นกฮูกที่ไม่เคยบิน : เพราะเรามีจังหวะที่แตกต่างกันในการกางปีกและโบยบิน

นกฮูกที่ไม่เคยบิน : เพราะเรามีจังหวะที่แตกต่างกันในการกางปีกและโบยบิน

“ลึกเข้าไปในป่า มีนกฮูกตัวหนึ่งเป็นนกฮูกที่ไม่เคยบิน ทั้งๆ ที่นกฮูกตัวอื่นก็บินไปทุกแห่งหน แต่นกฮูกตัวนี้ไม่เคยบิน ไม่ยอมบิน” 

เรื่องราวของ ‘นกฮูก’ ตัวหนึ่งเริ่มต้นขึ้นบนผืนป่าสีสดสวยในหนังสือนิทานภาพที่มีชื่อว่า นกฮูกที่ไม่เคยบิน ผลงานการเขียนของ ‘ครูแจนแจน’ และภาพวาดฝีมือ ‘ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์’ ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Barefoot Banana เล่าเรื่องราวว่าด้วยนกฮูกตัวหนึ่งที่ไม่ยอมบิน ในขณะที่เพื่อนนกฮูกทั้งหลายต่างก็บินกันได้ทั้งนั้น เจ้านกฮูกเองก็ได้ทดลองเดินทางหลากหลายแบบ ทั้งเดิน กระโดด ขับรถ พายเรือ ขึ้นรถไฟ ว่ายน้ำ วิ่ง แต่อย่างไรเสีย สิ่งที่ไม่ยอมทำเลยคือการ ‘กางปีก’ ออกมาแล้วโบยบินขึ้นไปบนท้องฟ้าเหมือนเพื่อนนกฮูกตัวอื่นๆ

เรื่องราวของหนังสือภาพเล่มนี้สั้นกระชับและไม่ได้มีโครงเรื่องสลับซับซ้อน ทว่าก็เล่าเรื่องที่ลึกลงไปในชีวิตคนเราอย่างเรื่องของการ ‘เติบโต’ โดยเฉพาะการประเมินการเติบโตหรือการเรียนรู้ที่ยึดโยงกับธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ได้อย่างน่าสนใจ 

คอลัมน์เล่านิทานก่อนนอน จึงอยากหยิบเล่มนี้ขึ้นมาชวนผู้อ่านออกเดินทางไปกับเจ้านกฮูกน้อย ขยับตัวไปพร้อมกับเขา ขึ้นรถไฟไปด้วยกัน ลองวิ่งและเดิน เพื่อค้นหาพลังของการเติบโตที่อาจซุกซ่อนอยู่สักแห่งหนใดในจังหวะหนึ่งของชีวิตเจ้านกน้อยตัวนี้ รวมถึงชีวิตของพวกเรา

เรามีวิธีการค้นพบและจุดเริ่มต้นที่แตกต่าง

การที่เจ้านกฮูกออกเดินทางด้วยวิธีการต่างๆ ที่ไม่ใช่การบินแบบเพื่อนๆ ของเขา ทำให้เราเห็นการเติบโตของนกฮูกตัวนี้ที่ไม่ได้ ‘เริ่มต้น’ จากการกางปีก แต่เริ่มต้นเรียนรู้การเติบโตอีกขั้นของชีวิตผ่านการลองเข้าไปอยู่ในโลก ‘ประสบการณ์’ แบบต่างๆ เริ่มค้นหาและประเมินตัวเองผ่านการเคลื่อนตัวด้วยหลากวิธีการ แล้วเปลี่ยนวิธีการไปเรื่อยๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นธรรมชาติของคนเราที่มีวิธีการเรียนรู้ด้วยกระบวนการที่แตกต่างและมีเส้นทางที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด และไม่จำเป็นจะต้องเร่งรัดให้สามารถเติบโตในแบบเดียวกันทั้งหมด ดังนั้น แม้ว่านกฮูกหลายตัวจะเริ่มเรียนรู้ปีกและการเติบโตของพวกเขาผ่านการบิน ก็ไม่ได้หมายความว่านกฮูกที่ไม่เคยบินจะไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้บางอย่างจากชีวิตของเขาเลย เพราะในท้ายที่สุดแล้วการขับรถ เดิน กระโดด วิ่ง ก็คือการเรียนรู้และเติบโตผ่านส่วนต่างๆ ที่อาจไม่ใช่เฉพาะทางปีก แต่เป็นการเรียนรู้ผ่านขาสองขาที่ลงน้ำหนักกับพื้นแล้วลองกระโดดขึ้น การก้าวย่างไปข้างหน้าด้วยสองเท้า การใช้ทั้งร่างกายว่ายไปในท้องน้ำที่กว้างใหญ่ การยืนและนั่งบนรถหรือรถไฟ ซึ่งในทุกๆ วิธีการของเขาล้วนเป็นการเรียนรู้ส่วนต่างๆ ที่นำมาซึ่งการเติบโตในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งสำคัญไม่แพ้การกางปีกและโบยบินบนท้องฟ้าเช่นกัน 

ใครสักคนที่คอยสังเกตและเชื่อมั่นว่าสักวันเราจะบิน 

เหตุการณ์สำคัญที่ดูเหมือนว่าเป็นจุดเปลี่ยนของเรื่อง คือการพบเจอกันของ ‘หมูบินได้’ กับ ‘เจ้านกฮูกที่ไม่เคยบิน’ ซึ่งกลายเป็นช่วงเวลาอันนำไปสู่การเติบโตก้าวสำคัญของเจ้านกฮูก 

“สวัสดีเจ้านกฮูก ทำไมเจ้าถึงไม่บินเหมือนนกฮูกตัวอื่นๆ ล่ะ”

“ก็เพราะฉันไม่เคยบินน่ะสิ” นกฮูกที่ไม่เคยบินตอบ 

“เจ้าไม่ชอบอยู่บนท้องฟ้าเหรอ” หมูบินได้ถามต่อ

“ไม่รู้สิ ฉันไม่เคยขึ้นไปบนนั้น” 

บทสนทนาระหว่างหมูบินได้ที่บินผ่านมาในระหว่างที่นกฮูกกำลังทดลองเดินทางด้วยวิธีการวิ่งนั้น ดูเหมือนว่าจะไม่สำคัญอะไร เหมือนเป็นการถามไถ่ของคนเราเวลาพบเจอกัน แต่สำหรับช่วงเวลาที่อยู่ในวัยของการค้นหาและอยู่ในกระบวนการเติบโตครั้งสำคัญนั้น จำเป็นไม่น้อยที่เราอาจจะต้องมีใครสักคน ‘มองเห็น’ เรื่องยากที่เรากำลังทำงานกับมันอยู่ การที่หมูบินได้สังเกตเห็นนกฮูกที่ไม่เคยบินตัวน้อยตัวนี้ในบรรดานกฮูกจำนวนมหาศาลที่ต่างก็กางปีกบิน คือการมองเห็นใครสักคนที่กำลังทำงานกับโลกการเติบโตของเขาในวิธีที่แตกต่างออกไปแล้วเข้ามาทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง คำถามของหมูบินได้ที่ว่า “เจ้าไม่ชอบอยู่บนท้องฟ้าเหรอ” ทำให้เราเห็นว่า หมูบินได้ไม่ได้ตัดสินนกฮูกว่าบินไม่เป็นหรือบินไม่ได้ หากแต่ถามถึงสาเหตุของการไม่กางปีกบินต่างหาก คำถามนี้มันจึงบรรจุความเชื่อมั่นในระดับหนึ่งว่านกฮูกน้อยตัวนี้ย่อมบินได้อย่างแน่นอน เพียงแต่อาจมีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้เขายังไม่เชื่อมั่นที่จะกางปีกสวยออกมา 

เมื่อนกฮูกที่ไม่เคยบินตอบคำถามนี้ว่า “ไม่รู้สิ ฉันไม่เคยขึ้นไปบนนั้น” ก็ทำให้เราเห็นว่าลึกลงไปคือความไม่แน่ใจในจังหวะใหม่ที่กำลังจะก้าวออกไป เจ้าหมูบินได้จึงชวนให้นกฮูกที่ไม่เคยบินขึ้นบนหลังของเขาแล้วบินผ่านท้องฟ้างาม ซึ่งในภาพวาดและสีสันคมชัดของหนังสือเล่มนี้ จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกมองเห็นท้องฟ้าในมุมกว้างไปพร้อมกับเจ้านกฮูกเลยละ 

การที่หมูบินได้พานกฮูกขึ้นขี่หลังแล้วบินกลับรัง ก็เหมือนกับใครสักคนที่คอยมองการเติบโต คอยสังเกตจังหวะของพัฒนาการ แล้วหาจังหวะพาไปพบความเป็นไปได้ที่ซุกซ่อนอยู่ในชีวิต คนคนนั้นอาจหมายถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง ครอบครัว คุณครูที่เข้าใจจังหวะการเติบโตของคนเราที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และเข้าไปทำความเข้าใจธรรมชาติของการเติบโตในตัวใครคนหนึ่งนั้น ก่อนจะเข้าไปสนับสนุนหรือมอบความเชื่อมั่นในวิธีการที่สอดรับกับตัวเขาโดยไม่ตัดสินตั้งแต่แรกว่าเด็กคนนั้นแปลกแยกออกไป หรือไม่มีความสามารถในการโบยบินไปยังท้องฟ้าใหม่ในโลกของการเติบโต 

หนังสือเล่มนี้ไม่เล่าอะไรผ่านภาษาอีกเลยหลังจากการเดินทางบนท้องฟ้าครั้งแรกบนหลังของหมูบินได้ แต่เราจะต้องทึ่งกับตอนจบของเรื่องในเทคนิคพิเศษที่ถูกออกแบบซุกซ่อนไว้ในหนังสือนิทานเล่มนี้ ซึ่งเป็นวิธีการเล่าเรื่องที่มีพลังมากพอให้เราเห็นว่า การเติบโตครั้งสำคัญและทรงพลังของนกฮูกที่ไม่เคยบินตัวนั้นได้เดินทางมาถึงแล้ว ในจังหวะที่สวยงามที่สุดของเขาเอง 

เมื่อเห็นเรื่องราวการเรียนรู้ของนกฮูกที่ไม่เคยบินแล้วพลันนึกถึงโลกการเรียนรู้ในสังคมของเราที่ผูกติดอยู่กับการตัดสินและประเมินในแนวทางแบบเดิมเพียงแบบเดียว ซึ่งมักจะคาดหวังว่า

เด็กทุกคนจะต้องอ่านออกเขียนได้ในเวลา ‘พร้อมกัน’

ด้วยวิธีการ ‘แบบเดียวกัน’

นักเรียนจะต้องสอบผ่านในข้อสอบ ‘ชุดเดียวกัน’

ตอบคำถามด้วยคำตอบ ‘แบบเดียวกัน’

เมื่อเติบโตขึ้นมาก็ต้องรีบประสบความสำเร็จใน ‘ช่วงเวลาเดียวกัน’ 

ในขณะที่โครงสร้างสังคมที่ครอบทับอยู่ยังเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ จะว่าไปแล้ว โลกแบบนั้นคงจะเป็นโลกที่น่าเศร้าไม่น้อยสำหรับนกฮูกที่ไม่เคยบินตัวนั้น ที่จริงๆ แล้วเปี่ยมด้วยพลังการเติบโตมหาศาลซุกซ่อนอยู่ แต่ไม่อาจมีพื้นที่ในการทดลองเรียนรู้ตัวเองในแบบที่หลากหลายเพื่อให้เขาค้นพบจังหวะการโบยบินที่ดีที่สุดของตัวเอง ดังนั้นสังคมที่เข้าใจธรรมชาติการเติบโต ย่อมสร้างนิเวศการเรียนรู้ที่โอบรับการเติบโตของผู้คนไว้ตั้งแต่วัยเตาะแตะ ออกแบบระบบการศึกษาและสังคมที่มองเห็นคนอย่างมีชีวิตจิตใจ ไม่รู้สึกว่าสูญเสียความกล้าลองผิดลองถูกไปในช่วงวัยต่างๆ ของการเติบโต 

Writer
Avatar photo
ศิรินญา สุวรรณโค

มีฝีมือในการทำอาหารประเภทยำ และอยู่อย่างมีความหวังเสมอ ในวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts