Ride for the Reefs ยูริ (Yuri) เด็กชายสิบเอ็ดขวบผนวกสองสิ่งที่รักให้เป็นเรื่องเดียวกัน
Ride for the Reefs ยูริ (Yuri) เด็กชายสิบเอ็ดขวบผนวกสองสิ่งที่รักให้เป็นเรื่องเดียวกัน
เช้าตรู่วันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ของ ยูริ (Yuri) ไม่เหมือนทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ของเขา และอาจไม่เหมือนกิจกรรมวันหยุดของเด็กชายวัย 11 ขวบแบบที่หลายคนจินตนาการ เพราะยูริวางแผนปั่นจักรยานขึ้นภูเขาสูงที่มีทั้งความชันและโค้งหักศอก รวมเส้นทางเกือบ 100 กิโลเมตร สูงชันถึง 1,140 เมตรจากระดับน้ำทะเล บนเส้นทางที่นักปั่นทั้งหลายรู้จักกันดีที่เรียกว่าสะเมิง Loop ซึ่งการวางแผนการเดินทางครั้งนั้นไม่ใช่เพื่อการออกกำลังกายแต่เขากำลังท้าทายตัวเองในการระดมทุน (fund-raising) เพื่อปกป้องแนวปะการังใต้ท้องทะเลที่เขารักมากพอๆ กับการปั่นจักรยาน ภายใต้โปรเจกต์เล็กๆ ที่เขาสร้างขึ้นในชื่อ ‘Ride for the Reefs’ โดยมอบทุนทั้งหมดให้กับ The Coral Reef Alliance (CORAL)
ผ่านมาจนถึงวันนี้ยูริสามารถหาทุนให้ CORAL ได้ถึง 56,100 บาท จากที่ตั้งเป้าไว้เพียง 20,000 บาทเท่านั้น
Ride for the Reefs
ยูริรักการดำน้ำเป็นชีวิตจิตใจ แทบทุกปิดเทอมเขาไปดำน้ำ เดินป่า เพราะทั้งครอบครัวมีความชื่นชอบและสนใจในเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การดำน้ำครั้งหลังสุด เขาพบเห็นปะการังฟอกขาวมากขึ้น เมื่ออ่านข่าวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และรับรู้การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมรอบโลก ยูริพบว่า แนวปะการังแทบทุกแห่งในโลกล้วนถูกคุกคามและทำลายลงอย่างต่อเนื่อง เขาตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและต้องการลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องปะการังที่เขารักด้วยโครงการเล็กๆ ที่ใช้แรงจากสองขาของเขาเอง
ทำในสิ่งที่รักเพื่ออีกสิ่งที่เขารักไม่แพ้กัน
ยูริ เขียนเรื่องราวเพื่อการระดมทุนไว้ในเว็บไซต์ gogetfunding.com ว่า “ผมชื่อยูริ เรียนอยู่เกรด 6 โรงเรียนปัญญาเด่น เชียงใหม่, ประเทศไทย ในแง่มุมของการเป็นนักดำน้ำและนักปั่นจักรยาน ผมอยากผสมผสานสองสิ่งที่ผมหลงใหลนี้ไว้ด้วยกันเพื่อระดมทุนสำหรับ Coral Reef Alliance”
เขาเลือกองค์กร CORAL เพราะเชื่อมั่นในแนวทางการทำงานอนุรักษ์ซึ่งใช้ทั้งวิทยาศาสตร์และความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่นในการส่งเสริมการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
“ตอนดำน้ำผมได้เห็นสิ่งสวยงาม แนวปะการังมันสวยมาก มีสีสัน มีชีวิตที่หลากหลายอาศัยอยู่ในแนวปะการัง ทั้งพืช ทั้งสัตว์ ผมสัมผัสได้ถึงการพึ่งพิงกัน ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน แต่วันนี้แนวปะการังหลายที่เปลี่ยนไป สิ่งมีชีวิตที่เคยอาศัยอยู่ก็อยู่ไม่ได้ แม้แต่ปูสักตัวหนึ่งก็ไม่มี ผมรู้สึกว่ามันน่าเศร้ามาก ผมรู้สึกอยากทำอะไรขึ้นมาบ้างเพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลปกป้องปะการังที่สวยงามเหล่านั้น”
ยูริขยายความถึงเหตุผลในการระดมทุนครั้งนี้ แววตาและรอยยิ้มบางๆ ของยูริสดใสมากเมื่อเขาพูดถึงปะการัง
นอกจากนี้เนื้อหาบนเว็บไซต์ของเขายังเขียนอธิบายถึงการปั่นจักรยานเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ว่า เส้นทางสะเมิงเป็นเส้นทางที่ท้าทายด้วยระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตร ถนนหนทางคดเคี้ยว สูงชัน ยากลำบากและยากต่อการคาดเดาสิ่งที่จะต้องพบเจอ
“การปั่นจักรยานครั้งนี้ผมต้องใช้ความอุตสาหะ แรงจูงใจและการฝึกฝนอย่างมาก ผมหวังว่าผมจะทำสำเร็จและสามารถหาเงินบางส่วนสำหรับการอนุรักษ์และฟื้นฟูปะการังได้”
ยูริใช้เวลาเตรียมตัว ฝึกฝนทั้งหมดราว 3 เดือน นอกเหนือจากการเรียน เล่นฟุตบอล และอ่านหนังสือ เขาเล่าว่า ก่อนหน้านั้นระยะทางที่ไกลที่สุดที่เขาและครอบครัวปั่นด้วยกันคือ เส้นทางจากบ้านแถวเชิงดอยสุเทพไปอุทยานแห่งชาติออบขาน ระยะทางราว 50 กิโลเมตร
หลังจากตัดสินใจเลือกภารกิจสุดหินสำหรับเด็กชายวัย 11 ปีเพื่อระดมทุนแล้ว การฝึกซ้อมอย่างหนักก็ได้เริ่มต้นขึ้น
“ช่วง 3 เดือนก่อนถึงวันปั่นจริงเป็นการฝึกที่เข้มข้นมากสำหรับผม ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ผมตื่นแต่เช้าและปั่นจักรยาน บางครั้งไปบนเส้นทางสายสะเมิง หรือแม่ริม เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ความอดทนให้กับกล้ามเนื้อและร่างกาย และเพื่อทำความคุ้นเคยเส้นทาง
ยูริเล่าว่าแรกฝึกเขารู้สึกว่าเส้นทางตั้งแต่แม่ริมขึ้นเขาและวนมาทางสะเมิงนั้นอยู่ไกลเกินเอื้อมและเป็นเป้าหมายที่ใหญ่โตเกินไป แต่เมื่อฝึกฝนอย่างหนักและเข้าใกล้กำหนดเวลาของวันปั่นจริงเพื่อการระดมทุนเขาก็รู้สึกมั่นใจมากขึ้นเพราะผ่านการฝึกอย่างสม่ำเสมอ และฝึกซ้อมหนักขึ้น มากกว่าตอนแรก
“ถึงวันนี้ผมมองว่าการปั่นจักรยาน ride for the reefs ทำให้ผมตระหนักว่า ถ้าเราทุ่มเท เราก็สามารถบรรลุความท้าทายที่เราตั้งไว้สำหรับตัวเราเองได้”
วันปั่น 3 กุมภาพันธ์ 2567
ถามถึงเหตุการณ์วันปั่นจริง แววตายูริเป็นประกาย เขาเริ่มต้นด้วยประโยคสั้นๆ ว่า
“I successfully completed my big ride!”
แล้วนิ่งสักครู่ก่อนจะพูดรายละเอียดที่เกิดขึ้นในวันนั้นว่า เขาและพ่อเริ่มปั่นออกจากบ้านแต่เช้า (แม่รออยู่ที่บ้าน) เพื่อมุ่งหน้าไปทางเส้นทางแม่ริม
“พ่อโดนผึ้งต่อยตรงหน้าขาในช่วงกิโลเมตรที่ 5 ครับ (ยิ้ม) แต่พ่อบอกว่าไม่เป็นไร เราก็ขี่ไปกันต่อ ทุกอย่างราบรื่นดีเราผ่านอำเภอแม่ริมแล้วเริ่มไต่เขาขึ้นไป แวะหยุดตรงแถวโป่งแยงเพื่อดื่มน้ำและกินขนมเพิ่มพลังงาน แล้วก็ปั่นต่อไปอีกจนถึงยอดดอยสะเมิงเพื่อชมวิว ทีนี้ก็ถึงจุดที่เป็นเส้นทางขาลงและกำลังเข้าสู่จุดที่ยากมากๆ ซึ่งสูงชันและหักศอกที่เรียกว่ายอด 7 พับ(Seven Hairpins)ตอนนั้นมี 2 เหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน คือ ผมโดนผึ้งต่อยที่แก้ม พร้อมๆ กับจักรยานของพ่อเกิดยางแบน มันเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันเลย”
เรื่องราวของวันนั้นกลายเป็นเรื่องเล่าขำๆ ไปแล้วเมื่อเขานึกถึงเหตุการณ์ทั้งสองที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ยูริจิ้มนิ้วไปที่แก้มของตัวเองพร้อมอธิบายว่า ผึ้งมันแทรกเข้ามาระหว่างสายรัดหมวกแล้วต่อยเข้ามาที่แก้มเขา โชคดีที่เขาไม่เกิดอาการแพ้ใดๆ พร้อมกับที่ยางรถจักรยานพ่อเกิดรอยรั่ว เราแซวเขาว่า สงสัยเหล็กในของผึ้งที่ต่อยแก้มเขาทะลุไปที่ยางล้อรถจักรยานของพ่อแทน เขาหัวเราะเบาๆ
“พ่อพยายามซ่อมรอยรั่วของยาง และพยายามใช้ยางสำรอง แต่ก็ไม่สำเร็จ เราใช้เวลาซ่อมกันอยู่ถึง 3 ชั่วโมง ตอนนั้นเรายังไม่ได้กินอะไรกันเพิ่มอีกเพราะวางแผนไว้ว่าเราจะปั่นกลับบ้านไปกินมื้อกลางวันพร้อมแม่ พ่อเลยตัดสินใจว่าต้องขี่จักรยานกลับบ้าน ทั้งๆ ที่ยางแบนอย่างนั้นเลยดีกว่า
แล้วเราก็ทำกันสำเร็จครับ!
“ผมภูมิใจมากที่ได้ทำสิ่งที่ตัวเองทำได้เพื่อหาเงินให้กับสิ่งที่ตัวเองชอบ และสามารถระดมทุนได้มากกว่าที่ตั้งใจ”
เด็กชายนักปั่นจักรยาน นักดำน้ำ นักฟุตบอล และนักอ่าน
“ช่วงเวลาที่อยู่บนจักรยาน ผมรู้สึกสงบ ไม่รู้สึกหวาดกลัวเลย”
เด็กชายยูริเป็นลูกครึ่งอังกฤษและจีน มีลักยิ้มเล็กๆ ที่แก้ม ครอบครัวยูริอาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ใกล้ดอยสุเทพ ทั้งครอบครัวชอบเดินทางไปไหนมาไหนด้วยจักรยาน ยูริสามารถฟังภาษาไทยได้ดีและพูดไทยพอได้
ทุกวันอังคารและวันพฤหัสหลังเลิกเรียน เขาจะเล่นฟุตบอลซึ่งเป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่เขาชื่นชอบ
นอกจากการเล่นฟุตบอล ปั่นจักรยานในวันหยุดแล้ว บางครั้งเขาก็ใช้เวลาว่างวาดรูปพร้อมฟัง podcast ไปด้วย แต่ถ้าให้พูดกันจริงๆ แล้ว เวลาส่วนใหญ่ของยูริใช้ไปกับการอ่านหนังสือมากกว่ากิจกรรมอย่างอื่น เขาเป็นนักอ่านตัวยง คุณแม่ของเขาบอกว่า เขาอ่านหนังสือเร็วมากและอ่านแทบจะตลอดเวลา
“ผมชอบอ่านหนังสือมากครับ และก็ชอบเปิดใจเรียนรู้สิ่งต่างๆ ไอเดียใหม่ๆ การอ่านทำให้ผมได้สิ่งเหล่านั้นครับ”
ทุกๆ สองเดือน คุณย่าของยูริมักจะเลือกหนังสือต่างๆ ที่เหมาะกับวัยของเขาแล้วแพ็กเป็นกล่องใหญ่ส่งมาให้เขาจากอังกฤษ
ช่วงนี้เขามีนักเขียนในดวงใจคือ Philip Pullman งานของฟิลิปให้ทั้งรสชาติทางวรรณกรรม ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ และเปิดจินตนาการให้ยูริได้เพลิดเพลิน
เราถามเขาว่าช่วยแนะนำ podcast ให้เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันได้ฟังเหมือนยูริได้ไหม เขาให้ชื่อมาทันทีว่า The Spy Who, GCN (Global Cycling Network), Serial
ตอนนี้ยูริกำลังวางแผนสนุกๆ กับครอบครัวว่าปิดเทอมที่กำลังจะถึงนี้ (summer hoildays – 6 สัปดาห์) เขาจะปั่นจักรยานจากเชียงใหม่ไปสิงคโปร์
“ครั้งนี้จะเป็นการขี่จักรยานระยะทางไกลที่สุดของผมและมันก็น่าสนุกมากเมื่อคิดว่าผมจะได้พบเห็นอะไรต่างๆ มากมาย ได้เจอสถานที่ใหม่ๆ ตลอดเส้นทางเลย”
การปั่นจักรยานในมุมมองของยูริเป็นการออกกำลังกาย เป็นความสนุก เป็นความท้าทาย เป็นความหลงใหล และเป็นเครื่องมือในการสื่อสารความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมออกไปสู่วงกว้างอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน และเป็นตัวของตัวเองที่สุด
ก่อนจบบทสนทนาเราถามเขาว่าทำอย่างไรจึงจะสื่อสารบอกเพื่อนๆ รุ่นเดียวกับยูริเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุด เขาตอบมาสั้นๆ ว่า
“Environment is life, and we can’t live without the environment.”
สิ่งแวดล้อมคือชีวิต และพวกเราไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากสิ่งแวดล้อม
Writer
สกุณี ณัฐพูลวัฒน์
ชอบเรื่องเล่าและชอบเล่าเรื่อง ผ่านตัวหนังสือและภาพเขียน
Photographer
กรินทร์ มงคลพันธ์
ช่างภาพอิสระ @BETTER LIGHT STUDIO รักหมา แมว และแสงธรรมชาติ