สุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้าน : ปฏิบัติการทางศิลปะ

สุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้าน : ปฏิบัติการทางศิลปะ

  • ย้อนไปเมื่อ 123 ปีก่อน ในวันที่ 4 เดือน 4 ปี 2444 มีเหตุการณ์โศกนาฏกรรมซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คนในอีสาน นั่นคือการปราบปรามกบฏผีบุญ หรือ ผู้มีบุญ ขบวนการชาวลาวบางส่วนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐสยาม แต่เรื่องราวการปราบปรามในครั้งนั้นกลับไม่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์กระแสหลักและเป็นเพียงเรื่องเล่าปากต่อปาก
  • จนกระทั่ง 119 ปีให้หลังที่กลุ่ม Ubon Agenda นำโดย ถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์ศิลปะและนักปฏิบัติการทางศิลปะผู้ล่วงลับ ได้จัดนิทรรศการ Ubon Agenda : วาระ วาริน 2020 ขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ทางการพูดคุยเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และพื้นที่สำหรับสุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้าน โดยการยกเอาเรื่องราวของกบฏผีบุญขึ้นมาเป็นวาระแรกของการพูดคุย
  • นี่คือบทสัมภาษณ์ว่าด้วยว่าด้วยการปฏิบัติการทางศิลปะเพื่อชำระล้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ถูกกดทับ การจัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อเขย่าช่วงชั้นของนิยาม ‘ศิลปะ’ และการสร้างพื้นที่ศิลปะในแบบที่ไม่ได้ถูกจำกัดไว้ด้วยกรอบศิลปะกระแสหลักอันคับแคบ เพื่อจะบอกว่าใคร ๆ ก็ปฏิบัติการทางศิลปะได้  

 วันที่ 4 เดือน 4 ปี 2444 เสียงปืนใหญ่นัดแรกดังขึ้นในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือโนนโพธิ์ บ้านสะพือ จังหวัดอุบลราชธานี ในเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มต่อต้านอำนาจรัฐสยามอย่าง ‘กบฏผีบุญ’ ตามชื่อที่รัฐสยามมอบให้ หรือ ‘ผู้มีบุญ’ ตามชื่อที่พวกเขาเรียกตัวเอง เหตุการณ์นั้นมีผู้เสียชีวิตกว่า 300 ชีวิตซึ่งส่วนใหญ่คือฝั่งของผู้มีบุญ แต่เรื่องราวของผู้มีบุญกลับลบเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์หลัก และกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าปากต่อปากราวกับตำนานที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง

ถนอม ชาภักดี รูปจากเฟสบุค Thanom Chapakdee

จน 119 ปีให้หลังที่ ถนอม ชาภักดี อดีตอาจารย์สาขาวิชาศิลปะจินตทัศน์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นักวิจารณ์ศิลปะ และนักปฏิบัติการทางศิลปะ ได้จัดนิทรรศการ Ubon Agenda : วาระวาริน 2020 ขึ้นที่โรงเรียนตั้งใจอนุกูลศึกษา โรงเรียนร้างในเมืองอุบล ความตั้งใจของเขาและนักปฏิบัติการทางศิลปะคนอื่น ๆ คือการ ‘เปิดพื้นที่ทางประวัติศาสตร์’ เพื่อให้เรื่องราวของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง เริ่มจากเรื่องราวของ ‘กบฏผู้มีบุญ’ ก่อนที่เขาจะนำศิลปิน นักวิชาการ และผู้ที่สนใจ ลงพื้นที่จริงที่หมู่บ้านสะพือเพื่อ ‘เปิดหน้าดิน’ และนำประวัติศาสตร์ที่ถูกกลบทับขึ้นมา ‘ชำระ’ เมื่อวันที่ 3-4 เมษายน 2565

นราสิทธิ์ วงษ์ประเสริฐ

“พูดแล้วเขิน ขำตัวเอง” นราสิทธิ์ วงษ์ประเสริฐ หนึ่งในนักปฏิบัติการทางศิลปะกล่าวเขิน ๆ เมื่อเราถามถึงหน้าที่ของเขาใน Ubon Agenda

นราสิทธิ์เป็นอาจารย์คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และเป็นผู้ประสานงานของกลุ่ม Ubon Agenda แต่นอกเหนือจากนั้นเขายังทำการแสดง performance art ในกิจกรรมต่าง ๆ ของ Ubon Agenda ด้วย หากใครพอจะได้อ่านเรื่องราวและเคยเห็นภาพกิจกรรมของพวกเขามาบ้าง คงจะคุ้นตากับภาพการแสดงที่ผู้แสดงทาหน้าและตัวด้วยสีขาว นุ่งผ้าแดง และถูกจองจำด้วยขื่อคา นราสิทธิ์คือหนึ่งในนักแสดงกลุ่มนั้น

©Ubdon Agenda

แม้จะสนใจกิจกรรมทางการเมืองและศิลปะมาตลอด แต่ก็เพราะกิจกรรมของ Ubon Agenda นี่เองที่ทำให้เขาเริ่มมีส่วนร่วมมากกว่าการทำงานเบื้องหลัง เขาเริ่มทำการแสดงครั้งแรกกับกลุ่มราษฏรัมส์ในการรำลึกการปราบปรามผู้มีบุญเมื่อปี 2565 ที่ทุ่งศรีเมืองก่อนจะมุ่งหน้าไปสะพานแม่น้ำมูล บริเวณอนุสาวรีย์กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ซึ่งเป็นผู้นำในการปราบปรามกลุ่มผู้มีบุญ“

อาจารย์ถนอมแกเอาพี่คาเงะ (ธีระวัฒน์ มุลวิไล) ซึ่งเป็นสายการแสดงชื่อดังของไทยมาด้วยแล้วก็จับเข้า workshop ผมก็เลยจับพลัดจับผลูได้ทำตอนนั้นแหละ เมื่อก่อนเวลามีกิจกรรมต่าง ๆ ในอุบลฯ ผมเป็นคนพูดบนเวทีไม่เก่งเลยไปเป็นแรงงานเฉย ๆ แต่พอเริ่มทำมันรู้สึกว่าเราสามารถสื่อสารได้โดยที่เราไม่ต้องใช้คำพูด เราเลยเริ่มทำจากนั้นมาเรื่อย ๆ”

วรเทพ อรรคบุตร

อีกคนที่มาร่วมพูดคุยกับเราคือ วรเทพ อรรคบุตร ภัณฑารักษ์และนักวิชาการอิสระทางศิลปะ ที่นิยามตัวเองว่าหาก Ubon Agenda คือวอลเลย์บอล เขาก็คือผู้เล่นตัวลิเบอโรที่ทำได้ทุกอย่าง

วรเทพเริ่มจากการได้เข้าชม Khon Kaen Manifesto ก่อนจะฟังการเสวนาเรื่องพื้นที่ของถนอม ชาภักดี และได้รับหน้าที่ทำวิจัยแทนหลังจากที่เขาเสียชีวิต จนกระทั่งได้มามีส่วนร่วมกับ Ubon Agenda ในที่สุด

“ถ้าวอลเลย์บอลก็เป็นตัวลิเบอโร่ ทำได้ทุกอย่าง แต่ทำให้มันเป็นของส่วนกลาง ส่วนรวม และทำยังไงก็ได้ให้เราไม่โหลดเพราะเราทำงานวิจัยกับเน้นวิธีวิทยา อาจารย์ถนอมพูดไว้ว่ามันคือวิธีวิทยาแบบส่วนร่วม หรือ collective methodology เราต้องมีจังหวะจะโคนในการใช้ชีวิตที่สอดคล้องไปกับสิ่งที่ทำ และในเชิงของการทำงานภัณฑารักษ์ เรามองว่ามันเป็นการทำงานนอกที่ตั้งเดิมของศิลปะ” 

เป็ด-ยุทธนา

“ผม เป็ด-ยุทธนา เจ้าของร้านหนังสือส่งสาร” สมาชิก Ubon Agenda ผู้เป็นเจ้าของสถานที่ที่เราใช้พูดคุยในวันนั้นแนะนำตัวขึ้น เป็ด-ยุทธนา ดาวเจริญ ยอมรับว่าเขาไม่ได้มีความรู้ลึกซึ้งเรื่องวงการศิลปะมากนัก แต่เขาก็ยินดีที่จะให้ ‘ร้านส่งสาร’ ร้านกาแฟเล็ก ๆ ของเขาในเมืองอุบลฯ เป็นสถานที่จัดกิจกรรมหรือ ‘ส่งต่อ’ อุดมการณ์ ความคิด และความเชื่อ

“จริง ๆ Ubon Agenda ในความหมายของผมมันเป็นผู้คนของที่นี่ ร้านของผมจำเป็นต้องมีลูกค้า ในทางเดียวกัน การที่มีคนเข้ามาเล่นดนตรี เข้ามาดูงานศิลปะ เข้ามาทำกิจกรรม มันก็ทำให้คนที่นี่ได้ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน สิ่งนี้มันจะทำให้ธุรกิจร้านยั่งยืนไปด้วย ทำให้วิธีคิดของคนอุบลเปลี่ยนไปด้วย ทำให้อาจจะมีงานมากขึ้น ไม่มากก็น้อย มีศิลปินมากขึ้น ไม่มากก็น้อย หรืออะไรก็แล้วแต่ที่มันจะพาอุบลและสังคมใกล้ ๆ ตัวผมไปในวันข้างหน้า นี่คือสิ่งที่ผมต้องการให้ร้านมันเป็น”

บทสนทนาที่มีหลักใหญ่ใจความว่าด้วยการปฏิบัติการทางศิลปะเพื่อชำระล้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ถูกกดทับ การจัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อเขย่าช่วงชั้นของนิยาม ‘ศิลปะ’ และการสร้างพื้นที่ศิลปะและพื้นที่ในการพูดคุยที่ทั้งสามคนผลัดกันเล่าผลัดกันแสดงความเห็นอย่างเมามันจึงเริ่มขึ้น

วาระของ Ubon Agenda

Manifesto, Agenda และ Summit คือสามโปรเจกต์ที่ถนอม ชาภักดีตั้งใจจะจัดเพื่อขยายพื้นที่ของสุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้าน (Aesthetic of Resistance) ทางภาคอีสาน โดยเริ่มจาก Khon Kaen Manifesto ที่พูดถึงที่มาที่ไปของการเป็นเมืองสมัยใหม่ ก่อนที่เขาจะจัดงาน Ubon Agenda ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2563 ที่โรงเรียนตั้งใจอนุกูลศึกษา โดยยกเรื่องราวการปราบปรามกบฏผู้มีบุญขึ้นมาเป็นวาระในการพูดคุยเพื่อพาเราย้อนกลับไปสู่การต่อสู้ของภาคประชาชนในอีสานตั้งแต่อดีต หลังจากนั้น ถนอมตั้งใจจะจัดงาน Summit ที่นาบัว โดยเน้นไปที่เรื่องราวยุคหลัง ๆ ที่คนอีสานอย่าง ‘กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย’ จับอาวุธขึ้นสู้กับภาครัฐในเหตุการณ์วันเสียงปืนแตก (7 สิงหาคม 2508) ณ บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร จังหวัดนครพนม แต่ถนอมก็จากไปก่อนที่จะงาน Summit จะเกิดขึ้น

“อาจารย์ถนอมสนใจเรื่องความเป็นเมืองของขอนแก่นซึ่งมีลักษณะพิเศษคือเป็นเมืองที่ชูธงเรื่อง technocrat สิ่งหนึ่งที่อาจารย์ถนอมแทรกเข้าไปก็คือการใช้การแสดงงานในที่รกร้างเพื่อสื่อสารว่าเมืองเป็นเหมือนกลไกขนาดใหญ่ที่ดูดคนเข้ามา ขณะเดียวกันมันก็มีความระส่ำระส่ายภายนอก อย่างโลกาภิวัตน์ ต้มยำกุ้ง แล้วตึกตรงนั้นก็เป็นตึกที่ชื่อว่าตึก GF เป็นบริษัทบริหารเงินทุน มันก็มองได้อีกว่าภายใต้ความเป็นศูนย์รวมของเมือง มันก็ยังมีด้านที่เป็นสีเทา ด้านที่เป็นหลุมดำ ด้านที่เป็นความหายนะแทรกอยู่ในนั้นด้วย” วรเทพขยายรายละเอียดงาน Khon Kean Manifesto ซึ่งถือเป็นนิทรรศการแรกที่ถนอมจัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ของศิลปะของการต่อต้านในภาคอีสาน ถนอมใช้เทรนด์ศิลปะที่เรียกว่า ‘Squatting’ หรือการเข้าไปยึดครองตึกร้างทั้งกับการจัดงาน Khon Kaen Manifesto ที่ตึก GF และครั้งแรกของ Ubon Agenda ที่โรงเรียนตั้งใจอนุกูลศึกษา โดย Squatting นั้นเป็นเทรนด์ศิลปะที่โลกตะวันตกส่งเสริมอย่างจริงจังเพื่อสร้างบุคลิกภาพและสีสันของเมืองผ่านการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่สร้างงานศิลปะ

รูปจากเฟสบุค Thanom Chapakdee

“พอมาที่อุบล เริ่มแรกก็เป็นโรงเรียนร้าง เพราะแกตั้งใจชูประเด็นเรื่องการศึกษาที่ยังไม่ได้รับการบอกเล่าและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แล้วต่อมาก็ไปทำในพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่เกิดเหตุการณ์จริง เพื่อพาไปดูว่าสภาพพื้นที่จริงเป็นยังไง แล้วก็เน้นการทำงานกับชุมชน ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดความหมายของพื้นที่ของตัวเอง” นราสิทธิ์กล่าวก่อนจะพูดติดตลกถึงการจากไปกระทันหันของถนอม ชาภักดี และ Ubon Agenda ที่ยังต้องไปต่อ

“หลังจากที่อาจารย์ถนอมแกหนีเที่ยวไปแล้ว เราก็ยังยึดหลักการและวิธีการเดิมของแกอยู่คือเราทำเรื่องศิลปะแห่งการต่อต้าน แล้วก็เน้นความเป็น collective (คติรวมหมู่) เราไม่ได้มีองค์กรที่สมาชิกต้องมีตำแหน่งบริหาร ถ้าคุณสนใจอยากทำกับเรา คุณก็ทำในแบบของคุณแล้วมาจอยกันให้เป็นมันขยายไปเรื่อย ๆ”

เมื่อถามถึงวาระของ Ubon Agenda ในวันที่ไม่มีถนอม ชาภักดีในมุมมองของนราสิทธิ์ เป้าหมายที่เขาอยากทำก็คือการพูดถึงประวัติศาสตร์ที่ถูกกดทับและเรื่องราวของสามัญชนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของรัฐหรืออำนาจที่เหนือกว่าโดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับชื่อจังหวัดและสามารถขยายไปจังหวัดอื่น ๆ ได้

“สิ่งที่ทำต้องขยายไปเป็นวาระของทั่วอีสานได้ อย่างเรื่องผีบุญมันก็ไม่ได้มีแค่ที่อุบลฯ มันมีหลาย ๆ ที่ ดังนั้นวาระที่อยู่ในอุบลฯ มันก็สามารถเป็นวาระร่วมของภาคอีสานได้ เหมือนอย่าง Khon Kaen Manifesto 2 มันก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับโสเภณีและซ่องในยุคสงครามเย็นซึ่งที่อุบลฯ และจังหวัดอื่น ๆ ก็มีเหมือนกัน ก็คาบเกี่ยวกันได้”

นักปฏิบัติการทางศิลปะกับสุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้าน

หากใครติดตามถนอม ชาภักดีมาบ้าง คงจะคุ้นชินกับคำว่า Aesthetic of Resistance ที่เขากล่าวถึงอยู่บ่อย ๆ และเป็นรากในการจัดพื้นที่กิจกรรมในโปรเจ็กต์ Menifesto, Agenda และ Summit ในภาคอีสานของเขาด้วยเช่นกัน   

©Peter Weiss

The Aesthetic of Resistance คือวรรณกรรมที่แต่งโดยปีเตอร์ เวย์ส ว่าด้วยเรื่องการลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจเผด็จการในช่วงที่ผู้นำฟาสซิสต์อย่างฮิตเลอร์เรืองอำนาจ ถนอมได้นำแนวคิดนั้นมาเพื่อใช้ในการกล่าวถึงการสร้างตัวตนทางศิลปะตามรสนิยมและการรับรู้ของตนเองโดยปราศจากการครอบงำจากอำนาจ ความเชื่อหรือศิลปะกระแสหลักในสังคม ซึ่งมักจะยึดโยงอยู่กับความดี ความงาม ความจริง ซึ่งวรเทพได้อธิบายให้เราฟังว่า

“เวลาเราพูดถึง aesthetic มันถูกแปลไว้แล้วว่าสุนทรียศาสตร์ เรื่องความงามอย่างเดียว ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่ เหมือนที่อาจารย์ถนอมเคยพูดว่า aesthetic มันคือ sense of perception หรือ ผัสสะจากการรับรู้ ขอชวนกลับไปตั้งแต่ยุคกรีกซึ่งมีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตที่แสวงหาความจริง ฉะนั้นคือความจริงจึงสูงสุด ส่วนความงาม เช่น รูปปั้นเทพเจ้าที่แสดงความสมบูรณ์มันก็ไปรองรับความดี ความดีก็ไปรองรับความจริง แต่ถ้านั่นคือ aesthetic มันก็ไม่ครอบคลุมชีวิตที่เป็นจริง ๆ ได้ ถ้าเป้าหมายชีวิตคือการค้นพบความจริง แปลว่าความจริงคือความดี แล้วพอมันมี ‘ความดี’ เรื่องทางโลกย์ หรือเรื่องความรู้สึกมันก็ต้องไปเป็นลิ่วล้อให้ความดีความงาม”

เช่นเดียวกับการยึดโยงศิลปะไว้กับความงาม ความดี ความจริง ในยุคก่อน ๆ ที่เราเรียนตามตำราตะวันตก หากศึกษาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเราจะพบว่า ‘ศิลปะ’ ที่ดีภายใต้การปกครองของเผด็จการก็มักจะถูกยึดโยงไว้กับคำนิยามความสวยความงามอันคับแคบในกรอบกรอบหนึ่ง และมีไว้เพื่อใช้ในการเชิดชูผู้นำหรือ ‘วีรบุรุษ’ ซึ่งเป็นเพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เครื่องมือทางศิลปะ หรือแม้แต่นิยามของการเป็น ‘ศิลปิน’ และ ‘ศิลปะ’ จึงถูกสงวนให้ใช้ได้เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปด้วย

การต่อต้าน (resistance) มันเลยมีเพื่อไปเซาะไปเขย่าช่วงชั้นจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ธำรงความไม่เท่าเทียมในศิลปะที่มีศิลปะสูง-ศิลปะต่ำ ศิลปะชาวบ้าน-ศิลปะคนเรียนมหาวิทยาลัย งานอาร์ต-งานคราฟต์ อาจารย์ถนอมต้องการจะแย้งตรงนี้ สิ่งที่อาจารย์ถนอมทำคือ ทำให้คนเชื่อว่าทุกคนมีความเท่าเทียม มีโอกาสที่จะใช้เครื่องไม้เครื่องมือทางศิลปะ แต่พอพูดแบบนี้มันก็ไปติดกับคำว่าศิลปะ ใช้คำว่าเครื่องมือสื่อสารดีกว่า แกอยากให้ทุกคนหยิบสี หยิบสเปรย์ หยิบเครื่องไม้เครื่องมือ ตีกลอง ร้องป่าว เพื่อที่จะมีพื้นที่ที่ละลายความศักดิ์สิทธิ์นั้นลง

“คำว่าต่อต้านก็มีนัยของอารมณ์ความรู้สึกบางอย่าง การต่อต้านก็มีหลายแบบ การล้อเลียนก็เป็นการต่อต้าน การคว่ำบาตร การสลับความหมาย หรือการนำมาใส่รหัสใหม่ เช่น ตัวย่อ อย่างที่เห็นว่าตอนนี้มีมต่าง ๆ เป็นตัวย่อหมดเลย สุนทรียศาสตร์หนึ่งของการต่อต้านคือการทำให้ผู้มีอำนาจรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้สูงส่งอีกต่อไป ถูกล้อเลียนได้ เป็นมนุษย์เช่นกัน” วรเทพกล่าว

และเช่นนั้นเอง ‘นักปฏิบัติการทางศิลปะ’ จึงเป็นสิ่งที่พวกเขาใช้เรียกตัวเองแทนคำว่า ‘ศิลปิน’

“ศิลปินมันถูกนิยามด้วยความหมายบางอย่าง เช่น ถ้าคุณวาดภาพเป็นเฉย ๆ คุณยังเป็นแค่ช่าง ไม่ได้เป็นศิลปิน ศิลปินต้องเป็นอีกขั้นหนึ่ง” นราสิทธิ์เสริมขึ้น “ซึ่งการเป็นนักปฏิบัติการทางศิลปะมันคือการพยายามทำลายเรื่องนั้น แล้วปล่อยให้ศิลปะมันตกลงมาให้คนทั่วไปสามารถหยิบจับและทำได้ อาจจะเป็นการทำง่าย ๆ ไม่ต้องซับซ้อน แต่ทำแล้วเรียนรู้ไปด้วยกัน ให้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร”

เมื่ออธิบายเรื่อง ‘นักปฏิบัติการทางศิลปะ’ ให้เราฟังจบ นราสิทธิ์ก็หันไปถามเป็ดว่าในฐานะคนให้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมเพื่อสุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้าน เป็ดมองตัวเองเป็นนักปฏิบัติการทางศิลปะไหม

จริง ๆ ผมไม่ได้มองอะไรลึกซึ้งขนาดนั้น” เป็ดตอบพร้อมรอยยิ้ม “แต่ผมจำคำที่คุยกับอาจารย์ถนอมได้ แกจะพูดเสมอว่าศิลปะไม่ใช่ของสูงส่ง เพียงแต่เราทุกคนทำหน้าที่และกลไกในรูปแบบของตัวเอง ส่งสารต่าง ๆ ในแบบที่ตัวเองถนัด ผมก็ถนัดเป็นพื้นที่ ซึ่งจริง ๆ คนเขาดูดกันมาเอง เริ่มจากมีหนึ่งคนเห็น ก็ชวนกันมาเรื่อย ๆ สถานที่มันเลยเป็นไปตามบริบทของผู้คน” 

ว่าแล้วเป็ดก็เล่าถึงไอเดียหนึ่งของเขาที่เป็นการชักชวนผู้คนให้มาถ่ายรูปกับ ‘จุดเช็กอิน’ จุดใหม่ในอุบลฯ

“คนอื่นถามว่ามาอุบลฯ ไปเที่ยวไหนดี มีจุดเช็กอินไหน ผมบอกว่าตอนนี้เรามีจุดเช็กอินใหม่ มาถ่ายรูปกันเยอะ ๆ ถ่ายกับสิ่งที่มันเป็นถนนพัง พื้นทรุด ดินหาย สร้างได้หกเดือนยุบ นี่เป็นจุดเช็กอินทั้งนั้น เราร่วมกันสร้างแล้วมันจะส่งผลกระทบใหญ่มาก คุณใช้มือถืออันเดียว ถ่ายปัญหาใกล้ ๆ ตัวคุณเลย อันนี้มันยิ่งกว่าการจัดงานแสดงทางศิลปะอีก ผมไม่รู้ด้วยซ้ำมันเป็นศิลปะหรือเปล่า มันต่อต้านรึเปล่า แต่ลองนึกภาพคนอุบลฯ 1 ล้าน 8 แสนคน โพสต์รูปปัญหาเดียวกันใส่แฮชแท็กเดียวกัน ใครจะนั่งเฉยได้”

แม้ตัวเขาเองไม่ฟันธงว่าสิ่งที่เขาทำเรียกว่าเป็น ‘สุนทรียศาสตร์’ ‘ศิลปะ’ หรือแม้แต่ ‘การต่อต้าน’ ไหม เพราะท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของแต่ละคน แต่วรเทพมองว่าไอเดียของเป็ดก็เป็น aesthetic ในรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน“

มันเป็น aesthetic ในเชิงของการสะท้อนความหมกเม็ด ความความล้มเหลวบางอย่าง ซึ่งเราอาจจะมองเป็นเรื่องทั้งขำและขมขื่นไปด้วยกัน การเปรียบเปรยและอุปมามันเป็นอำนาจที่เราจะใช้ปั่นป่วน บั่นเซาะ เช่น แทนที่เราจะบอกว่า มาเช็กอินกับสิ่งที่สวยสิ ก็เป็นมาเช็กอินกับสิ่งที่เราพยายามจะเอาใบบัวไปปิดทั้งที่มีช้างตายทั้งตัวสิ การเปรียบและการเทียบเคียงจะช่วยเกลี่ยให้สิ่งที่เราเห็นถูกมองหลาย ๆ มุม”  

รูปจากเฟสบุค Thanom Chapakdee

Commoning : เครื่องมือการสื่อสารที่ทุกคนต่างเป็นเจ้าของร่วมกัน

ค่ำวันที่ 3 เมษายน 2565 ถนอม ชาภักดีพานักวิชาการโขงชีมูน ผู้ที่สนใจ และชาวบ้านสะพือ ร่วมทำ ‘บุญแจกข้าว’ พิธีอุทิศส่วนกุศลถึงผู้ล่วงลับ ประเพณีท้องถิ่นของภาคอีสานรวมถึงชาวบ้านสะพือ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณที่เสียชีวิตไปในทุ่งสังหารเมื่อ 120 ปีก่อน นั่นถือเป็นครั้งแรกที่มีการทำบุญให้กับขบวนการผู้มีบุญ

เป้าหมายหลักของการทำบุญครั้งนั้น นอกจากจะเป็นการสร้างพื้นที่สำหรับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ก็คือการเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านสะพือได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมร่วมกัน และเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการบั่นเซาะช่วงชั้นทางศิลปะให้ใคร ๆ ก็สามารถใช้เครื่องมือในการสื่อสารได้ วรเทพอธิบายว่าแนวคิดนี้คือสิ่งที่เรียกว่า ‘commoning’  

สมมติว่าศิลปะเป็นงานชิ้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนหรือหนังก็ตาม มันจะมีการสื่อจากตัวชิ้นงานไปยังผู้รับแบบทางเดียว แต่งานในลักษณะกิจกรรมมันมีตัวแปรมากมายที่มันควบคุมไม่ได้ มันเลยมีคำเรียกว่า live art คือศิลปะที่มีชีวิต พอทุกอย่างมันถูกประมวลเข้ากับพิธีกรรมที่เราจะสื่อสารกับคนที่มองไม่เห็น ที่เราเชื่อว่าเขายังยึดโยงกับเรา สิ่งหนึ่งที่งานวิจัยผมอยากจะไปถึงก็คือสิ่งที่เรียกว่า commoning คือการทำให้วัฒนธรรมมีลักษณะที่เราแชร์กันได้ เป็นของร่วม ซึ่งไอเดียเรื่อง commoning มันมีอยู่ในสังคมเก่าอยู่แล้ว เช่น การมีบ่อน้ำเป็นส่วนกลาง และมีกติกาที่บอกว่าไม่มีใครมาเอาประโยชน์จากส่วนกลางนี้ได้มากกว่าใคร ทุกคนเข้าถึงเท่ากัน

“ถ้าอาจารย์ถนอมยังอยู่ผมว่าแกจะไปถึงตรงนั้น คือมันจะไม่มีคำว่า Art แล้ว แต่จะเป็นคำว่า common แล้วอีกอย่างที่ศิลปะกลายเป็นของสูง เพราะมันทำเสร็จมาแล้ว คุณมีหน้าที่แค่ดูหรือตีความ แต่คุณไม่ได้มีหน้าที่เข้าไปเป็นผู้(ร่วม)สร้าง”

การสร้างการมีส่วนร่วมจากชาวบ้านสะพือของ Ubon Agenda ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เมื่อในวันที่ 29 มีนาคม 2566 หมี่-จักริช ฉิมนอก นักกิจกรรมทางศิลปะก็ได้ลงพื้นที่บ้านสะพือเพื่อทำงานประติมากรรมเศียรพระพุทธรูปจากไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ในบริเวณบ้านสะพือร่วมกับชาวบ้าน

©Ubon Agenda

“เรื่องการมีส่วนร่วมของชาวบ้านต้องยกความดีความชอบให้คนสองคน หนึ่งคืออาจารย์หมี่ที่ทักผมมาว่าอยากทำประติมากรรมไม้ไผ่โดยให้ชาวบ้านมาช่วยจัดพื้นที่ มีที่ให้ชาวบ้านได้ไปขายของ เตรียมของไปด้วยกัน ต่อมาอาจารย์ต้อย-อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ (ผู้กำกับหนังที่มีผลงานอย่าง สวรรค์บ้านนา เพลงของข้าว และบูชา) เลยบอกว่าอยากไปทำหนังที่สะพือแล้วก็ไปอบรมการทำหนังสั้นให้เด็ก ๆ ที่สะพือด้วย ก็เลยดึงเด็กมัธยมมาทำ workshop ให้ชาวบ้านมาร่วม เอาหนังที่เด็กในบ้านสะพือทำไปฉายให้ชาวบ้านเขาดู ให้รู้สึกว่าไม่ใช่แค่พวกเราทำแต่มีเรื่องของชาวบ้านไหลเวียนในนั้นด้วย”

อย่างไรก็ตาม วรเทพกล่าวว่าเงื่อนไขสำคัญของการมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์ของคนในหมู่บ้านก็คือเรื่องของเศรษฐกิจ เพราะหากคนในบ้านสะพือไม่ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและคนหนุ่มคนสาวยังต้องออกไปทำงานไกลบ้าน ความร่วมมือก็คงไม่เกิดขึ้น

“ที่เป็นข้อพึงสังวร คือการทำงานในเชิงชุมชน ต้องไม่เอาชุมชนมาเป็นแค่ฉากหลังให้เรา อาจารย์ถนอมย้ำเสมอเรื่องความ organic แต่มันอาจไม่ organic ทั้งหมดเพราะในเชิงของวิธีการทำงานก็ยังต้องยึดโยงเรื่องเศรษฐกิจ อีกประเด็นที่อาจารย์ถนอมเจอคือผู้นำทางวัฒนธรรม นี่ยกเป็นกรณีพิเศษเลยสำหรับบ้านสะพือ ทั้งเรื่องความพร้อมด้านเศรษฐกิจและอีกหลาย ๆ อย่าง เช่น มีคนอย่างพ่อเสือน้อย (พินิจ ประชุมรักษ์) ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญ แกพอจะมีเวลามาช่วยพวกเรา แล้วแกก็มีความเป็นผู้นำทางธรรมชาติ มีความอาวุโส และมีความเป็นผู้นำทางวัฒนธรรม คือเป็นครู พูดอะไรใครก็นับถือ”

อีกปัจจัยที่ทำให้การสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชนในบ้านสะพือสำเร็จได้คือพื้นฐานทั้งความเชื่อและความรู้ของชุมชน ชุมชนส่วนใหญ่ในภาคอีสานนั้นต่างมีพื้นฐานความเชื่อเรื่องการ ‘ตุ้มโฮม’ (การทำสิ่งต่าง ๆ ร่วมกันด้วยความสามัคคี) และการ ‘โฮมบุญ’ (การร่วมกันทำบุญ) ที่แสดงออกผ่าน ‘งานบุญ’ ของชาวอีสานซึ่งมักจะเป็นบุญใหญ่ที่อาศัยคนทั้งชุมชนมาร่วมกันจัด ความเชื่อนี้มีอยู่ในสำนึกของชาวบ้านสะพือเช่นกัน ขณะเดียวกัน งานประติมากรรมไม้ไผ่จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในชุมชนบ้านสะพือว่าไม้ไผ้กอไหนที่ตัดได้ แก่พอ และเหนียวพอที่จะนำมาเป็นวัสดุในชิ้นงาน  

กระบวนการของอาจารย์หมี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ไม่ได้แปลว่ามันเหมาะสำหรับทุกที่ มันอาจจะเหมาะสำหรับที่นี่ อีกอย่างคือมันเป็นตัวบอกว่านักปฏิบัติการก็ต้องมีการเตรียมตัวทำความเข้าใจบริบทพื้นที่ สภาพแวดล้อม วัตถุดิบ ทรัพยากร นิสัยผู้คน ยิ่งในศิลปะอย่างที่เรียกว่าการแสดงสด อาจารย์โอเล่รู้เลยว่าการจะทำงานพื้นที่เราต้องไปซักซ้อมทำความเข้าใจก่อน เพราะอีกสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่คือเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก การรับรู้ของคนมันไม่เท่ากัน ตัวอย่างคือผมไปสัมภาษณ์ชาวบ้านคนหนึ่ง แกก็เล่าสนุกสนานว่าในยุคนั้นมีชาวข่าหรือค้า ที่คอยตักน้ำ คอยตัดฟืนให้ พอเริ่มเล่าอารมณ์ความรู้สึกมันเริ่มไม่เป็นประวัติศาสตร์แล้ว มันเริ่มเป็นนิยาย มีรบกัน มีพม่ามา มีช้างม้าวัวควายมา นี่คือมิติของอารมณ์ ซึ่งตรงนี้เป็นตัวที่ทำให้มันลื่นไหลไปตามชีวิตผู้คน อย่างวันทำบุญ คนก็เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้นต่างเวลา ต่างกิจกรรมกัน แต่ละคนมีมิติ สัมผัสนี้ไม่เหมือนกัน”

ในการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับกบฎผู้มีบุญ Ubon Agenda มีการจัดกิจกรรมอยู่สองส่วน ส่วนหนึ่งคือการจัดในพื้นที่จริงที่บ้านสะพือเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ อีกส่วนคือการกิจกรรมในตัวเมืองอุบลให้ผู้คนที่สนใจได้มาเข้าร่วม และนี่ก็เป็นตัวอย่างชั้นดีของการรับรู้และการมีส่วนร่วมที่แตกต่างกันจากคนในพื้นที่ที่แตกต่างกัน  

ความต่างระหว่างชาวบ้านสะพือ คือต่อให้เขาเป็นข้าราชการก็จริงแต่บางส่วนที่เขามาช่วยงานเราเขาก็ยังทำนาทำไร่อยู่ เขาก็ยังปากกัดตีนถีบอยู่ เขาก็จะมองในแง่ที่ว่ามันมีประโยชน์ยังไงหรืออย่างน้อยเขาก็มองว่ามันเป็นการเสียสละเพื่อชุมชน เพื่อให้พื้นที่ตรงนี้มันเกิดความหมายแล้วอนาคตอาจมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจบ้างกับชุมชนเขา” นราสิทธิ์เล่า  

“แต่ถ้าเราเปลี่ยนเป็นภาพในเมือง คนจะมองว่านี่เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่างที่มาจัดที่ส่งสาร คนก็มาเยอะ เพราะมันตรงกับม็อบพอดี มันเลยโดนใจคนรุ่นใหม่ พอมาจัดงานนี้คนก็มาเพื่อรับฟังเรื่องราว เหมือนมาร่วมกิจกรรมทางการเมือง แต่บรรยากาศที่สะพือมันเหมือนเรากำลังทำเทศกาลงานบุญย่อย ๆ อยู่ มันก็จะต่างกันชัดเจน”  

ไม่เพียงแต่การสร้างการมีส่วนร่วมเท่านั้น แต่วรเทพมองว่า commoning นี้ยังจะสามารถขยายต่อไปเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองในมิติที่หลากหลายขึ้นด้วยเช่นกัน

ในเชิง commoning หรือ collective มันสามารถไปขยายต่อเป็นเรื่องเศรษฐกิจก็ทำได้ ที่เรามี TCDC ขอนแก่น เราจะทำยังไงให้มันเกิดสีสันหรือการบริโภคชีวิตในเมืองที่ไม่ได้มีแค่การจับจ่าย เดินห้าง ในอนาคตถ้าเกิดว่าไม่ได้มีแค่นักกิจกรรมที่ทำเรื่องผีบุญเท่านั้น แต่อาจมีนักกิจกรรมทำเรื่องสถาปัตยกรรม post colonial ซึ่งอุบลมี เช่น พาตระเวนดูตึกแถว อาคารในช่วง 60-70 ตรงนี้เป็นมูลค่าและเราไม่ต้องไปสร้างใหม่ เราสร้างจากสิ่งที่มันเป็นส่วนรวมอยู่แล้วได้”  

พื้นที่สร้างกิจกรรมหรือกิจกรรมสร้างพื้นที่?

ในการจัดนิทรรศการหรือกิจกรรมเพื่อเปิดพื้นที่ทางศิลปะและเปิดพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่ถูกกดทับแต่ละครั้ง ถนอมมักจะเลือกพื้นที่ที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในแต่ละที่ ตั้งแต่ Khon Kean Manifesto ซึ่งจัดขึ้นที่ตึก GF ตึกที่สะท้อนมุมมืดภายใต้ความเป็นเมืองสมัยใหม่ของขอนแก่น การจัดนิทรรศการ Ubon Agenda วาระ วาริน ที่โรงเรียนตั้งใจอนุกูลศึกษา เพราะโรงเรียนแฝงนัยของการเป็นพื้นที่การหล่อหลอมและบ่มเพาะความคิดของประชาชนให้เป็นไปตามแบบแผนและกรอบของรัฐส่วนกลาง และโรงเรียนแห่งนี้ยังเป็นโรงเรียนที่ล้อมไปด้วยศูนย์ราชการและสถานที่ที่ล้วนแต่มีส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์การปราบปรามกบฎผู้มีบุญทั้งสิ้น หรือการจัดกิจกรรมที่พื้นที่จริงอย่างบ้านสะพือซึ่งถือเป็นทุ่งสังหารเมื่อ 120 กว่าปีก่อน

สิ่งที่เราอยากชวน Ubon Agenda พูดคุยต่อจึงเป็นเรื่องความสำคัญของพื้นที่ ว่าแท้จริงแล้วพื้นที่ในการใช้จัดกิจกรรมต่าง ๆ นั้นจำเป็นต้องมีนัยที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมเหล่านั้นไหม หรือจะเป็นพื้นที่ไหนก็ได้

“ผมว่าพื้นที่มันมีนัยอยู่แล้ว” นราสิทธิ์ตอบ “นัยก็ไม่ได้มีนัยเดียว มันมีนัยทับซ้อนกันอยู่ ที่สะพือนอกจากผีบุญแล้วถ้าไปขุดดูก็อาจจะมีเรื่องวิถีชีวิตของชาวบ้าน เรื่องเกลือ หรือพื้นที่แถวร้านส่งสารมีอะไรบ้าง อาจเป็นย่านคนจีน เป็นย่านที่เมื่อก่อนเคยมีทหาร G.I. ย้อนกลับไปอีกตรงนี้อาจเป็นทางผ่านที่ใช้ขนศพผีบุญไปทิ้งหรือเปล่า ทุกที่มันมีนัยยะที่โดนกดทับอยู่ อยู่ที่ว่าเราจะเล่นกับมันยังไง กิจกรรมอาจจะไปดึงนัยมันขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนการมองพื้นที่ใหม่ของคน”  

นอกจากนัยอันหลากหลายที่ทับซ้อนกันอยู่ ในนัยเดียวกันนั้น เรื่องเล่าและการรับรู้เกี่ยวกับพื้นที่ของแต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกันไปด้วย วรเทพยกตัวอย่างเรื่องเล่าคนละชุดจากชาวบ้านสะพือที่บ้างบอกว่าหลังการปราบปรามผู้มีบุญ ชาวบ้านบริเวณนั้นไม่กล้าไถนาและไม่กล้ากินแมงกุดจี่เพราะเชื่อว่าแมงกุดจี่นั้นชอนไชกะโหลกของผู้เสียชีวิตในทุ่งสังหาร ขณะที่อีกกลุ่มกลับบอกว่าไม่เคยรู้สึกกลัวกับสิ่งที่เกิดขึ้น

“พูดในเชิงวิธีวิทยาหรือการทำงาน การที่เราลงไปในพื้นที่คำว่า ‘หมู่บ้าน’ มันไม่ใช่แค่เอาบ้านมาเรียงกัน แต่มันมีประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ มีเรื่องการเชื่อมต่อคนภายนอก เช่น เรื่องการส่งลูกไปเรียนเพื่อให้เป็นข้าราชการ หรือเรื่องการค้าเกลือ พื้นที่มันสำคัญเพราะมีบริบทหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสภาพที่ตั้ง หรือการมีผู้นำทางธรรมชาติในยุคที่ยังไม่มีท่านศาสตราจารย์ ท่านร้อยตำรวจเอก พระก็เลยเป็นมันสมอง เป็นผู้ขับเคลื่อน

“แล้วพอเรามองว่ากิจกรรมต่างหากทำให้พื้นที่มันมีการขยาย มันก็มีปัจจัยหนึ่งคือ ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการไม่พอใจของผู้มีบุญเพราะเขาถูกบีบทั้งจากรัฐสยามที่มาปกครอง มาเอาภาษีของเขาไป อีกด้านคืออาณานิคมฝรั่งเศสที่ปกครองลาว ระยะฝั่งซ้ายฝั่งขวาของน้ำโขงเลยเป็นโนแมนแลนด์ (แดนกันชนของสองฝั่งตรงข้ามในสงคราม) คาราวานค้าวัวค้าควายก็ลำบากขึ้น คือแค่เราไปบ้านสะพือมันก็ทำให้เราขยับไปที่ต่าง ๆ ได้ พื้นที่สำคัญมาก นอกจากพื้นที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ยังเป็นตัวโอบอุ้มและค่อย ๆ พูดเรื่องราวของผู้คน”

แต่แม้พื้นที่ทุกพื้นที่ต่างก็มีนัยยะอยู่ในตัวและสำคัญกับการทำกิจกรรม วรเทพก็มองว่าบางครั้งกิจกรรมเองก็ช่วยให้เราฉุกคิดกับพื้นที่ในมุมที่ต่างจากที่เคยรับรู้ได้เช่นกัน  

©Ubon Agenda

ในทางกลับกันตอนที่อาจารย์นราสิทธิ์กับคนอื่น ๆ ไปแสดงที่ประติมากรรมเทียนพรรษาจำลอง ตรงทุ่งศรีเมือง ซึ่งเป็นเหมือนตราประทับของคนอุบล มันก็ทำให้เกิดการระลึกขึ้นมาว่า จริง ๆ แล้วการแห่เทียนมันเริ่มเป็นที่นิยมเมื่อไหร่ ทำไมมันจึงถูกเชิดชูแทนการละเล่นสัปดน ในเทศกาลแห่บั้งไฟ มันก็ทำให้เห็นว่า กิจกรรมก็มีส่วนในการทำให้เราคิดกับพื้นที่ในมุมอื่น”

เมื่อพูดถึงการแสดง performance art ของนราสิทธิ์ที่ขนานไปกับมหกรรมแห่เทียนพรรษา นราสิทธิ์ก็กล่าวติดตลกว่าการแสดงของเขาในแต่ละครั้งนั้นเป็น ‘นักปฏิบัติการทางศิลปะสกปรก’ เพราะการต้องแสดงในพื้นที่จริงซึ่งไม่มีเวทีนั้นมักต้องพาร่างกายของตัวเองไปคลุกฝุ่น

“แต่นอกจากอุปกรณ์และการเคลื่อนไหวที่ดูเกินจริงกว่าสิ่งที่คนทั่วไปทำแล้ว เราก็กำลังสื่อสารโดยใช้องค์ประกอบจริงที่มันอยู่ในพื้นที่ด้วยเหมือนกัน”  

สิ่งหนึ่งที่พิธีกรรม live art ในที่นี้คือศิลปะแสดงสด หรือการทำงานเชิงพื้นที่มันทำให้เกิด คือมันมีลักษณะของความไม่เกร็ง เราทำตัวสบาย ๆ เราพร้อมรับสิ่งที่มันไม่คาดหวัง” วรเทพเสริม “และการทำงานในพื้นที่มีสิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากคือมันมีมิติของอารมณ์ เช่น คนที่ไม่ได้ดูศิลปะเลย ไม่ได้มาฟังหมอลำ ไม่ได้มาดู performance แต่เขามาทำบุญ เขาก็บอกว่าทำบุญแล้วลมพัดมาที่ตัวเขา เขาขนลุก เขาถือว่าคนที่ล่วงลับไปแล้วได้รับส่วนบุญ นี่คือสิ่งที่มันอาร์ตมาก ๆ ถ้าเราทำงานในพื้นที่มันเต็มไปด้วยรายละเอียดที่มันเคลื่อนไหวตลอดเวลา มันควบคุมไม่ได้ ซึ่งไม่ได้แปลว่าเป็นเสน่ห์นะ แต่มันคือการที่เราได้ต่อรองบางอย่างกับสถานการณ์จริง”  

เปิดพื้นที่แห่งการพูดคุยและคำถามที่ว่า ‘เฮาเป็นไผ’  

นราสิทธิ์บอกเราว่า ก่อนที่ Ubon Agenda จะเริ่มปฏิบัติการในพื้นที่บ้านสะพือ เรื่องราวของกบฏผู้มีบุญยังเป็นเพียงเรื่องที่ถูกพูดถึงแบบปากต่อปากและดูไกลตัว อีกทั้งชาวบ้านสะพือก็เชื่อว่าพวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมกับขบวนการดังกล่าว ในปีแรกที่เริ่มปฏิบัติการในพื้นที่จริง ชาวบ้านสะพือจึงมีการ ‘ตั้งการ์ด’ กับพวกเขา โจทย์ของ Ubon Agenda ในปีที่สองจึงเป็นการปรับกิจกรรมให้ชาวบ้านได้มาร่วมปฏิบัติการไปด้วยกันเพื่อให้เกิดการพูดคุยกันมากยิ่งขึ้น

“ไม่ใช่ว่าเรื่องของผีบุญไม่เคยถูกพูดถึงเลย แต่มันยังไม่ได้รับการชำระมากกว่า ในปีที่สองเลยปรับกิจกรรมให้ชาวบ้านมาร่วมทำงานในพื้นที่แล้วก็มีการพูดคุยกันเยอะขึ้น ชาวบ้านสะพือส่วนมากเขาเป็นข้าราชการ เขาก็เลยยังเชื่อประวัติศาสตร์ที่เล่าผ่านปากของรัฐส่วนกลาง ซึ่งสำหรับผมก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเราถูกสอนมาอย่างนั้น แต่ตอนนี้ผมก็รู้สึกว่าการ์ดเขาเริ่มลดลง มีแม่คนหนึ่งถามว่า ประวัติศาสตร์ตอนนั้นเหมือนพวกผีบุญเป็นกบฏที่จะมาตีประเทศเรา ส่วนรัฐสยามเป็นฮีโร่ที่ส่งคนมาปราบไม่ให้คนมารุกรานประเทศไม่ใช่เหรอ ถ้าเขาถามแบบนี้มาแสดงว่ามันเริ่มมีพื้นที่พูดคุยแล้ว เราก็พูดคุยกับเขาได้ ผมว่าถ้าได้รับการชำระแล้ว เรื่องราวผีบุญที่อยู่สะพือมันสามารถทำอะไรกับชุมชนได้ วันหนึ่งชุมชนอาจสามารถหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเล่นเอง จับขึ้นมาทำเองแล้วมันอาจเกิดประโยชน์กับเขา เขาเลยเริ่มมีท่าทีที่เป็นบวกขึ้น”

การชำระประวัติศาสตร์ที่นราสิทธิ์พูดถึงนั้นไม่ใช่การเปลี่ยนความคิดความเชื่อของชาวบ้านที่บ้านสะพือ แต่คือการสร้างพื้นที่พูดคุย พื้นที่ที่ทั้ง Ubon Agenda และชาวบ้านสะพือจะได้เรียนรู้และปรับตัวไปพร้อมกัน แลกเปลี่ยนชุดข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน และก่อให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์กับพื้นที่บ้านสะพือร่วมกัน

คราวแรก Ubon Agenda วาดหวังไว้ว่าวันหนึ่งพวกเขาจะสามารถสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงกบฏผู้มีบุญไว้ที่บ้านสะพือได้เพื่อให้ความหมายของพื้นที่เด่นชัดขึ้นและเป็นการขยายเรื่องราวผีบุญให้กว้างออกไป ทว่าเมื่อทบทวนดูอีกครั้ง พวกเขาก็พบว่าอนุสรณ์สถานคงไม่สามารถตั้งอยู่อย่างแม่นมั่นได้เลยหากชาวบ้านสะพือไม่ได้เห็นความสำคัญของพื้นที่มาตั้งแต่แรก

“ก่อนขึ้นอนุสรณ์สถาน เราต้องขึ้นศาลาให้ชาวบ้านก่อน ให้ชาวบ้านสามารถใช้พื้นที่ตรงนั้น สามารถเข้าไปจัดงาน นั่งพูดคุย หรือทำอะไรก็ได้ แต่อย่างน้อยมันทำให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของพื้นที่ตรงนั้น อนุสรณ์สถานตอนนี้เรามีแบบแล้ว แต่เราต้องไปพูดคุยกับชาวบ้านเรื่องการรับรู้ของเขาก่อน พื้นที่ตรงนั้นมันมีความหมายอยู่แล้ว แต่มันต้องมีพื้นที่กลางที่คนสามารถไปใช้พื้นที่ในแบบที่เขาเห็นความสำคัญของมันได้ก่อน แล้วอนุสรณ์สถานค่อยขึ้นมา

“ส่วนอนุสรณ์สถานก็คือพื้นที่กลางที่นักกิจกรรมกับชาวบ้านจะได้มาพบปะกัน เป็นเส้นตรงกลางที่เรามาเจอกันและพูดคุยกัน โดยที่เรื่องราวของผีบุญยังอยู่ แล้วผีบุญก็พาเราย้อนกลับไปตั้งคำถามถึงตัวตนของเรา เหมือนที่คนบอกว่าผีบุญเป็นกบฏ รัฐสยามเป็นฮีโร่ แต่เฮากำลังเว่าภาษาอิหยังกันอยู่ ภาษาถิ่นของไทยเบาะ (เรากำลังพูดภาษาอะไรกันอยู่ ภาษาถิ่นของไทยเหรอ) แต่ทำไมทั้งคำศัพท์ โครงสร้าง การออกเสียง กระแสเสียง มันเหมือนกับลาว มันก็ทำให้เราย้อนกลับไปตั้งคำถามว่าที่ผ่านมาเราเป็นใคร แล้วเราถูกกระทำอะไรบ้าง ทำไมคนที่พูดภาษาและมีวัฒนธรรมเหมือนกับเรา กินปลาแดกคือกัน ฟังหมอลำคือกัน ถึงถูกกระทำ แล้วพอมองกลับมาในปัจจุบัน เราก็ยังถูกกระทำแบบนั้นหรือเปล่า เราอาจจะไม่ได้โดนฆ่า แต่เราถูกกระทำในแง่ไหน นี่คือเรื่องของตัวตนทางวัฒนธรรม เราก็อยากให้ตรงนี้มันผุดขึ้นมาจนกลายเป็นวาระ”

นราสิทธิ์ยืนยันว่าการย้อนกลับไปตั้งคำถามถึงตัวตนและการถูกกระทำของคนในพื้นที่ราบสูงนี้ไม่ใช่การสร้างความแตกแยก แต่คือการทำให้ตัวตนของคนพื้นที่ราบสูงนี้เด่นชัดขึ้นเพื่อใช้เป็นข้อต่อรองในการอยู่ร่วมกันกับรัฐส่วนกลางที่มักจะนำวัฒนธรรมและค่านิยมความเป็น ‘ไทย’ มาครอบและกลืนตัวตนของคนในพื้นที่นี้  

“แล้วอีกสิ่งที่คิดว่าชาวบ้านจะได้คือเราลองคิดว่าเราไปบ้านสะพือครั้งแรกโดยที่ไม่มีอะไรเลย เราจะไปเริ่มที่ไหน” วรเทพเริ่มตั้งคำถามเพื่อพาเราไปสู่คำตอบว่าการสร้างอนุสรณ์สถานที่บ้านสะพือสำคัญอย่างไร “จะกูเกิลก็คงไม่พอ เราต้องเดินไปหาผู้ใหญ่บ้าน ถ้าผู้ใหญ่บ้านไม่อยู่ อย่างน้อยมีศาลาเป็นแหล่งเก็บข้อมูลก็อาจจะมานั่งสืบค้นต่อได้ พื้นที่มันคือการลากเส้นให้อะไรต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะรวมกันตรงนี้ เหมือนเรารู้ว่าตรงไหนเป็นศูนย์ข้อมูล เราไปเราก็ได้ข้อมูล อย่างน้อยก็อาจจะเจอชาวบ้าน อาจจะได้ฟังเรื่องราวจากเขา นี่คือข้อดีของการมีอนุสรณ์สถาน”

อนาคตอาจเป็น TCDC of สะพือก็ได้” นราสิทธิ์กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ  

อันนี้ดี” วรเทพตอบรับ “มันไม่ใช่แค่สร้างพื้นที่ขึ้นมาแล้วดึงคนข้างนอกเข้ามารับรู้ประวัติศาสตร์บ้านเมือง แต่ในอนาคต ประวัติศาสตร์เรื่องเกลือ เรื่องแผ่นดินที่นี่ หรือแม้กระทั่งการคิดในเชิงสร้างมูลค่าเพิ่มก็อาจทำได้ อาจารย์ธีร์ (ธีระพล อันมัย – นักวิชาการและอาจารย์อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) ก็เคยพูดว่าทำไมเราไม่ชวนนักออกแบบมาเอาดินเอาเกลือบ้านสะพือไปทำผลิตภัณฑ์เพื่อให้เรื่องราวที่นี่เดินทางไปคุยกับคนข้างนอกแทนที่จะรอคนข้างนอกเข้ามาอย่างเดียว”   

ขยับออกมาจากพื้นที่บ้านสะพือ อุบลราชธานีเอง (และอาจจะหมายรวมถึงทุกพื้นที่ในไทย) ก็ยังเป็นจังหวัดที่ขาดแคลนพื้นที่ทางศิลปะ หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือการขาดแคลนพื้นที่สำหรับศิลปะท้องถิ่นที่ไม่ใช่ตัวแทนของความดี ความงาม ความจริง

ในมุมมองของวรเทพแล้ว หากศิลปะท้องถิ่นได้มีพื้นที่มากขึ้น เมืองอุบลก็จะได้รับผลประโยชน์ที่หลากหลายตามมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือการมีพื้นที่สำหรับการต่อยอดและการศึกษา   

“พูดแบบนักสังคมวิทยาก็คือมันมีทุนสัญลักษณ์ เช่น ถ้าพูดถึงอุบลฯ นึกถึงอะไร หมูยอและเทียนพรรษาหรือเปล่า ทำไมเราไม่นึกถึงศิลปินอีสานที่มีชื่อเสียง นักกิจกรรม นักปราชญ์ที่รู้เรื่องภูมิปัญญาพื้นบ้านต่าง ๆ ถ้าทำตรงนี้ได้มันจะทำให้ศิลปินอยู่ได้เพราะจะมีคนสนับสนุน ซึ่งมันยังเกิดช้าเพราะเราคิดว่าศิลปะเป็นเรื่องของคนกลุ่มเล็ก ๆ เวียนกันจัด ผลัดกันชม ถ้าแปลงทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วเป็นกลิ่นอายของเมือง มันก็อาจจะทำให้เกิดประโยชน์ไม่ใช่แค่ด้านตัวเมือง แต่เป็นเรื่องของการมีพื้นที่สำหรับการศึกษาซึ่งสำคัญมาก”  

ในฐานะเจ้าของคาเฟ่ซึ่งกลายเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมอันหลากหลายของทั้ง Ubon Agenda และคนอื่น ๆ เป็ดจึงแสดงความเห็นในเรื่องนี้ด้วย

“สิ่งที่จะสร้างให้คนรู้สึกถึงกลิ่นอายอุบล คนยุคนี้หรือเด็กสมัยนี้จะต้องมีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้ด้วย ที่ผ่านมามีศิลปินระดับประเทศมาจัดงานระดับประเทศอยู่ที่นี่ แต่งานศิลปะของคนอุบล ของเด็ก ๆ ไม่เคยถูกพูดถึงเลย ทั้งที่อีก 5-10 ปี เด็ก ๆ ในวันนี้ก็จะกลายเป็นคนที่ขับเคลื่อนเมืองอุบล  ฉะนั้นผมก็อยากให้กิจกรรมอะไรก็ตามมันพาผู้คนในยุคปัจจุบันไปด้วย”

“ผมไม่อยากให้เมืองอุบลเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่มีคนเข้าแล้ว” เป็ดกล่าวทิ้งท้าย

แม้ถนอม ชาภักดีจะจากไป แต่นักปฏิบัติการทางศิลปะในนาม ‘Ubon Agenda’ ยังปฏิบัติการต่อ เพื่อชำระล้างประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อเปิดพื้นที่พูดคุย และเพื่อให้ Agenda ที่เป็นการหยิบยกวาระซ่อนเร้นในประวัติศาสตร์ขึ้นมาพูดของ Ubon Agenda นี้ กลายเป็น Agenda ของทั่วแผ่นดินที่ราบสูง

Writer
Avatar photo
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Photographer
Avatar photo
ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts