‘Kitblox’ สนามเด็กเล่นไม่สำเร็จรูปที่ให้เด็กเป็น ‘ผู้สร้างการเล่น’ ในแบบของตัวเอง

‘Kitblox’ สนามเด็กเล่นไม่สำเร็จรูปที่ให้เด็กเป็น ‘ผู้สร้างการเล่น’ ในแบบของตัวเอง

ยังจำกันได้ไหมว่าตอนเด็กๆ อะไรคือสิ่งแรกที่ตัวเรามักจะมองหาเมื่อก้าวเข้าสู่ ‘สนามเด็กเล่น’?

‘นินา-ญารินดา บุนนาค’ บอกกับเราว่าการได้ปีนขึ้นที่สูง คือความสนุกอย่างแรกที่ตัวเธอในวัยเด็กเลือกกวาดสายตามองหาในสนามเด็กเล่น และในตอนนี้กิจกรรมสุดโปรดของเธอก็คือการปีนหน้าผาจำลอง

ในมุมมองของนินา ‘ช่วงเวลาของการเล่น’ ถือเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ จะได้ลองสำรวจและค่อยๆ ซึมซับคุณค่าจากการได้ลงมือทำ ลองผิดลองถูก และใช้จินตนาการอย่างเต็มที่ เธอจึงรู้สึกสนใจการเล่นและวิธีการเรียนรู้ผ่านการเล่นของเด็กๆ มากเป็นพิเศษในฐานะของการเป็นคุณแม่และนักออกแบบ

‘สนามเด็กเล่น’ ที่เห็นในสวนสาธารณะหรือตามโรงเรียนหลายแห่งในกรุงเทพฯ ก็เป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากฝีมือการออกแบบของนินาและทีม Imaginary Objects สตูดิโอรับออกแบบที่เธอร่วมก่อตั้งขึ้นมากับ Roberto Requejo เพื่อนสนิทจากสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัย Cornell 

พื้นที่แห่งความสร้างสรรค์

Imaginary Objects เริ่มออกแบบสนามเด็กเล่นตั้งแต่ปี 2019 ในช่วงที่มีเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week โดยมีโจทย์คือการนำเอาพื้นที่ว่างในกรุงเทพฯ และสนามเด็กเล่นมาเป็นประเด็นตั้งต้น 

เมื่อได้ลองสำรวจพื้นที่ในกรุงเทพฯ นินาเล่าว่าเธอและทีม Imaginary Objects ตั้งสมมติฐานว่าความจริงแล้วกรุงเทพฯ นั้นมีพื้นที่เหลือใช้ที่เป็นพื้นที่รกร้างอยู่เยอะมาก เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วนที่คนส่วนใหญ่อาจมองว่าเป็นพื้นที่ที่น่ากลัวหรือเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงไม่ได้ และในขณะเดียวกันกรุงเทพฯ ก็ยังคงขาดพื้นที่ outdoor และพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะสำหรับเด็ก 

ด้วยเหตุนี้ Imaginary Objects จึงนำเอาโจทย์เรื่องพื้นที่ว่างในกรุงเทพฯ และสนามเด็กเล่นมาผูกกัน กลายเป็นโปรเจกต์ที่จะสร้างสนามเด็กเล่นตามพื้นที่ว่างต่าง ๆ ในชุมชนด้อยโอกาส

“เรามองว่าตัวสนามเด็กเล่นเป็นเสมือนแม่เหล็กของชุมชน พอพ่อแม่พาลูกมาเล่น พ่อแม่ก็จะได้รู้จักเพื่อนบ้าน เกิดเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน และมันก็เกิดการพัฒนาพื้นที่ สนามเด็กเล่นไม่ได้ให้ประโยชน์แค่เฉพาะกับเด็กแต่มันเป็นการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ที่น่าอยู่ เป็นพื้นที่ที่ไม่น่ากลัว”

แม้ว่าท้ายที่สุดสนามเด็กเล่นที่ออกแบบจะไม่ได้ถูกนำไปตั้งในชุมชนอย่างที่ตั้งใจไว้ เนื่องด้วยข้อจำกัดหลายอย่างทั้งในแง่ของการจัดสรรพื้นที่ว่าง และการที่พื้นที่เหล่านั้นยังคงมีความเกี่ยวข้องกับชาวบ้านในพื้นที่ในแง่ของศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณี แต่สนามเด็กเล่นเหล่านั้นก็ยังคงถูกนำไปบริจาคให้กับสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ 

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบสนามเด็กเล่นของ Imaginary Objects ที่ทำให้มีการต่อยอดและงอกเงยโปรเจกต์สนามเด็กเล่นอีกมากมายมาจนถึงปัจจุบัน

“หลังจากนั้นเราก็เริ่มทำสนามเด็กเล่นเยอะขึ้น แล้วก็ค้นพบว่าจริงๆ แล้วมันสนุกมาก ยิ่งเราเป็นแม่ ส่วน Roberto ก็มีลูกวัยพอๆ กัน ตั้งแต่มีลูกก็ทำให้ค่อนข้างสนใจเกี่ยวกับเด็ก การเลี้ยงดูลูก และเรื่องพัฒนาการเด็กค่อนข้างเยอะ พอได้ทำสนามเด็กเล่นก็เลยรู้สึกลงตัว และ enjoy เหมือนเป็นการเรียนรู้ที่ตัวเราเองได้ทดลองไปด้วยในแง่ของการออกแบบ ก็เลยทำมาเรื่อยๆ”

นินาเล่าว่าความสนุกของการออกแบบสนามเด็กเล่น คือการได้ออกแบบงานที่เกี่ยวข้องกับร่างกายมนุษย์และขนาดของร่างกายอย่างตรงตัว อีกทั้งกิจกรรมที่มักจะเกิดขึ้นในสนามเด็กเล่นยังเป็นกิจกรรม ‘อิสระ’ อย่างการวิ่ง ห้อยโหน ปีนป่าย ตีลังกา ซึ่งแตกต่างจากงานออกแบบทั่วไปอย่างการจัดวางพื้นที่ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องทำงาน ที่ผู้ออกแบบก็มักจะคุ้นเคยกับกิจวัตรต่างๆ เหล่านั้นอยู่แล้ว 

สนามเด็กเล่นจึงนับว่าเป็นความท้าทายอีกรูปแบบหนึ่งที่สถาปนิกอย่างเธอจะได้ลองลงมือออกแบบโดยมี ‘กิจกรรมอิสระของเด็กๆ’ เป็นโจทย์พื้นฐาน

“ตอนเราออกแบบงานชิ้นหนึ่ง เราต้องคิดว่าความสูงของเด็กเท่านี้จะใช้อะไรในการหยิบจับ คลาน ปีน สนามเด็กเล่นถูกใช้ 3 มิติจริงๆ กิจกรรมที่เกิดขึ้นมันไม่ได้มีแค่การยืนที่พื้น แต่มันมีการปีน โหน ห้อยหัว ตีลังกา มุด กระโดด คือเป็นพื้นที่ที่ได้ใช้ร่างกายทุกส่วนจริงๆ อิสระมากๆ” 

“เวลาที่เราออกแบบสนามเด็กเล่น มันไม่ใช่แค่ออกแบบห้องแล้วมีผนัง มีฝ้าเพดาน แต่มันเป็นการออกแบบกับร่างกายของเด็ก การหยิบจับ สเกลความสูง กิจกรรมในอิริยาบถต่างๆ ที่มันไม่ธรรมดาของเด็กเป็นยังไง การออกแบบสนามเด็กเล่นให้เด็กอนุบาลกับประถมก็ไม่เหมือนกัน เพราะเขาตัวโตไม่เท่ากัน มีสิ่งที่ enjoy ไม่เหมือนกัน ซึ่งอันนี้แหละคือความสนุก” 

สนามเด็กเล่นที่นินาและทีม Imaginary Objects ออกแบบนั้นจะแตกต่างกันตามโจทย์ที่ได้รับ ข้อจำกัดที่มี รวมไปถึงเสียงของเด็กๆ ที่เธอและทีมได้ไปพูดคุยเพื่อเก็บข้อมูล ซึ่งนินาเล่าว่าการพูดคุยและสังเกตวิธีเล่นของเด็กๆ ทำให้เธอได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ และขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้มุมมองของเด็กๆ ไปในตัว

“สิ่งหนึ่งที่เราในฐานะนักออกแบบหรือผู้ใหญ่มักจะลืมไปหรืออาจไม่ได้สังเกต ก็คือเวลาเด็กเล่นสนามเด็กเล่น เขาจะไม่เล่นตามแบบที่เราออกแบบหรอก เราเคยไปคุยกับเด็กๆ ในโรงเรียนที่เราต้องออกแบบเครื่องเล่น พอถามเขาว่าอยากได้สนามเด็กเล่นแบบไหน ชอบทำอะไรในสนามเด็กเล่นมากที่สุด เขาบอกว่าชอบวิ่งขึ้นสไลเดอร์ มันสนุกกว่าการไถลตัวลงมา”

“เด็กบางคนเล่นสไลเดอร์รอบแรกก็นั่งแล้วเอาตัวไถลลงมาแบบธรรมดา รอบสองอยากเอาหัวลง เอาหน้าลง บางทีกลิ้งลงมากับเพื่อน หรืออย่างลูกคนเล็กเพิ่งเข้าโรงเรียนแค่เทอมเดียว เขาไม่เคยได้เล่นบาร์โหน (monkey bar) มาก่อน เทอมแรกเราเห็นเลยว่าเขาเริ่มจากการโหนบาร์อันเดียว พอผ่านไปสามเดือนเขาห้อยหัวแล้ว เพราะเขาเห็นคนอื่นโหนแบบค้างคาวได้” 

“เครื่องเล่นมักจะถูกใช้งานในแบบที่เราคาดไม่ถึงเสมอ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเราไปสังเกตดูก็จะเห็นว่าถึงเราจะออกแบบให้มันเป็นอย่างหนึ่ง หรือคิดไว้ว่าต้องใช้งานแบบ a b c แต่เด็กๆ เขามีความคิดสร้างสรรค์เยอะกว่าเรามาก เขาสามารถใช้ได้ในอีกร้อยแบบที่เราคาดไม่ถึง เราเรียนรู้จากเขาได้อีกเยอะ”

“เรามองว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่เด็กจะสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าอะไรคือความเสี่ยง แล้วเขาจะกล้าพอที่จะทำสิ่งนั้นไหม เขาจะฝึกฝนตัวเองจนทำสำเร็จไหม”

“ในฐานะนักออกแบบ เราจะต้องแน่ใจก่อนว่าเครื่องเล่นนั้นไม่เสี่ยงเกินไป คือไม่ล้มลงมาแล้วจะโคม่าหรือแขนขาหักบาดเจ็บร้ายแรง แต่ส่วนตัวก็ยังรู้สึกว่าการออกแบบเครื่องเล่นให้มีความเสี่ยงนั้นยังจำเป็นอยู่ เพราะพอมีความเสี่ยง เด็กจะมีการตั้งเป้าหมาย แล้วพอเขาทำสำเร็จ เขาก็จะภูมิใจในตัวเอง” 

ความภาคภูมิใจนี้เองที่จะช่วยพัฒนาความสามารถและความมั่นใจของเด็กๆ และส่งต่อพลังนี้ไปจนถึงวันที่พวกเขาเริ่มเติบโตเป็นผู้ใหญ่

“ถ้าเครื่องเล่นมันเซฟมาก ทุกอย่างมันธรรมดาไปหมด ไม่มีความท้าทาย มันก็น่าเบื่อ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นจุดที่เราต้องสร้างความสมดุลและต้องดูดีๆ เวลาเราไปออกแบบให้โรงเรียนก็จะถามเขาว่าโอเคไหมถ้าจะทำให้เครื่องเล่นหวาดเสียวหน่อยนะ สูงหน่อยนะ รับได้ที่ความสูงแค่ไหน ถ้าสูงเท่านี้แล้วตกลงมา อย่างมากก็ข้อเท้าซ้นแต่ไม่หัก พอไหวไหม เราก็ make sure ว่ามันพอโอเค เซฟอยู่ แต่ก็เจ็บตัวได้”

เมื่อเห็นว่า ‘อิสระในการเล่น’ คือสิ่งสำคัญที่เด็กๆ ขาดไม่ได้ Kitblox ผลงานสนามเด็กเล่นชิ้นใหม่ล่าสุดที่ออกแบบโดย Imaginary Objects จึงตั้งอยู่บนโจทย์ของ ‘ความอิสระ’ อย่างแท้จริง

Kitblox – สนามเด็กเล่นบนพื้นที่อิสระที่เด็กๆ ‘สร้าง’ และ ‘ออกแบบ’ เองได้

Kitblox คือ ‘สนามเด็กเล่นไม่สำเร็จรูป’ ที่นินาและทีม Imaginary Objects ออกแบบร่วมกับ Mappa 

และหากใครที่ได้ไปร่วมงาน EF Festival สร้างลูก สร้างโลก @Thai PBS เมื่อวันที่ 4 – 5 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา อาจคุ้นเคยกับสนามเด็กเล่นที่มีหน้าตาคล้ายชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ขนาดใหญ่หลายรูปทรงชิ้นนี้เป็นอย่างดี

รูปร่างหน้าตาของสนามเด็กเล่น Kitblox จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามวิธีการเล่นและการออกแบบของเด็กๆ 

เมื่อ 10 นาทีก่อนคุณอาจเห็นมันประกอบร่างเป็นสไลเดอร์อันใหญ่ แต่เมื่อหันกลับมามองดูอีกครั้ง สไลเดอร์นั้นอาจกลายร่างเป็นปราสาท เป็นบ้าน เป็นรถ เป็นเรือ หรือเป็นสะพาน โดยมีวิศวกรตัวน้อยและสถาปนิกตัวจิ๋วช่วยกันออกแบบและยกชิ้นส่วนเพื่อนำมาประกอบร่างกันจนสำเร็จ

“ตอนนั้นโจทย์ที่ได้มาคือ ออกแบบสนามเด็กเล่นที่เคลื่อนย้ายได้ เพื่อที่จะได้นำไปใช้ในหลายๆ เทศกาล เราก็มาคิดว่าถ้าจะออกแบบสนามเด็กเล่นที่เคลื่อนย้ายได้ ต้องออกแบบโครงสร้างอย่างไรให้ไม่ต้องลงฐานราก แต่พอมาคิดในทางกลับกัน เราคิดว่ามันควรเป็นเรื่องของ EF ด้วย ซึ่งเกี่ยวกับการที่เด็กจะสามารถตัดสินใจวางแผนได้ ก็เลยคิดว่าทำไมเราไม่ออกแบบสนามเด็กเล่นที่เด็กช่วยในการออกแบบสนามเด็กเล่นด้วยไปเลยล่ะ”

นี่จึงเป็นที่มาของจิ๊กซอว์ puzzle ขนาดใหญ่ที่มีขนาดเหมาะสำหรับเด็ก ด้วยชิ้นส่วนต่างๆ ที่เสียบต่อเข้าด้วยกันได้ โดยที่ตัวชิ้นส่วนนั้นมีน้ำหนักที่พอเหมาะ ไม่หนักจนเกินไป วัสดุที่ใช้ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก ทำให้เด็กๆ สามารถยก ประกอบ รื้อ และสร้างพื้นที่ในการเล่นได้ ‘ทุกที่’ 

และสนามเด็กเล่น Kitblox นี้ก็กำลังจะไปอยู่ใน Zone 1A: Recreate our play ณ งาน Relearn Festival 2024: Co-Creating Next Generation ที่ Mappa กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 27 – 28 มกราคม 2567 ณ มิวเซียมสยาม อีกด้วย

“มันไม่ใช่แค่เด็กๆ เขาได้เล่น แต่เขาได้ออกแบบและสร้างสนามเด็กเล่นของเขาเอง”

“ที่มาของชื่อ Kitblox ก็มาจาก Kid ที่แปลว่าเด็กหรือ ความคิด ในภาษาไทย แต่เราสะกด Kit เพราะมันเป็นเหมือนกับ tool kit ที่เป็นกล่องอุปกรณ์ ส่วน Block คือบล็อกโฟมหรือบล็อกไม้ที่เราคุ้นเคยกันในขนาดเล็ก เด็กๆ จะต่อบล็อกเหล่านี้เป็นบ้านหรือปราสาทให้ตุ๊กตา แต่เรามักจะยังไม่เคยเห็นบล็อกเหล่านี้ในขนาดที่เด็กสร้างบ้านให้ตัวเองหรือสร้างสไลเดอร์ให้ตัวเอง ก็เลยเลือกเอาคำว่า Kit กับ Block มารวมกัน”

นินาเล่าว่าความตั้งใจหลักในการออกแบบสนามเด็กเล่นนี้ คือการไม่บอกเด็กๆ ว่าชิ้นส่วนเหล่านี้เล่นอย่างไร เพื่อที่เขาจะได้ใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ ประกอบ รื้อ และปะติดปะต่อได้อย่างอิสระ

และนอกจากจะเป็นพื้นที่ที่ใช้อิสระในการเล่นได้อย่างเต็มที่แล้ว Kitblox ยังสร้าง ‘พื้นที่แห่งความสัมพันธ์’ ของเด็กๆ ขึ้นมาอีกด้วย

อิสระในการสร้างความสัมพันธ์

“สนามเด็กเล่นมันเป็นที่ที่เด็กได้เข้าสังคม ได้คุยกัน ได้ต่อรอง ได้วางแผนกัน เช่น เล่นซ่อนหาจะไปซ่อนตรงไหนดี หรือจะสร้างอะไรดี โดยส่วนตัวคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ แทบจะมากกว่าตัว physical อย่างตัวเครื่องเล่นเสียด้วยซ้ำ”

“เวลาไปสนามเด็กเล่นเรามักจะสังเกตปฏิสัมพันธ์ของเด็ก เพราะเรารู้สึกว่าสนามเด็กเล่นไม่ได้ทำหน้าที่แค่ให้เด็กเล่นคนเดียว แต่มันเป็นพื้นที่ที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้การเข้าสังคม ได้เจอเด็กคนอื่น ต้องมีการเข้าคิว ต่อแถว ถ้ามีคนเล่นสไลเดอร์อยู่ก่อน เราก็ไปแซงไม่ได้ ต้องรู้จักรอคอย ต้องมีการขอกันหรือเล่นด้วยกัน”

“ถ้าลองสังเกตดู ชิ้นส่วนบางชิ้นของ Kitblox อาจจะใหญ่เกินกว่าที่เด็กคนเดียวจะยก ซึ่งมันเป็นความตั้งใจของเราที่อยากให้ชิ้นมันใหญ่แบบที่ต้องช่วยกันยก เพราะเด็กจะได้ช่วยกันสร้างและช่วยกันประกอบ เขาจะเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กันในพื้นที่ที่เขาสร้างขึ้นมา”

และเมื่อเด็กๆ เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กัน เมื่อนั้นเองที่สนามเด็กเล่นแห่งนี้จะยิ่งทวีความสนุกมากขึ้นไปกว่าเดิมอีกหลายเท่า

“เป้าหมายสูงสุดของเราคืออยากให้เด็กมีความสุขและได้เรียนรู้ไปในขณะเดียวกัน โดยเป็นการเรียนรู้ที่เราไม่ได้ไปบังคับ ไม่ได้ยัดเยียดให้เด็ก แต่ให้เขาเรียนรู้ด้วยธรรมชาติของเขาเองผ่านการเล่น”

อิสระในการตีความ

อีกหนึ่งความอิสระที่เกิดขึ้นในการเล่น Kitblox คือ ‘อิสระในการตีความ’

เพราะหากลองสังเกตดูรูปร่างของชิ้นส่วนเหล่านี้ ก็จะเห็นได้ว่าบางชิ้นส่วนอาจมีหน้าตาคล้ายกับตัวอักษร สัตว์ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวัน ขึ้นอยู่กับการตีความและจินตนาการของแต่ละคน

“สิ่งที่ยากคือการดีไซน์รูปร่างของ Kitblox เพราะเราต้องคิดว่ามันจะมีหน้าตายังไงให้มันสามารถต่อกันได้ ให้ล็อกกันได้ หรือบางรูปทรงก็ออกแบบให้เด็กเห็นแล้วรู้สึกว่า ‘เอ๊ะ มันเหมือนตัว A หรือเปล่า’ ‘มันเหมือนช้างหรือเปล่า’ เพื่อที่เด็กจะได้อยากหาคำตอบและใช้จินตนาการของเขาในการเล่น” 

“เราอยากให้เด็กเห็นแล้วรู้สึกว่า ‘อยากขึ้นไปขี่จังเลย’ แต่ก็ไม่ได้ชัดขนาดที่มันดูเป็นช้างแล้วไม่สามารถเอามาสร้างเป็นบ้านได้ คือต้องให้มันมีความสมดุลระหว่างความ abstract กับความ figural คือความเป็นรูปทรงที่เห็นแล้วนึกออกว่ามันคืออะไร”

“เราให้อิสระกับเด็กในการตีความว่ามันคืออะไร ในขณะที่ชิ้นส่วนที่เราออกแบบมาและจำนวนชิ้นของมันก็เยอะพอที่เขาจะเอาไปทำไม้กระดานหกได้ เอาไปประกอบทำเป็นสไลเดอร์เองก็ได้ เอาไปทำเป็นรถก็ได้ ทำเป็นที่นอนหรือบ้านก็ได้ เขาสามารถเอาไปสร้างได้ตามจินตนาการของเขาเลย”

นินามองว่าการมอบอิสระให้เด็กๆ ได้ลองเรียนรู้ผ่านการเล่น นับเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่จะมอบคุณค่าที่ยั่งยืนติดตัวเด็กไปจนถึงวันที่เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ นั่นคือเด็กๆ จะได้พัฒนากระบวนการคิดและยังได้พัฒนาความแข็งแรงของร่างกาย ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่แฝงไว้ในการออกแบบ Kitblox เช่นกัน

“การเล่นกับอิสระในความคิดของเด็กเล็กน่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาสมองเด็กได้ดีที่สุด”

“เราอยู่ในกรอบและกฎของสภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัดเยอะแยะเต็มไปหมด เวลาเด็กโตมามันมีสิ่งที่ทำไม่ได้เยอะมากเลย เวลาอยู่บ้านก็ทำนู่นทำนี่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราเปิดพื้นที่ให้เขาสำรวจ ลองผิดลองถูกแบบที่ไม่มีผลกระทบ ไม่เป็นอันตราย เขาสามารถวางแผนและเล่นกับเพื่อนได้ มันจะช่วยพัฒนาการทางความคิดเขาได้เยอะ” 

“และอีกอย่างคือด้วยตัวสเกลของ Kitblox และด้วยน้ำหนักของมัน มันช่วยพัฒนาการในแง่ความแข็งแรงของเด็กด้วย เพราะเขาต้องยกชิ้นส่วน ต้องมีการต่อ สร้าง เพราะฉะนั้นมันน่าจะได้ประโยชน์หลายมิติ”

พื้นที่ที่ไม่มีกฎเกณฑ์จากผู้ใหญ่

เมื่อก้าวเข้าสู่พื้นที่ของสนามเด็กเล่น Kitblox ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ คือการที่เด็กๆ ได้เปลี่ยนตัวเองเป็น ‘ผู้สร้าง’ และ ‘ผู้ออกแบบการเล่น’ ในขณะที่ผู้ใหญ่หรือพ่อแม่จะเปลี่ยนบทบาทไปเป็น ‘ผู้สังเกตการณ์’ ถอยออกมาเพื่อคอยสังเกตวิธีการเล่นและวิธีการเรียนรู้ของเด็กๆ ในพื้นที่แห่งนี้แทน

นินายืนยันว่าการที่ผู้ใหญ่เว้นระยะออกมาให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ในการเล่นที่เป็นอิสระ ไร้กรอบและกฎเกณฑ์จากผู้ใหญ่นั้นสำคัญมาก เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีการบังคับหรือสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมา สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือแรงต้านและความกลัวของเด็กๆ ที่จะทำให้เขาไม่สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการได้อย่างเต็มที่ และทำให้ไม่กล้าตัดสินใจ ซึ่งผลกระทบนี้อาจส่งผลไปจนถึงในวันที่เขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ 

“ถ้าเราไปขู่เด็ก ไปบอกเขาว่า ‘เฮ้ย! อันนี้อันตราย อย่าขึ้นไป’ เด็กหลายคนอาจจะกลัว ไม่กล้า ไม่ทำแล้ว เวลาที่เราไปสร้างกฎหรือตีกรอบให้เขา มันจะเกิดแรงต้านอะไรบางอย่างเสมอ เพราะฉะนั้นการที่เราให้เครื่องมือแก่เขา ให้เขาสามารถเล่นอย่างมีความสุขและได้พัฒนาในแง่มุมต่างๆ เหล่านี้ได้ มันน่าจะเป็นประโยชน์มาก เพราะเขาจะสนุกไปกับมัน เขาสร้างเพื่อนได้ เขาพัฒนาได้ เขาเรียนรู้ได้ในแบบที่เขาไม่รู้ตัวเลย”

“การที่เราให้เด็กออกแบบการเล่นของตัวเองได้ มันช่วยให้เขาออกแบบการใช้ชีวิตของเขาได้นะ เพราะเขาจะวางแผนได้ เขาจะจัดลำดับความสำคัญได้ว่าอะไรควรอยู่ตรงไหน อะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ แล้วก็จะได้ฝึกทักษะในการออกแบบ ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้มันคือองค์ประกอบของ critical thinking” 

“critical thinking เป็นทักษะที่สำคัญมาก ถ้าเราสามารถใช้ของเล่นแบบนี้สอนเด็กให้ออกแบบได้ มันสามารถเอาไปปรับใช้ได้กับทุกอย่าง ในแง่ของเวลาที่เขาชั่งใจหรือตั้งคำถามกับตัวเองในการตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง ว่าเขาควรจะทำหรือไม่ควร เพราะอะไร อยากทำหรือไม่อยากทำ มันเป็นกระบวนการประเมินการตัดสินใจของเขา”

“มันอาจจะฟังดูเป็นเรื่องยาก หลายครั้งผู้ใหญ่อาจไม่เข้าใจบางสิ่ง แต่ถ้าเราให้เด็กนำเราแล้วเราสังเกตเด็ก เขาจะแสดงให้เราเห็นเองว่ามันคืออะไรและมันทำอะไรได้บ้าง บางทีเราก็อาจจะต้องยอมให้เด็กเป็นผู้นำ”

นินาเล่าว่าหลายครั้งเธอก็ใช้วิธีเรียนรู้จากลูก เพราะบางครั้งการมีสายตาแบบผู้ใหญ่ก็ทำให้เธอหลงลืมความสนุกและมองข้ามจินตนาการหรือความเป็นไปได้ที่เด็กๆ มองเห็น

“เวลาอยู่กับลูกเราก็ต้องเปลี่ยนเกียร์ตลอด ส่วนใหญ่เราก็ต้องเป็นผู้นำอยู่แล้วแหละ แต่ในเวลาที่เขาเล่น เรียนรู้ หรือมีข้อสังเกตอะไร เราก็ต้องเปิดใจรับฟัง แล้วจะเห็นว่าจริงๆ แล้วมุมมองและความคิดของเด็กมันเป็นอะไรที่ fresh มากๆ และหลายครั้งเราก็นึกไม่ถึง เราเองก็เรียนรู้จากเขาเหมือนกัน”

“การเป็นแม่ทำให้เราได้ทบทวนมุมมองที่เคยเห็นในวัยเด็ก และทำให้เราได้เห็นมุมมองที่ใหม่มาก” – นินาบอกกับเรา

เธอเล่าขยายความว่าหลังจากที่ได้เป็นแม่ การทำความเข้าใจมุมมองของเด็กๆ กลายเป็นสิ่งที่เธอพยายามเรียนรู้และสังเกตดูอยู่เสมอ 

ความตื่นเต้น ความสนุก และความคิดสร้างสรรค์ในหลายๆ เรื่องที่เคยคุ้นชินเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ถูกนำกลับมาเล่าใหม่อีกครั้งผ่านน้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง และสายตาของลูก จนทำให้นินานึกขึ้นได้ว่าครั้งหนึ่งผู้ใหญ่เองก็เคยเป็นเด็กที่มีจินตนาการและมีความคิดที่เปิดกว้างไม่ต่างกัน

“เราพยายามจะมี empathy กับเด็ก มองผ่านสายตาของเด็กแล้วเห็นว่าวิธีที่เขามองโลกเป็นยังไง สิ่งที่เขาเห็นว่ามันตื่นเต้น อลังการตระการตา มันอาจเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยและหลงลืมไปแล้วว่ามันน่าตื่นเต้นยังไง แต่สำหรับตัวเขาในวัยนี้มันคือสิ่งที่มีคุณค่ามาก เพราะฉะนั้นเวลาออกแบบสนามเด็กเล่น พอได้เห็นวิธีที่เขาเล่นหรือสิ่งที่เขาสนใจ มันก็ทำให้เราได้ฉุกคิดกับตัวเองและทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของเด็กมากขึ้น”

ภาพของ ‘สนามเด็กเล่นที่เด็กได้เรียนรู้ธรรมชาติไปในตัว’ คือภาพสนามเด็กเล่นที่นินาอยากเห็น เพราะเมื่อเธอได้ใช้ชีวิตอยู่กับลูกและได้ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกัน นินาพบว่าการมีสภาพแวดล้อมที่ลูกๆ เข้าถึงธรรมชาติได้อย่างง่ายดาย คือสิ่งที่เธอมองหา และเมื่อได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลมาใช้ในการออกแบบสนามเด็กเล่น เธอได้เห็นถึงข้อจำกัดทางด้านสภาพแวดล้อมที่ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการมีพื้นที่เล่นเท่าที่ควร

“เราอยากให้มีพื้นที่ที่เขาสามารถเข้าใจเรียนรู้ธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ภูเขา ต้นไม้ พื้นที่สีเขียวต่างๆ และพื้นที่วัฒนธรรมที่เข้าถึงได้ง่าย อย่างบางประเทศที่มีพิพิธภัณฑ์เยอะ ๆ มีหอศิลป์ที่เข้าไปได้ฟรีและมีอยู่ทั่วเมืองและคนให้ความสำคัญกับงานศิลปะ ถ้ามันมีการผสมผสานของสองสิ่งนี้ในที่ที่เดียวมันจะเป็นสภาพแวดล้อมที่ลงตัวมาก”

“ถ้าถามว่าภาพนี้จะเกิดขึ้นได้ยังไง เรามองว่าสิ่งนี้มันคือขั้นตอนถัดไปหลังจากที่ปัญหาในเรื่องของปากท้องถูกแก้ไขแล้ว เพราะฉะนั้นมันก็อาจจะเป็นเรื่องที่ยาก มันไม่ได้ขึ้นอยู่แค่ผู้นำหรือคนที่มีอำนาจบางคนในการตัดสินใจ แต่มันก็ต้องอาศัยค่านิยมของคนหมู่มากมากพอที่จะรู้ว่าเราควรจะให้ความสำคัญกับอะไร เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนในเชิงของสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ” 

เมื่อถามถึงความประทับใจและแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากออกแบบสนามเด็กเล่นต่อไป เธอตอบในทันทีว่า ‘เด็ก’ คือเสน่ห์และความท้าทายที่ทำให้เธอรู้สึกว่าการออกแบบสนามเด็กเล่นนั้นสนุกไม่แพ้การได้เล่นสนามเด็กเล่น

“เสน่ห์ของการออกแบบสนามเด็กเล่นก็คือตัวเด็ก ในฐานะนักออกแบบเวลาที่เราออกแบบงาน interior หรือเวลาที่เราออกแบบงานสถาปัตย์ งานหนึ่งเราจะใช้เวลาเป็นปีๆ กว่าจะเสร็จ และหลายครั้งพองานเหล่านี้เปิดใช้งานแล้วเราก็ไม่รู้ว่าคนที่เข้าไปใช้งานเขา enjoy หรือมันช่วยพัฒนาชีวิตเขาอย่างไรบ้าง”

“แต่เวลาที่เราออกแบบสนามเด็กเล่นแล้วพอเสร็จปุ๊บ มีเด็กไปเล่น เราได้เห็นทันทีเลยว่าเด็กชอบหรือไม่ชอบ สไลเดอร์อันนี้เจ็บก้นหรือชันเกินไป มันเป็นเสน่ห์ที่เราสัมผัสและเข้าใจได้ว่ามันประสบความสำเร็จแค่ไหน อะไรคือจุดบกพร่องบ้าง และเด็กเขาไม่เสแสร้ง เวลาที่ได้เห็นเขามีความสุขกับสิ่งที่เราทำมันประทับใจมาก และเรามักจะไม่ค่อยเห็นอะไรแบบนี้เวลาทำงานขนาดใหญ่” 

“เพราะถ้าเราออกแบบคอนโดฯ หรือโรงแรม เราคงจะไม่มีทางได้เห็นเสียงตอบรับที่มันชัดเจนเทียบเท่ากับการเล่นสไลเดอร์ 20 รอบไม่หยุดเลย”

Writer
Avatar photo
ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Photographer
Avatar photo
ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts