ก๋วย – พฤหัส พหลกุลบุตร: เข้าใจถึงตัวเองและเข้าถึงใจคนอื่นผ่านกระบวนการละคร
ก๋วย – พฤหัส พหลกุลบุตร: เข้าใจถึงตัวเองและเข้าถึงใจคนอื่นผ่านกระบวนการละคร
- ก๋วย – พฤหัส พหลกุลบุตร ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) อธิการบดีมหาวิทยาลัยเถื่อน และเป็นกระบวนกรที่ใช้ละครเป็นสื่อในการพูดประเด็นเชิงสังคม
- การเล่นละครไม่ใช่แค่การฝึกบุคลิกภาพภายนอก แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงภายในที่ต้องลดอัตตา ย้ายศูนย์กลางไปไว้ที่ผู้อื่นและพยายามเข้าใจตัวละครอย่างถ่องแท้ ละครจึงเป็นทางหนึ่งที่เราจะเข้าถึงใจคนอื่นได้ลึกซึ้ง
- dialogue theather หรือละครถกแถลง ที่ผู้แสดงจะสวมบทบาทในละครสั้นและอภิปรายประเด็นกันคล้ายการโต้วาที ซึ่งแม้จะไม่ได้คลายความขัดแย้งในใจได้ทั้งหมด แต่เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้คนได้ลองมองต่างมุม
“รู้จักคำว่าละครหรือละครเวที ตอน ม.2-3 เป็นเด็กอยู่บางบัวทอง แล้วได้ไปดูพี่โน้ต อุดม เล่นเรื่องแรก ความรักของมาลัยในห้องไอซียู ที่หอประชุม AUA ก็ไปดู อารมณ์เด็ก ๆ แต่ตอนนั้นกลับรู้สึกมันมีมนตราอะไรไม่รู้ เราจะยืนอยู่บนเวทีอย่างนี้ให้ได้ เราบอกตัวเองตอนนั้นในวัย 14-15 ว่าเราจะสนใจสิ่งนี้แหละ” ก๋วย – พฤหัส พหลกุลบุตรเล่าถึงครั้งแรกที่รู้สึก “ปิ๊ง” ละคร ก่อนที่ความชอบนั้นจะชักนำให้ละครเข้ามาสู่ชีวิตของเขาเรื่อย ๆ
“พอโตมาอีกนิดก็ได้ดู Man of La Mancha เวอร์ชั่นแรกที่ ซอล แชปลิน ทำผ่านทีวีช่อง 3 ตอนนั้นอยู่ประมาณ ม.3 ก็รู้สึกเหมือนมันมาปลุกอะไรบางอย่าง พอช่วงม.ปลายก็ชอบทำละครสำหรับเล่นวันภาษาไทย สนุกมาก และมีแก๊งเพื่อน ๆ ที่ทำจำนวนหนึ่ง”
ละครดูจะเป็นส่วนสำคัญของชีวิตก๋วยมาตลอด จนกระทั่งตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย สมัยชั้นปีที่ 1 เขาได้ไปอยู่กับคณะละครมะขามป้อม ที่ที่ทำให้โลกของละครของเขาเปลี่ยนไป จากที่เคยเห็นแค่สเตจแบบละครเวทีในโรงละครหรือห้องประชุมขนาดใหญ่ มะขามป้อมกลับใช้ถนนและชุมชนสร้างละครเร่ ละครหุ่น และกระบวนการละครเพื่อพัฒนามนุษย์ และนับแต่นั้น เวลาก็ล่วงมาหลายศตวรรษจนในปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม)
“อะไร” ในละครที่ช่วยให้คนรู้จักตัวเอง มี empathy หรือ “เข้าถึงใจ” ผู้อื่นมากขึ้น รู้จักมองจากมุมอื่น และพัฒนาตัวเองได้ ร่วมเบิกม่านและหาคำตอบไปกับเราได้ต่อจากนี้เป็นต้นไป
“พี่ก๋วย” “เฮียก๋วย” “อาจารย์ก๋วย”
คุณให้คำนิยามตัวเองว่าอะไร
หลัก ๆ เป็นนักการศึกษา ทุกอันที่ทำเป็นเรื่องการผลักดันการเปลี่ยนแปลง แต่เท่าที่ทดลองมาหลาย ๆ ปีที่ทำงาน จะพบว่าบางอันมันจำกัดด้วยโครงสร้าง ด้วยระบบ แต่ก็พยายามจะทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นปัจเจกบุคคลก่อน แล้วก็พยายามสร้างชุมนุม ชุมชนของนักเปลี่ยนแปลง ให้เขาไปขับเคลื่อนต่อหรือไปสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อผ่านหลาย ๆ โครงการ เช่น ก่อการครู ที่ทำกับครูทั้งในระบบและนอกระบบกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มะขามป้อมก็ทำมหาลัยเถื่อน เป็นคล้าย ๆ กับเทศกาลปลายปีที่เพื่อน ๆ ที่ทำงานด้านนี้มาเจอกันแล้วขับเคลื่อนไป และมีอันที่ฝึกอบรมวิทยากรให้กับคนที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นครู คนทำงานศิลปะ อะไรทำนองนี้ ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่แปด ปรากฏว่าเมื่อเกิดชุมชนแบบนี้มันมีพลัง แต่ว่าเท่าที่เราพบ พอเขาเข้ามาฟื้นฟูจิตใจแล้วกลับไปก็ไปอยู่ในระบบเดิม โลกเดิม มันกลับไปเป็นเหมือนเดิม อันนี้เป็นโจทย์ที่กำลังคิดต่อว่าพอมีคนอย่างนี้เยอะ ๆ แล้ว จะขยับต่อให้มันมี impact มากขึ้นได้อย่างไร หรือคนเหล่านี้พอเขามารับพลังแล้วเขาจะกลับไปขยับเขยื้อนอะไรบางอย่างในระบบได้ไหม เพราะในแง่ของความเป็นจริงก็ยังมีเด็กอยู่จำนวนมากที่อยู่ในระบบ
ทั้งนักการศึกษา นักสร้างการเปลี่ยนแปลง นักการละคร ทั้งหมดนี้มันมารวมกันในตัวพี่ก๋วยได้อย่างไร
เรามีส่วนผสมของสามส่วนหลัก ๆ อย่างแรกเราสนใจเรื่องการเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก ค้นเจอความสนใจตอนอยู่มะขามป้อมตอนที่ทำค่าย สมัยก่อนจะมีค่ายเยอะ ทำค่ายไปจังหวัดต่าง ๆ แล้วเราเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก หรือตัวเราเองก็เติบโตขึ้นในฐานะที่เราเป็นวิทยากรหรือคนทำค่าย ผมเติบโตจากกระบวนการค่ายเหล่านี้ ก็คิดว่าตัวเองสนใจเรื่องกระบวนการเรียนรู้เพราะไม่งั้นคงไม่เลือกเรียนครุศาสตร์ ประถมฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่สนใจตั้งแต่เด็ก สนุกดี
อย่างที่สอง สนใจในละคร ศิลปะ หรืองานสร้างสรรค์ใด ๆ มาตั้งแต่เด็ก ทำละครตอนเรียนประถม พอมองกลับไป มันเป็นต้นทุนหรือวัตถุดิบที่สำคัญมากในการรู้จักตัวเอง มันทำให้เรารู้จักศักยภาพบางด้านของเราผ่านกระบวนการเหล่านี้ อันนี้เพิ่งมาตระหนักได้ตอนโต เลยเห็นความสำคัญของมันแล้วทำสิ่งนี้ต่อไป
อย่างที่สาม เรื่องความสนใจด้านสังคม บ้านเมือง ความเอารัดเอาเปรียบ ความเหลื่อมล้ำ อันนี้ได้มาตอนอยู่มะขามป้อม เราทำงานกับที่นี่ ได้เห็นโลก เห็นคนจน คนชาติพันธุ์ ชาวประมง แล้วมันค่อย ๆ ก่อรูปความคิดเหล่านี้ขึ้นมา
มันเลยเป็นส่วนผสมของสามเรื่อง คือเรื่องการเรียนรู้ ศิลปะ และสังคม เช่นเดียวกับคนในมะขามป้อม ก็เป็นคนที่สนใจในสามเรื่องนี้แหละ แต่ส่วนผสมจะเป็นอย่างไรจะมากน้อยอย่างไรก็แตกต่างกัน
พี่ก๋วยเห็นอะไรในละคร ทำไมถึงนำมันมาทำงานกับคน มันพัฒนาคนอย่างไร
ตอนเข้ามหาวิทยาลัยตอนปี 1 ได้มาอยู่มะขามป้อม โลกของละครมันต่างจากที่เราเคยรู้จัก เพราะเมื่อก่อนเราเห็นสเตจแบบละครเวที แต่ที่มะขามป้อมทำละครเร่ ละครหุ่น ละครในชุมชน แต่งชุดดำ ๆ เชิดหุ่น สมัยนั้นพี่หนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) เป็นครูคนแรกที่สอนผมเรื่องละคร ก็หัดทำไปเรื่อย ๆ ยุคหนึ่งเป็นยุคที่ละครเด็กบูม มีละครเด็กคณะนั้นคณะนี้เล่นเต็มไปหมดเลย เวลาไปทำค่ายก็จะใช้เครื่องมือนี้ด้วย ซึ่งมันก็ทำให้เห็นเรื่องการพัฒนา กระบวนการละครช่วยให้เด็กคนหนึ่งที่เขาเงียบ รู้สึกไม่มั่นใจ อย่างเด็กชนเผ่า หรือเด็กในชุมชน ถ้าเราทำกระบวนการอยู่กับเขาสัก 5-7 วัน จะเห็นการเปลี่ยนแปลง ตอนนั้นทำละครเยาวชนเยอะมาก ตระเวนเร่ทั่วประเทศเป็น 10 ปี ทั้งมะขามป้อมเลยนะ เดี๋ยวไปอบรมที่แม่ฮ่องสอน สักพักไปใต้ ตลอดเวลา พอมันทำเยอะ มันก็เห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงเยอะ เยอะและจริง และลึกขึ้นเรื่อย ๆ ก็รู้สึกว่าอันนี้มันเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง ในแง่ของการทำให้กลับไปรู้จักตัวเราเองด้านในมากขึ้น และไปรู้จักคนอื่น หรือที่เรียกว่า empathy นี่แหละ เพราะการที่เราต้องไปสวมบทบาทของคนอื่น ไปค้นคว้าข้อมูลตัวละคร ซึมซับและเข้าใจพฤติกรรม วิธีคิดต่าง ๆ แค่นั้นไม่พอ ไม่ใช่แค่รับรู้ตัวเขา แต่ต้องเข้าไปเป็นตัวเขาด้วย กระบวนการเข้าถึงตัวละครนี้เป็นกระบวนการสำคัญ ถ้าตีความตอนนี้คือการที่เราลด self ของตัวเองลง ไม่ได้มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง และพยายามไปเป็นคนอื่น จะทำอย่างนั้นได้ต้องสลายตัวเองไปเลย เพราะฉะนั้น ego ก็ต้องเอาออก ล้างตัวเองเป็นศูนย์ แล้วเข้าสู่ตัวละครตัวนี้
เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นกระบวนการ empathy อย่างมาก มันไม่ใช่แค่การพยายามทำความเข้าใจเขาในระดับความคิด แต่เข้าไปเป็นเขาเลยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ตัวละครตัวนี้เจอ ซึ่งจะทำให้เข้าใจเขามากขึ้น อันนี้คิดว่าเป็นแกนสำคัญเวลาเราใช้กระบวนการละครเป็นเรื่องการเรียนรู้กับผู้คน
ตอนพี่ก๋วยไปละครเร่ พี่ก๋วยเห็นการเปลี่ยนแปลง คำว่า “การเปลี่ยนแปลง” นี้หน้าตาเป็นอย่างไร รูปธรรมที่เกิดขึ้นที่ตัวเด็ก ๆ เป็นอย่างไรบ้าง
ต้องนึกถึงเด็กที่ไม่มี self-esteem เลยเนอะ ส่วนมากที่มะขามป้อมทำ เป็นเด็กชายขอบ เด็กในสถานพินิจ เด็กชนเผ่า วันแรก ๆ ที่เจอเขา เขาจะไม่พูด ไม่สบตา เรียบเรียงคำพูดไม่ได้ แต่พอมันมีกระบวนการไปเสริมความมั่นใจให้เขา ว่าทำอย่างนี้ได้นะ พูดได้นะ ผิดได้นะ ไม่ต้องเหมือนกันก็ได้นะ มันค่อย ๆ สร้าง self-esteem ขึ้นมาทีละเล็กละน้อย วันสุดท้าย พอมันต้องแสดงต่อหน้าคน มันก็ต้องไปปลุกความกล้าของตัวเองขึ้นมา อีกอย่างคือต้องทำงานกับคนอื่น ทั้งหมดนี้มันเห็นพัฒนาการในแววตา ในความเป็นมนุษย์ของเขา ที่มันเคารพตัวเองมากขึ้น กล้ายืนตัวตรงขึ้น มั่นใจมากขึ้น นี่คือสิ่งที่เห็นชัดมากเลย
ใช้ละครสะท้อนย้อนมอง
บางคนจะเข้าใจว่าละครคือการไปฝึกพูด ปรับบุคลิก ทำให้พูดเก่ง นำเสนอเก่ง แต่กระบวนการละครที่มะขามป้อมพยายามเน้นย้ำคือกระบวนการภายใน มันแตกต่างกันอย่างไร
เวลาเราฝึกน้อง ๆ เล่นละคร มันไม่ใช่เรื่องของการฝึกบุคลิกภาพภายนอกว่าคุณต้องยืนตรง ต้องผินหน้าไปทางนี้ ต้องพูดแบบมั่นใจ อันนั้นคือเรื่องที่ถ้าจะมี มันก็ตามมาได้ แต่สิ่งสำคัญคือ inner อันนี้ ความเป็น self อันนี้ ถ้าคุณมั่นใจ ถ้าคุณมีของและอยากจะเล่า เราจะพามันออกมา ผมจะเจอนักศึกษาแพทย์เยอะมากที่ตอบไม่ได้ว่าตอนนี้กำลังรู้สึกอะไร เวลาที่พูดออกมาจะพูดเป็นความคิด หรือบอกได้ว่าสิ่งนี้จะทำให้เกิดอะไร แต่เขาจะไม่ตอบว่าตอนนี้กำลังรู้สึกอะไร สั่นไหว หรือว่ากลัว ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก การได้ฝึกรับรู้อารมณ์ความรู้สึกตัวเองบ่อย ๆ มันจะช่วยให้แสดงออกสิ่งเหล่านี้ให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ทำให้เขาเห็นว่าเขามีสิ่งนี้อยู่ แต่ก็พบว่า ตอนแรก ๆ เหมือนเปิดจุกที่ปิดไว้ มันจะเตลิด ก็ต้องใช้กระบวนการค่อย ๆ กล่อมเขา เหมือนกับเด็กที่ถูกกดไว้ พอเราให้อิสระ เปิดจุกนี้ขึ้นมาปุ๊บจะระเบิดอยู่พักหนึ่ง ต้องให้เขาเข้าใจสมดุลอยู่พักหนึ่งว่าจะมาเยอะไปมันก็ไม่น่ารักเนาะ จะมาเสียงดัง มั่นใจตลอดเวลาก็ไม่ใช่ แต่เราก็ให้เขาทดลองนะ ลองดูว่าประมาณไหนถึงจะเหมาะสม เขาก็ต้องค้นหาเอง ในขณะที่เราก็ต้องเป็น mentor เขาไปด้วยว่าประมาณไหน
อะไรเป็นเวทมนตร์ของละครที่ทำให้คนเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จากข้างใน
ต้องพูดเรื่องมายาคติก่อน คนทั่วไปเข้าใจว่าละครเป็นเรื่องของคนกล้าแสดงออก เป็นเรื่องของคนเป็นดารา คน extrovert แต่จะบอกว่าสำหรับผมนะ ถ้าคุณเป็นคน เป็นมนุษย์ คุณก็สามารถใช้กระบวนการละครนี้ได้เช่นกัน คนเงียบ ๆ ที่เป็นคน introvert ก็ใช้ได้ มันเป็นแบบฝึกหัดให้เราไปค้น ไปรู้จักตัวเราเอง ถ้าคุณเงียบเกินไป คุณมีมุมที่ฝืนไปเจอคนบ้าง มันก็จะทำให้สมดุลขึ้น หรือถ้าคุณแสดงออกมากเกินไป คุณต้องลดลงอย่างไรให้มันพอดี
มันต้องทำความเข้าใจกับสังคมก่อนว่าละครไม่ใช่เครื่องมือพิเศษ หรือเป็นของคนที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะเท่านั้นถึงจะเรียนได้ เช่นเดียวกับศิลปะอื่น ๆ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นศิลปิน ถึงจะเข้าถึงศิลปะได้ เหมือนการวาดรูป เหมือนการร้องเพลง เล่นละครโดยทั่วไป ใครก็เข้าถึงได้ แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนต้องชอบมัน บางคนอาจจะไม่ถนัด ไม่ชอบก็ไม่เป็นไร มันก็เป็นพื้นที่หนึ่ง เป็นเรื่องธรรมดาที่ทำให้เรากลับมาเข้าใจมนุษย์หรือสภาวะบางอย่างของเราเพิ่มมากขึ้นผ่านกระบวนการแบบนี้
อ่านบทคนอื่นแล้วเรารู้จักตัวเองได้อย่างไร
เวลาทำแบบฝึกหัดก่อนมาเล่น มาอ่านบท มันจะมีการฝึกอื่น ๆ เช่น การเคลื่อนไหว สมมติก่อนอ่านบทคุณเห็นตัวละครคนนี้เป็นใคร เขาอายุเท่าไร มีนิสัยอย่างไร มีการเคลื่อนไหวอย่างไร แล้วคุณลองทำดู ท่าเดิน ท่านั่ง ท่าทางของเขาเป็นอย่างไร การค่อย ๆ ไปเป็นคนอื่น มันย้ายศูนย์กลางจากตัวเราเองไปสู่คนอื่นมากขึ้น กระบวนการที่เราย้ายศูนย์กลางตัวเราไปคนอื่นมันคือการลด self ของเรา ลด ego ของเราลง นักแสดงที่เล่นละครบทนี้ร้อยรอบ พันรอบ มันคือการรู้จักตัวละครตัวนี้ไปเรื่อย ๆ แต่พูดให้เห็นภาพเวลาที่เราเล่นละครเราไม่ได้กลายไปเป็นตัวละครนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ มันเหมือนสวมเสื้อหนึ่งตัว คือเรายังต้องเป็นเราอยู่ อันที่สองต้องอยู่ในบทละครตัวนั้น อันที่สามต้องอยู่ในฐานะนักแสดง
ตัวที่หนึ่งคือก๋วย ตัวที่สองนายบดินทร์ที่รับบทอยู่ ตัวที่สามคือเป็นนักแสดง ต้องรู้ว่าขยับหน่อยนะตรงนี้ไฟตก มันต้องทำงานสามร่างไปพร้อม ๆ กัน แล้วสภาวะแบบนี้ในชีวิตปกติเราก็เป็นนะ เวลาดีลกับพ่อแม่เราก็มีอีกร่างหนึ่ง เวลาดีลกับเจ้านาย กับเพื่อนกับแฟน มันต้องมีร่างต่าง ๆ กันไปไม่เหมือนกัน บางทีในการสวมบทบาทเป็นคนอื่นเราไปเจอสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้เราเห็นสภาวะบางอย่างที่มีอยู่ในตัวเอง ยิ่งตกใจมากนะ หลายคนพบว่าทำไมเราเห็นแก่ตัวได้ขนาดนี้ ทำไมคิดร้ายกับคนอื่นขนาดนี้ หรือทำไมใจดีขนาดนี้ ละครพาไปเห็นสิ่งนั้นในตัวเองได้ในขณะที่เราสวมบทบาทคนอื่น มันเตรียมเราว่าถ้าเรามาเจอสภาวะแบบนี้ในสถานการณ์จริง ๆ เราพอจะรับมือกับมันได้อย่างไร เหมือนได้ซ้อมเอาไว้ก่อน ในการใช้กระบวนการละครกับเด็กและเยาวชน เรื่องนี้สำคัญมาก เช่น ในกรณีที่คุณจะถูกทำร้าย เด็กจะได้ซ้อมก่อน ได้ลองเผชิญก่อน แล้วถ้าเกิดสถานการณ์อย่างนั้นจริง มันจะพอรับมือได้ สัมผัสแบบไหนไม่โอเค คนแบบไหนอันตราย สิ่งเหล่านี้สำคัญมาก ๆ เวลาทำงานกับเด็ก ไม่ใช่แค่หัดให้เขารู้จักตัวเอง แต่ละครยังเป็นเครื่องมือฝึกการเผชิญหน้ากับสถานการณ์อันยากลำบากได้
พอเราทำไปลึกอีกสักระยะหนึ่ง ละครจะพาเราไปพบคำหนึ่งที่มันจะปรากฏขึ้นมาคือ คนทุกคนก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง จริง ๆ มันไม่มีพระเอกนางเอก ไม่มีขาวมีดำ ไม่มีตัวดีตัวร้ายหรอก ทุกคนมีส่วนผสมเทา ๆ ดำ ๆ ถ้าเข้าใจอันนี้ได้ มันจะยอมรับตัวเองได้มากขึ้นว่ามันผิดพลาดบ้างก็ได้ หรือถ้ายอมรับตัวเองได้แล้ว ก็จะยอมรับคนอื่นได้เหมือนกัน ถ้าทำให้เด็กมีวิธีคิดแบบนี้ได้มันจะทำให้อยู่ร่วมกันได้ในสังคมมากขึ้น
หลายคนกว่าจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ก็ตอนเป็นผู้ใหญ่แล้ว
ระบบการศึกษาไทยไม่ได้สอนแบบนี้ มันสอนว่าโลกมีขาว ดำ พระเอกนางเอก มีตัวร้าย ตัวละครแบบนั้นมันแบนมาก ในการเขียนประวัติศาสตร์ก็มีตัวดีตัวร้ายชัดเจนทำให้ไม่เห็นมิติอื่นของมนุษย์ที่ลึกขึ้น ถ้าคุณลองเอาพระเวสสันดรไปทำละครโดยใช้เหตุการณ์เดียวกันนะ รอบแรกให้ทำแบบที่ประวัติศาสตร์เล่า เล่นบทตามนี้เลย รอบสองลองเล่าด้วยอีกมุมหนึ่ง ผ่านมุมของนางมัทรี มุมของเมียที่ถูกทรมาน มันก็จะต่างกันไป แล้วถ้าเล่าในมุมชาลีกับกัณหาล่ะ ในโลกของเด็กที่เห็นพ่อแม่ทำกับลูกขนาดนี้แล้วจะรู้สึกอย่างไร ทำไปเลย 3-4 รอบ จากมุมมองที่แตกต่างกันในเหตุการณ์เดียวกัน แล้วเราจะพบว่ามันมีความจริงหลายชุดในสถานการณ์เดียว มันไม่มีอะไรถูกผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้มีอะไรขาวไปเลย หรือดำไปเลย อันนี้ไม่ต้องบอกออกมาเลยนะ มันเข้าใจจากกระบวนการละครล้วน ๆ เลย แต่เด็กเราไม่ได้เรียนมาแบบนี้เลยไม่มีโอกาสได้เข้าใจอะไรแบบนี้ ไม่ได้ถูกอนุญาตให้คิดแบบอื่น กระต่ายกับเต่าต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น พระเวสสันดรต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น นิทานเรื่องนี้ต้องสอนให้รู้ว่า…เท่านั้น ถ้าไม่เชื่อตามประโยคนี้แสดงว่าผิด การศึกษาไม่อนุญาตให้คิดแบบอื่น
แล้ววิธีคิดที่มีสิ่งที่ถูกแบบเดียวจะส่งผลกับสังคมอย่างไร
ตอนนี้มันก็อาจจะเป็นผลพวงอยู่ก็ได้ แต่โลกใหม่มันไม่ได้มีกรอบกรอบเดียว คำตอบแบบเดียว การพยายามที่จะทำให้สังคมหรือคนในสังคมเห็นแบบเดียวเชื่อแบบเดียว หรือคิดแบบเดียวทำแบบเดียวมันเป็นไปไม่ได้ในสังคมสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า สังคมประชาธิปไตย
เราพบว่ามีไม่น้อยที่เวลาชวนครูมาทำกระบวนการแล้วเขาตกใจว่าเขาถูกสอนอะไรมา เขาถูกครอบด้วยวิธีคิดอะไรมา พอเปิดประตูแย้มให้เขาขึ้นมานิดหนึ่ง ว่ามันมีวิธีคิดใหม่ๆ เขาเห็นทางออกอื่นอีกมากมายที่ไม่เคยเห็นมาเลยทั้งชีวิต แค่ไม่เคยมีคนชวนเขาคิดหรือคุย เขาเห็นความเป็นไปได้ต่าง ๆ มากมาย ก็เลยคิดว่ากระบวนการนี้สำคัญ และไม่ใช่ว่ายากเกินไปทำไม่ได้สร้างไม่ได้ มันทำได้ นี่ขนาดเป็นผู้ใหญ่ที่ถูกหล่อหลอมด้วยวิธีคิดเดียวมานาน แล้วถ้าเป็นเด็ก ส่วนหนึ่งเด็กคิดได้ของเขาเองอยู่แล้ว โลกมันมาจากทุกทาง เราเลยไม่ค่อยห่วงเด็กยุคใหม่ เขาปรับตัวได้ดี แต่สิ่งที่ห่วงคือคนยุคเก่า ๆ มากกว่าที่มีโลกทัศน์อะไรบางอย่างที่ยึดติดมา พบว่าพอลองได้ทำอะไรแบบนี้ มันไปเขย่าเขาพอสมควร ทีนี้มันอยู่ที่ว่าเขาจะเดินต่อไหม บางคนมันอันตรายขนาดที่เขากลัวว่าสิ่งที่เขาเคยเชื่อมาทั้งชีวิตถูกสั่นคลอน ถ้าจะไปในทางนี้ต่อไป มันจะล่มสลายไหม ไม่เอาแล้ว กลับไปเป็นเหมือนเดิมดีกว่า คนรุ่นเก่าจะยากกว่าคนรุ่นใหม่
จะมีวิธีอื่นนอกเหนือจากกระบวนการละครไหม ที่จะช่วยเพิ่ม empathy
คงมีแหละ เพียงแต่ละครมันมันเอื้อและมันง่าย โดยเครื่องมือแล้ว มันเป็นธรรมชาติของมันแบบนั้น เพราะคุณต้องไปสวมบทคนอื่น บางคนพอเขาลองเล่นและลองเผชิญกับสถานการณ์บางอย่าง เขาบอกว่าเขาไม่เคยพบความรู้สึกนี้เลย พอได้ลองเล่นในสถานการณ์นั้นสักแป๊บหนึ่ง เขาก็รู้สึกได้ การอ่านมันเป็นแค่การรับรู้ระดับข้างนอก ไม่ใช่การเข้าไปสวม ละครเลยเพิ่มมิติความเข้าใจได้มากกว่า
เรารู้ว่ากระบวนการละครมันช่วยเยอะ ทำไมมันถึงไม่สามารถเข้าไปอยู่ในระบบพัฒนามนุษย์ของประเทศเราได้เหมือนที่ประเทศอื่นเขาทำกัน
หนึ่งคือการเล่นมันผิดบาปกับกระแสหลัก ไม่ควรเล่น ต้องเรียน จะมาเล่นอะไรเสียเวลา เรียนก็เรียนไม่ทัน เนื้อหายังไม่จบเลย ก็ตัดกระบวนการเหล่านี้ออก เสรีนิยมเขาอาจจะคิดว่าเสียเวลาฝึกแรงงาน ดังนั้นจุดมุ่งหมายของการศึกษาถ้าไม่ได้ทำให้คนมีมิติของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แต่เป็นไปเพื่อฝึกแรงงาน ผมว่าความคิดของเสรีนิยมใหม่ก็กำลังทำให้เด็กคนหนึ่งในโรงเรียนกลายเป็นแรงงานคุณภาพดี แต่ไม่ใช่เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
เรียนอย่างเดียวไม่ต้องเล่นเลย
เราสู้เรื่องนี้มาตลอดชีวิต เรื่องการเรียนรู้เพื่อความเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์ก็ต้องมีศิลปะ ไม่ใช่ต้องเรียนศิลปะ แต่ต้องเรียนสุนทรียะ เพราะคุณเป็นมนุษย์ไง คุณก็ต้องมีสุนทรียะ แต่การศึกษาตัดจนวิชาดนตรีก็เหลือแค่หนึ่งชั่วโมงต่อหนึ่งสัปดาห์ ศิลปะเป็นอย่างแรกที่ถูกตัดออกไปก่อนเลย ซึ่งปรากฏการณ์นี้อเมริกาก็เป็น เราก็ตามอเมริกาไปเป็นแบบนั้น
สำหรับเราเราคิดว่าศิลปะมันสำคัญมาก ๆ สำหรับมนุษย์ คุณจะเรียนเรขาคณิตหรือคณิตศาสตร์ผ่านก็ได้ แต่ใช้ศิลปะเป็นกระบวนการในการเรียนเนื้อหาเหล่านี้ได้ไหม ซึ่งมันเป็นไปได้อยู่แล้ว เพียงแต่ระบบมันไม่อนุญาตให้เราทำสิ่งนั้น
การเดินทางของมะขามป้อม
มะขามป้อมเติบโตและยืนหยัดมาได้อย่างไรในวิธีคิดที่กระแสหลักไม่ได้ให้ความสำคัญ
ก็ทำไปเลย กระเสือกกระสนดิ้นรนเอง พวกเราเองก็สนับสนุนกันเอง เราไม่ได้มีกำลังเงินหรืออะไร เพียงแต่ว่าส่งเสริมกัน ช่วยกัน ลงแรงกัน สมมติกลุ่มนี้ทำ เราก็ไปช่วยเพื่อน เหมือนกับทำบุญบ้านแล้วเอากับข้าวไปให้ อารมณ์แบบนั้น มีชุมชนแบบนั้นอยู่ ไม่ได้แข่งกัน รักกัน ส่งเสริมกัน อันนี้คือสายละครเพื่อพัฒนา เพื่อสังคม ไม่ใช่แบบธุรกิจ โดยธรรมชาติรักกันพอสมควร เพราะมันโตมาในแวดวงเดียวกัน ไม่ค่อยฆ่ากัน มันต่างกับศิลปะแขนงอื่น เพราะละครมันเป็นการทำงานของกลุ่มคน ของการรวมกลุ่ม แต่อันอื่นมันเดี่ยว visual มันเดี่ยว งานเขียนมันเดี่ยว ปั้นก็เดี่ยว ส่วนมากมันเดี่ยว พอมันเดี่ยว มันจะลงลึกตัวเองเยอะ อาศัยกันและกันน้อย แต่ละครโดยธรรมชาติมันทำแบบนั้นไม่ได้ มันต้องอาศัยกันและกันตลอดเวลา คนนี้ยืมฉากคนนั้น คนนั้นยืมไฟคนนี้ ช่วยกันถึงจะไปได้
ถ้าเราเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน creative หรือ art ในการศึกษาบ้านเราทั้งหมดให้เป็นไปในทิศทางนี้ กระบวนการมันควรต้องเป็นอย่างไรบ้าง
หนึ่งก็คือวิธีคิดเรื่องการมีกรอบการเรียนรู้ ศิลปะต้องไม่เป็นอย่างนั้นอีกแล้ว หมายความว่าอาร์ตต้องไม่เป็นส่วนเกิน ไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย ไม่ใช่เรื่องอภิสิทธิ์ ต้องเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ทุกคนเข้าถึงได้และควรจะต้องเข้าถึง เพราะกระบวนการเรียนรู้กระบวนการศึกษาคือกระบวนการพัฒนาความเป็นมนุษย์ การเป็นมนุษย์ต้องมีสุนทรียภาพ แล้วสุนทรียภาพก็สร้างด้วยกระบวนการศิลปะ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจสิ่งนี้ได้มันก็ไม่ยาก เอาอาร์ตเข้ามาครึ่งหนึ่งในชีวิตการเรียนของเด็ก สมมติเด็กเรียนวิชาการครึ่งวัน อีกครึ่งวันเรียนอาร์ต เรียนดนตรี ศิลปะ วาดรูป ฯลฯ เชื่อไหมว่าเด็กจะไม่โดดเรียน อาจมีที่ไม่ชอบแต่คงไม่ได้เยอะ แต่ต้องเป็นอาร์ตที่มีเสรีในการสร้างสรรค์ มันก็น่าสนุกดี เด็ก ๆ ก็น่าจะชอบ
นอกจากกระบวนการละครในฐานะเครื่องมือของกระบวนการสร้างสรรค์ ที่ช่วยพัฒนาความเป็นมนุษย์ เข้าใจความเป็นมนุษย์ของตัวเอง มะขามป้อมยังมีอีกระบวนการคือละครถกแถลง (dialogue theatre) ช่วยเล่าถึงกระบวนการนี้หน่อย
มันเป็นเรื่องของการให้เรามีเครื่องมือในการเผชิญกับความขัดแย้งทั่วไปในชีวิตเรา โดยเราจะเริ่มจากเอาประเด็นที่สนใจมาคุยกัน เช่น ทำแท้งถูกกฎหมายไหม หรือเป็นประเด็นในชีวิตประจำวันในครอบครัวก็ได้ เลือกประเด็นมาลองลิสต์ดูว่าถ้าเป็นฝั่งเห็นด้วยมันจะมีเฉดประมาณไหนบ้าง ตั้งแต่น้อยจนถึงสุดขีดเลย และฝั่งไม่เห็นด้วยมีประมาณไหนบ้าง จากสองฟากนี้ลองมาสร้างตัวละคร แล้วลองพัฒนาตัวละครเหล่านี้ให้อยู่บนจุดยืนที่แตกต่างกัน ค่อย ๆ หาความลึกของตัวละครเหล่านี้ว่าเขามีปูมหลังมาอย่างไร เขามีความฝันอย่างไร มีความกลัวอะไร ค่อย ๆ รู้จักตัวละคร แล้วให้เขามีจุดยืนต่อสถานการณ์นี้อย่างไร เสร็จแล้วลองมาสร้างละครสั้น ๆ แค่ประมาณ 10 นาที
เล่นเสร็จก็ชวนกันขึ้นมาบนเวทีเหมือนโต้วาที ใครเห็นด้วยกับตัวละครตัวนี้ ใครคิดว่าควรจะเปลี่ยนอะไร เพราะอะไร แล้วให้คนดูลองแชร์ความคิดเห็นให้มันเกิดเป็นการสนทนา ให้มันมีลักษณะเหมือนตัวละครทั้ง 4-6 ตัวบนเวทีนี้ไปนั่งอยู่เป็นจุด ๆ แล้วให้คนดูล้อมซักถามโดยที่คนนั้นยังคงเป็นคนนั้นอยู่ มันก็จะถูกซัก การที่เราถูกซักมันทำให้เราต้องมีจุดยืนต่อสิ่งนั้น แล้วก็อาจจะมีคำถามว่าอะไรคือจุดผ่อนผันของตัวละครตัวนี้ ที่คุณจะยอมได้จากฟากตรงข้าม มีจุดไหนที่คุณจะประนีประนอม และจุดไหนที่คุณจะไม่ยอมเลย พอลองฟังแล้ว คุณลองเปลี่ยนบทบาทเป็นฝั่งตรงข้ามคุณได้ไหม ด้วยเหตุผลอะไร พอผ่านกระบวนการไปแล้วพบว่าหลาย ๆ ครั้ง มันไม่ถึงกับเปลี่ยนความเชื่อไปเลยหรอก แต่มันฟังสิ่งที่ฝั่งตรงข้ามพูดในลักษณะที่เมื่อก่อนไม่เคยเห็นเลยได้มากขึ้น และท้ายที่สุดมันก็ช่วยทำให้ยอมรับสิ่งเหล่านี้ได้มากขึ้น เราใช้กระบวนการนี้กับความเห็นต่าง หรือการยอมรับบางอย่างที่ยอมรับไม่ได้เลย
เราเคยทำละครที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเคสหนึ่งที่น้องคนหนึ่งเล่าว่าคนที่บ้านสี่คนถูกยิงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เขาแค้นทหาร แล้วในใจคือกูจะฆ่าทหาร จะเอาคืนให้ได้ เป็นผู้หญิงด้วยนะ ตัวเล็ก ๆ พอเขาเล่าเรื่องของเขาออกมาผ่านละคร และมาเล่นเป็นทหารคนนั้น เขาบอกว่ามันเป็นกระบวนการที่เอาบางอย่างข้างในของเขาออกมา เขาร้องไห้ตลอดและร้องหนักมาก ตอนจบเขาพบว่าเขาไม่ได้ยอมรับการกระทำที่พ่อเขาหรือพี่ชายเขาถูกกระทำหรอกนะ แต่เขารู้สึกว่าเขาเข้าใจทหารคนนี้มากขึ้น ในลักษณะที่ทหารคนนั้นคือส่วนหนึ่งในโครงสร้างอำนาจ เขาไม่ได้ยอมรับการฆ่าของทหารคนนี้ แต่กระบวนการทำให้เขารู้ที่มาที่ไปมากขึ้น เขารู้สึกคลี่คลายเรื่องนี้มาก เราพบเคสแบบนี้เยอะ ก็เลยรู้ว่าละครมันช่วยในเรื่อง empathy ได้ค่อนข้างมาก
สังคมเราจะมี empathy ต่อกันมากกว่านี้ได้ไหม และฝ่ายอื่นที่ไม่ใช่ประชาชนจะมาเข้ากระบวนการแบบนี้บ้างได้ไหม
ประเด็นคือมันไม่มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนกันอย่างปลอดภัยพอ เรามักจะเข้าไปอยู่ในพวกเราเท่านั้น กระบวนการที่เราพูดคุยกันได้จริง ๆ แบบเห็นหน้ามันน้อยและยากมากจริง ๆ ดังนั้นอะไรที่มันพอจะทำได้ ช่วยได้ เราก็ควรทำกันต่อไป มันไม่ใช่แค่กระบวนการละครอย่างเดียว แต่ควรมีหลาย ๆ กระบวนการที่เป็นพื้นที่ให้คนเห็นไม่เหมือนกันมาคุยกันได้มากขึ้น สำหรับตัวเอง เราบอกตัวเองว่าถ้าเรามีความเชื่อและศรัทธาสิ่งนี้ ก็ต้องทำต่อไป ถ้าเราเชื่อและยืนหยัดในสันติภาพ เราก็ยังคงต้องทำเรื่องนี้แม้ในชั่วขณะที่เขาสร้างสงครามกัน เป็นการยืนหยัดความเชื่อของเรา
นอกจากทักษะการเคลื่อนไหว การพูด การถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด หรือการสอดส่องสำรวจและเข้าใจตัวเองแล้ว สิ่งที่กระบวนการละครให้เราได้คือโอกาสในการทำความเข้าใจคนอื่น ลองมองจากหลากมุม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสุดท้ายกลับมาทบทวนจุดยืนของตัวเองอีกครั้ง ไม่แน่ว่าบทสรุปสุดท้ายที่เราได้จากการสวมบทบาทและอภิปรายอาจเกินความคาดหมายเหมือนกับตอนจบละครที่คิดไม่ถึง
Writer
มิรา เวฬุภาค
Photographer
ชัชฐพล จันทยุง
หลงรักการบันทึกรอยยิ้มและความรู้สึกเป็นภาพถ่าย
illustrator
พรภวิษย์ เพ็งเอียด
ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม