Perfect Days: พระฆราวาสในห้องสุขาและชีวิตที่รู้ว่าตอนนี้คือตอนนี้

Perfect Days: พระฆราวาสในห้องสุขาและชีวิตที่รู้ว่าตอนนี้คือตอนนี้

  • Perfect Days เป็นภาพยนตร์ของ Wim Wenders ผู้กำกับชาวเยอรมัน แต่กลับเบียดหนังแข็งๆ ของปีนี้หลายเรื่องกลายเป็นตัวแทนญี่ปุ่นเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์นานาชาติ กลายเป็นภาพยนตร์ตัวแทนจากญี่ปุ่นเรื่องแรกที่ไม่ได้มีผู้กำกับเป็นคนญี่ปุ่น
  • Perfect Days เป็นหนังที่เล่าเรื่องอย่างเรียบง่ายไม่หวือหวา ว่าด้วยเรื่องชีวิตประจำวันของคุณฮิรายามะ พนักงานดูแลห้องน้ำสาธารณะในญี่ปุ่น เส้นเรื่องของหนังแทบจะเป็นเส้นตรง และหนังก็ฉายให้เราเห็นเพียงกิจวัตรซ้ำๆ ของคุณฮิรายามะแบบแทบจะวันต่อวัน 
  • แต่ในความเรียบง่ายนั้น หนังยังพาเราไปร่วมสังเกตและจับจ้องความงามเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะ ไม่ใช่เพียงในชีวิตของคุณฮิรายามะ แต่เป็นความงามที่อาจเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในชีวิตของเราทุกคนที่เราอาจมองข้ามไป 

คุณฮิรายามะจะตื่นมาพร้อมเสียงกวาดถนนในยามเช้า แปรงฟัน เล็มหนวด รดน้ำต้นไม้ กดกาแฟจากตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ขับรถไปทำงานพร้อมกับเปิดเพลงจากเทปคาสเซ็ตต์ พอพักเที่ยงก็นั่งพักในบริเวณศาลเจ้าที่เดิม ทานมื้อเที่ยงแบบเดิมๆ คว้ากล้องฟิล์มที่พกไว้ขึ้นมาถ่ายภาพลำแสงสาดส่องลอดใบไม้ พอเลิกงานก็แวะไปโรงอาบน้ำที่เดิม ทานมื้อเย็นร้านเดิม ก่อนจะกลับเข้าห้อง อ่านหนังสือ ปิดไฟนอน แล้วก็กลับมาทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำอีกครั้ง พอวันหยุดสุดสัปดาห์ คุณฮิรายามะก็จะเอาเสื้อผ้าไปซัก เอาม้วนฟิล์มไปล้าง แวะร้านหนังสือเพื่อซื้อเล่มใหม่ รับภาพที่อัดมาคัดแยกเก็บไว้ในกล่อง แล้วไปนั่งบาร์ประจำที่ดูเหมือนเขาจะชอบพอกับเจ้าของร้านอยู่นิดๆ

แล้วสัปดาห์ใหม่ของคุณฮิรายามะก็เริ่มต้นแบบเดิมๆ

ท่ามกลางวงการหนังในปัจจุบันที่ฟาดฟันกันด้วยพลอตหักมุมแล้วหักมุมอีก วิธีการเล่าหวือหวา การตัดต่อรวดเร็วฉับไวเร้าใจในแบบหนังบ็อกซ์บลัสเตอร์ Perfect Days ของ วิม เวนเดอร์ส กลับเป็นหนังที่เล่าเรื่องตามไทม์ไลน์ ไม่วกวน ซับซ้อน เล่าเงียบๆ เรียบเรื่อยไม่หวือหวา และเล่าชีวิตของคนธรรมดาคนหนึ่งซึ่งตื่นขึ้นมาทำเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ แต่ความเรียบง่ายนี่แหละที่ทำให้หนังเรื่องนี้ทรงพลัง

วิม เวนเดอร์สในวัย 78 ปีบอกว่า เขาเพิ่งมารู้ตัวเมื่อไม่นานมานี้ว่าหนังของเขามักจะเป็นหนังที่ตั้งคำถามว่าเราควรใช้ชีวิตอย่างไร และ Perfect Days ก็ดูจะเป็นหนังที่ตอบคำถามนั้นได้เป็นอย่างดี

ห้องน้ำสาธารณะ: สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ปลอดชนชั้น

Perfect Days มีจุดเริ่มต้นจากการที่ โคจิ ยาไน โปรดิวเซอร์ของหนังส่งฟุตเทจห้องน้ำสาธารณะของญี่ปุ่นที่ออกแบบโดยนักออกแบบระดับโลกมาให้วิมเพื่อชักชวนเขามาถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับห้องน้ำเหล่านั้น

ห้องน้ำสาธารณะที่หลายคนมองว่ามันเป็นสถานที่อันเต็มไปด้วยสิ่งสกปรก แต่วิมมองว่ามันคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นสถานที่แห่งความเท่าเทียม นั่นคือไม่ว่าคุณจะเป็นใคร คุณก็ต้องเคยใช้บริการห้องน้ำสาธารณะอยู่ดี ในขณะเดียวกันกลุ่มคนที่อาจจะถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยและมักจะถูกมองข้ามอย่างพนักงานดูแลห้องน้ำสาธารณะ (ทั้งวิมและ โคจิ ยาคูโช ผู้รับบทเป็นคุณฮิรายามะ ต่างเลือกที่จะเรียกพวกเขาแบบนี้ (caretaker of a toilet) แทนที่จะเรียกว่า ‘คนล้างห้องน้ำ’ (toilet cleaner) ก็เป็นองค์ประกอบอันสำคัญของสถานที่ดังกล่าวที่ทำให้วิมตัดสินใจเปลี่ยนจากไอเดียการทำสารคดีห้องน้ำ เป็นการทำหนังยาวที่ว่าด้วยเรื่องของพนักงานดูแลห้องน้ำสาธารณะอย่างคุณฮิรายามะ

เมื่อตัวละครหลักมีอาชีพเป็นพนักงานดูแลห้องน้ำสาธารณะ จึงเป็นตัวเลือกและโอกาสอันเหมาะเจาะที่วิมจะได้ถ่ายทอดแนวคิดจิตสาธารณะของญี่ปุ่นและยังถ่ายทอดเรื่องของความเท่าเทียมด้วย

คุณฮิรายามะคือพนักงานดูแลห้องน้ำสาธารณะที่ตั้งอกตั้งใจทำหน้าที่ของเขาอย่างแข็งขัน เขาล้างห้องน้ำอย่างประณีต ขัดทุกซอกทุกมุมของโถส้วม (จนเราได้ยินคนดูในโรงรอบเดียวกันพูดขึ้นมาว่า “ต้องขัดอะไรขนาดนั้น”) ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะคุณฮิรายามะมองเห็นความเท่าเทียมในตัวทุกคน ซึ่งหมายถึงเขามองเห็นความเท่าเทียมในตัวของเขาด้วย เพราะแม้ในหนังจะมีบางฉากที่แสดงให้เราเห็นว่าอาชีพของเขาอาจถูกมองด้วยสายตาเหยียดหยามจากคนบางคน แต่คุณฮิรายามะไม่ได้เก็บสิ่งนั้นมาด้อยค่าตัวเขาหรือสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ อาชีพของเขาคืออาชีพที่มอบความอภิรมย์ให้ผู้อื่นในรูปแบบหนึ่ง มันมีค่าและมีเกียรติมากพอที่จะทำให้เขาตั้งใจทำมันออกมาให้ดีที่สุดในทุกๆ วัน เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้ที่มาบริการห้องน้ำไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม

 

วันหลังคือวันหลัง วันนี้คือวันนี้

ประโยคหนึ่งที่น่าจะกินใจคนดูที่สุดจากหนัง คงเป็นตอนที่คุณฮิรายามะพูดว่า “วันหลังคือวันหลัง วันนี้คือวันนี้” ซ้ำๆ ซึ่งอาจเป็นประโยคที่สรุปวิถีชีวิตของคุณฮิรายามะได้ดีที่สุดก็เป็นได้

แม้ปูมหลังของคุณฮิรายามะจะไม่ถูกถ่ายทอดในภาพยนตร์ แต่วิม เวนเดอร์สก็เคยเล่าปูมหลังตัวละครตัวนี้ไว้ในบทสัมภาษณ์หนึ่งเพราะถูกรบเร้าอย่างเสียไม่ได้ว่าคุณฮิรายามะเคยเป็นคนร่ำรวย ดื่มจัด และไร้สุข เขาใช้ชีวิตเสเพลไปวันๆ จนเกิดวิกฤติการมีชีวิตอยู่ (existential crisis) แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็ตื่นขึ้นมาที่โรงแรมโกโรโกโสแห่งหนึ่ง โดยที่เมื่อคืนเมามายจนจำอะไรไม่ได้ คุณฮิรายามะคิดจะปลิดชีวิตตัวเอง

“แต่แล้วก็มีปาฏิหาริย์เมื่อในยามเช้า มีแสงตะวันส่องลงมาที่ผนังด้านหน้าเขา และมันส่องผ่านต้นไม้เล็กๆ นอกหน้าต่าง มีความวูบไหวของใบไม้และแสงตะวันและเงา แล้วเขาก็มองมัน จ้องมัน แล้วเขาก็ร้องไห้ เพราะเขาไม่เคยเห็นอะไรที่สวยงามแบบนี้มาก่อน เขาอาจจะเคยเห็นแต่ไม่เคยได้สังเกต แล้วจากนั้นเขาก็ตระหนักได้ว่าทางออกของภาวะวิกฤติการมีชีวิตอยู่ของเขา ก็คือการกลายเป็นใครบางคนที่สังเกตเห็นสิ่งนั้น”

แสงจากใบไม้นั้นทำให้คุณฮิรายามะเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบันขณะและสังเกตเห็นความงามของสิ่งละอันพันละน้อยในชีวิต เขาตัดสินใจละทิ้งทุกอย่างและอยู่โดยไม่มีสิ่งใดให้กังวล ทิ้งอดีตเจ็บช้ำ ทิ้งอนาคตที่คาดเดาไม่ได้ เพื่อใช้ชีวิตอย่างผู้ที่ไม่แบกอะไรไว้ วิมบอกว่าเขามองคุณฮิรายามะเป็น ‘พระฆราวาส’ (secular monk) คือบุคคลทั่วไปที่ดำรงตนเหมือนพระ ทำสิ่งที่เป็นกิจวัตรซ้ำๆ ไม่แสวงหาหรือขวนขวายสิ่งที่ไม่จำเป็นกับชีวิต ไม่ fear of missing out (กลัวจะตกข่าว กลัวไม่ทันโลก กลัวจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง กลัวว่าจะตามคนอื่นไม่ทัน)

ขณะเดียวกันเขาก็ไม่ได้ทำงานของเขาอย่างหุ่นยนต์ที่ตื่นมาแล้วก็แค่ก้มหน้าก้มตาขัดห้องน้ำเพื่อให้หมดวันวันหนึ่ง แต่คุณฮิรายามะใช้การดูแลทำความสะอาดห้องน้ำเป็นการกำหนดจิตอย่างหนึ่ง

“เขาเข้าใจว่ามันจะต้องดีมากแน่ๆ ถ้าได้ใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกนี้” วิมว่า “และมันต้องเป็นชีวิตง่ายๆ ซึ่งถ้าคุณทำได้ มันก็คงสวยงามมากๆ ที่ได้อยู่ใน ‘ปัจจุบัน’ จริงๆ และไม่ต้องไปกังวลกับอนาคตหรือสิ่งที่คุณมีอยู่และการไม่อยากสูญเสียมันไป เพราะฮิรายามะไม่มีอะไรให้สูญเสียเลย”

ถึงจะมีชีวิตที่เต็มไปด้วยกิจวัตรเดิมๆ ซ้ำๆ ทว่าแต่ละวันของคุณฮิรายามะก็เจอเหตุการณ์ที่แตกต่างออกไปบ้าง บางเหตุการณ์เกิดขึ้นให้ชีวิตพอจะมีสีสัน บางเหตุการณ์ก็ทำให้ตารางชีวิตอันเป็นระเบียบของคุณฮิรายามะปั่นป่วน บางเหตุการณ์ก็เป็นเรื่องที่กระทบอารมณ์ที่ดูจะนิ่งสงบเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์น้อยใหญ่เข้ามากี่เหตุการณ์ หมดวันคุณฮิรายามะก็จะแค่อ่านหนังสือแล้วเข้านอนอย่างหลับสนิทได้เสมอ

บางทีนั่นอาจเป็นเพราะคุณฮิรายามะค้นพบชีวิตที่สมบูรณ์พร้อมเท่าที่มี พบความพอดีแสนเพอร์เฟกต์ของชีวิตที่ไม่เพอร์เฟกต์ พบศาสตร์ของการจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ชีวิตเขาจึงถูกจัดระเบียบดีและมั่นคงพอที่ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น มันก็กระทบเขาเพียงแค่ ‘ตอนนี้’ และพอหมดวันวันหนึ่งไป คุณฮิรายามะก็เพียงแต่ต้องบอกว่า วันหลังคือวันหลัง วันนี้คือวันนี้ ก็เท่านั้น

Komorebi

Komorebi คือคำที่ปรากฏขึ้นหลังเครดิตท้ายเรื่อง เป็นศัพท์ญี่ปุ่นที่ในหนังอธิบายไว้ว่าเป็นแสงแดดที่สาดส่องผ่านใบไม้ ปรากฏการณ์นี้ยังปรากฏขึ้นในหนังอยู่บ่อยครั้ง และหลายครั้งเราจะเห็นคุณฮิรายามะยกกล้องถ่ายภาพไว้ ดังนั้นหากจะเรียกว่า Komorebi เป็นแกนเรื่องของ Perfect Days ก็คงไม่ผิดนัก เพราะ Komorebi เองก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อยู่ทุกวัน เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เราไม่ได้ปฏิบัติต่อมันอย่าง ‘ปรากฏการณ์’ นัก เพราะเป็นสิ่งที่เห็นได้บ่อยๆ แต่แม้จะบอกว่าเห็นได้บ่อยๆ ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะใส่ใจหรือสังเกตเห็นมันบ่อย

ลองคิดดูว่าคุณเดินผ่านต้นไม้กลางแดดจ้ามากี่ต้นในวันนี้ และมีสักกี่ครั้งที่คุณจะหยุดใต้ร่มเงาต้นไม้สักต้นเพื่อพินิจพิจารณาแสงที่สาดส่องลอดใบไม้ลงมาและเห็นความงดงามของมัน และหากคุณเพ่งมันนานพอคุณก็จะพบว่า Komorebi ที่ปรากฏขึ้นในแต่ละเสี้ยววินาทีก็ไม่ซ้ำกัน เพราะใบไม้นั้นเคลื่อนไหวตามแรงลมอยู่ตลอดเวลา มุมของแสงและเงาที่ซ้อนทับกันนั้นก็เปลี่ยนผันตามไปด้วย ไม่ต่างอะไรกับชีวิตแสนธรรมดาที่ดูจะน่าเบื่อของหลายๆ คน ชีวิตที่คุณต้องตื่นมาทำเรื่องเดิมซ้ำๆ แต่หากพิจารณาชีวิตในแต่ละวันคุณก็จะพบรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่แตกต่างออกไปและแต่งแต้มให้ชีวิตของคุณเป็นวันใหม่ที่ไม่ซ้ำเดิมได้เสมอ

วิมกล่าวถึงการมองเห็นความงามในความจำเจของชีวิตไว้ว่า “เรื่องซ้ำๆ แบบนั้น หากคุณใช้ชีวิตกับมันในฐานะเรื่องซ้ำๆ คุณก็กลายเป็นเหยื่อของมัน แต่หากคุณสามารถใช้ชีวิต ‘ณ ขณะนั้น’ ได้ ราวกับคุณไม่เคยทำมาก่อน มันก็จะกลายเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมดเลย”

กล่าวคือชีวิตจะเป็นวันใหม่และชีวิตใหม่ก็ต่อเมื่อคุณมองว่ามันเป็น และมันจะเป็นวันแสนซ้ำซากและชีวิตอันจำเจก็ต่อเมื่อคุณมองให้มันเป็น

มีคนถามวิมว่าเพราะอะไรเขาจึงทำหนังแสนธรรมดาแบบนี้ท่ามกลางหนังยอดมนุษย์ วิมตอบว่าก็เพราะจริงๆ แล้วคุณฮิรายามะก็คือยอดมนุษย์

“เขาทำสิ่งที่มหัศจรรย์และเขาสามารถอยู่อย่างพึงพอใจได้ และหากนั่นไม่ใช่พลังยอดมนุษย์ พลังที่สามารถใช้ชีวิตในวันนี้ได้และมีความสุขและพอใจกับสิ่งที่คุณมี ผมก็ไม่รู้แล้วล่ะว่ายอดมนุษย์เขาต้องทำอะไรได้อีกบ้าง”

หนังจบลงด้วยฉากโคลสอัพใบหน้าของคุณฮิรายามะ กับการแสดงอารมณ์อันซับซ้อนของโคจิ ยาคูโช พร้อมด้วยเพลง Feeling Good ของ นีน่า ซิโมน เพลงที่กล่าวถึงสิ่งสวยงามเล็กๆ น้อยๆ ที่หลายครั้งเราอาจมองข้าม นกบิน ดวงตะวันสาดส่องบนท้องฟ้า สายลมพัดผ่าน ปลาแหวกว่ายในทะเล ลำธารไหลอย่างอิสระ ดอกไม้เบ่งบานบนต้น ฯลฯ

และตอกย้ำเราอีกหนว่าที่จริงแล้วการได้ตื่นมามองฟ้าวันใหม่ เห็นแสงแดดส่องผ่านใบไม้แต่ละครั้งก็เป็นเรื่องน่าปลื้มปริ่ม แสนมหัศจรรย์และชวนอิ่มเอมในตัวของมันเองอยู่แล้ว 

อ้างอิง: 

https://www.theguardian.com/film/2024/feb/11/wim-wenders-perfect-days-tokyo-toilet-cleaner-paris-texas-werner-herzog

https://www.nippon.com/en/japan-topics/c030250/

https://progressive.org/latest/perfect-days-interview-with-wim-wenders-rampell-20240201/

https://www.theglobeandmail.com/arts/article-wim-wenders-perfect-days-finds-beauty-in-the-bowels-of-a-public-toilet/

https://variety.com/2023/film/global/wim-wenders-perfect-days-cannes-koji-yakusho-1235627795/

Writer
Avatar photo
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

illustrator
Avatar photo
สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts

Related Posts