วันที่แม่ไม่อยู่ ‘ผู้หญิง’ คนนั้นจึงปรากฏ นิยายที่ชวนรับฟังแม่อย่างลึกซึ้ง ในวันที่โลกปิตาธิปไตยตัดสินให้ผู้หญิงคนหนึ่งหายไปอย่างยาวนาน

วันที่แม่ไม่อยู่ ‘ผู้หญิง’ คนนั้นจึงปรากฏ นิยายที่ชวนรับฟังแม่อย่างลึกซึ้ง ในวันที่โลกปิตาธิปไตยตัดสินให้ผู้หญิงคนหนึ่งหายไปอย่างยาวนาน

“สามสิบปีที่ผ่านมา ในฤดูหนาวปีก่อน ฉันเพิ่งได้มีโอกาสกลับไปอยู่บ้านกับแม่นานถึงสิบห้าวัน เป็นครั้งแรกที่ได้อยู่กับแม่นานขนาดนี้ นับตั้งแต่จากบ้านไปสมัยวัยรุ่น… แม่บอกเล่าความหลังฝังใจที่เหมือนต้นไม้สยายรากอยู่กลางอกให้ฉันฟัง บางครั้งแม่ก็นอนขดตัว ร้องไห้อยู่ในอ้อมกอดของฉัน พอตั้งสติได้ก็โวยวายขึ้น แม่เป็นอะไรไปเนี่ย! แล้วกลับไปเป็นแม่คนเดิมอย่างรวดเร็ว อย่างน้อยแม่ก็คงสบายใจขึ้นที่มีใครสักคนรับฟัง”

นั่นคือช่วงเวลาที่ผลักดันให้ ‘ชินกยองซุก’ (신경숙) จรดปลายปากกาลงเพื่อเขียนนิยายเรื่อง วันที่แม่ไม่อยู่ (엄마를 부탁해) ขึ้น จากช่วงเวลาที่ได้พูดคุยกับแม่อย่างลึกซึ้งและรับฟังสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในใจ กลายออกมาเป็นนิยายที่มียอดขายกว่า 2 ล้านเล่มในเกาหลี มีการแปลไปยังภาษาต่างๆ ทั่วโลก อีกทั้งยังได้รับรางวัล Man Asian Literary Prize ในปี 2011 อีกด้วย  

“ชินกยองซุก” (신경숙)
ภาพจาก: https://en.wikipedia.org/wiki/Shin_Kyung-sook  

“แม่หายไปหนึ่งสัปดาห์แล้ว”

นี่เป็นเรื่องราวการหายตัวไปของผู้หญิงคนหนึ่งที่บรรทัดแรกของนิยายเรื่องนี้เรียกเธอว่า ‘แม่’ ก่อนที่เราจะรู้จักชื่อของเธอในเวลาต่อมาว่า ‘พักโซ-นยอ’ ผู้หญิงวัย 69 ปี ในบทบาทแม่และเมียผู้เกิดมาจากครอบครัวยากจน เธอพลัดหลงกับสามีแล้วหายตัวไป ณ สถานีรถไฟใต้ดินโซล ในวันที่เธอกับสามีเดินทางไปเยี่ยมลูกที่ต่างก็เติบโตและใช้ชีวิตในเมืองอื่น 

การหายตัวไปของแม่ทำให้ครอบครัวกังวลใจและเริ่มออกตามหา ทุกคนร่วมกันทำใบปลิวเพื่อประกาศตามหาแม่ ซึ่งช่วงเวลานั้นเองที่ทำให้พวกเขาได้รู้ว่า พวกเขานึกอะไรที่เกี่ยวกับแม่ไม่ออกเลย ที่จะใช้ข้อมูลเหล่านั้นเขียนเพื่อตามหาเธอ เรื่องค่อยๆ ทำให้เราเห็นว่า ‘แม่’ เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวที่มักถูกหลงลืมไป 

ในขณะเดียวกันภายใต้การหลงลืมนั้น สิ่งที่หายไปมักเป็นความต้องการ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ไปจนถึงข้อมูลในฐานะปัจเจกบุคคล 

แม้แต่ปีที่แม่เกิดก็เกิดการถกเถียงกันว่าที่จริงแล้วเป็นปีไหนอย่างไร กระทั่งรูปที่จะใช้เพื่อตามหาควรเป็นรูปไหนที่จะตรงกับแม่มากที่สุด 

ความไม่แน่ใจของคนในครอบครัวสะท้อนให้เห็นความความพร่ามัวและการหล่นหายไปของตัวตนของพักโซ-นยอน ทำให้คนอ่านเกิดความฉุกคิดว่า จุดที่หายไปอาจไม่ใช่เพียงการหายไปของคนคนหนึ่ง  หากแต่คือการหายไปของอะไรบางอย่าง ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องรับใช้ครอบครัวในบทบาทแม่และเมียตลอดมา 

นักเขียนถ่ายทอดเรื่องราวของแม่ ผู้หญิงคนนั้นที่ชื่อพักโซ-นยอได้อย่างลึกซึ้งและน่าสนใจผ่าน ‘ความทรงจำ’ ของทั้งลูกสาวและลูกชาย สามีที่เริ่มทบทวนถึงเรื่องราวระหว่างเธอในวันที่ผันผ่านมายาวนาน ผ่านสายตาในการเล่าเรื่องของผู้เขียนที่ใช้คำเรียกแทนดึงผู้อ่านให้เผลอเข้าไปเป็น ‘เธอ’ ‘เขา’ ‘คุณ’ สลับไปมาสร้างความรู้สึกร่วมไปกับความทรงจำในมุมมองที่หลากหลาย ฉายชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งภายใต้โลกปิตาธิปไตยที่เข้มข้น ชีวิตที่คร่ำอยู่กับการทำงานครัว ทำอาหาร ดูแลเรื่องในบ้าน ดูแลเสื้อผ้า รับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นจากสามี ทั้งการเที่ยวเตร่ เรื่องผู้หญิง ความมึนเมา สร้างภาระให้ครอบครัว 

ตัวละครแม่ที่ถูกฉายออกมาชี้ชวนให้เห็นได้ชัดเจนว่าเธอคือ ‘แรงงาน’ ของครอบครัว ทั้งในแง่ของแรงงานภายในบ้านที่ทำงานเพื่อดูแลชีวิตของคนทุกคน และแรงงานในการทำงานหามรุ่งค่ำเพื่อหาทุนในการส่งลูกไปเติบโตในที่ที่ดีขึ้น ตลอดจนรับผิดชอบทุกเรื่องในบ้าน  ‘แม่’ จึงเป็นทุกอย่างของบ้านหลังนี้ โดยไม่ใช่การเป็นทุกอย่างอย่างโรแมนติก ซาบซึ้ง อบอุ่น เหมือนในนิยายบอกรักแม่ แต่นิยายเรื่องนี้เล่าให้เราเห็นถึงโลกที่กดทับผู้หญิงคนหนึ่งไว้ในโลกของเมียและแม่ที่เป็นทุกอย่างโดยไม่เคยได้รับการมองเห็น รับฟัง  แก้ไข หรือเข้าใจอย่างลึกซึ้งมากกว่า  ตัวบทที่ลูกสาวได้ฉุกคิดขึ้นมาเมื่อทบทวนความทรงจำระหว่างเธอกับแม่ทำให้เราเห็นภาพของแม่ในฐานะคนดูแลจัดการทุกอย่างจนชินและชาราวกับว่าเป็นชีวิตที่มีปุ่มอัตโนมัติสั่งการให้ทำสิ่งนั้นๆ ซ้ำๆ และสม่ำเสมอได้อย่างเห็นภาพ

“ตั้งแต่เมื่อไหร่กันนะที่แม่ปฏิบัติกับเธอยามกลับบ้านไม่เหมือนลูกสาว แม่ทำเหมือนเธอเป็นแขกคนหนึ่งของบ้าน แม่กุลีกุจอจัดบ้านให้เรียบร้อย หยิบผ้าขนหนูที่ตกอยู่ในห้องขึ้นแขวน เวลาทำอาหารบนโต๊ะตกก็จะคีบเก็บขึ้นอย่างรวดเร็ว ระยะหลังเวลาเธอไปหาแม่กะทันหัน แม่จะขอโทษที่ผ้าห่มไม่สะอาด สวนของบ้านรก รีบสำรวจตู้เย็นทันที ก่อนจะกระวีกระวาดออกไปตลาดเพื่อซื้อเครื่องเคียงมาเพิ่มทั้งที่เธอร้องห้าม 

“เธอคิดว่า สำหรับคนในครอบครัวไม่เห็นจำเป็นต้องจัดสำรับอาหารบนโต๊ะให้ครบทุกอย่าง กินเท่าที่มีก็ได้ เป็นความสัมพันธ์เรียบง่าย ไม่ต้องห่วงเรื่องความสมบูรณ์แบบ แต่ในตอนนั้นแม่ผู้ไม่ชอบเรื่องวุ่นวายกลับทำทุกอย่างให้สะอาดเรียบร้อยเพื่อเธอ เธอมาคิดขึ้นได้ในภายหลังว่า ตัวเองกลายเป็นแขกของแม่ในบ้านหลังนี้ไปแล้ว” 

นอกจากนี้นิยายยังเล่าอารมณ์ส่วนลึกของพักโซ-นยอในฐานะเมียของผู้ชายคนหนึ่งได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในบทที่เล่าด้วยสรรพนาม ‘คุณ’ (แทนตัวสามี) สร้างความรู้สึกเข้าไปมีส่วนร่วมของคนอ่านได้ดีอย่างคิดไม่ถึง ผู้เขียนได้คลี่ขยายโลกที่ผู้ชายมีอำนาจเหนือภรรยา ชีวิตที่อยู่ภายใต้ครอบครัวที่สามีตำหนิ พูดจาหยาบคาย ทิ้งโลกหม่นหมองเอาไว้ให้เธอแบกรับเอาไว้อยู่เสมอ   

“ทั้งชีวิตคุณเดินนำหน้าเธอเสมอ บางครั้งก็ไม่เหลียวมองกลับไปดูเธอเลย จนถึงหัวโค้งมุมถนน เวลาที่ภรรยาตะโกนเรียกคุณ คุณจะหันไปตวาดอย่างหงุดหงิดว่าทำไมเดินช้าแบบนั้น ตอนนั้น เวลาคุณหยุดรอภรรยาที่เดินช้ากว่า เธอที่แก้มแดงระเรื่อจะเดินมาหยุดยืนข้างคุณบอกพลางหัวเราะขึ้นว่า เดินช้าหน่อยก็ได้นี่คะ เหมือนรู้ว่าชีวิตที่เหลืออยู่จะต้องเป็นแบบนี้ไปตลอด ห้าสิบปีผ่านไปแค่เธอเดินช้ากว่าคุณเพียงก้าวหรือสองก้าว ขบวนรถไฟที่คุณขึ้นไปก่อนก็ออกตัวไปแล้ว และเธออาจไม่กลับมาอยู่ข้างกายคุณอีก” 

ตัวบทนี้ผู้เขียนเล่าอย่างถึงรสเพื่อสะท้อนความรู้สึกส่วนลึกของแม่ที่ถูกสามีของเธอมองราวกับว่าไม่มีตัวตน อย่างการที่จะตวาดอย่างไรก็ได้แม้อยู่ท่ามกลางผู้คน ทั้งนี้การเล่าผ่านการใช้ ‘การเดินนำหน้า’ ยังล้อไปกับมุมมองที่สังคมมักจะมองว่าผู้ชายเป็นผู้นำ นำหน้า ก้าวหน้ากว่าผู้หญิง แต่ในขณะเดียวกันมุมมองเช่นนี้ก็มอบอำนาจบางประการให้ผู้ชายเชื่อว่าจะทำอะไรกับผู้หญิงซึ่งเป็นภรรยาก็ได้ รวมทั้งมองเห็นภรรยาเป็นเพียงคนที่ด้อยไปกว่าตน ความนึกคิด มุมมองและเสียงของเธอจึงถูกด้อยค่าและความหมายไปด้วยเช่นกัน  

“คำพูดที่ภรรยาบ่นบ่อยที่สุดก็คือขอให้คุณเดินช้าลงหน่อย ถึงจะฟังคำพูดนี้มาทั้งชีวิต แต่คุณก็ไม่เคยเดินช้าลงเลย อาจเดินไปหยุดรอข้างหน้าบ้าง ทว่าสิ่งที่ภรรยาหวังไว้คือการเดินและพูดจาหยอกล้อไปข้างๆ กัน ซึ่งคุณไม่เคยทำเลยสักครั้ง” 

“การเดินและพูดจาหยอกล้อไปข้างๆ กัน” ที่พักโซ-นยอว่านี้อาจไม่ได้หมายถึงเพียงการแสดงออกทางกายภาพเท่านั้น หากแต่ลึกลงไปคือการมองเธอเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีชีวิต มีหัวจิตหัวใจและไม่ต้องเดินตามหลังสามีอยู่เสมอ แต่สามารถที่จะอยู่ข้างๆ ยืนหยัดอยู่อย่าง ‘เท่าเทียมกัน’ กันได้ต่างหาก 

อย่างไรก็ตาม แม้นิยายจะฉายให้เห็นกรอบที่สังคมสวมให้กับ ‘ผู้หญิง’ ในฐานะแม่และเมียซึ่งถูกกดทับชีวิตจนแตกสลายแล้ว สำหรับฉันการนำเสนอของนิยายเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้เราต้องร้องห่มร้องไห้กับความทุกข์ทนและเสียสละของแม่อย่างในเรื่องเล่าว่าด้วยแม่หลายๆ ครั้งที่พาไปถึงเพียงการทดแทนและขอบคุณ หากแต่นิยายพาเราไปสะท้อนหาตัวตนภายในของแม่ เพื่อยืนยันแม่นมั่นว่าแม่มีใครสักคนที่ถูกลืมยิ่งกว่านั้นซ่อนอยู่ นั่นคือผู้หญิงคนหนึ่ง คนคนหนึ่งที่มีชีวิตจิตใจ มีความแตกต่าง มีตัวตนที่นอกเหนือไปจากการเป็นแม่ นอกเหนือไปจากนิยามความหมายของแม่ที่ดี ผู้หญิงที่ดี แม่ที่ควรจะเป็น หรือเมียที่ควรจะเป็น ฉากในตอนที่หาภาพแม่เพื่อใส่ในประกาศตามหาได้สื่อสารกับคนอ่านอย่างเรียบง่ายในประเด็นนี้ ทว่าสะทกสะท้อนใจได้ไม่น้อย 

“เธอถามว่าควรใช้รูปถ่ายใบไหนของแม่ประกอบในประกาศนี้ ทุกคนลงความเห็นว่าควรเป็นรูปถ่ายล่าสุด แต่ไม่มีใครมีรูปถ่ายของแม่ในปัจจุบัน เธอคิดไม่ออกว่าแม่เริ่มเกลียดการถ่ายรูปตั้งแต่เมื่อไหร่ ทุกครั้งเวลาถ่ายรูปครอบครัว แม่มักจะหายตัวไปเสมอ จึงแทบไม่มีรูปแม่เลย รูปถ่ายล่าสุดคือรูปในวันเกิดครบรอบ 70 ปีของพ่อ วันนั้นแม่ใส่ชุดฮันบกสีฟ้าอ่อน ทำผมและแต่งหน้าจากร้านเสริมสวย ทาริมฝีปากด้วยลิปสติกสีสดแตกต่างจากปกติ”

หากอ่านในฉากตอนนี้เราอาจเห็นว่าเป็นเพียงการหาภาพมาประกอบในใบปลิวเท่านั้น แต่เมื่อมองลึกลงไปจะเห็นว่า การกล่าวถึงภาพที่มีอยู่เพียงภาพเดียวของแม่เป็นภาพที่แต่งหน้าทาริมฝีปากแดงสด ในขณะเดียวกันกับที่บอกว่าแม่ไม่ชอบถ่ายรูปและหลีกหนีการถ่ายรูปจึงไม่มีรูปอื่นๆ เลยนอกจากรูปใบนั้น ชี้ชวนให้เราเห็นว่า ‘รูปใบเดียว’ ที่มีอยู่ซึ่งแต่งแต้มใบหน้าสวยงามอาจคือช่วงเวลาที่แม่รู้สึกได้ฉายตัวตนและความสดใสของเธอออกมาในแบบของเธอ ในขณะที่ในสถานการณ์อื่นๆ ที่เธอหลีกหนีการถ่ายรูปก็ทำให้เรานึกคิดต่อไปได้ว่า นั่นก็เพราะเธออาจไม่รู้สึกว่ามีตัวตนที่เธออยากปลดปล่อยหรือนำเสนอออกมา เพราะวนลูปอยู่ซ้ำเดิมและไม่มีโอกาสได้เป็นตัวของตัวเองเลย  นั่นอาจเป็นความรู้สึกแบบเดียวกับตอนที่คนเรารู้สึก ‘หลงทาง’  

“เมื่อเอารูปของแม่โพสต์ลงอินเทอร์เน็ต คอมเมนต์ส่วนใหญ่มักเขียนคล้ายกันว่า คุณแม่สวยมาก ไม่เหมือนคนที่หลงทางเลย” 

น้องชายบอกเธอว่าแม่ในรูปต่างจากตัวจริงเกินไป” น้องชายอาจบอกแบบนั้น แต่นิยายเรื่องนี้กำลังบอกเราว่าแม่ตัวจริงอาจคือคนคนนั้นก็ได้ คนที่ทาปากสีแดงสด และแต่งหน้าสดสวย ใส่ชุดสีฟ้าอ่อนคนนั้น ไม่ใช่แม่อย่างที่ทุกคน ‘เคยชิน’ และคิดว่า ‘จะต้องเป็น’ เสมอไป 

นิยายยังพาไปย้อนถึงสายตาและน้ำเสียงแห่งวัยเยาว์ของแม่เพื่อทำให้เห็นถึงจุดแบ่งระหว่างชีวิตผู้หญิงคนหนึ่ง ในช่วงก่อนและหลังการแต่งงานได้ด้วยวิธีการที่ง่าย เล็กน้อย แต่น่าสนใจหลายฉากตอน เช่นตอนที่ลูกสาวเล่าย้อนถึงแม่ตอนพบเจอกับพี่ชายของแม่หรือลุงของเธอว่า

“เธออยู่กับแม่ในฐานะที่แม่เป็นแม่มาตลอด ทว่าในวินาทีที่แม่ตะโกนเรียกลุงว่าพี่ แล้ววิ่งถลาไปหา เธอถึงเพิ่งตระหนักได้ว่าแม่ผู้มีชีวิตอยู่เพื่อเธอและพี่น้องของเธอเคยมีวัยเยาว์เช่นกัน”

นวนิยายเรื่องนี้ไม่บอกให้เราซาบซึ้งตรึงใจไปกับความเสียสละอันใหญ่ยิ่งของคนที่อยู่ในโลกของแม่และเมีย แต่เล่าความรวดร้าวจากโลกปิตาธิปไตยที่กดทับเธอด้วยการเข้าไปในหัวใจของแม่โดยตรง เพื่อทำความเข้าใจเธออย่างสุดหัวใจ เพื่อรับฟังเธอใหม่อีกครั้ง เพื่อปลดปล่อยเธอออกมาจากความทรงจำที่ ‘เคยชิน’ ในบทบาทที่ครอบทับอยู่ และที่สำคัญ ไม่แม้แต่จะบอกว่าให้ผู้หญิงอดทนที่จะแบกหามครอบครัวต่อไปชั่วชีวิตหากมันทำให้เธอไม่อาจรู้สึกมีตัวตนอยู่ได้ หากมันทำให้เธอรู้สึกถูกกักขังในโลกที่ไร้ความรู้สึกนึกคิด ขณะที่นิยายเรื่องนี้ก็เข้าใจหัวอกแม่อย่างยิ่งว่ามันยากเพียงไรในการปลดปล่อยหัวใจตัวเองให้เป็นอิสระได้  อย่าง ‘พักโซ-นยอ’ เอง เธอใช้เวลากว่า 50 ปีเพื่อหันหลังให้กับโลกที่กดทับหัวใจของเธอใบนั้น  

“ฉันบอกว่าจะไม่ไปอยู่ที่ศาลบรรพชนหรือสุสานประจำตระกูล ฉันแต่งงานย้ายมาอยู่ที่บ้านหลังนี้นานกว่าห้าสิบปีแล้ว ตอนนี้ปล่อยฉันไปเถอะค่ะ”

‘แม่’ ในนิยายเรื่องนี้อาจเป็นแม่คนเดียวกันกับที่คุณรัก อาจเป็นแม่คนเดียวกันกับคนที่คุณบางคนพบเจอ แม่ที่เหมือนกันในหลายบ้าน เหมือนกันจนบางทีบางครั้งเรานึกไม่ออกว่า ผู้หญิงที่มีดวงตาสดใส ผู้หญิงที่มีรอยยิ้มเป็นของตัวเอง และมีตัวตนแตกต่างออกไปจากที่เคยชินนั้นหายไปหลบซ่อนในมุมเล็กลับมุมไหน 

บางครั้งการรับฟังเสียงของแม่อย่างมนุษย์คนหนึ่ง อาจเป็นจุดเริ่มต้นก็ได้ที่จะทำให้เราพบกับ ‘ผู้หญิงคนนั้น’ ที่ซ่อนอยู่ในตัวเธอ ผู้หญิงที่เราอาจไม่เคยได้รู้จักเลยแม้จะรู้จักมาชั่วชีวิตก็ตาม 

อ้างอิง 

ชินกยองซุก. (2563). วันที่แม่ไม่อยู่(พิมพ์ครั้งที่ 3)(วิทิยา จันทร์พันธ์, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์

Writer
Avatar photo
ศิรินญา สุวรรณโค

มีฝีมือในการทำอาหารประเภทยำ และอยู่อย่างมีความหวังเสมอ ในวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts