“ให้เกียรติความคิดของเด็ก” นิทานที่ไม่สอนและไม่มีคำว่าประชาธิปไตย
“ให้เกียรติความคิดของเด็ก” นิทานที่ไม่สอนและไม่มีคำว่าประชาธิปไตย
- คำว่าประชาธิปไตยอาจยากเกินไปสำหรับเด็กเล็ก แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น “ฉันคือฉัน ฉันเป็นอะไรก็ได้ เธอเป็นอะไรก็ได้เหมือนกัน” เด็กน่าจะเข้าใจมากกว่า
- แต่คำยากๆ คำนี้ที่ถูกนักทำนิทานและนักทำภาพประกอบทั้งหลายเอามาปั่นให้อร่อย ย่อยง่าย และแล้วแปลงกายให้ ‘ล่องหน’ อยู่ในนิทาน
- mappa จึงหยิบนิทาน 3 เล่มมาชวนอ่าน ซึ่งทั้งหมดยืนอยู่บนการให้เกียรติและให้เด็กๆ เป็นผู้เลือกสิ่งที่จะเชื่อหรือสิ่งศรัทธาด้วยตัวเอง
“ความเหมือนคืออะไร” “ความต่างคืออะไร”
บางทีคำถามพื้นๆ เหล่านี้ต่างหากที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ตีความ ไตร่ตรอง วิเคราะห์ โดยไม่มีผู้ใหญ่ด่วนตัดสินให้ ไม่บอกว่าอะไรถูก-ผิด หรือ ดำ-ขาว
“นี่เป็นนิทานที่ให้เกียรติความคิดของเด็ก” คำของ ‘ครูก้า’ กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและผู้ก่อตั้ง โรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) ก่อนจะอธิบายต่อว่า เป็นการส่งหัวใจความเคารพจากผู้เขียนไปถึงเด็กๆ ว่าเขาเป็นมนุษย์ที่คิดเป็น เติบโต และทำความเข้าใจโลกด้วยวิธีการของเขาได้
โดยเฉพาะคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ที่อาจยากเกินไปสำหรับเด็กๆ แต่คำยากๆ คำนี้แหละที่ถูกนักทำนิทานและนักทำภาพประกอบทั้งหลายเอามาปั่นให้อร่อย ย่อยง่าย และแล้วแปลงกายให้ ‘ล่องหน’ อยู่ในนิทาน
ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยากและซับซ้อนมากมาย แต่ก็มีคนทำได้และทำได้ดีด้วย
mappa ชวนอ่าน จึงหยิบนิทานที่ปูพื้นฐานเรื่องประชาธิปไตยแบบไม่มีคำว่าประชาธิปไตยมา 3 เล่ม ซึ่งทั้งหมดยืนอยู่บนการให้เกียรติและให้เด็กๆ เป็นผู้เลือกสิ่งที่จะเชื่อหรือสิ่งศรัทธาด้วยตัวเอง
เล่มที่ 1: ม้ากับม้านั่ง โดยทาโร โกมิ
แนะนำโดย ‘ครูก้า’ กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและผู้ก่อตั้ง โรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย)
นิทานเล่มนี้เขียนโดย ทาโร โกมิ นักเขียนนิทาน และนักวาดภาพประกอบชาวญี่ปุ่นที่ครองใจทั้งเด็กญี่ปุ่นและเด็กไทยมานานแสนนาน เสน่ห์ของเล่มนี้คือการดำเนินเรื่องด้วยบทสนทนาโต้ตอบไปมาระหว่าง “ม้า” กับ “ม้านั่ง” ที่ฟังๆ ดูๆ แล้วเจ้าม้านั่งจะตกเป็นพระรองในสายตาของเจ้าม้าตั้งแต่เริ่มเรื่อง ด้วยความเพลิดเพลินในการชื่นชมตนเองของเจ้าม้า ทำให้เขามองข้ามความเหมือนในความต่าง ด่วนตัดสินว่าเจ้าม้านั่งช่างดูเหมือนจะไม่มีอะไรเทียบได้กับตัวเขาเลย ทั้งรูปลักษณ์และคุณค่า
และจะว่าไปแล้วนิทาน’ม้ากับม้านั่ง’เล่มนี้ก็ช่วยเปลี่ยนมุมมองและความคุ้นชินที่ผู้ใหญ่มักคิดว่านิทานเป็นเพียงแค่เครื่องมือช่วยให้เด็กอ่านหนังสือออก และมองข้ามคุณค่าอันยิ่งใหญ่ที่นิทานสามารถทำหน้าที่เสมือนเป็นเครื่องมือเปิด ‘มุมมองต่อตัวเอง’ และ ‘มุมมองต่อโลก’ เพื่อให้ “อ่านความเป็นจริงของโลกใบนี้ออก” ในความต่างไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็น รูปร่างหน้าตา คุณค่า ฯลฯ บ่อยครั้งก็ซ่อนความเหมือนกันเอาไว้ด้วยนะ และที่สำคัญนิทานเล่มนี้ก็กำลังทำหน้าที่เปิดใจให้เด็กๆ ได้เห็นว่าการได้ถก ได้คุย ได้ฟังกัน ทำให้เราได้เห็นในสิ่งที่เราอาจไม่ทันที่จะนึกถึงอีกด้วย
ความอารมณ์ดี ขบขัน และไม่ยี่หระของ ‘ม้านั่ง’ นี่แหล่ะที่คอยแหย่ความคิด ‘เจ้าม้า’ ที่พยายามจะคุย จะบลัฟ และยกว่าตัวเองนั้นช่างดีงามแตกต่างจากม้านั่งธรรมดาๆ ให้หันกลับมาคิดจนถึงขั้นเริ่มคล้อยตามได้ เช่น “เราก็มีสี่ขาเหมือนๆกัน” “เราสามารถให้คนขึ้นมานั่งได้เหมือนกันนะ” ต่างๆ นานา จนเจ้าม้าถึงขั้นเริ่มเอ่ยขึ้นมาว่า “จะว่าไปแล้ว คุณกับผมก็เหมือนกันจริงๆด้วย” แต่เมื่อมาถึงจุดนี้เจ้าม้านั่งกลับให้สติพาเจ้าม้าย้อนคิดหักเหในอีกมุมที่ว่า ในความเหมือนบ่อยครั้งก็มีความต่างปนอยู่ด้วยอีกเช่นกันไม่จำเป็นต้องเหมือนกันไปซะทุกเรื่อง และ “นี่แหล่ะคือความเป็นธรรมดาของโลกใบนี้” ด้วยคำพูดที่ว่า “ไม่หรอก ไม่ได้เหมือนกันขนาดนั้น ก็คุณน่ะเป็นม้า ส่วนผมก็เป็นม้านั่ง ”
นิทานเล่มนี้จึงสร้างมุมมองที่ทำให้ใจผู้อ่านกว้างขึ้นเคารพกันมากขึ้น มองเห็นและยอมรับว่าในความเหมือนก็มีความต่างได้ และในความต่างก็มีความเหมือนได้
นิทานเล่มนี้ไม่ได้กำลังบอกให้ลดการเคารพนับถือตนเองลงมาหรอกนะ แต่บทสนทนาโต้ตอบชวนกันขบคิดที่ทำให้เกิดความคิดในแง่มุมใหม่ๆ ของเจ้าม้ากับม้านั่งในนิทานเล่มนี้ดูเหมือนจะกำลังสร้างความสมดุลด้วยการเพิ่มความเคารพผู้อื่นเข้ามาต่างหาก
ตอนจบที่ดูอาการเจ้าม้าจะอึ้งๆ ต่างจากหน้าแรกที่เริ่มเรื่อง ได้ทิ้งอะไรบางอย่างให้เข้าไปทำงานงานในสมองของเด็กต่อ
เป็นการส่งหัวใจความเคารพจากผู้เขียนไปถึงเด็กๆ ด้วยความเชื่อที่ว่าเด็กทุกคนก็เป็นมนุษย์ที่คิดได้ ไตร่ตรองเป็น และทำความเข้าใจโลกด้วยวิธีการของเขาได้ ขอเพียงแค่ให้โอกาสที่เด็กๆ จะได้คิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง
เช่นเดียวกับ เรื่องราวการเมือง ที่มีความซับซ้อนหลากหลายมิติ ปัจจัย เงื่อนไข ความคิด ตัวบุคคล กาลเวลา ยุคสมัย ฯลฯ สิ่งที่คนยุคหนึ่งเคยคิดว่าใช่ ก็มีความไม่จริง/ความไม่ใช่ ซ่อนอยู่ด้วย
และแน่นอน ในสิ่งที่เราคิดว่าไม่จริง/ไม่ใช่ ก็มีความจริง/ความใช่ ซ่อนอยู่ด้วย เช่นเดียวกัน หรือบางครั้งความจริง/ความไม่จริงในยุคหนึ่งแต่ต่อมาอาจพบว่าไม่ได้เป็นอย่างที่เราเคยคิดก็เป็นได้ทั้งสิ้น
หนังสือนิทาน… ที่ต้องการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยสำหรับเด็กปฐมวัย ( 0 – 8 ปี) จึงควรมีเป้าหมายที่จะปลูกหัวใจของนักประชาธิปไตยให้งอกงามในใจเด็ก โดยไม่นำความเชื่อหรือความเห็นส่วนตัวทางการเมืองถึงแม้เราจะเชื่อเช่นนั้นจริงๆด้วยใจอันบริสุทธิ์ก็ตามใส่ลงไปให้เด็กๆ คิดอย่างที่เราคิด เพราะถ้าเราจะปลูก “หัวใจของนักประชาธิปไตย” ให้กับเด็กแล้ว เราก็ต้องปลูกด้วยหัวใจของความเป็นนักประชาชาธิปไตยของเราด้วยเช่นกัน ด้วยความเคารพในเด็ก เชื่อว่าเราเพียงแค่ปลูกทักษะในการเป็นนักคิดวิเคราะห์ไตร่ตรองที่ทำให้เค้าสามารถเข้าใจความเป็นจริงแบบสัจธรรม แล้วเค้าจะเป็นผู้เลือกสิ่งที่จะเชื่อหรือศรัทธาด้วยตนเอง
ผู้เขียน ผู้วาดภาพประกอบ ผู้เลือกหนังสือให้เด็กอ่าน… จึงจำเป็นต้องคิดมาก รับผิดชอบสูง วันหนึ่งสิ่งที่เราเคยเชื่อ… ไม่รู้ว่ายังใช่อยู่รึเปล่า หรือเราก็อาจไม่อยู่แล้ว แต่ความคิดหรือภาพจากหนังสือของเราได้ฝังไปในใจ ติดไปในสายตาที่ใช้มองโลก หรืออาจจะติดลึกลงไปในจิตใต้สำนึกของเด็กๆ ไปเรียบร้อยแล้วก็เป็นได้
อ่านและดูนิทานได้ที่นี่
เล่มที่ 2 Moomin โดย Tove Jansson (ตูเว ยานซอน)
แนะนำโดย กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ บรรณาธิการ สำนักพิมพ์นาวา
หนังสือชุดมูมินที่คุณย่าตูเว ยานซอน (1914-2001) เขียนไว้นั้นมีทั้งหนังสือเล่มและการ์ตูนช่อง ทั้งหมดนี้เล่าเรื่องราวของครอบครัวตัวโทรลล์ที่อาศัยอยู่ในหุบเขามูมิน เหล่ามูมินรักการผจญภัย พวกเขาจะออกสำรวจป่าสำรวจทะเลทั้งใกล้และไกล และจะกลับบ้านอันแสนอบอุ่นทุกครั้งที่การผจญภัยจบลง
ที่บ้านของเหล่ามูมิน ทุกคนล้วนได้รับการต้อนรับ ทั้งสนอร์กเมเดนผู้อ่อนหวาน สนัฟกินที่แสนสุขุมนุ่มลึก หรือแม้แต่หนูมายสุดแสบและสนิฟฟ์จอมเจ้าเล่ห์ เพื่อนๆ และผู้คนที่ผ่านมาล้วนได้นั่งลงดื่มชา รวมถึงกินขนมและอาหารร้อนๆ จากเตาของคุณแม่มูมิน แม้แต่เด็กล่องหน (ที่ถูกทำร้ายจนไม่มีใครมองเห็นตัวของเธอ) ก็ได้รับการต้อนรับที่นี่
ตูเว ยานซอน ใช้ชีวิตเรียบง่ายอย่างยิ่ง เธอวาดและเขียนงานในกระท่อมน้อยบนเกาะเล็กๆ ทางใต้ของฟินแลนด์ เธอเขียนเรื่องสั้นสำหรับผู้อ่านผู้ใหญ่ไว้จำนวนหนึ่งเช่นกัน งานของตูเวมักเล่าถึงชีวิตที่เรียบง่าย (แต่ซุกซน!) เต็มไปด้วยการสำรวจและเฝ้ามองธรรมชาติของผู้คนและสิ่งต่างๆ ตามที่เป็น
ผู้อ่านมากมายเรียกความคิดที่ได้จากหนังสือชุดนี้ว่า ‘ปัญญามูมิน’ เหล่ามูมินบอกเราว่า ความคิดและจิตใจที่เอื้ออารีต่อทุกคน รวมถึงสายตาที่มองเห็นและเข้าใจธรรมชาติของผู้คนและสิ่งรอบตัว จะเป็นพื้นฐานให้สังคมเล็กใหญ่ดำเนินไปได้เสมอ
เล่มที่ 3 จั๊กกะจิ่งจิ่ง โดย คณะใกล้เที่ยงคืน
แนะนำโดย ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ บรรณาธิการ mappa
“ฉันกลัวอะไร สิ่งใดทำให้ฉันหวาดหวั่น”
อาจจะเรียกได้ไม่เต็มปากเต็มคำว่าเป็นนิทาน หากตัวหนังสือน้อยแต่มากไม่กี่ประโยคใน ‘จั๊กกะจิ่งจิ่ง’ เล่มนี้ทำหน้าที่ตั้งคำถามปลายเปิด ความถูกต้องไม่ได้มีแค่หนึ่งแต่มีหลากสี และถูกเบลอจนจางลางเลือนเหมือนคำนำตอนหนึ่งของหนังสือ…
สิ่งหนึ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึงเกี่ยวกับศตวรรษที่ 21 คือเส้นแบ่งที่เบลอจางลางเลือน ทั้งชาย หญิง ชาติพันธุ์ ชนชั้น ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ
“ตัวฉันสีอะไร เธอบอกได้หรือเปล่า”
“ฉันอยู่ที่ไหน เราเคยเจอกันบ้างไหม”
“ฉันชอบอะไร สิ่งไหนทำให้ฉันมีความสุข”
“ฉันกลัวอะไร สิ่งใดทำให้ฉันหวาดหวั่น”
ประโยคเหล่านี้ ถูกวางลงพื้นที่ขนาดหน้าคู่ ตัวหนังสือเป็นชนกลุ่มน้อยในหน้ากระดาษใหญ่ที่ถูกระบายด้วยสีหลากหลาย ไม่มีการตัดขอบด้วยเส้นสีดำ ทุกเฉดถูกทำให้เบลอแทบไม่เห็นรอยต่อหรือการแบ่ง
“สิ่งสำคัญของฉันคืออะไร มีมากกว่าหนึ่ง สอง สาม ได้ไหม หรือไม่มีเลย”
คำถามเหล่านี้ถูกคิดขึ้นมาให้สอดคล้องกับช่วงพัฒนาการของนักอ่านวัย 3-6 ปี จะฝึกอ่านให้เสียงตัวเองซึมซับเข้าไปหรืออ่านกับผู้ใหญ่ก็ไม่จำกัดวิธี
ความหลากหลายคือหัวใจที่ถูกสอดไว้ในหนังสือเล่มนี้ในรูปแบบล่องหน เพราะไม่ปรากฎสักคำ แต่ทุกๆ การตั้งคำถามมันย้ำถึงการมีตัวตนของตัวเอง คนรอบข้าง โดยไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเลยก็ได้
เพราะความถูกต้องไม่ได้มีหนึ่งเดียว
“เด็กมีเรื่องคิดเพื่อต้องการเหตุผลอยู่แล้ว แต่เขาจะมีหลายเหตุผลเสมอ เด็กวัยนี้ถึงชอบถามว่าทำไมๆ ย้ำๆ ปัญหาคือผู้ใหญ่จะเลือกให้เหตุผลเดียว” อ.อรรถพล อนันตวรสกุล หนึ่งในทีมผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้อธิบาย
เด็กไม่จำเป็นต้องคิด ต้องเลือกเหมือนผู้ใหญ่
“สมมติว่าเด็กเลือกไม่ถูกใจพ่อแม่ สิ่งที่ตามมาคือเด็กจะถามว่าทำไม ทำไมแม่ต้องให้เขานุ่งกระโปรง ในเมื่อเขาอยากนุ่งกางเกง ต่อให้อยู่ในครอบครัวที่พยายามจะครอบเขาอยู่ แต่เมื่อเด็กมีโอกาสได้เห็นพลังในการเลือกแล้ว การตั้งคำถามมันจะตามมา” อ.อรรถพล ทิ้งท้าย
“สุดท้าย ฉันคือฉัน ฉันเป็นอะไรก็ได้”
“เธอก็เป็นอะไรก็ได้เหมือนกัน”
ประโยคสุดท้ายของเล่มเขียนเอาไว้อย่างนี้
Writer
mappa
illustrator
กรกนก สุเทศ
เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง