“เรียนต่อหรือ Gap year? เมื่อการศึกษา 15 ปีไม่พอต่อการค้นหาตัวเอง” วรยา ลิ่มกังวาฬมงคล
“เรียนต่อหรือ Gap year? เมื่อการศึกษา 15 ปีไม่พอต่อการค้นหาตัวเอง” วรยา ลิ่มกังวาฬมงคล
- เด็กคนหนึ่งอยู่ในระบบการศึกษาเกือบครึ่งชีวิต เเต่ไม่มีพื้นที่มากพอที่จะทำให้เขารับรู้ตัวตนเเละความถนัดของตัวเอง
- คุยกับ ‘มีมี่’ วรยา ลิ่มกังวาฬมงคล เด็ก Gap year ที่ใช้เวลาหลังเรียนจบม.6 ค้นหาตัวตนจากการเต้นลีลาศ เรียนการเเสดง ช่วยงานที่บ้าน ตลอด 1 ปี
- บทเรียนจากหลักสูตร Gap year สอนว่า จงออกไปใช้ชีวิตในห้องเรียน เพราะการศึกษาไม่ได้ล็อกคุณอีกต่อไป
เด็กคนหนึ่งเติบโตในระบบการศึกษาที่คนในสังคมหวังว่า เมื่อเรียนจบอนุบาลต้องเข้าประถม เรียนจบประถมต่อมัธยม เรียนมัธยมต้องเข้ามหาวิทยาลัย เเละสุดท้ายเรียนจบมหาวิทยาลัยต้องหางานทำ
พวกเขาหมดเวลาไปกับการเรียนเกือบครึ่งชีวิต เเต่จะเป็นไรไหม ถ้าเด็กคนหนึ่งจะหยุดเรียนเเล้วค้นหาตัวเองเเละลองทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ
“ถ้าอยากทำ Gap Year คือทำไปเลย เพราะว่าคุณไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาที่ล็อกคุณอีกต่อไป อยากทำอะไรทำเลย ไม่ต้องกลัว ตั้งใจจะทำอะไรก็ทำ”
คำตอบต่อคำถามที่ว่า “ฉันควรจะเรียนต่อหรือพักการเรียนไว้ก่อน” ของ ‘มีมี่’ วรยา ลิ่มกังวาฬมงคล เด็ก Gap year ที่ใช้เวลาหลังเรียนจบม.6 ค้นหาตัวตนจากการเต้นลีลาศ เรียนการเเสดง ช่วยงานที่บ้าน ตลอด 1 ปี
วัยมัธยมที่ไม่มีพื้นที่เเละเวลาในการค้นหาตัวเอง
ย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่มีมี่ยังเป็นเด็กมัธยมคนหนึ่งในระบบการศึกษา เป็นเรื่องยากที่จะออกมาค้นหาตัวเอง
โดยมีมี่จัดตัวเองอยู่ในสายกิจกรรม เเละยอมเเพ้กับเรื่องวิชาการ ในสายตาของเด็กคนหนึ่ง เธออยากให้โรงเรียนมองเห็นว่า การสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้มีเเค่การยื่นคะเเนนสอบ เเต่ยังมีโครงการอื่นๆ ที่เป็นทางเลือก ซึ่งระบบการศึกษาควรจะเข้ามาซัพพอร์ท เเต่ทุกวันนี้ เด็กต้องค้นหาด้วยตัวเอง
“โรงเรียนรู้ไหมว่าตารางของเด็กที่เเอดมิชชันตั้งเเต่รอบ 1 ถึงรอบ 5 เด็กที่เค้าสู้มาตั้งเเต่รอบ 1 เขาไม่มีเวลาของตัวเองในการจัดการระบบอื่นๆ ที่นอกเหนือจากระบบโรงเรียนเลย ลืมไปหรือเปล่าว่าการเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้มีแค่การยื่นคะแนนสอบ จริงๆ เเล้วมีโครงการต่างๆ ที่จะเป็นทางเลือกในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งเด็กดีมีที่เรียน จิตอาสา หรือโครงการนักกีฬา เเละอื่นๆ”
“เด็กหลายคนตัดสินใจเอง เพราะโรงเรียนไม่ได้เข้ามาสนับสนุน เด็กต้องหาเอง ทำเอง เด็กออกค่าใช้จ่ายเอง เดินทางเอง ไม่ได้มีใครซัพพอร์ท ทั้งที่จริงๆ แล้วโรงเรียนควรจะซัพพอร์ท”
“ถ้ามีหมวดวิชาหนึ่งที่รองรับเด็กที่ชอบทำกิจกรรม เเล้วระบบการศึกษาเข้ามาซัพพอร์ท เพื่อให้เด็กทำงานง่ายขึ้น เเต่ทุกวันนี้เด็กต้องหาเอง ระบบการศึกษาอาจจะบอกว่าดี เพราะเด็กต้องออกไปใช้ชีวิต เเต่การศึกษาจะมีทำไม ถ้าสุดท้ายให้เด็กมาเรียน 9 วิชา เเล้วกลับไปเรียนตั้งแต่ 08:00-17:00 น. เหมือนเดิม”
ขณะเดียวกัน มีสิ่งหนึ่งที่มีมี่อยากให้ระบบการศึกษาเข้ามาสนับสนุนตลอด 15 ปีการศึกษาภาคบังคับในโรงเรียน คือ การลดเวลาเรียนเเละหาสิ่งที่จะช่วยรองรับเด็กทุกเเขนง
“อยากขอให้ระบบการศึกษาหาสิ่งที่รองรับเด็กทุกแขนงให้ได้มากที่สุด นี่เป็นสิ่งที่ยากมาก คนทำการศึกษาคงนั่งกุมหัว แต่ว่านี่คือสิ่งที่เด็กต้องการและเชื่อว่าถ้าทำตรงนี้ได้ประเทศจะดีกว่านี้เยอะ อย่าพูดว่าเด็กจบมาไม่ตรงกับสิ่งที่ประเทศต้องการ No ประเทศไม่เคยให้ในสิ่งที่เด็กต้องการเลย”
Gap Year เพราะสอบไม่ติด
หลังจากพลาดมหาวิทยาลัยที่ฝันเอาไว้ตอนม.6 เเล้วไม่ได้สมัครสอบอื่นๆ อย่าง 9 วิชาสามัญ เเละ PAT ซึ่งเป็นคะเเนนหลักในการยื่นสอบเข้ามหาวิทยาลัย เเต่มีมี่ยังมีเเผนสำรอง คือ การสมัครโครงการนักกีฬาจากการเป็นนักกีฬาลีลาศระดับจังหวัดรอบโควตา (Admission รอบ 2) ในมหาวิทยาลัยอื่น
“ต้องยอมรับว่ามีมี่เป็นคนที่ไม่ได้เรียนเก่ง ไม่ได้เป็นคนหัวดีขนาดนั้น เราเห็นหน้าคนที่อยู่ข้างๆ เเล้วเรารู้ว่าเขาเรียน เราก็ทำใจแล้วเลยว่ามีสิทธิ์หลุดนะ จะคุยกับตัวเองตั้งแต่ตอนนั้น”
ถึงจะรู้ว่าคะเเนนไม่ถึงเเละพลาดจากโครงการนักกีฬาในรอบโควตา เเต่มีมี่ตัดสินใจยื่นคะเเนนรอบรับตรงอิสระ (Admission รอบ 3) ผลก็คือ ผิดหวังซ้ำสอง
“หลังจากประกาศผลรอบ 2 คือ เราไม่ติดที่ไหนเลย เลยกลับมาคิดกับตัวเองว่ายังไงดี เพราะถ้าเข้าไปเรียนในคณะที่ไม่อยากเข้าอยู่เเล้ว เรียนไปก็ไม่มีความสุข”
“อีกอย่างหนึ่ง คือ มีมี่ไม่อยากให้พ่อกับแม่ต้องมาจ่ายเงินในสิ่งที่เราไม่ได้ตั้งใจจะทำอยู่แล้ว รู้สึกว่าค่าเทอม 1 ปีอาจจะไม่ได้มาก เเต่ถ้าเก็บไว้ไปทำอย่างอื่นอาจจะดีกว่า”
ตอนเเรกที่พ่อเเม่รู้ว่าลูกสาวสอบไม่ติดก็สงสาร เพราะเพื่อนคนอื่นเข้ามหาวิทยาลัยกันหมดเเล้ว จึงเเนะนำให้สมัครเข้ามหาวิทยาลัยเอกชน เเต่มีมี่ก็เสนอพ่อเเม่ตรงๆ ว่า ถ้าเธอเลือกที่จะเก็บเงินค่าเทอมมหาวิทยาลัย 1 ปีนี้มาทำในสิ่งที่มีมี่อยากทำดีไหม
คำตอบของพ่อเเม่ คือ พวกเขาเข้าใจเหตุผลของลูก อีกทั้งเข้ามาช่วยเเนะนำการเริ่มต้นการทำ Gap Year ของมีมี่ด้วย
“ช่วงเริ่มต้น คุณพ่อจะเข้ามาช่วยเเนะนำว่าต้องวางเเผนการเงินยังไง สิ่งที่เขาให้ทำ คือ ลองหยิบค่าเทอมของคณะที่เราจะเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนมา 1 แห่ง มาตีว่าทั้งหมดเท่าไหร่ เเล้วค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่เท่าไหร่ เอามาเปรียบเทียบกัน ทำให้เห็นตัวเลขว่า ค่าเทอมกับค่าใช้จ่าย มากน้อยหรือแตกต่างกันเท่าไหร่ เพื่อให้ตัดสินใจง่ายขึ้น”
หยุดเรียนสักปีได้ไหม? ถ้าพ่อเเม่อยากให้เรียนต่อ
เด็กหลายคนอาจลังเลว่า เราพักดีไหม? เพราะรู้สึกเหนื่อยเหลือเกินกับครึ่งชีวิตในระบบการศึกษา เเต่เศรษฐกิจก็บีบชีวิตให้เร่งทำมาหากิน ดูเเลครอบครัวเเละตัวเองในอนาคต ทำให้ Gap Year เป็นเเค่เเพลนในหัวที่ไม่กล้าบอกใคร
มีมี่บอกว่า หากตัดสินใจว่าจะ Gap Year เเล้ว สิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าใจกับครอบครัวก่อน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่สุด เนื่องจากพ่อเเม่อาจคิดว่าทางที่พ่อเเม่เลือกไว้ คือ ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับลูก
“มี่เข้าใจหัวอกพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ทุกคนคิดว่าถ้าลูกโตไปไม่มีอาชีพเขาจะใช้ชีวิตในอนาคตยังไง คือโลกนี้มันล็อกด้วยการที่เราจะมีเงินเพราะว่าเราต้องมีอาชีพ มันแย่ตรงนั้นด้วย”
“อยากให้พ่อแม่เริ่มจากเชื่อใจเขา เด็กบางคนมี passion สูงมากในการที่จะทำสิ่งๆ หนึ่ง แต่ถ้าครอบครัวไม่ยอมรับ passion นั้นจะหายไปทันที มองมุมกลับอาจจะไม่ได้ตรงใจพ่อเเม่ แต่ถ้าพ่อแม่ลองกุม passion ของลูกที่โคตรจะแรงกล้าไว้ แล้วลองให้เขาทำ ถ้าวันหนึ่งสำเร็จขึ้นมา พ่อแม่ก็ไม่ต้องห่วงเขาอีก”
“การปล่อยให้เด็กคนหนึ่งลองใช้ชีวิตสักระยะหนึ่ง มันไม่เสียหาย อีกอย่างหนึ่งการกุม passion ไว้เรื่อยๆ ให้เขาลองในสิ่งที่เขาอยากทำ คุณจะอาจอยู่ข้างหลัง คอยตบให้เข้าทาง สิ่งที่สำคัญคือการมีพ่อแม่มองอยู่ด้านหลัง”
มีมี่บอกย้ำว่า การมีพ่อเเม่อยู่ข้างหลัง คอยอยู่ข้างๆ ทำให้โล่งใจ
“บางทีอาจจะไม่ได้ตรงใจพ่อเเม่ แต่ทำให้จิตใจเด็กคนหนึ่งฟูแล้วได้ทำในสิ่งที่เขาอยากจะทำ”
ขณะเดียวกัน มีมี่มองว่าลูกเองก็ต้องปรับตัวเข้าหาพ่อเเม่ ใช้เวลาที่พ่อเเม่มอบโอกาสให้อย่างคุ้มค่าเเละใช้ชีวิตอย่างเต็มที่
“ไม่ใช่เเค่พ่อเเม่ ตัวเด็กเองก็ต้องคุยกับตัวเองให้ชัดเจนว่าจะเอายังไง พ่อเเม่ถามเราเพราะเขาไม่รู้ว่าลูกจะเป็นยังไงต่อ อย่ารำคาญ เเละต้องเข้าใจว่าพ่อแม่เขามีประสบการณ์ชีวิตมากกว่าเรา เราเห็นอยู่แล้วว่าประสบการณ์ชีวิตของเขาเกิดมาในรูปแบบ A แต่เรากำลังจะทำในรูปแบบ C ก็ทำไป มันไม่ได้เสียหาย เเต่ต้องบอกเขาให้เข้าใจ”
สำคัญที่สุดคือการคุยกันให้เข้าใจ ไม่ปล่อยให้ความสงสัยถูกเก็บเอาไว้
“ระหว่างเรากับพ่อแม่ พยายามพูดให้เขาเข้าใจให้ได้ เพราะต้องเข้าใจพ่อกับแม่เรา คนละเจนเนอเรชันกัน เราคือเด็กยุคใหม่ เเต่พ่อแม่เราเกิดในยุคไหน ค่อยๆ ประนีประนอมไป”
สู้กับความหวั่นไหวระหว่างทางและความล่องลอย
ถึงเเม้ว่า Gap Year จะทำให้เด็กคนหนึ่งออกค้นหาตัวตน เเต่อีกมุมหนึ่งพวกเขาต้องอยู่ท่ามกลางความไม่รู้
“พอรู้ว่าต้อง Gap Year เเอบร้องไห้เลย โอ๊ย มาทำอะไรตรงนี้วะ แบบเพื่อนได้เรียนกันหมดเเล้ว ฉันทำอะไรอยู่ คนอื่นลงสตอรี่ไปมหา’ลัยกับเพื่อน เปิดเรียนกันหมดเเล้ว เเต่เราต้องเเน่วเเน่ในความคิดของเรามากๆ ใจต้องนิ่งเเละเเข็งเเกร่งมาก”
เเต่มีมี่เยียวยาความกังวลของตัวเองด้วยการกำหนดเเผน Gap Year ให้ชัดเจนว่า 1 ปีหลังจากนี้ เธออยากจะทำอะไรเเละอยากเรียนรู้อะไร
“มีมี่ทำความเข้าใจเเละเตือนตัวเองตลอดว่า ถ้าเลือกทำอะไรเเล้วต้องยอมรับกับผลของมัน เราเลือกที่จะ Gap Year เเล้ว เรามีแผนคร่าวๆ ว่า หนึ่งเราต้องซ้อมลีลาศ เพราะเราต้องแข่ง เราอยากเรียนการแสดง ซึ่งระยะเวลายาว มันรองรับการ Gap Year ของเรา”
“ช่วงเเรกๆ อาจจะรู้สึกว่าล่องลอยจังเลย ทำอะไรดี แต่หลังๆ ทุกอย่างเริ่มเข้าล็อกในสิ่งที่เราค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ก็เลยไม่ได้เคว้งคว้างอะไรขนาดนั้น”
มีมี่เเนะนำอีกว่า ระหว่างทำ Gap Year ควรจะมีเป้าหมายเล็กๆ เพื่อทำให้เเผนนการค้นหาตัวตนชัดเจนขึ้น
“ทุกอย่างที่เราทำ ควรจะมี Goal เล็กๆ ไม่ต้องใหญ่มากบวกกับ Passion หน่อยๆ ว่าอยากทำอะไรเพราะถ้า Gap Year เเล้วเคว้ง เช่น Gap Year เเล้วอ่านหนังสือ ไม่ใช่ว่าอ่านหนังสือไม่ดี เเต่ Goal ของคุณคืออะไร สมมติอ่านเพื่อเตรียมสอบเข้าใหม่ เเต่ถ้าอ่านหนังสือเเล้ว อีก 12 เดือนที่เหลือจะทำอะไร”
“ถ้าตัดสินใจจะ Gap Year เเล้ว จงใช้ชีวิตเลย เพราะคุณได้ออกจากวงจรการเรียนหนังสือ 15 ปีที่เอาเวลาของคุณไปเเล้ว อยากทำอะไรทำภายใต้การวางแผน คือคิดเเต่อย่าเอ๊ะกับตัวเองมากเกินไป”
นอกจากเด็ก Gap Year จะต้องต่อสู้กับจิตใจตัวเองเเล้ว พวกเขายังต้องรับมือกับความคิดเห็นเเละคำถามจากคนรอบข้างด้วย เช่น “ทำ gap year จบช้ากว่าเพื่อนนะ” หรือ “gap year เหรอ ทำอะไรอยู่ จะสอบเข้าที่ไหน”
สำหรับมีมี่มองว่า ใครจะมองอย่างไรไม่สำคัญ รู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไรก็พอ
“เวลามีคนมาถาม เราก็เชิด ไม่สนใจ (หัวเราะ) เเต่จริงๆ เราสนใจเขานะ จะมีภาพว่า เขาถาม เพราะอยากรู้แหละ แต่ในใจก็ตั้งคำถามว่า เขาอยากรู้ไปทำไม ถามทำไม เเต่มี่จะคุยกับตัวเองหน้ากระจก บอกตัวเองว่า ไม่เป็นไร เราเลือกที่จะทำแบบนี้แล้วต้องยอมรับกับสิ่งที่เราทำด้วย ถ้ามีคนถามมาอีกก็อาจจะต้องพูดจาฉะฉานขึ้นนิดนึง”
Gap Year สอนว่า จงรู้จักการใช้ชีวิตนอกห้องเรียน
ผ่านไป 1 ปี วันนี้มีมี่คืออดีตเด็ก Gap Year ที่เปลี่ยนสถานภาพเป็นนักศึกษา เหตุผลที่กลับมาสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกครั้ง เพราะมีมี่วางเเผนไว้เเล้วว่า ถ้าหยุดเรียน 1 ปี เมื่อครบกำหนดเธออยากจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกครั้งซึ่งมาจากการหล่อหลอมของสังคมด้วย เเละมองว่า Gap Year คือ การออกไปเจอประสบการณ์ชีวิต
“เราคิดว่าคงเป็นพอยท์หนึ่ง เหมือนเด็กคนหนึ่งที่อาจจะถูกหล่อหลอมมาในการศึกษาประถมต้น ประถมปลาย มัธยมต้น มัธยมปลายสอบไล่เข้ามหา’ลัย เราอาจจะถูกหล่อหลอมด้วยจุดนี้ เลยมีความคิดที่ว่าอยากเข้ามหาลัย’จัง ประกอบกับมีแรงจูงใจเป็นสิ่งที่เราอยากจะเรียนอยู่แล้ว เลยทำให้เรารู้สึกว่าอยากเข้าไปเรียนต่อในปีหน้า”
นอกจากนี้ ตลอดช่วงการทำ Gap Year มีมี่ค้นเจอว่า เธอเป็นคนที่ชอบแสดง ชอบเต้น ชอบพูดคุย ชอบเข้าสังคม เเละการได้ใช้ชีวิตนอกห้องเรียน ทำให้กล้าพูดกล้าทำ
เพราะตลอด 1 ปี มีมี่เป็นทั้งครูสอนลีลาศเเละนักเรียนการเเสดง ทั้งสองสิ่งนี้สร้างการเรียนรู้และประสบการณ์ชีวิต ที่หาไม่ได้ตอนเป็นนักเรียน
“การเรียนการแสดงเป็นสิ่งที่ทำให้มีมี่โตมาก เพราะตอนเข้าไปเรียน ในคลาสไม่มีใครอายุเท่ามีมี่เลย มีมี่เป็นคนเดียวที่อายุ 19 แล้วคนอื่นคือประสบการณ์ชีวิตคือโชกโชนมาก อายุ 27 30 บางคน 35 เเล้วการเรียนการเเสดงมันเป็นการแลกเปลี่ยนกัน”
“มีมี่ไปสอนลีลาศให้ผู้ใหญ่อายุ 60 ที่มีวุฒิภาวะต่างจากเรา เขาโตเเละประสบการณ์ชีวิตเยอะมาก เป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่ๆ ที่คุยเเล้วรู้สึกเเตกต่าง เเล้วเราไม่เคยได้รับมุมมองนี้ หรือเราต้องไปสอนเด็กอายุ 7 ขวบ ซึ่งระหว่างนั้นเราเรียนรู้จากโค้ชด้วย เราได้พบปะคนที่หลากหลายมากขึ้น”
“มันต่างจากไปโรงเรียนนะ การที่เราอยู่ในห้องเรียน 2 อย่างใหญ่ๆ ที่เราจะเจอ คือ เพื่อนที่อายุเท่ากับเรากับอาจารย์ที่อายุมากกว่าเรา 10 ปี แต่สิ่งที่เจอ คือ เรารู้ว่าอาจารย์จะสอนเเละสื่อสารเเบบไหน เพื่อนเราคนนี้บุคลิกเป็นยังไง ทำให้เรารู้ว่าเรารู้ว่าจะสื่อสารกับเขายังไง เเต่ตอน Gap Year มีมี่ออกไปเจอคน 10 คน ที่มีความหลากหลาย เราก็ต้องเรียนรู้เเละปรับตัวที่จะสื่อสารเเละเข้าใจเขาให้ได้”
อีกทั้งประสบการณ์ 1 ปีจากการทำ Gap Year มีมี่มองว่าเป็นเวลาที่คุ้มค่า สัมผัสได้ว่าตัวเองเปลี่ยนไปทั้งจิตใจที่เเข็งเเรงมากขึ้น กล้าคิดกล้าทำมากขึ้น มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นถึงจะไม่เท่าคนอื่นเเต่มีมุมมองที่โตกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน เเละถือว่าเป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่า
ส่วนเรื่องอนาคต เธอมองเส้นทางชีวิตของตัวเองว่า อยากจะรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเด็กวัยรุ่นหรือเด็กเล็กที่ประสบปัญหาทางครอบครัวและปัญหาในอนาคตของพวกเขา
“เราอยากไปอยู่ในจุดๆ นั้นที่สามารถทำให้คนๆ หนึ่งสบายใจได้กับสถานการณ์ที่เขาไม่สามารถรองรับตัวเองได้ไหวอีกแล้ว”
เเต่มีมี่จะไม่ล็อกตัวเองไว้กับคำว่า ‘อาชีพ’ ถ้าวันหนึ่งมีคนเปิดโอกาสเรื่องการเเสดงให้กับเธอ เธอก็พร้อมที่จะไปลองเเคสท์เป็นนักเเสดงดูสักครั้ง
“มี่อาจจะเป็นครูคนหนึ่งที่เปรี้ยวๆ มาให้เด็กปรึกษาเเล้วไปเเสดงต่อก็ได้”