คลี – ณัฐวุฒิ ธุระวร : หวนคืนหาเตหน่ากูและเสน่ห์มูเส่คี เมื่อดนตรีทำให้คนที่เรารักถูกจดจำ
คลี – ณัฐวุฒิ ธุระวร : หวนคืนหาเตหน่ากูและเสน่ห์มูเส่คี เมื่อดนตรีทำให้คนที่เรารักถูกจดจำ
“อยากฟังเพลงหนาว ๆ” ใครสักคนในพวกเราเอ่ยขึ้นบนรถที่กำลังมุ่งหน้าไปเชียงดาว ที่ซึ่งเราจะได้พบและพูดคุยกับ คลี – ณัฐวุฒิ ธุระวร นักร้องนำและมือ “เตหน่า” แห่งวง คลี โพ
“มันเป็นยังไงเพลงหนาว ๆ” ใครอีกคนถามขึ้น
“ก็เพลงที่เวลาขึ้นดอยแล้วต้องฟังอะ” ใครคนนั้นตอบ
ฉันมีฝูงวัวเป็นเพื่อนเดินทาง
ฉันมีฝูงควายเป็นเพื่อทำนา
มีแมลงกลางคืนเป็นเพื่อนร้องเพลง
เพลงบนรถของเราเปลี่ยนจากเพลงสากลเป็นเพลงโฟล์กจังหวะสนุก ฟังสบาย และ “หนาว” สมใจ อย่างเพลง คิดถึง ของ คลี โพ
แม้เพลงจะไม่อาจทำให้เรารู้สึกร้อนหรือหนาวที่ผิวกายได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพลงแต่ละเพลงทำงานกับความรู้สึกของเราแตกต่างกันไป บางเพลงพาเราย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านพ้น คนบางคนจะปรากฏขึ้นมาในมโนภาพเมื่อเราฟังเพลงอีกเพลง เสียงบรรเลงอูคูเลเล่อาจทำให้เรานึกภาพอื่นไม่ออกนอกไปจากทะเลและฟ้าใส ความรู้สึก “หนาว” และภาพภูเขา ลำเนา ไพร ก็มักจะผุดพรายขึ้นมาในความคิดเมื่อได้ฟังเพลงโฟล์กสักเพลงหนึ่ง
บทเพลงของวง คลี โพ (Klee Bho) วงดนตรีแนว contemporary music ที่มี “เตหน่ากู” เครื่องดนตรีของชาวปกาเกอะญอเป็นเครื่องเอกและถูกถ่ายทอดออกมาอย่างไพเราะโดยคลี ก็ทำงานกับเราแบบนั้น ภาพของหมอกที่โรยตัวลงปกคลุมผืนป่าจะปรากฏชัดราวกับมองเห็นอยู่ตรงหน้าคราใดก็ตามที่เราได้ฟังท่วงทำนองจากเตหน่ากู
เสียงเตหน่าของคลี คือเสียงที่กลั่นออกมาจากความทรงจำ วิถีชีวิต และบรรยากาศของ “มูเส่คี” ชื่อเรียกอาณาบริเวณวัดจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ต้นน้ำแม่แจ่ม” ดินแดนต้นน้ำที่ปกคลุมไปด้วยป่าสนพื้นที่นับแสนไร่ เรียกได้ว่าเป็นป่าสนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในพื้นที่แห่งนี้ พี่น้องชาวปกาเกอะญอกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืนและกลมเกลียวมาหลายชั่วอายุคน
คลีคือหนึ่งในนั้น เขาเคยเป็นนักศึกษาหลักสูตรดนตรีศึกษา วิทยาลัยดุรยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ เขาเคยต่อปริญญาโท สาขาวิชาการจัดการศิลปะและวัฒนธรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาเคยเป็นนักดนตรีกลางคืนที่เล่นตามร้านต่าง ๆ ในเชียงใหม่
และแล้ววันหนึ่งคลีก็ตัดสินใจทิ้งทุกอย่างที่เชียงใหม่เพื่อเดินทางกลับไปยังดินแดนแห่งป่าสนต้นน้ำแม่แจ่ม ที่ที่เขาได้ก่อตั้ง “เด๊อะโพ” โฮมสเตย์บ้านน้อยในป่าสน เพื่อต้อนรับนักเดินทางจากต่างถิ่นและใช้จัดงานดนตรีเล็ก ๆ ควบไปกับกิจกรรมตามฤดูกาลของชาวปกาเกอะญอ นอกจากนั้นเขายังใช้เวลาบางส่วนไปกับการพัฒนา “เตหน่ากู” เครื่องดนตรีชนเผ่าที่เขาเคยคิดว่าน่าเบื่อให้เล่นสนุกทัดเทียมเครื่องดนตรีสากล และทำเพลงเพื่อถ่ายทอดความเป็นปกาเกอะญอออกมาผ่านบทเพลงและเสียงเตหน่ากูร่วมกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในคลี โพ เพราะเขาเชื่อว่าพลังความสงสัยใคร่รู้และหัวใจอันเปิดกว้างของคนรุ่นใหม่จะทำให้ตัวเขาเองและ “บ้าน” ของเขาไปต่อได้
นักดนตรีต้องมีอาชีพหลัก
เมื่อเราถามถึงเส้นทางสายดนตรีของเขา คลีก็ให้คำตอบที่เหนือความคาดหมาย
“จริง ๆ ผมไม่ได้อยากเป็นนักดนตรีขนาดนั้น”
ท่วงทำนองแรกที่คลีจดจำได้ คือทำนองเพลงกล่อมเด็กของยายและแม่ จากนั้นจึงเป็นเสียงดนตรีของพ่อ หรือที่ชาวปกาเกอะญอแห่งมูเส่คีต่างรู้จักกันในชื่อ พาตี่ทองดี ศิลปินชาวปกาเกอะญอผู้ใช้เสียงเพลงมาช่วยในการเรียกร้องสิทธิของชาวปกาเกอะญอและถ่ายทอดเสียงของชาวปกาเกอะญอให้คนพื้นราบได้ยินและหันมาสนใจ
“พ่อเป็นนักดนตรี ทำเพลง เขียนเพลง เขียนหนังสือ และเป็นนักเคลื่อนไหว มีกีต้าร์ มีเตหน่า ก็ชอบเล่นให้ฟัง พ่อไปสร้างบ้านที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณสองกิโล พ่อก็จะเล่นเล่นดนตรีให้ฟังตลอด เราก็รู้สึกว่ามันสนุกดี”
เมื่อถึงวัยประถม คลีก็เริ่มหัดเล่นดนตรีโดยมีพ่อเป็นผู้สนับสนุนคอยซื้อเครื่องดนตรีมาให้เขาได้ลอง ก่อนที่เด็กชายคลีจะเริ่มหยิบเครื่องดนตรีไปเล่นกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนและที่โบสถ์
“สมัยเด็กก็จะมีคอนเสิร์ตให้ดู เราก็เป็นคนหนึ่งที่อยากเป็นร็อกสตาร์ ผมว่าตอนเด็กเรามีช่องทางให้ดูน้อยด้วย ถ้าบอกชื่อก็มีแกรมมี อาร์เอส มีพวกร็อกสตาร์ เราซื้อแผ่นมาดูเราก็รู้สึกแบบนั้น ยิ่งใส่หูฟังด้วยก็คิดว่าซาวด์มันดีจังเลย เราก็เป็นคนหนึ่งที่อยากอยู่บนเวทีบ้าง ผมว่าเด็กทุกคนน่าจะมีความรู้สึกนั้น พอโตขึ้นเราก็ทำมันได้ดี เลยรู้สึกว่าถ้าต้องออกไปทำงานหาเงินโดยไม่ต้องขอเงินพ่อแม่ก็น่าจะเป็นดนตรีนี่แหละที่เรามีความสุขที่สุด”
นั่นทำให้คลีเลือกเรียนหลักสูตรดนตรีศึกษา วิทยาลัยดุรยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ ก่อนจะมาเป็นนักดนตรีกลางคืนที่เชียงใหม่ ซึ่งทำให้เป้าหมายของการเล่นดนตรีของเขาเปลี่ยนไป
