The Making of เนติวิทย์: ครอบครัว หนังสือ สรยุทธ การศึกษา และสิ่งที่หล่อหลอมให้เนติวิทย์เป็นเนติวิทย์ในวัย 26 ปี

The Making of เนติวิทย์: ครอบครัว หนังสือ สรยุทธ การศึกษา และสิ่งที่หล่อหลอมให้เนติวิทย์เป็นเนติวิทย์ในวัย 26 ปี

นักกิจกรรมผู้จุดกระแสการมองเห็นปัญหาอำนาจนิยมในสถานศึกษา

นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ที่โดนปลด

ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน

พระที่โดนหมายเรียกเกณฑ์ทหารตอนยังบวช

โปรดิวเซอร์สารคดี The Last Breath of Sam Yan 

ถ้าเสิร์ชชื่อ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ในเสิร์ชเอนจิน ผลลัพธ์เหล่านี้น่าจะสะท้อนบทบาทและเหตุการณ์สำคัญในชีวิตที่ผ่านมาของเขาได้ดี

แต่ใครจะคิดว่าในขวบปีที่ 26 บทบาทล่าสุดที่เราได้เห็นเนติวิทย์ทำจะเป็น ‘พ่อค้าก๋วยเตี๋ยว’

อ่านไม่ผิดหรอก เพราะเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เนติวิทย์เพิ่งเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อ ‘ประชาธิปไตยกินได้’ ริมถนนทรัพย์ในย่านสามย่าน

“การเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวไม่ใช่ความฝัน แต่ผมอยากเปิดเพราะผมอยากช่วยเหลือคน ร้านก๋วยเตี๋ยวนี้ได้สูตรมาจากร้านก๋วยเตี๋ยวกัญชาที่ถูกไล่ที่จากจุฬาฯ เป็นร้านที่ผมกินมาตั้งแต่อยู่ปีหนึ่งและรู้สึกเสียดายถ้าเด็กรุ่นต่อไปจะไม่ได้กินอีกแล้ว” เขาเล่าเบื้องหลัง

ไม่ใช่ครั้งแรกที่เนติวิทย์ลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่ออยากแก้ไขปัญหาบางอย่าง อันที่จริง ในระยะเวลาสั้น ๆ ที่เรามีโอกาสได้นั่งสนทนากันในร้านใหม่ของเขา ทุกโมเมนต์สำคัญของชีวิตที่เขาค่อย ๆ ถ่ายทอดให้ฟัง ล้วนเริ่มต้นจากการมองเห็นปัญหาหรือการกดทับบางอย่างในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราหลายคนคุ้นชินแต่อาจสยบยอม

ในสถานการณ์เดียวกัน เนติวิทย์ไม่เคยยอม เขาคิดว่าเสียงของตัวเองสำคัญ และควรค่าแก่การถูกได้ยิน

อะไรหล่อหลอมให้เนติวิทย์กลายเป็นเนติวิทย์แบบทุกวันนี้ ให้ย่อหน้าถัดไปเล่าให้ฟัง

“ถ้าหากพ่อแม่เอาใจใส่มากกว่านี้ บางทีเราอาจจะถูกครอบงำได้”

“ผมเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่หย่ากัน ผมเลยมีอิสระในการใช้ชีวิตในระดับหนึ่ง บ้านพ่อแม่อยู่ไม่ไกลกันมาก ทำให้บางทีผมทะเลาะกับพ่อผมก็ไปอยู่บ้านแม่ ทะเลาะกับแม่ก็กลับมาอยู่บ้านพ่อ ซึ่งพวกเขาก็ไม่ได้บังคับขู่เข็ญอะไรเรามาก ตั้งแต่อยู่ป.1 ผมก็เดินทางไปนู่นไปนี่เองได้ ถูกปล่อยออกจากบ้านเร็วกว่าคนอื่น ๆ ผมว่ามันก็เป็นเรื่องดีเหมือนกัน เพราะถ้าหากพ่อแม่เอาใจใส่เรามากกว่านี้ บางทีเราอาจจะถูกครอบงำได้ 

“ตอนเด็ก ๆ ผมมีงานอดิเรกคือการอ่านหนังสือ ผมชอบอ่านแนวประวัติศาสตร์เพราะมันทำให้เห็นการเชื่อมโยงกับสังคมปัจจุบัน ทำให้ตั้งคำถามว่าทำไมประวัติศาสตร์เรื่องนี้ถูกปิดกั้น ทำไมเรื่องนี้ไม่อยู่ในตำราเรียน ผมชอบอ่านเรื่องเกี่ยวกับการปฏิวัติในปี 2475 อย่างหนังสือของอาจารย์ส.ศิวรักษ์ หรือของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน 

“จริง ๆ ก็ไม่ได้อ่านเฉพาะหนังสือการเมืองเท่านั้นหรอก การ์ตูนอนิเมะที่เด็กทั่วไปอ่านผมก็อ่าน เรื่องที่ชอบที่สุดคือ โค้ดจีอัส ทุกเล่มทำให้ผมมีอุปนิสัยรักการอ่านและส่งผลต่อด้านอื่น ๆ ในชีวิตด้วย อย่างภาษาที่ใช้ในตอนเด็กก็ไม่เหมือนเพื่อน หรือแนวคิดผมจะไม่เหมือนของครูหรือใครในโรงเรียน ทำให้คนงงกับท่าทีของเราเหมือนกัน”

“ทุกคนในบ้านมีความเห็นไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นเรื่องดี”

“นอกจากหนังสือ จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจการเมืองคือครอบครัว ช่วงนั้นเป็นช่วงรัฐประหารปี 2549 พ่อของผมสนใจการเมือง ผมรับรู้เรื่องนี้และไม่ได้มีแนวคิดตรงกับพ่อ จริง ๆ ทุกคนในบ้านมีความเห็นไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะมันทำให้ผมสามารถอยู่ในสังคมที่ทุกคนจะมีความเห็นของตัวเอง ยอมรับความต่างได้ บางทีผมคุยกับอนุรักษนิยม (conservative) บางกลุ่มแล้วโอเค เพราะผมไม่ชอบตัดสินว่าถ้าคุณคิดต่างจากผมแล้วเราจะคุยกันไม่ได้

“การเติบโตมาในบรรยากาศแบบนี้ทำให้ผมมีความเป็นขบถอยู่ ผมอยู่ในองค์กรไหนก็รู้สึกว่าผมมักจะเป็นคนนอก อยู่ที่ไหนก็คิดไม่เหมือนคนอื่น ซึ่งบางครั้งมันก็ทำให้ผมรู้สึกโดดเดี่ยว บางทีรู้สึกผิดนะ แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับว่าเราเป็นอย่างนี้ คิดแบบนี้ จะให้เราไปเป็นเหมือนคนอื่นเขา 100% หรือจะไม่ให้ตั้งคำถามกับบรรทัดฐาน (norm) ต่าง ๆ มันเป็นไปได้ยาก

“ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมผมถึงอยากแตกต่างหรือทำให้มีความกล้าขนาดนี้ อาจเป็นเพราะผมอ่าน การอ่านช่วยส่งเสริม (empower) ความคิดบางอย่าง เช่น เราได้เห็นตัวอย่างของบุคคลในประวัติศาสตร์ที่เคยต่อสู้ ประกอบกับผมชอบสนทนากับคนเขียน อย่างอาจารย์สุลักษณ์ (ศิวรักษ์) ผมรู้จักตั้งแต่อายุ 14-15 ดังนั้นพอผมไปโรงเรียน เจอครูบาอาจารย์ที่อายุน้อยกว่าอาจารย์สุลักษณ์ ผมเลยไม่ค่อยตื่นกลัวเท่าไหร่ เพราะคิดว่าผู้ใหญ่ขนาดอาจารย์สุลักษณ์ยังคุยกับเราในฐานะคนเท่ากัน แล้วทำไมครูบาอาจารย์ที่เกิดเมื่อไม่กี่วันก่อนถึงวางท่าอำนาจ ผมคิดว่ามันไม่น่าจะเป็นแบบนั้น แต่เพื่อนส่วนใหญ่ตกอยู่ในความกลัว และเด็กไทยทุกวันนี้ก็ยังกลัวเกินไป ซึ่งมันก็อาจจะให้ผลร้าย”

“ถ้าอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ไหน เราต้องรักที่นั่นก่อน”

“ความฝันตอนเด็กของผมมีหลากหลาย แต่ที่อยากเป็นที่สุดคืออยากเป็นนักเขียนเพราะชอบอ่านหนังสือ อยากเขียนหนังสือให้ได้สักเล่มตั้งแต่มัธยมต้น แต่มันยาก สิ่งที่เป็นแรงจูงใจให้เขียนได้คือการมองเห็นปัญหาอะไรสักอย่างแล้วทำให้อยากเขียน

“ครั้งแรกที่ผมลุกขึ้นมาเขียนคือตอนม.2 เป็นหนังสือชื่อจุลสารปรีดีฯ  จุดเริ่มต้นคือการที่ครูประวัติศาสตร์เขาโจมตีปรีดี แล้วผมก็รู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรม ไม่ได้รังเกียจหรืออคติกับครูเขานะ แต่ผมก็เอาข้อมูลอีกชุดหนึ่งไปให้ครู บอกเขาว่ามันไม่ใช่อย่างที่เขาโจมตี ครูเขาไม่เชื่อผม แต่พวกเพื่อน ๆ เขาเชื่อครูหมดเลย ผมเลยต้องเขียนหนังสือขึ้นมาโต้ เขียนด้วยมือแล้วเอาไปซีร็อกซ์แจกจ่าย แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้เกิดปัญหาขึ้นนะ ครูหลายคนไม่มีปัญหาแต่ภูมิใจด้วยซ้ำ

“แต่จุดที่มีปัญหาคือตอนมีประเด็นเรื่องทรงผม ที่โรงเรียนมีการไถผมนักเรียน เพื่อนที่โดนจึงอยากให้ผมสื่อสารเรื่องนี้ออกไป ผมก็เขียนถึงเรื่องนี้ในจุลสาร เอาไปให้ครูฝ่ายปกครองอ่าน ปรากฏว่าครูเขาไม่พอใจ คิดว่าผมมีทัศนคติอันตรายเลยเรียกเข้าห้องปกครองและทำทัณฑ์บน ทั้ง ๆ ที่หนังสือยังไม่ได้เผยแพร่ที่ไหนด้วยซ้ำ ตอนนั้นเลวร้ายมาก ครูที่เคยสนับสนุนผมก็ถอนตัวออกหมด

“ตั้งแต่นั้นมาผมก็ไม่ชอบไปโรงเรียนเพราะใช้ชีวิตลำบาก เนื่องจากครูให้เพื่อนคอยรายงานถ้าผมคิดจะทำอะไรอีก ตอนม.3 ผมอยากย้ายโรงเรียนแต่สอบไม่ติด เลยทนอยู่โรงเรียนเดิมต่ออีก 3 ปี ระหว่างนั้นก็ค่อย ๆ พยายามกลับมารักโรงเรียนเดิมอีกครั้งแม้ว่าโรงเรียนไม่ได้รักผม เพราะผมรู้สึกว่าถ้าอยากสร้างเปลี่ยนแปลงที่ไหน เราต้องรักที่นั่นก่อน”

“ยิ่งเห็นโลกมากเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งรู้สึกว่าการศึกษาไทยกำลังทำลายเด็ก”

“ตอนม.4 ผมเขียนบทความเกี่ยวกับทรงผมนักเรียน แล้วมันเป็นประเด็นขึ้น ทำให้หลายคนรู้จัก ตอนนั้นคุณพงษ์เทพ เทพกาญจนา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและอยากปรับตรงนี้ คุณสรยุทธ (สุทัศนะจินดา) เขาเลยชวนไปออกรายการ ตอนนั้นเป็นประเด็นขึ้นมาเพราะผมให้สัมภาษณ์ว่าอยากให้ไว้ทรงผมได้ทุกทรง โมฮอกก็ไว้ได้ เพราะผมคิดว่าไม่เห็นเสียหายอะไรถ้าจะไว้ทรงผมแบบไหน 

“เพื่อน ๆ ก็ช็อกมาก ในอินเทอร์เน็ตก็มีคนตัดต่อภาพผมไว้ผมทรงโมฮอก เป็นมีมออนไลน์ช่วงหนึ่ง แต่ผมก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องซีเรียสแต่เป็นเรื่องตลกเสียมากกว่า แต่มันเริ่มน่ากลัวหลังจากนั้น เพราะผมไปออกรายการของคุณปลื้ม (หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล) ต่อแล้วเสนอไปอีกขั้นหนึ่งว่าควรจะยกเลิกความเป็นไทย เนื่องจากตอนที่เรียกร้องเรื่องทรงผมแล้วหลายคนยกความเป็นไทยมาอ้าง โห ตอนนั้นสื่อถล่มผมยับ มีข่าวผมเต็มไปหมด ชีวิตถูกมองในแง่ลบเรื่อย ๆ ทำให้ผมระวังตัวมากขึ้น

“มีช่วงหนึ่งเหมือนกันที่ผมรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว อาจารย์สุลักษณ์จึงส่งผมไปอินเดียเพื่อเรียนภาษาอังกฤษประมาณ 7 เดือน พอกลับมาผมเริ่มความกล้ามากขึ้น และทำให้เห็นว่าการศึกษาไทยไร้สาระมาก อย่างภาษาอังกฤษ ผมเรียนมาหลายปีแต่ไม่ได้ภาษาเลย แต่พอไปอยู่อินเดียแค่ 7 เดือนก็พูดได้ ผมจึงรู้ว่าโรงเรียนกำลังใช้วิธีสอนที่ผิด ยิ่งเห็นโลกมากเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งรู้สึกว่าการศึกษาไทยกำลังทำลายเด็ก มันไม่ได้ทำให้นักเรียนได้เห็นอะไรที่กว้างขวางและจำกัดกรอบ

“ผมมองว่าการศึกษาควรมีเป้าหมาย และตอนนี้เป้าหมายของการศึกษามันถูกจำกัดแคบมาก จริง ๆ เราเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เราต้องถามตัวเองว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายเพื่ออะไร เพื่อทำเงินหรือเปล่า เพื่อประโยชน์ระยะสั้นหรือระยะยาว เพื่อตัวเองหรือเพื่อโลก นักเรียนหลายคนเข้าไปเรียนแล้วอาจจะไม่เคยถามคำถามนี้กับตัวเอง แต่ผมคิดว่าการเข้าใจเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ อย่างน้อยก็กับตัวเขาเอง”  

“ผมยังเป็นตัวของตัวเองเหมือนเดิม แต่ตอนนี้มีพวกมากขึ้น”

“ผมเข้าจุฬาฯ เพราะคิดว่าผมน่าจะมาชุบตัว (หัวเราะ) คนชอบบอกว่าผมต้องไปเรียนธรรมศาสตร์ แต่ผมคิดว่าผมไปเรียนจุฬาฯ ดีกว่า เพราะธรรมศาสตร์อากาศร้อน นี่คือเหตุผลจริง ๆ นะ จุฬาฯ เย็นกว่าเพราะมีต้นไม้เยอะ เดินทางสะดวก อีกอย่างคือผมอยากเรียนรู้อนุรักษนิยมด้วย เพราะผมได้ยินว่าเขาอนุรักษนิยม แต่เขาเก่ง ถ้ามาเรียนที่นี่น่าจะได้พื้นฐานที่ดี อย่างน้อยก็ได้หลักการ ผมคาดหวังอย่างนั้น

“แต่พอมาเรียนจริง ๆ จุฬาฯ ไม่ได้มีความอนุรักษนิยมนะ แต่ค่อนข้างตื้นเขิน เจอคนที่มีหลักการน้อย ตอนแรกมีคนบอกว่าผมน่าจะโดนมหาวิทยาลัยเปลี่ยน แต่ผมมองว่าผมเปลี่ยนมหาวิทยาลัยมากกว่า อย่างการได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภานิสิต ได้ช่วยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรในมหาวิทยาลัยหลายอย่าง พูดจริง ๆ ว่าจุฬาฯ ไม่ได้หล่อหลอมตัวตนอะไรผมเลย ยังมีคนที่เกลียดเราเหมือนเดิม และผมก็ยังเป็นตัวของตัวเองเหมือนเดิม แต่ผมว่าตอนนี้ผมมีพวกมากขึ้น 

“ที่จริง ผมเรียนจุฬาฯ มา 8 ปีและมองมหาวิทยาลัยเลวลงเรื่อย ๆ เพราะผมเห็นว่าวัฒนธรรมมันเลวร้าย มีแต่ตึกสูง ๆ แล้วคนก็ใช้ชีวิตแต่บนตึก พอคนใช้ชีวิตแบบนี้มันก็ทำให้เขามองไม่เห็นคนข้างล่าง เกิดการไล่ที่ ชาวบ้านถูกรังแก มหาวิทยาลัยกำลังทำบาปมากในแง่การทำลายทัศนคติหรือมุมมองของเด็ก ๆ เพราะเดี๋ยวนี้มันกลายเป็นว่าใครมีเงินก็จะได้อยู่ในพื้นที่ที่ดี สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่า แทนที่จะเป็นที่ที่ทั้งคนรวยคนจนจะสามารถอยู่ร่วมกัน เมื่อก่อนชาวบ้านแถวย่านกับนิสิตจะมีปฏิสัมพันธ์กัน แต่ปัจจุบันพื้นที่รอบ ๆ กลายเป็นเชนร้านอาหารใหญ่ที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กันเลย นี่คือเรื่องอันตราย ถ้ามันยังเป็นแบบนี้มันก็จะเลวร้ายมากขึ้นเรื่อย ๆ พฤติกรรมของคนจะเปลี่ยนไป และอุดมศึกษาก็จะหมดความหมาย

“นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมอยากทำสารคดีเรื่อง The Last Breath of Sam Yan ย้อนกลับไปจุดประสงค์คือการต่อต้านการทำลายศาลเจ้าแม่ทับทิม อีกจุดประสงค์คือถึงแม้ว่าในอนาคตจะมีศาลเจ้าแม่ทับทิมอยู่หรือเปล่า แต่อย่างน้อยเด็กอีก 10 ปีข้างหน้าเขาต้องได้เห็นว่าเคยมีศาลอยู่ที่นี่ และเป็นสถานที่เปิดรับทุกคนไม่ว่าจะมีสถานะทางสังคมแบบไหน มันเป็นพื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริงที่ตอนนี้อาจเหลือน้อยมาก สิ่งที่ผมกำลังต่อต้านไม่ใช่แค่การทำลายสถาปัตยกรรมเก่าแก่ แต่ผมกำลังต่อต้านอำนาจของเงินที่จะเข้าไปแทรกแซงในทุกมิติ”

“เป้าหมายบางอย่างไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเสมอไป ถึงจะยากลำบากก็ต้องทำ”

“ผมสนใจเรื่องศาสนามาก่อนเรื่องการเมืองอีก เมื่อก่อนสนใจพระพุทธศาสนามหายาน และมีช่วงหนึ่งที่ผมตั้งคำถามกับศาสนาจนไม่ใส่คำว่าศาสนาพุทธในบัตรประชาชน แต่สุดท้ายผมก็คิดว่าผมไม่จำเป็นต้องหนีศาสนาพุทธขนาดนั้น เพราะถ้าเรามองด้านดีของศาสนา มันก็เป็นประโยชน์กับตัวเราเอง ศาสนาทุกศาสนามีเป้าหมายอะไรบางอย่าง เช่น ศาสนาพุทธมีเป้าหมายคือการมีชีวิตที่ดี มีกรุณา มีเมตตากับคน ดังนั้นการที่เรามีศาสนาในแง่นี้คือเราจะใช้ชีวิตให้มีเมตตากรุณากับคนยังไง แต่แน่นอนเราต้องอ่านและศึกษามันต้องตัวเราเอง ไม่ใช่เราไปเชื่อนักบวชและเชื่อว่าเขาเป็นตัวแทนของศาสนา ศาสนาไม่ใช่คำสั่งของผู้มีอำนาจ แต่คุณต้องตีความ ต้องเอาคำสอนเข้ามาดูว่ามันเหมาะสมกับตัวเราไหม แล้วประยุกต์กับชีวิตของตัวเอง นั่นแหละศาสนาถึงจะมีความหมาย

“เมื่อปีที่แล้วผมตัดสินใจบวช เหตุผลคือต้องการฝึกใจตัวเอง เนื่องจากผมคิดว่าผมน่าจะต้องติดคุกเรื่องเกณฑ์ทหารเพราะก่อนหน้านั้นผมต่อต้านการเกณฑ์ทหาร อย่างน้อยไปอยู่วัดก็อาจจะรู้สึกเหมือนติดคุกเล็ก ๆ เหมือนกัน แต่พอไปอยู่วัดจริง ๆ ก็สนุก ไม่ได้ลำบากอะไร ช่วงแรกก็รู้สึกเหมือนติดคุกเพราะต้องปล่อยวางตัวเองเยอะมาก ปล่อยวางงานที่คั่งค้าง ละทิ้งตัวตนของตัวเองแต่เป็นตัวตนใหม่ มันก็ยากนะ และไม่ได้ละทิ้งได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ในช่วงแรก

“สังคมพระสงฆ์เป็นสังคมอนุรักษนิยม ต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เพราะถ้าไม่ใช่อนุรักษนิยมหลักการหรือแบบแผนบางอย่างก็จะหายไป อย่างพระต้องมาทบทวนกฎ 227 ข้อทุก 15 วัน ต้องประชุมกันโดยพร้อมเพรียง ซึ่งเอาจริง ๆ นี่เป็นหลักที่ผมคิดว่าดีมากนะ หลายองค์กรควรเอาอย่าง หรืออย่างกฎการปลงอาบัติก็ดีมาก สมมติคุณทำผิดคุณต้องมาบอกเพื่อน แล้วพูดเป็นภาษาบาลีว่าคุณจะไม่ทำผิดอีกแล้ว เพื่อนคุณก็ยอมรับ นั่นหมายถึงคุณได้รับโอกาสใหม่ เพื่อนจะไม่ตัดสินคุณเรื่องนี้อีก ถ้าเทียบกับโลกสมัยใหม่ที่ถ้าคุณพูดอะไรไม่ดีออกไปแล้วคนก็ผิดใจ โกรธแค้นกัน มันก็ไม่ปรองดองกัน ซึ่งผมว่าถ้านำหลักนี้ไปใช้ได้มันก็น่าจะดี

“ผมบวชอยู่ 10 เดือน ที่สึกออกมาเพราะต้องมาต่อสู้เรื่องเกณฑ์ทหาร จริง ๆ ผมอยากบวชนานกว่านั้นแต่เราก็ไม่อยากให้มีข้อครหาว่าเราหนีทหารด้วยผ้าเหลือง หลังจากบวชผมมองโลกเปลี่ยนไปในแง่ที่ว่ามีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น ได้เรียนรู้ว่าเป้าหมายในชีวิตที่ดีเป็นยังไง ซึ่งโลกสมัยใหม่ทุกวันนี้เราอาจไม่ได้คุยกันเรื่องนี้แล้ว เพราะเราอยู่ในโลกทุนนิยม ทุกคนล้วนมีชีวิตของตัวเอง แต่ในทางศาสนาพุทธเขาบอกว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง คนอื่น และเป็นชีวิตที่ไม่เห็นแก่ตัว หมายถึงว่ามีเป้าหมายบางอย่างที่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเสมอไป แม้ว่ามันจะยากลำบากมากแต่มันคือสิ่งที่เราควรทำ

“สิ่งนี้เชื่อมกับคำสอนที่ผมประทับใจตอนยังบวชอยู่ นั่นคือ บุคคลนิพพาน ทำการเพื่อโลก หมายถึงการนิพพานคือการหลุดพ้นจากการเห็นแก่ตัวหรือการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ถ้าเราหลุดพ้นจากตรงนี้ได้มากเท่าไหร่ เราก็สามารถทำประโยชน์เพื่อโลกได้มากขึ้น”

“ถ้าเกิดยุคนี้คงไม่ถูกด่า แต่มันก็ช่วยไม่ได้ ชีวิตมันเป็นแบบนี้แหละ”

“ตอนนี้ผมเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว ทำสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน และกำลังจะทำบาร์บนชั้น 2 ของร้านก๋วยเตี๋ยวที่จะทำเป็นแกลเลอรีศิลปะด้วย และในอนาคตผมก็อยากทำงานศิลปะของตัวเอง อยากชวนบุคลากรเก่า ๆ ของจุฬาฯ และชาวบ้านที่เคยอยู่รอบ ๆ มาเล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนจุฬาฯ มีหน้าตาเป็นยังไง วิถีชีวิตของคนในมหาวิทยาลัยกับชาวบ้านรอบ ๆ สัมพันธ์กันยังไง แล้วเราทำภาพสามมิติขึ้นมา เพราะอยากให้เด็กยุคใหม่จินตนาการได้ว่ามันเป็นยังไง และจริง ๆ เราอยู่ร่วมกันได้ยังไง

“ส่วนบทบาทนักเคลื่อนไหวผมก็ยังอยากทำอยู่ การเคลื่อนไหวเป็นไปเพื่อเป้าหมายบางอย่าง และผมอยากเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาที่มองเห็น ผมว่าคนส่วนใหญ่ก็เป็นนักเคลื่อนไหวได้ มันไม่ใช่เป็นคำพิเศษขนาดนั้น มีช่วงหนึ่งคนชอบบอกว่าเขาจะฝากความหวังไว้ที่นักเคลื่อนไหวในการแก้ปัญหา แต่ผมว่าถ้าคุณสนใจปัญหาสังคม และคุณทำอะไรบางอย่าง คุณก็เป็นนักเคลื่อนไหวได้แล้ว

“ผมไม่รู้หรอกว่า 10 ปีข้างหน้าผมจะทำอะไร แต่ถ้าผมยังมีชีวิตอยู่รอด ผมก็คงจะทำอะไรพวกนี้ต่อไปเรื่อย ๆ อาจไปเล่นการเมืองก็ได้ เอาจริง ๆ ตอนนี้ไม่มีความฝันอะไรเลย เพราะก่อนหน้านี้คิดว่าตัวเองจะต้องติดคุกแน่เลยไม่ฝัน ก็พยายามทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ซึ่งมีเยอะมากให้ดี 

“ก่อนหน้านี้เคยมีคนเดินมาขอบคุณเหมือนกัน มีเด็กรุ่นใหม่หลายคนมองเห็น (recognize) สิ่งที่ผมเคยทำ ผมก็ดีใจนะ เพราะบางทีเราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำมันมีผลกับเขา อย่างน้องหยกผมก็ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว อายุห่างกันเป็น 10 ปีแต่เขาก็พูดถึงเราว่าเมื่อก่อนเราเคยเคลื่อนไหว หรือมีนักเรียนหลายคนบอกว่าเคยอ่านหนังสือนักเรียนเลวที่ผมเขียน ก็รู้สึกดีใจเหมือนกันที่เห็นว่าสิ่งที่ผมเคยทำมีประโยชน์กับชีวิตเขา

“ถ้าเทียบกับยุคผม ผมมองว่าสังคมตอนนี้ดีขึ้นนะ เปิดกว้างมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็ต้องให้เครดิตกับน้อง ๆ รุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วย เขาลงแรงเยอะ เสี่ยงคดี มันทำให้สุดท้ายความใจหินของผู้ใหญ่มันเริ่มทลายลง ผมมองว่าสุดท้ายแล้วความเปลี่ยนแปลงมันต้องมาถึง ซึ่งก่อนหน้านี้มันอาจจะลำบาก คนมาฝากความหวังไว้กับผมเยอะเกินไปว่าต้องทำนั่นทำนี่ สุดท้ายก็ทำให้ใครหลายคนคิดว่ามีแต่ไอ้นี่คนเดียวที่อยากจะเปลี่ยน แต่พอทุกคนเริ่มเคลื่อนไหว เริ่มประท้วง คนก็เริ่มเห็นว่านี่ไม่ใช่ความต้องการของคนกลุ่มเล็ก ๆ แต่มันมาจากเด็กจำนวนมากในสังคม ผู้ใหญ่หลายคนก็เริ่มกล้าออกมาพูดสิ่งที่ตัวเองเคยคิดฝันสมัยเด็ก

“ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมก็จะทำอย่างที่เคยทำนะ เคยถามตัวเองเหมือนกันว่าทำไมผมไม่โชคดี ทำไมไม่เกิดมาในยุคนี้ ถ้าเกิดยุคนี้คงไม่ถูกด่า ทำไมเราต้องเป็นเหยื่อในยุคนั้น แต่ผมก็คิดว่าสุดท้ายมันช่วยไม่ได้ ชีวิตมันเป็นแบบนี้แหละ ถ้าผมไม่ทำตอนนั้นมันก็รู้สึกว่าไม่ถูกต้องอยู่ดี ถ้าตอนนั้นผมสยบยอม ไม่ทำตามความเชื่อตัวเอง ไม่ยืนหยัดในศักดิ์ศรี เสียง เสรีภาพของตัวเอง ผมคงทนอยู่ไม่ได้

“สังคมที่ผมอยากเห็นเป็นแบบไหน อาจจะไม่เห็นภาพชัดเจนขนาดนั้น แต่ผมอยากอยู่ในสังคมที่ไม่สุดโต่ง แต่ทุกคนยังเกื้อกูลช่วยเหลือกัน การได้เห็นความทุกข์ของคนเป็นเรื่องสำคัญ อยากเห็นสังคมที่เราเห็นอีกคนเป็นมนุษย์เหมือนเรา เห็นว่าการกระทำของเรามันมีผลที่ดีและไม่ดีกับคนได้มากมาย ดังนั้นเราจำเป็นที่จะต้องทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ คิดมากกว่าเรื่องของตัวเอง แน่นอนสันติภาพไม่ได้แปลว่าจะสงบเงียบ เราต้องเจอกับความหลากหลาย ความไม่แน่นอนอยู่เสมอ แต่ผมก็อยากให้เราดีลกับมันอย่างเข้าใจ”

Writer
Avatar photo
พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนจากเชียงใหม่ผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็นเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer
Avatar photo
ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts