

Picture Book Maker: ข้างหลังเล่มนิทานมีใครซ่อนตัวอยู่บ้าง
Picture Book Maker: ข้างหลังเล่มนิทานมีใครซ่อนตัวอยู่บ้าง
เมื่อเราพูดถึงหนังสือภาพสำหรับเด็ก เรามักเห็นภาพประกอบ และข้อความ ที่ร้อยเรียงกันออกมาเป็นเรื่องราวที่มีความหมาย บ้างก็ออกแบบมาเพื่อส่งสารบางอย่างให้ผู้อ่าน บ้างก็ทำหน้าที่ส่งต่อ “นัยยะ” บางอย่างไปให้ผู้อ่านคิดและตีความเอง บ้างก็ส่งความคิดสร้างสรรค์และความสวยงามของศิลปะไปสู่มือของผู้อ่านตัวน้อย หนังสือภาพเหล่านี้จึงเป็นผลลัพธ์ของกระบวนการสร้างสรรค์ที่หลายครั้งมีความซับซ้อน ละเอียดอ่อน และต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของมืออาชีพหลากหลายบทบาท ที่แต่ละคนล้วนมีส่วนสำคัญในการประกอบร่าง “ภาพ” และ “ถ้อยคำ” ให้กลายเป็นประสบการณ์การอ่านที่ลึกซึ้งสำหรับผู้อ่านของพวกเขา
Picture Book Maker จึงไม่ได้หมายถึงเพียง “คนเขียน” หรือ “คนวาด” แต่หมายถึงผู้มีส่วนร่วมในทุกจังหวะของการเล่าเรื่อง ทั้งที่ปรากฏบนหน้ากระดาษ และที่ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังงานพิมพ์เหล่านั้น เราอาจจะคิดว่าการทำหนังสือนิทานสักเล่มไม่ได้ยากเย็นอย่างที่คิด แต่หากเป็นหนังสือภาพที่ไม่ได้ให้คำตอบตรงไปตรงมา แต่เปิดพื้นที่ให้เด็กเป็นผู้ตีความเรื่องราวด้วยตัวเอง การทำงานในลักษณะนี้ยิ่งต้องอาศัยความเข้าใจ ‘ร่วมกัน’ ในแนวคิดการเล่าเรื่อง และความไว้วางใจในศักยภาพของผู้อ่านของทุกคนที่ทำงานชิ้นนั้นด้วยกัน
เมื่อ ‘ภาพ’ และ ‘คำ’ ทำงานร่วมกัน
หนังสือภาพไม่ใช่แค่เรื่องที่มีภาพประกอบ แต่คือการออกแบบภาษาสองชนิด คือ “ภาษาเขียน” และ “ภาษาภาพ” ให้สื่อสารไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีจังหวะและความหมาย
ภาพในหนังสือภาพไม่ได้มีหน้าที่แค่ “ตกแต่ง” แต่เป็นหนึ่งในผู้เล่าเรื่องร่วมที่สื่อสารอารมณ์ บรรยากาศ และรายละเอียดที่บางครั้งถ้อยคำไม่สามารถถ่ายทอดได้ทั้งหมด เด็กอาจเข้าใจ “ความเศร้า” ได้จากการเห็นภาพเด็กนั่งหันหลังเงียบๆ ในบรรยากาศทึมๆ ก่อนที่คำว่า “เศร้า” จะปรากฏในเนื้อเรื่องเสียอีก
ในขณะเดียวกัน ‘ถ้อยคำง ก็ทำหน้าที่สร้างโครงให้เรื่องเล่า ชี้ชวน สร้างจังหวะ และขอบเขตของการตีความ โดยเฉพาะสำหรับเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถอ่านได้อย่างอิสระ ‘ภาพ’ และ ‘คำ’ จึงเป็นสองส่วนที่ทำงานร่วมกันเหมือนคู่เต้นรำที่พาเด็กเดินทางไปในเรื่องราว และสร้างประสบการณ์การอ่านให้กับเด็กๆ
มีใครแอบอยู่หลังหนังสือภาพเหล่านั้นบ้าง
สำหรับผู้สร้างสรรค์หนังสือภาพมืออาชีพ การทำงานไม่ได้เป็นเพียงกระบวนการที่เริ่มจากจุดหนึ่งแล้วเดินไปสู่จุดจบอย่างเป็นเส้นตรง แต่คือ วงจรของจินตนาการ การลองผิดลองถูก และการปรับแก้อย่างต่อเนื่อง โดยมากอาจจะเริ่มจากแนวคิด จากนั้น ‘ทีมสร้างสรรค์หนังสือภาพ (picture book maker)’ ก็จะเริ่มพิจารณาว่า ‘ภาพ’ และ ‘คำ’ แบบใดจึงจะเหมาะกับเรื่องเล่าและกลุ่มผู้อ่านเป้าหมาย เพราะในหนังสือภาพ ภาพไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อประดับตกแต่ง หรือเพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ภาพมีหน้าที่ในการสื่อความ ต้องทำสื่ออารมณ์ บรรยากาศ และเปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านเข้ามามีส่วนร่วมกับเรื่องราว
การเลือกรูปแบบของภาพ ลายเส้นและโทนสีจึงไม่ใช่เรื่องของรสนิยมส่วนตัวเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ “เสียงของเรื่องเล่า” ด้วย เช่น หากเป็นเรื่องสนุก ขี้เล่น อาจใช้ลายเส้นที่มีความเคลื่อนไหวสูง ตัวละครดูเกินจริงเล็กน้อย ส่วนเรื่องที่เน้นความเงียบ ความละเอียดอ่อน หรือความรู้สึกลึกๆ อาจต้องการโทนสีที่นุ่ม ลายเส้นเรียบง่าย และองค์ประกอบภาพที่มีพื้นที่ว่างเพื่อให้เรื่องราวได้หายใจ
อีกหนึ่งส่วนสำคัญคือ การจัดสมดุลระหว่างข้อความและภาพในแต่ละหน้า บางครั้งอาจต้องลดจำนวนคำลงเพื่อให้ภาพได้เล่าเรื่องอย่างเต็มที่ หรือในบางกรณี อาจต้องปรับภาพเพื่อให้สอดรับกับจังหวะของถ้อยคำที่ต้องการให้ผู้อ่านรับรู้ ทั้งข้อความและภาพต้องทำงานร่วมกัน ด้วยจังหวัะที่พอดี
หนังสือภาพหนึ่งเล่มจึงไม่ใช่ผลลัพธ์ของไอเดียที่สวยงามเพียงครั้งเดียว หากแต่เกิดจากกระบวนการ “ลอง เล่า ลบ และปรับ (แม้กระทั่งรื้อใหม่)” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถ้อยคำและภาพสามารถเคลื่อนไหวไปด้วยกันอย่างกลมกลืน เหมือนเป็นเสียงเดียวกันที่ร้อยเรียงผ่านหน้ากระดาษ
และในกระบวนการสร้างสรรค์หนังสือภาพ ‘ทีม picture book maker’ ประกอบด้วยคนเหล่านี้
✦ นักเขียน (Author)
คือผู้กำหนดทิศทางของเรื่องเล่า ผ่านถ้อยคำที่ไม่มาก แต่ต้องแม่นยำ ละเมียดละไม และเปิดพื้นที่ให้ภาพได้ทำงาน นักเขียนหนังสือภาพที่ดีจะเข้าใจว่าคำไม่ใช่ทุกอย่างของเรื่องราวนั้น แต่คำที่เลือกใช้จะต้อง นำพาความรู้สึก จังหวะ และความหมาย ไปสู่ผู้อ่านได้
✦ นักวาดภาพประกอบ (Illustrator)
คือศิลปินที่ต้องตีความถ้อยคำให้ออกมาเป็น “โลกที่มองเห็นได้” พร้อมความรู้สึกที่ไม่จำเป็นต้องอธิบาย ผู้วาดภาพไม่เพียงแต่เติมเต็มสิ่งที่คำพูดเว้นว่างไว้ แต่ยังเชิญชวนให้เด็กใช้สายตาเป็นเครื่องมือรับรู้ความรู้สึก ทั้งสุข เศร้า ละเอียด และหลายครั้งมีหลายความรู้สึกซ้อนทับกันแบบถ้อยคำอธิบายไม่ได้
✦ บรรณาธิการ (Editor)
คือ ‘ผู้ฟัง’ เสียงของหนังสือในกระบวนการสร้างสรรค์ทั้งหมด เขาไม่ได้เพียงแก้คำให้ถูกต้อง แต่คือผู้ดูแล “คุณภาพของเสียง” ในเรื่องเล่า เสียงที่เด็กจะได้ยิน แม้ในความเงียบของการอ่านคนเดียว บรรณาธิการคือผู้รู้ว่าอะไรควรถูกพูด และอะไรควรถูกเว้น ภาพแบบไหนที่ช่วยเสริม หรือภาพแบบไหนที่สร้างความสับสน เพื่อให้การเล่าเรื่องมีน้ำหนักทางอารมณ์และมีความหมายตามที่หนังสือต้องการสื่อสารออกมา
✦ นักแปล (Translator)
ในโลกที่หนังสือข้ามพรมแดนมากขึ้นทุกวัน นักแปลคือผู้รับช่วงของเสียงหนึ่งที่สร้างจากที่หนึ่งไปสู่ผู้อ่านอีกกลุ่มหนึ่งโดยไม่ทำให้จังหวะ วิญญาณ หรือความตั้งใจของต้นฉบับสูญหาย งานแปลหนังสือภาพจึงไม่ใช่แค่ “การแปลภาษา” แต่คือ การฟังอย่างลึก และพูดใหม่ด้วยภาษาที่แตกต่างออกไป
ในหนังสือภาพที่เนื้อหาน้อย แต่พื้นที่ตีความมาก นักแปลต้องใช้ความละเอียดรอบคอบเป็นพิเศษ เพราะ การเลือกคำเพียงคำเดียวอาจเปลี่ยนน้ำหนักของเรื่องเล่าได้อย่างสิ้นเชิง พวกเขาต้องเข้าใจทั้งโครงสร้างภาษาของต้นฉบับ ความหมายระหว่างบรรทัด และบริบททางวัฒนธรรม รวมถึงลักษณะเฉพาะของกลุ่มผู้อ่านอีกด้วย
✦ พรูฟรีดเดอร์ (Proofreader)
ผู้ดูแลคนสุดท้ายก่อนที่หนังสือจะออกสู่โลก แม้จะเป็นบทบาทที่มองเห็นได้ยาก แต่คือผู้ที่ปกป้องรายละเอียดเล็กที่สุด เพื่อให้เรื่องเล่าทั้งเล่มดำเนินไปอย่างไร้การสะดุด
ทุกคนในกระบวนการนี้ ล้วนเป็น “ผู้เล่าเรื่อง” คนละบทบาท
หนังสือภาพสำหรับเด็กอาจมีจำนวนคำเพียงไม่กี่คำ ภาพเพียงไม่กี่หน้า แต่กลับต้องการความเข้าใจลึกในพัฒนาการเด็ก จิตวิทยา ความงาม และจังหวะการสื่อสารที่แม่นยำ
ในหนึ่งเล่มของหนังสือภาพ มีเสียงของผู้เล่าเรื่องหลายคนที่ทำงานร่วมกัน บางคนเล่าเรื่องผ่านถ้อยคำ บางคนผ่านภาพ บางคนอยู่ในเบื้องหลังของการจัดวางจังหวะ หรือคัดเลือกถ้อยคำสุดท้ายก่อนพิมพ์ แต่ละคนต่างทำหน้าที่ของตนด้วยความตั้งใจเพื่อส่งต่อเรื่องราวที่ไม่เพียงแต่ “บอกเล่า” แต่เปิดพื้นที่ให้เด็ก สร้างความหมายด้วยตัวเอง
Picture Book Maker จึงไม่ใช่อาชีพของคนคนเดียว แต่คือกลุ่มคนที่ทำงานร่วมกันภายใต้ความเชื่อเดียวกัน คือเชื่อในคุณค่าของงานเล่าที่งดงาม เชื่อมั่นในศักยภาพของเด็ก และเชื่อว่า “เรื่องเล่า” ที่ดีจะไม่ยัดเยียด สั่งสอน แต่เชื้อเชิญให้ผู้อ่านตัวเล็กของเขาคิด รู้สึก และเติบโตผ่านเรื่องเล่าไปด้วยกัน
Writer

Admin Mappa
illustrator

Arunnoon
มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด