ตัวและตนของสมบัติ บุญงามอนงค์
ตัวและตนของสมบัติ บุญงามอนงค์
- บางคนรู้จักเขาในชื่อ บก.ลายจุด บางคนคุ้นเคยกับเขามากกว่าในฐานะผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา และบางคนก็เรียกเขาว่า พี่หนูหริ่ง
- ตลอดชีวิตที่ผ่านมา สมบัติ บุญงามอนงค์ ผ่านบทบาทมามากมาย ทั้งการเป็นนักการละคร นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หนึ่งในแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปก.) หัวหน้าพรรคการเมือง NGO ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา ชายผู้บ้างาน และพ่อที่เพิ่งได้เจอลูกสาวหลังจากไม่ได้เจอกันกว่าเก้าปี
- บทละครเน้นบทสนทนานี้ จะพาคุณไปรู้จักหลากบทบาท หลายเรื่องราวในชีวิตของ หนูหริ่ง – สมบัติ บุญงามอนงค์ ที่บางแง่มุมคุณอาจเคยคุ้นดี และอีกบางมุมคุณอาจไม่คุ้นเคยเลย
เรื่องย่อ
กลางแยกอโศก ช่วงเย็นของวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 ซึ่งสายฝนพรูพร่าง บก.ลายจุด / สมบัติ บุญงามอนงค์ / พี่หนูหริ่ง ในฐานะผู้จัดม็อบ ‘พร้อม’ ม็อบที่จัดขึ้นเพื่อแสดงพลังให้สมาชิกวุฒิสภาเห็นว่าอำนาจที่แท้จริงเป็นของประชาชน กำลังกล่าวปราศรัยกลางสายฝน บางช่วงบางตอนถ้อยปราศรัยของเขาเติมความดุเด็ดเผ็ดร้อนให้กับวันอันเปียกชื้น ขณะที่เสียงหัวเราะครึกครื้นจากฝูงชนก็ดังขึ้นเป็นบางช่วงบางตอนเมื่อเขาปล่อยมุก
ย้อนกลับไปสองเดือนก่อนหน้านี้ หลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสร็จสิ้นลงไปเพียงเล็กน้อย บก.ลายจุด / สมบัติ บุญงามอนงค์ / พี่หนูหริ่ง นัดพบกับ Mappa เพื่อพูดคุยถึงเรื่องราวหลากชีวิต หลายตัวตนของเขา
หลายคนรู้จักเขาในนามหนึ่งในแกนนำรุ่นที่ 2 ของคนเสื้อแดงอย่างแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปก.) ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2549 ภายใต้บทบาทของ ‘บก.ลายจุด’ ที่กลุ่มคนซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากเขาอาจเรียกอย่างเสียดสีว่า ‘ลายด่าง’ หลายคนอาจรู้จักเขาดีกว่าในฐานะ ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา และอีกหลายคน โดยเฉพาะคนที่สนิทสนมคุ้นเคยกับเขาในมิติอื่นที่ไม่ใช่การเมืองและ NGO อาจคุ้นปากมากกว่าที่จะเรียกเขาว่า ‘พี่หนูหริ่ง’
บก.ลายจุด / สมบัติ บุญงามอนงค์ / พี่หนูหริ่ง มีกี่บทบาท ตัวตนที่แท้จริงของเขาเป็นอย่างไรกันแน่ หรือทุกบทบาทนั้นต่างแตกต่างหากแต่ยังสอดประสานกันได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้สร้างสรรค์ นักการละครที่นำเครื่องมือการละครมาวิเคราะห์การเมือง NGO ผู้เชื่อเรื่องการดื่มด่ำกับปัญหา คนบ้างานที่ใช้เวลาว่างหมดไปกับการดู Youtube เพื่อมาต่อยอดในงานอีกที และพ่อของลูกสาวที่ไม่ได้อยู่ใกล้ ๆ กันมากว่าเก้าปี
บัดนี้ แสงไฟบนเวทีสาดส่องลงมา ถึงเวลาเปิดม่านการแสดงผ่านบนสนทนา ที่จะพาคุณไปรู้จักหลายบทบาท หลากเรื่องราวของเขาแล้ว
ตัวละคร
บก.ลายจุด – นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นำการละครมาใช้ใน creative movement
สมบัติ บุญงามอนงค์ – ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา
พี่หนูหริ่ง – คนบ้างานที่ชอบดู Youtube ในเวลาว่างและเป็นพ่อของ ‘ลำธาร’
Mappa – สื่อที่เชื่อว่าการเรียนรู้เกิดจากความสัมพันธ์ การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ และเชื่อว่าเด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาอย่างดีได้ คนทั้งสังคมต้องช่วยกัน
องก์ที่ 1 ฉากที่ 1
บก.ลายจุด ขี่ม้าไม้พร้อมกวัดแกว่งดาบพลาสติกเข้ามาในฉาก
สถานที่ – Mirror Art Café
เวลา – บ่ายที่ฝนพรำ
ตัวละคร – Mappa, บก.ลายจุด, พนักงานในร้าน, ลูกค้าอีกกลุ่ม
เสียงประกอบ – เสียงจากเครื่องบดน้ำแข็ง
Mappa อะไรเป็นสาเหตุให้ บก. หันมาสนใจการละคร
บก.ลายจุด ตอนนั้นก็ไม่ได้สนใจเรื่องการละครแต่หลุดเข้าไปเป็นอาสาสมัครเพราะมันว่าง ช่วงหนึ่งในชีวิตเคยคิดถึงขั้นว่าเกิดมาเพื่อจะทำละครเวทีเพราะมีความดื่มด่ำกับมันมาก รู้สึกว่าเป็นศิลปะที่ให้ทั้งความสุข ให้ทั้งความเข้าใจในความหมายของชีวิตและเข้าใจโลก เพราะละครคือการรวมศาสตร์และศิลป์ในการนำเสนอ ผมรู้สึกว่ามันตอบคำถามในชีวิตของผม
Mappa ละครให้อะไรกับ บก. บ้าง
บก.ลายจุด ละครช่วยให้ผมเข้าใจตัวละครอื่น ๆ หรือก็คือคนอื่น ๆ ตัวละครที่ได้อิทธิพลจากตัวละครหนึ่ง และบนเงื่อนไขสภาพแวดล้อมอีกสภาพแวดล้อมหนึ่ง ทำให้ผมเข้าใจมนุษย์ เข้าใจสังคม เข้าใจตัวเองและชัดเจนกับตัวเองมากขึ้น ผมชอบบอกว่ามันเป็นลัทธิของผม ตอนหนุ่ม ๆ ผมไม่มีกรอบคิดอะไรเลย มีแต่ศาสตร์การละครอย่างเดียว ดังนั้นมันเลยเป็นปรัชญาในการใช้ชีวิตของผม และช่วยชีวิตผมไว้ในตอนที่ผมยังว่างเปล่า ไม่รู้ว่าชีวิตคืออะไร ความหมายคืออะไร จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม
Mappa ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
บก.ลายจุด เวลาคุณฝึกละครคุณจะได้เล่นบทบาทหลาย ๆ บทบาทซึ่งคุณจะได้เอาพลังด้านในออกมาผ่านตัวละคร แต่เวลาที่คุณเอาออกมามันไม่ได้ออกมาแค่สิ่งที่แสดงออก มันจะเหมือนเวลาคุณดึงรากบัว เอาดินออกมาเต็มไปหมด ดังนั้นช่วงที่ผมเล่นละคร ด้านในของผมก็ถูกขัดเกลาและบำบัดไปในตัว สำหรับเด็กวัยรุ่นที่กำลังสับสนก็เหมาะมาก ๆ
พวกเราจะมีกระเป๋าเครื่องมืออยู่จำนวนหนึ่งซึ่งผมนำมาใช้ ไม่ใช่แค่เทคนิคการใช้เครื่องมือแต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ผมเคยเล่นละครในคุกโดยที่ไม่มีใครบอกให้ไปเล่นเลย ตอนนั้นผมติดคุกด้วยเหตุผลทางการเมืองแต่เกิดแรงบันดาลใจอยากเล่นละครใบ้มาก ผมเลยขึ้นไปบนแสตนด์ที่เขาเคารพธงชาติแล้วเล่นโดยมีคนครึ่งแดนยืนมองผมอยู่แบบงง ๆ หลังจากที่ผมแสดงเสร็จ มีคนประมาณไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ปรบมือ ที่เหลือคือตกใจ แล้วหัวหน้าแดนก็เดินมาหาผม ตบไหล่ แล้วบอกว่า วันหลังอย่าทำนะ เพราะตกใจ ไม่รู้ว่าผมทำอะไร แล้วเขากลัวว่าผมจะถูกจับเข้าไปในห้องขังเดี่ยว เพราะละครใบ้ของผมพูดเรื่องเสรีภาพ ผมมีเรื่องแบบนี้ในชีวิตด้วย ดังนั้นละครจึงไม่ใช่แค่ประเด็นทางเทคนิคเท่านั้น มันเป็นจิตวิญญาณผมจำนวนหนึ่ง ผมเป็นนักละคร
Mappa แล้ว บก. เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่
บก.ลายจุด จริง ๆ ก็สนใจการเมืองมาเหมือนคนทั่ว ๆ ไป แล้ววันหนึ่งก็เข้าใจได้ว่าการเมืองมันเป็นฉากทัศน์ของสังคม เราก็กลายเป็นตัวละครตัวหนึ่งในนั้น ดังนั้นการเมืองก็มีผลต่อชีวิตเราและผู้คนรอบข้างเราแน่นอน มันจึงเป็นเรื่องที่เราพยายามจะเรียนรู้และทำความเข้าใจ แล้วก็พาตัวเองเข้าไปมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ก่อนหน้านั้นผมก็เล่นละครทั้ง 6 ตุลา และ 14 ตุลา จนวันหนึ่งเกิดการรัฐประหาร วันที่ 23 กุมภาฯ 2534 เวลานั้นก็เกิดความตื่นตัวสูง อาจจะเพราะวัยด้วย ก็เลยออกมาเคลื่อนไหวทำละครการเมือง ละครเรื่องแรกที่ผมเล่นเป็นละครใบ้ เพราะผมหาพวกไม่ได้ ผมก็ไปเล่นที่ธรรมศาสตร์ ถูก รปภ. จับด้วย แล้วก็ถ่ายรูปผมไว้ ผมมีรูปที่ตึกเอนกประสงค์ ไม่ใช่เป็นผู้มีคุณูปการในการบริจาคเงินหรืออะไร แต่เป็นรูปในกลุ่มของบุคคลที่มหาวิทยาลัยไม่พึงประสงค์ ติดอยู่หลายปีเลย
การก้าวมาเป็นแกนนำทางการเมืองของผมมันคือการเตลิด ตกกระไดพลอยโจร จริง ๆ ผมมีบทบาทตั้งแต่ 2534 แล้วก็ต่อเนื่องมาไม่หยุดจนถึงปี 2540 แล้วขึ้นไปเป็น NGO อยู่บนดอย พอรัฐประหารปี 2549 ปุ๊บ ผมออกมาเลย แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะออกมานำ นึกว่า NGO ทั้งหลายจะต้องออกมาหมด ปรากฏว่ามีกูยืนเด๋อ ๆ อยู่ไม่กี่คน
Mappa การใช้เครื่องมือจากการละครมาเคลื่อนไหวทางการเมืองสามารถสื่อสารกับมวลชนหรือให้ผลลัพธ์แตกต่างจากการเคลื่อนไหวทั่ว ๆ ไปไหม
บก.ลายจุด การเมืองก็เป็นเรื่องของการหาพวกที่คุณก็ต้องพยายามสื่อสาร โน้มน้าว หรือให้ข้อมูล ขณะที่การสื่อสารส่วนใหญ่คนจะใช้ตัวหนังสือกับคำพูด เช่น การปราศรัย แต่ในฐานะคนทำละคร ผมรู้ว่าเราสามารถสื่อสารผ่านสิ่งอื่นได้ เราเล่าเรื่องได้โดยที่ไม่ต้องพูด เราจัด performing art ได้ หรือจะทำควบคู่กันไปก็ได้
Mappa ยกตัวอย่างการสื่อสารรูปแบบอื่นที่มาจากเครื่องมือทางการละครได้ไหม
บก.ลายจุด มีอยู่วันหนึ่งผมเคลื่อนไหวอยู่ แล้วมีช่างภาพของสำนักข่าวต่างประเทศที่ใหญ่มากรายหนึ่งเรียกผมไปคุยส่วนตัว เขาแนะนำว่า สิ่งที่ผมอยากจะบอกในฐานะช่างภาพคือ เวลาคุณปฏิบัติการ ขอให้คิดถึงช่างภาพ เพราะภาพเป็นสิ่งที่คนเห็นก่อนจะอ่านพาดหัวข่าวหรือข้อความข้างใน ดังนั้นภาพจึงสำคัญมาก คุณจะต้องออกแบบให้ช่างภาพถ่ายรูปคุณและไปปรากฏในหน้าหนึ่งให้ได้ คำแนะนำจากช่างภาพรายนั้นเป็นการตอกย้ำว่าเวลาที่ผมแสดงออก ผมต้องเห็นภาพนั้นก่อนที่ช่างภาพจะถ่าย และเห็นก่อนที่มันจะปรากฏบนหนังสือพิมพ์หรือบนสื่อ ในช่วงหลายปีหลังมานี้ผมเลยออกแบบและจัดวางภาพเสมอ
ทักษะการละครมันเป็นทักษะที่ผมโชคดีมากที่ได้มา มันเหมือนกล่องวิเศษที่สามารถหยิบจับเครื่องมือมาประยุกต์ใช้กับการทำงานอื่น ๆ ได้ด้วย ทั้งในเรื่องของการสื่อสารและวิธีคิด เช่น ผมสามารถอ่านวิวัฒนาการของเหตุการณ์ได้ ผมรู้ว่าเหตุการณ์มันมีทางแยกที่ทำให้เกิดวิวัฒนาการของตัวละครหรือเรื่องราวได้อย่างไรบ้าง เพราะละครมันสอนเราเรื่องวิวัฒนาการ เรื่องความขัดแย้ง เรื่องพัฒนาการของตัวละคร ประโยชน์มาก ๆ ในการอ่านการเมืองหรืออ่านสิ่งที่เราทำในทางการเมือง
Mappa การละครทำให้เราวิเคราะห์คนได้ยังไง
บก.ลายจุด ผมคิดว่าปัญหาของการเมืองคือ เวลาคุณอ่านบุคคลทางการเมือง คุณจะมองเขาในฐานะบทบาททางการเมืองแล้วละเลยการมองในฐานะมนุษย์ ซึ่งบทบาททางการเมืองมันโคตรไม่จริง คุณก็เลยไม่เข้าใจด้านลึกของตัวละคร แต่เวลาคุณเรียนละคร แม้แต่ตัวละครที่ขึ้นมาบนเวทีโดยไม่มีบทพูดแม้แต่บทเดียว ผู้กำกับก็จะถามคุณว่า คุณวิเคราะห์ว่าตัวละครตัวนี้รู้สึกยังไง คุณต้องตอบให้เหมือนกับว่ามันเป็นตัวละครเอก เพราะคุณต้องเล่น คุณต้องตอบสนองกับสถานการณ์ คุณยังต้องทำความเข้าใจว่าเขาเป็นใคร นักละครจะสามารถเข้าไปตีความอย่างเป็นเหตุเป็นผล โดยดูจากทุกสิ่ง ทั้งวัย อากัปกิริยา หนังสือที่เขาอ่าน เขาเลี้ยงสัตว์ไหม แล้วก็ตีความเพื่อจะอ่านใจเขาว่า เบื้องลึกของเขาเขาเป็นคนยังไง แล้วเราก็จะมองบุคคลทางการเมืองในฐานะมนุษย์ได้
Mappa เราจะมองเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวคนที่มีความเห็นคนละขั้วการเมืองกับเราได้ยังไง
บก.ลายจุด ยกตัวอย่าง คนที่เอาปืนจ่อหัวผม แล้วจับตัวผมไปควบคุมไว้ในบ้านหลังหนึ่ง จุดที่ยากที่สุดคือการทำความเข้าใจว่าเขาเป็นใคร เขาเป็นมนุษย์ประเภทไหน แล้วเราตกอยู่ในสถานการณ์ใด แต่ผมใช้การคุยกับเขาแล้วใช้เวลาฟังเขา ผมคิดว่าช่วงเวลานั้นอาจไม่ใช่ช่วงที่ดีแต่มันก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจและดีมาก ๆ มันได้ฟังมุมมองของคนที่ชีวิตผมไม่น่าจะมีโอกาสคุยได้ลึกซึ้งขนาดนั้น ที่สำคัญคือมันเกิดการแบ่งปัน เพราะโดยเนื้อแท้ผมคิดว่าถ้าเราได้คุยกันผมสามารถเข้าใจความเป็นมนุษย์ของเขาได้ แล้วผมก็เข้าใจความเป็นมนุษย์ของผมได้ในห้วงเวลาเดียวกัน ถ้าเรามองต่างมุม ต่างเข้าใจกันและกัน เราจะเห็นมิติเรื่องแบบนี้อยู่ ถึงแม้จะอยู่ในบทบาทหรือความเชื่อที่แตกต่างกัน เอาเป็นว่าสุดท้ายผมก็ไม่โดนลงโทษหรือโดนซ้อม
Mappa แล้วจะคุยกับเขายังไง
บก.ลายจุด คนที่เป็นบุคคลทางการเมืองจริง ๆ คุยไม่ยาก จริง ๆ การเป็นมนุษย์ก็เป็นการสวมบทบาท เรามีหลายบท บุคคลทางการเมืองเขาก็รู้ว่าสิ่งที่เขาเป็นมันเป็นบทบาท ผมเคยไปออกทีวีกับคุณไพบูลย์ นิติตะวัน การเจอกันครั้งแรกบรรยากาศแย่มาก คุณไพบูลย์ตำหนิผู้จัดรายการว่าทำไมเชิญผมมาออกรายการร่วมกับเขาแล้วก็ด่าผม ผมก็กะว่าเจอกันอีกคงจะได้ฉะกัน แต่ปรากฏว่าพอเจอกันอีกแกเป็นกันเองมาก ๆ และผมคิดว่าแกเป็นคนมีตรรกะที่ถูกต้องด้วย เป็นคนที่มีเหตุมีผล เข้าใจความซับซ้อน จุดยืน และวิธีคิดของคนอีกฝั่งได้ดี แต่ทันทีที่กล้องเริ่มเดิน แกก็เป็นอีกคนทันที ผมรับมือไม่ทันเลยนะตอนแรก งงมาก แล้วก็มาจับได้ว่า อ๋อ แกสวมบท เหมือนกำลังเล่นละครเวทีเลย
ดังนั้นคนการเมืองไม่ได้น่ากลัว เขาสวมบท แต่ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปเขาไม่รู้ว่าตัวเองสวมบทอยู่ กลุ่มนี้อันตรายและยากกว่าเยอะ ผมเคยเกือบถูกต่อยในงานเสวนาแห่งหนึ่งเกี่ยวกับสันติวิธี ในวงนั้นมีคนอีกฝั่งเยอะมาก แล้วมีตัวแรงมาด้วย เขาไม่พอใจมาก เดินเข้ามาจะชกหน้าผม เขาไม่มีความสามารถพอที่จะถอยออกมาดูแค่ข้อเท็จจริงหรือหลักการ เพราะเวลาเราเถียงกันเราจะดูหลักการ แต่คนที่คุมตัวเองไม่ได้มันเจ็บ ที่จริงเขาเจ็บนะ
Mappa ดังนั้นถ้าเราจะทำ creative movement ได้ เราต้องรู้ตัวก่อนว่าเรากำลังอยู่ในบท
บก.ลายจุด นักละครก็ทะเลาะกันเรื่องนี้ มันมีสำนักคิดละครต่อต้านละคร คือเรารู้ว่าพวกเราเป็นพ่อมดที่สามารถทำให้คนร้องไห้ได้ ชักจูงคนได้ ดังนั้นเลยมีนักละครที่เล่นละครต่อต้านละคร คือการแทรกแซงโดยเข้าไปทำให้คนดูที่กำลังอินอยู่หยุดอินเพื่อให้เขารู้ว่ากำลังดูละครอยู่นะ คนกลุ่มนี้เชื่อว่าถ้าผู้ชมมีวิจารณญาณและสติในการดูจะสามารถทำความเข้าใจเหตุการณ์ในละครได้ดีกว่าการถูกโน้มน้าว
ส่วนอีกสำนักจะคิดว่าเราเป็นผู้สะกดจิตแล้วพาคนเดินตาม พอฉากร้องไห้ก็ทำคนสะอื้นกันทั้งโรงละคร ลมหายใจของเรากับผู้ชมประสานกัน นี่คือสิ่งที่สายหลักทำอยู่ ดังนั้นมันถึงต้องมีกระบวนการวิจารณ์ศิลปะ มองแล้วจับพลิก พลิกแล้วพลิกอีก ความสามารถในการวิจารณ์มันทำให้เราเข้าใจมิติที่ซับซ้อนกว่าสิ่งที่เขานำเสนอและไม่ตกอยู่ในคาถาของคนอื่น
Mappa คิดว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบันเป็น creative movement ไหม
บก.ลายจุด ผมเห็นความสร้างสรรค์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นอย่างมากในระยะหลัง ๆ แต่เนื่องจากผมโตมากับสายสันติวิธี ผมเลยกลัวเรื่องอารมณ์ ผมรู้ว่าอารมณ์ของมวลชนจะเติมกัน กระแทกกัน แล้วมันจะยิ่งฟู เวลาทำม็อบเลยต้องระวัง ผมใช้คำว่าระมัดระวัง หมายความว่าหากมันจะเกิด บางทีมันก็ไม่ได้เกิดจากปัจจัยที่เราควบคุมได้ แต่เราต้องไม่เปิดโอกาสให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น นั่นไม่ได้แปลว่าคุณจะไม่สู้ เพียงแต่คุณต้องใช้วิธีการสู้อื่น ๆ เช่น ตอนผมไปผูกผ้าแดง ผมนี่โกรธจนอยู่บ้านไม่ได้ ร้องไห้ทุกวัน แต่ผมจะถือไม้เบสบอลหรือไม้หน้าสามไปทำอะไรใครได้ในเมื่อเอาอิฐก้อนหนึ่งไปปากระจกให้แตกผมยังไม่กล้าเลย สิ่งที่ผมทำได้เลยเป็นการยืนยันในความเชื่อ ในหลักการ แล้ววิธีที่นุ่มนวลที่สุดและเล็กที่สุดจึงเกิดขึ้น แล้วค่อย ๆ เชื่อมโยงจิตวิญญาณภายในของผู้คน ผมเชื่อว่าความรู้สึกเจ็บปวดนั้น ถ้ามันเกิดขึ้นกับผมได้ มันก็เกิดกับคนอื่นได้เช่นกัน ความเจ็บปวดเลยเกิดเป็นพลังอีกด้านหนึ่ง เพียงแต่เป็นพลังที่เราควบคุมมัน ผมคุมทั้งอารมณ์ตัวเอง ทำกิจกรรมแค่หนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ พอถึงหนึ่งชั่วโมงผมก็กลับบ้าน ตัวใครตัวมันเลย ผมคุมทุกอย่าง คุมทุกปัจจัย มันไม่มีเหตุผลแล้วที่จะอยู่ต่อ
เรื่องนี้ผมได้มาจากการเคลื่อนไหวของ Green Peace เพราะเวลาเขามีปฏิบัติการ direct action เขาออกแบบไว้เลยว่าภาพสุดท้ายที่จะได้ออกสื่อคือภาพไหน เพราะหลังจากที่นักข่าวถ่ายเสร็จเรียบร้อย คุณจะไปควบคุมหน้าสื่อเขาไม่ได้ อย่าง Green Peace พอนักข่าวถ่ายเสร็จเขาก็เลิก แต่นักกิจกรรมเขาจะคิดว่า จะเลิกแล้วเหรอ มาแค่นี้เหรอ เรายังไม่เห็นชัยชนะเลย แต่สำหรับผมคือ คุณมีทางเดียวที่คุณจะชนะได้คือคุณต้องทำน้อย ซึ่งคำว่า ‘น้อย’ ของเรามันก็แทบจะหมดตัวแล้ว แต่คุณต้องได้มาก เวลาผมพูดเรื่องนี้มันอาจฟังดูไม่ดี ผมเลยต้องระมัดระวังเพราะกลัวคนไม่เข้าใจ แต่ในการปฏิบัติการแต่ละครั้ง เมื่อเรากำหนดเป้าหมายแต่ละช่วงแล้ว ต้องคุมตัวเอง อย่าเตลิด เพราะพอคุณเตลิด คุณไม่รู้ว่าสิ่งที่คุณวางแผนไว้จะวิวัฒนาการยังไงต่อ มันอันตราย คุณต้องกลับไปตั้งหลักให้ได้ แล้วออกแบบมาใหม่ มาเล่นต่อ แล้วเดินต่ออีกก้าว เก็บแต้มอย่างระมัดระวัง เพื่อเอาชัยชนะให้ได้
Mappa ถ้ามีเยาวชนอยากจะเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจนิยมในโรงเรียน เช่น เรื่องการตัดผมนักเรียน บก. มีคำแนะนำไหม
บก.ลายจุด ผมไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน แต่สมัยพวกผมเป็นนักเรียนแล้วอาจารย์ตัดผม รุ่นผมโกนหัวมาโรงเรียนกันเป็นสิบเลย เหมือนอุปสมบทหมู่ ช่วงนั้นพวกโกนผมถูกเฆี่ยนนะ แต่ผมว่าในตอนนี้ถ้าโกนผมไป เฆี่ยนไม่ได้หรอก ลองคิดดูสิมีนักเรียนโกนหัวในโรงเรียนสักร้อยคน ทำ experimental ในรุ่น ทำคลิป ทำ TikTok ผมว่าเป็นกระแสแน่ แต่ว่าเราจะยอมจ่ายไหม ถ้าคุณคิดว่ามันจะบรรลุเป้าหมาย คุณก็ต้องทำ อุปสมบทหมู่ในโรงเรียนก็ดี เขียนประกาศล้อประกาศชวนอุปสมบท เอาเลย์เอาท์และกราฟิกประมาณนั้น แล้วคุณก็ประกาศในโรงเรียนแล้วนัดวันกัน แต่ตอนเริ่มคุณต้องจัดตั้งให้ได้จำนวนหนึ่ง หลังจากนั้นถ้ามันทำได้สักห้าคนปุ๊บ วันที่สองที่สามมันจะเป็นเทรนด์ แล้วมันจะเขย่าโรงเรียนได้
Mappa แล้วผู้มีอำนาจในโรงเรียนเขาจะยอมฟังจริง ๆ เหรอ
บก.ลายจุด การเมืองเป็นเรื่องของการมีพวกมาก เมื่อก่อนรากของการเมืองคือสงคราม ใครแข็งแรงกว่าชนะ ต่อมาพอมันเป็นการเมืองอีกประเภทที่ไม่ใช่สงคราม มันก็คือการหาพวก บางทีมันไม่มีแพ้ชนะกันซะทีเดียว ดังนั้นคุณต้องสะสมพวก การสะสมพวกในยุคสมัยปัจจุบันคือการมีเหตุมีผล คุณต้องขายความคิด ขายหลักการ เพื่อจะให้สังคมเข้าใจได้ว่าหลักนี้มันถูกต้อง เช่น เรื่องตัดผม จะผมสั้นหรือผมยาวมันไม่ได้เกี่ยวกับผลการเรียน การที่คุณตัดผมสั้นอาจจะไม่ดีด้วยซ้ำเพราะทำให้เด็กไม่อยากมาโรงเรียน รู้สึกว่าโรงเรียนไม่เป็นมิตร ไม่มีเสรีภาพ ถ้าเราอธิบายเรื่องนี้ได้ หรือเราทำให้เห็นว่าเราเรียนหนังสือดีขึ้นเรื่อย ๆ ได้จากการมีเสรีภาพ เราจะมีแนวร่วมจำนวนมาก การขายความคิดและหาแนวร่วมจึงสำคัญ จริง ๆ งานพวกนี้คืองานที่คุณควรทำตั้งแต่เด็ก แล้วมันจะเป็นทักษะพื้นฐานในการหามวลชน ไม่ใช่ไปโกหก ไปหลอกลวงคนนะ แต่เป็นเรื่องการให้เหตุผล แล้วยิ่งถ้าคุณเป็นนักเรียนที่เคลื่อนไหวได้และระดมคนมาร่วมกับคุณได้เป็นจำนวนมากนี่เป็นประสบการณ์ที่เลิศมากเลย
Mappa พูดถึงการเมืองไทยในภาพกว้าง ถ้าเราไม่ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจริง ๆ จะส่งผลอย่างไรกับเยาวชนไทย
บก.ลายจุด ผมคิดว่าการเมืองรอบนี้เป็นการเมืองที่ทำให้คนอายุน้อยมีความสนใจทางการเมืองมากขึ้นและมีคาดหวัง เขาเข้าใจว่าหากประชาชนเป็นผู้กำหนดได้เอง สิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเลือกนั้นจะกลายเป็นหลักการสูงสุด คือประชาธิปไตยที่มีอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน หากมันไม่เป็นไปตามนั้น มันจะทำให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งเลยว่า ประเทศเราไม่ได้ถูกกำหนดโดยประชาชน แล้วเกิดคำถามว่า แล้วใครเป็นผู้กำหนดสิ่งนั้น การตั้งคำถามต่อสิ่งนั้นมันจะทำให้เหตุปัจจัยหรืออำนาจทางการเมืองอื่น ๆ ที่ทำให้เรื่องนี้ไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็นถูกมองเห็น ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และถูกไม่ไว้วางใจในที่สุด ถึงวันหนึ่งสิ่งนั้นก็จะอยู่ด้วยความยากลำบาก
Mappa ในฐานะเป็นนักการละครที่เคลื่อนไหวทางการเมือง อยากเห็นประเทศไทยเป็นแบบไหนสำหรับเด็ก ๆ
บก.ลายจุด ผมคิดว่ามนุษย์เป็นงานศิลปะ มีอัตลักษณ์หรือมีศักยภาพของตัวเอง มนุษย์เลยควรได้รับการปลดปล่อยและค้นหาศักยภาพของตัวเองเท่าที่เขาจะผลักดันตัวเองไปได้ แต่สังคมมีทั้งข้อจำกัดและการส่งเสริม ผมอยากให้ลบข้อจำกัดนั้นออกและเปลี่ยนเป็นแรงในการส่งเสริมและสร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็กได้แสดงศักยภาพหรือค้นพบศักยภาพของตัวเอง แต่เมื่อโลกความเป็นจริงต้องมีอุปสรรค มีข้อจำกัด ผมเลยอยากเห็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคสามารถเรียนรู้และก้าวพ้น หรือแม้แต่พลิกและมองข้อจำกัดเหล่านั้นให้กลายเป็นประโยชน์ หรือนำมาเป็นเงื่อนไขในการเรียนรู้ให้ได้ เราควรมีทัศนะต่อข้อจำกัดว่าเป็นเรื่องท้าทาย และถ้าเราสามารถค้นพบวิธีการใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นได้มันจะเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมาก
องก์ที่ 1 ฉากที่ 2
บก.ลายจุดเดินออกจากร้านไปครู่หนึ่งแล้วกลับเข้ามาในฐานะสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา เขาเปลี่ยนจากชุดสีกากี ผ้าโพกหัว และดาบ ที่เปรียบเหมือนเครื่องแบบของ บก.ลายจุด เป็นเสื้อยืดมูลนิธิกระจกเงากับกางเกงขายาว ดูสุภาพพอประมาณ ท่าทีดุดันโผงผางลดระดับลงมาเป็นโทนเสียงนุ่มนวล ก่อนจะเริ่มแนะนำตัวเองกับ Mappa
สถานที่ – Mirror Art Café และโกดังมูลนิธิกระจกเงา
เวลา – บ่ายแก่ ๆ ที่ฝนเริ่มหยุดตกแต่อากาศยังคงแฉะชื้น
ตัวละคร – Mappa, สมบัติ บุญงามอนงค์, พนักงานในร้าน, ลูกค้าอีกกลุ่ม
เสียงประกอบ – เสียงตู้เย็น, เสียงจอแจของผู้คนที่กำลังคัดแยกเสื้อผ้ากองมหึมาที่ได้รับจากการบริจาค
สมบัติ ผมเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิกระจกเงาทำเรื่องนวัตกรรมทางสังคม เราเป็นนักออกแบบการตีโจทย์ปัญหาสังคม เมื่อสังคมผลิตปัญหาใหม่หรือปัญหาเก่าที่คนไม่สามารถแก้ได้ และเป็นสิ่งที่พวกเราเห็นแล้วเราอยากทำและเราเชื่อว่าเราแก้ปัญหานั้นได้ เราก็จะกระโจนเข้าไปคิดค้นนวัตกรรมทางสังคม เรามีเจ้าหน้าที่ประจำ 200 กว่าคน และเป็น NGO ที่ไม่ได้กำหนดว่าตัวเองเป็นองค์กรด้านไหน เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ไม่มีด้านเลย
Mappa แต่ละโครงการของมูลนิธิกระจกเงาเกิดขึ้นได้ยังไง
สมบัติ ส่วนใหญ่มันเกิดสถานการณ์ขึ้นมาก่อนแล้วสถานการณ์นั้นน่าสนใจ เป็นเรื่องที่อยากทำ ซึ่งเรื่องที่เราอยากทำมีเยอะมาก แต่ถ้าเราอยากทำแต่ยังไม่มีความเชื่อว่าเราทำได้ เราจะไม่ทำ จนกว่าเราจะค้นพบว่ามีโอกาสที่เราจะทำได้เราจึงกระโจนเข้าไปและใช้เวลานานมากกว่ามันจะเป็นรูปเป็นร่าง แต่ละโครงการอาจจะใช้เวลาเป็นสิบปี กว่าเราจะดื่มด่ำและสังเกตได้ว่ามันมีวิธีการที่จะแก้ไขปัญหานั้น เมื่อเราค้นพบวิธีการแล้ว สัญชาตญาณจะบอกเราว่า เรื่องนี้มันแก้ได้
Mappa ยกตัวอย่างการดื่มด่ำกับปัญหาจนกลายมาเป็นโครงการได้ไหม
สมบัติ อย่างเช่นโครงการผู้ป่วยข้างถนนที่ช่วยผู้ป่วยจิตเวชซึ่งใช้ชีวิตอยู่ตามทางเท้าก็เกิดจากที่วันหนึ่งบนโต๊ะกินข้าวที่ออฟฟิศ เพื่อนผมเล่าว่าตอนเช้าเจอหญิงสาวคนหนึ่งเดินแก้ผ้า แล้วเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นกลางเมืองเลย แต่หลังจากนั้นหนึ่งปี มีข่าวผู้หญิงคนนั้นในสื่อว่า หญิงสาวเสียสติคลอดลูกข้างถนน เรื่องนั้นเลยกลับมาที่โต๊ะกินข้าวอีกที ที่เราเคยคิดว่าเวลาเกิดเหตุแบบนี้แล้วจะมีคนไปช่วย ผ่านไปหนึ่งปีกลับยังไม่มีคนไปช่วย มูลนิธิกระจกเงาไม่มีพื้นฐานงานพวกนี้เลย แต่ผมประกาศที่วงกินข้าวทันทีว่า วันหนึ่งเราจะทำเรื่องนี้ เพราะว่าเราได้สังเกตการณ์แล้วว่าเรื่องนี้ไม่มีคนทำ จากนั้นประมาณ 4-5 ปีเราก็เริ่มโครงการซึ่งใช้เวลามาก เปลี่ยนหัวหน้าโครงการไป 3-4 คนกว่าจะลงตัวและเริ่มจับทางได้ว่าจะต้องจัดการยังไง
Mappa คิดว่าการใช้เวลากับแต่ละโครงการนาน ๆ เป็นข้อดีไหม
สมบัติ จริง ๆ เป็นเรื่องที่ดีเหมือนกัน เรื่องบางเรื่องอาจต้องกระโจนเข้าไปเลยแต่ผมพบว่าหลายเรื่องต้องผ่านการขบคิด โจทย์บางโจทย์ลำพังการคิดไม่พอ คุณต้องการพลังและระยะเวลาสูงมาก มันเหมือนกับเมล็ดของต้นไม้บางชนิดที่จะต้องผ่านกาลเวลาจนเปลือกที่หุ้มมันอยู่เปื่อย สภาพแวดล้อมเหมาะสม เมล็ดถึงจะงอกออกมา แล้วยังมีเรื่องที่เคยทำแล้วเจ๊งไปแล้ว แต่ผมเป็นคนแค้นเลยทำใหม่ เช่น โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง ผมเคยได้รับบริจาคคอมพิวเตอร์จาก IEM แต่เรายังไม่มีทักษะการจัดการ เราก็ไม่รู้ว่าเครื่องที่ใช้ไม่ได้แล้วจะเอาไปทำอะไร ที่สะเทือนใจสุด ๆ คือน้องที่ทำงานเอาเครื่องคอมฯ ไปทิ้งไว้ที่บ่อทิ้งขยะในหมู่บ้าน ผมเจ็บใจอยู่สิบปีแล้วก็กลับมาทำอีกครั้งโดยศึกษาก่อนว่าทุกสิ่งอย่างที่อยู่ในคอมพิวเตอร์มีที่ไปหมดไหม มีโมเดลการบริหารจัดการหรือไม่ ทุกวันนี้เราส่งคอมพิวเตอร์ไปตามโรงเรียนประมาณ 2,000 เครื่อง มันเปลี่ยนเกมเลย
Mappa เลือกประเด็นยังไง
สมบัติ ผมจะเลือกเรื่องที่คนอื่นเขาไม่ทำหรือทำไม่ได้ หรือเรื่องที่ถ้าแตะเรื่องนี้ได้มันจะตะลุยยาวไปได้อีกหลายเรื่อง ถ้าเรามีเซนส์เรื่องนี้ และมีสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่เหมาะสม ผมเอา แล้วอีกอย่างผมเป็นนักสะสมทรัพยากร ทั้งที่เป็นกำลังคน เครื่องไม้เครื่องมือ องค์ความรู้ ดังนั้นองค์กรเราสามารถประกอบการทางสังคมได้ ทุกวันนี้เรามีทรัพยากรเพียงพอ ยิ่งเป็นเหตุผลให้ช่วงหลังไม่ทำไม่ได้ สังคมต้องการเรา มันเป็นหน้าที่ของเราที่เราจะต้องทำ
Mappa เวลาเจอประเด็นที่ยากมาก ๆ ทำยังไงให้คนอื่น ๆ ในมูลนิธิเชื่อเหมือนกับคุณสมบัติว่าเราทำได้
สมบัติ การเริ่มต้นสิ่งใหม่เป็นเรื่องยากหมดเลย แต่ข้อดีอย่างหนึ่งคือเมื่อเราลองทำเรื่องยาก ๆ ให้ประสบความสำเร็จได้สักระยะหนึ่งแล้วย้อนกลับไปดูก็จะเห็นว่าเราทำสิ่งที่เหมือนว่าจะทำไม่ได้ให้ทำได้มาต่อเนื่องมหาศาล และมันจะบอกเราว่าทำได้แน่นอน แต่ว่าเราต้องหาให้เจอว่าทำยังไง เวลาเราทำเรื่องใหม่ ๆ มันอาจหวั่นไหว แต่ความหวั่นไหวไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้
มีคนสองประเภทที่จะทำงานอย่างยาวนานได้ หนึ่งคือคนที่เริ่มแต่แรกแล้วทุ่มเททำจนจบ แต่นั่นก็ไม่ง่าย มันเลยต้องอยู่ในรูปขององค์กร หาคนอื่นมาแปะมือเป็นช่วง ๆ งานสิบปีมันก็จะอยู่ได้ แต่ก็ใช่ว่ามันจะอยู่ครบทุกงาน บางงานทำไม่ได้ก็ต้องปิดไป หรือบางงานที่ปัญหามันดีขึ้นจนไม่ต้องมีงานนั้นต่อแล้ว เราก็ยุติลงได้ เช่น โครงการธุรกิจเด็กขอทาน ปัญหาอาจยังไม่หมดไป แต่ตัวทัศนคติที่เป็นประเด็นใหญ่ของการทำให้เกิดวงจรเด็กขอทานมันเปลี่ยนไปแล้ว ขอทานเด็กมีผู้ใหญ่ในการจัดตั้ง เด็กไม่ได้มาเอง ทุกอย่างเป็นขบวนการ และเกิดขึ้นได้เพราะมีคนแห่เอาเงินไปให้ ดังนั้นเราจึงสื่อสารเรื่องการเปลี่ยนมุมมองการให้เงินขอทานเด็กว่าเป็นการทำบุญในธุรกิจบาป เงินทุกบาทที่คุณหยอดลงในกระป๋องมันคือตะปูตอกรองเท้าเด็ก ยิ่งได้เงินเยอะเด็กยิ่งไม่มีทางออกมาได้ คุณต้องทำลายตลาด ต้องทำลายพฤติกรรมผู้บริโภค เรารณรงค์จนทัศนคติเรื่องนี้เปลี่ยน ถึงจุดหนึ่งเราพบว่าถึงเวลาที่เรายุติโครงการได้แล้ว ปล่อยให้สังคมเป็นคนเรียนรู้และดำเนินการต่อ
Mappa กิจการเพื่อสังคม (social enterprise: SE) ส่วนใหญ่ในไทยมักจะอยู่ได้ไม่นานก็ต้องปิดตัวลง คุณสมบัติทำยังไงให้มูลนิธิกระจกเงาอยู่รอด
สมบัติ มันมีสองแบบในมุมมองผม แบบแรก ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจมาก่อน แต่มองเห็นว่าธุรกิจของตัวเองมีมิติทางสังคม แล้วพยายามจะทำในขณะที่ตลาดยังไม่เกิดขึ้นจริง แบบที่สอง เป็นคนที่ทำงานทางสังคมแล้วมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือทางธุรกิจมาทำให้มันมีศักยภาพและมีความยั่งยืน ผมมาจากฝั่งคนทำงานทางสังคม ข้อดีของฝั่งที่ทำงานทางสังคมคือ วิธีคิดในการไปให้ถึงเป้าหมายมันจะชัดมาก เรายืนหยัดว่าจะทำให้ได้ เพียงแต่ว่าขอให้คุณสนับสนุนเข้ามา
Mappa แล้วกระจกเงามีแหล่งทุนจากไหนบ้าง
สมบัติ กระจกเงาไม่ขอทุนมาหลายปีแล้ว เราพึ่งพาตัวเองเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ยังมีบางโครงการในต่างจังหวัดที่พึ่งพาทุนแต่น้อยมาก ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เรามีแหล่งรายได้สามแหล่ง แหล่งที่หนึ่งมาจากผู้คนบริจาค สอง เรามีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น เรามีคนบริจาคเสื้อผ้ามา ส่วนหนึ่งก็เก็บไว้ บางส่วนก็เอาเอาไปจำหน่ายระดมทุน สาม เรามีโครงการที่เรียกว่า ช้าการช่าง หรือ จ้างวานข้า รับจ้างทำเรื่องง่าย ๆ อย่างทำความสะอาดบ้านหรือซ่อมแซมบ้าน บริษัทที่อยากได้คนทำความสะอาดก็จ้างเรา อีเวนท์ใหญ่ ๆ ที่ต้องการคนทำความสะอาดและจัดการขยะก็จ้างเรา ก็เป็นแหล่งรายได้ที่พอเลี้ยงคน 200 คน
เงินบริจาคที่เราได้รับเท่ากับครึ่งหนึ่งของเงินที่เราระดมทุนมา สมมติมันไม่มีการบริจาคเลย มีแค่เงินที่มาจากการทำธุรกิจ ถามว่าอยู่ได้ไหม ก็อาจจะอยู่ได้แต่ไม่ง่าย แต่ว่ายังมีอีกปัจจัยนึง คือทำให้ใหญ่ ให้หลากหลาย อย่างโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย เป็นโครงการที่สังคมรู้จักมากที่สุด แต่ไม่สามารถระดมทุนจากการบริจาคจนพึ่งพาตนเองได้ นี่เป็นเรื่องเหลือเชื่อมาก ๆ เขามีรายได้เพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นในการดำเนินการ อีกครึ่งหนึ่งมูลนิธิต้องเอารายได้จากส่วนอื่นเข้าไปช่วย ขณะที่โครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นโครงการระดมทุนที่ไม่เป็นที่รู้จักในสังคมเลย แต่ของที่บริจาคเข้ามามหาศาลมาก เขาไม่ได้บริจาคให้โครงการแบ่งปันฯ ที่เป็น social enterprise เขาบริจาคให้มูลนิธิ สมมติคุณจะเริ่มต้นระดมทุนแบบที่กระจกเงาทำ แต่คุณไม่มีเนื้องานทางสังคมเลย เขาจะบริจาคให้คุณทำไม บทบาทของผมเลยเป็นการสร้างระบบนิเวศขององค์กรขึ้นมาให้ได้ แล้วขยายระบบนิเวศให้แข็งแกร่งเพียงพอที่จะทำให้โครงการต่าง ๆ เติบใหญ่และหนุนเสริมกัน จริง ๆ มันเหมือนป่ามาก ๆ มันเกื้อกันไปเกื้อกันมา และเมื่อมาถึงจุดหนึ่ง มันจะมีเมล็ดพันธุ์ดี ๆ งอกเงย สัมพันธ์และเชื่อมโยงกันได้หมด
วันนี้เราอยู่ในจุดที่ดีมากแล้ว เราแข็งแรงพอที่จะไม่ต้องเขียนโครงการหรือเหลียวซ้ายแลขวาว่าแหล่งทุนจะสนใจเนื้อหาอะไร เราแค่คิดอย่างเดียวว่าปัญหาสังคมอยู่ตรงไหนแล้วพาตัวเองเข้าไป พร้อม ๆ กับการอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนของผู้คน พอคุณวางตำแหน่งแห่งที่ของคุณได้ถูกต้อง ให้สังคมเห็นว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แล้วเมื่อมันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เราตอบสนอง เราทำแทนหรือทำร่วมกับเขา เขาก็จะเป็นผู้โอบกอดเรา เราไม่มีทางล้มเลย ถ้าเขาคิดว่าเรามีคุณค่าเพียงพอ
(สมบัติ บุญงามอนงค์พา Mappa เดินชมโกดังเก็บข้าวของจำนวนมหาศาลที่ผู้คนบริจาคมาให้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้า ชี้ชวนให้ Mappa ดูการแยกขยะในมูลนิธิ ก่อนจะไปเปลี่ยนเสื้อผ้าอีกครั้ง)
องก์ที่ 2
เมื่อเปลี่ยนเสื้อผ้ากลับมา สมบัติ บุญงามอนงค์ก็แปลงร่างเป็น ‘พี่หนูหริ่ง’ ตัวตนที่แท้จริงของเขา ครั้งนี้เขาสวมใส่เพียงเสื้อยืด กางเกงขาสั้น และรองเท้าแตะ และแนะนำตัวกับ Mappa อีกหน
สถานที่ – Mirror Art Café
เวลา – ตอนเย็นที่ฟ้ากลับเริ่มสว่างขึ้นเพราะฝนหยุดตก
ตัวละคร – Mappa, พี่หนูหริ่ง, พนักงานในร้าน, เด็กประถมที่เพิ่งเลิกเรียน
เสียงประกอบ – เสียงปั่นน้ำ, เสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็ก ๆ
พี่หนูหริ่ง ผมชื่อหนูหริ่ง เวลามีใครเรียกหนูหริ่งผมจะรู้เลยว่าเขาเป็นเพื่อนที่รู้จักผมในบทบาทที่ไม่ใช่ทางการเมือง บก.ลายจุดนี่ทางการเมือง ส่วนสมบัติเป็นคนทำงานภาคสังคม ขณะที่ความเป็นหนูหริ่งคือเป็นตัวตน ผมไม่ได้บอกว่าบทบาทที่อยู่ในชีวิตผมมันเสแสร้ง มันก็เป็นผมเหมือนกันเพียงแต่เป็นบทบาทชั่วครั้งชั่วคราว แต่นี่คือตัวเราเอง คือสิ่งที่เราเป็นและเราวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยังเด็กและต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
Mappa จริง ๆ แล้วพี่หนูหริ่งมีไลฟ์สไตล์แบบไหน
พี่หนูหริ่ง ผมชอบทำงาน จริง ๆ สิ่งที่ผมทำอยู่ตรงนี้มันไม่ใช่แค่ที่ทำงาน มันเป็นที่ใช้ชีวิต งานจึงกลายเป็นสัดส่วนเกือบทั้งหมดของชีวิต ใช่ว่าผมจะไม่มีชีวิตอื่นเลย แต่ผมอุทิศให้กับชีวิตแบบนี้ คนจะคิดว่าผมไม่ค่อยมีสมดุล แต่ผมคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องของสมดุล ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของความหมาย ความเป็นตัวตนจริง ๆ ดังนั้นเวลาพูดถึงตัวตนมันเลยมองข้ามสิ่งที่ผมทำไม่ได้เลย เพราะผมไม่มีชีวิตอื่น ผมมีแค่การทำงาน
ช่วงเวลาที่ผมออกจากงานคือช่วงเวลาที่ผมเหนื่อย แล้วเราก็จะได้เห็นมิติที่ไม่ใช่งาน แล้วเราก็จะคิดว่าสิ่งนั้นคือตัวตนผม ซึ่งผมก็รู้สึกว่ามันแปลกเหมือนกันเพราะว่าจริง ๆ ตัวตนผมคือสิ่งที่ผมใช้ชีวิตกับมันซึ่งก็คืองาน งานของผมไม่ใช่งานที่ขัดแย้งกับชีวิตเลย แถมยังส่งเสริมชีวิตผม ทำให้ชีวิตผมมีคุณค่าและเดินมาได้ถึงทุกวันนี้ มันจะขัดแย้งเฉพาะเวลามันตึงมาก ๆ แล้วไม่มีช่วงผ่อนคลาย แต่ผมเป็นคนที่มีสวิตช์พิเศษ คือผมทิ้งงาน ทิ้งองค์กรได้ มีช่วงที่ผมหนักมาก ๆ เหนื่อยมาก ๆ สิ่งที่ผมทำคือผมขึ้นไปอยู่บนดอยเลย ผมไปดับไฟป่าบนดอยสามเดือน ในหัวของผมมันไม่มีเรื่องอื่น ก็เหมือนไปทำงานอีกงานเพื่อที่จะทิ้งงานอีกงาน ผมจะไม่พาตัวเองไปถึงจุดที่มันเลยเส้นนั้นไป ถึงจุดหนี่งผมจะยอม ผมเป็นคนยอมแพ้ได้ ยอมเป็นคนเลิกได้ ยอมให้มันช้าได้ ยอมให้มันผิดพลาดได้ ยอมให้มันไม่สมบูรณ์ได้ เพราะเราทำเต็มที่แล้ว แล้วสิ่งนี้ก็ปกป้องให้ผมมีชีวิตต่อได้
Mappa หลังเลิกงานในแต่ละวันพี่หนูหริ่งทำอะไร
พี่หนูหริ่ง ผมเป็นคนน่าเบื่อมาก กินอาหารที่น้อง ๆ เรียกว่ามักง่าย กะเพรา ไข่เจียว เลิกงานก็กลับบ้าน มันเป็นช่วงที่จะค่อย ๆ ปลีกตัวออกจากงาน แล้วก็นอนเฉื่อย ๆ เวลาว่างผมก็ชอบดู Youtube หาความรู้มาทำงานอีก ตอนนี้ผมสนใจการจัดการคาร์บอนเลยดูเรื่อง carbon capture เป็นความสนใจและความบันเทิงด้วย เพราะการเรียนรู้มันให้ความสุขในทันทีเลย การได้เรียนรู้เลยกลายเป็นการเสพติดความสุขของผม ทุกครั้งที่ผมรู้อะไรมากขึ้น ผมมีความสุข
Mappa นอกจากบทบาทที่เราได้เจอมาแล้ว พี่หนูหริ่งยังมีบทบาทการเป็นพ่อด้วย ทราบมาว่าพี่หนูหริ่งเพิ่งได้เจอลูกสาวที่ไม่ได้เจอกันมาเก้าปีเพราะต้องย้ายไปต่างประเทศด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ครั้งแรกที่ได้กลับมาเจอกันรู้สึกยังไงบ้าง
พี่หนูหริ่ง ผมไม่ได้เป็นพ่อที่ดีอะไรมาก พอผมไปคุยกับลูกสาวมันมีเรื่องน่าสนใจคือว่า ผมจำเรื่องเขาได้ตอนเขาเด็ก ๆ แต่เขาไม่มีความทรงจำในวัยเด็กกับผมเลย เขาจำได้แต่ว่าพ่อเป็นคนที่บ้างาน ทำแต่งาน และค่อนข้างดุ ในขณะที่ผมจำได้ว่าผมเป็นคนที่ตลกมาก เล่นกับลูก หยอกลูกตลอด แต่ลูกจำสิ่งนั้นไม่ได้เลย จำได้แค่ตอนที่เขาโตแล้ว ผมพาเขาไปทำงาน ติดสอยห้อยตามไปตามที่ต่าง ๆ แล้วอยู่ดี ๆ ก็แวบหายไปเก้าปี แล้วเขาก็ไปอยู่อีกที่หนึ่ง ตอนไปเจอกันตอนแรกก็คิดถึงแต่ก็มีความกลัวด้วยเพราะเก้าปีมันเป็นเวลาที่นานมาก ยิ่งสำหรับพ่อ-ลูก มันเป็นความสัมพันธ์ที่ขาดไม่ได้ ถ้ามันขาดหรือมีช่องว่างมันจะรู้สึกแย่มากเลย แต่โชคดีที่มันไม่เกิดขึ้น แล้วความสัมพันธ์เราไม่มีปัญหาเลย
Mappa ประโยคแรกที่พูดตอนที่ได้เจอกันคืออะไร
พี่หนูหริ่ง พอเจอกันครั้งแรกผมไม่ได้พูดเลย ผมร้องไห้ ส่วนประโยคแรกที่ลูกสาวพูดคือ “มา กอดกัน” แล้วก็กอดผม
Mappa รักษาความสัมพันธ์ยังไงในช่วงเก้าปีที่ไม่ได้เจอกัน
พี่หนูหริ่ง ลูกเป็นคนทำสิ่งนั้น ไม่ใช่ผม เรามีวิดีโอคอลกัน และทุกครั้งที่เราสนทนากันผ่านสไกป์หรือวิดีโอคอล เขาจะบันทึกไว้ ช่วงแรก ๆ ไม่ได้บันทึกไว้นะ แต่วันหนึ่งพอเขาเรียนเกมดีไซน์ เขาบอกพ่อว่า เขาจะขออนุญาตอัดการสนทนาไว้เพราะเขาเชื่อว่าวันข้างหน้าเทคโนโลยีจะสามารถเอาสิ่งที่พ่อพูด สิ่งที่พ่อเป็น ความคิดของพ่อ เสียงพ่อ ทำเป็นเหมือน AI ในทุกวันนี้ได้
Mappa เก้าปีนานพอที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ การได้เจอลูกสาวอีกครั้งหลังจากไม่ได้เจอกันมาเก้าปี พี่หนูหริ่งรู้สึกว่าเขาเปลี่ยนไปไหม
พี่หนูหริ่ง เขาเติบโตเหมือนเมล็ดพันธุ์ ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่มีราก เราเห็นราก เรารู้จักเขา เราเห็นตอนที่เขายังเล็ก พอเรามาเจออีกที ฟอร์มของเขากลายเป็นผู้ใหญ่อายุ 25 สิ่งที่หายไปคือความเป็นเด็ก มันเลยมีแค่ความทรงจำ แต่เวลามองเขาผมตกใจมาก ผมคิดว่าผมเห็นผู้ใหญ่คนหนึ่งกำลังคุยกับผมแล้วผู้ใหญ่คนนั้นคือผมเอง แล้วภาษาที่เราคุยกันมันไม่เหมือนพ่อกับลูกคุยกันตอนที่เขายังเด็ก ตอนนั้นเราอยู่สูงกว่า เราเป็นพ่อแล้วเขาเป็นเด็ก เขายังไม่รู้จักตอบโต้ ต่อรอง หรือก้าวนำเรายังไง แต่ตอนที่ผมเจอรอบนี้ เขายืนเสมอผม ในบางจังหวะเขาก็ค้ำผมอยู่นิดหน่อย ซึ่งมันเป็นความสัมพันธ์ที่แปลกมากเลย เหมือนได้นั่งไทม์แมชชีนไปเจอตัวเองในอดีตที่สมบูรณ์กว่าตัวเองในเวลานั้น
Mappa ความรู้สึกว่าเขาเป็นตัวเราในอีกเวอร์ชันหนึ่งให้อะไรกับพี่หนูหริ่ง
พี่หนูหริ่ง เวลาเราพูดถึงตัวตนหรือนึกถึงความตาย เราจะสงสัยว่าตัวตนเราคืออะไร พอเราตายแล้วจะไปไหน แต่พอมีลูกมันรู้สึกมั่นคงมากเลย ลูกเป็นความมั่นคงหลังความตาย มันเป็นคำตอบว่าเรายังไม่ตาย เมื่อวันที่เราว่างเปล่า เมื่อวันที่เราไม่มีอยู่ มันจะยังมีชีวิตหนึ่งที่มีเราอยู่ เป็นเราในอีกชีวิตที่ยังได้เติบโตต่อ ผมมีสองสิ่งที่คุ้มกันผมจากความโศกเศร้าที่ต้องตายคือผมได้ทำหน้าที่ช่วยให้เด็กคนหนึ่งเติบโตและสิ่งที่ผมทำอยู่มันทำงานต่อ สองคือ เมื่อผมจินตนาการถึงวันที่ผมต้องตายไป แต่ลูกผมยังมีชีวิตอยู่ และลูกผมก็เป็นตัวผม ความรู้สึกที่ว่าเราต้องดับสูญไปมันเบาลงไปมาก มันดีมาก ความกังวลเรื่องความตายขณะที่เรามีชีวิตอยู่มันได้รับการปลอบประโลมจากการที่ลูกสาวยังอยู่และการที่เขาเป็นเขาแบบนี้ เวลาพูดแบบนี้มันขัดแย้งกันหน่อย ระหว่างลูกเป็นเรา กับลูกเป็นเขา แต่ว่าทางจิตวิญญาณผมรู้สึกว่าเขาเป็นเราแน่นอน
Mappa เวลาวิดีโอคอลกัน คุยอะไรกันบ้าง
พี่หนูหริ่ง เขาจะถามว่าชีวิตพ่อเป็นยังไงบ้าง เป็นคำถามที่จะถามในทุกการสนทนา ผมก็มีแต่งานเลยเล่าเรื่องงานให้เขาฟัง เวลาเราคุยกัน เราก็คุยกันด้วยภาษา NGO กับ NGO คุยกัน และจริง ๆ สิ่งที่ผมสนใจเป็นสิ่งเดียวกับที่ลูกสนใจ ผมถึงบอกว่าเราเป็นกันและกันจริง ๆ เขาเข้าใจและไม่ได้ต่อต้านผม เพียงแต่เขาอาจจะรู้สึกว่าการมีพ่อเป็น NGO มันมีเวลาน้อยมากที่จะอยู่กับพ่อ และมันมีข้อจำกัด ความเสี่ยง มันเป็นชีวิตที่โกลาหลมาก ดังนั้นในวัยเด็กมันเลยเป็นเรื่องที่น่าอึดอัดสำหรับเขา เป็นความยากลำบากที่จะต้องอยู่ในสภาวการณ์แบบนั้น และผลกระทบก็มาถึงเขา ตามที่เรารู้ แต่เขารู้สึกว่ามันเป็นราคาที่ต้องจ่าย จ่ายแพงด้วยนะพ่อ เขาไม่ได้ใช้คำว่าจ่ายหรอก แต่ก็หมายความอย่างนั้น
จริง ๆ น่ารังเกียจมาก เล่าไปก็รู้สึกว่าถ้าเราใช้มุมมองคนทั่วไปมองเรื่องพวกนี้มันก็เป็นเรื่องที่น่าเกลียด แต่เรื่องรักษาความสัมพันธ์นี้ไม่ใช่ความสามารถของผม แต่เป็นความสามารถของลูกที่เขาปรับตัวให้งานที่พ่อทำกลายเป็นชีวิตระหว่างผมกับเขาได้ เขาจะไปทำการบ้านมา เวลาเขาฟังผมเล่าเรื่องเสร็จ ในแต่ละสัปดาห์ เขาจะส่งการบ้านกลับมาให้ผม เขาจะส่งข้อมูลและความเห็นตามมาทีหลังตลอดเลย เอาเรื่องงานของพ่อเป็นแกนกลางในการสนทนา ผมพูดเลยว่าผมไม่ใช่พ่อที่ดี แต่ผมมีลูกที่ดี เขาสามารถมีชีวิตในข้อจำกัดของผมและตัวตนที่ผมเป็นได้ เป็นความโชคดีของผม
Mappa แต่จริง ๆ ทุกความสัมพันธ์ก็มีทั้งให้และรับแบบนี้ คงไม่มีความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์แบบ
พี่หนูหริ่ง อาจจะจริงและไม่จริง ถ้ามองจริง ๆ ก็จะพบว่าบทบาทของผมมีปัญหา ไม่ได้พยายามจะกล่าวโทษตัวเอง แต่เมื่อมาทบทวนเรื่องทั้งหมดที่ผมคิดและฟังจากลูก ผมพบว่าผมมีความผิดพลาดในบทบาทความสัมพันธ์นี้อยู่มาก ความโชคดีของผมคือลูกสาวผมสามารถทำหน้าที่อุดช่องว่างที่ผมสร้างไว้ได้ เขาเป็นผู้กอบกู้สถานการณ์ ผมเลยรอด ถ้าลูกทำสิ่งนี้ไม่ได้คงเป็นเรื่องใหญ่มาก ผมคงบาดเจ็บสาหัส
(บทสนทนาถูกคั่นด้วยการปรากฏตัวของเด็ก ๆ ที่เพิ่งเลิกเรียน บ้างส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวอยู่ไกล ๆ บ้างเดินเข้ามามองใกล้ ๆ ด้วยความสงสัยใคร่รู้ ก่อนจะเดินกลับไปนั่งรวมกลุ่มกันตามเดิมเมื่อพบว่าไม่มีอะไรน่าสนใจไปกว่าคนนั่งคุยกัน)
Mappa แต่เขาก็ทำแบบนี้ได้เพราะเขาเป็นลูกสาวพี่หนูหริ่งหรือเปล่า
พี่หนูหริ่ง ใช่ส่วนหนึ่ง ผมคิดว่าคุณค่าที่ผมยึดถือมันชัดมาก มันเป็นความภูมิใจ ไม่ใช่ของพ่อเขาเท่านั้น แต่เป็นของลูกที่มีพ่อแบบนี้ด้วย มันเหมือนเขาต้องบริจาคพ่อให้สังคม ให้ไปทำงาน แล้วผมก็ไม่ได้ทำให้มันเละเทะ ถ้าผมใช้ชีวิตของผมและลูกไปโดยไม่สามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้ ความรู้สึกก็อาจจะต่างไป แต่พอมันเด่นชัดว่าสิ่งที่พ่อทำมันจับต้องได้ มันคุ้มค่า คุณค่านั้นมันได้แบ่งปันต่อคนรอบข้างและลูกสาวก็สามารถยึดโยงได้ว่าคุณค่านั้นเกิดขึ้นได้ แม้มันจะเอาเวลาของหนูไปส่วนหนึ่งแต่หนูก็ยินดีที่พ่อเอาเวลาของหนูไปทำแบบนั้น หนูก็โอเค
แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลสำหรับการเลิกคิดได้ ผมก็อยากมีเวลากับลูก มีเรื่องส่วนตัวที่ไม่ใช่เรื่องงาน ที่ไม่พันกับงานมากนัก หรือไม่ก็อาจจะพันสุดไปเลย เช่น ล่าสุดคุยกัน ลูกก็อาสามาช่วยงานทางไกล มันมีงานหลายงานที่เขาสามารถช่วยหรือให้คำแนะนำหรือทำได้เลย
Mappa ตอนที่ตัดสินใจว่าจะทุ่มเทกับงานเพื่อสังคม ลูกสาวอยู่ในการตัดสินใจนั้นด้วยไหม
พี่หนูหริ่ง ไม่ เขายังไม่เกิดด้วยซ้ำ เราเป็นสิ่งนี้มาอยู่แล้ว ผมอธิบายกับลูกว่า ผมจำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพยากรทั้งหมดของผมสำหรับการอุทิศตนเพื่อสังคมให้สำเร็จ เพราะผมไม่รู้ว่าผมจะมีอายุเท่าไหร่ ผมอยากจะเข้าใกล้เป้าหมายและคุณค่านั้นให้มากที่สุด แล้วผมก็บอกลูกสาวว่า ที่พ่อเป็นอยู่ทุกวันนี้มันเกินกว่าสิ่งที่พ่อเคยจินตนาการได้ตอนเริ่มต้น ดังนั้นผมมีความพร้อมที่จะผ่อนเบากับชีวิตทางการงานของผมแล้ว ต่อจากนี้การงานผมคือกำไรแล้ว กำไรและกำไรต่อ งานการที่ผมทำโคตรสร้างแรงสั่นสะเทือนและมีความเป็นสถาบันแล้วระดับหนึ่ง มันพร้อมทำหน้าที่ต่อแล้ว ผมมีน้อง ๆ ที่มีประสบการณ์ มีอุดมการณ์ขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อ ผมเลยอยากมีชีวิตในด้านอื่น ๆ ผมกำลังกลับเข้าสู่โหมดละครแล้ว ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าผมจะสร้างโรงละครแล้ว เป็น theatre box ประมาณ 80 คน กระจกเงาจะมีโรงละครเป็นของตัวเองแน่นอน
Mappa แล้วต่อจากนี้พี่หนูหริ่งจะเป็นพ่อที่เปลี่ยนไปจากเดิมไหม
พี่หนูหริ่ง ไปเจอเขารอบนี้เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งสัปดาห์ที่มีอิทธิพลต่อผมมาก คิดว่านี่จะเป็นหมุดหมายของผมเวลาผมกลับมาทบทวนว่าอะไรคือช่วงหักเหหรือการเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าหนึ่งสัปดาห์ที่ผมอยู่กับลูกเป็นจุดหักเหสำคัญ มีเรื่องหนึ่งที่ลูกสาวผมพูด คือเขาเป็น remote worker เขาทำงานที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ สิ่งที่เขาวางแผนไว้คือเขาจะเดินทางไปรู้จักโลก เขาพูดเลยว่าเขาจะใช้ชีวิต นี่คือสิ่งที่หนูจะเป็น ผมก็ถามเขาว่า พ่อจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางได้ไหม เขาเป็นแบ็กแพ็กเกอร์ ผมก็อยากไปเห็นโลกกับเขาด้วย ผมกำลังวางแผนว่าผมจะแบ็กแพ็กยังไงเพื่อที่จะไปกับเขาได้ในบางประเทศ บางช่วงบางตอน ไม่ได้ไปทั้งหมดเพราะเขาก็มีชีวิตเป็นของตัวเอง แต่ผมก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในบางตอน ผมว่ามันดูสนุกมาก คราวหน้าไปผมอาจไม่มีโทนเศร้า ๆ แบบนี้แล้ว คราวหน้าไปอาจจะโคตรมันเลยก็ได้
Writer
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา
อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า
Photographer
ฉัตรมงคล รักราช
ช่างภาพ และนักหัดเขียน
illustrator
พรภวิษย์ เพ็งเอียด
ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม