความ diverse มาก แต่สิ่งหนึ่งที่เราอยู่กันได้ มันคือการที่เราเข้าใจเขา ไม่ตัดสินเขา เรารู้ว่าเขายืนอยู่บนอะไร เบสท์คิดว่า มันก็แฝงอยู่ในงานของเรามาตลอดโดยที่เราไม่รู้ตัว เหมือนเราเป็น bridge ให้กับคน 2 กลุ่ม

ปีนี้ พอเปลี่ยน direction ก็เอางานเก่าย้อนกลับไป 10 ปีมาดู แล้วก็เห็น theme นี้ชัดมาก มันออกทั้งในงาน แล้วก็ออกทั้งตัวเอง เวลาเราอยู่กับเพื่อนก็จะมีคนมาปรึกษา เรียกว่าศาลาคนเศร้า

แบบขอนั่งพักหน่อยเถอะ

ใช่ๆ บางทีกูก็เหนื่อยแต่ก็อดไม่ได้ เราเข้าใจเวลาไม่มีคนฟัง บางทีมันก็รู้สึกโดดเดี่ยว เวลาเจออะไรแย่ๆ เรารู้สึกว่าหรือว่านี่คือ mission ของชีวิต เราโตมาจาก background แบบนี้เลยทำให้เรามาทำงานแบบนี้ มีวิธีคิดแบบนี้ เราก็เลยรู้สึกว่า เออ งานของเรามันก็คือการ connect คน คือการเชื่อมคน

หรือว่าสุดท้ายแล้วเราอยากจะทำงานแบบ realistic experience เป็นประสบการณ์ที่ไม่ใช่แค่หนัง แต่เราอยากสร้างประสบการณ์ที่เข้าใจกัน เราคิดว่าถ้าเริ่มอยากจะเข้าใจเขา พยายามอยู่กับเขา เขากินยังไง เขานอนยังไง พยายามเข้าใจในระดับลึกของเขา

กว่าเราจะคิดคำถามได้ หรือรู้ว่าเราจะถ่ายเขาได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจเขารึเปล่า เพราะบางทีมนุษย์มันเป็นแค่เรื่องลมฟ้าอากาศ หรือกับข้าวไม่อร่อย โดนเมียตี มันมีผลต่อการตัดสินใจในแต่ละช่วงของชีวิตหมดเลย วิธีการของเบสท์นอกจากทำงานเพื่อ bridge คนอื่นแล้ว ตัวเราเองก็ต้องพยายาม bridge กับประเด็นหรือ subject เหมือนกัน 

แล้ววิธีการถ่ายทอดมันออกมา มันมีวิธีการทำยังไงให้สื่อออกมาตรงมากที่สุด

เบสท์เรียน communication design มา คือออกแบบเพื่อการสื่อสารอะไรบางอย่าง เรารู้ว่าเครื่องมืออะไรจะทำให้เกิดอะไร เช่น  6 ตุลา ก่อนฟ้าสาง เราไม่คิดว่าสุดท้ายเราทำอะไร แต่เราจะตั้งจากโจทย์ก่อนว่า  6 ตุลาปีนี้มีโควิด เป็น exhibition ไม่ได้ แต่เราอยากให้คนรู้สึก ฉะนั้นเราจะแก้ปัญหานี้ยังไงดี เราต้องมาถอดว่า core ของนิทรรศการคืออะไร 

ข้อหนึ่งคือคนต้องประสบมันจริงๆ ไป exhibition คือไปดู ไปฟัง ไปสัมผัส อาจจะมีกลิ่น

สอง พอมันเจอโจทย์โควิด เราจะทำยังไงให้ exhibition มันเกิดขึ้นที่บ้านเขาได้ เบสท์คิดแค่นี้เลย โอเค ถ้างั้นเราย่อขนาด exhibition ทั้งหมดให้เหลืออยู่แค่นี้ (ทำมือรูปกล่อง) เพื่อส่งไปหาที่บ้านได้ แล้วไอเดียกล่องมันเลยเพิ่งออกมาหลังจากนั้น

และคิดว่าคงเป็นกล่องอะไรบางอย่างที่ไป empathize คือไปคุยกับคนรุ่นนั้นจริงๆ ว่าถ้าจะพูดถึงกล่อง ในมุมของเขาหมายถึงกล่องอะไร เบสท์คุยกับแม่ก่อนเลย เขาเอากล่อง memory box ของเขามาให้ดู เราก็ อ๋อ โอเค คนรุ่นนั้นมีพฤติกรรมแบบนี้ แล้วก็เลยโยนไอเดียว่าเป็นนิทรรศการแบบกล่อง ชาเลนจ์ว่าเจออะไร เราก็เอา tool ไปตอบ มีการ empathize คือว่า ถ้าจะไปประเด็นนี้ อยากเล่ากับคนกลุ่มนี้ เขามีวิธีคิดยังไง ก็ไปคุยกับคนเหล่านั้น แล้วก็เอาข้อมูลจากคนเหล่านั้นมาดีไซน์ตัวธีม ก็เลยออกมาเป็นกล่องฟ้าสาง

เบสท์คิดว่าวิธีการแบบนี้ มันเป็นเพราะเราไม่ได้ fix ไว้ตอนท้ายว่าฉันจะทำอันนี้แน่ๆ แต่มองว่าฉันเจอ environment อะไรอยู่ ในสังคมเป็นยังไง เจอโควิดมั้ย ประเด็นที่เราจะคุยคืออะไร แล้วค่อยเอาข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบ และคิดมาเป็นคอนเซ็ปต์

เท่าที่ฟังมา สงสัยมากๆ ว่า เบสต์โตมาอย่างปลอดภัยไม่ซึมเศร้าได้ยังไง  

เราคิดว่าเราคงทุกข์แหละที่เห็นเขาทะเลาะกัน มันน่ากลัว แต่คำหนึ่งที่เบสท์รู้สึกมันมาเสมอจนถึงตอนนี้คือ โดดเดี่ยว อันนี้ไม่เคยให้สัมภาษณ์ที่ไหนเลย น้อยคนที่จะรู้  คือความรู้สึกว่าโลกนี้มีเราอยู่แค่คนเดียว การเป็นลูกคนเดียวแล้วอยู่ท่ามกลางปัญหาของพ่อแม่ที่สี่ห้าทุ่มก็ทะเลาะกันรุนแรง แล้วบ้านเบสท์แถวนั้นแม่งเปลี่ยวมากอะ

เหมือนอยู่กับระเบิดเวลา?

ใช่ๆ แล้วมันทำให้เรารู้สึกว่า เวลาเราห้ามเขา เขาไม่เคยฟังเลย เหมือนเราหายไปชั่วขณะกรรมการเหมือนสุญญากาศ เรารู้สึกว่าเป็นแค่ผี เป็น ghost เป็นแบบไร้ตัวตน

เบสท์เลยคิดว่าภาวะนี้ทำให้เบสต์รู้สึกเชื่อมโยงกับคนแบบอย่างบุ๊คอย่างนนท์ (School Town King) ได้ง่าย รากของครอบครัวเบสต์เป็นอย่างงั้น แล้วเบสต์ก็ไม่ได้เป็นเด็กเรียนเก่ง คือเบๆ มากจนไม่มีใครเห็น 

ตอนมัธยมเองที่เบสท์เริ่มรู้ว่าตัวเองชอบจักรยาน ไปเล่น BMX กับเพื่อนแล้วก็เริ่มมีก๊วนของเรา นั่นเป็นครั้งแรกเลยที่รู้สึกว่าเราเริ่มมี connect กับโลกใบนี้ แต่แม่งดันไป connect กับเพื่อนที่เป็นผีเหมือนกัน บ้านมีปัญหา ติดยา เด็กเรียนไม่เก่ง แต่เรารู้สึกว่าไม่โดดเดี่ยว

จนทำงาน เราก็เริ่มเห็นแล้วว่า ทำไมเรา seeking หาประเด็นอะไรแบบนี้มาเชื่อมโยงด้วยเสมอ  คือภาวะชายขอบหรือคนไม่ค่อยสนใจ เรา connect กับประเด็นนี้ เลยรู้สึกว่า mission ของการสื่อสารคือ bring voice ให้มัน appear ขึ้นมา

คือทำให้คนที่รู้สึกว่าอยู่คนเดียวหรือเป็นอากาศธาตุในสังคม ให้เขามีเสียงดัง ให้มีตัวตน ให้มีความเป็นบุคคลเหมือนกับคนอื่นๆ? 

สิ่งนี้มันเห็นสถาบันชัดเจน สถาบันครอบครัวที่ไม่มีการฟัง สถาบันโรงเรียนที่ไม่มีการฟังเด็ก หรือสถาบันการปกครองของประเทศ มันเป็นประเทศที่โคตรไม่ empower คนให้มีตัวตน โตขึ้นมาเบสท์เห็นสิ่งเหล่านี้แฝงอยู่ในวัฒนธรรมของเรา มันไม่ใช่แค่เรื่องของครอบครัวแล้ว เบสต์เลยรู้สึกว่าสังคมมันคือเรื่องส่วนตัวของเบสท์ เพราะเราเห็นสิ่งนี้ connect กันกับมัน 

เราทำ School Town King เป็นเรื่องส่วนตัวนะ เพราะลึกๆ ไปที่สุดแล้วมันไม่ใช่ประเด็นเรื่องการศึกษา แต่มันเป็นวัฒนธรรมบางอย่างที่มันอยู่ในทุกหัวระแหง เราเลยรู้สึกว่าควรจะทำเรื่อง School Town King กับ Connext Klongtoey จากเรื่องส่วนตัว มันไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กคลองเตยก็ได้ แต่มนุษย์ทุกคน มัน connect กันใน someway somehow 

เราเลยเก็ตความรู้สึกบุ๊ค นนท์ได้ไม่ยาก เนื่องจากว่าเราก็เคยมีภาวะแบบนั้น ถึงแม้เราจะเป็นคนชนชั้นกลางก็ตาม เพราะยังไงเราก็ต้องไปโรงเรียนรัฐเหมือนกัน เราก็ต้องมีพ่อแม่ที่ไม่เคยฟังเราเหมือนกัน เรามี basic เหมือนกัน แต่เรื่องที่แตกต่างออกไป มันอาจจะเป็นบริบทของคลองเตย เรื่องของความเหลื่อมล้ำ ที่เราอาจจะไม่ได้ facing ตรงนั้นเยอะ

แต่ว่าความเป็นมนุษย์มันอยากถูกคนเห็น ไม่ได้อยากถูกใครลืมหรอก โดยเฉพาะระบบที่มันไม่อุ้มแบบนี้ สวัสดิการรัฐที่ทอดทิ้งคน มันทำให้คนเป็นผีได้ตลอดเวลาเลย 

เราเลยรู้สึกว่าอันนี้ล่ะมั้งที่เราจะรู้สึก connect ตั้งแต่วัยเด็ก พ่อเบสท์เป็น dictator มาก เบสท์ต้องทำอันนี้ๆ ไม่ทำตามจะถูกเล่นงาน โดนตี โดนด่า เราเกลียดอะไรที่เป็นแบบนี้มาก

แล้วแม่จะ…

แม่ก็จะเข้าใจ ดีที่แม่เป็นสายโอบอุ้ม สายฟูก แบบเออ ล้มมาแล้ว เออ ม้าเข้าใจเบสท์ เบสท์อยากทำอะไรเขาก็จะคอย empower เรา 

แล้ว soft power ของเบสท์คืออะไร

เอาจริง ตลกมาก เบสท์ไม่เคยคิดถึงคำนี้เลยเวลาทำงาน เบสท์ไม่เคยใช้คำนี้ และไม่รู้ด้วยว่าแปลว่าอะไร แต่พอได้ยินคนอื่นพูดก็คิดว่ามันเกี่ยวกับเราแน่ๆ แหละ แต่มันคงเป็นคำที่เอาไว้แทนอะไรบางอย่างเฉยๆ เพราะเบสท์เห็นด้วยว่าแต่ละคนมันมีความหมายของสิ่งนี้ไม่เหมือนกันเลย เราเลยใช้สิ่งนี้ในฐานะที่เข้าใจตรงกัน 

อันที่สอง เบสท์ไม่เคยคิดเลยว่ามันเป็นอะไรที่ซอฟต์ เพราะรู้สึกว่ามันเป็น power ที่รุนแรงมากนะ สื่อหรือสิ่งที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้ เพราะเราโตมาจากอันนั้น เบสท์จำได้ว่าตอนเด็กๆ เบสท์ฟังเพลงชาติ กราบๆ คือมันก็มีช่วงที่เราอินเนอะ แต่สักพักหนึ่งก็เริ่มแบบไม่ได้อะ เริ่มไปเจอโลกอีกใบที่มันตรงข้าม ทำให้เรามองเห็นว่า เฮ้ย เราไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นก็ได้ ตอนนั้นเปลี่ยนเลย มันทำให้เราตั้งคำถามกับทุกอย่างว่า เฮ้ย ทำไมเพื่อนเราคนนี้มันดูดยา แล้วเรามองว่าสิ่งนี้มันไม่ดีจริงๆ หรือเปล่า 

20 ปีที่เราเรียนในการศึกษาไทยมันเต็มไปด้วยแบบ brainwash มันเลยทำให้สมองคนที่ถูก feed เราเสพแต่อะไรอย่างนี้เยอะมากเลย แล้วมันทำให้เราเป็นคนอีกแบบหนึ่ง

เราเลยคิดว่าหน้าที่ของเราที่เราโตมากับสิ่งนั้น แล้วเราเห็นแย้งกับสิ่งนั้น เราสามารถทำ alternative way ในการที่จะพูดถึงอะไรบางอย่างที่เราเชื่อได้มั้ย มันไม่ใช่สิ่งที่เราเชื่ออย่างเดียวหรอก เราอาจจะอยู่กับฟังตรงข้ามกับสิ่งที่เราเชื่อ 

ทำไมเราถึงทำ School Town King เพราะว่าเบสท์พยายามยืนยันว่ามีเรื่องราว มีประเด็น มี voice บางอย่างที่มันขัดแย้งกับสิ่งที่เขาพูดอยู่ 

โปรเจกต์พวกนี้มันทำให้รู้ว่า หนึ่งคือการทำงานเหล่านั้นมันช่วยยืนยันในสิ่งที่เราคิด ที่เราอาจจะยังไม่รู้คำตอบตั้งแต่ต้นว่าเราไม่เชื่อสิ่งนั้นเพราะอะไร แต่เรารู้ว่าเราไม่เชื่อ 

ธีสิสจบของเบสท์ อาจารย์ทุกคนกำหนดธีมเลยว่า ให้เริ่มจากเรื่องที่คุณอยากจะพูดที่สุดตั้งแต่คุณเกิดมา อยากให้เริ่มจากเรื่องส่วนตัว จำได้ว่าธีสิสของปีเบสท์ทุกคนทำเรื่องส่วนตัวหมดเลย เช่น บางคนเพิ่งมาพูดว่า โดน sexual harassment เบสท์ว่าคลาสพวกนี้มัน breakthrough เพราะมันไม่มีการ judge กัน มันเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เราไม่เคยเห็นในระบบการศึกษาไทยเลย เบสท์เห็นเรื่องส่วนตัวของคนอื่นแล้วมันมากองกันหมด ทุกคนมีปมกันหมด เด็กไทยมีปมบางอย่างเยอะ เรื่องกดทับเหมือนๆ กันหมดเลย 

Soft Power ของเบสท์มันเลยเริ่มจากเรื่องที่เรารู้สึกจริงๆ หมดเลย แล้วก็ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องไกลหรือใกล้ แต่มันเป็นเลนส์ระยะเดียวกันหมด เพราะเรา connect กันได้ว่ามันเป็นเรื่อง influent เรามาจนถึงทุกวันนี้และ introduce คนอื่น 

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทั้ง Connext Klongtoey ทั้ง School Town King หรือนิรันดร์ราตรี ถ้าเราเรียกมันว่า Soft Power มันทำงานได้ดีกว่า Power อื่นๆ อย่างไร 

Soft power ของผมคือ หาจุดที่คนคอนเนคได้ ไม่ใช่การถ่มถุย ตัดสิน

เราพยายามหาอะไรที่เขาเชื่อมได้ ทุกโปรเจกต์เบสท์จะคิดนะว่า อะไรคือสิ่งที่คนดูจะเชื่อมได้ แต่เราจะแทรก underline ของมัน

ยกตัวอย่างเช่น School Town King  คือ ทุกคนเคยเป็นเด็ก ทุกคนเคยมีความฝัน คนจำนวนมากมีความฝัน แต่วันหนึ่งมันเป็นจริงไม่ได้เพราะว่าปัจจัยทางสังคม อันนี้คือคีย์ที่เบสท์คิดว่าหลายคนที่ไม่ได้อยู่ในคลองเตยหรือจน connect มันได้ เพราะความเป็นมนุษย์ทุกคน connect ได้หมด 

แต่ underline ของหนังเบสต์ก็จะแทรกในสิ่งที่เราทำให้เขา connect กับ logic ได้ว่าไอ้ที่มันเป็นแบบนี้มันเพราะอะไร ใช่ เบสท์ใช้วิธีการแบบนี้มั้งในการทำงานของเบสท์ที่พยายามจะแทรกซึม เหมือนกับน้ำ เราอาจจะเคยใส่น้ำแบบหนึ่งมานาน แต่เราจะค่อยๆ หยอดลงน้ำใหม่ๆ ลงไป 

จริงๆ แล้ว เบสต์ก็ใช้ Soft Power กับครอบครัว 

แล้วเบสท์คิดว่าวิธีการก็ต้อง soft ด้วย soft ในที่นี้อาจจะเป็น slow ด้วย เบสท์คิดว่าการเปลี่ยนแปลงมันคือการที่เราไม่เร็ว หมายความว่า เวลาพูดว่าเปลี่ยนและแปลง ภาพในหัวมันคือพลิกเปลี่ยน แต่เราคิดว่าการเปลี่ยนแปลงมันมาจากการ slow process มันคือการ digest ค่อยๆ ย่อย และหน้าที่ของเบสต์ในการทำงาน คือ การเติมสิ่งเหล่านี้ลงไป แล้วดูว่าคน reaction ยังไง ลองยื่นแบบนี้ดูมั้ย คนไม่เห็นด้วยเขาตีกลับมายังไง 

เบสท์คิดว่าหน้าที่การทำงาน ถ้าเราเรียกมันว่า soft power มันคือแบบนี้ วิธีการทำงานของเบสท์ก็จะไม่ได้บังคับ หรือแม้แต่ใน 6 ตุลา หรือ  School Town King  เราก็ยังไม่ได้รู้เรื่องทั้งหมดของเรื่องที่ทำด้วยซ้ำ คิดว่าในขณะที่เราพูดเรื่องนั้นเราก็ไม่รู้ การทำออกไปมันเป็นแค่ process of learning ของเบสท์เหมือนกัน คืองานจบแต่การเรียนรู้ของเบสท์ไม่จบ มันจะมีคนคิดแบบนี้กับหนังได้เหมือนกัน

เอาจริงๆ Soft Power มันอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างสบายไหมในสังคมแบบนี้

เบสท์ว่าไม่สบาย ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรม School Town King เบสท์ติดหนี้เกือบล้าน Connext Klongtoey ไม่มีใครสนับสนุน เบสท์ออกเงินตัวเองไปเป็นล้านเลย เพราะตอนนั้นทำงาน commercial ได้เงินมาแล้วเราก็มา invest ในสิ่งที่เราอยากทำ ช่วงทำหนังแรกๆ เบสท์เอาพอร์ตไปยื่นเป็น 10 ที่ไม่มีใครเอาเลย แต่เรารู้สึกว่าเรารอไม่ได้ ถ้าเราช้ากว่านี้เราอาจจะไม่ได้ทำ ก็เลยคุยกับจั๊วะ (หุ้นส่วน) ว่า เราต้อง invest สิ่งนี้ไป 

แต่ในเชิง business ก็ไม่ได้แปลว่าบ้าๆ ดุ่มๆ ก็ต้องคิดว่ามันต้องเป็นโมเดลบางอย่างเพื่อต่อยอดให้เราได้ด้วย อย่าง Connext Klongtoey ก็เป็น Social innovation รูปแบบหนึ่งเหมือนกัน เบสท์คิดว่าเป็นอย่างงั้น แล้วก็ทำ School Town King ออกมา 

เหมือนมันมี demand กับ supply เราต้องการคนมาทำสิ่งนี้เยอะ แต่ปัญหามันเยอะ เรื่องทุน เพราะจริงๆ สิ่งนี้มันต้องมาจากรัฐ เพราะมันมาจากภาษี เป็นก้อนเงินที่ใหญ่ที่สุดแล้ว แต่องค์กรที่เห็นความสำคัญของสิ่งนี้มีน้อย บางเรื่องทำได้กับไม่กี่องค์กร จะมีเลเวลของเราในการเลือกมีดอันไหน อันนี้แทงลึก อันนี้แทงเบา ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คือการ manage เพื่อให้องค์กรยัง carry อยู่ได้ 

แต่ถ้าเราจะหวังพึ่ง หรือตั้งความหวังกับ Soft Power คือ Soft Power ต้องอยู่ได้สบายก่อนมั้ย ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ไม่ห่วงปากท้องของคนที่เราดูแลอยู่ด้วย 

จริงๆ มันดีได้กว่านี้แหละ แต่เราก็ไม่รู้จะทำไงดี พยายามขอทุนจากต่างประเทศ เพราะว่าเราก็มีโปรไฟล์บางอย่างที่มันจะพอ connect พยายามมองหาเลนส์อื่นๆ ที่ไม่ได้รอแค่ในประเทศ 

เพราะฝรั่งก็เบื่อคอนเทนต์ตัวเองเหมือนกันนะ เวลาเราไปดูงานต่างประเทศเอาหนังไปเทศกาลก็จะพูดเรื่องนี้อีกแล้ว แต่ว่าเขาก็อยากจะหาประเด็นอื่นๆ ที่มันแอบหลืบอยู่ใน Southeast Asia เหมือนกัน ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นอีก way หนึ่งที่อาจจะทำให้เราได้พูดในประเด็นที่เราอยากพูดและมีชีวิตที่ดีกว่านี้ด้วย

ทำไมเวลาเราอยากจะทำ Soft Power สักเรื่อง ต้องรอต่างประเทศตลอด อย่างร่างทรงหรือหนังของเจ้ย (อภิชาติพงศ์)  มันเกิดจากต่างประเทศแล้วค่อยกลับมาในไทย 

ตอบยากมาก เบสท์ว่ามันน่าโมโหนะ อย่างงานสุพรรณหงส์ คนได้รางวัลต้องได้พูด แต่คนแบบเบสท์ สาย documentary  ไม่ได้พูดนะ ได้พูดแค่ดาราหรือผู้กำกับยอดเยี่ยมเท่านั้น วิธีการมองคนไม่เท่ากันมันแทรกอยู่ในวัฒนธรรมของทุกอย่าง หรืองบที่สร้างมาให้คนทำหนัง เบสต์มองว่าช่วงนี้เป็นช่วงเปราะบางของประเทศ เขาไม่อยากเอางบให้ผู้กำกับอินดี้ทำหรอก เพราะกลัวจะโดนเขาจะโดนด่า

ตอนนี้ผมว่าผู้กำกับกับหลายคนเลย เตรียมรอถ้ามีงบก็อยากจะพูดถึงประเด็นสังคมอยู่แล้วมันก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐอาจจะไม่ค่อยอยากสนับสนุนด้วย 

แล้วการที่ School Town King เข้า Netflix มันน่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง 

เบสท์คิดว่า เราทำหนังเรื่องนี้ด้วย goal ที่ว่าเราอยากพาหนังเรื่องนี้ไปให้ไกล มันไม่ง่ายในเชิงกระบวนการ กว่าจะได้เข้า Netflix มาได้ เบสท์ติดต่อไปเกือบปี แต่เบสท์ทำไปเพื่อเราจะทำยังไงให้ประเด็นนี้มันไปไกล 

เบสท์เชื่อว่าคนแบบบุ๊ค แบบนนท์ยังมีอีกเยอะ พวกเด็กบ้าน แล้วหนังค่ายใหญ่เขาไม่ค่อยทำหนังที่พูดถึงเสียงแบบนี้อยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าเราเป็นหนังที่พูดถึงเรื่องนี้ได้แล้วก็ควรจะใช้ เราก็อยู่กับมันประมาณ 2-3 ปีที่เราไปขลุกอยู่กับน้อง แล้วก็ควรจะพามันไปให้ไกล เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำได้คือพยายาม bring voice ให้มันไกล เบสท์ก็คิดว่า School Town King มันไม่ได้เป็นหนัง personal เหมือนนิรันดร์ราตรีหรือดูยาก แต่เราตั้งใจทำให้มันดูสนุกเพราะว่าเพื่อจะให้คน connect ประเด็นนี้ได้เยอะ

อันนี้ก็มีการวางแผนไว้เหมือนกันว่าทำให้มันเป็น hip hop ตัด trailer ให้สนุกมากขึ้น เพื่อจะให้คนเข้ามา involve ในเลเยอร์ของความเหลื่อมล้ำ แล้วถ้าไปดูจริงๆ มันมีความดาร์ก มันเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของประเทศ เราเลยอยากให้หนังเรื่องนี้เป็นความหวังที่เราไม่รู้จะได้มั้ย คือ ทำให้คนดู เด็กดูแล้วโตไปเป็นนักการเมืองหรือทำงานในองค์กรอะไรก็ตาม เขาไม่ลืมว่ามีคนเหล่านี้อยู่ ไม่ลืมว่ามีบุ๊ค นนท์ มีน้องวิว มีน้องที่อยู่ตรงริมทางรถไฟ คือเรื่องพวกนี้สื่อพูดมาเยอะแล้ว ยังไม่เคยมีใครเห็นชีวิตเขาจริงๆ เบสท์อยาก represent และดึงไปอยู่แพลตฟอร์ม Netflix เพื่อให้มันเข้าถึงคนทุกคน

พอเราทำหนัง ทำ documentary มันยากนะที่จะบอกว่าเรากำกับ หรือ A film By แต่จริงๆ มันเป็นเรื่องของเขา คือ เราก็พยายามที่สุดที่จะ respect ชีวิตของเขา เลยพยายามจะดีไซน์และปล่อยให้หนังทุกเรื่องมันเป็นไปตามโลกของเขา 

มองในทางกลับกัน soft power น่าจะมีผลกับคนรุ่นใหม่ แล้วก็เพราะเขาเองก็สิ้นหวังด้วยไหมกับระบบ หรือ Power แบบเดิม 

เบสท์มองว่าปัจจัยสังคมมีผลต่อ user สมมติว่า audience คือ user คือลูกค้าของเรา มันมีผลทำให้คนหลายคนต้องปรับตัวตามแล้วเบสท์คิดว่าสิ่งที่มันสั่งสม ไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ แต่คนรุ่นพ่อแม่เบสท์ก็รู้สึกเหมือนกันว่าเขาไม่โอเคแล้วจริงๆ

ตอนนี้เบสท์มองว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้หมายความว่าเด็กหรือคนอายุน้อยอย่างเดียวแล้ว แต่หมายถึงทุกคนที่มีแนวคิดที่อยากเห็นการพัฒนา เบสท์คิดว่ามันมีคนรู้สึกร่วมกับสิ่งนี้เยอะ แล้วสิ่งนี้มันเลยกลายเป็น New culture culture ของความต้องการที่จะไม่ยอมต่ออะไรบางอย่างที่ไม่ได้เกิดกับเด็กรุ่นเล็กอย่างเดียว แต่เกิดกับผู้ใหญ่ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนเบสท์กับแม่เขาเริ่มคิดถึงการย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศ เราจะมองว่ากลุ่มย้ายประเทศเป็นกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่อยากหาโอกาส คนรุ่นพ่อแม่ก็ต้องสนใจเรื่องนี้เหมือนกัน

ในแง่ที่ว่าเขาเป็นห่วงอนาคตคนของคนรุ่นต่อไป ลูกหลานเราเขาจะมีชีวิตยังไงในประเทศแบบนี้ ตัวเขาก็เป็นห่วงตัวเองก็คิดว่าฉันจะใช้ชีวิตบั้นปลายยังไงให้มีความสุข

แต่เบสท์ว่าสิ่งที่คน collective เหมือนกันตอนนี้คือความโกรธ และเบสต์คิดว่า Soft Power ในแบบไทยๆ ตอนนี้น่าจะเป็นอะไรแบบนั้น ทั้งมีความโกรธ ความไม่ยอม แต่พอมันถูกสื่อสารผ่าน pop culture มันเลยสนุก อันนี้คือ sense บางอย่างที่เบสท์ชอบ 

เพราะจริงๆ เรื่องการเมืองมันเป็นเรื่องใกล้ตัว และ soft power มันทำให้เราเห็นเชื่อมได้ว่าอะไรคือรากปัญหากับสิ่งที่มันเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เบสต์คิดว่า soft power มันทำหน้าที่แบบนั้น 

เพราะเราพูดตรงๆ ไม่ได้ใช่ไหม 

ด้วย อย่างเบสท์ทำหนังบางซีนเบสต์ต้องตัดออกนะ เพราะถ้าใส่ซีนนี้มีคดีแน่นอน เลยเป็นอย่างงี้มั้ง 

Writer
Avatar photo
tippimolk

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Writer
Avatar photo
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Photographer
Avatar photo
ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า

Related Posts

Related Posts