‘แจ๋-สิริกาญจน์ บรรจงทัด’ คนทำงาน ‘ละครหุ่น’ ที่ฝันอยากเห็น ‘ละครเด็ก’ เป็นมากกว่าศิลปะการแสดงบนพื้นที่เล็กๆ ในเมืองไทย

‘แจ๋-สิริกาญจน์ บรรจงทัด’ คนทำงาน ‘ละครหุ่น’ ที่ฝันอยากเห็น ‘ละครเด็ก’ เป็นมากกว่าศิลปะการแสดงบนพื้นที่เล็กๆ ในเมืองไทย

“ตามสบายเลยนะคะ ตักข้าวทางด้านนู้นได้เลย”

‘แจ๋-สิริกาญจน์ บรรจงทัด’ หันมาบอกเราก่อนที่เธอจะเดินไปหยิบชามและช้อนส้อมเพื่อตักอาหารในถาดที่วางเอาไว้

บรรยากาศใน Lìzé Puppet Art Colony ณ ตอนนี้ กลายเป็นห้องอาหารที่เหล่าคนทำงานละครหุ่นมารวมตัวกันเพื่อนั่งพักทานข้าว พูดคุยกันอย่างออกรส

และโชคดีเหลือเกินที่พวกเราชาวแมปเปี้ยนได้มาร่วมนั่งทานอาหารกลางวันกับทุกคนที่โรงละครแห่งนี้ในวันที่ฝนโปรยลงมาอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุด 

Lìzé Puppet Art Colony เป็นโรงละครหุ่นที่ตั้งอยู่ในเมืองอี๋หลาน (Yilan) เมืองเล็กๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากไทเป ประเทศไต้หวัน และแจ๋คือคนไทยเพียงคนเดียวที่เดินทางมาเรียนศาสตร์การทำละครหุ่น ณ โรงละครแห่งนี้ เพื่อสานฝันเส้นทางละครหุ่นที่เธอลงทุนลงแรงมานานกว่า 20 ปี

บานประตูไม้ถูกผลักออกเบาๆ ก่อนที่แจ๋จะเดินนำพวกเราขึ้นไปยังชั้นบนของ Lìzé Puppet Art Colony หลังจากที่เติมพลังกันด้วยอาหารกลางวันไปเป็นที่เรียบร้อย

ที่ชั้นบนของ Lìzé Puppet Art Colony หุ่นละครหลากหลายสัญชาติถูกจัดวางเรียงรายอยู่ในตู้กระจก รอบห้องยังคงมีหุ่นขนาดเล็กและใหญ่แขวนคละกันอยู่ บางตัวมีขนาดใหญ่ไม่ต่างจากคนจริงๆ และบางตัวก็คล้ายกับว่ามีชีวิตจริงๆ 

“ในตู้นี้ยังไม่มีหุ่นละครจากไทยเลยค่ะ ส่วนใหญ่เป็นของประเทศเพื่อนบ้าน อยากเอาของไทยมาใส่ไว้เหมือนกัน” เธอบอกกับเรา ก่อนที่จะเริ่มเล่าเส้นทางชีวิตในวงการละครหุ่นที่พาเธอมาอยู่ ณ จุดนี้

ภาพฝัน

แจ๋สนใจละครหุ่นมาตั้งแต่เด็ก เธอเติบโตมากับ เจ้าขุนทอง รายการโทรทัศน์ในความทรงจำของใครหลายคน และละครหุ่นก็ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เธออยากเรียนรู้ด้านการแสดง จนกระทั่งตัดสินใจสอบเข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชาศิลปะการแสดง สาขาการออกแบบเพื่อการแสดง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 

แจ๋ใช้เวลาหลังจากเรียนจบ 1 ปีเต็ม เพื่อยื่นสมัครงานที่ไม่ได้เกี่ยวกับสายงานละคร ด้วยรู้ว่าตัวเองนั้นมีผลการเรียนอยู่ในระดับกลางๆ ของรุ่น วงการละครจึงอาจดูเป็นอะไรที่ไกลเกินฝัน 

แต่ถึงอย่างนั้นความสามารถในการทำหุ่นละครของเธอก็พาเธอก้าวเข้าสู่เส้นทางการละครได้ในที่สุด

“ตอนนั้นมีละครเวทีเรื่อง ปลาฉลามฟันหลอ กำลังหาคนช่วยทำหุ่นเพราะเป็นละครที่ค่อนข้างใหญ่และใช้หุ่นเยอะมาก เราก็เลยได้ไปทำหุ่นละคร หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสไปทำกิจกรรมสำหรับเด็กกับกลุ่ม ‘แปลนเนรมิต’ ของ PlanToys ประมาณ 1 ปีครึ่ง ก่อนที่จะได้ย้ายไปร่วมงานกับกลุ่มละครมะขามป้อม หลังจากนั้นก็เลยทำละครหุ่นยาวมาจนถึงตอนนี้เลย”

ในตอนที่แจ๋ยังทำงานอยู่ในกลุ่มละครมะขามป้อม เธอเล่าว่าเธอยังไม่มีความคิดที่จะยึดเส้นทางละครเป็นอาชีพจริงจัง เพราะหวังเพียงแค่ว่าการใช้ละครเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและสะท้อนปัญหาชาวบ้าน จะช่วยขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม นั่นคือความหวังและความตั้งใจแรกของแจ๋

แต่แล้วความบังเอิญก็นำพาให้เธอได้พบกับแรงบันดาลใจครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต

“หลังจากที่ร่วมงานกับกลุ่มมะขามป้อมมาได้ 2 ปี ที่เชียงใหม่จะมี Empty space ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดให้คนที่สนใจมาเรียนเรื่องละครหุ่นสายพม่าและ Giant puppet ได้เรียนการทำหุ่นและเชิดหุ่น แจ๋ก็ได้มีโอกาสไปเรียนที่นั่น มีศิลปินที่มาจากคณะละคร Bread and Puppet Theater คือ Amy Trompetter เขาอายุเกือบจะ 60 แล้วแต่ยังคล่องแคล่วทำหุ่นได้ เคลื่อนไหวร่างกายได้ดีมาก” 

“เราเห็นว่าเขาอายุเท่านี้แล้วยังสามารถทำละครหุ่นเป็นอาชีพได้ ยังมีแววตาที่เป็นประกาย เราอยากเห็นตัวเองเป็นแบบนั้น” เธอเล่าพร้อมรอยยิ้มและแววตาที่เป็นประกาย

หลังจากตกตะกอนความคิดกับตัวเองจนได้คำตอบที่แน่ชัดแล้วว่าจะเริ่มก้าวเข้าสู่เส้นทาง ‘ละครหุ่นอาชีพ’ อย่างจริงจัง แต่เส้นทางความฝันก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป

อุปสรรคชิ้นใหญ่ที่แจ๋ต้องยอมรับและก้าวข้ามผ่านไปให้ได้คือ ปัญหาเรื่องรายได้

ในช่วงแรกเริ่ม เธอได้เงินจากการทำละครหุ่นเดือนละ 3,000 บาท

“ในตอนที่ยังทำกิจกรรมกับฝ่ายการศึกษาของมะขามป้อม เรายังอุ่นใจได้ว่าเรามีโปรเจกต์ในแต่ละเดือน ยังมีเงินและพอจะดูแลตัวเองได้ แต่พอมาทําละคร ต่อให้ขายตั๋วเต็มทุกรอบก็ยังไม่เคยคืนทุนเลย เข้าเนื้อตลอด” 

“บางครั้งเราซ้อมกัน 3 – 4 เดือน แต่เราได้เงิน 2,000 บาท ถ้าไม่มีวินัยมากๆ หรือไม่ได้สามารถดูแลตัวเองได้ มันก็ต้องถอดใจ ในช่วงที่เราเริ่มทำละครอย่างจริงจัง เพื่อนร่วมทางบางคนก็ไม่สามารถไปต่อได้เพราะมีภาระทางบ้านที่ต้องดูแล บางคนเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น ซึ่งน่าเสียดาย เพราะแต่ละคนที่เปลี่ยนใจคือเขามีความสามารถมาก” 

“แต่เราไม่อยากยอมแพ้” เธอบอกด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น

“เราเชื่อว่าการพยายามทำบางสิ่งก็เหมือนกับการปลูกอะไรสักอย่าง ตอนแรกเราอาจยังไม่รู้ว่าอะไรจะงอกเงยขึ้นมา แต่ถ้ายังมุ่งมั่นที่จะทำ สักวันเราจะเห็นผลลัพธ์ที่ค่อยๆ งอกเงย แล้วช่วงระยะเวลาในการปลูกก็เป็นช่วงที่ต้องอดทนมาก แต่คนที่ผ่านช่วงเวลานั้นไม่ได้ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่อดทน ทุกคนมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต่างกัน”

ละครเด็กที่ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ 

หากใครคลุกคลีอยู่ในแวดวงศิลปะการแสดงสำหรับเด็ก เชื่อว่าคงมีช่วงเวลาหนึ่งที่อาจคุ้นเคยกับการได้พบเจอแจ๋ในทุกเวทีการแสดงรอบๆ กรุงเทพฯ 

เธอเล่าว่าช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่วงการละครเด็กคึกคัก เทศกาลละครมีคนดูและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก คนในแวดวงศิลปะและการทำละครเด็กพยายามสร้างเครือข่ายขึ้นมา โดยมี ‘สถาบันปรีดี พนมยงค์’ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับบริจาคที่ดินจาก ครูองุ่น มาลิก เป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรม ก่อนที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ จะถูกรื้อถอนปิดปรับปรุงในปี 2565 

“หลักๆ คิดว่าที่กลุ่มคนทำละครเด็กลดลงครึ่งหนึ่ง เป็นเพราะพื้นที่มันหายไป สถาบันปรีดีฯ เป็นพื้นที่ที่สำคัญสำหรับกลุ่มละครเด็กมาก เพราะค่าเช่าถูก เดินทางง่าย”

“เมื่อพื้นที่ในการแสดงสำหรับเด็กมีน้อยลง การเดินทางลำบากมากขึ้น ผู้ปกครองก็ต้องคิดหนักว่าจะพาลูกฝ่ารถติดเพื่อไปดูละครสั้นๆ แล้วมันคุ้มค่ากับเขาไหม คนทำละครก็ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ละครสำหรับเด็กเลยลดน้อยลงทุกที”

ปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนพื้นที่ในการจัดกิจกรรม นับเป็นปัญหาใหญ่ของวงการศิลปะการแสดงสำหรับเด็ก เพราะท้ายที่สุดแล้วผู้ที่จะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายก็คือเหล่าคนทำงานในแวดวงนี้ 

แจ๋เล่าถึงปัญหาอีกหลากหลายแง่มุมที่เธอต้องเผชิญในฐานะคนทำละครเด็ก ไม่ว่าจะเป็นความยากลำบากในการขอทุน ข้อจำกัดของสังคมไทยในการออกแบบตัวละครและเขียนบทละคร ความกังวลในเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

และสิ่งหนึ่งที่บรรดาคนทำงานยังคงมองหาและเฝ้ารอ คือการสนับสนุนและผลักดันจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

เส้นทางแห่งความหวัง

“งานหนักเราไม่กลัว แต่กลัวที่สุดคือไม่มีงานทำ”

แม้จะมีอุปสรรคระหว่างทางที่ทำให้เธอรู้สึกเหนื่อยล้าและตั้งคำถามกับเส้นทางในสายอาชีพนี้ แต่แจ๋ยังคงมีแพสชันและไม่ยอมแพ้กับเส้นทางละครหุ่น 

หลังจากที่ได้เห็นโพสต์ของทาง Puppet & Its Double ที่เปิดรับสมัครนักเรียนเพื่อเดินทางไปศึกษาเรื่องหุ่นละครโดยเฉพาะ เธอก็มีความหวังอีกครั้ง

“จริงๆ ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะมาเรียนเลยค่ะ เพราะมันแพง แต่เราก็แชร์โพสต์ในเฟซบุ๊กแล้วบอกว่าอยากเรียนจัง

แล้วก็มีพี่ๆ ทักมาบอกว่า ‘แจ๋ไปเรียนเลย ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เดี๋ยวเราช่วยกันหาเงินให้’ เราตกใจมากเพราะค่าเรียนมันแพงมากจริงๆ แต่ก็มีคนทักมาเยอะมาก เขาอยากสนับสนุนเราในเส้นทางนี้”

“จนท้ายที่สุดมีคนสนับสนุนเรา 40 กว่าคน เพราะเขามองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ บางคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อนด้วยซ้ำ บางคนโอนมาแบบไม่แสดงตัว สิ่งนี้แหละที่ทำให้เราบอกกับตัวเองว่ายังไงก็จะทำต่อ”

และแล้วเส้นทางละครหุ่น ณ กลุ่มละคร Puppet & Its Double ของแจ๋ก็เริ่มต้นขึ้น

ก้าวแห่งความหวัง

การเป็นคนไทยเพียงคนเดียวในโรงละครแห่งนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้สำหรับแจ๋แต่อย่างใด เพราะเธอยังคงสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ และยังมีเพื่อนหลากหลายเชื้อชาติที่มาเรียนรู้การทำละครหุ่นเช่นเดียวกับเธอ

และเมื่อได้ใช้เวลาไปกับการศึกษาศาสตร์ละครหุ่นอย่างเต็มที่ แจ๋ก็ได้มองเห็นถึงโอกาสในการเรียนรู้และเก็บเกี่ยวทักษะมากมายเพื่อนำไปพัฒนาตัวเอง ตั้งแต่รายละเอียดเล็กๆ ในการทำหุ่น การเลือกใช้วัสดุ วิธีการเชิดหุ่น และรายละเอียดอื่นๆ ที่เติมเต็มฝันของเธอให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอีกครั้ง

“เราได้ติดตามผลงานของกลุ่มละคร Puppet & It’s Double มาตั้งแต่ปี 2550 เขาเป็นกลุ่มละครในเอเชียที่ทำงานมาอย่างยาวนาน งานมีมาตรฐานสูง เราเลยอยากเห็นว่าเขาทำงานกันยังไงบ้าง”

“ก่อนหน้านี้ช่วงปี 2561 เคยได้มาเป็นศิลปินในพำนักที่นี่ 1 เดือน ได้เห็นพื้นที่การทำงานที่มีความเป็นมืออาชีพ ได้เรียนรู้เยอะมาก และได้รู้ว่าเรามีสิ่งที่ยังไม่รู้เยอะมากเช่นกัน พอมาเรียนครั้งนี้เลยตั้งใจเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด”

“ที่โรงละครแห่งนี้ใส่ใจตั้งแต่การออกแบบ เลือกวัสดุที่ทนทาน ใช้งานได้ 3 ปีเป็นอย่างต่ำ มีการจัดเก็บอุปกรณ์ให้ใช้งานสะดวก ออกแบบการดูแลรักษาหุ่นเป็นระบบ จัดเก็บเป็นอย่างดี หุ่นที่สร้างขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้วก็ยังคงสภาพดีจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่หุ่นที่เราเก็บไว้ที่บ้านคือสภาพเลวร้ายมาก (หัวเราะ) เราไม่ได้คิดมาก่อนว่ามันต้องจัดเก็บด้วยวิธีไหน แต่ที่นี่เขาจะคิดเผื่อไว้เสมอ ปรับปรุงเทคนิค แล้วก็ส่งต่อองค์ความรู้ให้กันตลอด”

“คนในทีมจะช่วยกันแบ่งปันเทคนิคและพร้อมลองสิ่งใหม่ๆ ไปด้วยกัน เพื่อที่งานจะได้พัฒนาต่อไปได้ เช่น วันนี้ใช้วัสดุแบบนี้ ครั้งถัดไปเราจะลองใช้วัสดุอีกแบบหนึ่ง ถ้าเมื่อคราวก่อนใช้วัสดุตัวนี้แล้วมันหนัก ครั้งถัดไปมาลองดูกันว่าจะมีวัสดุไหนที่ทดแทนได้”

แจ๋บอกว่าความแตกต่างที่เธอได้สัมผัสเมื่อมาเรียนที่นี่ คือรัฐบาลไต้หวันพร้อมที่จะสนับสนุนทุกอาชีพอย่างเต็มที่ มีกฎหมายคุ้มครองลูกจ้าง มีเวลาการทำงานที่ระบุไว้ชัดเจน คนทำงานจึงไม่ต้องประสบปัญหาเรื่องค่าแรงและเวลาในการทำงานอย่างที่เธอเคยมีประสบการณ์เมื่อตอนอยู่เมืองไทย

“ที่นี่มีการจัดอบรมละครหุ่น มีการทำโปรดักชันใหญ่ประจำปี มีหน่วยงานทั้งเอกชนและภาครัฐให้เงินสนับสนุนจัดงานเทศกาลย่อมๆ ที่มีการแสดงที่เป็นหุ่นสัตว์ต่างๆ จากแอฟริกาขนาดเท่าตัวจริง มีโซโล่โชว์เล็กๆ มีการสอนละครหุ่นที่โรงเรียน จัดกิจกรรมสาธิตละครหุ่นในห้างสรรพสินค้า ต้องทำกิจกรรมที่หลากหลายมาก โรงละครนี้จึงไปต่อได้”

“สิ่งที่ดีที่สุดคือเราไม่ต้องกังวลว่าต่อไปจะมีงานไหม” นี่คือสิ่งที่แจ๋ชอบที่สุด

ความตั้งใจของแจ๋ในตอนนี้คือการเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ดีๆ เพื่อนำไปใช้ในเส้นทางการทำละครของเธอที่ยังคงทอดยาวต่อไป ไม่ใช่แค่เพื่อพัฒนาตัวเองแต่เพียงเท่านั้น แต่เธอยังคงหวังว่าพลังของความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้นี้ จะเป็นแรงเล็กๆ ที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาวงการศิลปะและการละครในเมืองไทยได้สักวันในอนาคต

ความหวังของเธอยังคงเปล่งประกาย

เหมือนกับนัยน์ตาของเธอที่เราสังเกตเห็นได้ตลอดการให้สัมภาษณ์ในวันนี้

Writer
Avatar photo
ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts