เส้นทางการเติบโตตลอด 23 ปีของ ‘วิว-กุลวุฒิ’ ที่มีลูกขนไก่เป็นเพื่อน และมีสนามแข่งขันเป็นเป้าหมาย

เส้นทางการเติบโตตลอด 23 ปีของ ‘วิว-กุลวุฒิ’ ที่มีลูกขนไก่เป็นเพื่อน และมีสนามแข่งขันเป็นเป้าหมาย

หากจะมีใครสักคนที่เป็นที่รู้จักและพูดถึงในประเทศไทยอย่างมากในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมานี้ แน่นอนว่า ‘วิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์’ อยู่ในรายชื่อนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย

เขาคือชายผู้มีดีกรีเป็นเจ้าของแชมป์เยาวชนโลก 3 สมัยติดต่อกัน และล่าสุดกับการคว้าเหรียญเงินจากโอลิมปิกเกมส์ 2024 ซึ่งเป็นการสร้างสถิติใหม่ด้วยการเป็น ‘คนไทยคนแรก’ ที่ทำได้

จากเด็กชายที่เล่นแบดมินตันเพื่อเอาชนะโรคภูมิแพ้โดยมีคุณพ่อเป็นผู้สอน กลายเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการแบดมินตันไทย ด้วยความทุ่มเทในการฝึกซ้อมอย่างหนักทั้งแรงกายใจ พร้อมด้วยคติประจำใจอย่าง “ยามขึ้นอย่าเหลิง ยามลงอย่าท้อ” ที่คอยปลุกให้เขายืนหยัดและต่อสู้เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายเสมอมา

วันนี้ Mappa จึงชวนคุยกับ ‘วิว กุลวุฒิ’ ด้วยบรรยากาศสบายๆ ปนกับมุกตลกที่เขาหยิบมาเป็นระยะๆ ตลอดบทสนทนาที่เกิดขึ้น ณ บ้านทองหยอด ว่าด้วยตัวตนและการเติบโตของเขา ทั้งที่ผ่านการสู้เพื่อไปถึงยังเป้าหมายตั้งแต่เริ่มเล่นกีฬาในวัย 7 ขวบ จนกระทั่งถึงวันนี้ ประสบการณ์ในอดีตที่ส่งผลถึงตัวตนในปัจจุบันและเส้นทางที่อยากไปต่อในอนาคต รวมถึงชวนรู้จักเขาในฐานะลูกชายและพี่ชายของครอบครัววิทิตศานต์ เพื่อที่จะได้รู้จักและสัมผัสในแง่มุมต่างๆ ในเส้นทางของการเติบโตของนักแบดมินตันผู้นี้ให้มากขึ้น 

จุดเริ่มต้นของ ‘เด็กชายกุลวุฒิ’ 

“สวัสดีครับ ผมวิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์ เป็นนักกีฬาแบดมินตันเหรียญเงินโอลิมปิกเกมส์ 2024 ครับผม” วิวแนะนำตัวกับเราด้วยท่าทางสบายๆ ในช่วงแรกของบทสนทนานี้ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดหลังจากที่เขาซ้อมในช่วงเช้าเสร็จ

ลุคเสื้อกีฬาสีเหลืองที่คุ้นตา ตัดกับสีเขียวในพื้นยางของสนามแบดมินตันยิ่งช่วยขับให้เขาดูโดดเด่น แถมการใส่รองเท้าแตะมาเจอกันในวันนี้ยิ่งทำให้เขาดูเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นไปใหญ่

เขาเริ่มเล่นแบดมินตันครั้งแรกเมื่ออายุ 7 ขวบเพราะว่าตอนเด็กๆ ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้แถมป่วยง่ายชนิดที่ว่าเข้าโรงพยาบาลบ่อยครั้ง คุณพ่อของเขาที่เป็นคุณครูสอนแบดมินตันจึงชวนเขามาเล่นกีฬาชนิดนี้เพื่อที่จะให้ได้ออกกำลังกายและบรรเทาโรคที่เป็นอยู่ลง

นอกเหนือจากแบดมินตัน กีฬาอีกชนิดหนึ่งที่เขาเคยมีโอกาสฝึกเล่นคือกอล์ฟ แต่เขาบอกว่าชอบแบดมินตันมากกว่าเพราะว่าเป็นกีฬาที่ต้องออกแรงและได้เหงื่อเยอะ

‘รายการศิษย์เอก’ คือรายการแข่งขันกีฬาแบดมินตันเป็นเวทีที่เปิดแข่งขันสำหรับมือสมัครเล่นที่ยังไม่เคยได้รับรางวัลเท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นแมตช์แรกที่วิวสมัครเข้าไปแข่งขันเป็นครั้งแรกด้วยวัยที่อายุเพียง 8 ขวบ ซึ่งถึงจะเป็นครั้งแรกแต่เขาก็คว้าเหรียญเงินมาครอง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความฝันในการเป็นนักกีฬาแบดมินตันอาชีพ ด้วยจุดมุ่งหมายที่สำคัญอย่างการอยากช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว

หลังจากที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นนักกีฬาแบดมินตันแล้ว วิวจึงเข้ารับการฝึกซ้อมอย่างจริงจังกับสโมสรแบดมินตันใกล้บ้านอย่าง ‘ชมรมแบดมินตันเสนานิคม’ ซึ่งเริ่มการแข่งขันในรุ่นอายุต่ำกว่า 9 ปีและเริ่มประสบความสำเร็จผ่านการได้รางวัลชนะเลิศตลอดแทบจะทุกรายการที่แข่งขันช่วง 3-4 ปีถัดจากนั้น ก่อนที่ปี พ.ศ.2557 เขาจะย้ายไปสังกัดอยู่ที่โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดและเริ่มเข้าชิงในเกมการแข่งขันที่ใหญ่ขึ้นและใหญ่ขึ้น

เส้นทางการเติบโตที่มี ‘ลูกขนไก่’ เป็นเพื่อนและมี ‘สนามการแข่งขัน’ เป็นเป้าหมาย

วิวเริ่มต้นเล่นแบดมินตันด้วยสัดส่วน 50:50 ระหว่าง ‘ความชอบ’ และ ‘เพื่อสุขภาพ’ ซึ่งเขาโดนถามอยู่บ่อยครั้งว่าป่วยเป็นโรคภูมิแพ้แล้วเล่นกีฬาได้อย่างไร เพราะสองอย่างนี้เป็นอะไรที่ดูขัดกันในสายตาของคนทั่วไป

แต่พอได้ลองเล่นกีฬาขนไก่ชนิดนี้แล้วจริงๆ เขาพบว่าการตีโดนลูก ตีข้ามเน็ต ตีลูกไปได้ไกลมากขึ้น ตีได้ถึงหลังคอร์ต เหล่านี้เป็นอะไรที่ท้าทายสำหรับเขา ซึ่งเมื่อเขาสนุกกับมันและอาจเรียกได้ว่าวิวคือส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง ‘พรสวรรค์’ และ ‘พรแสวง’ 

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของเขา

ในวัยเด็กเมื่อคุณเริ่มเป็นนักกีฬาไว คุณรู้สึกอย่างไรและใช้ชีวิตแบบไหน? คำถามถัดมาจากเรา

“ที่จริงแล้วผมก็ชอบเล่นเกมนะ (ขำ) ชอบมากเลยแหละ ตอนช่วงเรียนประถมก็ยังได้เล่นกับเพื่อนบ้าง แต่พอย้ายเข้ามาที่บ้านทองหยอดทำให้ช่วงเวลาของการฝึกซ้อมมันหนักขึ้นจากที่ซ้อมแค่ช่วงเย็นจะต้องมาซ้อมช่วงเช้าก่อนไปโรงเรียนด้วย เลยอาจจะไม่ได้มีเวลาไปใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นทั่วไปเท่าไรนัก”

“วีรกรรมตอนเด็กที่แสบซ่าที่สุดก็อาจจะเป็นการโดดซ้อม เพราะในบางครั้งก็มีเหนื่อยและเบื่อบ้างเวลาทำอะไรเหมือนเดิมซ้ำๆ ทุกวันเช้าเย็น มันก็อาจจะมีบ้างแต่ก็ไม่บ่อยนะครับ โค้ชก็ตามตัวตามระเบียบ เพราะเป็นนักกีฬาต้องรับกับคำว่า ‘เบื่อ’ ให้ได้

“ในเมื่อเรามีเป้าหมายที่สูง เราก็ควรที่จะทำตามกฎระเบียบ เพราะหากเราเหลวไหลนอกลู่นอกทางมันจะทำให้เราไม่ถึงเป้าหมายได้เหมือนกัน”

เราถามวิวต่อว่า ‘เป้าหมาย’ สำหรับเขาเป็นอย่างไร?

‘แชมป์โลก’ ‘แชมป์ออลอิงแลนด์’ และ ‘แชมป์โอลิมปิก’ คือคำตอบทั้งหมดของเขา

วิวเล่าถึง ‘ครั้งแรก’ ที่เริ่มวางเป้าหมายจริงจังในฐานะนักกีฬาอาชีพว่าเกิดขึ้นตอน 9 ขวบปลายๆ เพราะในขณะนั้นเป็นแชมป์แทบจะทุกรายการแล้ว นั่นจึงเป็นเหตุที่เขาเริ่มมองความฝันให้ใหญ่ขึ้น ประกอบกับที่ในขณะนั้นได้อยู่ทีมเดียวกับ แมน-บุญศักดิ์ พลสนะ (อดีตนักแบดมินตันมือ 1 ทีมชาติไทยและเคยเป็นมืออันดับ 4 ของโลก) ผู้เป็นไอดอลในสายอาชีพของเขานั่นยิ่งเป็นแรงผลักดันที่ยิ่งทำให้เขาอยากไปถึงเป้าหมายนั้น

พอเข้าขวบปีที่ 13 วิวเริ่ม ‘เล่นข้ามรุ่น’ ซึ่งเมื่อไปเจอรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์มากกว่าก็มีพ่ายแพ้บ้าง แต่เขามองว่านั่นคือโอกาสอันดีที่เขาจะได้เรียนรู้ว่าเขา ‘แพ้’ เพราะอะไร ด้วยปัจจัยไหน และนั่นคือสิ่งสำคัญที่เขาได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์นอกเหนือไปจากการฝึกซ้อมในทุกวัน 

แมตช์ใหญ่ครั้งแรกสำหรับผม คือ การแข่งขันเยาวชนชิงแชมป์โลก (BWF World Junior Championships) ปี 2017 เพราะว่าเป็นครั้งที่ได้เข้าชิงแชมป์โลกในรุ่นเยาวชนซึ่งผมมองว่ามันยิ่งใหญ่มากๆ

“พอเริ่มไต่ระดับความยากขึ้นมาเรื่อยๆ ความกดดันก็เพิ่มตามเพราะเราอยากได้ผลลัพธ์ที่ดี ซึ่งตอนนั้นเราเป็นมือหนึ่งเยาวชนโลกแล้วด้วยก็ปฏิเสธกับสิ่งนี้ไม่ได้ แต่ก็พยายามใช้การควบคุมตัวเองให้มากขึ้นในแต่ละทุกการแข่งขันเช่นกัน”
สำหรับเด็กๆ คนอื่น เราแต่ละคนล้วนมีเส้นทางในการเติบโตตามสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไป ซึ่งสำหรับนักแบดเยาวชนมือหนึ่งในขณะนั้นอย่างวิวแล้วนั้น การคว้าและรักษาแชมป์เยาวชนโลกถือเป็นช่วงเวลาแห่งการ Coming of Age ของเขา ตลอดทั้ง 3 ปีที่ได้เข้าไปแข่งขันและคว้าแชมป์เยาวชนโลกนั้นถือเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญในขณะนั้น 

เขาพาเราย้อนเดินทางไปยังปี 2017 ด้วยรอยยิ้ม ตั้งแต่ความตื่นเต้นในการแข่งขันระดับโลกเป็นครั้งแรก ต่อความอยากรักษาแชมป์ในปีที่สอง และการสร้างสถิติครั้งใหม่ให้กับประเทศไทยด้วยการสร้างสถิติเป็นนักแบดมินตันชายเดียวคนแรกของโลกที่คว้าแชมป์เยาวชนโลก 3 สมัยติดได้สำเร็จ 

หลังจากนั้นวิวเริ่ม ‘เทิร์นโปร’ ในรายการระดับใหญ่ขึ้น ท้าทายขึ้น อย่างการแข่งขันในรายการ World Tour ต่างๆ เขาเริ่มขึ้นโพเดียมในการแข่งขันระดับอาชีพเป็นครั้งแรกในปี 2020 และผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศในรายการระดับอาชีพได้เป็นครั้งแรกในรายการบาร์เซโลนา สเปน มาสเตอร์ 2020 (Barcelona Spain Master 2020) ซึ่งนั่นถือเป็นการคว้าโพเดียมแรกในตำแหน่งรองชนะเลิศของเขา

ตอนนั้นผมดีใจมาก แต่ต้องบอกกับตัวเองว่าเรายังต้องดีมากกว่านี้ เพราะเป้าหมายของเราคือ 3 รายการใหญ่ และแค่ขึ้นโพเดียมมันยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

วิวย้ำเป้าหมายเรื่อง ‘3 รายการใหญ่’ อีก 2-3 ครั้งเมื่อเราชวนเขาคุยถึงแต่ละแมตช์การแข่งขันที่ผ่านมาของเขาอย่างแน่วแน่และด้วยพลังอันเหลือล้น แววตาที่เป็นประกายยิ่งตอกย้ำความมุ่งมั่นของเขาได้อย่างดี

‘ยอมรับ’ แต่ ‘ไม่ยอมแพ้’

“ชิงแชมป์ออลอิงแลนด์มีทุกปี ชิงแชมป์โลกมีเกือบทุกปี แต่กับโอลิมปิกอาจไม่มีโอกาสให้แก้ตัว” วิวว่า

การที่จะแข่งโอลิมปิกครั้งแรกแล้วได้เหรียญกลับมาเลยเป็นเรื่องที่ยากมากและเขาเองก็รู้ ถึงแม้ว่าจะได้อุ่นเครื่องกับเพื่อนชาวต่างชาติที่สิงคโปร์เพื่อรู้จุดอ่อนและกลับมาพัฒนาตัวเองก่อนก็อาจไม่ช่วยลดให้ความกังวลและตื่นเต้นเท่าไรนัก เพราะโอลิมปิกคือที่ที่เขาไม่เคยไป และเขาก็เชื่อเหมือนกันว่าทุกคนที่เข้าแข่งขันต่างก็เตรียมตัวมาดีและเต็มที่ไม่ต่างอะไรจากเขา

โอลิมปิกคือความฝันของใครหลายคนที่ 4 ปีจะวนมาแค่สักครั้งหนึ่ง สำหรับแบดมินตันนี่คือเหรียญที่ใหญ่ที่สุด

“ในขณะที่แข่งผมได้แต่บอกกับตัวเองว่า ทำให้เต็มที่ จะชนะหรือแพ้นั่นคือประสบการณ์ชีวิตที่หาไม่ได้ที่ไหนแล้ว และโอลิมปิกเกมส์ไม่ได้เข้ามาเล่นง่ายๆ”

คุณเป็นคนเกลียดความพ่ายแพ้ไหม? เราถาม

“สำหรับแบดมินตันกว่าจะได้มาสักเหรียญ เราแพ้มากกว่าชนะอยู่แล้ว การยอมรับความพ่ายแพ้ได้เป็นเรื่องที่ดี ผมยอมรับแต่ไม่ยอมแพ้ครับ มองว่าค่อยๆ เรียนรู้จุดผิดพลาดหรือข้อบกพร่องของตัวเองอยู่เสมอดีกว่า ไม่มีใครเก่งค้ำฟ้าตลอดเวลา และเราต้องพยายามเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองและเพิ่มศักยภาพอยู่เสมอ

“ตอนนี้ผมก็ยังต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์อีกเยอะ เรายังไม่ใช่นักกีฬาระดับโลกขนาดนั้น และในบางครั้งผมเองก็อาจจะยังไม่ดีพอ

ไม่ดีพอ’ ที่ว่า คุณมีวิธีการจัดการความรู้สึกเช่นนั้นอย่างไร?

“ผมมองว่ามันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วแหละ เพราะว่าคนเรามีขึ้นก็ต้องมีลงถูกไหม มีแต่น้ำหนักที่มันขึ้นตลอด (ขำ) แต่ความรู้สึกไม่ดีพอมันเหมือนกับวัฏจักรชีวิตแหละครับ เมื่อขึ้นอย่าเหลิง เมื่อถึงคราวลงก็อย่าท้อ ผมแค่รู้สึกว่าถ้าทำให้มันเป็นไปตามมาตรฐานทุกวันก็เพียงพอแล้ว”

วิวย้ำว่าในทุกการแข่งขันไม่ว่าผลจะออกมาชนะหรือแพ้ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเขาคือการได้ทบทวนกับตัวเองว่าได้เรียนรู้อะไรมาบ้างจากการแข่งขันในแต่ละครั้ง และถึงแม้ว่าผลลัพธ์จะไม่เป็นดังใจหวังแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ‘การยอมรับ’ อย่างเข้าใจและไปต่อโดยที่ไม่จมปลักกับอะไรนานๆ

ครอบครัววิทิตศานต์

เราชวนวิวคุยต่อถึงเรื่อง ‘ครอบครัว’ เพราะในหลายๆ ภาพถ่ายหลังการแข่งขัน เรามักจะเห็นคุณพ่อ คุณแม่ และน้องสาวของเขาอยู่ในภาพความประทับใจเหล่านั้นอยู่เสมอ

“ผมกินนอนที่บ้านทองหยอดเลย แล้ววันอาทิตย์หรือจันทร์จะกลับไปที่บ้านหาครอบครัว ซึ่งครอบครัวผมอบอุ่นมากเลยนะ ซัปพอร์ตทั้งผมและน้องสาวที่เป็นนักกีฬาเช่นกันได้ดีมากๆ แพ้ก็ให้กำลังใจ ชนะก็แนะนำว่ายังมีรายการอื่นรอให้ไปไขว่คว้าอีก”

วิวเล่าถึงตอนเด็กว่าทั้งพ่อและแม่เขาเป็นคนที่ทำงานทั้งคู่จึงไม่ค่อยมีเวลาว่างเท่าไรนัก ในตอนเด็กสมัยที่ยังไปโรงเรียนในบางครั้งถึงคุณพ่อคุณแม่ไปส่งเข้าโรงเรียนตอนเช้า แต่ขากลับเขาก็อาจจะเดินทางกลับบ้านหรือไปซ้อมเองโดยการนั่งรถสองแถว ซึ่งเขามองว่าก็เป็นความสนุกระหว่างวันของเขาในช่วงเวลานั้นอยู่เหมือนกัน

หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่เขามักจะย้ำในหลายต่อหลายครั้งเมื่อได้ให้สัมภาษณ์ไม่ว่าจะกับที่ไหนก็ตามเกี่ยวกับการตัดสินใจเป็นนักแบดมินตันอาชีพของเขาคือ ‘ครอบครัว’ ซึ่งเขามองว่าเมื่อเขามีอาชีพ มีชื่อเสียง มีรายได้ ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เขาอยากมอบให้ครอบครัวทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวของเขาเองในปัจจุบัน หรือครอบครัวของเขาในภายภาคหน้า

เมื่อถามถึงคนที่เขาสนิทที่สุดในบ้าน วิวตอบ ‘คุณแม่’ แบบไม่ลังเล

“ผมค่อนข้างสนิทกับแม่ เพราะว่าจริงๆ แล้วคุณแม่มาหาที่โรงเรียนแบดมินตันบ่อยทั้งมาหาผมและมาส่งน้องสาว รวมถึงซื้ออาหารมาให้ หรือช่วยดูงานที่โรงเรียนให้ ผมเลยเจอคุณแม่บ่อยกว่าคุณพ่อ กับคุณพ่ออาจจะเวลาไม่ตรงกันบ่อยเลยสวนกัน สัก 3-4 สัปดาห์อาจจะเจอกันสักครั้ง”

ความสัมพันธ์กับน้องสาวก็เรียกได้ว่าสนิทมาก คุยกันได้หลายเรื่อง แถมเป็นนักกีฬาเหมือนกันอีก แต่ก็มีคิดๆ ว่าไม่อยากให้น้องสาวกดดันตัวเองมากเกินไปเพราะหลายคนก็เปรียบเทียบเธอกับเขา แต่เขากลับมองว่าหากน้องสาวเขาผ่านจุดนี้ไปได้ เธอจะเก่งกว่าเขาอีกด้วยซ้ำ

“ไม่ต้องคิดมาก หรือถ้าคิดมากจริงๆ ก็ให้มองว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องเจอ เพราะกับบางเรื่องคนเราต้องเจอเรื่องราวและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยตัวเอง รวมถึงอยากให้ทำทุกวินาทีให้เต็มที่ที่สุดทุกเมื่อที่ยังเป็นนักแบดมินตันอยู่ มันไม่มีอะไรยากเกินตัว เพราะฉะนั้นอาจจะอยู่ที่ตัวน้องเองว่าจะทำให้ตัวเองไปอยู่ที่ระดับไหน” วิวตอบเราในคำถามที่ว่าอยากบอกอะไรกับน้องสาว

‘ลิเวอร์พูล’ คือส่วนหนึ่งในการเติบโต

ถ้าไม่เป็นนักแบดมินตัน คุณมีความฝันอื่นไหม? เราถาม

“อยากเป็นนักฟุตบอล” วิวตอบอย่างติดตลก เพราะฟุตบอลคือกีฬาที่เขาชอบ และ ‘ลิเวอร์พูล’ (Liverpool F.C.) คือทีมที่เขารัก

เขาเริ่มชอบลิเวอร์พูลตั้งแต่อายุราว 12-13 ปี โดยที่ในตอนแรกเขาซื้อเคสโทรศัพท์โลโก้ของแมนยู (Manchester United F.C.) ทีมคู่แข่งอันดับ 1 ของลิเวอร์พูลมาใช้โดยที่ไม่รู้ตัว โดยที่โค้ชเป้ง (เมตไตรย์ อมาตยกุล) โค้ชคนแรกในชีวิตของเขาได้มาเจอเข้า จึงชักชวนให้เขามาเชียร์ ‘หงส์แดง’ ดีกว่า

“ผมได้ยินชื่อหงส์แดงก็รู้สึกว่ามันโคตรเท่เลยลองไปเสิร์ชหา แล้วก็เลือกเลยเพราะทีมนี้โลโก้สวยจัด”

สำหรับนักเตะในดวงใจ วิวยกให้ ‘เฟร์นันโด ตอร์เรส’ (Fernando Torres) อดีตแข้งจอมหวดสัญชาติสเปนและหนึ่งในผู้เล่นแดนหน้าคนสำคัญของลิเวอร์พูล

เราอดแซวเขาไม่ได้ถึงก่อนการแข่งขันหลายครั้งที่เขามักจะชอบเล่าว่า หากลิเวอร์พูลชนะเขาเองก็มีกำลังใจในการไปแข่งขันในสนามของตัวเองเช่นกัน

“ขอเรียกว่าพลังบลัฟแล้วกัน (ขำ) ถ้าลิเวอร์พูลชนะมันจะมีกำลังใจเพิ่มมากขึ้นถูกไหม มันอาจจะฟังดูบ้าๆ บอๆ แต่มันเป็นไปได้จริงๆ นะครับ

ถ้าหงส์แดงชนะก็คึก มีสมาธิแล้วก็กล้าเล่น กล้าได้กล้าเสีย

ที่พิเศษไปมากกว่านั้น วิวมองว่าลิเวอร์พูลคือส่วนหนึ่งในการเติบโตของเขา

“ผมว่าลิเวอร์พูลก็เหมือนผมที่ช่วงแรกอาจจะเล่นได้ยังไม่ค่อยดี แต่ก็เล่นไปเรื่อยๆ ทำมันซ้ำๆ จนปรับจูนได้จนเข้าที่และปรับทีมให้ดีขึ้นจนกระทั่งถึงวันหนึ่งที่มีโอกาสเข้าชิงและคว้าแชมป์ ซึ่งเส้นทางเหล่านี้มันไม่ง่ายเลย”

คำพูดของวิวชวนให้เรานึกถึงเพลง You’ll Never Walk Alone ของ Gerry & The Pacemakers เพลงปลุกใจของชาวเดอะค็อปที่เป็นทั้งกองเชียร์และผู้เล่นคนที่ 12 ของทีมดังแห่งเมอร์ซีย์ไซด์ ที่ว่าด้วยเวลาเจอมรสุมลมพายุเข้ามา ขอให้เราให้เชิดหน้าขึ้นเข้าไว้ อย่าไปกลัวให้เดินหน้าและพยายามต่อไป จนกระทั่งถึงวันหนึ่งเมื่อท้องฟ้าเปิดขึ้น นั่นแหละคือวันที่คุณจะประสบความสำเร็จ ซึ่งเขาเองก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน

เพราะการตีลูกขนไก่ ไม่ต่างอะไรกับการใช้ชีวิต

“เมื่อเลือกเส้นทางนี้แล้วต้องเด็ดเดี่ยว เป็นเรื่องปกติที่เมื่อเราแลกชีวิตวัยรุ่น สิ่งที่ควรจะได้กลับมาคืองานและชื่อเสียง ซึ่งผมมองว่ามันคุ้มค่าที่จะเสี่ยงนะ หรือมันอาจจะมองว่าได้อย่างเสียอย่างก็ได้”

“ที่จริงการตีแบดมันก็เหมือนการใช้ชีวิตแหละครับ เพราะต้องมีการวางแผน แผนไหนที่ดีต้องรักษาเอาไว้ แผนไหนที่รู้สึกว่าไม่ดีหรือเสียเปรียบก็อาจต้องละไว้บ้าง”

แบดมินตันคือชีวิตของผมเลย และมันเลยครึ่งชีวิตของผมไปแล้ว

วิวยืนยันกับเราอย่างหนักแน่นเช่นเคยว่าหากย้อนเวลาไปกลับไปได้ เขาก็จะยังเลือกเส้นทางเดิมอย่างไร้ซึ่งความรู้สึกเสียดาย

“แต่ถ้าย้อนกลับไปเป็นเด็กได้ สิ่งที่ผมอยากทำคือนอนนะ (ขำ) เพราะพอมาอยู่จุดนี้ก็มีนอนไม่พอเหมือนกัน เป็นนักกีฬาอาชีพแล้วมันก็แทบไม่มีเวลาให้นอน บางทีได้แค่งีบ 10 นาทีเดี๋ยวก็ต้องลงมาซ้อมแล้ว”

สำหรับแพลนในอนาคตระยะใกล้คือการแข่งรายการออลอิงแลนด์ในต้นปี 2025 และวิวเน้นย้ำว่าช่วงเวลาจนกว่าจะถึงวันนั้นเขาจะพยายามเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในสนามให้มากที่สุด ทั้งการฝึกซ้อม ดูแลสภาพร่างกาย จิตใจ และการคอนโทรลลูกแบดในสนาม

“ตอนนี้ก็พยายามทำแรงก์ให้ดีครับ จะพยายามทำตามเป้าหมายของตัวเองที่พูดไว้ให้สำเร็จ หากเป็นไปได้ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะคว้า 3 แชมป์เพื่อประเทศชาติ เพื่อครอบครัว และเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทย

“ผมอาจเกิดมาเพื่อเล่นแบดมินตัน เติบโตไปกับแบดมินตัน และเรียนรู้ชีวิตไปกับแบดมินตัน” วิวพูดกับเราพร้อมรอยยิ้ม เป็นการส่งท้าย

Writer
Avatar photo
รุอร พรหมประสิทธิ์

หนังสือ ไพ่ทาโรต์ กาแฟส้ม แมวสามสี และลิเวอร์พูล

Photographer
Avatar photo
ณัฐวุฒิ เตจา

เปรี้ยว ซ่า น่าลัก

Related Posts

Related Posts