Life is like a Play : ละคร/ชีวิตของ ‘ชาคร ชะม้าย’ คนละครที่พาละครไปขับเคลื่อนย่าน
Life is like a Play : ละคร/ชีวิตของ ‘ชาคร ชะม้าย’ คนละครที่พาละครไปขับเคลื่อนย่าน
ไวน์-ชาคร ชะม้าย เป็นคนทำละคร
ถ้าขยายความแบบไล่เรียง เขาเป็นผู้กำกับละครเวที แอคติ้งโค้ช อาจารย์พิเศษเกี่ยวกับศิลปะการแสดง
แต่หากขยายความแบบลึก เขาเรียกตัวเองว่า ‘นักจัดการศิลปะและวัฒนธรรม’
เป็นครั้งแรกที่ได้ยินคำนี้เลยอดถามไม่ได้ ชาครอธิบายกับเราว่า “คือการจัดการศิลปะวัฒนธรรมให้มีมูลค่า ในโจทย์ที่แตกต่างออกไป” พร้อมไล่เรียงตัวอย่างให้ฟังเพื่อป้องกันเรางง
นิทรรศการเกี่ยวกับละครชาตรีในชุมชนนางเลิ้ง, ละครเรื่อง Untold Story ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชุมชนเดียวกันเพื่อบอกเล่าความในใจของคนในย่าน และล่าสุดเขาคือหัวเรือใหญ่ในการจัด IN CHARM Fest เฟสติวัลเล็กๆ ที่รวบรวมศิลปะหลากหลายแขนงมาไว้ในโรงเรียนสตรีจุลนาค โรงเรียนเก่าแก่ในย่านนางเลิ้งซึ่งปิดตัวลงไปแล้ว มีทั้งเสวนา งานจัดฉายหนัง นิทรรศการ และแน่นอนว่า-ต้องมีละคร
พิจารณาจากลิสต์ข้างบน ดูเหมือนจะมีคำสองคำที่โผล่มาบ่อยกว่าใครเพื่อน นั่นคือ ‘ละคร’ สิ่งที่ชาครหลงใหลมาตั้งแต่วัยเยาว์ และ ‘นางเลิ้ง’ ย่านที่เขาได้มาศึกษา อาศัยอยู่หลายปี ทำละครที่ได้แรงบันดาลใจจากที่นี่ และผูกพันจนแทบจะเรียกตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่ง ความสนุกของการพาละครไปเชื่อมโยงกับชุมชนคืออะไร และเทศกาล IN CHARM Fest เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจแบบไหน ในบ่ายวันที่โรงเรียนสตรีจุลนาคกำลังเงียบเหงากำลังดี ชาครรอเราอยู่ที่นั่นพร้อมกับคำตอบ
ความสัมพันธ์ของคุณกับละครเริ่มขึ้นตอนไหน
สมัย ม. ปลายเรามีความสนใจหลากหลาย เราเรียนสเก็ตช์ภาพ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ แฟชั่น เปียโน แต่สิ่งที่ชอบมาตั้งแต่เด็กและอยากเรียนมากที่สุดคือละคร
จุดเปลี่ยนที่ทำให้อยากทำละครคือตอนไปดูเรื่อง Macbeth ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนนั้นก็ดูไม่รู้เรื่องหรอกเพราะค่อนข้างดูยาก แต่มันมีเสน่ห์คือการเล่าเรื่องเรียบๆ และทำให้เราตั้งคำถามต่อ มันเหมือนเป็นโลกอีกใบ เป็นความจริงอีกชุดที่มาเล่นอยู่ตรงหน้าเราและพยายามสื่อสารอะไรบางอย่างกับเรา หลังจากนั้นเราก็ยิ่งอยากเป็นคนทำละคร อยากเป็นผู้กำกับเพราะเหมือนเราได้สร้างโลกทั้งใบ
เราอยากเรียนละครตั้งแต่ป.ตรี สอบเข้าสาขาวิชาการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่สอบไม่ติด ช่วงนั้นขายเสื้อผ้ามือสองอยู่แล้วรายได้ดี เราเลยชั่งใจว่าจะเรียนอยู่ไหม จนกระทั่งได้รู้จักวิทยาลัยนวัตกรรม การจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ตอนแรกเราไม่เข้าใจว่าเรียนเกี่ยวกับอะไร พออ่านหลักสูตรแล้วรู้ว่าเรียนกว้างมาก ทั้งแฟชั่น สื่อ ศิลปะการแสดง ประวัติศาสตร์ศิลป์ การวิพากษ์ ไปจนถึงเรียนแนวคิดเชิงมานุษยวิทยา สรุปง่ายๆ คือเรียนเพื่อจัดการศิลปะวัฒนธรรมให้มีมูลค่าในโจทย์ที่แตกต่างออกไป เราสนใจเลยลองสอบดู
ช่วงเรียนป.ตรี เรายังอยากเรียนละครอยู่ ตอนแรกคิดจะซิ่ว แต่สุดท้ายก็เรียนจนจบป.ตรีแล้วมาต่อป.โทสาขา Applied Theater ที่อักษรศาสตร์ จุฬาฯ แทน เหตุผลที่มาเรียนต่อที่นี่คือเคยไปดูละครเรื่องไลฟ์คูณสามของ Live Theater ทั้งเรื่องมีตัวละครอยู่ 3-4 ตัว เล่าเรื่องวันธรรมดาวันหนึ่งในห้องนั่งเล่น หัวใจของมันคือหากมีชอยส์บางอย่างในชีวิตเปลี่ยนไป ทุกอย่างในเรื่องก็จะเปลี่ยนไปหมดเลย
เรื่องนี้ทำให้รู้ว่าละครมันมีเท่านี้ก็ได้เลย ไม่ได้ยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องธรรมดาสามัญทั่วไปแต่เราต่อกับมันติด
เราทึ่งมากจนต้องไปเสิร์ชว่าใครเป็นผู้กำกับ พบชื่อครูหนิง (พันพิสา ธูปเทียน) แล้วก็ได้รู้ว่าเขาสอนป.โทที่จุฬา นั่นคือส่วนหนึ่งของเหตุผลที่มาสมัครเรียนที่นี่
แล้วคุณพาละครไปเชื่อมโยงกับชุมชนได้อย่างไร
ตอนยังเรียนป.ตรี วิทยาลัยของเราทำโปรเจกต์เกี่ยวกับชุมชน จะมีงบบริการชุมชนให้เราเข้าไปทำงานกับชุมชนต่างๆ ปีแรกเขาทำกับชุมชนนางเลิ้ง ทำนิทรรศการเกี่ยวกับละครชาตรี จัดที่หอศิลป์
เราเข้าร่วมโปรเจกต์นี้ในปีที่ 2 เพราะได้เรียนกับอาจารย์กาญจนา เหล่าโชคชัยกุล ในวิชาโครงการทางวัฒนธรรมและการระดมทุน วิชานี้สอนให้เราเชื่อมโยงกับพื้นที่ต่างๆ ด้วยการลองคิดโปรเจกต์ เผอิญว่าปีที่ 2 เขายังอยากทำงานกับชุมชนนางเลิ้งต่อก็เลยชวนเราไปทำด้วย หลังจากนั้นเราได้ทำละครเรื่องแรกด้วยกันในปี 2560 ชื่อเรื่อง Untold Story จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
อาจารย์เขาให้โจทย์ว่า ‘ชุมชนบันดาลใจ’ เราจึงตั้งใจเล่า ‘เรื่องเล่าหลายชุด’ โดยมีตัวละครหลักเป็นนักเล่าเรื่อง พล็อตของเรื่องนี้คือนักเล่าเรื่องคนนี้เขียนเรื่องราวตัวละครที่หลากหลาย แล้วอยู่ดีๆ ตัวละครพวกนี้ก็มีชีวิตขึ้นมาเพื่อบอกเขาว่าจริงๆ เรื่องของฉันไม่ใช่แบบที่เขียน แรงบันดาลใจมาจากเวลาเราไปเดินในชุมชนนางเลิ้ง มันมีความเชื่อ (myth) บางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่าแออัดหรือน่ากลัว แต่พอเรามารู้จักที่นี่จริงๆ มันมีอีกมุมหนึ่งให้เรามอง ซึ่งไม่ได้แออัดหรือน่ากลัวเลย
เราทำละครเรื่องนี้กับศิลปินละครชาตรี ตอนแรกคิดว่าเราทำละครแบบตะวันตก เขาคงไม่เข้าใจหรอก เพราะละครชาตรีคือละครร้อง ละครรำ แต่พอได้ทำงานกับนางละครชาตรีคนหนึ่ง ชื่อป้ากัญญา ทิพโยสถ ในเรื่องแกแสดงเป็นนางละครเหมือนกัน วันหนึ่งแกก็เดินมาคุยกับเราว่า “ป้าชอบเล่นละครเพราะมันได้บอกสิ่งที่อยู่ในใจผ่านการแสดง สิ่งที่เราพูดไม่ได้ ซึ่งจริงๆ ชีวิตนางละครเป็นแบบนี้แหละ ทุกคนมีเรื่องซ่อนอยู่”
คำพูดนั้นทำให้เราเปลี่ยนความคิด โห เขาเล่นละครมาทั้งชีวิตแล้วจะไม่เข้าใจศิลปะได้ยังไง ต่อจากนั้นเราไม่มีกำแพงกับศิลปะแขนงไหนอีกเลย จุดนี้ทำให้เราเห็นว่าเมจิกของศิลปินยังไง ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติหรือเกิดขึ้นในวัฒนธรรมไหน ตราบใดที่เรื่องเล่านั้นสื่อสารกับคนอื่นได้ มันก็เชื่อมต่อกับคนอื่นได้
คุณว่าเสน่ห์ของการทำละครกับชุมชนคืออะไร ต่างจากละครที่ไม่ได้ทำกับชุมชนอย่างไร
เรามองว่าตอนนี้ การทำงานไม่ว่าสาขาไหนมันมีเทรนด์ที่ทุกคนต้อง localize เชื่อมโยงกับผู้คนและท้องถิ่นของตัวเองมากขึ้น ถ้าเราอยากพัฒนางานของเราหรือเพิ่มผู้ชม (Audience) เราอาจจะต้องออกนอกโรงละครบ้าง เพราะจริงๆ นอกโรงละครมีวัตถุดิบและเรื่องราวอีกมามายให้เราได้เล่า มีโจทย์ที่ซับซ้อนขึ้น แต่แน่นอนว่ามันยากขึ้นแน่นอนในทุกมิติ
องค์ความรู้ของแทบทุกสาขาวิชามาจากตะวันตก แต่เราจะทำยังไงให้องค์ความรู้นั้นเชื่อมโยงกับท้องถิ่น ไม่ใช่แค่ระดับภาคแต่เป็นระดับย่าน ระดับผู้คนไปแล้ว เราว่าทุกสาขาวิชา ทุกศาสตร์และศิลป์ทำงานแบบนี้กันหมด ขึ้นอยู่กับว่าใครจะทำได้แหลมคมแล้วแหละ เพราะเมื่อมันเป็นเทรนด์ เราต้องมองให้ออกว่าผู้คนที่อยู่ในย่านนั้นเขามีเรื่องราว มีปัญหา มีความต้องการอะไรที่แตกต่างออกไปจากคนอื่นๆ เราจะทำงานกับมันยังไงให้คนเสพโดยไม่ได้ฉาบฉวย
อยู่กับชุมชนนางเลิ้งมานาน นางเลิ้งในสายตาของคุณเป็นอย่างไร
เราว่านางเลิ้งมีอะไรให้เล่าอีกเยอะมาก นางเลิ้งเป็นย่านที่มีความซับซ้อนมากๆ เพราะคนนางเลิ้งไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน ที่ดินของนางเลิ้งส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นคนนางเลิ้งจะไม่มีโฉนดที่ดิน
ย่านนี้จึงเป็นย่านที่มีการขัดแย้ง (Conflict) สูง มากกว่านั้นคือมีผู้คนหลากหลายแบบ มีทั้งชนชั้นกลาง ผู้ดี๊ผู้ดี มีกลุ่มคนละคร มีทั้งพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นคนใน ขาจร และคนในชุมชนแออัด มันปนเปไปหมดและมีความหลากหลายสูง เพราะฉะนั้นการจะทำโปรเจกต์อะไรสักอย่างกับนางเลิ้ง เราว่าการทำงานสร้างมันต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกับการยกระดับชุมชน เพราะการทำงานเชิงศิลปะและวัฒนธรรมแค่อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะยกระดับย่านนี้ไปสู่ย่านที่ดีขึ้น เพราะมันมีปัญหามากมายที่ต้องแก้ไปถึงระดับนโยบาย
เช่น ปัญหาเรื่องอะไร
พอนางเลิ้งเป็นย่านที่คนมาอาศัยอยู่แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง มันเลยเป็นงานที่เงียบ นิ่ง เพราะเขาก็อยู่ด้วยความรู้สึกที่ว่า ไม่รู้ว่ารถไฟฟ้าจะมาถึงเมื่อไหร่ หรือจะโดนไล่ที่เมื่อไหร่ มันไม่มีความแน่นอนในชีวิต แล้วเราควรอยู่บ้านหลังนี้ด้วยความรู้สึกแบบไหน
เป็นเรื่องที่พูดยาก แต่เราว่าสิ่งสำคัญคือการทำให้เกิดการพูดคุยอย่างแท้จริงกับผู้คนที่อยู่ในย่าน ให้พวกเขามาร่วมกำหนดทิศทาง เขาอาจจะรู้สึกอยากลุกขึ้นมาทำอะไรกับย่านมากกว่านี้
จริงๆ นางเลิ้งมีเสน่ห์เฉพาะตัวมาก มีสถาปัตย์ อาหาร เรื่องเล่าตั้งแต่อดีต ทุกวันนี้มีบาร์แจ๊สอยู่ตรงหัวมุม ในขณะเดียวกันก็มีตลาดที่เปิด-ปิดแล้วแต่อารมณ์ มันเป็นย่านที่รุ่มรวย (Rich) มาก
โปรเจกต์ที่คุณทำกับนางเลิ้งในปีนี้ แตกต่างจากปีก่อนๆ อย่างไร
พอทำ ‘อีเลิ้ง’ ครั้งก่อน เรารู้สึกว่าในฐานะ art manager ด้วย การมีเฟสติวัลอะไรสักอย่างมันยังน้อยเหลือเกินในประเทศนี้ โดยเฉพาะเฟสติวัลที่ค้นหาเรื่องธรรมดาสามัญแล้วมาเล่าใหม่ให้น่าสนใจ เฟสติวัลที่ชื่อ IN CHARM Fest จึงเกิดขึ้น
จริงๆ โปรเจกต์นี้ตั้งต้นจาก วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่อยากลองทำงานกับพื้นที่โรงเรียนสตรีจุลนาคที่ปิดตัวลงไปแล้ว โจทย์คือโรงเรียนนี้จะกลายเป็นอะไรได้บ้าง เราจึงลองจัดกิจกรรมหลายๆ อย่างขึ้นมา เช่น ละคร ทอล์ก งานฉายหนัง นิทรรศการที่เชื่อมโยงกับย่านเพื่อเชิญชวนให้คนมารู้จักนางเลิ้งและโรงเรียนสตรีจุลนาคมากขึ้น
เราคิดว่าสิ่งที่ทำให้สเปซตรงนี้น่าสนใจ คือมันอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างย่านนางเลิ้ง บางลำพู และพระนครพอดี มันเป็นพื้นที่ที่สามารถเชื่อมต่อชุมชนหลายๆ แห่งได้ และสามารถกลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ในอนาคตได้ แต่กว่าจะไปถึงตรงนั้น เรามองว่าต้องทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะเสียก่อน ฝันได้แต่ต้องนำไปสู่การพูดคุยอีกมาก เช่น เมืองอาจจะต้องลงทุนกับที่นี่หรือเปล่า
ทั้งๆ ที่ทำละครมาตลอด ทำไมถึงเลือกจัดเป็นเฟสติวัล
น่าจะเพราะสนุก เราเคยเป็นผู้ช่วยวิจัยในงานเฟสติวัลงานหนึ่งแล้วรู้สึกว่าเป็นเฉดสีที่น่าสนใจ ซึ่งจริงๆ เฟสติวัลของเราก็ไม่ได้ใหญ่ เป็นเฟสติวัลจิ๋วๆ ที่พยายามทำให้พื้นที่โรงเรียนนี้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ได้ อีกอย่างคือเรารู้สึกว่าแค่ละครเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสื่อสารประเด็นที่อยากพูดของโรงเรียนสตรีจุลนาคได้ ต้องทำอย่างอื่นประกอบด้วย
ความฝันของเฟสติวัลนี้คือเราอยากจัดงานที่มีปฏิสัมพันธ์ (Interact) กับมนุษย์เพื่อให้พื้นที่นี้มีชีวิตขึ้นมา จะไม่ใช่การเอางาน Installation art มาวางเพราะเราแค่รู้สึกว่ามันจะไม่มีชีวิต คนจะแวะมาเฉยๆ และไม่ได้ใช้เวลากับที่นี่มากพอ
ในส่วนของละคร ปีนี้ทำเกี่ยวกับเรื่องอะไร
ชื่อเรื่อง “ถ้าเดือน สิงหา ไม่มีฝน” ตอนแรกพอได้โจทย์ว่าเป็นโรงเรียนร้าง เราจะนึกถึงเรื่องผี แต่เราว่ามันดูซ้ำๆ ไปหน่อย เลยคิดต่อยอดว่าถ้าเป็นพื้นที่ร้างแล้วมีคนมาอยู่มันจะเป็นยังไง
เรานึกถึงบทละครชื่อ fairytaleheart ของ Philip Ridley ว่าด้วยเด็กสองคนที่มาเจอกันในพื้นที่ร้างแห่งหนึ่ง เราคิดว่าช่วงวัยเด็กคือช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต ยิ่งช่วงอายุ 18 คือหัวเลี้ยงหัวต่อ แล้วถ้าเขาหนีออกจากบ้านมาอยู่ที่นี่แล้วมาเจอกับเด็กอีกคนที่เผชิญชีวิตยากไม่แพ้กันมันจะเป็นยังไง สุดท้ายจึงกลายเป็นละครเรื่องนี้ที่พูดถึงเด็กผู้พยายามรับมือกับชีวิต เป็นเด็กที่รู้สึกว่าเป็นผู้ใหญ่แล้วแต่ไม่รู้สึกโตสักที เพราะชีวิตไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
คุณคิดว่าการทำ IN CHARM Fest ส่งผลต่อชุมชนนางเลิ้งในแง่ไหน
ส่งผลในแง่ที่ว่าทำให้ย่านนี้มีการจัดงานลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะเราว่าปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของย่านคือฝรั่งมาเที่ยว แต่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก นางเลิ้งไม่ใช่จุดหมายของคนไทย เหมือนหลายคนรู้สึกว่าย่านนี้ลึกลับ มีตรอกซอกซอยโบราณที่ดูน่ากลัว แต่เราไม่ต้องการให้นางเลิ้งเป็นย่านลับ อย่างตลาดนางเลิ้งที่เปิดเช้า เราอยากให้เป็นตลาดที่ “มาเล้ย มาเดินเที่ยวได้” มาสำรวจนางเลิ้งในอีกแบบหนึ่ง
แต่ถามว่า IN CHARM Fest ที่สตรีจุลนาคได้พูดถึงหรือหยิบเอานางเลิ้งมาเล่าขนาดนั้นไหม เราคิดว่าไม่ได้หยิบมาเยอะอะไรมาก แต่ที่แน่ๆ IN CHARM Fest คือส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมในการเรื่องการสื่อสารว่า จริงๆ แล้วนางเลิ้งมีหลายเฉด หลายกิจกรรม
เป้าหมายของคุณในการทำงานนี้คืออะไร
อย่างน้อยพื้นที่ของโรงเรียนสตรีจุลนาคจะถูกพูดถึง ถูกสื่อสารออกไปว่ามีพื้นที่ที่สามารถกลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ งานนี้ตอบโจทย์ในแง่นั้น ซึ่งมันก็เริ่มเห็นผลเพราะคนที่มาดูละครหลายคนเริ่มสนใจพื้นที่นี้ว่าทำอะไรได้บ้างแล้ว
แต่ถ้าโจทย์ในใจคือการทำให้เราเชื่อมต่อกับคนทำละครและนักจัดการศิลปะหลายคน ซึ่งหลายๆ คนเรียนจบจากที่เดียวกัน มาเข้าร่วมโปรเจกต์เรียนจบไปแล้วและทุกคนมีงานประจำ โปรเจกต์นี้ก็ทำให้เราได้กลับมาทำสิ่งที่เคยเรียนอย่างตรงไปตรงมา เราได้ช่วยกันสื่อสารว่านักจัดการศิลปะและวัฒนธรรมคืออะไรในประเทศนี้ เพราะมันยังขาดความเข้าใจอยู่มาก อีกอย่างหนึ่งคือมันได้ทำให้เราได้เรียนรู้และหาที่หาทางของตัวเองด้วยว่า นักจัดการศิลปะและวัฒนธรรมในประเทศนี้เราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง
อยู่กับละครมาหลายปี พลังของละครที่คุณมองเห็นคืออะไร
มีสองระดับ ระดับแรกเกิดขึ้นในแวดวงละครก่อน การมีละครเล็กๆ เหล่านี้ทำให้ละครเป็นที่รู้จักมากขึ้น คนไม่ได้รู้จักแค่รัชดาลัย ทำให้คนตัดสินใจมาดูเรา มาอยู่ในมวลบรรยากาศแบบนี้ที่ต้องการการแสดงสด ต้องการ performing art ซึ่งจากช่วงโควิดที่มีคนบอกว่าโลกของละครต้องเปลี่ยนไปแล้วแน่ๆ เราต้องไปเล่นในซูม แต่เราว่าการแสดงสดมันยังไม่มีอะไรมาแทนได้
อีกอย่างคือเราสามารถเห็นว่าละครไปทำงานกับพื้นที่ที่หลากหลายได้มากขึ้น ยกตัวอย่างโปรเจกต์ Finding Teresa ในงาน Bangkok Design Week ที่ผ่านมา ที่นักแสดงไปเล่นละครในชุมชนเยาวราชจริงๆ แบบเปลี่ยนที่แสดงไปเรื่อยๆ นี่คือโมเดลที่ทำให้เราเห็นว่าละครสามารถนำพาคนดูไปสำรวจย่านได้ เป็นอีกประสบการณ์ใหม่ในการสำรวจย่านที่ไม่ใช่การฮอปปิ้งตามจุดถ่ายรูป แล้วคนดูเขาตื่นตาตื่นใจ หรืออย่างงานปักษ์ใต้ดีไซน์วีคที่เราไปเป็น Project Manager และ Producer ให้กับละครที่ไปเล่นในร้านน้ำชาในเมืองเก่าสงขลา เล่าเรื่องคนจีนห้าเหล่า เราได้เห็นว่าละครสามารถทำงานกับเรื่องราว ตัวละคร พื้นที่จริงๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับคนในแบบที่ศิลปะอื่นทำไม่ได้ คนจีนที่มาดูเขาก็นึกถึงครอบครัวตัวเอง มันทำให้บรรยากาศในเมืองมีชีวิตชีวามากขึ้น
การได้เป็นคนละครและผลักดัน IN CHARM Fest ให้เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้มีความหมายต่อตัวคุณอย่างไร
ละครจะสอนให้เราทำความเข้าใจมนุษย์ และการทำความเข้าใจมนุษย์เป็นงานที่ไม่มีวันจบ เราต้องทำต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่การทำความเข้าใจผ่านบทหรือแค่ในโรงละคร แต่มนุษย์ในที่นี้หมายถึงมนุษย์รอบตัวที่สอนอะไรบางอย่างกับเรา
พูดตรงๆ เราแค่อยากเลือกใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ได้ทำอะไรบางอย่างที่มีความหมายกับชีวิตแล้วอยู่ได้ เราไม่ได้ปฏิเสธระบบทุนนิยม แต่ในขณะเดียวกัน ในชีวิตหนึ่งเราก็อยากทำอะไรต่อยอดจากสิ่งที่เรียน สิ่งที่ชอบ สิ่งที่รัก ซึ่งเราก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่ามันควรจะเป็นอะไรนอกจากการทำละคร
Writer
พัฒนา ค้าขาย
นักเขียนจากเชียงใหม่ผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็นเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง
Photographer
ฉัตรมงคล รักราช
ช่างภาพ และนักหัดเขียน
Photographer
อรญา ศรีสังวาลย์
คนเจนซีที่เชื่อว่าบ้านเมืองจะดีกว่านี้ได้ หลงใหลในการทอดไข่และก๋วยเตี๋ยวไม่ใส่ถั่วงอก มีความสุขทุกครั้งที่กินหวาน ตัดผม และเห็นคนบังเอิญใส่เสื้อสีแมทช์กัน
illustrator
พรภวิษย์ เพ็งเอียด
ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม