RYUICHI SAKAMOTO: CODA ภาพชีวิตของชายซึ่งแสวงหาเสียงนิรันดร์กับผลงานที่เขาจะไม่อับอายเมื่อความตายมาเยือน

RYUICHI SAKAMOTO: CODA ภาพชีวิตของชายซึ่งแสวงหาเสียงนิรันดร์กับผลงานที่เขาจะไม่อับอายเมื่อความตายมาเยือน

  • วันที่ 2 เมษายน 2023 ที่ผ่านมา บัญชีโซเชียลมีเดียทางการของริวอิจิ ซากาโมโตะ หนึ่งในนักดนตรีร่วมสมัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดได้ประกาศว่า ริวอิจิ ซากาโมโตะได้จากไปด้วยโรคมะเร็งในวันที่ 28 มีนาคม 2023
  • Mappa ชวนย้อนดูภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Ryuichi Sakamoto: Coda ที่เข้าฉายในปี 2017 สารคดีที่ไม่ได้บอกเล่าความยิ่งใหญ่ ความสำเร็จ หรือความเก่งกาจของซากาโมโตะ แต่กลับนำเสนอกิจวัตรของเขาเมื่อกลับมาทำเพลงอีกครั้งหลังจากพบว่าตนเองเป็นมะเร็งลำคอระยะที่สามในปี 2014 และต้องหยุดการทำเพลงไปหนึ่งปีเต็ม
  • Ryuichi Sakamoto: Coda จึงกลายเป็นสารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวของชายผู้แสวงหาเสียงอันเป็นนิรันดร์เพื่อสร้างผลงานที่เขาจะไม่อายเมื่อความตายมาเยือน ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องของนักอนุรักษ์ที่ค่อย ๆ เข้าใจสัจธรรมของความสัมพันธ์อันยอกย้อนที่ขัดแย้งแต่สอดประสานกันจนแยกไม่ได้ของคนและธรรมชาติ

“คนเราไม่รู้วันตาย เราจึงเห็นชีวิตเป็นบ่อน้ำที่ไม่มีวันเหือดแห้งแม้ทุกสิ่งเกิดขึ้นเพียงนับครั้งได้
กี่ครั้งกันเล่าที่เราจะนึกถึงบ่ายวันหนึ่งในวัยเด็ก บ่ายวันนั้นที่ส่งผลต่อตัวตนเราอย่างลึกล้ำ
จนถ้าขาดมันก็ไม่รู้ว่าชีวิตเราจะเป็นเช่นไร คงอีกสักสี่ซ่าห้าครั้งหรืออาจไม่ถึงด้วยซ้ำ
อีกกี่ครั้งเล่าที่เราจะเห็นพระจันทร์เต็มดวง คงสักยี่สิบครั้ง
แต่มันกลับเหมือนมากมายสุดคณานับ”

คำพูดของพอล โบลส์ว ที่ปรากฏในช่วงท้ายของภาพยนตร์เรื่อง The Sheltering Sky (1990) ซึ่งดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อเรื่องเดียวกันนั้นตราตรึงใจ ริวอิจิ ซากาโมโตะ มากเสียจนเขาสะสมหนังสือ The Sheltering Sky ที่ถูกแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ไว้แม้จะอ่านไม่ออก แล้วยังนำคำพูดนี้ในภาษาต่าง ๆ มาใส่ไว้ในเพลง Fullmoon ในอัลบั้ม Async ซ้อนทับและสอดประสานกันไปกับเสียงอื่น ๆ

ริวอิจิ ซากาโมโตะ เป็นนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ อาจจะหนึ่งในนักดนตรีร่วมสมัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ความสามารถด้านดนตรีของเขาครอบคลุมแทบทุกประเภท เขาเริ่มเล่นเปียโนตั้งแต่แบเบาะ เรียนการประพันธ์เพลงตั้งแต่ 10 ขวบ เรียนต่อทั้งด้านดนตรีอิเล็กทรอนิกและดนตรีชนเผ่าที่ Tokyo’s University of Art จบมาร่วมวงดนตรีแนวเทคโนป็อป อย่าง Yellow Magic Orchestra ที่สร้างปรากฏการณ์โด่งดังไปทั่วญี่ปุ่นและอังกฤษ ก่อนจะเริ่มสร้างผลงานเดี่ยว และประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น Merry Christmas, Mr. Lawrence และ the Last Emperor ที่ได้รางวัลออสการ์สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ทำโอเปรา และยังทำดนตรีเชิงทดลองออกมาอีกหลายอัลบั้ม

แต่หนังสารคดีเกี่ยวกับตัวเขาที่ใช้เวลาถ่ายทำถึงห้าปี อย่าง Ryuichi Sakamoto: Coda กลับไม่ได้ฉายภาพความยิ่งใหญ่ของเขาผ่านผลงานเหล่านั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ กลับเน้นไปที่การฉายภาพกิจวัตรของซากาโมโตะเมื่อเขากลับมาทำเพลงอีกครั้งหลังจากต้องหยุดไปพักหนึ่งเมื่อพบว่าตนเองเป็นมะเร็งลำคอระยะที่สาม ในปี 2014 ขณะเดียวกัน หนังก็ยังนำเสนอแง่มุมการเป็นนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของซากาโมโตะที่สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งแต่กลับสอดประสานของมนุษย์หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมและธรรมชาติ  

ภาพจาก mixmag.asia/read/ryuichi-sakamoto-releases-another-track-from-his-incomplete-series-local

“ตอนแรกหนังเรื่องนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองมากกว่าการเป็นศิลปินหรือดนตรีนะ” ซากาโมโตะให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร GQ ถึงภาพยนตร์เรื่อง Coda ความจริงแล้วผู้กำกับอย่าง สตีเฟน โนมูระ ซิเบิล เริ่มถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2012 และสองปีถัดมา ซากาโมโตะก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเขาเป็นมะเร็งระยะที่สาม “จริง ๆ แล้วคุณซิเบิลเสนอว่าจะไม่ถ่ายทำต่อ แต่ผมก็ปลอบใจเขาเพราะใจผมเองคิดว่า จะได้มีช่วงดรามาให้สารคดีเรื่องนี้แล้วไง [หัวเราะ]”

แต่สารคดีก็ไม่ได้ ‘ดรามา’ อย่างที่ซากาโมโตะบอก มันคือสารคดีที่ค่อนข้างถ่ายทอดออกมาได้อย่างนิ่งสงบและเงียบงันเสียด้วยซ้ำ น้อยครั้งที่สารคดีเรื่องนี้จะมีเสียงอึกทึกคึกโครมหรือเสียงเพลงกระหึ่มอย่างที่สารคดีเกี่ยวกับนักดนตรีเรื่องอื่น ๆ จะเป็น และน้อยครั้งยิ่งกว่าที่จะมีคำพูดหลุดออกมา สารคดีเรื่องนี้ไม่ได้พยายามบดขยี้เราด้วยชะตากรรมอับโชคของนักดนตรีผู้ถูกมะเร็งพรากเวลาแห่งชีวิตที่แรงบันดาลใจยังคงลุกโชน มันไม่ได้บอกเราตรง ๆ ว่าซากาโมโตะยิ่งใหญ่อย่างไร ซิเบิลเลือกที่จะเล่าเรื่องเสียงและดนตรีของศิลปินผู้นี้ผ่านความเงียบ และเป็นความเงียบอันทรงพลังไม่ต่างจากผลงานที่ออกมาหลังจากนั้นของซากาโมโตะ

ผมรู้ว่าผมอยากทำเพลงอีก

สารคดีเปิดเรื่องด้วยช่วงเวลาที่ซากาโมโตะเดินทางไปเขตปนเปื้อนรังสีฟุกุชิมะ ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ถูกคลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่มแนวป้องกันและเตาปฏิกรณ์จนมีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีทำให้ชาวเมืองต้องอพยพออกจากพื้นที่กว่า 150,000 คน ที่นั่นเขาได้พบกับเปียโนหลังหนึ่งซึ่งโดนคลื่นซัดและจมน้ำจนเสียงเพี้ยน แต่ซากาโมโตะก็ยังใช้มันบรรเลงเพลง Merry Christmas, Mr. Lawrence ให้กับประชาชนละแวกนั้นได้ฟัง ภาพเหตุการณ์เหล่านั้นถูกตัดสลับกับตอนที่เขาไปร่วมประท้วงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เปิดใหม่และปราศรัยว่าคนญี่ปุ่นจะปิดปากเงียบต่อไปไม่ได้

หลังจากนั้นหนังก็ตัดฉากมากล่าวถึงการถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งระยะที่สาม ซากาโมโตะยอมรับว่าในช่วงที่ต้องเริ่มการรักษาเขายังคงลังเลอยู่ เขารักในการทำเพลงมากจนไม่อยากหยุดพัก แต่ในอีกแง่เขาก็ต้องหยุดงานและเริ่มการรักษา เพราะหากจะทำเพลงได้ เขาต้องมีชีวิตอยู่ต่อให้ได้ก่อน

ภาพจาก www.worldpianonews.com/event/art-installation/tsunami-piano/

ความตลกร้ายคือ ภาพของชายผู้ซึ่งต่อต้าน ‘รังสี’ และอยู่ข้างธรรมชาตินั้น ถูกฉายสลับกับภาพของชายผู้ที่ต้องการมีชีวิตอยู่ด้วยการเข้ารับ ‘รังสี’ เพื่อฝืนกฎของธรรมชาติ ไม่ใช่ว่าเขาเป็นคนย้อนแย้ง ซากาโมโตะเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาเองก็เห็นความตลกร้ายนี้เช่นกัน หากแต่เมื่อความตายมาเยือนในตอนที่คุณยังคงมีแรงใจไฟฝัน มีคำถามที่คุณยังอยากแสวงหาคำตอบ มีเป้าหมายที่ต้องทำให้ได้ คุณอาจต้องการเวลาทำใจสักนิด ก่อนที่จะยอมรับกฎธรรมชาติข้อนี้ได้

หลังสารคดีเรื่องนี้ออกฉายได้สองปี ซากาโมโตะให้สัมภาษณ์กับ Asahi ว่า เมื่อมะเร็งมาเยือนและเกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในร่างกาย เขาค้นพบว่า ร่างกายนี้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายต่างก็เดินหน้าเคลื่อนหาความตายนับตั้งแต่วันแรกที่เกิด มันคือกฎแห่งธรรมชาติที่เราไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

“ผมไม่รู้เลยจริง ๆ ว่าจะอยู่ได้กี่ปี แต่ผมรู้ว่าผมอยากทำเพลงอีก เพลงที่ผมฝากฝีมือไว้ได้โดยไม่ต้องอายใคร” ซากาโมโตะในสารคดีกล่าวเช่นนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งเขาก็ตัดสินใจว่าจะยังทำการรักษาต่อไป แต่ก็กลับมาทำเพลงต่อด้วย มันคือการดิ้นรนเพื่อจะมีชีวิตอยู่ต่อ แต่ในขณะเดียวกัน การกลับมาทำเพลงต่อแทนการพักผ่อน ก็คงเป็นการยอมรับว่า อย่างไรความตายก็ต้องมาเยือนในสักวัน การสร้างผลงานไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตและเรี่ยวแรงที่จะทำคงดีกว่าการหยุดทำสิ่งที่รักเพียงเพื่อจะหนีสิ่งที่หนีไม่พ้น

เนื้อหาของสารคดีหลังจากนั้นจึงเป็นเรื่องของชายคนหนึ่งซึ่งพยายามเสาะแสวงหาเสียงอันเป็นนิรันดร์กับการสร้างผลงานที่เขาจะสามารถทิ้งไว้โดย ‘ไม่อาย’ เมื่อความตายมาเยือน ขณะเดียวกัน ชายคนนั้นก็ยังได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ไม่ใช่ในฐานะนักอนุรักษ์หรือนักเคลื่อนไหวเรื่องวิกฤติสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ในฐานะมนุษย์ที่ตระหนักรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติในขณะที่ยังต้องพึ่งพาสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ซึ่งอาจเบียดเบียนหรือแทรกแซงวิถีของธรรมชาติเช่นกัน

เสียงที่ไม่เงียบหาย

“ปกติพอผมนึกถึงดนตรีก็จะนึกถึงเปียโน เสียงเปียโนมันค้างอยู่ไม่นาน ปล่อยไว้เสียงก็แผ่วแล้วเงียบไปทันที ผมหลงใหลเสียงที่ยืนยาว เสียงที่ไม่เงียบหายเมื่อกาลเวลาผ่านไป ถ้าพูดด้วยภาษาวรรณกรรมมันคงสื่อถึงความเป็นนิรันดร์”

ใครที่เป็นแฟนเพลงของริวอิจิ ซากาโมโตะคงรู้ดีว่าเขาสร้างชื่อจากงานเพลงประเภทเทคโนป็อปกับวง Yellow Magic Orchestra ใน Coda เองก็มีฟุตเทจของเขาขณะที่เป็นสมาชิกวงนี้อยู่เช่นกัน หนึ่งในฟุตเทจนั้นมีคนถามซากาโมตะว่าการใช้คอมพิวเตอร์ทำเพลงดีอย่างไร ซากาโมโตะบอกว่ามันทำให้เขาเล่นเพลงเร็ว ๆ ที่เขาเล่นไม่ทันได้ เสียงคีย์บอร์ดที่เล่นโน้ตรัวเร็วผ่านการใช้เทคโนโลยีของซากาโมโตะวัยหนุ่มในสารคดีถูกตัดฉับแทนที่ด้วยฟุตเทจซากาโมโตะในวัย 60 กว่าที่กำลังเขียนสกอร์ซึ่งมีโน้ตจังหวะลากยาวติดกันหลายห้อง

ภาพจาก /www.highresaudio.com/en/album/view/nc3384/yellow-magic-orchestra-bgm-remastered

เขาให้สัมภาษณ์กับ The Creative Independent ในปีเดียวกันกับที่สารคดีเรื่องนี้ออกฉายว่า เมื่ออายุมากขึ้น เขาเล่นดนตรีช้าลง มีโน้ตน้อยลง แต่มี ‘พื้นที่’ มากขึ้น พื้นที่นี้หาใช่ความเงียบ แต่มันคือเสียงดังแผ่วที่ดังขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงโน้ตถัดไป แล้วเสียงสอดประสานจึงตามมาทีหลัง สำหรับเขาแล้ว นี่คือ ‘การเล่นดนตรีแบบหั่นเต้าหู้’ คือค่อย ๆ ละเลียดโน้ตแต่ละตัว เว้นพื้นที่ไว้ให้ซึมซับความงามของเสียงเสียงหนึ่ง ก่อนที่เสียงถัดไปจะเข้ามาแทนที่

ก่อนที่จะพบว่าตนเองเป็นมะเร็ง ซากาโมโตะซุ่มทำอัลบั้มใหม่ที่เขาใช้วิธีการเก็บสรรพเสียงต่าง ๆ ทั้งเสียงน้ำจากอาร์กติก เสียงฝนที่สะท้อนก้องเมื่อตกกระทบลงสู่ถังที่เขาเอามาครอบหัว ซุ่มเสียงสรรพชีวิตในเมืองต่าง ๆ อย่างนิวยอร์กหรือปารีส กระทั่งเขาเดินทางไปยังทะเลสาบเทอร์คานาเพื่อตามหาต้นกำเนิดของมนุษยชาติ

“โลกนี้มีเสียงต่าง ๆ มากมาย ปกติเราไม่ได้คิดว่ามันเป็นดนตรี แต่ที่จริงเสียงเหล่านี้น่าสนใจมากในทางดนตรี ผมจึงอยากใส่มันไว้ในงานของผมให้ได้ โดยหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเครื่องดนตรี กลายเป็นเสียงผสมที่ทั้งตีกันและกลมกลืนกัน”  ซากาโมโตะอธิบายแนวคิดการทำอัลบั้มใหม่ของเขาไว้ในสารคดี

อีกเป้าหมายของซากาโมโตะในตอนนั้น ก็คือการตามหาเสียงอันเป็นนิรันดร์ และบางทีเสียงแวดล้อมต่าง ๆ ที่ถูกมองว่าไม่ใช่เสียงดนตรีนี้เองที่เติมเต็มเสียงดนตรีให้กลายเป็นเสียงนิรันดร์ที่เขาตามหา เสียงโน้ตดนตรีที่มีชื่อเรียกดังขึ้น ค้างเติ่งเป็นคลื่นเสียงสั่นไหว ประกอบกับเสียงแวดล้อมที่ซากาโมโตะเก็บมาจากสถานที่ต่าง ๆ บทเพลงกับเสียงจอแจของผู้คน เสียงสังเคราะห์ก้องกังวานกับเสียงน้ำไหลในอาร์กติก กรุ๊งกริ๊งระฆังจิ๋วอันเป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์กับเสียงลมอื้ออึง สอดประสานเป็นสิ่งเดียวกัน แม้ต่อเมื่อบทเพลงจบลง คุณก็ยังจะได้ยินเสียงต่าง ๆ ในเพลงของเขาอยู่ ลมยังคงพัด น้ำยังคงไหล สรรพชีวิตยังคงหมุนไป สร้างสรรพเสียงอันเป็นนิรันดร์  

สอดประสานนั้นหรือคือสัจจะ

จากที่ซากาโมโตะบอกว่าที่จริงแล้วสารคดีเรื่องนี้ตั้งต้นมาในฐานะหนังสารคดีการเมืองที่ว่าด้วยเรื่องวิกฤติสิ่งแวดล้อม เราก็พอจะเห็นเศษซากของสารคดีแนวการเมืองนั้นอยู่ในเรื่องบ้าง ทั้งตอนเปิดเรื่องที่ซากาโมโตะออกไปประท้วงโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์พร้อมทั้งวิพากษ์คนญี่ปุ่นว่าไม่เคยเรียกร้องอะไรมากว่า 50 ปีแล้ว ฟุตเทจซากาโมโตะในวัยหนุ่มกล่าวว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศทุนนิยมที่เจริญที่สุดในโลก หรือตอนที่เขาอธิบายว่าเพลงของบาคผู้เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญของเขานั้นคือเพลงที่เต็มไปด้วยความเศร้า ความเศร้าจากโรคร้าย ภาวะอดอยากและการกดขี่ ในขณะที่ตัวเขาเองก็นำเสนอวิกฤติสิ่งแวดล้อมซึ่งเขาเรียกว่าเป็น “เพลงเศร้าเกี่ยวกับโลก” ไว้ในผลงานเพลงอย่าง Oppenheimer’s Aria ด้วยเช่นกัน

ถึงกระนั้น การป่วยไข้กะทันหันของซากาโมโตะก็ทำให้ทิศทางของสารคดีเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด จากสารคดีการเมืองที่ดูจะวิจารณ์วิถีของมนุษย์หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างจัดจ้าน ก็กลายเป็นสารคดีของชายนักอนุรักษ์ธรรมชาติที่เริ่มเข้าใจ ‘ธรรมชาติ’ ของมนุษย์และยอมรับความสัมพันธ์อันยอกย้อนของโลกนี้ได้เช่นกัน

ขณะที่ตั้งคำถามต่อกิจกรรมของมนุษย์หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ซากาโมโตะก็ยังคงต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีจากกิจกรรมเหล่านั้นเพื่อทำในสิ่งที่เขารักและนำผลผลิตจากสิ่งเหล่านั้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ธรรมชาติอีกทีหนึ่ง

แม้จะข้ามน้ำข้ามทะเลเก็บเกี่ยวเสียงธรรมชาติมาใช้ในการทำเพลง แต่สุดท้ายเขาก็ยังใช้เทคโนโลยีและเสียงสังเคราะห์เข้ามาสอดประสานเคล้าคลอไปกับเสียงเหล่านั้น

และแม้แต่เปียโนที่ถูกคลื่นซัดและกำลังเข้าสู่กระบวนการกลับคืนสู่ธรรมชาติ ก็ถูกซากาโมโตะนำกลับมาเล่นบทเพลงด้วยเสียงตัวโน้ตอันเที่ยงตรงตามมาตรฐานของมนุษย์

ภาพจาก https://www.modernfilms.com/coda

“ธรรมชาติและดนตรีคือความสัมพันธ์คู่ขนาน ในแง่หนึ่งดนตรีก็เหมือนโรงงานนิวเคลียร์จริง ๆ นะ มันคือสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ แต่ก็ยังใช้วัสดุบางอย่างจากธรรมชาติ เปียโนนั้นประกอบด้วยไม้และเหล็ก แม้แต่นิวเคลียร์เองก็ใช้วัสดุจากธรรมชาติ แต่มันถูกดัดแปลงโดยมนุษย์และสร้างสิ่งที่ไม่เป็นธรรมชาติขึ้น”

ซากาโมโตะขยายความเรื่องราวของเปียโนหลังที่เราเห็นในสารคดีอีกครั้งในการให้สัมภาษณ์กับ GQ และเมื่อถูกถามว่าทุกครั้งที่เล่นดนตรี เขารู้สึกว่าเขากำลังทำร้ายธรรมชาติอยู่ไหม คำตอบของเขาคือ

“ตั้งแต่ผมเห็นและใคร่ครวญถึงเรื่องเปียโนหลังนั้น ทุกครั้งที่ผมมองเปียโนหลังอื่น ๆ ผมก็รู้สึกค่อนข้างเจ็บปวดนะเพราะมันคือการทำร้ายธรรมชาติ แต่ทุกสิ่งมันก็เป็นเช่นนั้น มันมาจากการทำร้ายธรรมชาติ”

“ผมตัดสินใจแล้วว่าจะเล่นเปียโนทุกวัน ผมเอาจริง พูดจริง ๆ” ซากาโมโตะกล่าวทิ้งท้ายไว้ในสารคดี เปียโนคือความสุขที่เขาไม่สามารถละทิ้งมันไปได้ง่าย ๆ นั่นอาจเป็นจุดที่เขายอมรับได้ว่านี่แหละคือชีวิตมนุษย์ เขายังผลิตผลงานเพลงด้วยสิ่งประดิษฐ์จากมนุษย์ต่อไป เขายังใช้รังสียับยั้งกระบวนการกลับคืนสู่ธรรมชาติของตนต่อไป ยังเล่นเปียโนที่เป็นการทำร้ายธรรมชาติต่อไป ในวัย 60 กว่าปีที่ผ่านการเป็นมะเร็งมาแล้วรอบหนึ่ง ซากาโมโตะอาจยอมรับได้แล้วว่า การสอดประสานระหว่างธรรมชาติและสิ่งประดิษฐ์นั้นอยู่คู่กับชีวิตมนุษย์มานานเกินกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงได้ อย่างน้อยก็จนกว่าความตายจะพาเรากลับคืนส่ะรรมชาติโดยสมบูรณ์

ริวอิจิ ซากาโมโตะ มีผลงานชิ้นสุดท้ายคือเสียงใน ‘12’ อัลบั้มที่ประกอบด้วยเปียโน ลมหายใจของเขา เสียงการทำกิจวัตรประจำวันของเขา และเสียงสังเคราะห์ ซึ่งปล่อยออกมาเพียงสองเดือนก่อนที่เขาจะจากไปด้วยโรคมะเร็งในวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา

Writer
Avatar photo
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

illustrator
Avatar photo
ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์

ชอบกินลาเต้เย็น

Related Posts

Related Posts