“พอมาเล่นจริง ๆ เราไม่ได้อยากเป็นแบบนั้นแล้ว ถามว่ามันหายไปตอนไหน ก็ตอนที่เราอยู่บนเวที เราว่ามันใช้พลังงานเยอะ แล้วบางทีเราก็ไม่อยากไปยึดติดว่ามันต้องดี และเราก็เป็นศิลปินอินดี้ ไม่ได้มีการจัดการหรือระบบอะไรขนาดนั้น หลายครั้งที่เราไปเล่นเราก็จัดการทุกอย่างเอง บางทีไปฟรีก็มี บางทีติดลบก็มี มันไม่ได้ง่ายเลย”
นั่นไม่ได้แปลว่าคลีอยากวางมือจากดนตรี หากแต่ภาพของนักดนตรีที่เป็นร็อกสตาร์นั้นเลือนไป และแทนที่ด้วยภาพของนักดนตรีที่ “ทำงาน” กับดนตรี นักดนตรีที่ไม่ต้องคอยกังวลว่าการแสดงของเขาจะออกมาดีเท่าที่คาดไว้ไหมในการขึ้นเวทีแต่ละครั้ง และนักดนตรีที่เชื่อว่าเขาต้องหา “อาชีพหลัก” เพื่อให้เขาทำงานกับดนตรีได้อย่างอิสระ
“ผมเล่นดนตรีทุกวันนี้ ก็ให้มันพาไปได้สองอย่าง คือ ข้างในเรา เล่นดนตรีแล้วมีความสุข และอีกอย่างคือเรื่องปัจจัยซึ่งจะพาครอบครัวไปได้ เล่นแล้วได้เงินจากการขาย streaming การทำเพลงลงช่อง youtube พอเขาไป stream เราก็ได้เงินและเอาเงินพวกนั้นมาต่อยอด ส่วนหนึ่งเอาไปเลี้ยงดูครอบครัว นั่นคือการพาครอบครัวเราไปได้พร้อมกับข้างในของเรา ผมเลยคิดว่าถ้าจะออกไปเล่นดนตรีหรือทำดนตรี สิ่งที่เราทำหรือสิ่งที่เราบอกว่าเรารักอย่างดนตรี มันก็ต้องดูแลคนที่เรารักและคนที่รักเราได้ด้วย”
“อีกอย่างพออยู่บนเวที ความจริงแล้วมันซีเรียส แต่เราชอบเขียนเพลง ชอบเล่นดนตรี คำว่านักดนตรีถ้าต้องไปอยู่บนเวทีอย่างเดียวคงไม่ใช่ผม ผมอยากเป็นนักดนตรีที่ทำงานกับดนตรีแล้วพาคนที่เรารักไปด้วยได้ แต่ถ้าอยู่บนเวทีเราอยากเล่นเพื่อปลดปล่อย หลัง ๆ มาก็รู้สึกว่า ไปหาอาชีพหลักเถอะ เพื่อที่จะได้มาทำตรงนี้อย่างที่อยากทำ หรือทำได้มากที่สุดอย่างที่เราสบายใจ”
เพราะเขาอยากทำดนตรีแบบที่ชอบได้อย่างสบายใจ เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งที่เรารักจะต้องพาคนที่เรารักไปด้วยกันกับเราได้ กอปรกับความคิดถึงบ้าน คลีจึงทิ้งชีวิตนักดนตรีที่เชียงใหม่และกลับไปยังถิ่นป่าสนต้นน้ำ ดินแดนที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีผู้คนที่เขาเคยคุ้น มีรากวัฒนธรรมของพี่น้องชาวปกาเกอะญอ มีเสียงดนตรีชนเผ่า และมี “บ้าน” ซึ่งทั้งหมดนี้ได้กลายมาเป็นองค์ประกอบของ “อาชีพหลัก” ของคลีที่รอให้คนพื้นราบได้มาสัมผัส
เสน่ห์มูเส่คีและดนตรีเพื่อความสุข
“เมื่อก่อนผมเล่นดนตรีอาชีพที่เชียงใหม่ เล่นดนตรีกลางคืนบ้าง เล่นที่โรงแรมบ้าง เล่นเพลงตลาดบ้าง เพลงตาม theme ของสถานที่ที่เราไปบ้าง แต่สิ่งที่เปลี่ยนผมให้อยากกลับไปอยู่บ้านน่าจะเป็นความเป็นไปได้ที่มันจะพาผมและครอบครัวไปได้” คลีเล่าถึงช่วงที่เขาตัดสินใจกลับมาอยู่มูเส่คี
เป็นความจริงที่เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในปัจจุบันได้เชื่อมโลกทั้งโลกไว้ด้วยกัน และทำให้วัฒนธรรมรองรวมถึงวิถีชีวิตของคนบางกลุ่มถูกกลืนไปโดยวัฒนธรรมหลัก หากแต่การมาถึงของเทคโนโลยีก็ยังมีข้อดีบางประการ สำหรับคลี เทคโนโลยีได้ทำให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวและทำให้เกิดอาชีพใหม่อย่างบล็อกเกอร์และเพจท่องเที่ยว และนั่นหมายถึง “โอกาส” ของเขาและชาวปกาเกอะญอที่มูเส่คีด้วยเช่นกัน
“สิ่งที่เปลี่ยนผมให้กลับไปอยู่บ้านน่าจะเป็นความเป็นไปได้ที่มันจะพาผมและครอบครัวไปต่อได้ เราเห็นแล้วว่ามันมีกระแสบล็อกเกอร์ กระแสการท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงอนุรักษ์ สายลม แสงแดด เด็กยุคนี้เขาโหยหา แล้วก็เป็นสิ่งที่เราเองก็ต้องการเหมือนกันเพราะเราเคยอยู่แบบนั้นมา เราก็คิดถึงมันเหมือนกัน เราคิดว่าบ้านเรามันมีทุกอย่าง ทั้งรากที่แข็งแรงของความเป็นปกาเกอะญอ เรื่องดนตรีครอบครัวเราก็เล่น อากาศก็ดี เลยรู้สึกว่าการกลับไปมันต้องมีอาชีพใหม่ ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ มันทำให้เกิดเป็นอาชีพแล้วพาครอบครัวไปต่อได้ จากที่เมื่อก่อนคนมักจะมีมายาคติว่า หูย ชนเผ่าไม่ต้องไปหรอก น่ากลัว แต่เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ มีสื่อในมือ ได้เดินทางเอง ก็ได้เปลี่ยนมุมมอง เราเองก็ได้เห็นว่าเด็กยุคนี้เขายอมรับในความหลากหลายได้ มันก็ตัดสินใจง่ายมากในการทิ้งทุกอย่างที่เชียงใหม่แล้วขึ้นดอยเลย”
ที่ “เด๊อะโพ” โฮมสเตย์ของคลีในอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ คลีใช้ดนตรีที่เขารักมาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการท่องเที่ยว เมื่อใดที่คลีเปิดบ้านต้อนรับนักเดินทาง เขามักจะพาศิลปินสักวงขึ้นไปเที่ยวดอยด้วย กลางวันพากันไปทำกิจกรรมในชุมชน ส่วนกลางคืนล้มวงก่อกองไฟ เล่นดนตรี เว้นว่างจาก “อาชีพหลัก” เขาก็ยังคงเขียนเพลงและเล่นดนตรีคลายเหงาเช่นเดิม
“เวลาอยู่คนเดียวก็มีเครื่องดนตรีแหละครับที่อยู่กับเรา จะอยู่บนภูเขา อยู่บ้าน กลับไปทำงาน ตอนเย็น ๆ ก็หยิบมาเล่น และยุคสมัยนี้ถ้าเราคิดว่า เฮ่ย เล่นให้เพื่อน ๆ ฟังด้วยดีกว่า เราก็ไลฟ์สดได้ เราคุยกับเครื่องที่เราเล่นผ่านทำนอง แล้วสื่อสารออกไป คนอื่น ๆ ก็สนุกไปด้วย มันก็เหมือนเป็นเพื่อนแท้ที่ทำให้เราไม่เหงา”
และเมื่อกล่าวถึงเพลงที่คลีเขียน เราคงไม่พูดถึง คลี โพ ไม่ได้
คลีเริ่มเขียนเพลงและทำเพลงคนเดียวมาตั้งแต่ปี 2550 และยังเล่นให้วงดนตรีหลาย ๆ วงในเชียงใหม่ ก่อนจะมาถึงจุดเริ่มต้นของวง คลี โพ เมื่อประมาณ 5 ปีก่อนในวันที่เขาต้องเตรียมตัวเพื่อจะเป็นสปีกเกอร์ในงาน TedEx เชียงใหม่ คลีจึงชวนเพื่อน ๆ ที่เคยร่วมแจมร่วมเล่นดนตรีกลางคืนด้วยกันมารวมวง จนออกมาเป็น คลี โพ วงดนตรีแนว contemporary music ที่มีสมาชิกหลักสี่คน ได้แก่ คลี ที่เล่นเตหน่ากูและร้องนำ เอก-เอกชัย เทพรักษา เป็นมือแซ็กโซโฟน ดรีม-กิติพงศ์ โพธิ์สวัสดิ์ เล่นเบส และ จิ๊บ-นักรบ เนื่องกลาง เล่นเจมเบ้
“วันนั้นเป็นวันที่ผมต้องไปเป็นสปีกเกอร์ที่ TedEx เชียงใหม่ แล้วเป็นวันที่ผมต้องรวมวงดนตรี เลยคิดว่าพี่เอกก็เล่นกับผม ทุกคนก็เคยเล่นกับผม แต่ไม่ได้เล่นดนตรีที่ผมเขียน ก็เลยชวนมาเล่นด้วยกัน ก่อนหน้านั้นก็เคยรวมวงแต่ไม่ได้เป็นกิจจะลักษณะ แต่พอต้องมาเป็นสปีกเกอร์แล้วต้องเล่นเป็นวง มันมีระยะเวลาจำกัด เลยต้องตั้งใจทำ แล้วพอตั้งใจทำมันก็ออกมาดี เลยตัดสินใจทำอัลบั้มกันเป็นวงแบบ full band”
“Tales of Taenagu” หรือ เรื่องเล่าของเตหน่า อัลบั้มแรกของ คลี โพ ออกมาในปี 2561 อัลบั้มที่มีบทเพลงดั้งเดิมจากบทธา บทกวีของชาวปกาเกอะญอที่พูดถึงสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนและสายสัมพันธ์สำหรับคนกับธรรมชาติ และประยุกต์กับดนตรีสากล ซึ่งคลีตั้งใจใช้เพลงเหล่านี้ถ่ายทอดบรรยากาศของมูเส่คีและวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอให้คนอื่น ๆ ได้ฟัง
ชื่อ “คลี โพ” เป็นภาษาปกาเกอะญอ ที่จริงพ่อของคลีตั้งชื่อปกาเกอะญอให้เขาว่า เก่อญอคลี “คลี” ในชื่อนี้ แปลว่า เมล็ดพันธุ์ “เก่อญอคลี” จึงแปลว่า เมล็ดพันธุ์ปกาเกอะญอ ราวกับว่าเขามีน้ำหนักของการเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังของชาวปกาเกอะญอให้ต้องแบก คลีจึงเลือกตั้งชื่อวงว่า “คลี โพ” ตามชื่อ “ซอว์คลีโพ” ที่ยายใช้เรียกเขา ซึ่ง “คลี” ในคำนี้มีความหมายว่า เรือ และ “คลี โพ” ก็แปลว่า เรือลำน้อย ที่ให้ความรู้สึกเป็นอิสระมากกว่า… ความเป็นอิสระและไม่ต้องแบกการเป็น “เมล็กพันธุ์ของชาวปกาเกอะญอ” นี้ สะท้อนออกมาผ่านเป้าหมายที่เปลี่ยนไปในการเล่นดนตรีของคลีด้วยเช่นกัน
“ในช่วงเวลาหนึ่ง พ่อผมเป็นนักขับเคลื่อนเรื่องสิทธิชุมชน ต่อสู้กับนโยบายรัฐเพราะมันมีนโยบายไล่คนออกจากป่า เมื่อก่อนมันยังต้องทำแบบนั้นเพราะว่าเสียงเราไม่ดัง เอะอะมหานครก็ชี้นิ้วมายังภูเขา “นี่! พวกทำลายป่า” น้ำท่วมก็ชี้นิ้วมาทางเรา ก็มีแค่นักเขียน กวี ศิลปินเท่านั้นที่มีเสียง ถ้าเราจะไปพูดเฉย ๆ มันก็น่าเบื่อ แต่พอมีดนตรีเข้ามามันก็น่าฟังมากขึ้น คนข้างล่างก็ฟัง ในปี 2550 ผมก็ยังใช้เพลงเป็นเครื่องมือต่อสู้และด่ารัฐบาลอยู่ เพราะตอนนั้นสื่อก็ยังไม่มี เฟซบุ๊กก็ยังไม่มี มีแค่ไฮไฟฟ์ แล้วทุกคนก็ไม่ได้มีสื่อในมือแบบทุกวันนี้ แต่เมื่อปีสองปีมานี้ ผมรู้สึกว่าผมไม่ต้องทำแล้ว มันเป็นพลังงานไม่ดีนะ การที่จะเอาเพลง สิ่งที่เรารักไปด่าคนอื่น เราเลยคิดว่ามันหมดยุคนั้นแล้วแหละ เราแค่อยากเล่นดนตรีแบบมีความสุขแล้วทำให้คนอื่นมีความสุข”
“เราเชื่อว่าทุกวันนี้ดนตรีก็ยังทำให้เกิดพลังมวลชนได้ เราก็เห็นกันอยู่แล้วจากสิ่งที่ขับเคลื่อนกันมา แต่ผมว่าผมไม่ต้องทำตรงนั้นแล้ว ผมสามารถออกไปเล่นดนตรีแบบมีความสุขได้แล้วหลังจากนี้ แล้วถ้าจะต้องออกไปสู้กับอะไรสักอย่าง ผมคิดว่าผมช่วยอย่างอื่นดีกว่า”
เรื่องเล่าของเตหน่า
สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ในบทเพลงของ คลี โพ คือท่วงทำนองใสกังวานที่ขับขานออกมาเมื่อคลีกรีดนิ้วลงไปบนสาย “เตหน่ากู”
เตหน่ากู คือเครื่องดนตรีของชาวปกาเกอะญอที่ใช้เล่นประกอบบทธา ในบรรดาเครื่องดนตรีชาวปกาเกอะญอ เช่น กลองกบ ขลุ่ยปกาเกอะญอ ปอกุ๊ เตหน่าคือเครื่องดนตรีที่มีเอกลักษณ์ที่สุด เครื่องดนตรีชิ้นนี้มีลักษณะคล้ายพิณ ตัวเครื่องและลูกบิดทำจากไม้ ส่วนสายในอดีตทำมาจากเอ็นสัตว์ ก่อนจะเปลี่ยนวัสดุเป็นเถาวัลย์ และปัจจุบันกลายเป็นสายเบรกมอเตอร์ไซค์ ด้วยวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้ ทำให้เตหน่ามีข้อจำกัดในการเล่นมากมาย คลีในวัยเด็กจึงสนใจในเครื่องดนตรีตะวันตกมากกว่าเตหน่า แม้จะโตมาท่ามกลางเสียงเตหน่าและเครื่องดนตรีอื่น ๆ ของ พาตี่ทองดี ผู้เป็นพ่อ
“ผมได้ฟังเตหน่ามาตั้งแต่เด็กเพราะพ่อและน้าเล่น แต่ไม่ค่อยได้จับเท่าไหร่ ถ้าเริ่มจับน่าจะสักมัธยมต้น เพราะพูดตรง ๆ เลยว่ามันน่าเบื่อ เวลาไปเล่นกีต้าร์ เล่นเปียโน มันเล่นสนุก มันไม่เพี้ยน แต่ลูกบิดของเตหน่ามันเป็นลูกบิดไม้ ตั้งเสร็จก็เพี้ยน เพี้ยนเสร็จก็ต้องหมุน หมุนก็เจ็บมือ พอหมุนเสร็จยังต้องใช้ไม้เคาะให้มันแน่น เวลาไปเล่นร่วมสมัยกับเครื่องดนตรีอื่นก็เพี้ยนและมันทำให้ต้องเริ่มเล่นช้า ไม่ทันใจวัยรุ่น แต่ผมก็เล่นบ้าง เล่นคนเดียว ได้ยินเสียงที่พ่อเล่นก็อยากลองทำนองแบบนั้นบ้าง แต่ก็ไม่ได้จริงจัง”
จนกระทั่งราว ๆ ปี 2550 คลีก็เริ่มหยิบเตหน่าขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่และอุทิศเวลาและงานวิจัยในช่วงที่เรียนปริญญาโท สาขาวิชาการจัดการศิลปะและวัฒนธรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปกับการพัฒนาเตหน่าที่หากคำนวณตัวเลขคร่าว ๆ ของชาวปกาเกอะญอที่ยังสามารถเล่นเตหน่าได้อย่างถนัดมือจริง ๆ อาจเหลือไม่ถึง 100 คน
“ปัญหาของมันไม่ใช่แค่ไม่มีผู้สืบทอด แต่เป็นเรื่องของรูปแบบและวิธีการเล่นที่น่าเบื่อ แม้กระทั่งเราเอง เราใช้คำว่าอนุรักษ์ เราอยากให้มันอยู่ต่อ แต่เราก็ยังรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ เราก็เลยหาวิธีรูปแบบที่มันเล่นได้ง่ายขึ้น เพี้ยนยากขึ้น”
เพราะโกหกตัวเองไม่ได้ว่าเตหน่าไม่น่าเบื่อ คลีที่อยากกลับมาเล่นเตหน่าเพราะอย่างไรเสียก็เป็นเครื่องดนตรีที่เปรียบเสมือนตัวแทนของชาวปกาเกอะญอที่ใกล้จะสูญหายไป จึงทำทุกอย่างเพื่อจะพัฒนาให้เตหน่าไม่น่าเบื่อ จากที่คอของเตหน่ามีแค่คอเดียว เขาก็เปลี่ยนให้มีสองคอ ลองใช้เทกนิคเขย่าสายให้เกิดเสียงไวเบรโตแบบเคริ่งดนตรีสากล จากที่มี 10 สายก็เปลี่ยนเป็น 14 สายเพื่อเสียงที่หลากหลายขึ้น จากที่ตั้งสายครั้งหนึ่งเล่นได้เพียงคีย์เดียวหรือสองคีย์ คลีก็ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมามาแก้ปัญหาให้การตั้งสายครั้งหนึ่งสามารถเล่นได้ 6 คีย์ และเปลี่ยนปิ๊กอัพให้เป็นปิ๊กอัพของเครื่องดนตรีสากลเพื่อคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น
เมื่อกล่าวถึงเรื่องการพัฒนาสิ่งที่เป็นมรดกตกทอดหรืออัตลักษณ์ของคนสักกลุ่ม คำถามที่เราไม่ถามคลีไม่ได้จึงเป็นคำถามที่ว่า พัฒนาแค่ไหนถึงไม่ทำลายอัตลักษณ์ของตัวเอง
“เคยทำถึงขั้นเหมือนกีต้าร์ พอเล่นมันก็ไม่รู้สึกแล้ว เพราะถ้าจะเล่นขนาดนี้ก็ไปเล่นกีต้าร์ดีกว่า” คลีตอบ “ผมว่าทำยังไงก็ได้ที่เรารู้สึกว่ามันยังเป็นเตหน่าอยู่ แต่ถ้าปรับจนมันเหมือนกีต้าร์แล้ว เราไม่รู้สึกอยากจะเล่นแล้ว อันนั้นก็ไม่น่าจะใช่แล้ว และมันก็อยู่ที่ทำนองด้วยครับ บางทีผมก็บอกน้อง ๆ ที่สนใจว่า เล่นเตหน่าโดยใช้กีต้าร์แทนก็ได้ นั่นหมายความว่าสิ่งสำคัญคือทำนอง ทำนองโบราณ ทำนองที่คนปาเกอะญอเขาเล่นกัน ดังนั้นหมายความว่า ต่อให้คุณเล่นเตหน่าตัวที่ดีขนาดไหน แต่ถ้าคุณไม่รู้จักทำนองปกาเกอะญอ มันก็อาจจะกลายเป็นกีต้าร์ก็ได้ การได้ศึกษาและเรียนรู้เรื่องทำนอง เรื่องวิถีชีวิต ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะสามารถถ่ายทอดเตหน่าได้อย่างเป็นปกาเกอะญอที่สุด”
คำตอบของคลีทำให้เรานึกไปถึงเรื่อง “เพลงหนาว ๆ” ที่เราคุยกันไปบนรถ และทำให้เราถามคลีต่อว่า พอจะมีเหตุผลอธิบายได้ไหมว่าเพราะเหตุใดเราถึงมักจะอยากฟัง “เพลงหนาว ๆ” เมื่อขึ้นดอย และเพราะอะไรเมื่อฟังเพลงบางเพลง เราก็จะต้องนึกถึงภาพทะเลหมอกบนดอยเสมอ
“เรื่อง feeling of music มันพูดยากเหมือนกัน แต่มันก็รู้สึกได้เนอะ รู้สึกว่าเพลงนี้คนที่เขียนขึ้นมาต้องเป็นคนภูเขาแน่เลย ลองเอาเพื่อน ๆ ที่ทะเลมาเขียนเพลงภูเขามันก็ไม่ใช่ อย่างผมชอบฟังเพลงร็อกนะ เวลาอยู่เชียงใหม่ใส่หูฟังก็ชอบร็อกแต่พออยู่บนดอย อากาศหนาว ๆ นี่ฟังไม่ได้เลยครับ ต้องเป็นโฟล์ก เป็นคันทรี ผมว่ามันขึ้นอยู่กับสถานที่ ผู้คน และบรรยากาศหลายอย่าง อย่างทำนองของเตหน่าก็จะบ่งบอกถึงความเป็นปกาเกอะญอ การอยู่กับป่า การอยู่กับธรรมชาติ จะไม่มีความเป็นร็อก กรีดออกมาแล้วต้องคิดถึงภูเขา อากาศเย็นลอยมาเลย”
เป้าหมายของการกลับมาเล่นและพัฒนาเตหน่ากูของคลี คือการฝากเรื่องราวของชาวปกาเกอะญอทิ้งไว้ในบทเพลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนบนภูเขา เรื่องราวของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ และวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอที่กำลังจะหายไป นั่นรวมถึงท่วงทำนองของชาวปกาเกอะญอด้วย
“ในหนึ่งปีมีเผ่าพันธุ์ที่หายไปจากโลกนี้เยอะ วันหนึ่งคนปกาเกอะญอก็อาจจะหายไปและถูกกลืนไปกับวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง ก็อาจจะมีเครื่องดนตรีตัวหนึ่งคือเตหน่าที่ยังถูกเล่นอยู่ วันนึงมันจะถูกพัฒนาโดยคนรุ่นหลังจนมันแขวนไว้ในร้านดนตรีในห้างได้ ถ้าเป็นแบบนั้นเตหน่าก็ยังมีชีวิตอยู่เป็นตัวแทนของเผ่าพันธุ์เราต่อไป”
“ถามว่าทุกวันนี้มันดีไหม ผมมองว่าทุกวันนี้มันดีตรงที่ว่าคนที่สนใจเล่นเตหน่าไม่ใช่ชาวปกาเกอะญอแล้ว แต่เป็นคนทั่วไป คนไทย คนฝรั่ง ผมเลยคิดว่าวันหนึ่ง เขาจะรู้ว่าเครื่องดนตรีนี้คือเตหน่านะ แต่วิธีเล่นมันเป็นสากลและคนทั่วไปก็อยากจะเล่น อาจเล่นเพื่อฝึกสมาธิ เล่นเพื่อศึกษาทำนองดั้งเดิมของปกาเกอะญอก็ได้ ผมไม่ได้คาดหวังว่าคนปกาเกอะญอต้องกลับมาเล่น อาจเป็นใครก็ได้ที่เล่นแล้วออกไปเล่าในรูปแบบของตัวเองว่านี่คือเครื่องดนตรีของชาวปกาเกอะญอ หน้าตามันเป็นแบบนี้”
เพราะคลีไม่ได้มีความฝันใกญ่โตอย่างการทำให้ชาวปกาเกอะญอทุกคนกลับมาเล่นเตหน่า หรือการทำให้เตหน่ากลายเป็นเครื่องดนตรียอดฮิตแบบเครื่องดนตรีสากลอย่างกีต้าร์หรือเปียโน แต่คือการทำให้ใครสักคนหันมาสนใจเตหน่าบ้างสักเล็กน้อย เพื่อให้เตหน่ากูยังคงอยู่เป็นตัวแทนและเป็นหลักฐานว่าครั้งหนึ่งเคยมีชาวปกาเกอะญออยู่ตรงนี้ แม้ในวันที่วิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญออาจถูกกลืนหายไปในวัฒนธรรมกระแสหลักแล้วก็ตาม
“เด็กยุคนี้เขาสนใจอะไรแบบนี้ แบบถ้าฉันอยากเล่นดนตรีเครื่องหนึ่ง ฉันจะเล่นอะไรดีหว่า กีต้าร์ก็มีคนเล่นเยอะแล้ว เปียโนก็มีเยอะแล้ว ถ้าเขาได้เห็น ได้ฟัง ได้สัมผัสเตหน่าด้วยตัวเอง เตหน่ากูอาจจะเป็นตัวเลือกของเขาก็ได้”
Writer
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา
อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า
Photographer
ฉัตรมงคล รักราช
ช่างภาพ และนักหัดเขียน
illustrator
พรภวิษย์ เพ็งเอียด
ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม