“การแปลเพลงการ์ตูน” อาจไม่ใช่คำแปลที่สวยที่สุด แต่ตอบทุกโจทย์ได้มากที่สุด

“การแปลเพลงการ์ตูน” อาจไม่ใช่คำแปลที่สวยที่สุด แต่ตอบทุกโจทย์ได้มากที่สุด

  • เพลงการ์ตูนดิสนีย์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำวัยเด็กของใครหลายคน และกับบางคน มนต์เสน่ห์ของบทเพลงเหล่านั้นก็ยังไม่เสื่อมคลาย ฟังตอนเด็กแต่จดจำเนื้อเพลงได้จนถึงตอนโต
  • พี่จ้อน – ธานี พูนสุวรรณ คือผู้อยู่เบื้องหลังการแปลเพลงดังของการ์ตูนจากค่ายดิสนีย์หลายบทเพลง ไม่ว่าจะเป็น เงา ที่ประกอบภาพยนตร์ Mulan อยู่ในโลกเธอ ที่ประกอบภาพยนตร์ Little Mermaid หรือเพลงยอดฮิตของวัยรุ่นฟันน้ำนมเมื่อ 10 ปีก่อนอย่าง ปล่อยมันไป ที่ประกอบภาพยนตร์ Frozen รวมไปถึงเพลงการ์ตูนและละครเวทีอื่น ๆ อีกมากมาย
  • “พี่มองว่างานที่ทำอยู่มันคือการแก้ปัญหา เพราะหน้าที่ของเราคือสื่อสารตามภาพยนตร์หรือการ์ตูนต้นฉบับให้ได้มากที่สุด” เพลงบางท่อนไม่สามารถใช้คำซ้ำหรือคำคล้องจองแบบต้นฉบับได้ ภาษาที่สวยที่สุดอาจไม่สามารถสื่อความเป็นตัวละครออกมาได้ดีที่สุดและยังเข้าถึงกลุ่มคนดูได้ไม่ครอบคลุม การแปลเพลงมีหลายอย่างให้ต้องคำนึง งานของนักแปลเพลงจึงไม่ใช่การแปลสวยที่สุด แต่คือการตอบทุกโจทย์ได้มากที่สุด ไม่ว่าโจทย์นั้นจะเป็นโจทย์ของค่าย ผู้แต่ง นักร้อง ตัวละคร หรือคนดูก็ตาม

เราเป็นคนหนึ่งที่ความทรงจำวัยเด็กนั้นเต็มไปด้วยการ์ตูน โดยเฉพาะการ์ตูนจากค่ายดิสนีย์ ทั้ง Little Mermaid, Beauty and the Beast, Mulan หรือ The Hunchback of Notre Dame ก็ล้วนแต่เป็นการ์ตูนที่ผุดพรายขึ้นมาเมื่อนึกถึงความทรงจำวัยเด็กทั้งนั้น และเราเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงเป็นเหมือนกัน

วันเวลาผ่านไป เราอาจลืมเลือนเนื้อเรื่องไปบ้างและไม่ได้อยากเป็นแอเรียล เบลล์ หรือมู่หลานอีกต่อไปแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เรายังคงจำได้แม่นยำ คือเนื้อเพลงภาษาไทยของการ์ตูนหลาย ๆ เรื่องที่เคยดู ถ้าคุณให้เราเล่าเรื่องมู่หลาน เราอาจต้องใช้เวลานึกอยู่บ้าง แต่ถ้าคุณบอกเราว่า ร้องเพลงจากเรื่องมู่หลานให้ฟังหน่อย เราสามารถกวาดไม้กวาดมือและร้อง “ตัวเรานี้ อาจจะเป็นเจ้าสาว แสนดีไม่ได้ คงจะอายทั้งครอบครัว” ได้ทันทีทันใด

ยิ่งโต ความหลงใหลในเนื้อเพลงภาษาไทยของการ์ตูนที่เราเคยฟังในวัยเด็กก็ยิ่งมากขึ้น อยากรู้ว่าใครกันที่เป็นคนแปลเพลงหลาย ๆ เพลงออกมาให้มีภาษาที่ไพเราะได้โดยไม่ได้ผิดแผกจากต้นฉบับนัก เขาคนนั้นเคี่ยวกรำความสามารถด้านภาษาของตัวเองมากี่ปีกว่าจะแปลให้ฟังดูไหลลื่นแบบนี้ได้ และทำอย่างไร ถ้อยคำของเขาถึงได้ครองใจเราตั้งแต่วันที่เรายังอ่านหนังสือไม่ออกและไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบางคำที่เขาใช้นั้นแปลว่าอะไร และมนต์เสน่ห์ของคำเหล่านั้นก็ยังไม่เสื่อมคลายแม้กระทั่งตอนโต

พี่จ้อน – ธานี พูนสุวรรณ คือชื่อของผู้ที่อยู่เบื้องหลังเพลงฉบับภาษาไทยของการ์ตูนมากมายที่ครองใจใครหลายคน ผลงานของเขามีตั้งแต่การแปลเพลงการ์ตูนดิสนีย์ เช่น Little Mermaid, Mulan, Hercules, Tangled, Frozen, The Hunchback of Notredame, Moana เพลงการ์ตูนดรีมเวิร์กส์อย่าง The Prince of Egypt หรือการ์ตูนจากทเวนตี เซนจูรี ฟ็อกซ์ อย่าง Anastasia ลามไปจนถึงเพลงละครเวที เช่น มิสไซง่อน และนอกจากเป็นผู้แปลเพลงแล้ว พี่จ้อนยังเป็นทั้งนักแสดง นักร้อง และผู้ดูแลการร้องให้กับละครเวทีหลาย ๆ เรื่องด้วยเช่นกัน

เบื้องหลังการแปลเพลงหลายเพลงการ์ตูนหลาย ๆ เพลงให้กลายเป็นเพลย์ลิสต์เพลงโปรดตลอดกาลของเราจะเป็นอย่างไร ในที่สุดเราก็ได้มีโอกาสถามพี่จ้อนแล้ว

งานอดิเรกที่กลายเป็นงานหลัก

การเป็นนักแปลเพลง (การ์ตูน) เป็นอาชีพในฝันของพี่จ้อนหรือเปล่า

ตอนนั้นคิดไม่ออกด้วยซ้ำว่าจะทำอาชีพอะไร คำว่า “แปลเพลงการ์ตูน” มันไม่มีอยู่ในหัวเลย รู้แค่ว่า เราชอบอันนี้ อยากรู้เรื่องนี้ อยากเรียนอันนี้ แค่นั้นเลย

ตอนเด็ก ๆ พี่จ้อนมีความสนใจเรื่องอะไร

ตอนเด็ก ๆ สักสี่ขวบ แม่เล่าว่าพี่ร้องเพลง ลาสาวแม่กลอง ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ร้องถูกไหมไม่รู้แต่ร้องจนจบเลย ด้วยความที่เราชอบดนตรี ชอบการแสดง มันก็อยู่ในตัวเราตั้งแต่เด็กโดยไม่รู้ตัว สมัยที่อยู่โรงเรียนเราก็สมัครเข้าไปอยู่ในวงออเคสตราของโรงเรียน แล้วก็ไปฝึกอ่านโน้ต ชอบภาษาด้วย สนใจทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษก็เลยค่อนข้างให้เวลา หาหนังสืออ่านเอง เราเลยค่อย ๆ สะสมความรู้พวกนี้มา

มีการใช้ภาษาในหนังสือเล่มไหนหรือนักแปลคนไหนที่ชอบเป็นพิเศษไหม

ตอนเด็ก งานที่ได้อ่านเยอะ ๆ คืองานของ เสฐียรโกเศศ กับ นาคะประทีป พวกพันหนึ่งทิวา อาหรับราตรี หนังสือแปล หนังสือเก่า ๆ เป็นหนังสือที่พ่อเก็บไว้ในตู้ที่บ้าน ช่วงปิดเทอมฤดูร้อนเราไม่มีอะไรทำก็หยิบมาอ่าน ซึ่งภาษาค่อนข้างยาก เป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่อ่าน คำศัพท์เราก็รู้บ้างไม่รู้บ้าง แต่มันได้ซึมซับลักษณะของวรรณกรรม คำ หรือว่าฉันทลักษณ์ค่อนข้างเยอะ หรือนิทานกริมม์ ซึ่งตอนนั้นผู้แปลน่าจะเป็นคุณอาษา ขอจิตต์เมตต์ สำนวนจะเป็นยุคเก่ากว่าที่เราอยู่ จะมีคำกวีหลาย ๆ อันที่ผ่านตาเรา

ความรู้ด้านดนตรี พี่จ้อนเรียนรู้ด้วยตัวเองเลยหรือเปล่า

ช่วงที่เรียนในโรงเรียน พี่หัดเล่นฟลุตกับอาจารย์ธวัชชัย นาควงษ์ และเรียนดนตรีกับอาจารย์สุทิน ศรีณรงค์ พอจิ้ม ๆ โน้ต กดคอร์ดได้บ้าง ส่วนหนึ่งจะเป็นการเรียนเอง ตอนที่ไปร้องเพลงก็จะเรียนกับอาจารย์อนุชิต นันทขว้าง ก็พอจะรู้บ้าง ตอนที่อยู่มหาวิทยาลัยไปเรียนกับอาจารย์บรูซ แกสตัน ท่านสอนการอ่านโน้ตที่คณะอักษรฯ เราเรียนวิทยาศาสตร์แต่ก็แอบไปลง ก็ได้ความรู้จากตรงนั้นด้วย

มีนักร้องคนโปรดไหม

สมัยนั้นที่เราชอบมีฟังเพลงป๊อป เพลงฝรั่ง เราก็ได้เรียนภาษาไปในตัว ไม่ได้มีคนที่ชอบมาก ๆ แต่เราจะเลือกฟังคนที่เขาร้องแล้วเขาสื่อสารกับเรา ที่รู้สึกว่าคำของเขามีความหมาย

พี่จ้อนมาเป็นนักแปลเพลงได้ยังไง

พี่จบวิทยาศาสตร์ที่จุฬา ซึ่งเราก็พอเรียนได้ แต่มันไม่ได้เป็นสิ่งที่เราชอบที่สุด ดนตรีและภาษาคือสิ่งที่เราชอบและเก็บไว้เป็นงานอดิเรก แต่พอเรียนจบแล้วเราก็คิดว่าวิทยาศาสตร์มันไม่น่าใช่ที่ของเรานะ เรียนได้แต่ไม่ได้ชอบขนาดนั้น

พอจบก็มีโอกาสได้ไปร้องเพลงการ์ตูนของวอลต์ ดิสนีย์ ซึ่งเป็นช่วงแรก ๆ ที่มีการพากย์ภาษาไทยเป็นเรื่องเป็นราว อาจารย์อนุชิต นันทขว้างก็พาเข้าไปร้องเป็นคอรัส พอช่วงหลังพวกพี่ ๆ เขามองหาคนมาควบคุมการร้อง พี่เคยอยู่วงคอรัส ก็เลยได้มาเป็นคนดูแลคอรัสของ Lion King พอเรื่องนั้นเสร็จก็ให้มาอยู่ทีมพากย์เสียงซึ่งตอนนั้นมีผู้กำกับการพากย์คือพี่ต๋อง – กฤษณะ ศฤงคารนนท์ ผู้กำกับการร้องคือพี่แหม่ม – สุกานดา บุณยธรรมิก แล้วบางทีก็ได้แคสต์เป็นตัวที่มีบทบ้าง

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่วิธีการในการแปลการ์ตูนก็อาจจะยังไม่เป็นรูปเป็นร่างมาก มันก็อาจจะมีการต้องแก้ต้องปรับเนื้อไปในระหว่างที่ทำ พี่ไม่แน่ใจแต่คิดว่าเราคงไปเสนอไอเดียเขาเยอะ เขาเลยบอกว่า ถ้าอยากจะทำก็ลองเลย เขาเลยส่งให้เราทำหนัง home video ที่เอากลับมาทำใหม่ มันคงเป็นงานที่ไม่ต้องควบคุมคุณภาพขนาดนั้น คือเรื่อง The Fox and the Hound พอเราทำได้โอเค เขาเลยให้เราไปทำภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องใหญ่

เรื่องแรกที่ได้ทำคือ The Hunchback of Notre Dame ตื่นเต้นมาก ตกใจมาก มันเป็นหนังใหญ่ พอเห็นเพลงก็รู้สึกว่าเพลงเขายิ่งใหญ่มาก เราเลยชวนเพื่อนอีกคนมาทำด้วยกัน แต่หลังจากนั้นเขาไปเรียนเมืองนอก เราเลยได้ทำเรื่องต่อมาคนเดียว นั่นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้แปลเพลงการ์ตูนจริง ๆ  

เบื้องหลังงานแปล ที่ไม่ได้มีแค่แปลให้ถูกความหมาย

การแปลเพลงการ์ตูนมีขั้นตอนการทำงานยังไง

ต้องดูหนังก่อนว่าเรื่องราวมันเป็นยังไงและโทนของหนังประมาณไหน คำศัพท์ที่เขาใช้ในเพลง ในบท หรือว่าสไตล์ของคนแต่งเป็นประมาณไหน แล้วก็พยายามที่จะแมตช์กับโทนและชนิดของคำที่ใช้ จินตนาการว่าผู้แต่งที่เป็นฝรั่งถ้าแต่งเป็นภาษาไทยมันน่าจะออกมาสีประมาณนี้ไหม แล้วก็พยายามใส่ลักษณะพิเศษของภาษาไทย

ภาษาไทยเราก็มีจุดเด่นที่ไม่เหมือนภาษาอังกฤษอยู่แล้ว อย่างวรรณยุกต์ ครุ ลหุ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญ เราต้องเข้าใจว่ามันจะไปอยู่ตำแหน่งไหนเมื่อเอาไปวางกับจังหวะดนตรี เพราะถ้าเราเอาไปไว้ไม่ถูกที่ เอาวรรณยุกต์ไปอยู่ในโน้ตที่มันไม่ใช่ หรือครุลหุ ที่มันไม่ไปกับความหนักเบาของดนตรี มันก็จะแปร่ง เพี้ยน ฟังไม่รู้เรื่อง เราก็ค่อย ๆ นึกไป บางทีนึกไม่ออกก็แปลเปล่า ๆ ไปก่อน ว่า message มันประมาณนี้ เราอยากได้ความหมายประมาณนี้นะ แต่พอเอามาร้องมันยังไม่ได้ เราก็ร้องไปเรื่อย ๆ บางทีมันต้องอาศัยเวลาให้มันกลืนเข้าไป และบางทีเราก็จะได้ยินคำเหล่านั้นออกมา เพราะฉะนั้นนอกเหนือจากความเข้าใจภาษา เราก็ต้องใช้สัญชาตญาณด้วย

เราต้องทำความรู้จักกับหนัง เพลง โทนของดนตรี และภาษา บางเรื่องเป็นการ์ตูนย้อนยุคก็จริง แต่ผู้สร้างเขาเลือกใช้คำที่ไม่ได้จริงไปกับยุคนั้น ในโลกมันก็ไม่มีใครพูดกันเป็นเพลงอยู่แล้ว ความสมจริงมันเลยไม่ได้อยู่ที่การใช้ภาษาให้ตรงยุค แต่อยู่ที่ message ที่เราจะสื่อกับคน

บางเพลงที่ภาษาอังกฤษใช้คำเดียวกัน เช่น let it go, let it go พี่จ้อนแปลเป็น ปล่อยมันไป อย่างที่เป็น หรือ there can be miracles when you believe, when you believe พี่จ้อนแปลเป็น อาจเกิดสิ่งอัศจรรย์ นั่นอยู่ที่ใจ ศรัทธาแห่งใจ พี่จ้อนมีวิธีการเลือกคำยังไง

ส่วนใหญ่เป็นความจำเป็น ในภาษาอังกฤษเขาใช้คำเดียวกันในเมโลดีที่แตกต่างกันได้ แต่ไทยทำไม่ได้ เพราะมันจะเป็น ปล่อยมันไป ปล่อยมั่นไป หรือ นั่นอยู่ที่ใจ หนั่นยู้ถี่ใจ ต้องแก้ปัญหา ต้องเอาความหมายใกล้ ๆ กันเพื่อให้ร้องแล้วมันสละสลวย ถ้าใช้คำเดียวกันได้ก็อยากใช้ เพราะในการแต่งเพลงบางครั้งเขาอยากให้เราจำคำนี้ ซึ่งถ้าใช้คำเดิม เพลงก็จะประสบความสำเร็จในแบบที่ผู้แต่งต้องการ แต่บางครั้งเราทำไม่ได้ หลัง ๆ พี่ก็หาวิธีด้วยการเอาคำที่มีวรรณยุกต์ผันแปรได้ง่ายมาใช้ให้มาก แต่ก็ต้องดูว่ามันยัดเยียดเกินไปไหม ถ้าคำนี้มันไม่ใช่ก็ต้องยอม เอาเมโลดีหลักตรงนั้นให้ได้ก่อน ส่วนใหญ่จะเป็นการแก้ปัญหามากกว่า

มีข้อจำกัดอะไรไหมในการแปลเพลง

เรื่องที่เราอาจจะไม่ได้พูดกันเยอะคือเรื่องของหนักเบา ซึ่งถ้าเราเน้นผิดมันจะฟังดูแปลกมาก เช่น คำว่าสมาชิก เสียงมันคือ เบา-หนัก-หนัก ถ้าเราพูดว่า ซัมมะชิก หนัก-เบา-หนัก มันจะสะดุดหู ถึงจะรู้ว่าเขาพูดอะไร แต่มันต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ตรงนี้ถ้าเราวางให้ถูกแต่ต้นมันจะทำให้คนฟังรับรู้ได้ง่ายและเร็ว นอกจากนั้นจะมีเรื่องสัมผัส หลัง ๆ พี่จะตามแพตเทิร์นของฝรั่งเยอะ เพราะบางทีเขาทำเพลงแบบเรียบเรียงใหม่ ที่เราแต่งแบบไทยมีสดับรับรองส่งอย่างดีก็พังเลย ถ้าเราตามต้นฉบับไปเลย มันจะมีชีวิตใหม่ของมันได้ เราพยายามเลือกใช้สัมผัสในซึ่งเป็นลักษณะเด่นมาก ๆ ของภาษาไทย ภาษาอังกฤษเขาทำไม่ค่อยได้หรอก เราจะใช้ตรงนี้เสริมเข้าไปเพื่อให้มีความสละสลวยในแบบไทยมากขึ้น

ทางค่ายมีการกำหนดมาไหมว่าเพลงบางเพลงต้องใช้คำบางคำเท่านั้น

เขาจะระบุไว้ให้ใน creative letter ว่า คำนี้กับคำนี้ในภาษาอังกฤษสัมผัสกันนะ แต่ก็อยู่ที่เราเหมือนกัน บางทีเขาไม่ได้กำหนดแต่เราก็จะเลือกใช้ตามเขา แต่ถ้าเรารู้สึกว่ามันใส่สัมผัสแบบไทยได้ก็ลองดู เขาก็ค่อนข้างให้อิสระเหมือนกัน มันจะมีบางเคสที่เป็นลูกค้าที่ไม่ได้ทำงานด้วยกันบ่อย จะระบุมาเลยว่าตรงนี้อยากได้สัมผัสกับตรงนี้นะ เราก็จะจัดให้เขาไป

จริง ๆ แล้วสมัยแรก ๆ ลูกค้าที่เป็นฝรั่ง อย่างดิสนีย์ เขาจะมีคอมเมนต์เกี่ยวกับคำที่เราใช้เหมือนกัน เพราะเขาไม่เข้าใจว่าเรามีวรรณยุกต์อย่างจัตวาที่ต้องเอื้อนจากต่ำไปสูง เขาจะสงสัยว่าโน้ตที่ไอเขียนมามันมีโน้ตเดียว ทำไมร้องสองโน้ต เลยต้องอธิบายเขาว่ามันเป็นวรรณยุกต์ของไทย ถ้าเราไม่เอื้อนแบบนี้ความหมายจะผิดนะ เขาก็เข้าใจ และหลังจากนั้นเขาก็ไม่ว่าอะไรอีกเลย เพราะเขามั่นใจว่าถ้าทำแล้วคนดูในตลาดเมืองไทยโอเคเขาโอเค

บางเรื่อง เช่น มู่หลาน ตัวที่ตลกเฮฮา ก็เฮฮาไปเลย ส่วนตัวที่ร้ายก็น่ากลัวไปเลย พี่จ้อนมีวิธีการแปลให้คุมโทนเรื่องยังไง

บางทีเราแปลไป เราจดจ่อกับคำ กับประโยค แต่พอถึงเวลาจริง ๆ เราต้องกลับมาทวนกลับมาร้องเรื่อย ๆ หรือบางทีทำเสร็จแล้วต้องทิ้งไว้ให้มันลืม ๆ ไปก่อนแล้วกลับมาดูใหม่ เราก็อาจจะเจออะไรในมุมที่เราไม่คิด เมื่อทำไปแต่ต้นจนจบ เราจะเริ่มเห็นภาพรวมแล้วว่า เพลงแรก ๆ ที่เราแปลมันอาจสะท้อนกันกับอีกเพลง เราต้องทำแต่ต้นจนจบก่อนถึงจะเอางานออกมาได้ ไม่ใช่ทำเพลงนึงแล้วอัด พี่ไม่กล้าส่งงานแบบนั้น เพราะเรารู้สึกว่าบางทีมันยังไม่จบ

ในกรณีที่ต้นฉบับมีมุกหรือคำสแลงที่ต่างจากวัฒนธรรมของไทย พี่จ้อนแปลยังไงให้คนไทยเข้าใจ

ก็ต้องดูสื่อทั้งหลาย เขาก็จะมีคำที่กำลังฮิต แต่เราต้องกรองอยู่ดีว่า คำนี้มันจะอยู่นานแค่ไหน บางคำไม่น่าจะอยู่นานหรือหวือหวาเกิน เราก็ไม่เล่น แต่มันก็ไปตามยุค เพราะถ้าเราดูการ์ตูนฝรั่ง ถึงแม้เรื่องมันจะไม่มียุคหรือเป็นอดีต แต่เมื่อเขาต้องการจะพูดกับคนสมัยใหม่ เขาก็ต้องเลือก เราก็ดูกรอบของเขาและเล่นอยู่ในประมาณเดียวกัน ไม่ไปเกินเขามาก

เวลาเลือกเราเลยไม่เอาอะไรที่แฟชั่นจ๋าเกิน เพราะพอเวลาผ่านไปแล้วคนยุคหลังมาดูแล้วดูไม่รู้เรื่องมันไม่ควรใช้ แล้วก็พยายามใช้ภาษาปากเยอะ เพราะมันเป็นการร้องเพลง ถ้าไม่ใช่ตัวละครที่มีพิธีการมาก ๆ ส่วนใหญ่เพลงมันก็เป็นบทสนทนา หรือความคิดของเขา ดูอายุตัวละครด้วยว่าตัวละครอายุประมาณนี้เขาจะใช้คำประมาณนี้ ถ้ามันเป็นกลอนเกินไปหรือดูฉลาดเกินไปมันก็อาจจะไม่ใช่ตัวเขา

เรื่องไหนที่แปลยากที่สุด

ยากที่สุดเหรอ ยากทุกเรื่องเลย ยากขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนหน้านั้นมี Vivo ก็ยากแล้วนะ เพราะเป็นแร็ปมีทำนองด้วย ก็ถือว่าทำออกมาได้ประมาณนึง แต่พอเจอ Encanto เขามีสัมผัสสามพยางค์ เราก็ปวดหัวเหมือนกัน แต่ก็ไม่ยอม ฉันเป็นตัวแทนประเทศไทย อยากเป็นตัวแทนภาษาไทยของเรา มันต้องทำได้ จากนั้นก็มี Matilda มันมีเพลง alphabet ที่จะพูดถึงตัวอักษรภาษาอังกฤษทั้ง 26 ตัว มันต้องมีคำทั้งภาษาอังกฤษและไทยเทียบกันให้ได้เพราะงานภาพมันคือตัวอักษรทุกตัวเรียงกัน ถ้าเราไม่พูดถึงตัวอักษรเหล่านั้น เพลงมันก็ไม่มีความหมาย พอทำจริงมันก็พอได้ ไม่รู้ต่อไปจะเจออะไรอีกนะ (หัวเราะ)

เรื่องที่แปลแล้วชอบที่สุดคือเรื่องอะไร

พูดยากมาก เพราะถ้าเราไม่ชอบเราจะทำไม่ได้ เราต้องหาวิธีชอบ พอเราดูไปสักพัก พอเราเข้าใจเรื่อง เข้าใจตัวละครเราก็จะชอบไปเอง เรื่องที่รู้สึกว่าเราทำได้ในเวลาอันสั้นและออกมาค่อนข้างลงตัวคือ Anastasia ที่มีเวลาก่อนเข้าห้องอัดสี่วัน มีเพลงประมาณ 12 เพลง แปลว่าอย่างน้อยต้องมี 3-4 เพลงในอีก 3-4 วันข้างหน้า ก็ไม่ต้องนอนเลย พี่ไปร้องคอรัสในเรื่องด้วย แปลเสร็จก็มาร้อง กลับไปก็ไปแปลเพิ่ม แต่สไตล์เพลงของเขามันไปกับภาษาไทยได้ดี มันเลยไม่ยากเกินไปและทำเสร็จได้ภายในเวลาที่กำหนด แล้วก็รู้สึกว่าคำลื่นไหลประมาณนึง แต่มาแบบนี้อีกคงไม่ไหว (หัวเราะ) ไม่รู้ทำไปได้ยังไงเหมือนกัน

ทำยังไงเวลาที่นึกไม่ออก

ไปดูอย่างอื่น เปลี่ยนอิริยาบถ ดูอะไรที่มันต่างไปเลย อ่านหนังสือที่ไม่เกี่ยวข้องเพื่อจะล้างความคิด หรือบางทีอาบน้ำก็จะคิดออก หรือเกลาบ่อย ๆ ดราฟต์หนึ่ง ดราฟต์สอง ดราฟต์สาม ทำไปเรื่อย ๆ มันจะเรียกว่าตกตะกอน ทุกอย่างมันต้องใช้เวลา ถ้าเรามีเวลาเยอะเราจะสามารถทำได้ละเอียดขึ้น

ยิ่งไปกว่าการแปลภาษา คือการเข้าถึงใจตัวละคร นักร้อง คนแต่ง และคนดู  

ในมุมมองของพี่จ้อน นักแปลเพลงที่ดีควรมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

ถ้ามีทักษะในการร้องเพลงเราจะเข้าใจคนร้องว่าถ้าเจอคำนี้ เขาจะจัดการกับมันได้แค่ไหน ถ้าเราเข้าใจทฤษฎีดนตรีด้วย บางครั้งพอเราเจอโน้ตของคอรัสซึ่งเมโลดีในแต่ละพาร์ทไม่ไปด้วยกัน ถ้าเราเลือกแปลจากทำนองหลัก บางครั้งไปร้องคอรัสมันก็เหน่อไปเลย ถ้าอ่านโน้ตเข้าใจก็จะทำให้ทำงานส่วนนี้ได้ละเอียดมากขึ้น และแน่นอนว่านักแปลต้องเข้าใจเรื่องภาษา ภาษาต้นฉบับเราแปลโดยเปิดพจนานุกรมได้ แต่ความคล่องในภาษาแม่ก็สำคัญ เพราะเรากำลังคุยกับคนที่พูดภาษาเดียวกันกับเรา ไม่ว่าจะสำนวนต่าง ๆ วิธีการเลือกใช้คำ ศัพท์สแลงต้องมีความคล่องตัวในระดับหนึ่ง

สังเกตเยอะ ๆ อ่านเยอะ ๆ ฟังเยอะ ๆ เสพเยอะ ๆ อะไรก็ได้ที่มันเกินออกไปจากวงจรของเรา มันจะยิ่งช่วยเติมให้เราเจออะไรมากขึ้น ไม่งั้นมันจะอยู่ที่เดิม สรุปว่า รับทุกอย่างที่เข้ามา เพราะทุกอย่างเป็นประโยชน์ทั้งนั้น

มีทักษะอะไรที่เมื่อก่อนไม่มี แต่ได้มาหลังจากการทำงานแปลบ้าง

ก่อนหน้านั้นพี่ก็จะทำเกี่ยวกับงานร้องเพลง งานคอรัสซะส่วนใหญ่ แสดงก็ทำบ้าง แต่ทำด้วยสัญชาตญาณ แต่หลัง ๆ รู้สึกว่าการที่เราจะถ่ายทอดเพลงในแบบตัวละครและสื่อสารให้คนดูเข้าใจจริง ๆ มันอาศัยทักษะมากกว่าการร้อง ที่ชัด ๆ คือเรื่องของการแสดง บางครั้งถ้าเราเข้าใจตัวละคร เราจะรู้ว่าเขาจะพูดแบบไหน หรือบางทีเราต้องจินตนาการว่าถ้าเราเป็นเขา ณ ตรงนั้น แล้วเจอกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเขา เขาจะแสดงความรู้สึกออกมายังไง เราต้องคิดเป็นตัวเขาให้มากขึ้น พี่ก็เลยไปเรียนการแสดงเพิ่ม ไปเป็นนักแสดงด้วย มันก็ทำให้เรามองจากมุมของคนที่เป็นตัวละครจริง ๆ มากขึ้น ช่วยให้งานมีมิติมากขึ้น

ก่อนนั้นเราจะมองที่ตัว text มากกว่า เขาพูดอย่างนี้ เราก็แปลตาม text ที่เขาพูด แต่บางครั้งเราจะเจอว่าด้วยช่องว่างที่เรามีที่เหลือหรือที่ไม่พอเพราะภาษาอังกฤษกับไทยใช้คำไม่เท่ากัน ก่อนหน้านั้นเราก็จะเอาตามความเข้าใจของเราว่ามันน่าจะพูดอย่างนี้ เราก็อาจจะตีความเกินหรือสื่อเกินกว่าต้นฉบับ แต่พอเราศึกษาในแง่ acting แล้ว คำจะเกินหรือจะขาด ถ้าเราเข้าใจตัวละคร เราเชื่อว่ามันโอเค เราอาจจะพูดเยอะกว่าที่ฝรั่งพูดนิดนึงแต่เราจะไม่หลุดจากแกนของตัวละครที่เขาสร้างขึ้นมา

เพื่อนพี่คนนึงเป็นนักแต่งเพลงที่เก่งมาก เขาถามว่า พี่จ้อน เวลาพี่จ้อนคิดคำแปลพี่จ้อนทำยังไง พี่ก็บอกว่า พี่แค่คิดว่าถ้าพี่เป็นตัวละครตัวนี้พี่จะพูดยังไง เขาก็บอกว่าเป็นวิธีการที่ดี เพราะมันก็จะรู้ว่าหลาย ๆ ชนิดคำ ตัวละครเราไม่มีทางใช้แน่นอน

เหมือนกับว่าการเรียน acting มันทำให้เราพยายามเข้าใจคนอื่นมากขึ้น

เวลาที่เราเล่นละคร เราต้องทำการบ้านกับตัวละคร แน่นอนว่าตัวละครที่เราเจอมันไม่ได้เหมือนกับเราทุกครั้ง แล้วนักแสดงบางคนที่อยากจะท้าทายเขาจะพยายามเลือกตัวละครที่ต่างจากเขาสุด ๆ เพื่อที่จะทำการบ้านและเข้าใจตัวละครมาก ๆ ถ้าเราใช้วิธีนี้ในการที่จะเข้าใจคนอื่น อย่างน้อยถึงเราจะยังไม่รู้จักเขา แต่เราก็จะคิดเผื่อไปว่าเขาคงเจออะไรที่ไม่เหมือนเรามาก่อน เขาอาจจะไม่ได้แย่นะ แค่กรอบความคิดเขาไม่เหมือนเราแค่นั้น

การกำกับการร้องต้องอาศัยความเข้าใจตัวละครด้วยไหม

การกำกับการร้องก็ต้องทำให้นักร้องเข้าใจคาแรกเตอร์ของตัวละคร หรือเสียงของตัว แล้วก็พยายามตีความให้เขาด้วยว่าตัวละครร้องเพื่ออะไร บางทีการที่เรา copy อย่างเดียวมันอาจจะได้ความเหมือนนะ แต่มันไม่สัมผัสคนฟังเหมือนที่ต้นฉบับเขาเป็น เหมือนเราแกะรอยจากภาษาอังกฤษก่อนว่าตัวละครเขามีตัวเลือกอะไร ความต้องการและแรงจูงใจเขาคืออะไร แล้วเอามาขยายความให้นักร้องคนไทย แน่นอนละ คุณต้องก๊อปใกล้เคียงที่สุด ก๊อปเสียง ก๊อปโน้ต ก๊อปคำ แต่ถ้าคุณเข้าใจความต้องการของเขา มันจะพาไปได้อีกระดับนึง แล้วมันจะเข้าถึงคนดูได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับที่ภาษาอังกฤษทำได้

นอกจากการเข้าใจตัวละครแล้วก็ยังต้องเข้าใจคนดูด้วย เนื่องจากกลุ่มคนดูส่วนใหญ่ของการ์ตูนคือเด็ก พี่จ้อนเคยรู้สึกไหมว่าบางคำที่แปลอาจจะยากไปสำหรับเขา

พี่ว่าเด็กสมัยนี้เขาเก่งนะ เราเคยเจอเด็กที่พูดบางคำออกมาแล้วเราแบบ อุ๊ย ไปเอาคำนี้มาจากไหน พี่เชื่อว่าเขาดูจากสื่อต่าง ๆ หรือจำรูปแบบเวลาผู้ใหญ่พูดได้ พี่เลยคิดว่ามันอาจจะไม่ได้ยากเกินไป และการ์ตูนบางเรื่องก็อาจไม่ได้จำกัดกลุ่มคนดูไว้แค่นั้น

การ์ตูนเรื่องเดียวกันเด็กอาจจะรับสารได้แบบหนึ่ง ผู้ใหญ่อาจจะรับอีกขั้นหนึ่งก็ได้ อาจเป็นความตั้งใจของคนทำว่า ผู้ชมในระดับต่าง ๆ สามารถสนุกกับมันได้ในแบบที่ต่างกัน มุกตลกบางอันเด็กไม่ขำแต่ผู้ใหญ่หัวเราะหึ ๆ เราก็ไม่จำเป็นต้องทำให้มันง่ายลง

ส่วนใหญ่ในการแปลเขาจะมีสิ่งที่เรียกว่า creative letter เป็นคำอธิบายการทำงานของหนังแต่ละเรื่อง บางเรื่องเขาจะบอกเลยว่าไม่ต้องไปทำให้มันง่ายเกินไป ไม่ต้องอธิบายเพิ่ม เพราะถ้าเด็กเข้าใจก็คือเข้าใจ เราจะเทียบเคียงกับระดับความยากง่ายของต้นฉบับ เราจะไม่พยายามอธิบายเกินกว่านั้น เราอยากให้ผู้ชมมีอิสระในการตีความ

แน่นอนว่าการทำงานแปลเพลงต้องเจอกับคำวิจารณ์อยู่แล้ว คำวิจารณ์เหล่านี้มีผลกับการทำงานไหม

พี่มองว่างานที่ทำอยู่มันคือการแก้ปัญหา เพราะหน้าที่ของเราคือสื่อสารตามภาพยนตร์หรือการ์ตูนต้นฉบับให้ได้มากที่สุดในภาษาของเรา แล้วก็ทำให้มันเป็นเพลงที่ไพเราะ แต่แต่ละเพลงมันก็มีเงื่อนไขของมัน มีรูปแบบหรือว่าสไตล์ของมัน แล้วบางครั้งมันก็มีงานภาพมากำหนดด้วย ดังนั้น มันมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่เราต้องคำนึงถึง เราอาจจะไม่สามารถเลือกอันที่คิดว่าดีที่สุดได้ แต่เป็นอันที่มันตอบทุกโจทย์ได้มากที่สุด

คำวิจารณ์พี่ก็พยายามอ่านบ้าง แต่ไม่อ่านเยอะ เราก็คน เราไม่สามารถตัดความรู้สึกได้ แต่ก็พยายามเข้าใจมุมเขา อย่างบางคนจำเพลงได้จากตอนเด็ก ตั้งใจจะไปร้อง เช่น Lion King หรือ Aladdin แต่เนื้อกลับเปลี่ยน แต่เราก็มองว่ามันเป็นการทำงานร่วมกัน ทีมเราคุยกันแล้วว่าเราจะไปทิศทางนี้ เราต้องเข้าใจว่ามันยากที่จะตอบความต้องการของทุกคนได้ แต่ไม่ใช่ไม่ฟังเลย

เคยมีคุณแม่เดินมาพูดถึงเรื่อง Frozen เพลง Let It Go ที่มีประโยคนึงที่บอกว่า that perfect girl is gone พี่แปลว่า เด็กดีไม่เห็นมีค่า เขาบอกว่า ลูกดิฉันร้องเพลงนี้แล้วดิฉันรู้สึกว่าคำนี้มันแรง มันเหมือนเราสอนว่าอย่าเป็นเด็กดี ก็จริงของเขา เพราะตอนที่เราแปลเราอาจจะเข้าใจเรื่องหมดเลย แต่เราอาจจะไม่ได้มองในมุมที่ว่าเพลงเดี่ยว ๆ หรือประโยคเดี่ยว ๆ มันอาจจะส่งสารบางอย่างให้เด็กก็ได้ แต่ถ้าเราดูการ์ตูนทั้งเรื่อง เราจะเข้าใจบริบทว่ามันพูดถึงอะไร ณ ตรงนั้นเอลซ่าอาจจะรู้สึกว่าสิ่งที่เขาเรียนรู้มา ที่ถูกสอนมามันไม่ได้ตอบโจทย์เขา แต่ในที่สุดแล้วเมื่อเวลาผ่านไปเอลซ่าก็ได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง เขาก็สามารถเป็นตัวเองได้โดยไม่ต้องเป็นคนเลวร้าย ถ้าเด็กได้ดูตั้งแต่ต้นจนจบ เขาก็ไม่ต้องจดจ่อกับประโยคนี้ประโยคเดียว

แล้วกรณีแบบนี้ทำให้พี่จ้อนกังวลกับการเลือกใช้คำขึ้นบ้างไหม

ก็พยายามเอาขึ้นมาคิดด้วย แต่ต้องดูด้วยว่าต้นฉบับเขาเล่นอะไรอยู่ จุดมุ่งหมายเขาคืออะไร บางทีมีการ์ตูนที่คำที่เขาละไว้ ผู้ใหญ่จะรู้ว่าเป็นคำว่าอะไรเพราะเขาปูสัมผัสมาแล้ว แต่ออกอากาศไม่ได้เพราะเป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก ผู้ใหญ่ดูจะรู้ทันที แต่เด็กจะไม่รู้ว่ามันไม่ดี ถ้าต้นฉบับเขาปูมาทางนี้ แล้วเราไม่ไปตาม มันก็ดูยั้งเกินไป ในที่สุดแล้วมันก็คือการตีความของคนดู

และก็มีบางคนที่คาดหวังว่าคำที่ใช้จะต้องสวยมาก ๆ

ก็เป็นรสนิยมของเขานะ เราเข้าใจได้ แต่เนื่องจากงานเราเป็นงานสื่อสารกับคนอื่น เราก็อยากให้มันจับต้องได้ว่า ตัวละครแบบนี้ต้องพูดแบบนี้ ถ้าตัวนี้อาจจะมากกว่านั้นได้ ตัวละครแต่ละตัวก็มีสีที่ต่างกัน เราต้องพยายามเลือกชุดสีที่มันเหมาะกับเขา บางตัวขี้เล่นมากก็ใช้ศัพท์สแลงเยอะ บางคนเป็นแม่ เป็นย่า ก็ต้องใช้คำที่ดูมีเหตุผล ก็มีคำที่เขาจะพูดไม่ได้ ดูแต่ละกรณีไป พูดยากว่าจะมีเกณฑ์อะไร ถ้าอยากได้แบบสุนทรภู่ไปเลย บางคนเขาก็อาจจะไม่รับ และเราก็แต่งไม่ได้หรอก (หัวเราะ)

Writer
Avatar photo
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Photographer
Avatar photo
ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

illustrator
Avatar photo
ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์

ชอบกินลาเต้เย็น

Related Posts

Related Posts