Healthy boundary กล้าพูดว่าไม่ รักแค่ไหนก็อย่าให้ใครค้นของในห้องส่วนตัว

Healthy boundary กล้าพูดว่าไม่ รักแค่ไหนก็อย่าให้ใครค้นของในห้องส่วนตัว

  • Consent หรือความยินยอม เริ่มต้นด้วยการกล้าพูดว่าไม่กับคนในครอบครัว ผ่านการกำหนดขอบเขตหรือ  Boundary ในความสัมพันธ์ 
  • การกำหนดขอบเขตในความสัมพันธ์เพื่อเคารพตัวเอง ซึ่งเกิดจากการเข้าใจความรู้สึก ความคิดและจุดยืนของตัวเอง ทำให้กล้าบอกอีกฝ่ายว่า เราไม่พอใจ ต้องการอะไร และปฏิเสธเพราะไม่ชอบ 
  • ไม่มีใครควรเป็น People Pleaser หรือผู้ที่สร้างความพึงพอใจตลอดเวลา แม้ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในครอบครัวก็ตาม 

กับคนรู้จักและเพื่อนทั่วไป เป็นเรื่องง่ายที่จะ Say No และเดินออกมาเมื่อไม่พอใจกัน แต่เมื่อเป็นความสัมพันธ์กับคนสนิทและคนในครอบครัวที่รู้จักกันชั่วชีวิต หลายคนมักเกิดอาการ ‘น้ำท่วมปาก’ หลงคิดว่าเพราะเป็นรักที่ไม่มีเงื่อนไข (Unconditional Love) ทำให้ต้องยอมทุกอย่าง   

ในทางจิตวิทยา แม้แต่ Unconditional Love คนเราก็ต้องมีเงื่อนไข หรือ Condition ของตัวเอง

เหมือนที่ในบ้านหนึ่งหลัง ไม่ได้มีแค่ห้องนั่งเล่นรวม แต่มีห้องส่วนตัวของแต่ละคน ที่เป็นพื้นที่ของตัวเอง ไม่อนุญาตให้ใครล้ำเส้นมาเปิดไดอารี่ส่วนตัวอ่าน หรือค้นของในห้องของเรา Condition ในความสัมพันธ์นี้เรียกว่า Boundary หมายถึง การกำหนดขอบเขตในความสัมพันธ์เพื่อเคารพตัวเอง ซึ่งเกิดจากการเข้าใจความรู้สึก ความคิด และจุดยืนของตัวเอง ทำให้กล้าบอกอีกฝ่ายว่า เราไม่พอใจอะไร ต้องการอะไรหรืออยากปรับอะไรในความสัมพันธ์

Learn to Say No but also Open to Negotiation : เรียนรู้ที่จะบอกว่าไม่และเปิดการเจรจา 

“ไม่ชอบนะที่ทำแบบนั้น”

“ไม่อยากให้…เลย”

“ไม่ทำ…ได้ไหม”

คนเรามักกลัวว่าการพูดว่า ‘ไม่’ กับคนสนิทเป็นเรื่องแง่ลบทำให้ความสัมพันธ์พัง กลัวการขัดแย้งรุนแรง แต่ความจริงแล้วในทางกลับกัน การมี Healthy Boundary ยิ่งกระชับความสัมพันธ์ให้แข็งแกร่งขึ้น 

เพราะ Boundary ที่ดีไม่เพียงเป็นการฟังหรือยึดมั่นแต่ความต้องการของตัวเองเท่านั้น แต่เป็นการสื่อสารโดยขีดเส้นของตัวเองที่ยืดหยุ่นได้ ขยับเส้นนั้นได้

ฟังและเข้าใจอีกฝ่าย แต่ในขณะเดียวกันก็กล้าสื่อสารความต้องการของตัวเองด้วยเช่นกัน 

Child’s Boundary Starts from Family : ขอบเขตของเด็กๆ เริ่มต้นที่ครอบครัว

สำหรับพ่อแม่แล้ว หากยิ่งสามารถสื่อสาร Boundary ของตัวเองได้ดีเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้สามารถเคารพ Boundary ของลูกได้ดี ช่วยสนับสนุนให้ลูกสื่อสารความต้องการของตัวเองได้โดยเฉพาะเมื่อลูกยังอยู่ในวัยที่ยังไม่สามารถปกป้องตัวเอง และต้องทำตามความต้องการของผู้ใหญ่เป็นหลัก ทั้งไปโรงเรียน กินผัก เชื่อฟังผู้ใหญ่และอื่นๆ อีกมากมาย  

ตามธรรมชาติของเด็กเล็กเป็นวัยที่เริ่มโตมาจากการไม่มีขอบเขตใดๆ (No Boundary) โดยเด็กมีกลไกการป้องกันตัวทางจิตใจ (Ego Defense) หรือ กลไกตามธรรมชาติในวัยที่ยังไม่มีประสบการณ์ เมื่อโตขึ้นจะค่อยๆ เรียนรู้การปกป้องตัวเอง ซึมซับการสร้าง Boundary จากผู้ใหญ่ 

การที่พ่อแม่แสดงให้ลูกเห็นว่า Healthy Boundary ของตัวเองเป็นอย่างไร ย่อมส่งผลดีต่อเด็ก เช่น แสดงให้ลูกเห็นว่าบางครั้งก็ต้องการพื้นที่ส่วนตัว และเวลา Self-Care ของตัวเองรวมทั้งสื่อสารให้ลูกเห็นว่าการประนีประนอมขยับพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองเพื่อคนอื่นเป็นอย่างไร

Love is an Open Door but also needs a Lock : รักคือการเปิดประตูแต่ก็ต้องล็อคให้เป็นด้วย


สิ่งสำคัญ คือ คนเรามักคิดไปเองว่าคนในครอบครัวรู้ว่าเราต้องการอะไร เราจึงไม่สื่อสารมันออกมา หรือบางครั้งเรากลับละอายใจที่จะต่อต้านหรือปฏิเสธความต้องการของอีกฝ่ายที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจและเหนื่อยล้าในใจ

ความจริง คือ ไม่มีใครควรเป็น People Pleaser หรือผู้ที่สร้างความพึงพอใจตลอดเวลา แม้ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในครอบครัวก็ตาม

หากเป็นคนสื่อสารไม่เก่ง อาจเริ่มจากการฝึก Say No จาก Soft No หรือการปฏิเสธอย่างละมุนละม่อม ซึ่งหมายถึง การ Say No โดยเผื่อพื้นที่ให้ความเป็นไปได้ของ Yes ในอนาคต หรือการบอกความต้องการแบบยืดหยุ่นนั่นเอง เช่น หากมีคนรบกวนพื้นที่ส่วนตัวในบ้านในเวลาที่เหนื่อย แทนที่จะพูดว่า “อย่ารบกวนได้ไหม” อาจเปลี่ยนเป็น “กำลังเหนื่อยอยู่เลย ขอเวลาพักผ่อนสักชั่วโมงแล้วค่อยคุยกันได้ไหม” เป็นต้น 

วิธีนี้ทำให้เกิดการประนีประนอมไปในตัว

เหนือสิ่งอื่นใด รากของการสื่อสารได้ดี คือ การเข้าใจตัวเอง ลองหยิบปากกา (ที่ลบได้) มาขีดเส้นของคุณดูว่าลิมิตในความสัมพันธ์อยู่ที่ตรงไหน และอย่าลืม “เคาะประตูห้อง” ของสมาชิกในบ้านก่อนเดินเข้าไปด้วยเช่นกัน

อ้างอิง :
https://www.allure.com/story/toxic-family-how-create-boundaries
https://www.peacefulparent.com/can-you-maintain-and-model-healthy-boundaries/
https://www.psychologytoday.com/us/blog/pain-explained/201912/how-set-boundaries-family
https://thefamilyinthai.wordpress.com/tag/boundary/

Writer
Avatar photo
mappa

illustrator
Avatar photo
กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts

Related Posts