‘แม่ส้ม’ สมพร อมรรัตนเสรีกุล “เชื่อว่าเขากลับดาว เพื่อไปสร้างบ้านในจักรวาลตัวเอง ”
‘แม่ส้ม’ สมพร อมรรัตนเสรีกุล “เชื่อว่าเขากลับดาว เพื่อไปสร้างบ้านในจักรวาลตัวเอง ”
- “ทุกอย่างเหมือนถูกเตรียมมาแล้ว” แม่ส้มพูดถึงการสูญเสียที่ผ่านมารวมถึงการสูญเสีย ‘ใบคา’ ลูกสาวเมื่อ 3 เดือนก่อน
- สนทนาเรื่อง Grief หรือการแยกจาก ซึ่งเป็นหนึ่งในความจริงของชีวิต ที่แม่ส้มไม่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม แต่เลือกเขียนบทต่อจากนี้เอง
- “แม่ส้มอยากพัฒนาตัวเองให้ได้ในแบบที่ใบคาเป็น อยากมี energy แบบใบคา อยากเก่งเหมือนใบคา” คือบทต่อจากนี้ของแม่ส้ม
ถ้าเปรียบเป็นหนังสือสักเล่มหรือซีรีส์สักเรื่อง เรื่องของ ‘แม่ส้ม’ สมพร อมรรัตนเสรีกุล กำลังขึ้นอีพีใหม่ หรืออาจจะเริ่มซีซันใหม่เสียด้วยซ้ำ และเป็นซีซันที่ทุกคนต่างเอาใจช่วยเพราะรู้ว่ามันหนักหนามากแค่ไหน หลังจากที่ลูกสาว ‘ใบคา พึ่งอุดม’ จากไปอย่างกะทันหันด้วยอุบัติเหตุ พร้อมดิแลนสามีและลูกน้อยในท้อง
ซีซันแรก แม่ส้มคือคุณแม่โฮมสคูลรุ่นบุกเบิก พาลูกทั้งสามคือ ฟ้าใส สายเมฆ และใบคา จัดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ตั้งแต่สามสิบกว่าปีก่อน จนตอนนี้ทั้งสามเติบโตเต็มที่ แต่มีคนหนึ่งที่จากไป
แม่ส้มผ่านชีวิตคู่มาสองครั้ง วันนี้แม่ส้มใช้ชีวิตที่บ้านอย่างอิสระ และมีเวลานิ่งๆ เพื่อทบทวนชีวิตตั้งแต่อีพีแรก
“เราไม่ได้เห็นว่าตัวเองมีช่วงของการเปลี่ยนแบบจากห้องหนึ่งไปห้องหนึ่งอย่างชัดเจน มันเหมือนโตไปด้วยกันกับลูก เพราะตัวเองตอนยังไม่มีลูก ทำงานดีไซเนอร์ ทำงานหนังสือ แต่พอมีลูกก็ไม่ทำแล้วตรงนี้ ไปเรียนเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็ก เทคคอร์สเกี่ยวกับเด็กไปเลย พอลูกวัยรุ่นก็ไปเรียนการให้คำแนะนำเยาวชน วัยรุ่น แล้วพอลูกโตขึ้น เราก็ไปเรียนเป็น networking เป็น networker เป็นผู้ประกอบการ
ช่วงที่ลูกกำลังจะเปลี่ยนจากวัยรุ่นไปเป็นผู้ใหญ่ หย่ากับพ่อของลูก เลยมาอยู่กับลูกกันเอง 2-3 ปี จากนั้นลูกก็ไปเรียน อยู่หอพักหมด ลูกๆ ไม่อยากให้แม่อยู่คนเดียว เขาบอกว่า แม่ก็หาแฟน แต่งงานใหม่ไปเลย จะได้มีเพื่อน เราโอเค”
ลูกเป็นห่วงเพราะรู้ดีว่าแม่ไม่เคยเดต ไม่เคยมีแฟน เจอพ่อของลูกก็รักเลย เหมือนกระโดดลงน้ำก่อนจะเห็นน้ำ เจ้าของประโยคนี้คือแม่ของแม่ส้มที่รู้ว่าลูกสาวเป็นคนใจร้อน ตัดสินใจว่าคนนี้ก็เร็วรวบรัด ไม่ลองคบดูใจกันก่อน
“ลูกบอกว่า แม่เป็นจีเนียส เป็นวิกิพีเดีย ถามอะไรรู้หมด มีเรื่องเดียวที่แม่ไม่รู้คือเรื่องผู้ชาย แต่แม่ของแม่ส้มก็จะเป็นห่วงมากเรื่องใจร้อน แล้วนิสัยนี้ก็หลอนมาเรื่อยๆ แต่มันก็เป็นเรา จนบางทีพอมันหลอนมาก เราก็ไปไม่ถูก กลายเป็นลังเล”
ตอนที่ชีวิตคู่ครั้งที่สองไปต่อไม่ได้ ความหลอนยูเทิร์นกลับมารอบใหม่ เหมือนชีวิตขาลงไปสู่ก้นตัวยู (U) แม่ส้มจึงต้องหาทางขึ้นด้วยตัวเอง ทำให้แม่ส้มต้องออกเดินทางอีกครั้ง
“การแยกกันทุกรูปแบบมันคือ grief เหมือนของบางอย่างหายไป เช่น เงินหาย หมาตาย รถหาย และการหย่ากันมันก็หลอนเราอยู่หลายปี แต่ตอนนั้นเราไม่รู้ว่ามันเป็น grief เราอาจจะกระโดดเข้าสู่ความสัมพันธ์เร็วไป ไม่ได้ทำความรู้จักกันในเชิงลึก ไม่ได้ดูว่าอยู่ด้วยกันได้มั้ย แล้วพออยู่ด้วยกันไม่ได้ ต้องเลิกกันก็กลายเป็น grief เป็นความหลอน แต่พอใบคาเสีย ความหลอนหลายๆเรื่องมันมาถึงทางแยกที่เป็นทางใหม่”
และเป็นทางที่แม่ส้มบอกว่า เหมือนถูกเตรียมมาไว้แล้ว…
“ถึงแม้ทุกอย่างเหมือนถูกเตรียมมาไว้แล้ว แต่เราจะไม่ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม เราเลือกที่จะให้อำนาจกับตัวเอง”
แม่ส้มบอกว่าเหตุการณ์ของใบคา เหมือนชีวิตเจอทางแยกใหม่ แต่ก็เหมือนถูกเตรียมมาไว้แล้ว?
การจากไปของใบคาทำให้เรื่องเก่าๆ กลายเป็นเรื่องเล็กมาก เราไม่ได้ตั้งใจให้มาถึงทางแยกนี้ มันถูกจัดสรรมา เราไม่มีสิทธิ์เลือกสถานการณ์ แต่เรามีสิทธิ์เลือกเส้นทางในการตอบสนองต่อสถานการณ์ สิทธิและอำนาจของความเป็นมนุษย์ที่แม่ส้มเชื่อคือ เรามีสิทธิที่จะเลือกความคิดในการนำพาตัวเอง เรามีอำนาจนั้น ถ้าเราไม่ใช้อำนาจนั้น เราก็จะไหลไปตามยถากรรม
สำหรับแม่ส้ม ยถากรรมคือ ปล่อยมันไป ไม่ทำอะไรกับมัน ไม่มีอำนาจอะไรกับมัน
เพราะถึงแม้ว่าเราปล่อยตัวเองให้ไปตามยถากรรม มันก็จะมีอำนาจบางอย่างดันเราไปอยู่ดี อำนาจนั้นเชื่อมโยงกับสังคมและประสบการณ์เก่าของเราตั้งแต่เด็กจนโต เช่น หมาตายต้องรู้สึกอย่างนี้นะ หรืออดีตบอกเราว่าต้องรู้สึกแบบนั้น พอเราโตขึ้นมานิดหนึ่ง มันจะมีชุดความคิด มีคนมาชี้นำว่าความเศร้าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้
พวกนี้คือการชี้นำจากสิ่งที่เราสะสมมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นความเชื่อและความจำของเรา เพราะฉะนั้นแต่ละวัฒนธรรมจะมีความจำ ความเชื่อ ตอบสนองต่อเหตุการณ์ไม่เหมือนกัน อย่างเรื่องใบคาเสียชีวิต เพื่อนบางคนใช้วิธีการตอบสนองของเขามาแนะนำเรา หลายคนก็หลายแบบ ความที่เราก็รู้จักคนเยอะ แต่ทุกคำแนะนำ แม่ส้มก็จะตอบไปด้วยความขอบคุณที่เขาห่วงเราจริงๆ เขาถึงนำสิ่งนั้นของเขาออกมาให้เรา
ที่ผ่านมาแม่ส้มคิดว่าชีวิตเราก็เหมือนมีคนเขียนพล็อตไว้ให้ ถึงแม้ว่าพล็อตชีวิตจะถูกวางไว้แล้ว แต่เราก็ยังมีอำนาจเล็กๆ ในการมีส่วนร่วม นั่นคืออำนาจในการเลือกวิธีตอบสนองต่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันในชีวิต แม่ส้มเชื่อว่ามนุษย์เรามีอำนาจตรงนี้ แต่เราอาจจะไม่ค่อยได้ใช้มัน เช่น เราไม่สามารถเลือกได้ว่าโควิดจะไม่มา สายเมฆคือคนที่ป้องกันตัวเองจากโควิดมากกว่าใคร แทบจะล้างมือตลอดเวลา แต่ดันติดโควิดก่อนใครเลย แต่พอติดแล้ว สายเมฆบอกแม่ว่า โคตรโล่งเลยแม่ สบายใจมาก ส่วนใบคาวันที่นั่งรถออกไปหลั่นล้ามาก ชั่วพริบตาถูกรถไฟชน ทุกอย่างเร็วมากแบบวาร์ปไปเลย เหมือนไปอยู่อีกมิติเลย เหตุการณ์นี้ทำให้แม่ส้มต้องตั้งสติอย่างแรงกล้าในการรับมือ
ไม่มีใครเชื้อเชิญสิ่งเหล่านี้ มันเหมือนคนเขียนนิยาย เขียนพล็อตแรงเพื่อให้หนังสือขายดี เมื่อเราเจอพล็อตแรง เราก็ควรมีอำนาจต่อรองนิดหนึ่งมั้ย โอเค เราแก้อีเวนต์ไม่ได้ แต่เราเลือกได้ว่าจะตอบสนองต่ออีเวนต์นั้นอย่างไร
ที่แม่ส้มบอกว่า อีเวนต์มันมาแล้วนะ แต่ฉันขอปรับพล็อตของตัวเองท่ามกลางความเป็นห่วงของคนรอบข้างเข้ามาหาเราเรื่อยๆ แม่ส้มมีวิธีการตั้งต้นเขียนบทนี้ให้ตัวเองอย่างไร
พอใบคาไม่อยู่ แม่ส้มลองมองย้อนกลับไปในช่วงสั้นๆ ที่ผ่านมา มันถูกเตรียมมา แม่ส้มเชื่อว่าตัวเองเป็นมนุษย์ที่มีญาณแรง เป็นคนสนใจเรื่องนี้ แต่ไม่ชอบเรื่อง power over เพราะญาณเป็นเรื่องส่วนบุคคล เราใช้กับตัวเองได้ แต่เราไปก้าวก่ายกับพื้นที่ชีวิตคนอื่นไม่ได้
ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ แม่ส้มเขียนบนเฟซบุ๊กด้วยบรรยากาศเศร้าๆ พูดถึงเรื่องการเตรียม การเผชิญ ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าเหมือนเราไปผจญภัย ไปเดินป่า แต่มันเขียนลึก กลับไปอ่านของเก่าๆ เราพูดถึงทางแยก ความกล้า fearless ไว้ล่วงหน้าประมาณเดือนหนึ่ง
ตอนนั้นเราไปเที่ยวอเมริกาแล้วไปอยู่กับใบคาเดือนหนึ่ง แม่ส้มฝากใบคาไปถามแม่ดีแลนว่าแม่ส้มจะไปอยู่บ้านเขาได้นานแค่ไหน ใบคาบอกว่าแม่ดีแลนบอกว่าอยู่ตลอดไปก็ได้ แม่ส้มตอบไปว่า ไม่ แม่ไม่อยู่ตลอดไป แม่จะไปพักอยู่แค่หนึ่งเดือน แล้วเหตุการณ์ที่ถูกรถไฟชนก็เกิดขึ้นวันสุดท้ายครบหนึ่งเดือนพอดี ซึ่งที่จริงแล้ว วันนั้นแม่ส้มจะต้องออกไปกับลูกด้วย ทุกครั้งที่ใบคาเข้าเมือง แม่ส้มก็ออกไปกับเขาทุกครั้งตลอดหนึ่งเดือนที่พักอยู่บ้านที่มอนทาน่า แต่วันนั้นเป็นวันเดียวที่แม่ส้มไม่ได้ไปกับลูก
นั่งคุยกับสายเมฆเรื่องข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเวลา คือ เราไม่รู้หรอกว่าตอนนี้คือเวลาของอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต เวลามันไม่ได้เรียงเป็นเส้นตรง บางทีเราปิ๊งแว๊บขึ้นมา เป็นเดจาวู เหตุการณ์อดีต ปัจจุบัน และอนาคต มันอาจจะเกิดขึ้นพร้อมกันในมิติซ้อนมิติก็ได้ แม่ส้มเชื่อว่ามิติมันเรื่องที่ละเอียดมาก
ด้วยประสิทธิภาพร่างกายของมนุษย์เรามันหยาบ ถูก fix มาให้รับรู้ได้แค่นี้ มันไม่ได้มีประสิทธิภาพที่จะสามารถมองเห็น wave อื่นๆ เอาแค่คลื่นวิทยุเรายังมองไม่เห็นเลย sensation ของมนุษย์มันหยาบมาก แม่ส้มคิดว่า เราอยู่กับกายหยาบอย่างนี้ จึงรับรู้ได้แค่นี้ แต่เราก็ไม่ควรปิดกั้นตัวเองกับสิ่งที่อาจจะนอกเหนือการรับรู้ของเรา ตรงนี้แหละที่แม่ส้มใช้เป็นฐานในการทำงานกับความเชื่อของตัวเอง
โมเมนต์ที่แม่ส้มรู้ข่าว ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร
ถ้าตอบจริงๆ นะ ไม่รู้สึกอะไร ตอนนั้นกำลังสระผมเพิ่งเสร็จ แล้วตำรวจมาที่บ้าน พ่อของดีแลนบอกว่า มันเป็นข่าวที่ Bad, very bad นะ ตอนนั้นน่าจะเป็นอาการช็อกมากกว่า คือใจมันช็อกน่ะ มันนิ่งไปเลย ไม่ร้องไห้ไม่อะไร ช่วงอาทิตย์แรกไม่ได้ฟูมฟาย
เพื่อนแม่ส้มที่ทำงานกับคนที่เผชิญความสูญเสียหรือ greif ที่อเมริกา เขาบอกว่าแต่ละคนมีการตอบสนองไม่เหมือนกัน จากประสบการณ์ จากนิสัย จากฮอร์โมน จากความเชื่อ บางคนร้องไห้อย่างหนัก ร้องจนสลบ ยืนเดินไม่ได้ กินข้าวไม่ได้ เหมือนกระดูกข้อต่อทุกข้อมันหลุดออกจากกัน
ตอนนั้นเรากลายเป็นเข้มแข็ง เราใช้พลังงานนี้ตั้งแต่เด็ก ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันใดๆ ขึ้นในครอบครัว แม่ส้มจะลุกขึ้นเป็น Joan of Arc เป็นมู่หลานออกรบ เช่นตอนที่ไฟเกือบจะไหม้บ้าน มีเรานี่แหละวิ่งเข้าไปเอาของ โกยของใส่ลิ้นชักแล้วยกลิ้นชักออกมา วิ่งกลับเข้าไปอุ้มหมาออกมา ก็เห็นพลังงานตรงนี้ของตัวเอง แต่ไม่ได้แปลว่าเราไม่เศร้า ไม่กลัวนะ แต่อาจจะรู้สึกช้าดีเลย์ เรามักจะรีแอ็กด้วยการยืนขึ้นเพื่อปกป้องคนอื่นก่อน ไม่อยากให้คนอื่นเศร้า และมีสิ่งมากมายที่ยังต้องจัดการ เราเป็นผู้นำเวลาเกิดภัย แล้วพอพายุสงบ เราก็ค่อยมาหนักช่วงหลัง
เป็นตอนกลับมาเมืองไทย?
เดือนแรกยังรับได้ เดือนที่สองรู้สึกแย่เพราะกลับมาไทย แต่เรารู้ตัว ศึกษามาก่อนด้วย เรียนเรื่อง grief ด้วย คุยกับเพื่อนที่เป็นนักบำบัดด้วย เราก็เลยรู้ process และการรับมือ
Grief หาชื่อไทยยากนะ มันไม่ได้แค่เศร้า แต่เป็นกลุ่มอารมณ์หลายอารมณ์สลับกันขึ้นมา แล้วเราก็เจอว่ามีความโกรธอยู่ด้วยนะ แต่ไม่รู้จะโกรธอะไรหรือโกรธใคร คนตายก็ตายไป ไม่รู้เรื่องหรอก ใน grief นี้เราจะเผชิญความเสียใจที่อธิบายด้วยคำพูดไม่ได้ เวลาที่ความเสียใจแบบนี้มันปะทุขึ้นมา มันจะเหมือนเราไม่รับรู้อารมณ์ใดๆ เลย ตัวเรากลายเป็นภูเขาไฟ และน้ำตาคือลาวาที่ต้องระเบิดออกมา มันอยู่เหนือคำอธิบายทางอารมณ์ มันเป็นปฏิกิริยาทางร่างกายล้วนๆ ที่ต้องปล่อยให้น้ำตาพรั่งพรูออกมา สะอึกสะอื้น นี่เป็นกระบวนการธรรมชาติของการคร่ำครวญ
ดีที่มีเพื่อนที่เขาเข้าใจแล้วแนะนำ แม่ส้มก็เลยเข้าใจ ไม่อย่างนั้นเราก็คงจะติดภาพหลอน ภาพที่ตอนโดนชนจะเจ็บมั้ย ตายแล้วจะไปไหน ตอนนี้วิญญาณจะเป็นยังไง บลาบลา ความคิดเหล่านี้ล้วนเป็นภาพที่เราสร้างขึ้นมาจากความเชื่อและความทรงจำเก่าๆ พวกความเชื่อเหล่านี้ คนเราก็เอาความคิดมาจากคนอื่นทั้งนั้น จากหนังบ้าง จากความเชื่อบอกต่อๆ กันมาบ้าง ตรงจุดนี้แหละที่แม่ส้มใช้คำว่าอำนาจของเราที่จะเลือกสแกน พอภาพเข้ามา แม่ส้มจะพูดกับตัวเองเลยว่า มัน real มั้ย เราไม่รู้หรอกว่ามัน real หรือเปล่า เราได้แต่จินตนาการ ใบคาจะเจ็บมั้ย เราไม่รู้หรอก เราก็ไม่เคยตาย เราไม่รู้หรอกว่าชีวิตหลังความตายเป็นยังไง
เพราะฉะนั้นอะไรที่เราไม่รู้ จงวางไว้ มันเป็นแค่จินตนาการ แล้วถามว่ามันเป็นจินตนาการของเราหรือเปล่า ก็อาจจะไม่ใช่ จินตนาการของเราก็ไม่ใช่ของเรา 100% จินตนาการมาจากความจำ ความจำมาจากไหน ก็มาการฟังมา อ่านมา ได้ยินมา รับรู้ต่อๆ กันมา แล้วมามิกซ์กันจนเราเข้าใจว่านี่คือความเชื่อของฉัน เวลาที่เรากลัว ที่จริงเราอาจจะกำลังกลัวจินตนาการของตัวเองที่เป็นจินตนาการของคนอื่นอยู่ก็ได้ ถ้าเรา aware ตรงนี้เราก็จะเลือกได้ว่าจะคิดจินตนาการต่อแล้วปล่อยให้ตัวเองหม่น จมหรือจะพอเท่านี้
พอแม่ส้มนึกถึงลูก ใบคาเป็นเด็กที่เกิดมาโชคดี เป็นเด็กหลั่นล้า เป็นเด็กมีเสน่ห์ พลังงานเขาเป็นพลังงานของความสุขร่าเริง ไปที่ไหนก็ทำให้คนรู้สึกสบาย เวลาใบคาอยู่กับใคร เขาจะ be with กับคนคนนั้นอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งต่างจากแม่ส้ม แม่ส้มมักจะเข้าไปในโลกของตัวเองจนบางทีก็ละเลยคนตรงหน้าไปบ่อยๆ นี่เป็นทักษะที่แม่ส้มเรียนรู้และฝึกจากใบคา
ความผูกพันระหว่างแม่ส้มกับใบคา บางทีก็ไม่ได้เหมือนแม่ลูก พลังงานระดับจิตวิญญาณเราเสมอภาคกัน ใบคาเกิดมาขัดเกลาแม่ส้มมาตลอด 27 ปีที่อยู่ด้วยกัน เคยนึกนะว่าเวลาที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ตาย พวกลูกๆ ก็พูดถึงความเก่ง ความดี ความเป็นคนพิเศษของพ่อหรือแม่ที่จากไป แล้วอยากเป็นแบบท่าน
แต่ในกรณีนี้ เมื่อลูกจากไป แม่อย่างแม่ส้มก็พัฒนาตัวเองให้ได้ในแบบที่ใบคาเป็น อยากมี energy แบบใบคา อยากเก่งเหมือนใบคา คิดๆ ดูเหมือนเขาคอมพลีตแล้วในงานที่เขามาที่นี่ (โลก) แต่ของเราสิยังไม่เสร็จ
มันอาจไม่ใช่ความเศร้า แต่เป็นความคิดถึง แม่ส้มดูแลตรงนี้อย่างไร
ความคิดถึง บางทีมันจะผุดขึ้นมา มันไม่ได้มาลอยๆ เราคิดถึงโมเมนต์บางอย่าง เช่น คนนี้มีความพิเศษบางอย่างต่อชีวิตเราในเรื่องนี้ๆ ฟ้าใสก็เพิ่งพูด วันก่อนเจอมุกตลก แต่มันไม่มีใครเก็ต มีแต่ใบคาเก็ต ตอนนี้ไม่มีคนแชร์เลยแม่ นี่คือความพิเศษที่หายไป แม่ก็พูดบ้างว่า บางทีแม่เห็นสบู่ โห สบู่ก้อนนี้มันหอมมากๆ เลย แต่ไม่มีใครให้แม่แชร์แล้วรู้สึกได้เท่าใบคา มันเศร้าตรงนี้ เหมือนกับว่าคนพิเศษที่เราจะแชร์บางอย่างด้วยมันหายไป
แม่ส้มเข้าใจระดับหนึ่งนะ ว่าถ้าลูกเล็กๆ เสียชีวิต อาจจะทำใจยากกว่าลูกที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เพราะเรารู้ว่า เมื่อลูกโตขึ้น วันหนึ่งเขาก็ต้องออกไปมีครอบครัวของเขาเอง ก็เป็นการแยกจากแบบหนึ่งเหมือนกัน อย่างใบคาจะย้ายไปอยู่มอนทาน่า ไปอยู่เป็น farmer ยังไงเราก็ต้องห่างกันอยู่แล้ว ก็ทำใจเรื่องการแยกจากมาระดับหนึ่งแล้วล่ะ
พูดถึงการร้องไห้ ช่วงเดือนที่สอง แม่ส้มปล่อยให้ตัวเองร้องไห้สะอึกสะอื้น ปล่อยให้ตัวเองร้องเสียงดัง ดังมาก มันเป็นการดูแลตัวเองอย่างหนึ่ง อารมณ์ที่อยู่ข้างในที่ต้องการปลดปล่อยออกมา ก็เหมือนจะตด เธอก็ไม่ควรอั้น จะหาว จะเรอ จะท้องเสีย มันห้ามไม่ได้ ยิ่งห้ามก็ยิ่งไม่สบาย แม่ส้มเข้าใจตรงนี้ เวลามันพรั่งพรูขึ้นมาก็เต็มที่เลย
เมื่ออาการความโศกเศร้าแบบ grief หาย ไม่ได้แปลว่าเราจะลืมคนที่จากไป บางคนไม่ยอมหายเศร้า เพราะกลัวจะลืมเขา แม่ส้มเข้าใจตรงนี้นะ เพราะมีประสบการณ์ ตอนที่น้องชายแท้ๆ อายุห่างกันปีเดียวเสียชีวิต ตอนนั้นเราอายุ 20 พอเวลาผ่านไป เฮ้ย เราตกใจนะเวลาที่คิดว่าลืมเขาไปแล้ว สมัยก่อนยังไม่ค่อยมีรูป วิดีโอ จึงมีรูปถ่ายเขาน้อยมาก แต่สำหรับใบคา ในยุคนี้มีรูปถ่ายและมีวิดีโอเยอะมาก สิ่งที่เราจะไม่มีโอกาสได้เห็นคือ เราจะไม่ได้เห็นรูปใบคาที่หน้าตาแก่กว่านี้
การไปของเขา เหมือนเขาคอมพลีต งานที่ไทยเขาเคลียร์กันหมดแล้วก่อนจะไปตั้งรกรากที่อเมริกา ก็แพลนว่าถ้าหมดหิมะแล้วก็จะไปซื้อบ้านโดมมาสร้างอยู่ในฟาร์ม เหมือนทุกอย่างจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ ใบคากำลังตั้งท้อง เขาอยากมีลูกกันสี่คน
วันนั้นเขาขับรถเก่าของดีแลนไปกันเอง แม่ส้มเชื่อว่าเขากลับดาว เพื่อไปสร้างบ้านในจักรวาลตัวเอง บางทีเราคิดว่าถ้าใครจัดสรรให้เรา เราก็ขอบคุณ ถ้าพระเจ้าจัดสรรสิ่งเหล่านี้ให้ เราก็ขอบคุณที่พระเจ้าจัดมาแบบนี้ เสียใจ แต่ไม่รู้สึกต่อว่าโชคชะตา
กับฟ้าใส สายเมฆ (ลูกชาย) ความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปมั้ย
เปลี่ยนๆ ปกติความสัมพันธ์ของลูกสาวกับลูกชายมันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ใบคาเขาคุยกับแม่ได้ทุกเรื่อง หลากมิติมาก เขาฉลาด เขาลึก เวลาคุยกันเลยสนุก มันมาทางเดียวกัน ทำอาหารเหมือนกัน craft เหมือนกัน มันเลยมีความสนิท เม้ามอย แต่งตัว กับลูกชายมิติความสนิทสนมจะน้อยหน่อย ก็เลยเศร้า เหมือนเพื่อนสาวหายไป แล้วก็ไม่คิดว่าใครจะแทนที่ได้ ฉะนั้นสิ่งที่แม่ส้มคิดว่าจะต้องทำช่วงนี้ คือเป็นเพื่อนสนิทกับตัวเอง
แม่ส้มเขียนในเฟซบุ๊กคำว่า ‘ออกกำลังใจ’ มันคืออะไร แล้วทำเพื่ออะไร
แม่ส้มเป็นคนที่สนใจเรื่องนั่งสมาธิตั้งแต่อายุ 30 กว่า จริงๆ เราเป็นเด็กที่ชีวิตไม่ลำบาก มองย้อนกลับไปในเรื่องกายภาพ ลักษณะครอบครัว ความเป็นอยู่ ความสัมพันธ์ในครอบครัว ไม่ได้เดือดร้อนเมื่อเทียบกับหลายๆ ครอบครัว จัดว่าเป็นคุณหนูด้วยซ้ำ แต่ตอนเด็กๆ เคยคิดฆ่าตัวตายแล้วนะ เอาหัวจุ่มไปในโอ่ง เป็นความน้อยใจ คิดแบบเด็กๆ แล้วก็มีความรู้สึกซึบซับความทุกข์คนอื่นมาตั้งแต่เด็กแล้ว เห็นความทุกข์ของผู้คนในตลาด เห็นขอทานก็ร้องไห้ ดูชาร์ลี แชปลิน ก็ร้องไห้กับความทุกข์ของเขา เศร้ากับความทุกข์ของคนอื่น พอโตขึ้นมาก็รู้สึก เอ๊ะ ทำไมชีวิตในโลกนี้มีความทุกข์จัง จึงสนใจศึกษาศาสนา ปรัชญา อยากจะรู้จักทุกศาสนา
ช่วงที่เป็นกรรมการโรงเรียน Montessori ที่เชียงราย ความที่เป็นโรงเรียน Nonsectarian คือสอนให้เด็กเคารพความแตกต่างของทุกศาสนา แม่ส้มพาเด็กไปโบสถ์คริสต์ ไปวัดพุทธ ไปสุเหร่า ไปวัดฮินดู เด็กเรียนรู้ที่จะเคารพความเชื่อของคนอื่น ลูกๆ แม่ส้มก็ให้เลือกเองว่าจะนับถือศาสนาอะไร แม้คำสอนและประวัติศาสตร์ของแต่ละศาสนาจะต่างกัน แต่ทุกศาสนามีกระบวนการอันหนึ่งเหมือนกันคือ การฝึกฝนที่จะอยู่กับความเงียบ การแสวงหาความสงบสันติสุขในใจสำหรับปัจเจกบุคคล นี่คือที่มาของการออกกำลังใจ
ที่แม่ส้มใช้คำนี้ เพราะมองว่ามันเข้าใจง่ายกว่าคำว่า ทำสมาธิ ภาวนา หรือวิปัสสนา เอาง่ายๆว่า ถ้าเราฝึกกล้ามเนื้อร่างกายให้แข็งแรง ก็เรียกว่าออกกำลังกาย และถ้าฝึกจิตใจให้แข็งแรงก็เรียกว่า ออกกำลังใจ ก็แล้วกัน
แม่ส้มมองว่าทุกการออกกำลังกาย คือการเข้าเงียบหรือการทำสมาธิเหมือนกัน เวลายกเวท ถ้าจิตเราโฟกัสดี กล้ามก็จะขึ้นดี ถ้าเราแค่ยกเหวี่ยงๆ กล้ามเนื้อก็ไม่มา แม่ส้มเห็นเพื่อนที่เล่นกล้ามเขาคุยกันเรื่องนี้ จิตต้องอยู่ที่กล้ามเนื้อ ก็แบบเดียวกับเวลาพ่อแม่หรือครูคุยกับเด็ก ถ้าใจเราไม่อยู่กับเขา เขาก็ไม่ฟังเรา ที่จริงมันก็คือเรื่อง mindfulness นั่นแหละ แต่แม่ส้มขอเรียกง่ายๆ ว่า “ออกกำลังใจ”
การออกกำลังกายนี่บางคนขี้เกียจ ไม่สบาย หรือพิการออกกำลังกายไม่ได้ ก็ยังไม่เป็นไร อาจจะมีคนมาทำกายภาพให้ได้ แต่การออกกำลังใจ แม่ส้มคิดว่าทุกคนควรทำ ถ้ายังมีสติสัมปชัญญะอยู่ก็ควรทำ เพราะมันทำได้ง่าย ทำได้ทุกที่ ทำได้ในทุกกิจกรรม แต่คนอื่นทำแทนเราไม่ได้
ตอนนี้ชีวิตประจำวันแม่ส้มเป็นอย่างไรบ้าง
ก็เหมือนเดิม อยู่แถวนี้ ถึงไม่มีโควิดก็คงอย่างนี้แหละ เพราะไม่ชอบออกไปไหน แม่ส้มเป็นคนแอกทีฟ ชอบทำงานที่ใช้ร่างกายเคลื่อนไหว นอกจากงานทำมาหากินแล้ว ก็ออกไปตัดหญ้าด้วยกรรไกร กวาดลานสวน นี่แหละ ชีวิตประจำวัน แล้วก็ดูแลเพจชะนีมีกล้าม ดูแลบริษัท Treemeals และก็เขียนหนังสือ
แม่ส้มมองการแยกจากที่ผ่านมาในชีวิตอย่างไรบ้าง ทั้งการจากกันทั้งที่มีชีวิตอยู่ และแบบสูญเสียชีวิตไปแล้ว
คิดว่าตัวเองถูกเตรียมมาเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ เป็นความเชื่อส่วนตัวว่าเราถูกเตรียมมา ถูกให้มาเกิดเพื่อเผชิญสิ่งนี้ เพราะอยู่กับความแยกจากตั้งแต่เด็ก และอยู่กับยาย (อาม่า) ที่บ้านเหมือนโรงเจ เป็นมหายานที่เคร่ง อ่านหนังสือที่เล่มหนาๆ ของคนจีน หนังสือดูดวง ดูโชคชะตา เขาจะมีเรื่อง ลัทธิขงจื๊อกับลัทธิเต๋าผสมกัน มีบทสอนชีวิต คล้ายๆ สุภาษิตสอนใจ นั่นคือสิ่งที่เราเรียนตั้งแต่เด็ก
แล้วอาม่า ตอนแก่เขาเคร่งเหมือนเป็นแม่ชีเพราะว่าเขาแต่งงานสองครั้ง แล้วสามีเสียทั้งสองครั้ง สมัยนั้นจะมีคำว่า คนกินผัว เขาจึงอยู่ในความกลัวที่จะยึดติด เขาเลี้ยงเรา เขาจึง detach เขาจะพูดตลอดว่าเดี๋ยวอาม่าก็ตายละ เราโตมากับคำว่าเดี๋ยวอาม่าก็ตาย เด็กจะมีช่วงหนึ่งที่กลัวแม่ตาย แต่เราไม่มีประสบการณ์แบบนั้น แล้วก็ไม่ได้กลัวคำว่าเดี๋ยวอาม่าก็ตาย เราโตมาแบบนี้
อาม่าเนี่ย งานของเขาคือผู้นำโรงเจ นำสวดโรงเจ รับจ้างเย็บชุดใหญ่ คนจีนที่รวย เขาจะมีการเย็บชุดเพื่อเตรียมไปเฝ้าเง็กเซียนฮ่องเต้ เป็นชุดมังกร เหมือนชุดจักรพรรดิ์ แล้วต้องเย็บด้วยผ้าแพร คนที่จะเย็บชุดนี้เหมือนจะต้องมีดวงเกิดเฉพาะ ซึ่งอาม่าก็เป็นคนเย็บชุดนี้ เราก็ช่วย แล้วเขามีอีกหน้าที่ คือสวดส่งคนใกล้ตาย คนแก่ๆ สมัยก่อน เขาจะกลับไปตายที่บ้าน เขาก็จะมารับอาม่าไปทำพิธีสวดส่งวิญญาณเพื่อให้คนใกล้ตายมีสติ ยอมรับ และไปอย่างสงบสุข ไม่ต้องห่วงข้างหลัง ตอนนั้นแม่ส้มอยู่กับอาม่า คืออยู่กันสองคน ถ้ามีคนมาตามอาม่าให้ไปสวดส่งวิญญาณตอนดึกๆ แม่ส้มก็ต้องไปกับอาม่าด้วย ก็ได้เห็นกระบวนการของเขา โตมาแบบนี้ ทำให้เราเป็นคนไม่กลัวผี และชินกับการอยู่คนเดียวตั้งแต่เด็กแล้ว
พูดถึงประสบการณ์จริงๆ ที่หัวใจสลายจากความตาย ครั้งแรกตอนประมาณอายุ 14 หมาที่เราเลี้ยงตาย ตอนนั้นร้องไห้แบบเหมือนใจจะขาด ร้องไห้จนแม่โมโห ถามว่าถ้าแม่ตายจะร้องไห้แบบนี้มั้ย เราก็ยิ่งร้องใหญ่ รู้สึกว่าเขาไม่เข้าใจเรา ตั้งแต่นั้นมาก็เลยกลัวที่จะเอาใจไปผูกพัน พอช่วงอายุ 20 น้องชายเสีย โดนรถชนตรงลาดพร้าว แม่ส้มอยู่มหา’ลัย ตอนที่เขาถูกชน เราเดินร้องไห้รอบสนามหลวงโดยไม่มีเหตุผล เหมือนจิตส่งถึงกัน กลับถึงบ้านวันนั้นถึงรู้ว่าเขาเสีย แล้วพออายุ 33 อาม่าเสีย อายุ 40 ปลายๆ พ่อเสีย อายุ 50 กว่า แม่เสีย น้าเสีย เราก็เผชิญการจากตายมาหลายครั้ง
ไม่ใช่ว่าแม่ส้มอยากจะสตรองอะไรหรอกนะ ไม่ได้อยากหรือไม่อยาก มันเป็นภาวะของเรา เราเป็นคนแบบนี้เอง ไม่อยากจมอยู่ในความหม่นหมอง เคยดูหนังเรื่อง What dreams may come มั้ย ที่ตัวนางเอกติดอยู่ในภาวะนรก แม่ส้มไม่อยากติดอยู่ในนรก นรกนั้นก็คือความคิด แม่ส้มถึงบอกว่าถ้าเราชนะความคิดได้ เราก็จะมีอำนาจ แต่มันยาก จึงต้องออกกำลังใจไง
การรู้สึกขึ้นลง เศร้าสูญเสีย มีความสุข มันก็คือการออกกำลังใจ เพื่อให้กล้ามเนื้อใจแข็งแรงใช่ไหม
ใช่ แต่การออกกำลังใจ ไม่ใช่มาเริ่มออกกำลังใจตอนที่เจอภาวะสูญเสียหรือภาวะทุกข์แล้วนะ เราต้องออกกำลังใจก่อนหน้านั้นเพื่อให้เรามีกล้ามเนื้อใจ มีพลังงาน มีแบตที่เหลือ มันเหมือนการใช้กล้ามเนื้อก็ต้องมีกล้ามเนื้อสะสมอยู่ก่อน
ทุกศาสนาจะมีเรื่องเล่า ในไบเบิลก็จะสอนว่า พระเจ้าทรงส่งบททดสอบมา ทุกแบบทดสอบล้วนถูกส่งมาให้เราเผชิญเพื่อเลื่อนชั้นทางจิตวิญญาณ บททดสอบยากแสดงว่าพระเจ้าเห็นว่าเราอยู่มหาวิทยาลัยไม่ใช่ประถมแล้ว คิดแบบนี้ก็จะยอมรับและตั้งใจผ่านแบบทดสอบ
ถ้าตอนนี้มีคนถาม แม่ส้มโอเคไหม แม่ส้มจะตอบว่าอะไร
โอเค ตอบง่ายๆ เลย ถ้าตอนนี้นะ โอเคมากๆ เพราะการที่เราได้พูด มันดีมากเลยนะ เหมือนมีคนมาถามเรา ให้เราได้เช็กกับตัวเอง การพูดทำให้เราเห็นตัวเองชัดขึ้น มันโอเคมากเลย แต่พรุ่งนี้ไม่รู้นะ เย็นนี้ไม่รู้นะ รู้แต่ว่าตอนนี้เดี๋ยวนี้ โอเคมาก เดี๋ยวพอเวลาอยู่คนเดียวเย็นๆ เฮ้อ แมวก็ไม่มีซะแล้ว เพื่อนก็ไม่มี ถ้าไม่โอเคก็ออกไปวิ่งรอบหมู่บ้าน
Writer
tippimolk
คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa
Writer
มิรา เวฬุภาค
Photographer
ชัชฐพล จันทยุง
หลงรักการบันทึกรอยยิ้มและความรู้สึกเป็นภาพถ่าย