“ไม่ใช่เพื่อน นี่ครูผมเอง”: ทำในสิ่งที่เด็กสนใจ ‘สมการลับ’ ของห้องเรียนที่มีความสุข
“ไม่ใช่เพื่อน นี่ครูผมเอง”: ทำในสิ่งที่เด็กสนใจ ‘สมการลับ’ ของห้องเรียนที่มีความสุข
- จากเด็กที่เคยไม่ชอบเรียนเลข แต่โตขึ้นมาเป็นครูสอนเลข เพราะเจอครูผู้สอนใจดี
- เอาความสนใจของนักเรียนเป็นตัวตั้ง บวกกับเนื้อหาทางวิชาการ นี่คือสมการในการสอนอย่างมีความสุข
- ใบเบิกทางที่ทำให้กล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงห้องเรียนคือวิสัยทัศน์ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย นั่นคือ ‘Happiness School’ หรือ ‘โรงเรียนแห่งความสุขที่ยั่งยืน’
เกือบ 2 ปีเต็มที่นักเรียนไทยต้องเปลี่ยนวิถีการเรียนรู้ไปจากเดิม
การเรียนหนังสือผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สมาร์ทโฟนเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดเป็นปัญหาหลายด้านตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพกายที่พบว่าเด็กไทยจำนวนหนึ่งมีค่าสายตาที่สั้นก่อนกำหนด เนื่องจากการเพ่งสายตาจดจ่อหน้าจอที่นานเกินไป รวมถึงประเด็นสุขภาพใจก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เด็กไทยต้องเผชิญ
ผลสำรวจจากองค์การยูนิเซฟ และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เผยข้อมูลผลกระทบวิกฤติโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนที่อายุระหว่าง 15-19 ปี จำนวน 6,771 คน ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2564 พบว่าเด็กและเยาวชนกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ มีภาวะเครียด วิตกกังวล จากการเรียนออนไลน์และการขาดปฏิสัมพันธ์กับสังคม ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตในระยะยาว หากพวกเขายังตกอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้
ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจที่ ครูหลง-วีรยุทธ วิริยะศิริพจน์ ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ให้ความสำคัญและพยายามคลี่คลายด้วยการออกแบบห้องเรียนออนไลน์ในคาบคณิตศาสตร์ของตัวเองใหม่ ผ่านการคอสเพลย์ (cosplay) เป็นตัวละครต่างๆ ตามที่เด็กสนใจ
โดยหวังให้การแต่งตัวเป็นคาแรคเตอร์ต่างๆ เป็นทางเข้าเพื่อเชื่อมโยงสู่เนื้อหาด้านวิชาการที่ไม่น่าเบื่อ ทำให้ห้องเรียนกลับมามีความสุข และผู้เรียนรู้สึกสนุกอีกครั้ง แม้ครูและนักเรียนจะได้เจอกันแค่โลกออนไลน์
ไอเดียการสอนแบบนี้มาจากไหน
2-3 สัปดาห์หลังจากสอนออนไลน์ในเทอมนี้ เรารู้สึกว่า “เฮ้ย บรรยากาศมันเริ่มน่าเบื่อขึ้น” ทุกอย่างเริ่มเงียบลง เราพูดอยู่คนเดียว นักเรียนปิดไมค์ ผิดจากช่วงแรกที่เด็กๆ ยังคงตื่นเต้นอยู่ ประกอบกับช่วงนั้นมีคลิปไวรัล ใน TikTok ที่ครูแต่งตัวสนุกๆ ออกมาสอนภาษาอังกฤษ เราเห็นแล้วประทับใจการสอนแบบนั้นมาก เพราะมันทำให้คนสนใจได้ เราเลยคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้บรรยากาศนั้นเกิดขึ้นในคลาสของเราบ้าง
โดยพื้นฐานเราเป็นคนชอบลองทำอะไรใหม่ๆ อยู่แล้ว การสอนออนไลน์ของเราจึงเริ่มจากเปลี่ยนพื้นหลังเป็นรูปสนุกๆ ก่อน เพื่อให้เด็กรู้สึกสนใจ อาจเป็นตัวการ์ตูนที่กำลังดัง หรือชวนเด็กๆ เปิดเพลงบ้าง หรือไม่เราก็แสดงเป็นดีเจบ้าง เริ่มหยิบเอาหมวก เอาแว่นมาใส่ จนเด็กๆ เขาเริ่มสนุกและเปิดไมค์คุยกับเรา เช่น “วันนี้ครูเป็นตัวอะไร” “ครูเท่มากเลย” “ทำไมครูต้องแต่งเป็นตัวนี้” คำถามเหล่านี้เริ่มออกมาจากนักเรียนมากขึ้น จากเดิมที่เคยนั่งกันเงียบๆ มันค่อยๆ เห็นพัฒนาการว่านักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กับเรามากขึ้นนะ
และไม่ใช่พัฒนาแค่นักเรียน เราเองก็พัฒนาจากเดิมที่หยิบข้าวของในบ้านมาแต่งตัว ตอนนี้ก็ต้องเตรียมว่าคาบต่อไปเราจะแต่งตัวเป็นอะไรดีนะ จนมาถึงการแต่งเป็นคอสเพลย์อย่างที่เห็น
ครูมีวิธีเชื่อมโยงตัวละครที่คอสเพลย์ต่างๆ เข้ากับวิชาที่สอนอย่างไร
มีทั้งจุดที่เชื่อมโยงกับจุดที่เราอยากแต่งเป็นตัวนี้เราก็แต่ง
เช่น คาบนั้นเรากำลังจะสอนทฤษฎีบทของนักคณิตศาสตร์ท่านหนึ่ง เราคิดว่าจะเล่าประวัติ โดยการแต่งตัวให้เป็นนักคณิตศาสตร์ท่านนั้น พอไอเดียจุดประกายเราก็ลงมือไปเสิร์ชดูว่านักคณิตศาสตร์คนนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ลักษณะการพูดเป็นอย่างไร จากนั้นเราก็แต่งตัวตามเขา เด็กๆ เขาก็ฮือฮากันใหญ่
ตัวอย่างต่อมา คาบนั้นเราจะสอนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเร็วกับเวลา เผอิญว่าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนอยู่ติดกับรถไฟฟ้าพอดี เราเลยหยิบชุดช่างมาใส่ สมมุติตัวเองให้เป็นช่างซ่อมรถไฟฟ้าและอธิบายว่ารถไฟฟ้ามีอัตราเร็วเท่าไร ความเร็วเท่าไร เด็กๆ เขาก็เข้าใจได้ไวขึ้น แถมรู้สึกสนุกเพราะมันใกล้ตัวเขามากขึ้น
ส่วนชุดอื่นๆ เราก็แต่งตามความชอบ ความสนุก คาแรคเตอร์ไหนที่กำลังฮิตๆ หรือเป็นสิ่งที่เขาสนใจ เราก็หยิบขึ้นมาแต่งตาม
ครูมีวิธีดึงอินไซต์ หรือไปหาความชอบของเด็กอย่างไร รู้ได้อย่างไรว่าอะไรกำลังฮิต
เราใช้วิธีสังเกตจากโปรไฟล์ที่นักเรียนใช้ นักเรียนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เขาจะไม่ค่อยใช้รูปหน้าตัวเองขึ้นโปรไฟล์ เขามักจะใช้สิ่งที่เขาสนใจ เช่น ตัวการ์ตูน ดารา นักร้อง หรือมีมดังๆ จุดนี้มันสะท้อนความสนใจของเขาได้เต็มๆ แล้วทำไมเราไม่เอาจุดที่เขาสนใจมาเป็นส่วนช่วยในการเรียนการสอน มันน่าจะทำให้คาบเรียนนั้นสนุกขึ้นกว่าเดิมไหม นี่คือสิ่งที่เราคิด
ก่อนที่จะมาแต่งตัวตามตัวละครเพื่อสอนออนไลน์ ครูหลงสอนอย่างไร
ก็ปกติทั่วไป อาจจะมีการเอาสูตรคณิตศาสตร์มาแต่งเป็นเพลงบ้าง มีเต้นประกอบการสอนบ้าง โดยธรรมชาติเราชอบหาเทคนิคใหม่ๆ หาเรื่องเล่ามาเชื่อมโยงกับเนื้อหาอยู่แล้ว
อย่างที่รู้ว่าวิชาคณิตศาสตร์มันเป็นวิชาที่ยาก ถ้าใครไม่รักก็เกลียดไปเลย โจทย์สำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้เขาเอ็นจอยกับบทเรียนได้มากที่สุด ไม่รู้เด็กๆ เขาพูดเอาใจหรือเปล่า หลายๆ คนก็บอกว่าพอเราแต่งตัวคอสเพลย์เป็นคนนู้นคนนี้มาสอนคณิตศาสตร์ มันคือวิชาเลขที่สนุกที่สุดของเขา
ครูแต่งตัวคอสเพลย์ทุกครั้งที่สอนเลยหรือเปล่าหรือสลับกับสอนปกติ
ทุกคาบเลยครับ ซึ่งแต่ละคาบเราจะแต่งไม่ซ้ำกันเลย เพราะถ้าซ้ำเด็กเขาจะเบื่อ
ยิ่งเดี๋ยวนี้เด็กๆ เขามี IG กันหมด สมมุติเราสอนนักเรียนห้องนี้โดยแต่งเป็นตัวละครจากการ์ตูนเรื่องหนึ่ง ปรากฏว่านักเรียนเขาถ่ายรูปชุดเราลงไปแล้ว ทำให้เพื่อนๆ ห้องอื่นเห็น พอเราไปเจอเด็กที่เรียนทีหลัง เขาก็จะไม่เซอร์ไพรส์ ไม่ตื่นเต้นแล้ว เหมือนถูกสปอยล์ไปแล้ว
เราจึงต้องทำงานหนักมากขึ้น ในหนึ่งอาทิตย์เราจึงแต่งตัวไม่ซ้ำกันเลยแต่ละวัน แต่เราชอบนะ สนุกทุกวันกับการเดินหาของทั่วบ้านเพื่อเอามาแต่งตัวสอนหนังสือ ยกตัวอย่าง ที่บ้านเราไม้ม็อบถูพื้นที่ยังไม่ได้ใช้ เราก็เอามาพ่นสีดำทำเป็นผมทรงเดรดล็อค สนุกมาก! รวมๆ แล้วที่ผ่านมาก็แต่งไปแล้ว 30 คาแรคเตอร์โดยที่ไม่ซ้ำเลย
คาแรคเตอร์ไหนที่ครูแต่งแล้วชอบที่สุด
เราชอบ โจเซฟ โจสตาร์ (Joseph Joestar) จากเรื่องโจโจ้ (Jojo) เหตุผลคือเพราะเราประดิษฐ์พร็อพเองทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหมวกเอามาตัด หากระดาษสีมาแปะ หาฝาขวดน้ำมาติดตกแต่ง แถมต้องแต่งหน้า วาดหน้าเติมรายละเอียดเยอะไปหมด ใช้เวลานานมาก
แต่พอสอนเสร็จแล้วรู้สึกชอบตัวเองมาก เด็กๆ เองเขาก็ชอบ เพราะเขาเห็นว่าเราลงทุนไปเยอะ มันก็ช่วยสร้างเรื่องคุยระหว่างครูและนักเรียนเพิ่มมากขึ้น บางคนไม่รู้จักตัวละครที่เราหยิบมา เขาก็เปิดไมค์ถามเลยนะ จากปกติที่นั่งกันเงียบๆ มันได้ผลมาก ทำให้เขากล้าคุยกับเรามากขึ้น
แล้วคาแรคเตอร์ไหนที่เด็กๆ ชอบที่สุด
น่าจะเป็นลุคพี่เสกโลโซ เราเองยังตกใจเองเลยพอแต่งออกมา “เฮ้ย เราก็เหมือนพี่เสกเหมือนกันนะ”
มันเกิดมาจากเด็กๆ เขาชอบพี่เสกกัน เราเลยไปสั่งซื้อวิกทรงผมพี่เสกมาเพื่อการสอนครั้งนี้ ซึ่งผลตอบรับก็ดี เผอิญว่าคลาสนั้นมีนักเรียนกำลังจะเดินทางไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศพอดี เราจึงสวมบทบาทเป็นพี่เสกร้องเพลงและเล่นกีตาร์เพลง ‘เราและนาย’ ให้กับนักเรียนคนนั้น คือเราเข้าใจนะ การที่เด็กๆ จะเดินทางไปเรียนไกลๆ เขาน่าจะมีโมเมนต์ที่คิดถึงเพื่อน เราเลยพยายามส่งต่อความรู้สึกเหล่านั้นให้พวกเขา ซึ่งก็โอเคเลย
เคยรู้สึกเหนื่อยบ้างไหมกับการลงทุนสอนขนาดนี้
ก็มีช่วงเหนื่อยนะ แต่เป็นความรู้สึกสนุกมากกว่า
เพราะเราเองก็ชอบทำอะไรแบบนี้อยู่แล้ว ถ้าเราทำแล้วเด็กไม่ชอบ เด็กเบื่อ หรือไม่อยากเรียนกับเรา เราก็คงหยุดแต่งตัวไปแล้ว คงไม่แต่งถึง 30 ลุคแน่นอน แต่เด็กส่วนใหญ่เขาโอเค มันทำให้หายเหนื่อยไปเลย เรานึกถึงสิ่งที่ได้กลับมามากกว่า แค่เราเห็นนักเรียนมีความสุขในคาบเรียนก็ดีใจแล้ว
พอมีโควิด-19 ครูทั่วประเทศต้องปรับตัวมาสอนออนไลน์ ครูมีช่วงซัฟเฟอร์บ้างไหม
ช่วงแรกเลยนะ เราคิดว่ามันต้องสนุกแน่ๆ เพราะนี่คือครั้งแรกที่เราไม่ต้องไปโรงเรียนแต่ยังสอนหนังสือได้ แต่ก็แค่ช่วงแรก เพราะหลังจากนั้นเพียงไม่นานก็รู้สึกไม่ต่างจากครูท่านอื่นๆ เราพบว่านักเรียนเริ่มไม่โอเคกับการเรียนออนไลน์ เรียนออนไลน์มันทำให้เขาเรียนไม่รู้เรื่อง เราเองก็กังวลขึ้นเพราะเหมือนพูดอยู่คนเดียว บรรยากาศการเรียนก็เปลี่ยนไปมาก
เราเข้าใจนักเรียนเลยครับ เพราะการเรียนออนไลน์มันเครียด เด็กๆ ไม่ได้ออกไปไหนเลย ไม่ได้เจอเพื่อน ยิ่งเขามาบ่นว่าเครียด เบื่อ เราฟังก็รู้สึกแย่ไปด้วย ดังนั้นโจทย์ของเราจึงเป็นการเปลี่ยนให้ห้องเรียนมันน่าสนใจขึ้น เพราะอย่างน้อยๆ เขาก็มาหัวเราะในคลาสเรา เราก็โอเคแล้ว
การปรับเปลี่ยนห้องเรียนของครูหลงเป็นส่วนหนึ่งในนโยบาย ‘Happiness School’ ของโรงเรียนด้วยหรือเปล่า
วิสัยทัศน์ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ คือการเป็นโรงเรียนแห่งความสุขที่ยั่งยืน ต้องขอขอบคุณผู้บริหารด้วย เพราะการมีวิสัยทัศน์แบบนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ครูกล้าที่จะเปลี่ยนห้องเรียนให้นักเรียนมีความสุข ถ้าเราไปอยู่ในโรงเรียนอื่นที่ไม่ได้ให้ความสำคัญหรือไม่ได้มีนโยบายแบบนี้ เราอาจจะไม่กล้าลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนี้ก็ได้ พูดได้ว่าเพราะแนวคิดของโรงเรียนที่สอดคล้องกับตัวครู เราจึงสบายใจและสนุกที่จะทำมัน
ครูคิดว่าความสุขจากการเรียนของเด็กๆ ยุคนี้คืออะไร
เรามองว่าคือการที่นักเรียนเขาได้มีพื้นที่เป็นตัวเอง และได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำ เราอยากเป็นหนึ่งเสียงที่อยากให้ทุกคนฟังเสียงเด็กๆ เขาบ้าง ฟังความต้องการของเขา ฟังสิ่งที่เขาสนใจ ฟังตัวตนของเขา แน่นอนว่าความสุขของเด็กแต่ละคนก็มีที่มาต่างกัน ตัวเราเองมีความสุขกับงานที่ทำ และทำมันออกมาอย่างมีความสุข และเราคิดว่าพลังงานแบบนี้น่าจะส่งไปถึงตัวนักเรียนที่เราสอนได้บ้างไม่มากก็น้อย
สังคมมักมีกรอบหรือภาพจำบทบาทของครูว่า ‘ครู’ ต้องเรียบร้อย ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีตามขนบ ครูหลงคิดอย่างไร
เราก็คิดนะว่าเราอาจจะเป็นครูที่แตกต่าง แต่เป้าหมายของการเป็นครูคืออะไร
การเป็นครูคือการที่ถูกสังคมยอมรับ ครูต้องถูกรีเช็คจากสังคมว่าครูต้องเป็นแบบนี้เท่านั้นหรือเปล่า หรือครูคือคนที่ทำเพื่อนักเรียน ตกลงแล้วครูคืออะไร ทำงานเพื่อใคร นี่คือสิ่งที่เราตั้งคำถาม
ถ้าเราแคร์ว่าอาชีพครูต้องเรียบร้อย ต้องอยู่ในร่องรอยแบบเดิมตามที่เคยเป็นมา เอาเข้าจริงแนวคิดนั้นไม่ผิดเลยครับ แต่ถ้าครูเป็นแบบนั้นแต่นักเรียนไม่สนุกกับการเรียนหนังสือ เราไม่เป็นดีกว่า เพราะหัวใจสำคัญเรามองว่ามันคือการทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้นะ
ทำไมครูหลงถึงตัดสินใจมาเป็นครู
ย้อนไปตั้งแต่เด็กๆ เราเป็นคนชอบสอนหนังสือมาก
เรามีน้อง 2 คน เรามักจะจับน้องมานั่งเรียนกับเรา โดยที่เรารับบทเป็นครูที่เขียนฝาผนังบ้าน พอโตขึ้นมา หลังเลิกเรียนเราจะชอบไปยืนเขียนกระดานแล้วพูดคนเดียว เราเป็นคนแปลกๆ อะครับ คือชอบความรู้สึกที่เราเขียนกระดานมากๆ เราไม่แน่ใจว่าเราอยากทำอาชีพครูหรือเปล่า แต่เราอยากเป็นผู้ที่ให้ความรู้
ซึ่งแต่ก่อนเราไม่ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์เลยด้วยซ้ำ แต่ดันไปเจอครูคนหนึ่งที่เขาสอนคณิตศาสตร์ เราว่าครูคนนี้เจ๋งมาก! เพราะวันนั้นครูเขาแอบซื้อกล้วยแขกมาเลี้ยงนักเรียนในห้อง มันทำให้เรารู้สึกชอบครูคนนี้ และมันทำให้เราอยากเรียนวิชาคณิตศาสตร์ที่ครูคนนี้สอน พอย้อนกลับมาดูตัวเอง เราเข้าใจเลยว่าการเรียนคณิตศาสตร์มันทรมานและเราเองเป็นคนที่เคยเป็นเด็กที่ไม่ชอบเรียนเลขมาก่อน แต่เพราะครูคนนั้นที่เขาดูสนุกๆ เราจึงเริ่มเปิดใจและชอบเรียนเลขเพิ่มขึ้น พอวันนี้เราได้เข้ามาเป็นครูแล้วเราจึงอยากจะเป็นครูแบบนั้นบ้าง
ดังนั้นเราจึงมองว่าเหตุผลที่เด็กคนหนึ่งจะชอบเรียนวิชานี้หรือไม่ ‘ครู’ คือองค์ประกอบสำคัญที่พวกเขาจะใช้ตัดสินใจ
สอนเด็กสมัยนี้ยากไหม
เด็กแต่ละวัยก็มีความแตกต่างกัน เราเคยสอนทั้งเด็ก ม.ต้น และ ม.ปลาย เขาก็จะชอบบุคลิกของครูคนละแบบ
สอนเด็ก ม.ต้น อาจจะต้องใช้ลูกล่อลูกชน แต่เด็ก ม.ปลาย เขาจะชอบครูที่มีเหตุผล ถามว่าดื้อซนไหม มันเป็นธรรมชาติตามวัยเขาทั้งนั้น แรกๆ เราก็คุมชั้นเรียนไม่ได้ ด้วยเราเป็นครูใจดี เด็กก็ไม่ฟัง แต่พอสอนไปนานๆ ประสบการณ์ก็จะช่วยบอกว่านอกจากความใจดีแล้ว เราต้องมีเทคนิค มีวิธีการพูด มีบุคลิกบางอย่างที่แลกเปลี่ยนกับเขา เพื่อทำให้ห้องเรียนมันดีที่สุด
30 คาแรคเตอร์ที่ผ่านมา นอกจากทำให้เด็กไว้ใจ ส่งผลต่ออะไรอีกบ้าง
แน่นอนว่าเกิดความไว้ใจระหว่างครูและนักเรียนมากขึ้น เด็กๆ กล้าที่จะเปิดไมค์คุยกับเรา ซึ่งการที่เขาเปิดกล้อง เปิดไมค์สะท้อนว่าคาบเรียนนั้นนักเรียนเขาอยู่กับเรานะ
ปัญหาอย่างหนึ่งของการสอนออนไลน์คือเราไม่รู้หรอกว่านักเรียนเขาอยู่กับเราไหม เขาอาจจะอยู่หน้าจอแต่โฟกัสกับอย่างอื่น ครูก็พูดไปเถอะ พูดอยู่คนเดียว แต่พอเด็กเปิดไมค์และตอบโต้เรา การเรียนการสอนหรือการทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามมันก็จะโฟลว์ไปตามขั้นตอนของมัน เราสามารถรีเช็คเขาได้ สามารถมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น เวลาระดมความคิดเห็นหรือให้เขาช่วยตอบคำถามมันก็จะเกิดขึ้นได้จริง
ความไว้ใจที่นักเรียนมีต่อครู ทำให้บทบาทครูหลงเปลี่ยนไปไหม มีเรื่องอะไรบ้างที่ครูกลายเป็นที่ปรึกษาให้เขา
มีครับ เด็กๆ หลายคนด้วยช่วงวัยของเขาที่หลังจากเจอเรื่องราวต่างๆ แล้วเขาอยากจะได้ที่ปรึกษา เขาก็เลือกจะมาคุยกับเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนต่อ ถ้าอยากเข้าคณะนี้ต้องเริ่มต้นยังไงบ้างหรือต้องเน้นทำข้อสอบเลขตรงไหนเพิ่มไหม คำถามต่างๆ เหล่านี้เด็กก็จะมาคุยกับเรา
รวมถึงเรื่องส่วนตัวอื่นๆ ด้วย เช่น เขารู้สึกเศร้าเพราะมีปัญหากับแฟนหรือครอบครัว ความไว้ใจที่เขามีให้เราจะทำให้เขากล้าเข้ามาปรึกษาเรามากขึ้น มองเราเหมือนเป็นพี่ชายของเขา เพื่อนของเขา เป็นผู้ใหญ่ที่เป็นพวกเดียวกับเขา ที่สามารถรับฟังเรื่องราวต่างๆ และนำทางเขาได้ในวันที่เขาไม่รู้จะหันไปหาใคร
แต่ที่สำคัญเราเองต้องเก็บความลับของเขา เพื่อเคารพความไว้ใจนั้น ไม่เอาเรื่องไปพูดต่อ นี่คือข้อดีอย่างหนึ่งจากการที่เรา (อาจจะ) ไม่ได้มีบุคลิกเหมือนครูแบบเดิมๆ
พอปรับเปลี่ยนวิธีการสอน ผู้ปกครองส่วนใหญ่ว่าอย่างไรบ้าง
เอาเข้าจริงเราไม่กล้าที่จะอ่านฟีดแบ็คที่ผู้ปกครองมาชื่นชมเราเสียเท่าไหร่ เราค่อนข้างเขินที่จะอ่านมัน แต่ก็พอทราบว่าผู้ปกครองเขายินดีและชื่นชมความตั้งใจของเรา ผู้ปกครองหลายท่านบอกว่าลูกรอที่จะเรียนกับเราหรือลูกชอบเรียนคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้น เราก็ดีใจครับ (หัวเราะ)
เราเคยได้ยินเสียงผู้ปกครองดังออกมาจากคลาสออนไลน์เหมือนกันนะ เขาอาจจะมาแอบส่องๆ ว่าลูกกำลังเรียนอะไรอยู่ เป็นเสียงหัวเราะที่เล็ดลอดเข้ามาแล้วถามว่าทำไมเพื่อนแต่งตัวแบบนี้ แต่อยากจะบอกว่านั่นไม่ใช่เพื่อนครับนั่นคือครูเอง (หัวเราะ)
ถ้าผู้ปกครองอยากนำเทคนิคหรือวิธีการสอนของครูหลง ไปปรับใช้กับลูกบ้าง ต้องเริ่มอย่างไร
สิ่งที่อยากจะสะท้อนกลับไปที่สุดคือ เราอยากให้ผู้ปกครองฟังว่าลูกมีความชอบอะไรมากกว่า
ไม่จำเป็นเลยว่าผู้ปกครองหรือครูท่านอื่นๆ จะต้องแต่งตัวคอสเพลย์ตามเรา อย่างที่บอกไปว่าการที่สิ่งที่เราทำมันเวิร์ค เพราะส่วนหนึ่งเราทำตามความชอบหรือความสนใจของเด็ก ดังนั้นถ้าอยากจะเริ่มสอนลูกหรือหาวิธีคุยเรื่องเรียนกับเขา พ่อแม่อาจจะเริ่มกลับมามองว่าลูกของเราชอบอะไรมากกว่า
เราเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนมีเทคนิคเยอะแยะในการเข้าหาลูก แต่การเปิดใจรับฟังเสียงของเขาจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี พอเรารู้แล้วว่าลูกชอบอะไรก็นำมาเชื่อมโยงกับเนื้อหาที่เราอยากจะเพิ่มให้เขาได้ เช่น ลูกชอบดูการ์ตูนเรื่องนี้มากเลย เราสังเกตแล้วว่าเขาสนใจการ์ตูนและตัวละครตัวนี้ เราก็ค่อยๆ ใช้สิ่งนี้เป็นทางเข้าเพื่อดึงเขากลับมาหาเนื้อหาทางวิชาการก็ได้
หลายบ้านอาจกำลังเจอปัญหา ‘ทำยังไงดีลูกบวกลบเลขไม่ได้สักที’ ครูหลงมีวิธีแนะนำอย่างไรไหม
ก็ต้องถามก่อนว่าทำไมลูกถึงบวกเลขไม่ได้ พ่อแม่รู้ได้ยังไงว่าลูกบวกเลขไม่ได้
คำว่า ‘บวกเลขไม่ได้’ ในความหมายของพ่อแม่หมายความอย่างไร หมายถึงเขาทำโจทย์ในกระดาษไม่ได้หรือเปล่า ถ้าเราหยิบส้มมา 2 ลูก หยิบแอปเปิลมา 3 ลูก แล้วถามเขาว่ามีผลไม้ทั้งหมดกี่ผล ถ้าเขาตอบว่า 5 ผล นี่คือเขาบวกเลขได้นะครับ
จริงๆ แล้วเด็กทุกคนรู้กระบวนการทางคณิตศาสตร์อยู่แล้ว แต่ด้วยโจทย์บางอย่างอาจจะทำให้เขาไม่รู้วิธีการแก้ปัญหาเพราะมันไกลตัวเขา พ่อแม่อาจจะเริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัวเขาก็ได้ ยิ่งเด็กเล็กๆ สามารถทำได้เลย ฝึกให้เขานับขนมบนโต๊ะอาหาร ฝึกนับตัวละครจากการ์ตูนที่เขาชอบ ค่อยๆ เอาเนื้อหาทางวิชาการไปแทรกกับสิ่งที่เขาสนใจ อย่าเพิ่งไปดึงเขาออกมาจากสิ่งที่เขาชอบ บังคับเขาไปอ่านหนังสือ ไปทำการบ้าน ยิ่งเป็นสิ่งที่เขาชอบ เขาอาจจะเกลียดวิธีการแบบนี้ไปเลยก็ได้ เราว่าพ่อแม่อาจจะต้องทำงานหนักและใจเย็นๆ กับลูกนิดนึง
ภาระหน้าที่ของครูไทย เป็นอุปสรรคในการสร้างสรรค์วิธีการสอนใหม่ๆ ไหม
เราก็พูดไม่ได้เต็มปาก เพราะโรงเรียนในสังกัดที่เราอยู่กำหนดหน้าที่และบทบาทของครูไว้ชัดเจน ครูไม่ได้ไปทำงานธุรการ ครูไม่ต้องไปทำงานการเงิน ครูเป็นผู้สอนหนังสือเพียงอย่างเดียว
แต่แน่นอนเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่างานอื่นๆ งานหยุมหยิมต่างๆ ก็มีผลทำให้เบียดบังเวลาการออกแบบการสอนของครู แทนที่ครูจะได้ใช้เวลาตรงนี้อย่างเต็มที่ก็ต้องทำงานอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเรียนการสอน
เราว่าจุดนี้ทุกภาคส่วนต้องให้กำลังใจครูและคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการศึกษา เพราะ ‘ครู’ คือคนหน้าด่านของทุกอย่าง ไหนจะต้องรับคำสั่งจากผู้บริหาร ไหนจะต้องเป็นหน้าด่านให้ผู้ปกครอง ไหนจะต้องดูแลนักเรียน ครูจึงเป็นคนที่เหนื่อยที่สุด จุดนี้ต้องให้กำลังใจครูเยอะๆ ถ้ามีแนวทางที่ดีก็อยากให้ช่วยกันแนะนำ
ที่สำคัญหากเรื่องไหนที่มันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย และไม่ได้เกี่ยวกับการเรียนการสอนหรือเกี่ยวข้องกับบทบาทของครู ก็อาจจะต้องลดภาระตรงนั้นลง เพื่อให้ครูได้มีเวลาทุ่มเทและสร้างสรรค์วิธีการใหม่ๆ ในการสอนให้นักเรียน
สำหรับคาแรคเตอร์ต้อนรับเปิดเทอมหน้า ครูหลงอยากแต่งเป็นอะไร
เรามีความกังวลใจอยู่นิดนึง เพราะตอนนี้นักเรียนเริ่มคาดหวัง ผู้ปกครองก็เริ่มคาดหวัง ครูท่านอื่นก็เริ่มคาดหวัง ทุกคนเริ่มจับตามองในตัวเรา เทอมต่อไปยอมรับว่ากดดัน (หัวเราะ) แต่เราก็แอบเชื่อว่าเทอมต่อไปน่าจะได้กลับไปสอนที่โรงเรียนแล้ว เราอาจจะรอดตายนะ ซึ่งโจทย์ต่อไปอาจจะไปคิดว่า เราจะออกแบบการสอนในห้องเรียนอย่างไรให้ยังคงสนุกเหมือนในออนไลน์
แต่ถ้าถามความฝันสูงสุดว่าตัวละครเรื่องไหนที่อยากแต่งที่สุด ก็คือ ‘ดราก้อนบอล’ เพราะเป็นตัวละครที่ชอบมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ล่าสุดนักเรียนเขาอยากให้เราแต่งเป็น ลิซ่า BLACKPINK ซึ่งโชคดีที่ปิดเทอมก่อน เพราะมันอาจจะไม่รอด (หัวเราะ)
ความสุขที่ฟินที่สุดในการสอนออนไลน์ของครูหลงคืออะไร
ฟินสุดๆ ของเราสำหรับการแต่งตัวสอนออนไลน์คือการเปิดกล้องมาแล้วพูดว่า “สวัสดีคร้าบบบบนักเรียน” แล้วเด็กๆ ทุกคนเขาเปิดไมค์พร้อมกันแล้วเฮไปกับเรา ตอบกลับมาว่า “ครูเท่โว้ย” นี่คือโมเมนต์ที่ฟินที่สุดนะสำหรับเรา
ส่วนโมเมนต์ที่ฟินสุดสำหรับการเป็นครู คือการได้เห็นนักเรียนได้เรียนหรือได้เป็นในสิ่งที่เขาใฝ่ฝัน เหมือนเราได้เห็นเด็กคนหนึ่งเติบโต จากเด็กที่เขาฝันว่าอยากเข้าอยากเรียนในคณะนี้ สนใจคณะนี้ แล้ววันหนึ่งเขาได้ทำสิ่งนั้นจริงๆ แล้วเขากลับมาเล่าให้เราฟัง มาขอบคุณเรา บอกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาได้ไปอยู่ในจุดที่เขาฝัน มันมีความสุขมากๆ จนอธิบายไม่ถูกเลยครับ
Writer
รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
พยายามฝึกปรือและคลุกอยู่กับผู้คนในวงการการศึกษา เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป