เด็กสามจังหวัดชายแดนใต้ต้องไม่ถูกกักขับด้วยเรื่องเล่าเก่าๆ ของสังคม และจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่าผู้ใหญ่ได้

เด็กสามจังหวัดชายแดนใต้ต้องไม่ถูกกักขับด้วยเรื่องเล่าเก่าๆ ของสังคม และจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่าผู้ใหญ่ได้

สรุปเวทีจากใต้สู่โลก: เมื่อผู้ใหญ่สนับสนุนให้เด็กเขียนโลกในแบบของตัวเอง จากเวทีเสวนา Relearn Deep South 2025 ณ TK Park จังหวัดยะลา

“เด็กรุ่นนี้ต้องเก่งกว่าเราในวันนี้เท่านั้นเลย มันถึงจะเป็นทางรอด” ณัฐยา บุญภักดี, ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน ครอบครัว (สสส.)

ที่ปลายด้ามขวานของประเทศไทย เมืองยะลาซึ่งครั้งหนึ่งถูกจดจำว่าเป็นพื้นที่เปราะบางทางสังคม กำลังเผยตัวตนใหม่ในฐานะแหล่งเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคต พื้นที่นี้ได้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้พร้อมๆ กับกรุงเทพมหานคร มีโครงการสำหรับเด็กและเยาวชนทั้งจากภาครัฐและภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งมากที่สุดจังหวัดหนึ่งในประเทศไทย ที่สำคัญเป็นความก้าวหน้าท่ามกลางพื้นที่แห่งความขัดแย้ง 

งาน Relearn Deep South 2025 เทศกาลสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัว สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส.​ เทศบาลนครยะลา สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) และ Mappa ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อความสนุกสนาน หรือสร้างพื้นที่ให้เด็ก “เรียนรู้” เท่านั้น แต่เพื่อประกาศว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่ต้อง “เรียนรู้ใหม่” ไปพร้อมกับพวกเขา และเป็นผู้สนับสนุนที่ทำให้เด็กใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นวัตถุดิบสำคัญในการจินตนาการชีวิตและเมืองของพวกเขาให้ไปพ้นจากเรื่องเล่าเก่าๆ ของสังคม

เวทีเสวนา “จากใต้สู่โลก: เมื่อผู้ใหญ่สนับสนุนให้เด็กเขียนโลกในแบบของตัวเอง ” กลายเป็นจุดรวมพลังของ 4 บุคคลที่ทำงานกับเด็ก เยาวชน และเมืองในหลากหลายระดับ  ได้แก่ พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลาที่ดำรงตำแหน่งมายี่สิบสองปี และทำหน้าที่บริหารท้องถิ่น ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส. ที่มองภาพใหญ่ของเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ การขับเคลื่อนภาคประชาสังคมของ วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ จากกลุ่มลูกเหรียง และ มิรา เวฬุภาค จาก Mappa หน่วยงานที่เป็นผู้ขับเคลื่อนงานเทศกาล Relearn Festival และสื่อเพื่อการเรียนรู้ พวกเขาพูดถึงเรื่องเดียวกันผ่านคนละมุม นั่นคือ “ศรัทธาในพลังของเด็กที่จะเขียนโลกขึ้นใหม่ด้วยมือของตนเอง”

มองยะลาด้วยสายตาใหม : เมื่อผู้ใหญ่กล้าฟังเสียงเด็ก

น้อยคนนักจะรู้ว่า ยะลามี TK Park ที่ใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ถึง 5 เท่า และไม่ได้ใหญ่แค่ทางกายภาพ แต่ใหญ่ในความฝันของเด็กๆ ทั้งเมือง พื้นที่นี้ไม่ได้เป็นเพียง “ห้องสมุด” แต่คือระบบนิเวศการเรียนรู้ของเมือง ที่เด็กและเยาวชนสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ได้ตลอดเวลา มีกิจกรรมทุกเย็นหลังเลิกเรียน ตั้งแต่เวิร์กช็อปมากมายที่เด็กจะค่อยๆ เข้ามาเรียนรู้ และสร้างหรือประกอบความฝันของตัวเองขึ้นมาได้ ตั้งแต่ เขียนบท กิจกรรมศิลปะ ออกแบบแฟชั่น เต้น cover dance ไปจนถึงวงออร์เคสตราของเยาวชนยะลา ซึ่งนับว่าเป็นวงเยาวชนที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว และไม่มีใครต้องสอบหรือถูกคัดเลือกเพื่อจะได้สิทธิเข้าร่วม เพราะที่นี่เชื่อว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากการคัดคนเก่ง แต่มาจากการให้ทุกคนได้ลองพัฒนาในแบบที่ตัวเองเป็น

“คนนอกอาจจะประเมินศักยภาพของพื้นที่และเด็กยะลาต่ำไปหลายๆ ความฝัน หลายๆ การเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้นในพื้นที่ มันมาจากการที่เราเชื่อในความฝันของเค้า แล้วตัวเค้าเองเชื่อในศักยภาพในตัวเค้าเอง” วรรณกนก หรือแม่ชมพู่ จากกลุ่มลูกเหรียง กล่าวด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ

ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการ “เชื่อในความฝันที่แรงกล้า” ของผู้ใหญ่คือโครงการพัฒนาบอร์ดเกมอนามัยเจริญพันธุ์ที่เริ่มต้นจากไอเดียของนักเรียนมัธยมศึกษา ในบริบทของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เด็กผู้หญิงแต่งงานไว และมีปัญหาเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์หลายประการ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ เด็กๆ จึงคิดพัฒนาบอร์ดเกมขึ้นมาเพื่อให้ความรู้เรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ที่ครอบคลุมในเรื่องของศาสนาด้วย ในตอนแรกกรรมการมีความกังวลในประเด็นที่ค่อนข้างเปราะบาง แต่บอร์ดเกมเหล่านี้กลับได้รับความสนใจจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา และกำลังถูกพัฒนาและกระจายไปยังหนึ่งร้อยโรงเรียนในพื้นที่

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราหยุดมองเด็กแค่เป็น “กลุ่มเป้าหมาย” ของนโยบายสาธารณะ และเริ่มมองเป็น “แหล่งกำเนิดนวัตกรรม” ที่สามารถแก้ปัญหาสังคมได้จริง

ให้สิทธิ์เด็กที่จะฝัน และออกแบบอนาคตของตัวเอง

เรามักพูดถึงสิทธิเด็กในเชิงนามธรรม แต่แท้จริงแล้วสิทธิเด็กไม่ควรเป็นเพียงแนวคิดแต่เป็นกลไกที่จับต้องได้ และสะท้อนอยู่ในทุกวันของชีวิตเด็ก 

“สิทธิเด็กไม่ได้แปลว่าเด็กจะทำอะไรก็ได้ แต่แปลว่าผู้ใหญ่พร้อมจะสนับสนุนให้เขาคิด ตัดสินใจ และผิดพลาดในพื้นที่ปลอดภัย”  ณัฐยา บุญภักดี

สิ่งที่น่าสนใจคือ สิทธิในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการปกป้องเท่านั้น แต่รวมถึง สิทธิในการสร้าง สิ่งใหม่ด้วย โลกใหม่ที่ไม่อิงบนการจำลองแบบความคิดของผู้ใหญ่

การที่เด็กยะลาสามารถไปพูดใน One Young World ทุกปี สามารถไปเฉิดฉายอยู่ในลอนดอน แฟชั่น วีค (London Fashion Week) หรือโครงการต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโชคช่วย แต่เป็นผลจากการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของจินตนาการอย่างเป็นระบบ 

ด้วยวิสัยทัศน์และทีมที่เข้มแข็งมาก (มากจนเราอิจฉา) ของทีมเทศบาล และนายกอ๋า พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ ที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีมาถึงยี่สิบสองปี ที่เริ่มต้นไว้ว่า “เราจะทำยะลาให้เป็น The Second Singapore” ซึ่งฟังแว๊บแรกอาจดูทะเยอทะยาน แต่เมื่อดูจากตัวเลข GDP ภาคการเกษตรยะลาที่อยู่ที่หนึ่งหมื่นเจ็ดพันล้านบาท เทียบกับชุมพรที่มีขนาดพื้นที่เท่ากันแต่มี GDP ที่หกหมื่นห้าพันล้านบาท มากกว่าสี่เท่าตัว และประเทศสิงคโปร์ที่พื้นที่และทรัพยากรไม่ได้มีมากเท่าประเทศไทย จะเห็นได้ชัดว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ทรัพยากร แต่อยู่ที่ “underutilization” ที่มาจากการขาดทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ “สิ่งที่เราจะต้องสร้างเมือง ก็คือการสร้างคนขึ้นมาก่อน เพราะฉะนั้นเมื่อการสร้างคน สิ่งที่เราคาดหวัง เราคงไม่ได้ไปหวังที่เจนที่ไปแล้ว แต่ว่าสิ่งที่กำลังจะโตขึ้นมาในอนาคต” นายกอ๋า กล่าวไว้บนเวที

การลงทุนเชิงกลยุทธ์ของเขาแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในทุนมนุษย์อย่างไม่มีเงื่อนไข เมื่อเทศบาลยะลามีเงินงบประมาณท่วมห้าสิบล้านบาท เขาเอาทั้งหมดมาสร้าง TK Park  โดยหวังว่า พื้นที่นี้จะเป็นระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งแรกๆ ที่เขาเริ่มต้นให้กับเยาวชนยะลา ที่แม้เทศบาลจะไม่สามารถเปลี่ยนระบบการศึกษาส่วนกลางได้ แต่สามารถสนับสนุนระบบการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในเมืองได้

วิกฤตจินตนาการ: โรคระบาดยุคใหม่ที่ผู้ใหญ่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ

ถัดจากภาพสวยงามของความคิดริเริ่มต่างๆ ในเมืองยะลา คุณผึ้ง ณัฐยา บุญภักดี ได้เน้นย้ำประเด็นสำคัญ และความเชื่อพื้นฐานที่ผู้ใหญ่ในยุคใหม่ต้องมี “เด็กรุ่นนี้ต้องเก่งกว่าเราในวันนี้เท่านั้น มันถึงจะเป็นทางรอด” ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน ครอบครัว (สสส.) ได้กล่าวไว้ 

การจะทำให้เด็กมีปัญญา อันเป็นหนึ่งในสุขภาวะสำคัญที่ สสส. เน้นย้ำ ผู้ใหญ่จะต้องมีความเข้าใจในการช่วยกันสร้างสังคมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก หากแต่ในปัจจุบันที่สังคมไทยเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายและขาดความเท่าทัน กำลังทำให้เด็กยืนอยู่ระหว่างดาบสองคม 

“สิ่งที่ต้องเรียกว่าเป็นโรคระบาดยุคใหม่ในหมู่เด็ก คือการที่เราหยิบยื่นสิ่งที่ทำลายจินตนาการ ทำลายศักยภาพตามธรรมชาติของเค้าตั้งแต่ยังไม่ทันจะรู้ความไปด้วยซ้ำไป สิ่งนั้นคือหน้าจอ” คุณผึ้งกล่าว และขยายความต่อว่า ข้อมูลจากคุณครูศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศที่เธอเก็บมาสะท้อนภาพที่น่าตกใจ พวกเขาพูดเป็นเสียงเดียวกันหมดว่าต้องแก้ไขปัญหาพัฒนาการด้านภาษาอย่างหนักมาก เพราะเด็กถูกยื่นหน้าจอให้ตั้งแต่แปดถึงเก้าเดือน ยังไม่ขวบเลย สถานการณ์ที่เคยพูดกันว่า “กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” ตอนนี้กลายเป็น “กว่าจะถึงศูนย์เด็กเล็กก็สายเสียแล้ว”

เด็กไทยกำลังสูญเสียทักษะพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

จากโครงการ “ปิดเทอมสร้างสรรค์” ของ สสส. ที่เป็นแคมเปญชวนเพื่อนๆ นักออกแบบการเรียนรู้ทั่วประเทศลุกขึ้นทำกิจกรรมในช่วงวันหยุด วันปิดเทอม เสียงสะท้อนที่กลับมาทำให้นักวิจัยและนักการศึกษาหลายคนต้องตกใจ เด็กๆ ที่จะเขียนชื่อตัวเองลงทะเบียนก่อนเข้างาน เขียนไม่ได้กันแล้วเยอะขึ้นทุกปี แบบสอบถามง่ายๆ ตอบไม่กี่คำถาม ความพึงพอใจ ไม่ค่อยได้ เจอมากขึ้นเรื่อยๆ และนี่คือเด็กประถมศึกษาปีที่หก มัธยมศึกษาปีที่สองและสาม ไม่ใช่เด็กอนุบาล

ข้อมูลจากกรมอนามัยที่ติดตามพัฒนาการเด็กทั่วประเทศทุกๆ ปี ยิ่งทำให้ภาพชัดขึ้น สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดเรื่อยๆ คือพัฒนาการทางด้านภาษา และในจำนวนนั้น สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือเรื่องการสื่อสารออกไป เด็กฟังเข้าใจ พยักหน้ารับได้ แต่จะพูดสื่อสารออกไป สื่อสารไม่ได้ “อันนี้เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากๆ แล้วเรากำลังทำร้ายเด็กของเราซึ่งมีจำนวนน้อย อย่างโหดร้ายมากๆ ตอนนี้อาการหนักประมาณนั้น”

สิ่งที่เด็กๆ เราต้องการตอนนี้ไม่ใช่ TK Park หรือห้องสมุดขนาดใหญ่เท่านั้น แต่คือทุกคุ้มบ้าน ทุกหย่อมบ้านต้องมีลานเล่น ในลานเล่นนั้นมีลังกระดาษ มีของใช้ที่ไม่ได้ใช้แล้ว ถ้วยชามกะละมังถังแตกทั้งหลาย มีลานทราย เอาทรายมาสองสามคิวเทไปเลย ให้เด็กได้นั่งเล่นอยู่ตรงนั้น ได้เล่นกับเพื่อนๆ อยู่ตรงนั้น ตั้งแต่เริ่มนั่งได้เก้าเดือน สิบเดือนไปได้เลย “ให้เด็กได้เล่นปั้นดิน ให้เด็กได้เล่นตัวเปรอะเปื้อนอยู่กับธรรมชาติรอบตัว เรามองข้ามสิ่งนี้กันมานาน แต่จริงๆ อันนี้คือเบสิกเลยที่เด็กทุกคนมีสิทธิ์ควรจะได้รับ ไม่ใช่การยื่นหน้าจอให้”

ยุค AI: จุดเปลี่ยนที่จะแยกเด็กไทยออกเป็นสองโลก

ก่อนปี 2025 ที่จะเข้าสู่การที่ทั่วโลกได้เริ่มใช้ Artificial Intelligence หรือ AI กันอย่างจริงจัง เด็กไทยจำนวนกว่า 1 ล้านคนก็ประสบปัญหาภาวะไม่มีงานทำ หรือ NEET หรือ Not in Education, Employment, or Training อยู่แล้ว และเมื่อ AI มาถึงหากเด็กยังไม่สามารถมีทักษะพื้นฐาน อย่างการใช้ภาษา การพัฒนากระบวนการคิด ผลกระทบจากการเข้ามาของ AI จะกลายเป็นการถ่างความเหลื่อมล้ำที่มีมากอยู่แล้วในประเทศไทยให้กว้างออก แทนที่จะกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้อย่างเท่าเทียม 

หนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในเวที คือโอกาสและความท้าทายของ AI ต่ออนาคตของการเรียนรู้ของเด็กๆ ในพื้นที่ โดยเฉพาะในบริบทของเมืองชายแดนใต้ ซึ่งทั้งการเข้าถึงคุณครูที่มีคุณภาพ ทรัพยากร และโอกาสในการเรียนรู้เชิงลึกยังเป็นโจทย์ใหญ่ และการสร้างบทสนทนาในพื้นที่นี้ต้องไปพ้นจากการพูดคุยว่า AI ‘จะมาแย่งงาน’ อย่างที่ผู้ใหญ่ชอบบางคนชอบขู่เด็ก แต่มันจะทำให้วิถีการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น หากวางระบบการใช้ AI ในการศึกษาได้ดี จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลได้ ผู้ใหญ่จึงเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ต้องเลิกมองเทคโนโลยีเป็นของไกลตัว และหันมาเตรียมเด็กให้พร้อมตั้งคำถาม กล้าคิด และกล้าจินตนาการ 

“AI จะยิ่งถ่างความเหลื่อมล้ำ ถ้าเราไม่รีบเปลี่ยน mindset ของโรงเรียน ไม่ใช่แค่เอาแท็บเล็ตมาแจก”  นายกอ๋า พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ 

“Relearn” จึงไม่ได้หมายถึงแค่เด็กต้องเรียนในวิธีใหม่ แต่มันแปลว่าผู้ใหญ่ต้องถอยกลับมาดูความคิดตัวเองใหม่ด้วย 

เมืองที่สร้างพื้นที่ปฏิสัมพันธ์: เมื่อเทคโนโลยีกำลังทำลายความเป็นมนุษย์

สิ่งที่น่าสนใจ คือเมื่อผู้ใหญ่ในยะลาตระหนักถึงผลกระทบว่าโลกกำลังเปลี่ยนไป คือ “ผมเชื่อว่า การที่เด็ก หรือเยาวชนอยู่กับมือถือ มันมาจากว่าเค้าไม่มีเพื่อน ผู้ใหญ่ก็ทิ้งเค้าหมด เค้าก็เลยต้องไปหาสิ่งเหล่านี้” ดังนั้นการออกแบบเมืองจึงต้องคำนึงถึงการสร้างพื้นที่ให้เยาวชนได้มีโอกาสพูดคุย ได้เรียนรู้กับผู้ใหญ่ในสังคมที่เป็นรูปแบบของครอบครัว “ผมเรียกว่าความอบอุ่น มือถือมันไม่มีความอบอุ่น ผมเชื่อว่าถ้าเรามีเวลาพอ มือถือจะสู้ผู้ใหญ่ไม่ได้ เมืองเลยต้องสร้างพื้นที่ที่เด็กและผู้ใหญ่ได้เข้ามา gathering (รวมตัว) กัน พื้นที่แบบนี้มันจะช่วยสร้างความอบอุ่นให้เค้า” ตัวอย่างเป็นรูปธรรมคือการวางเก้าอี้และไฟกิ่งตามถนนสายต่างๆ “เพื่อให้คนในสังคมพอช่วงเย็นออกมานั่งปฏิสัมพันธ์กัน โดยใช้ม้านั่งกลางที่เป็นระยะๆ” หรือการปรับซอยหลังโรงแรมให้เป็นพื้นที่เปิด  “ให้คนออกมาจากบ้าน มานั่งคุยกัน ผู้ใหญ่ออกมาให้เด็กเจอ และทำความรู้จักกันและกัน”

การออกแบบเมืองแบบนี้ทำให้เด็กได้เรียนรู้ถึง Role Model หรือต้นแบบของสังคมนั้นๆ และเค้าจะรู้บทบาทตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติ  “แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ มันจะมีความยับยั้งชั่งใจ มีความมีเหตุมีผล มีความ empathy เห็นอกเห็นใจต่างๆ ซึ่งวันนี้สังคมกำลังขาดที่พูดมาทั้งหมด” นายกอ๋ากล่าวไว้ 

ยุทธศาสตร์สร้างคนของเมืองเล็ก เมืองรอง เมืองงบน้อย คือให้เด็กกล้าจินตนาการให้พ้นไปจากข้อจำกัดของสังคม

ยะลาไม่ได้เป็นต้นแบบเพราะโชคช่วย แต่เพราะ “เมืองเล็ก” แห่งนี้กล้าจะคิดใหญ่ และมีความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่ไม่รอระบบส่วนกลางมาสั่ง

“ความกล้าไม่ได้อยู่ที่เด็ก แต่อยู่ที่ระบบพร้อมเปิดให้เด็กกล้าหรือเปล่า” ณัฐยา บุญภักดี

คุณผึ้ง ได้กล่าวถึงสนับสนุนถึงจุดแข็งของเมืองยะลา แต่ในขณะเดียวกับก็ชวนเวทีเสวนาพูดคุยอย่างท้าทาย เมื่อผู้ดำเนินรายการถามถึงว่าว่า ‘โมเดลยะลา’ จะนำไปใช้กับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทยได้ไหม เมื่อยะลาก็เป็นเพียงเมืองเล็ก และไม่ได้มีงบประมาณมากมาย แต่สามารถมีงานเยาวชนที่น่าสนใจและน่าทึ่ง

และนี่คือคำตอบของคุณผึ้ง

“ไม่ได้ค่ะ เราขยายผลแบบนี้ไม่ได้” 

และให้เหตุผลที่ชัดเจน “ถ้าจะมีสิ่งที่ควรจะต้องทำอย่างยิ่งในระดับมหาภาค นั่นก็คือการกระจายอำนาจ และการกระจายทรัพยากร ลงสู่การจัดการของท้องถิ่น อันนี้ให้พูดจนถึงที่สุดคือ อันนี้คือ กุญแจสำคัญ”

เหตุผลคือ “ท้องถิ่น คือคนในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่นคือคนในพื้นที่ เราฟังนายกอ๋า เราฟังหลายๆ เมืองที่ประสบความสำเร็จ มันก็เพราะว่า เค้าสามารถจัดการได้ เค้าคือคนในพื้นที่ เค้ามีทรัพยากร แล้วเค้าสามารถต่อยอดทรัพยากร เค้าก็สามารถจัดการได้ เพราะเค้ารู้ว่าคนในพื้นที่ต้องการอะไร”

แต่ปัญหาคือ จากท้องถิ่น 7,700 แห่งทั่วประเทศ มีองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดเล็กกว่า 5,000 แห่ง ที่นายกหลายคนต้องพูดว่า “ผมอยากพัฒนาเด็กๆ ของเรามากเลย แต่ตำบลผมมีปั๊มน้ำมันหนึ่งแห่ง และมีโรงสีอีกหนึ่งแห่ง มันไม่มีรายได้ ไม่มีเศรษฐกิจ งบประมาณที่ถูกจัดสรรลงมาก็ไม่พอ มันก็เลยทำไม่ได้” ความแตกต่างแบบนี้ทำให้เราไม่สามารถเพียงตัดแปะความเป็นเมืองยะลาที่ประสบความสำเร็จไปให้พื้นที่อื่นๆ 

แต่ไม่ใช่ไม่มีความหวัง

เปลี่ยนกระบวนทัศน์: ช่วยกันงัดศักยภาพชุมชน

คุณผึ้งได้กล่าวว่า สสส. ได้พัฒนาแนวทางใหม่ในการทำงานและทดลองมาแล้วเจ็ดถึงแปดปีที่เรียกว่า “การงัดศักยภาพชุมชน” และกลุ่มลูกเหรียงเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ที่ทดลองไปด้วยกันในพื้นที่ยะลา คือ “ความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนในชุมชนว่าเค้ามีสติและปัญญาพอที่จะดูแลลูกหลานของเค้า โดยที่ยังไม่จำเป็นต้องเอาองค์ความรู้ เครื่องไม้เครื่องมือ หรือใดๆ ก็ตามไปสอนเค้า”

หลักการนี้ คือการเปิดโอกาสให้แต่ละพื้นที่ได้เติบโตในแบบของตัวเอง ได้ลองคิด ลองทำ ด้วยวิธีการที่เค้าคิดได้ ทำได้ด้วยตัวเอง แล้วสะสมความมั่นใจในตัวเอง สะสมความมั่นใจในบทเรียนในประสบการณ์ ผลลัพธ์คือปัจจุบันมียี่สิบกว่าจังหวัดเข้าร่วม และล่าสุดมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ต้องการขยายพื้นที่ทำทั้งจังหวัด เพราะผู้นำก็เห็นสอดคล้องถึงการมองศักยภาพจากชุมชน 

วิธีการสเกลที่เป็นไปได้คือ “เมื่องัดศักยภาพชุมชนหนึ่งขึ้นมาแล้ว เค้าทำเป็น เค้าสามารถบอกคนข้างๆ ได้ ตำบลข้างๆ ได้ นี่แหละวิธีสเกล” ไม่ใช่การสั่งจากส่วนกลาง แต่เป็นการขยายแบบธรรมชาติจากประสบการณ์จริงของคนในพื้นที่นั้นเอง และการทำงานในระดับมหาภาคจึงต้องเป็น “การหยุดส่งสิ่งต่างๆ ลงไป “มอบให้” เขา แต่เปิดโอกาสให้เค้าคิด ให้เค้าทำ ให้เค้าได้มั่นใจในการดูแลลูกหลานของเค้าด้วยวิธีการของเค้า เหลือบ่ากว่าแรงเมื่อไหร่ เค้ากวักมือ เค้าค่อยขอความช่วยเหลือ หรือเค้าค่อยส่งเด็กต่อมาให้ เราค่อยดูแล ด้วยวิชาชีพ ที่มันเฉพาะทาง” นั่นคือสิ่งที่คุณณัฐยา บอกกับเราไว้ 

ถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่ต้อง Relearn

“อย่าบอกว่าให้เด็กกล้าคิด ถ้าเรายังไม่กล้าปล่อยอำนาจ” คำพูดนี้ของ แม่บี มิรา เวฬุภาค ผู้ก่อตั้ง Mappa  พูดถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงไป เรามีเวลาอีกไม่มากในการเลือก ระหว่างการเป็นประเทศที่เด็กฝันได้ไกลกว่าผู้ใหญ่ กับการเป็นประเทศที่เด็กติดอยู่ในกรอบความคิดเก่า ระหว่างการลงทุนในจินตนาการของเด็กตั้งแต่วัยเด็กเล็ก กับการใช้เงินกับการซ่อมแซมเมื่อสายเกินไป ระหว่างการเชื่อมั่นในศักยภาพชุมชน กับการส่งโครงการจากส่วนกลางลงไปเรื่อยๆ

ตัวอย่างของยะลาบอกเราว่า เมืองเล็กสามารถคิดใหญ่ได้ และไปสู่โลกได้ ถ้ามีผู้นำที่กล้าเชื่อฝันใหญ่ของเด็ก และมีระบบที่เอื้อต่อการเติบโตของจินตนาการ ตัวอย่างของลูกเหรียงบอกเราว่า เมื่อเด็กได้รับความเชื่อมั่น พวกเขาสามารถแก้ปัญหาสังคมได้จริง ตัวอย่างของ สสส. บอกเราว่า การแก้ปัญหาระดับประเทศต้องเริ่มจากการเชื่อมั่นในศักยภาพของคนในพื้นที่

“เด็กรุ่นนี้ต้องเก่งกว่าเราในวันนี้เท่านั้นเลย มันถึงจะเป็นทางรอด” คือคำที่คุณผึ้ง ณัฐยา ฝากไว้เป็นประโยคสุดท้าย ที่ท้าทายให้ผู้ใหญ่อย่างพวกเรา คิดว่าในวันนี้เราจะทำอะไรบ้างเพื่อช่วยให้เด็กๆ เขียนโลกใบใหม่ที่เกินจินตนาการของพวกเราไป 

ช่วงเวลาที่เงยหน้าขึ้นจากเวที แล้วเห็นความหวังอยู่ในสายตาเด็กๆ

สิ่งสำคัญจากเวทีวันนั้น อาจไม่ใช่เพียงบทสนทนาบนเวทีที่ใช้เวลาเพียงหนึ่งชั่วโมงเศษ ๆ หากแต่เป็นภาพหลังจากนั้น เมื่อพวกเราชาว Mappa ละสายตาจากเวที แล้วเงยหน้าขึ้นจากบทพูด แล้วพบว่าน้อง ๆ เยาวชนในพื้นที่นั่งฟังอยู่เต็มแน่นพื้นที่หน้าเวที  ตั้งใจฟัง และพยักหน้าเบา ๆ ตามถ้อยคำที่ได้ยิน และรอยยิ้มที่บอกว่าพวกเขา “เข้าใจ” มากกว่าที่เราคิด

นี่อาจไม่ใช่ผลของงานเสวนาเพียงครั้งเดียว แต่มาจากสิ่งที่ยะลาได้เริ่มทำไว้แล้ว ระบบนิเวศของการเรียนรู้ที่ทำให้เด็ก ๆ “พร้อมจะฟัง เพราะพวกเขาเคยได้รับการฟัง” มาแล้ว

และในเมืองที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้ง ภาพเหล่านี้อาจกลายเป็น ความหวัง  ไม่ใช่แค่ของยะลา แต่ของทั้งประเทศ ว่าเมื่อเราเปลี่ยนวิธีปฏิบัติต่อเด็ก เมืองก็อาจเปลี่ยนวิธีปฏิบัติต่ออนาคตได้ด้วยเช่นกัน

Writer
Avatar photo
Admin Mappa

Related Posts

Related Posts