

กระดุมเม็ดแรกของเมืองและสังคมคือคุณภาพชีวิตของเด็กเล็กและพ่อแม่ : สนทนากับรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศานนท์ หวังสร้างบุญ ว่าด้วยอนาคตการศึกษาปฐมวัยในเมืองหลวง
กระดุมเม็ดแรกของเมืองและสังคมคือคุณภาพชีวิตของเด็กเล็กและพ่อแม่ : สนทนากับรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศานนท์ หวังสร้างบุญ ว่าด้วยอนาคตการศึกษาปฐมวัยในเมืองหลวง
“ลูกเรารอดคนเดียวไม่ได้ครับ สังคมต้องรอดไปด้วยกัน”
คือประโยคแรกของการเริ่มต้นบทสนทนาในวันนี้ ฉันเองเป็นแม่ที่ลูกผ่านพ้นปฐมวัยมานานแล้ว แต่คู่สนทนาเป็นพ่อลูกเล็กและอยู่ในบทบาทของรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ใช้เวลาในการดำรงตำแหน่งนี้แกะ แคะ แงะ แก้ไขระบบเพื่อให้ “กระดุมเม็ดแรก” คือศูนย์เด็กเล็ก ได้อยู่ถูกที่ถูกทาง
ภารกิจนี้ฟังจากข้างนอกเหมือนง่ายมาก ก็แค่ใช้อำนาจสั่งการ แต่หากใครได้เคยเข้าไปมีประสบการณ์กับเขาวงกตระเบียบต่างๆ ของราชการไทยก็จะรู้ว่าภารกิจการแก้ปัญหาที่กฎระเบียบพันกันอีรุงตุงนังนี้ ไม่ง่ายเลยแม้แต่น้อย

ยังไม่นับว่า แม้จะมีงานวิจัยทั้งจากนอกประเทศและในประเทศ หรือข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ อินฟลูเอนเซอร์ และสื่อต่างๆ ที่พูดกันในช่วงเกือบ 10 ปีหลังมานี้ว่า เด็กในช่วงปฐมวัย คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด แม้กระนั้น ปฐมวัยก็ยังไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งนั่นก็แปลว่าการจัดสรรงบประมาณก็จะไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงเช่นกัน และเมื่องบประมาณมาไม่ถึง เด็กปฐมวัยและคนรอบตัวเด็กปฐมวัย อันได้แก่พ่อ แม่ ครู เจ้าของพื้นที่ศูนย์เด็กเล็กต่างๆ ก็ต้องพัฒนาตัวเองกันไปในแบบเท่าที่จะทำได้
57 ตารางวาเปลี่ยนชีวิตเด็ก 80 คน
รองผู้ว่าฯ ศานนท์เป็นคนเลือกสถานที่การพูดคุยในวันนี้ และนั่นคือที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนนวมประดิษฐ์ ที่ Mappa เคยสัมภาษณ์ไปก่อนหน้านี้แล้ว

“57 ตารางวาแบบนี้ แต่ว่ามีเด็ก 80 คน แล้วดูความทุ่มเทของที่นี่ ผมว่ามันฉีกทุกอุปสรรค” ศานนท์ชวนเราดูและเล่าด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความชื่นชม “คือพอเรามาเห็นอะไรแบบนี้ เราจะมีข้อแก้ตัวอะไรในชีวิตเราได้อีกใช่ไหม ขนาดเขาอยู่ในข้อจำกัดขนาดนี้ เขายังสามารถดูแลเด็กได้อย่างดีเยี่ยม”
“ผมรู้เลยว่าทุกอุปสรรคที่มี ครูหนุ่ยไม่เคยมองเป็นอุปสรรคเลย แต่คุณหนุ่ยมองเป็นว่า เราจะทำมันด้วยเงื่อนไขแบบนี้แล้วเราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงยังไง แล้วพอเรามาเห็นอย่างนี้ เราเองที่เป็นภาครัฐ เรายิ่งต้องดิ้นเลยว่า ขนาดเขามี 57 ตารางวา ขนาดเขาทรัพยากรน้อยขนาดนี้ เขายังสร้างการเรียนรู้ได้มหัศจรรย์ขนาดนี้ แล้วเราเป็นรัฐนี่เราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง อันนี้ผมว่านี่คือหัวใจของการเปลี่ยนแปลง และเป็นสิ่งที่รัฐต้องมาดู”
ศานนท์เลือกสถานที่นี้อย่างเฉพาะเจาะจงเพราะอยากให้พวกเราเห็นทั้งข้อจำกัดต่างๆ ที่ในตอนนี้งบประมาณส่งมาถึงศูนย์เด็กเล็กใน กทม. ไม่ได้อย่างเต็มที่ และอยากให้เห็นว่าครูที่นี่ต้องพยายามกันขนาดไหนที่จะอยู่กันให้ได้และพาเด็กๆ ให้เรียนรู้ได้อย่างดี ในข้อจำกัดเหล่านี้
การมานั่งสนทนากันในพื้นที่ที่ให้ทั้งความรู้สึกทั้ง “ปัญหา” และ “ความหวัง” เป็นความรู้สึกแปลกๆ แต่สำหรับพวกเรามันเป็นแปลกที่จริงใจ คือได้ทั้งเห็นตัวอย่างความมหัศจรรย์ของมนุษย์ที่ทำเพื่อเด็กๆ ภายใต้ข้อจำกัด และเห็นปัญหาจากภาครัฐที่ยังแก้ไม่ได้เสียที

พื้นที่ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนวมประดิษฐ์ มีพื้นที่เพียง 57 ตารางวา แต่สามารถดูแลเด็กได้ถึง 80 คน พื้นที่แห่งนี้อดีตเคยเป็นพื้นที่วัด และทางเจ้าอาวาสยกให้มาทำประโยชน์แก่ชุมชน
ฟังดูน่าชื่นใจ แต่สิ่งนี้ในทางปฏิบัติจากราชการ ไม่สามารถนำงบประมาณมาช่วยได้เท่าที่ควรจะเป็น จะมีเพียงเงินเดือนครู (บางส่วน) ค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็ก และค่าอุปกรณ์เล็กน้อย แต่อาคารสถานที่ที่นับวันจะยิ่งเก่าและทรุดโทรมนั้น ยังเป็นปัญหาที่ต้องดูแลแก้ไข และอีกไม่นานเราอาจจะเห็นว่าครูศูนย์เด็กเล็กที่ต้องทำทุกอย่างตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ อาจจะต้องมาถือค้อน ตอกตะปู ซ่อมอาคารก็เป็นได้

ความขัดแย้งนี้สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อนของการจัดการศึกษาปฐมวัยในกรุงเทพมหานคร ซึ่งแม้จะเป็นเมืองหลวงของประเทศ แต่กลับมีคุณภาพการศึกษาเด็กเล็กที่น้อยกว่าต่างจังหวัด เนื่องจากในต่างจังหวัดศูนย์เด็กเล็กขึ้นตรงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณอย่างเต็มที่
เมื่อรองผู้ว่าฯ พบกับวิกฤตเด็กเกิดน้อย
ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ในวันแรกๆ ของการรับตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศานนท์ หวังสร้างบุญยังเป็นคุณพ่อที่ลูกยังเล็ก และเป็นคนที่นับรวมเอาปัญหาศูนย์เด็กเล็กนี้อยู่ในลำดับต้นๆ ของเรื่องที่ต้องผลักดันและแก้ไขอย่างจริงจัง

และเมื่อเขาเริ่มต้นสางปัญหา เขาก็ได้เผชิญกับความท้าทายอย่างมากมาย นอกจากกฎระเบียบของรัฐราชการต่างๆ สถานการณ์ในปัจจุบันก็ยิ่งสร้างความหนักใจมากขึ้น เมื่อข้อมูลปี 2567 ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีเด็กเกิดเพียง 461,421 คน เป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปีที่จำนวนเด็กเกิดไม่ถึง 5 แสนคนต่อปี ขณะที่ประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ด้วยประชากรสูงอายุกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด
นี่คือเรื่องเล่าที่สะท้อนถึงความขัดแย้งในการจัดการศึกษาปฐมวัยของกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่แม้จะเป็นศูนย์กลางของประเทศ แต่กลับมีคุณภาพการศึกษาเด็กเล็กที่ด้อยกว่าต่างจังหวัด และกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์เด็กเกิดน้อยที่ไม่เคยมีมาก่อน
กระดุมเม็ดแรกที่ต้องแก้
“ศูนย์เด็กเล็กเป็นหนึ่งในส่วนของการศึกษาใน กทม. ที่ทำยาก แก้ยาก ส่วนหนึ่งเพราะมันอยู่นอกระบบ และไม่ได้เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน การที่รัฐจะเข้าไปช่วย ไปดูแล ไปจัดการนั้นทำได้น้อยกว่าในระบบมาก”
ปัญหาหลักคือการที่ศูนย์เด็กเล็กไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทำให้กรุงเทพมหานครไม่สามารถเป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งและดูแลศูนย์เด็กเล็กได้โดยตรง

“อันนี้เลยเป็นกระดุมเม็ดแรกที่อาจจะต้องแก้ก่อน เพราะการเกิดศูนย์เด็กเล็กของ กทม. มันไม่เหมือนที่อื่น เพราะสถานที่มันอยู่บนพื้นที่ชุมชน ชุมชนเลยต้องเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อน เพราะเขาเป็นเจ้าของที่ รัฐไม่ใช่เจ้าของที่ ที่ผ่านมาเจ้าภาพคือชุมชนที่จะต้องดูแลกันเอง รัฐก็สามารถให้การสนับสนุนได้บ้าง เมื่อชุมชนมาบอก มาขอ แต่ก็จะไม่เหมือนกับการจัดสรรงบประมาณที่มีให้โรงเรียนที่มีประจำต่อเนื่อง ทุกปี เพราะส่วนนั้นเป็นหน้าที่ของภาครัฐโดยตรง คืออยู่ในการศึกษาภาคบังคับ งบประมาณก็จะถูกบังคับจัดสรรไปให้ โรงเรียนก็จะได้ทุกปี แต่ศูนย์เด็กเล็กจะเหมือนขอการสนับสนุน ขอไปเรื่อยๆ ขอได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้”
“พอเมืองมันเปลี่ยนไป ขยายใหญ่ขึ้น สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยน เริ่มมีปัญหาในเรื่องงบประมาณ เรื่องการพัฒนาครู และพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ที่ต้องปรับปรุง ซึ่งรัฐจะไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงเลย และต้องพึ่งพาหน่วยงานภายนอก เช่น สสส. ยูนิเซฟ หรือเครือข่ายเอกชนต่างๆ ในการจัดอบรม แต่ทั้งหมดนั้นยังไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐ”

นั่นคือปัญหาหลักของการเริ่มต้นแก้ไขปัญหานี้ มาถึงตรงนี้ เราก็แอบคิดเห็นอยู่ในใจว่า อาจจะเป็นความโชคดีที่เรามีรองผู้ว่าฯ เป็นคุณพ่อ และเป็นคนที่เข้าอกเข้าใจการเติบโตและพัฒนาการของมนุษย์ รวมถึงเห็นความสำคัญของการพัฒนาเมืองว่ามันจะต้องเริ่มจากการพัฒนาคน ทำให้ของเด็กๆ ปฐมวัยในกรุงเทพ ในวาระนี้ถูกนับรวมเป็นภารกิจของภาครัฐเสียที
แต่นั่นก็ไม่ใช่ความท้าทายเดียวที่ต้องเผชิญ
สามในสี่ของเด็กหายไปจากระบบ
ข้อมูลจากกรุงเทพมหานครแสดงให้เห็นว่า จากเด็กอายุ 0-6 ขวบประมาณ 300,000 คนในกรุงเทพมหานคร แต่มีเพียงแปดหมื่นกว่าคนเท่านั้นที่มีชื่ออยู่ในระบบ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก
“พูดง่ายๆ คือตอนนี้เรามีเด็กที่อยู่ในระบบ ประมาณ 1 ใน 4 ของจำนวนเด็กทั้งหมด เพราะฉะนั้น ตอนนี้เรามีปัญหา 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเด็กยังไม่อยู่ในระบบมากกว่าอยู่ในระบบ นี่ขนาดเป็นจำนวนเด็กที่รวมทั้งโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กแล้ว นั่นหมายความว่าเด็ก 4 คนจะได้เรียนเพียงแค่ 1 คน อีก 3 คนที่ไม่รู้อยู่ไหน นี่คือปัญหาที่แรก ส่วนปัญหาที่ 2 คือ คุณภาพ”

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดชี้ให้เห็นว่า ช่วงอายุแรกเกิดถึง 5 ขวบ เป็นช่วงที่สมองสร้างการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทมากกว่า 1 ล้านการเชื่อมต่อต่อวินาที ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลยในช่วงอื่นของชีวิต การลงทุนในการศึกษาปฐมวัยจึงให้ผลตอบแทนสูงสุด โดยสามารถคืนกลับมาถึง 7 เท่าของการลงทุนเมื่อเด็กเหล่านั้นโตเป็นผู้ใหญ่
ในขณะที่ประเทศนอร์ดิกอย่างเดนมาร์ก ฟินแลนด์ และสวีเดน ได้ลงทุนในการศึกษาปฐมวัยถึง 1.2-1.4% ของ GDP และมีเด็กเข้าถึงการศึกษาก่อนวัยเรียนมากกว่า 90% ประเทศไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายการเข้าถึงอย่างรุนแรง
และนั่นคือผลกระทบที่อาจจะไม่เห็นได้จากการละเลยเด็กปฐมวัยในวันนี้ แต่เจเนอเรชั่นถัดไปเขาจะได้รับผลกระทบนี้อย่างแน่นอน
พลังของชุมชนฐานราก : ยิ่งชุมชนเข้มแข็ง รัฐยิ่งต้องเดินเคียงข้าง
แม้จะมีข้อจำกัดและความท้าทายมากมาย แต่ศานนท์มองเห็นจุดเด่นของระบบชุมชนเป็นฐานอย่างชัดเจน

“ผมคิดว่าศูนย์เด็กเล็กที่ชุมชนเป็นฐาน มันเป็นอะไรที่ทรงพลังมาก เข้มแข็งสุด แล้วก็ผมว่าบางศูนย์นี่ ก้าวหน้ากว่าโรงเรียน กทม. อีก แล้วพอคุยกับครู ครูเข้าใจเรื่องเด็กแบบลึกซึ้งมาก เข้าใจไปถึงครอบครัวด้วย ครูเป็นคนของชุมชนเลย ครอบครัวทุกครอบครัวก็จะรู้จัก อันนี้เป็นความเข้มแข็งที่หาได้ยากจริงๆ ซึ่งถ้าเป็นการเริ่มจากรัฐ เป็นการสั่งการ ความผูกพันระหว่างศูนย์เด็กเล็กกับชุมชนแบบนี้ อาจเกิดขึ้นไม่ได้เลย”
ข้อดีนี้เห็นได้ชัดจากบทบาทของครูในศูนย์เด็กเล็ก ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงการสอน แต่เป็นเหมือน “พ่อแม่อีกคนหนึ่ง” ที่ดูแลเด็กในมิติที่ครอบคลุม
“ครูศูนย์เด็กทำงานเหมือนเป็นพ่อแม่อีกคนเลย” ศานนท์อธิบายด้วยความประทับใจ “ถ้าถามครูหนุ่ย เขาเดินตามบ้านเลยเพื่อที่จะไปดูว่าเด็กตกสำรวจไหม เด็กได้เข้าเรียนหรือเปล่า ไม่เข้าเรียนต้องทำยังไง ไม่มีใครสั่งให้ไปเลยนะ แต่เขาก็ไป”

งานวิจัยจากยูนิเซฟสนับสนุนแนวคิดนี้ โดยชี้ให้เห็นว่า การมีผู้ดูแลที่เข้าใจบริบทของครอบครัวและชุมชน สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ได้ดีกว่าระบบที่เป็นทางการเพียงอย่างเดียว
“ยิ่งการได้มาเห็นชุมชนแข็งแรงแบบนี้ ผมว่ามันเริ่มต้นถูกแล้ว หน้าที่ถัดไปคือ ภาครัฐจะช้อนมันขึ้นมายังไง ถึงจะทำให้ความเข้มแข็งนี้ไม่โดดเดี่ยว และเดินหน้าต่อได้อย่างดี ” เขาย้ำอีกครั้งถึงภารกิจที่รัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรีบเข้าไปสนับสนุน
“ศูนย์เด็กเล็กก็ไม่ได้เข้มแข็งทุกศูนย์ แต่มันเริ่มมาดีแล้ว คิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทำรากฐานตรงนี้ให้มั่นคง”

Mappa ได้แต่พยักหน้าหงึกหงัก แอบส่งแรงเชียร์ในใจให้ภารกิจนี้สำเร็จลุล่วง ด้วยเหตุว่าเราพูดคุยกันถึงประเด็นนี้มานาน ในระดับบุคคล ‘เด็กเล็ก’ ควรได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ในระดับชุมชน ‘ศูนย์เด็กเล็ก’ ควรเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่มีคุณภาพของพ่อแม่ และชุมชน ในระดับเมือง การพัฒนาต้นทุนอย่างมนุษย์นั้น คือคุณภาพของเมืองที่แท้จริง

เราพูดคุยปัญหานี้ในระดับนโยบายมานานแสนนาน แต่ไม่มีใครลงมือทำจริงจัง เพราะการแก้ปัญหาศูนย์เด็กเล็กของ กทม. เป็นการแก้กฎระเบียบที่ยุ่งยาก ระยะยาว และอาจนานเกินช่วงเวลาของการรับตำแหน่งในเชิงการเมือง ที่ผ่านมาจึงไม่ค่อยเห็นการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง
บทสนทนานี้ทำให้เรามีความหวัง
เด็กรอไม่ได้ จึงต้องมียุทธศาสตร์สองขาเดิน: แก้ได้เลยกับแก้ระยะยาว
เมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้ทันที ศานนท์จึงใช้กลยุทธ์ “สองขาเดิน”
ขาที่หนึ่ง: ขยายโรงเรียนให้รับเด็กตั้งแต่ 3 ขวบ
“เราก็ค้นหาวิธีการแก้แบบเริ่มจากสิ่งที่เราควบคุมได้ก่อน ก็คือเราก็ไปดูโรงเรียนในสังกัด กทม. แล้วให้เขาขยายช่วงอายุเด็กที่จะรับ คือจากรับ 4 ขวบ มาเป็น 3 ขวบ” ศานนท์เลือกแนวทางนี้เพราะเขาเห็นว่า รัฐจะสามารถเข้าไปช่วยดูแลเด็กได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และโรงเรียนเป็นขอบเขตอำนาจรัฐที่พอจะทำได้หากการแก้กฎระเบียบเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย

แม้กระนั้น วิธีการนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย “จากที่เราประชุมกันตั้งแต่ผมเข้ามาใหม่ๆ ทุกคนบอกว่าขยาย 3 ขวบเป็นไปไม่ได้ ยากมาก เพราะครูต้องใช้อีกทักษะนึงเลย คนละแบบกับที่เขาสอนอยู่ อายุเด็กแค่ปีเดียว แต่ความพร้อมและพัฒนาการเด็กในช่วงวัยนั้น ต่างและห่างกันมาก”
แต่ผลการทดลองปีแรกให้ความหวัง “ปีแรกที่เราเปิด มีโรงเรียนที่เอาด้วย 191 โรงเรียน จาก 437 โรงเรียนของกรุงเทพมหานคร มีเด็กที่สามารถเข้าไปเรียนได้ประมาณ 6,000-7,000 คน นั่นคือเรื่องแรกๆ ที่เราสามารถทำได้”
“แต่ความท้าทายถัดมาก็คือ เด็ก 3 ขวบบางคนยังดูแลตัวเองไม่ได้ ยังเข้าห้องน้ำไม่ได้ แต่ตอนนี้เมื่อเด็กเข้ามาอยู่ในระบบโรงเรียนแล้ว ก็ถือเป็นหน้าที่รัฐแล้ว เราก็สามารถจัดสรรงบประมาณแบ่งไปทำเรื่องของครู พัฒนาครู อะไรต่างๆ ได้แล้ว กลไกของงบประมาณมันก็เดินต่อได้” “ปีนี้เราเปิดเพิ่มได้อีก ถ้าจำไม่ผิดก็ 121 โรงเรียน” ศานนท์บอกกับเรา
ขาที่สอง: ร่างข้อบัญญัติใหม่เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
แต่มีขาข้างเดียวจะเดินไปได้ไกลอย่างไร เมื่อเป้าหมายของเขาไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ต้องแก้ปัญหาในเชิงคุณภาพและสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงด้วย ระหว่างขาที่ 1 เริ่มจะแข็งแรง เขาก็พัฒนากล้ามเนื้อขาที่สองไปพร้อมๆ กัน
“สิ่งที่เราทำคู่ขนานกันอยู่ก็คือ การเสนอกฎหมายใหม่ ที่จะทำให้ศูนย์เด็กเล็กเป็นภารกิจของ กทม.”
เราอาจจะเริ่มสงสัยว่า จริงๆ เราก็ใช้ยุทธศาสตร์เดียวคือเอาเด็กเล็กทั้งหมดไปอยู่สังกัดเดียวกับโรงเรียนเลยก็ได้นิ ไม่ต้องเสนอกฎหมายใหม่ให้วุ่นวาย แต่ศานนท์บอกกับเราว่า “ศูนย์เด็กเขามีความเฉพาะก็คืออยู่ในชุมชน มีความใกล้ชิด ผู้ปกครองไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงโรงเรียน เช้าส่งแล้วไปทำงาน เย็นก็รับกลับ ถ้างานเลิกดึกหรืออะไร ครูบางแห่งก็ยังช่วยดูแลได้ มันมีความใกล้ชิดกว่า สำหรับผม ผมเลยคิดว่านี่เป็นสิ่งจำเป็น”
ดังนั้น ข้อเสนอที่กำลังดำเนินการคือ “ตั้งข้อบัญญัติใหม่ เป็นข้อบัญญัติศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ให้สิ่งนี้เป็นภารกิจของ กทม.”
อุปสรรคที่ยังต้องลุ้น
แต่นั่นก็ไม่ใช่ทางออกที่ปูด้วยกลีบกุหลาบ เดินง่ายเหมือนเดินบนก้อนเมฆ “ตอนนี้ร่างมาใช้เวลาประมาณครึ่งปีแล้ว 6-7 เดือน สิ่งที่เป็นกังวลคือว่ามันเป็นเรื่องใหม่ แล้วก็ยังมีหลายข้อที่ต้องถกเถียงกัน เพราะศูนย์เด็กเล็กหลายแห่งมันตั้งอยู่บนที่เอกชน การที่อยู่ดีๆ กทม. จะเข้าไปสนับสนุนเอกชนมันจะขัดต่อเรื่องของการเอาเงินหลวงไปอะไร”

นั่นคือส่วนที่เราต้องมาช่วยกันลุ้น และช่วยกันดูว่า ระเบียบใหม่นี้จะได้ผ่านไหม ศูนย์เด็กเล็ก กทม. จะยังอยู่ในวังวนเดิมหรือเปล่า หรือจะสามารถได้งบประมาณไปปรับปรุงพัฒนาสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่บางแห่งก็ไม่ได้มีงบประมาณซ่อมและสร้างมานานแล้ว
การพัฒนาคุณภาพ: ทำไปควบคู่กับการเพิ่มจำนวน
ศานนท์เน้นว่า การพัฒนาคุณภาพไม่สามารถรอได้ “สิ่งที่ต้องทำคู่ขนานเรื่องปริมาณก็คือเรื่องคุณภาพ เพราะว่ามันรอไม่ได้” เขาย้ำ “ต่อให้เป็นภารกิจของ กทม. หรือไม่เป็นภารกิจของ กทม. เด็กก็ต้องได้รับความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพ”
การปรับปรุงในโรงเรียน: เริ่มจากครูและนักเรียน
การพัฒนาในโรงเรียนเริ่มจากการลดอัตราส่วนครูต่อเด็ก “แต่ก่อน ครูเด็กปฐมวัยนี่ 1 ต่อ 30 ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก ครูเขาดูแลกันไม่ไหวเลย ตอนนี้เราค่อยๆ ลดลงมา ตอนนี้เป็น ครู 1 ต่อเด็ก 20 แล้วก็มีพี่เลี้ยงอีกคนหนึ่ง”
การอบรมครูก็สำคัญไม่แพ้กัน “เราทำให้ครูเข้าใจว่าสมองส่วนหน้า หรือ EF ของเด็กนี่สำคัญยังไง เราทำให้เขาเข้าใจว่า การเรียนรู้แบบไหนที่ส่งผลต่อการพัฒนาสมองส่วนหน้ามากที่สุด เรามีการอบรมเครื่องมือการสอน ให้สถาบันรักลูกมาช่วย ทางมหิดลมาช่วย”
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้อบรมไปประมาณครึ่งหนึ่งแล้ว “ประมาณ 265 โรงเรียน ที่ตอนนี้ครูจะต้องเอาแผนการสอนที่ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงจากการอบรมต่างๆ ส่งมาให้ กทม. ก็คือพูดง่ายๆ อบรมมาแล้วตลอดปี แต่ว่ามี 265 โรงเรียนนี้ที่เขาจะเขียนแผนใหม่ แล้วเราก็จะมีทีมไปตรวจแผนการสอนอย่างละเอียดและช่วยแนะนำครูทุกโรงก่อนที่จะเปิดเทอมช่วงพฤษภา”
การพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก: ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กว่า
“โรงเรียนนี่เราก็ทำไปส่วนหนึ่ง ส่วนศูนย์เด็กมันท้าทายกว่า เพราะว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าภาพ ตรวจก็ไม่ได้ บังคับก็ไม่ได้ ให้ทุนก็ไม่ได้”
วิธีแก้ไขคือการรวบรวมเครือข่าย “ที่ผ่านมามีโปรเจกต์เยอะมาก ถ้ามาลิสต์มีเป็นร้อยโปรเจกต์เลย แต่สุดท้ายคำตอบอยู่ที่ครูศูนย์เด็กเล็กด้วยกันนี่แหละ”

“เราชวนศูนย์เด็กเล็กทั้งหมดมา แล้วก็ชวนครูที่เขาน่าจะผ่านหลายๆ หลักสูตรมาแล้ว มาเป็น ‘ครูแม่ไก่’ ให้กับศูนย์เด็กอื่นๆ ในละแวกเดียวกัน ให้เขาเป็นพี่เลี้ยง” แล้วก็ชวนให้เขาทำหลักสูตรปฐมวัยกันขึ้นมา
หลักการในการเขียนหลักสูตรคือ “ก็ต้องไม่เขียนแบบนักวิชาการ มันต้องเขียนให้ง่ายๆ เหมือนกับว่าชาวบ้าน แบบพี่ๆ น้าๆ ป้าๆ เขาอ่านดู แล้วมันรู้เรื่อง”
นั่นคือการลุยไปข้างหน้าแบบ “เด็กรอไม่ได้” หากเราใช้เวลา 2-3 ปี หรือนานกว่านั้นในการแก้ข้อบัญญัติต่างๆ ในทางกฎหมาย เราก็จะเสียทรัพยากรที่เป็นต้นทุนสำคัญของการพัฒนาเมืองและพัฒนาชาติไปอีกหลายรุ่น
เรื่องเล่าจากสนาม: การเปลี่ยนแปลงที่โรงเรียนวัดบางปะกอก
หนึ่งในเรื่องเล่าที่น่าประทับใจที่สุดเกิดขึ้นที่โรงเรียนวัดบางปะกอก ที่มีครูคนหนึ่งที่ดูเหมือนช่วงแรกๆ เขาต่อต้านวิธีการเรียนรู้แบบ play-based แบบที่เราไปอบรมให้อย่างเต็มที่มากๆ เลยนะ

“เขายืนกรานบอกว่าเขาจะให้เด็กคัดลายมือ เขาจะให้เด็กต้องรีบอ่านรีบเขียนให้ได้ เขาจะไม่สนใจเรื่องวิธีการเล่น” ศานนท์เล่าถึงความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงความคิด
การเปลี่ยนใจที่น่าประทับใจ
แต่เมื่อเวลาผ่านไป พอเขาเห็นผลลัพธ์จากเด็กของเขาที่ผ่านการเรียนแบบ play-based ซึ่งกลายเป็นเด็กที่มีสมรรถนะดีขึ้น มีอารมณ์ดี ร่าเริง และสามารถขึ้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้ดี เด็กที่ผ่านห้องเรียนแบบ play-based สามารถเข้าห้องเรียนพิเศษ (EP) ได้ถึง 90% เมื่อเทียบกับปกติที่ได้เพียง 20%
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนให้ครูที่ต่อต้านคนนี้จัดห้องเรียนแบบเปิดที่ให้ครูมาสังเกตการณ์ โดยครูท่านนี้ต้องจัดการเรียนการสอนแบบ play-based ด้วยตัวเอง
“ปรากฏว่าครูที่มาสังเกตการณ์ก็ส่งพลังบวกให้เขา ซึ่งมันทำให้เขารู้สึกมั่นใจว่าเขามาถูกทาง แล้วเด็กที่แบบเรียนในห้องก็สนุก แล้วรู้สึกแบบ happy กับการเรียนการสอนแบบนี้” ศานนท์เล่าด้วยความภาคภูมิใจ “ก็กลายเป็นว่าทั้งโรงเรียนเปลี่ยน ครูทั้งหมดในโรงเรียนให้เข้าใจวิธีการสอน และกลับมาโฟกัสที่เด็กได้”
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสนับสนุนแนวคิดนี้ โดยชี้ให้เห็นว่า การเรียนรู้ผ่านการเล่นไม่เพียงช่วยพัฒนาทักษะทางความคิด แต่ยังส่งผลต่อการพัฒนาทางสังคมและอารมณ์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเรียนรู้ในระยะยาว
พ่อคนหนึ่งที่อยากเห็นเมืองและสังคมเติบโตไปด้วยกัน
ในฐานะที่เป็นทั้งผู้บริหารและพ่อของเด็ก ศานนท์มีประสบการณ์ตรงที่ทำให้เขาเข้าใจปัญหาได้ลึกซึ้ง
“ผมก็คิดว่ามันเป็นกระดุมเม็ดแรกที่จะทำให้เด็กมันมีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพมันอยู่ที่การเลี้ยงดูเด็กเล็กนี่แหละ เพราะโตไปทุกอย่างมันสะสมจากตอนเด็ก พอเราเห็นศูนย์เด็กที่อาจจะยังทำได้ไม่ดี เราก็จะรู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของศูนย์เด็กไม่ดี แต่มันคือเรื่องของอนาคตของคนที่จะไม่ดีตามไปด้วย”
“ผมเลยคิดว่าถ้าเราสามารถทำศูนย์เด็กให้ดี มันก็เหมือนกับเรากำลังจะส่งต่อทรัพยากรมนุษย์ที่ดีต่อไป ก็เหมือนที่ผมมีลูก ผมก็อยากจะให้ลูกมีชีวิตที่ดี ผมว่าทุกคนที่มีลูก อยากให้ลูกอยู่ในศูนย์เด็กที่ดี อยู่ในพื้นที่ของการเลี้ยงดูเขาที่ดีที่สุด มันเลยเป็นสิ่งที่ผมคิดมาตลอดว่าเราน่าจะทำได้ดีกว่านี้”
นี่คือเสียงจากใจของพ่อคนหนึ่งที่เลือกใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อลูกของเขาและลูกของเราทุกคน
เพราะในท้ายที่สุด ลูกเราคนเดียวรอดไม่ได้จริงๆ
อ้างอิง
กรุงเทพมหานคร. (2567). รายงานข้อมูลศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร. สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2566). รายงานการจัดเวทีสานพลังเพื่อคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ: สสส.
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2567). รายงานการเกิดและการตายประจำปี 2567. กรุงเทพฯ: สำนักงานสถิติแห่งชาติ.
European Commission. (2019). Quality early childhood education and care for all: Study on the implementation of the Barcelona objectives. Luxembourg: Publications Office of the European Union.
Nordic Council of Ministers. (2022). Nordic approaches to evaluation and assessment in early childhood education and care. Copenhagen: Nordic Council of Ministers.
OECD. (2021). Starting Strong 2021: Early Childhood Education and Care. Paris: OECD Publishing.
Laaninen, M., Kulic, N., & Erola, J. (2024). Age of entry into early childhood education and care, literacy and reduction of educational inequality in Nordic countries. European Societies, 26(5), 1333-1362.
หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์นี้ดำเนินการในเดือนพฤษภาคม 2568 ข้อมูลและสถิติต่างๆ เป็นไปตามข้อมูล ณ เวลาที่สัมภาษณ์ สำหรับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับความคืบหน้าของข้อบัญญัติและโครงการต่างๆ ควรติดตามจากแหล่งข่าวอย่างเป็นทางการของกรุงเทพมหานคร