มีเรื่องมหัศจรรย์ในหนังสือภาพสำหรับเด็ก คุยกับ มีมี่–สรรประภา วุฒิวร นักวาดและเขียนนิทานเด็ก คนรุ่นใหม่ผู้หลงใหลศิลปะแห่งการวาดภาพ

มีเรื่องมหัศจรรย์ในหนังสือภาพสำหรับเด็ก คุยกับ มีมี่–สรรประภา วุฒิวร นักวาดและเขียนนิทานเด็ก คนรุ่นใหม่ผู้หลงใหลศิลปะแห่งการวาดภาพ

“สำหรับเรา การคิดเนื้อเรื่องของนิทาน คือส่วนที่ยากที่สุด และการได้ลองเทคนิคการวาดใหม่ๆ เราเรียกสิ่งนี้ว่า ความทรมานมาก แต่เป็นความทรมานที่เราเลือกเอง” (หัวเราะ) 

คำพูดที่อาจทำให้คนที่คิดจะเริ่มต้นเดินทางสายนักวาดนิทานเด็ก รู้สึกขนลุกไปตามๆ กัน แต่นี่เป็นเรื่องจริงที่ มีมี่–สรรประภา วุฒิวร’ อดีตวิศวกรคอมพิวเตอร์ ผู้ที่ผันตัวมาเป็นนักวาดและเขียนนิทานเด็กได้เล่าให้เราฟัง

ท่ามกลางความยากของการคิดงาน กลับแฝงไปด้วยความละมุนละไมและความน่ารื่นรมย์อยู่ตลอดการทำงาน ตั้งแต่การได้คิดเนื้อเรื่อง การสเก็ตช์คาแร็กเตอร์ตัวละคร การใช้เทคนิคการวาดให้เข้ากับภาพและเนื้อเรื่อง รวมไปถึงช่วงเวลาที่ทำให้มีมี่รู้สึกราวกับว่า 

นิทานได้ทำให้เธอได้รู้จักโลก เพื่อนใหม่ กับรู้จักตัวเองมากขึ้น  และยังทำให้ได้พบเจอกับความมหัศจรรย์ของนิทานอย่างที่คาดไม่ถึง

“ถ้างานที่เราตั้งใจเขียนและวาด ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตใครสักคน ไม่ว่าส่วนนั้นจะมากหรือน้อย ได้เข้าไปทำให้เขาสนุก อินกับเรื่อง หรือเรียนรู้อะไรบางอย่าง แม้จะแค่ช่วงเวลาหนึ่ง เราก็รู้สึกแล้วว่า นี่ล่ะ คือความมหัศจรรย์ของนิทาน”

มีมี่อธิบายด้วยแววตาที่บ่งบอกว่า สิ่งนี้คือความสุดยอดแล้วในมุมมองของเธอ

           นิทานมีเวทมนตร์ไหม? เรากระซิบถาม เสมือนเป็นเด็กที่กำลังชวนเพื่อนใหม่คุย  

           “คิดว่ามีนะคะ น่าจะเป็นเวทมนตร์แบบหนึ่งที่ไม่มีหน้าตาแน่นอน ไม่ได้มีความเฉพาะเจาะจง แต่เวทมนตร์จะปรากฏขึ้นได้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งาน ถึงคนสองคนใช้หนังสือเล่มเดียวกัน แต่สิ่งที่ได้ก็อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ รวมถึงได้ไม่เหมือนกับคนที่อ่านเอง และคนที่มีคนอื่นอ่านให้ฟังด้วย” มีมี่ตอบ

แค่เริ่มบทสนทนา Mappa ก็ได้กลิ่นอายความสุข ความสนุกของมีมี่แล้ว และช่วงเวลาที่ได้คุยกันก็เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่า ความมหัศจรรย์ของทั้งหมดทั้งมวลที่เกี่ยวข้องกับนิทานและมุมมองของมีมี่ ยังมีเรื่องราวอีกมากมาย ชวนให้เราได้ติดตาม ราวกับว่าได้อ่านนิทานจนจบ

เคมบริดจ์ เมืองที่จุดความสว่างไสวของงานวาดนิทานเด็ก

ย้อนเวลากลับไปสมัยมีมี่ยังเป็นเด็ก เธอชอบวาดรูปและอ่านหนังสือ ความทรงจำบางอย่างยังคงชัดเจน เธอบอกว่า คุณพ่อคุณแม่ซื้อหนังสือให้ แต่ไม่ค่อยอ่านให้ฟัง ด้วยความที่ยังเล็ก เธอเองก็อ่านยังไม่ค่อยรู้เรื่อง จึงดูรูปไปเรื่อยๆ จนเกิดความชอบ โดยเฉพาะเรื่องสัตว์ต่างๆ จากนั้นก็เริ่มหัดวาดรูปจากนิทานเล่มโปรดที่เกี่ยวกับสัตว์เรื่อยมา

“จำได้ว่า คุณพ่อคุณแม่ซื้อหนังสือชุดสารคดีสำหรับเด็กมาให้ เราก็วาดรูปสัตว์ตามจากในเล่ม พอโตขึ้น ได้ไปเจอหนังสือนิทานเรื่อง ‘เก้าอี้เชิญตามสบาย’ นิทานสองภาษาไทย-ญี่ปุ่น คนวาดคือ โคโซะ คากิโมโตะ (Kozo Kakimoto) คนเดียวกับที่วาดหนังสือสารคดีที่เราเห็นตอนเด็กๆ เราประทับใจมาก ประจวบว่าตอนนี้เราเรียนภาษาญี่ปุ่นเพิ่มอยู่ ทำให้มีเป้าหมายใหม่คืออยากอ่านภาษาญี่ปุ่นในเล่มนี้ให้ได้” มีมี่เล่า

หลังจากหนังสือเล่มแรก เมื่อเข้าสู่ช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย เธอกับเพื่อนรวมกลุ่มกันทำหนังสือการ์ตูนทำมือ และมีก๊วนเพื่อนเล่นเกมควบคู่กันไป การที่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำตั้งแต่ช่วงวัยแรกรุ่น ทำให้มีมี่มีความสุขทั้งการอ่าน การวาด และเล่นเกม

“เราชอบเล่นเกมมากกว่า เลยตัดสินใจไปเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จบออกมาก็ทำอาชีพเป็นวิศวกรคอมฯ อยู่หลายปี จนช่วงหนึ่งได้ไปร้านหนังสือ เห็นหนังสือเด็กก็รู้สึกประทับใจ อ่านแล้วสบายใจ ก็เลยอยากทำนิทานเด็กขึ้นมา” มีมี่เผย

ความประทับตั้งแต่วัยเยาว์ตอนการวาดภาพ ยังคงคุกรุ่นอยู่ในหัวใจมีมี่ไม่จางหาย และเพิ่งมาปรากฏกายขึ้นอีกครั้งในร้านหนังสือแห่งนั้น เธอจึงตัดสินใจที่จะเริ่มต้นใหม่ในสายงานนี้ นับตั้งแต่นั้น

“เมื่อเราสนใจมากขึ้น ก็มีคนแนะนำให้ไปฝึกงานกับ พี่อ้อย (วชิราวรรณ ทับเสือ) และ พี่บอมบ์ (กฤษณะ กาญจนาภา) ผู้ก่อตั้งกราฟิกเฮาส์ทำหนังสือเด็ก Littleblackoz ก่อนตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทในสาขา Children’s Book Illustration ที่ Cambridge School of Art(Anglia Ruskin University) เมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ”

‘เคมบริดจ์’ เมืองที่ได้รับความสนใจจากนักทำนิทานทั่วโลก ที่นี่ทำโลกการวาดของเธอเปิดกว้างมากขึ้น

“ที่นี่ทำให้เราได้เห็นนิทานเด็กหลากหลายเนื้อหาแต่ละหัวข้อก็เป็นเรื่องหนักๆ เช่น พ่อแม่ติดเหล้า ความรุนแรงในครอบครัว คนในครอบครัวเป็นซึมเศร้า การหย่าร้าง ภาวะออทิสติก การคอร์รัปชั่น เรื่องทุนนิยม ผู้อพยพ สงคราม ความยากจนในสังคม เรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศในเด็กก็มี” เธออธิบาย

แต่หัวข้อนิทานเด็กที่ทำให้มีมี่ถึงกับอึ้ง คือ แนวปรัชญา อย่างเรื่อง ‘Alla frågar sig varför’ (Everyone Asks Why) หนังสือภาพสำหรับเด็กภาษาสวีดิช เป็นหนังสือเด็กที่สอนปรัชญาชีวิต แต่ละหน้าจะมีเด็กมาตั้งคำถามต่างๆ ของชีวิต เอวา ซุสโซ (Eva Susso) ผู้เขียนหนังสือเล่มดังกล่าวนั้นทำเนื้อเรื่องได้ลึกล้ำ เข้าถึงเด็กได้ง่าย ส่วนแอนนา ฮอกลุนด์ (Anna Höglund) ผู้วาดภาพประกอบก็วาดแล้วสื่อสารได้เข้าใจง่าย ทั้งคู่เหมาะสมกันมาก

เมืองเคมบริดจ์ยังทำให้เธอได้เจอเพื่อนใหม่หลากหลายอาชีพจากนานาประเทศ ช่วยเติมเต็มประสบการณ์และแรงบันดาลใจ รวมทั้งได้เห็นและเรียนรู้เทคนิครูปแบบต่างๆ จนนำไปต่อยอดในงานของเธอได้ในที่สุด

“เราได้เห็นงานหนังสือภาพที่เป็นเทคนิค ‘Risograph’ (รูปแบบของการพิมพ์ที่เกิดขึ้นในยุค 80s ในประเทศญี่ปุ่น) หรือเห็นงานสมัยก่อนที่ใช้ ‘Drypoint’ (การพิมพ์ลายเส้น) งานแกะไม้ แกะยาง โลหะกัดกรด และเทคนิคอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนการได้รู้จักเพื่อนมากขึ้น อีกด้านก็ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นเหมือนกัน” เธอกล่าวด้วยรอยยิ้ม

“เล่มไหนที่ได้ความเป็นเคมบริดจ์มาแต่งแต้มเรื่องราวจนกลมกล่อม” เราถาม

มีมี่ชูหนังสือเรื่อง ‘ง่ำ ง่ำ ฟู่’ ขึ้นมา แล้วเปิดหน้าที่ฉากหลังเป็นเตาผิงอิฐสีน้ำตาลส้ม           

“ฉากนี้เราได้ตอนที่ไปสเก็ตช์ภาพจากพิพิธภัณฑ์ที่แต่ก่อนเคยเป็นโรงเตี้ยมเล็กๆ ในเคมบริดจ์ ภายในเล่มนี้มีกลิ่นอายของอังกฤษอยู่หลายหน้า อย่างภาพวาดเครื่องใช้เครื่องครัวสมัยโบราณในอังกฤษ แถมยังมีแอบใส่ถ้วยที่เราปั้นเองไว้ในเรื่องด้วย” มีมี่กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

ความชอบ X ประสบการณ์และสิ่งที่ได้เจอ + แวดล้อมที่ได้พบเห็น = สูตร (ไม่ลับและไม่ตายตัว) ในการสร้างสรรค์ผลงาน

         ด้วยลายเส้นที่แตกต่างกันไปในแต่ละเล่ม บวกกับเนื้อหาที่อุดมไปด้วยจินตนาการ แต่งแต้มไปด้วยสิ่งที่พบเจอ ทำเอาเราอยากรู้วิธีคิดงานในสไตล์มีมี่

         “เริ่มจากความชอบ ความสนใจก่อนค่ะ แล้วค่อยๆ ลองผสมกับประสบการณ์ สิ่งที่ตัวเองได้พบเจอ ผสมกับสภาพแวดล้อมที่ได้เห็นระหว่างทาง ผสมจินตนาการ พอเอามารวมกันแล้วก็อาจจะได้วัตถุดิบตั้งต้นสำหรับหัวข้อและเนื้อเรื่องต่อไปค่ะ เวลาทำก็ทำไปก่อนอย่างที่ยังไม่ต้องคิดถึงข้อจำกัดอะไร แต่พอเกลามาถึงตอนสุดท้ายก็อยากให้คำนึงถึงการเล่าเรื่องด้วย เล่าเรื่องอย่างไรให้ไม่น่ากลัวเกินไปสำหรับเด็ก ไม่คุกคาม ไม่ตัดสิน ไม่ยัดเยียด และสิ่งที่สำคัญสำหรับเราก็คือ ไม่ว่าจะทำเรื่องที่ชวนมาสนุกกัน เรื่องที่พาสำรวจข้อมูล เรื่องที่เป็นหัวข้อยากๆ หรือจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ก็อยากให้ซื่อตรงกับตัวเองด้วยค่ะ” มีมี่อธิบาย

           เพื่อให้เห็นภาพการทำงานที่ชัดขึ้น มีมี่หยิบยกผลงานเล่มแรก ‘เจ้าถ่านกับการให้ไม่รู้จบ’  มีที่มาจากหัวข้อเรื่องน้ำใจ จากที่เคยทำการ์ตูนแนว Comic essay ก่อนจะมาปรับเป็นหนังสือนิทาน และกลายเป็น ‘เจ้าถ่านฯ’  ในที่สุด

          “เล่มนี้ประกอบไปด้วยความชอบส่วนตัวมากมาย ตั้งแต่เจ้าแมวหลากสีหลายตัว และดอกไม้หลายสายพันธุ์ที่ใช้สื่อความหมาย อย่างดอกไม้ของเจ้าถ่าน คือ ดอกบานไม่รู้โรย ดอกเล็กๆ ที่มีรูปทรงน่ารัก ชื่อก็ความหมายดี เป็นเหมือนความปรารถนาดีที่อยากให้ตัวละครตัวนี้มีอนาคตที่สดใสเบิกบาน หรือดอกไม้ของเจ้าน้ำตาล คือ ดอกทานตะวัน ก็เข้ากับนิสัยร่าเริงเป็นมิตร หรือมีช่วงหนึ่งที่เราชอบปลูกไม้อวบน้ำก็เอามาใส่ในนิทานด้วย ส่วนตอนจบเป็นเหล่าแมวๆ มากินข้าวปิกนิกร่วมกันก็มาจากความชอบเรื่องอาหาร เรารู้สึกว่าได้นั่งล้อมวงกินอะไรด้วยกันมันน่ารักและอบอุ่นดี” เธอเล่าด้วยรอยยิ้ม

           เรารู้แล้วว่ามีมี่ชอบวาดรูปสัตว์ แต่เราก็เห็นว่านิทานส่วนใหญ่ใช้ตัวละครเป็นสัตว์ต่างๆ เรื่องนี้มีมี่ให้คำตอบในมุมมองของเธอว่า ตัวละครที่เป็นสัตว์ จะมีความเป็นกลาง ไม่ได้มีหน้าตา ท่าทางที่สื่อไปถึงเชื้อชาติไหน สีผิวไหนหรือสิ่งใดเป็นพิเศษ และในเมื่อมีความเป็นกลาง เด็กๆ ก็สามารถสวมตัวเองเข้าไปได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

           “แสดงว่านิทานเองก็ไม่ได้ต้องการบอกเด็กๆ อย่างตรงไปตรงมาเสียทีเดียว” เราถาม

           “มีหลายอย่างที่เราตั้งใจสื่อสารในแบบอ้อมๆ ด้วย เช่น การดำเนินเรื่องด้วยการใช้สี ตอนแรกเป็นสีขาวดำ แล้วค่อยๆ มีสีมากขึ้น และตอนสุดท้ายก็เต็มไปด้วยสีสัน แต่ถึงอย่างนั้นเราก็มองว่า เด็กๆ เป็นนักสังเกตการณ์ที่ดี ซึ่งเด็กๆ อาจไม่จับจุดเฉพาะเรื่องสีก็ได้ เพราะแต่ละคนมีจุดที่สนใจที่ต่างกัน เคยมีเด็กมาเล่าให้เราฟังว่า เขาเจอว่าในหนังสือเรื่องเจ้าถ่านฯ มีเงาแมวตัวหนึ่งอยู่ในต้นไม้จากหน้าแรก แล้วแมวตัวนั้นก็มาโผล่อีกทีตอนท้ายเรื่องด้วย ทำให้เรารู้ว่า เด็กๆ ช่างสังเกตมากๆ และแต่ละคนก็อาจมีสิ่งที่เห็นต่างกัน แม้จะอ่านเรื่องเดียวกันก็ตาม”
มีมี่ให้คำตอบได้อย่างน่าสนใจ

ความมหัศจรรย์… เมื่อฉันเป็นนิทาน  

           มุมมองของมีมี่ ทำให้เราถามเป็นประโยคบอกเล่าว่า “แสดงว่าภาพวาด ทำได้กับเด็กได้อย่างลึกซึ้ง”

           เธอแสดงความคิดเห็นกลับมาว่า “ภาพวาดทั้งทำให้เด็กสนุกไปกับสิ่งที่เห็น ทั้งสื่อสารให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น นำพาเด็กๆ เข้าถึงเรื่องราวได้มากขึ้น ทั้งยังสามารถบอกเล่าแบบอ้อมๆ เพื่อสื่อถึงสิ่งที่เล่าออกมาได้ยากก็ได้ ยิ่งภาพและตัวอักษรทำงานด้วยกันก็ยิ่งทำให้เด็กได้ข้อมูลที่เยอะขึ้นด้วยค่ะ”

มีมี่ยกตัวอย่างนิทานที่เล่าถึงความสูญเสียได้อย่างละมุนละม่อม อย่างนิทานเรื่อง ‘Grandpa’ โดยจอห์น เบอร์นิงแฮม (John Burningham) ที่ตอนท้ายเรื่อง โซฟาที่คุณตาเคยนั่งทุกวันกลับว่างเปล่า สื่อความหมายได้โดยไม่ต้องมีคำอธิบายหรือฉากอื่นเพิ่มเติม นั่นทำให้เห็นว่า ภาพวาดทำงานได้อย่างดีเยี่ยม สามารถเล่าเรื่องแทนตัวอักษรได้ และบอกเล่าเรื่องราวอย่างไม่โหดร้ายเกินไป         

“อีกด้าน เรามองว่านิทานเองก็ทำงานกับเด็กๆ ในแง่ของการสร้างแรงบันดาลใจและการเปิดโลกด้วย ช่วยเสริมอรรถรส ช่วยจุดประกายจินตนาการ กระตุ้นให้อยากรู้อยากเห็น เราเห็นเด็กหลายคนมากที่พออ่านนิทานแล้ว ก็มักจะคิดหาอีกหลากหลายวิธีที่จะต่อยอดความสนุก ความสนใจในรูปแบบของเขาเองค่ะ” มีมี่เสริม

“เราเคยวาดบันทึกเรื่องราวที่พบเจอในชีวิตประจำวันแล้วก็เอาเล่มนั้นไปเล่าให้หลานฟัง มีครั้งหนึ่งเล่าว่ามีนกชอบมาร้องตอนตีสี่ตีห้าที่หน้าต่างทุกวันเลยต้องตื่นเช้ากว่าที่ตั้งใจตลอด นกตัวนั้นเป็นนกอีวาบตั๊กแตน ซึ่งชื่อมันน่าจะยาวและอ่านยากสำหรับเด็ก แต่หลานกลับจำได้ กลายเป็นว่าสิ่งที่เราเล่าให้เขาฟัง ทำให้เขาจดจำและซึมซับคำใหม่ๆ ได้มากขึ้น เมื่อทั้งประสบการณ์ ความรู้ ความสนุกรวมกัน ยิ่งทำให้เด็กๆ อยากอ่าน อยากฟัง อยากรู้ต่อไปอีกเรื่อยๆ”

“เวลาที่เด็กๆ ได้ฟังนิทานที่คุณพ่อคุณแม่อ่านให้ฟังบ่อยๆ นอกจากเด็กๆจะซึมซับคำศัพท์แล้ว เขาก็ได้ซึมซับการได้ใช้เวลากับพ่อแม่ รู้สึกมีความสุข อยากใช้ช่วงเวลาแบบนี้อีกเรื่อยๆ อยากอ่านได้ และเมื่ออ่านได้ก็จะภูมิใจในตัวเอง”

เราแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า นิทานคล้ายกับผู้ช่วย ช่วยปรับพฤติกรรมของเด็กๆ ได้ ช่วยสื่อสารแทนพ่อแม่ได้ มีมี่เห็นด้วย และขยายความว่า

“บางเรื่องพ่อแม่ก็อธิบายไม่ถูก ก็ให้หนังสือนิทานเป็นตัวกลางอธิบายแทน แต่เหนือสิ่งอื่นใด เด็กจะต้องสนุกไปกับนิทานก่อน รู้สึกชอบตัวละคร เมื่อตัวละครไปทำอะไรบางอย่าง ก็จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางบอกให้เด็กๆ ทำตามได้”

           “แล้วสื่อกลางอย่าง เจ้าถ่าน’ และ ‘มังกร’ หากพูดได้ คิดว่าทั้งคู่อยากบอกอะไรกับเด็กๆ” เราถาม

           มีมี่ตอบว่า “ถ้าจะพูดก็คงจะเป็นภาษาแมวกับภาษามังกร แต่ทุกคนน่าจะฟังเข้าใจแน่ๆ คงไม่ได้บอกอะไรเป็นพิเศษ แต่คิดว่าเจ้าถ่านคงชวนไปชมหมู่บ้าน ดูแลดอกไม้แล้วก็มาปิกนิกกัน เจ้ามังกรก็คงชวนมาทำปาร์ตี้แพนเค้กกัน หรืออาจจะพาไปเล่นสนุกกันกับเพื่อนๆในป่าวิเศษก็ได้นะ” (ยิ้ม)

โลกแห่งความเป็นจริง ที่ไม่ได้อิงความมหัศจรรย์

           นิทานหนึ่งเล่มได้ให้ความหมายกับผู้อ่านทุกช่วงวัย รวมถึงเจ้าของผลงาน แต่กว่าจะได้ออกมาเป็นนิทานสักเล่มนั้น ยังคงเป็นเรื่องไม่ง่าย เป็นเรื่องที่ท้าทายคนทำงานด้านนี้อยู่เสมอ มีมี่เล่าประเด็นนี้ให้ฟังว่า

“กว่าจะกลายมาเป็นนักเขียนนักวาดที่ได้รับการตีพิมพ์ผลงานสม่ำเสมอ และเริ่มอยู่ได้ด้วยการทำนิทาน ต้องใช้เวลา ต้องสะสมประสบการณ์และชั่วโมงบิน อาจารย์ที่สอนเราบอกว่า กว่าอาจารย์จะเริ่มมีผลงานที่ได้รับความนิยม เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมา ก็ใช้เวลาอยู่หลายปี บางคนก็รอการตอบรับจากสำนักพิมพ์ข้ามปีก่อนจะได้การตอบกลับว่าไม่ผ่าน หรือไม่ได้รับการตอบกลับเลยก็มี นี่คือสิ่งที่นักเขียนนักวาดทั่วโลกหลายคนเคยเจอ อาจจะต่างกันแค่ว่าที่ไหนลำบากกว่ากัน”

เราถามถึงทางลัด ว่าพอจะมีหรือเปล่า มีมี่บอกว่า “คนที่มีผลงานเรียนจบก็ดังเปรี้ยงเลยก็มี แต่น้อย” เธอหัวเราะ

“มีงานแสดงผลงานตอนเรียนจบที่น่าจะเป็นอีกทางที่ช่วยเพิ่มโอกาสผ่านตาสำนักพิมพ์ให้ได้มากขึ้น ทั้งงานแสดงผลงานเรียนจบที่จัดที่แกลลอรีในลอนดอน ที่ภาควิชา หรือที่ที่สำนักพิมพ์หนังสือเด็กมารวมตัวกันเยอะสุดๆ อย่างเทศกาลหนังสือเด็กโบโลญญา (Bologna Children’s Book Fair) จัดที่เมืองโบโลญญา ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นงานเจรจาลิขสิทธิ์หนังสือเด็กที่ใหญ่มากของวงการ นอกจากบูธของทางภาควิชาในงานที่มีสำนักพิมพ์หลายเจ้าแวะเวียนมาแล้ว หลายสำนักพิมพ์ก็เปิดให้ยื่นแฟ้มสะสมผลงาน (portfolio) เพื่อพิจารณาผลงานที่บูธได้ด้วยเหมือนกัน หากถูกใจก็อาจติดต่อกันเพิ่มเติมหลังจบงานค่ะ”

“มีทางอื่นๆ อีกไหม สำหรับนักเขียนและนักวาดนิทานเด็ก” เราเองก็อยากรู้

“เท่าที่คุยกับเพื่อนในวงการ อย่างเพื่อนที่อยู่ฟินแลนด์ เล่าให้ฟังว่า เขามีทำโครงการขอทุนจากรัฐบาล เป็นสิ่งที่ช่วยให้เขาได้สร้างงานที่อยากทำได้อย่างสบายใจระดับหนึ่งจนจบโครงการ หรืออย่างเราเคยไปฟังเรื่องราวนักเขียนชื่อ นัมจู ชเว (Namju Choi) เขาบอกว่า มีระบบที่สนับสนุนจากทางรัฐบาลให้ทำสำนักพิมพ์เองได้ง่ายขึ้นมาก มีการให้คำปรึกษา มีทุนและช่วยเชื่อมโยงให้ต่อยอดไปถึงกิจกรรมรูปแบบอื่นๆ เช่น การพากย์หนังสือเสียง หรือการทำละครหุ่นก็ได้ด้วย “ส่วนของไทย เราเองยังไม่ทราบข้อมูลมากนักเรื่องการขอทุนสนับสนุน แต่เคยได้รับโอกาสให้วาดภาพประกอบนิทานเรื่อง ‘อลิซในวันมหัศจรรย์’ ร่วมกับทางสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน Child and Youth Media Institute (สสย.) เป็นส่วนหนึ่งของชุดนิทานรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กปฐมวัย สนับสนุนและตีพิมพ์โดย มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โดยทางโครงการเป็นผู้กำหนดหัวข้อหลักมาให้  หากใครมีข้อมูลเรื่องการขอทุนหรือการสนับสนุนในด้านอื่นๆ จากทางภาครัฐหรือหน่วยงานต่างๆ ก็ช่วยแชร์ข้อมูลไว้ได้นะคะ” มีมี่ฝากไว้ทิ้งท้าย

Writer
Avatar photo
ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล

คุณแม่ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยให้มีความสุขแบบกำลังพอดี และตัวเองก็แฮปปี้ได้ด้วย คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 14 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักเขียนและวาดนิทานเด็ก

Photographer
Avatar photo
ชวณิช สุริวรรณ

อย่าซีเล็ง เดี๋ยวซู้หลิ่ง

illustrator
Avatar photo
Arunnoon

มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด

Related Posts

Related Posts