พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ : “อย่าคิดว่าโตแล้วต้องแบกแต่ความรับผิดชอบ เอาความเป็นเด็กกลับมาให้ตัวเองบ้างเถอะ”

พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ : “อย่าคิดว่าโตแล้วต้องแบกแต่ความรับผิดชอบ เอาความเป็นเด็กกลับมาให้ตัวเองบ้างเถอะ”

  • เวลาอาตมาสอนหนังสือก็มีให้เห็นบ่อยๆ เช่น เอากล่องนมที่คนถวายมาพับเป็นรถถัง แล้วเป่าแข่งกัน เขาก็มองอาตมานะว่าจะดุหรือเปล่า อาตมาก็ไม่ดุ ถามด้วยซ้ำว่าไหนของใครไปไกลกว่ากัน
  • อาตมาก็เล่นเฟซบุ๊กไปพร้อมๆ กับเอาสาระจากมันนั่นแหละ ใช้มันเป็นสื่อในการถ่ายทอดธรรมะ และเอ็นจอยไปกับมัน
  • มีคนบอกว่า ‘เสียดายจังเลย พระมหาไพรวัลย์เคยเป็นพระนักวิชาการ ไม่น่ามาทางตลก’ อาตมาก็แย้งในใจว่า อันนั้นคือสิ่งที่คุณอยากให้ฉันเป็น ฉันไม่ได้เป็นแบบนั้นซะหน่อย

“มนุษย์ถูกออกเเบบให้เล่นตลอดชีวิต” 

สจวร์ต บราวน์ ผู้บุกเบิกงานวิจัยเกี่ยวกับการเล่น และผู้อำนวยการสถาบันการเล่นแห่งชาติ กล่าวประโยคนี้บนเวที Ted Talk เมื่อปี 2008 ด้วยเชื่อว่า เด็กที่เล่นจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข ดังนั้น ผู้ใหญ่ที่ยังเล่นอยู่ก็จะมีความสุขเช่นกัน

นอกจากนี้ บราวน์ยังพาผู้ฟังย้อนกลับไปช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรป ที่มีการเล่นถึง 124 ชนิด ทั้งเล่นคนเดียว เล่นกับร่างกาย เล่นเกม ตีกัน โดยไม่เเบ่งอายุ เพศ สถานะทางสังคม ทุกคนสามารถเล่นร่วมกันได้อย่างสนุกสนาน

สจวร์ต บราวน์

แม้การเปลี่ยนเเปลงตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา จะทำให้การเล่นถูกตีตราว่าเป็นเรื่องของ ‘เด็ก’ มากกว่าผู้ใหญ่ แต่สุดท้าย ไม่ว่าใครก็ยังมีการเล่นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอยู่ดี ไม่ว่าจะเล่นอย่างไรและเล่นไปเพื่ออะไร เพราะมนุษย์ทุกเพศทุกวัยล้วนถูกออกแบบมาให้เล่นตลอดชีวิต 

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง คำว่ามนุษย์ทุกเพศทุกวัยในที่นี้ นับรวม ‘พระ’ ด้วยไหม

ภายใต้การปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานตามศีล 227 ก็ดี กรอบของคำว่าสำรวม กาลเทศะ หรือความเป็นที่เคารพกราบไหว้บูชาของคนก็ดี ด้วยข้อจำกัดที่มากมายเหล่านี้ ยังเหลือพื้นที่แห่งความอิสระ ให้พระหรือเณรเล่นได้อีกหรือเปล่า หรือถ้ายังพอมีอยู่ การเล่นของพระของเณรเป็นอย่างไร 

เล่นแล้วบาปไหม ผิดวินัยสงฆ์หรือเปล่า

mappa เเละ Leeway การเรียนรู้ผ่านการเล่น จึงร่วมมือกันทำโปรเจ็กต์ ‘เล่น เล่น’ เพื่อหาคำตอบของหลายๆ คำถามเกี่ยวกับการเล่น ผ่านการพูดคุยกับคนจากหลายวงการ รวมถึงภิกษุสามเณรด้วย

พ.ศ.นี้ หนึ่งในพระที่ถูกตั้งคำถามเรื่องการเล่นมากที่สุด คือ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พส.สุดจึ้งแห่งวัดสร้อยทอง เราจึงนิมนต์ท่านมาแกง เอ้ย! มาสนทนากันใน mappa live ครั้งที่ 7 หัวข้อ ”ไม่ให้เล่น = ยังเล่นได้อยู่” 

เริ่มจากความหมายของคำว่า ‘เล่น’ ในแบบของพระก่อนเลย พส.บอกว่า “เล่นก็คือความไม่จริงจัง คือความสนุกสนาน คือความสุข”

“พระหรือเณรก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ว่าอย่างไร ก็ต้องมีมุมที่สนุกสนานอยู่ในตัวเอง อย่างน้อยๆ ใน 24 ชั่วโมงก็ต้องมีสักนิดหนึ่งที่เกิดความรู้สึกว่าอยากเล่น ของอย่างนี้มันมีกันทุกคนแหละ”

แต่พระมีศีลที่ต้องถือถึง 227 ข้อ จะไม่มีสักข้อเลยหรือที่ห้ามไม่ให้พระเล่น

“จริงๆ มันก็มีคำว่าสำรวมอยู่ ศีลของพระไทยที่ตีกรอบให้สำรวมอาการก็มีเยอะ ไม่ว่าจะการกิน การเดิน เพราะพอเราใส่ผ้าเหลือง อยู่ในสถานะของนักบวช คนเขากราบไหว้ เราก็ต้องทำตัวให้น่าเลื่อมใส ไม่ล้ำเส้น”

“แต่กับพระนิกายอื่น เช่นองค์ดาไลลามะ ท่านขี้เล่นสุดๆ เลยนะ ก็ไม่เห็นใครว่าท่านไม่สำรวม” 

หรือขนาดท่านพุทธทาสภิกขุ ที่พ.ส.นับถือมาก ก็ยังเล่น

“ท่านเป็นคนลึกซึ้ง อะไรที่คนมองว่าเป็นเรื่องเล่นๆ ไม่มีสาระ ท่านจะนำมาสอนเป็นธรรมะได้หมดเลย สิ่งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าธรรมะกับการเล่นไม่จำเป็นต้องขาดกัน”

พส.เองก็เล่นไม่น้อยกว่าองค์ดาไลลามะหรือท่านพุทธทาสภิกขุ และก็ต้องเผชิญกับคำถามมากมายมาตลอด

แต่ถึงสิ่งที่ทำจะมีทั้งเอฟตี (FC) และแอนตี้แฟน ท่านก็ยังยืนยันที่จะไม่ฝืนธรรมชาติหรือเปลี่ยนแปลงความเป็นตัวเอง เพราะเชื่อว่า ถ้าอารมณ์ขันและการเล่นสะท้อนถึงการมีความสุข แล้วทำไมพุทธศาสนาจะสอนแบบเล่นๆ ให้คนมีความสุขบ้างไม่ได้

แล้วตัวพส.เองเล่นครั้งล่าสุดเมื่อไหร่

“อย่างเฟซบุ๊ก เราก็ใช้คำว่าเล่นเนอะ งั้นแสดงว่าอาตมาก็เล่นอยู่ทุกวัน และก็เล่นอย่างมีความสุขดีนะน้องนะ” 

เพราะธรรมชาติของเด็กคือการเล่น และเณรก็คือเด็กคนหนึ่ง

ถ้าลองจินตนาการถึงการเล่นที่สนุกสนานของเด็กผู้ชายวัย 12 ขวบสักคน คงหนีไม่พ้นของเล่นอย่างรถแข่ง ไม่ก็หุ่นซูเปอร์ฮีโร่ สัตว์ประหลาด ปืนเลเซอร์ หรือลูกฟุตบอล 

ขณะที่เด็กหลายคนได้เดินเข้าร้านของเล่น พระมหาไพรวัลย์ในวัยเดียวกันกลับหันหน้าหาพระธรรม เดินเข้าวัดเพื่อบวชเรียน ด้วยเหตุผลด้านสภาพเศรษฐกิจของที่บ้าน รวมถึงความต้องการพื้นที่ทางการศึกษา

แต่เด็กคือวัยแห่งการเล่น เมื่อต้องห่มผ้าเหลืองตั้งแต่ยังตัวเล็ก แล้วตอนนั้นพระมหาไพรวัลย์สะกดกลั้นความอยากเล่นของตัวเองอย่างไร 

“อาตมาก็มีบ้างเหมือนกันที่อยากเล่นตามประสาเด็กๆ เหมือนเณรคนอื่นๆ แหละ” 

พส.ให้เหตุผลว่า เพราะธรรมชาติของเด็กคือการเล่น และเณรก็คือเด็กคนหนึ่ง เขาทิ้งสิ่งนี้ไม่ได้หรอก 

“เราก็เห็นเณรบางรูป ท่านก็ยังแก่นๆ แบบเด็กๆ บางทีก็วิ่งเล่นโดยลืมตัว หรือเห็นรถของเล่นก็อยากได้ เพราะยังไงการเล่น หรือความอยากเล่นมันจะไม่หายไปจากตัวเด็กโดยสิ้นเชิง แม้ว่าจะบวชเป็นเณรแล้วก็ตาม”

แล้วอย่างนี้ ไม่ผิดศีล 10 ของเณรหรือ?

“ถ้าจะว่ากันแบบซีเรียส มันก็มีศีลข้อ 7 (เว้นจากการขับร้อง ฟ้อนรำ) กับ ข้อ 8 (เว้นจากการทัดทรงดอกไม้) แต่ถ้าว่ากันตามความเป็นจริง อาตมาว่าห้ามยาก เณรที่พม่านี่เตะฟุตบอลเลยนะ” 

“หรือพระไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 บางส่วนต้องไปเรียนที่อุโบสถวัดพระแก้ว เรียนเสร็จก็แอบไปเตะตะกร้อกันที่ลานพระที่นั่งดุสิตฯ ปรากฏว่าราชองครักษ์มาเห็น ก็ไปฟ้องในหลวง แต่แทนที่จะตำหนิพระ ท่านกลับตำหนิคนที่มาฟ้องว่า ถ้าพระจะเล่นบ้างก็ช่างพระเถอะ ท่านคงรำคาญ นิดๆ หน่อยๆ ก็มาฟ้อง (หัวเราะ)”

แต่ว่ากันตามตรง ถ้าตอนนี้มีใครเห็นพระจับลูกฟุตบอลมาเตะ ประหนึ่งนักเตะเสี้ยวลิ้มยี่ ก็คงดูไม่งามเท่าไหร่

“ขึ้นอยู่กับบริบทแหละ เช่นสมัยอาตมาบวชที่ภาคเหนือ พระที่นั่นก็ปั่นจักรยานกันได้อย่างปกติ แต่ปั่นในวัดนะ ไม่ใช่ปั่นออกไปตลาด (หัวเราะ) เพราะวัดมีพื้นที่กว้างมาก พระเลยต้องปั่นจักรยานกันตอนทำงานวัด แต่ถ้าปั่นๆ ไปเจอโยม อาตมาก็ต้องหยุดนะ เหตุผลและบริบทมันคืออย่างนี้”

สุดท้าย ตัวพระหรือเณรจะรู้เองว่า เล่นได้แค่ไหน หรือเล่นอย่างไรถือว่าพอเหมาะ 

“มันจะมีเส้นอยู่ เรารู้อยู่แล้วว่าเล่นได้แค่ไหนถึงจะไม่ล้ำเส้น เช่น ถ้ากลางวันห่มผ้าเหลืองในวัด กลางคืนเปลี่ยนชุดฆราวาสออกไปเที่ยว อย่างนี้คงไม่ได้”

ลดอำนาจนิยมลง แล้วเพิ่มความเข้าใจคนให้มากขึ้น

เส้นแห่งการเล่นที่พระและเณรห้ามล้ำ ถึงจะบอกว่านิยามขึ้นตามข้อจำกัดทางพระวินัยหรือตามกาลเทศะ แต่จริงๆ มันก็อาจเป็นเพียงเส้นที่เราสร้างขึ้นมาเอง จะควรมิควรก็แล้วแต่ใครจะโปรด

พระมหาไพรวัลย์เลยยึดมั่นในเส้นที่เรียกว่า ‘ความเข้าใจ’ มากกว่าเส้นข้อห้าม

“ถ้าเด็กไม่ได้เล่น มันจะมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกเขานะ พอเราซีเรียสกับเขามากไป หน้าเขาจะเริ่มมุ่ยอย่างเห็นได้ชัดเลย”

“อย่าไปห้ามเขาเล่นเลย ห้ามไม่ได้หรอก มันคือธรรมชาติของเขา อยู่กับเพื่อนเณรเขาก็จะแหย่กัน หยอกกัน เล่นกัน เวลาอาตมาสอนหนังสือก็มีให้เห็นบ่อยๆ เช่น เอากล่องนมที่คนถวายมาพับเป็นรถถัง แล้วเป่าแข่งกัน เขาก็มองอาตมานะว่าจะดุหรือเปล่า อาตมาก็ไม่ดุ ถามด้วยซ้ำว่าไหนของใครไปไกลกว่ากัน”

นอกจากเทศนาให้เราฟังทุกคืนทางเฟซบุ๊กไลฟ์ ตอนกลางวัน พระมหาไพรวัลย์ยังรับหน้าที่สอนสามเณรที่เพิ่งบวชเรียนได้ไม่นาน 

การสอน ‘เด็ก’ ในวิชาธรรมะที่ดูจะอยู่คนละฝั่งกับความสนุก ไม่ใช่งานง่ายที่จะทำให้พวกเขามีสมาธิจดจ่อกับบทเรียนได้ตลอดรอดฝั่ง หรือเข้าใจในเนื้อหาทั้งหมดที่เรียนอย่างถ่องแท้ 

แต่ความยากขั้นกว่าของการทำให้เด็กเข้าใจในบทเรียน คือการทำความเข้าใจใน ‘ตัวเด็ก’ แต่ละคน “เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราละเลยการทำความเข้าใจนักเรียน จะมีเด็กไม่คนใดก็คนหนึ่งคิดว่าเราไม่สนใจเขาทันที”

“อย่างน้องเณรที่มาเรียนกับอาตมาจะเป็นการเรียนขั้นต้น ถ้าเราดุ นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว เขาจะต่อต้านด้วย บอกซ้ายเขาจะไปขวา เพราะเขาจะคิดว่าไม่อยากเป็นมิตรกับเรา หรือรู้สึกว่าเบื่อขี้หน้าจังเลย (หัวเราะ)”

“อาตมาเคยลองหมดแล้ว ยิ่งใช้อำนาจนิยมเยอะ ยิ่งตีเขา ยิ่งไม่เป็นผลดี หนึ่งไม่ได้ช่วยให้การเรียนเขาดีขึ้น สอง เขาจะยิ่งแอนตี้ ทั้งตัวเราและวิชาที่เราสอน ซึ่งไม่ดีแน่ในระยะยาว”

แล้วถ้าไม่สอนแบบดุ ต้องสอนอย่างไรถึงจะดี? 

ในฐานะครู พส.แนะนำว่า สิ่งสำคัญคือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา

“เพราะแน่นอนว่าครูก็ต้องเคยเป็นลูกศิษย์มาก่อน ไม่ใช่เกิดมาแล้วเป็นครูเลยนี่ ครูก็ต้องรู้สิว่าเด็กเขาจะมีอารมณ์ความรู้สึกยังไง เพราะครูก็เคยรู้สึกอย่างนั้น”

ถ้าธรรมชาติของเด็กคือการเล่น ก็ต้องปล่อยให้เขาเล่นบ้าง เล่นไปพร้อมเรียนนี่แหละ 

“ที่บางคนบอกว่า เรียนคือเรียน เล่นคือเล่น อาตมาไม่เห็นด้วย ทั้งเรียนทั้งเล่นมันควรไปด้วยกันได้”

กลับไปที่ประโยคเดิม “ธรรมชาติของเด็กคือการเล่น” และอะไรที่ฝืนธรรมชาติย่อมมีแต่เสีย “มันไม่ได้หรอก เด็กเขาอยู่ในวัยที่ต้องเล่น อย่าไปห้ามเขาเลย 

เขากำลังเลียนแบบไปพร้อมๆ กับเรียนรู้ ปล่อยเขาเล่นเถอะ”

ทำไมพระมีความสุขกับการเล่นเฟซบุ๊ก ถึงกลายเป็นความทุกข์ของคนอื่น 

สิ่งใดไม่ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย สิ่งนั้นย่อมสูญสลายไปตามเวลา แม้แต่ธรรมะก็ไม่เว้น

พส.ยืนยันพร้อมกับยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า บางทีเนื้อหาของธรรมะที่พระเทศน์ให้คนฟังอาจจะยังเป็นใจความเดิมอยู่ แต่วิธีการหรือสื่อกลางที่ใช้ส่งสารนั้นๆ ต้องปรับเปลี่ยนไปตามแต่ละยุคสมัยตลอด มิเช่นนั้นมันคงกลายเป็นเนื้อหาที่ตกยุค หรือส่งอย่างไร ก็ไปไม่ถึงคนฟัง

และความสนุกก็เป็นสื่อกลางที่พส.เลือกใช้ “ถ้าเราจะเอาธรรมะไปคุยกับเด็ก ที่เป็นวัยแห่งความสนุก เราก็ต้องใช้ความสนุกเป็นตัวดึงเขาเข้าสู่ธรรมะ เข้าสู่สาระ”

ถ้ามีคนมองว่า ‘สอนแบบเล่นๆ อย่างนี้เด็กจะได้สาระเหรอ’ ล่ะ พส.จะว่าอย่างไร 

“ถ้าคิดอย่างนั้นก็จะเป็นการปิดกั้นจินตนาการหรือปิดกั้นพัฒนาการทางความคิดของเด็กทันทีนะ เพราะการเล่นก็คือสาระของเด็กนั่นแหละ แค่มันเป็นสาระที่ผ่อนคลาย”

“อาตมาก็เหมือนกัน ก็เล่นเฟซบุ๊กไปพร้อมๆ กับเอาสาระจากมันนั่นแหละ ใช้มันเป็นสื่อในการถ่ายทอดธรรมะ และเอ็นจอยไปกับมัน อย่างคนที่มาตามอาตมาในไฟล์ เขาก็ไม่ได้ต้องการสาระทั้งหมด แต่ต้องการความสนุกผสมด้วย คนบอกว่าชอบที่อาตมาทำหน้าอรุ่มเจ๊าะตอนไลฟ์ เห็นแล้วคลายเครียดดี นี่อาจไม่ใช่สาระ แต่มันก็ช่วยให้เขายิ้มได้ ก็ดีแล้วไม่ใช่เหรอ”

ถึงอย่างนั้น พส.ก็รู้ว่าไม่ใช่ว่าทุกคนจะชอบหน้าอรุ่มเจ๊าะที่ว่า “เราไม่มีทางเอาใจได้ทุกคน อาตมาถึงได้พูดบ่อยๆ ว่า ถ้าโยมคิดว่าอาตมาเทศน์แล้วไม่เหมาะไม่ควร ก็ขอให้รู้ไว้ว่า อาตมาไม่ได้เทศน์ให้โยมฟัง (หัวเราะ)” 

สิ่งที่ตามมาพร้อมชื่อเสียง นับจากวันที่กระแสพส.ฟีเวอร์สุดๆ มีคนดูในไลฟ์เป็นแสนๆ คือเสียงวิพากษ์วิจารณ์และคำถามต่างๆ นานาจากทั้งคนในและนอกผ้าเหลือง 

อาทิ ‘เล่นเกินความเป็นพระหรือเปล่า’, ‘สำรวมกว่านี้หน่อยได้ไหม’ หรือ ‘พูดคำหยาบก็ได้เหรอ’ ไปจนถึงห้ามหัวเราะก็มี

ทำไมคนถึงมีปัญหากับการ ‘เล่น’ ของพส.จังเลย “ไม่รู้สิ เขาคงไม่อยากให้เรามีความสุขมั้ง” 

พส.ตอบพร้อมทำหน้าอรุ่มเจ๊าะ และหัวเราะในแบบที่เราคุ้นเคย

ถ้าจะต้องนิยามตัวอาตมา ก็ให้เรียกว่า ‘พื้นที่ปลอดภัย’ แล้วกัน

ตั้งแต่เริ่มแมสในเดือนกันยายนจนถึงตอนนี้ ก็แทบจะเรียกได้อย่างเต็มปากว่าไม่มีใครในประเทศนี้ไม่รู้จักพระมหาไพรวัลย์ แมสขนาดที่พร้อมจะ ‘มงลง’ เตรียมรับตำแหน่งบุคคลแห่งปีแบบแบเบอร์

แล้วหลังจากนี้ พส.คาดหวังอะไรกับการเทศน์ไปเล่นไปในไลฟ์ทุกๆ วัน ตั้งเป้าหมายไว้ไหมว่าอยากจะให้ธรรมะของท่านพาคนไปที่ไหนต่อ “อาตมาไม่ได้มีหน้าที่พาคนไปไหนเลย และอาตมาก็จะไม่ไปไหนด้วย จะอยู่ตรงนี้กับเขา เป็นพื้นที่ปลอดภัย สนุกสนานบ้าง สาระบ้าง เป็นพื้นที่ที่คนเข้ามาแล้วแกงเราแล้วเราไม่โกรธ”

“สิ่งที่สำคัญในพื้นที่นี้คือ อาตมาอยากคุย ไม่ได้อยากสอน บางอย่างเขาถามมาแล้วเราพอจะแนะนำได้ก็แนะนำ แต่ไม่อยากให้เรียกว่าสอน อยากให้ทั้งเราและเขาสามารถคุยกัน แชร์กัน คอมเมนต์กัน ถ้าอาตมาพูดอะไรไปแล้วเขาคิดว่ามีประโยชน์ ก็ให้เขาฉุกคิดได้เอง”

จริงๆ นิยามความเป็นพระมหาไพรวัลย์ก็เปลี่ยนผันมาตลอด 

อย่างแต่ก่อน ก็จะมีคนเรียกพส. ว่า ‘พระสายฮาร์ด’ จากการไปออกสื่อสัมภาษณ์ในเรื่องหนักๆ เช่น การเมือง ศาสนา สังคม ด้วยท่าทีที่แสนซีเรียส แต่เดี๋ยวนี้ก็กลับกลายเป็น ‘พระสายฮา’ ที่เทศน์ไปขำไป แท้จริงแล้วพระมหาไพรวัลย์เป็นคนอย่างไรกันแน่

“วิธีการพูดแต่ละแบบของเราก็จะได้ผลกับคนที่แตกต่างกัน แต่ก่อนอาจจะเข้าถึงกลุ่มที่จริงจังหน่อย แต่ตอนนี้ก็เป็นกลุ่มที่อยากเอ็นจอยไปกับเรา ซึ่งจริงๆ ทั้งสองมุมนี้อยู่ในตัวเรามาโดยตลอด เพียงแต่สมัยก่อน เวลาสื่อมาสัมภาษณ์ เขาก็จะไม่รู้ว่าเราสนุกสนานได้ เช่นหัวข้อของไลฟ์นี้ ‘ไม่ให้เล่น = ยังเล่นได้อยู่’ ถ้าแต่ก่อนนี่ไม่มีทางที่คนจะมาถามอะไรแบบนี้แน่ๆ (หัวเราะ)”

ซึ่งจริงๆ พส.ก็ไม่ได้ต้องการให้ใครมามอบคำจำกัดความใดๆ ให้ตัวเองด้วย “คนจะชอบนิยามว่าพระมหาไพรวัลย์ต้องเป็นแบบนี้ๆ หรือมาคาดหวัง อย่าเอาความหวังมาฝากไว้ที่อาตมาเลย อาตมาไม่รับฝาก”

“มีคนบอกว่า ‘เสียดายจังเลย พระมหาไพรวัลย์เคยเป็นพระนักวิชาการ ไม่น่ามาทางตลก’ อาตมาก็แย้งในใจว่า อันนั้นคือสิ่งที่คุณอยากให้ฉันเป็น ฉันไม่ได้เป็นแบบนั้นซะหน่อย”

อย่าเป็นเดอะแบกแล้วหลงลืมความเป็นเด็กที่สนุกง่าย ร้องไห้ยาก 

“คนชอบคิดว่าการเล่นเป็นเรื่องของเด็ก ผู้ใหญ่ต้องไม่เล่น อาตมาว่าไม่จริง”

ยิ่งโตเป็นผู้ใหญ ยิ่งต้องเล่น พส.เชื่ออย่างนี้ 

“อาตมาเห็นคุณยายสองคนที่เป็นดาว TikTok  ชื่อยายแหม่มกับยายบัวเกลี้ยง อาตมาดูที่เขาแสดงเป็นกาสะลองซ้องปีบ น่ารักมาก อายุ 82 เขาก็ยังเล่นเลย ดีไม่ดี เพราะการเล่นนี่แหละที่ทำให้เขาอายุยืน”

ยิ่งโตเป็นผู้ใหญ่ ยิ่งต้องไม่จริงจังกับชีวิต 

“แต่ก่อนอาตมาไม่เข้าใจที่อาจารย์พุทธทาสบอกว่า อย่าไปจริงจังกับชีวิตให้มาก เอ๊ะ…ปกติชีวิตก็ต้องจริงจังสิ จนอาตมาได้เข้าใจว่า อ๋อ คำว่าอย่าจริงจังมันไม่ได้หมายถึงไม่เอาไหน แต่มันคือการยอมรับว่า ไม่ได้ก็คือไม่ได้ อย่าไปแบกความจริงจังหรือกดดันเอาไว้ให้หนักเปล่า

แถมบางที สิ่งที่แบกยังเกินกว่าความเป็นผู้ใหญ่ไปอีก เช่นแบกความมีหน้ามีตา แบกตำแหน่ง แบกชื่อเสียง โอ๊ยมีแต่เรื่องหนัก อะไรทิ้งได้ก็ทิ้งบ้างเถอะ”

แต่หนึ่งสิ่งที่พส.ไม่แนะนำให้ทิ้ง คือความเป็นเด็ก 

“อย่าคิดว่าตัวเองโตแล้วต้องแบกแต่ความรับผิดชอบ เอาความเป็นเด็กกลับมาให้ตัวเองบ้างเถอะ เด็กที่สนุกง่าย ร้องไห้ยาก มีความสุขได้กับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว”

“เคยคิดกันไหมว่าทำไมยิ่งเราโตขึ้น ถึงยิ่งหาความสุขได้ยากกว่าเดิม ทั้งที่เราก็มีเยอะกว่าตอนเป็นเด็ก ตอนเด็กๆ แค่ได้เอาเศษขยะมาเล่นขายข้าวแกงก็มีความสุขแล้ว หรือเอาผ้าขนหนูมาพันรอบตัวก็เล่นสนุกได้แล้ว เนี่ย อย่าทิ้งความสุขแบบเด็กๆ อย่างนี้ รักษามันเอาไว้”

มนุษย์ถูกออกแบบมาให้ ‘เล่น’ ตลอดชีวิต ตั้งแต่เกิดจนสู่ขิต ฉะนั้นการเล่นมันอยู่กับตลอด อยู่ที่เราเลือกจะเล่นหรือเปล่าเท่านั้นเอง

“เมื่อไหร่ที่เราไม่ทิ้งความเป็นเด็ก หรือไม่ลืมการเล่นของตัวเอง ความสนุกและความสุขก็จะยังอยู่กับเราเสมอ”

รับชม mappa live ย้อนหลังได้ที่

FB: https://www.facebook.com/mappalearning/videos/152416373758060

Youtube: https://youtu.be/NgdtiklN4SA

illustrator
Avatar photo
กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Writer
Avatar photo
กันตพัฒน์ พาวงษ์

นักศึกษาวิชาการเมืองที่หวังว่าจะมีชีวิตอยู่ถึงวันที่พลังของการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในปัจจุบัน จะนำไปสู่การแก้ปัญหาขนาดใหญ่ได้จริงในอนาคต ถึงนานก็รอไหว ไม่รีบ