คอนสแตนซ์ วู: ความอึดอัดนี่แหละที่จะทำให้คุณเติบโต

คอนสแตนซ์ วู: ความอึดอัดนี่แหละที่จะทำให้คุณเติบโต

“ฉันเหมือนจะมอบความเมตตาให้กับคนที่ข่มขืนฉัน ซึ่ง…นั่นเป็นเรื่องที่คนไม่ทำกันหรอก แต่เหตุผลที่ฉันลองทำมัน ไม่ได้เลือกอยู่ข้างพวกเขา แต่ฉันรู้สึกว่า ถ้าฉันอยากจะให้คนอื่นมองชีวิตและความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในชีวิตของฉันด้วยความสงสัยใคร่รู้และลองทำความเข้าใจจากมุมของฉันมากกว่าการตัดสินกันไปก่อน ฉันก็รู้สึกว่าอยากจะทำมันกับคนอื่นๆ ด้วย และสิ่งที่สวยงามก็คือ ระหว่างที่ฉันลองทำมัน ฉันก็เริ่มหยุดโทษตัวเอง”

ข้อความที่เลือกมานี้เป็นคำให้สัมภาษณ์ของนักแสดงหญิงชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย คอนสแตนซ์ วู (Constance Wu) ที่น่าจะรู้จักกันจากภาพยนตร์ชื่อดัง Crazy Rich Asians 

เธอเผยออกมาในรายการ The Daily Show ขณะที่ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับหนังสือที่เธอเขียนเองชื่อ Making a Scene ถึงภาวะย่ำแย่ภายในจิตใจที่เธอเคยผ่านความคิดที่จะฆ่าตัวตาย เคยฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ โดนคุกคามทางเพศ และเคยโดนรุมแขวนอย่างหนักจากสังคมรอบข้าง จากกรณีเรื่องการโพสต์ความเห็นรุนแรงต่อภาพยนตร์ Fresh off the Boat ซึ่งเธอออกมาเผยในอีก 3 ปีให้หลังว่าตอนนั้นเธอถูกคุกคามทางเพศ

เราคงจะมองประโยคนี้เดี่ยวๆ ไม่ได้ เพราะไม่มีทางที่จะเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด และแน่นอนว่าเรามีสิทธิที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเต็มที่ 

แต่ผู้เขียนหยิบยกประโยคนี้มาเพราะเห็นว่า ‘จังหวะเวลา’ ของการตกตะกอนและเปล่งเสียงความเห็นนี้ออกมาอย่างมั่นใจและเป็นธรรมชาติ ทำให้เชื่อมโยงกับตัวเองได้ว่า ชีวิตมักจะมอบบทเรียนที่ทำให้ปัจเจกเปลี่ยนมุมมองต่อหายนะที่เลวร้าย และหาวิธีตลบกลับมันได้เสมอเมื่อคุณกอบกู้ตัวเองมาได้จากส่วนหนึ่งของซุปเปอร์โนวา ที่ดาวฤกษ์เกิดใหม่นั้นยังไม่ถึงคราวของคุณ

เพราะกว่าจะมาถึงจุดที่กอบโกยลมหายใจขึ้นมาได้ พอมีแรงอธิบายให้คนหมู่มากเข้าใจในการกระทำของตัวเอง หลายคนก็อาจจะล้มแล้วลุกไม่ขึ้นไปแล้ว 

ในสังคมที่ความเปราะบาง ความอ่อนแอ หรือภาวะอารมณ์ไม่แข็งแรงถูกผลักออกไปจากกระแสหลัก ทุกคนมองไปที่การล้มแล้วลุกเร็ว (resilience) การปรับตัวให้แคล่วคล่องกับยุคใหม่ เราอาจจะเห็นการออกมาส่งเสริมพลังของความเปราะบาง หรือการส่งเสริม empathy มากขึ้นผ่านสื่อและหนังสือมากมาย แต่คำถามคือ ในทางปฏิบัติ เราจะใจดีต่อกัน หรือกระทั่งต่อตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน ในสังคมที่เริ่มจะระเบิดไปด้วยวัฒนธรรมแห่งการเรียกร้อง เพราะความอยุติธรรมแทรกซึมอยู่ในทุกระดับของชีวิต การเมืองรวมศูนย์ เศรษฐกิจของประเทศที่ตกอยู่ในอำนาจของคนไม่กี่กลุ่ม หรือความเป็นชนกลุ่มน้อยที่เริ่มถูกบดบังไปด้วยสื่อและเทรนด์ 

ทุกวันนี้เราอาจจะตามชีวิตตัวเองได้ไม่ทันด้วยซ้ำ ในบางจุดอาจจะต้องยอมรับว่าความละเมียดละไม ความละเอียดอ่อนกับชีวิต หรือเทรนด์ slow life ที่ตอนนี้หมดอายุไปแล้วพักใหญ่นั้น เป็นหนึ่งในสิทธิพิเศษของคนบางกลุ่มเพราะพวกเขามีเวลามากพอ 

แต่เมื่อพูดถึงความสามารถในการพยายามทำความเข้าใจ หรือที่เราเรียกกันว่า empathy มิใช่ความสงสาร มันมีประโยชน์มหาศาลหากควบรวมไปกับประสบการณ์ของการมองเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวผู้อื่น การไม่พยายามบังคับใช้ “positive thinking” หรือคิดบวกไปเสียหมดกับหายนะของชีวิตหรือสถานการณ์ที่ผู้อื่นถูกกดทับ 

คอนสแตนซ์พูดไว้อย่างน่าสนใจ ในฐานะที่เธอเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาเพื่อส่งเสียงต่อ “Asian Community” หรือชุมชนชาวเอเชีย (ในที่นี้คืออิงจากสหรัฐอเมริกา) ว่าการเป็นตัวแทนของกลุ่มเอเชียนั้นพุ่งเป้าไปที่การเฉิดฉายเชิงบวกเสียเหลือเกิน และเธอคิดว่ามันเป็นภาพลวงตา เพราะเราต้องการตัวแทนของมนุษย์ทั้งหมดต่างหาก ตัวแทนของมนุษย์ทั้งหมดที่ผิดพลาดได้ ไม่มั่นคงได้ และเปราะบางได้ ซึ่งแน่นอนว่านั่นก็จะไปไกลถึงประเด็นที่ทั้งโลกกำลังพูดถึงและให้ความสำคัญกันอยู่ตอนนี้ นั่นคือเรื่องของการเหยียดเพศและเชื้อชาติ

เรามักจะร่อนการเมือง เศรษฐกิจ การงานอาชีพ หรือความมหภาคที่จับต้องได้ทั้งหลายออกจากเรื่องภายในอย่างการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความละเอียดอ่อนของชีวิต หรือความเปราะบางทางอารมณ์ ราวกับมันเป็นคนละเรื่องกัน สิ่งที่จะคัดง้างกันแล้วดูสมเหตุสมผล — เราไม่ควรเหยียดเชื้อชาติใคร / สงครามคือปีศาจ /มนุษย์เท่ากัน/ ไม่มีใครที่เป็นนักโทษการเมืองอย่างแท้จริง มีตั้งแต่หลักฐานทางวิชาการ ศพของผู้ต่อต้านความอยุติธรรม และศีลธรรมที่ถูกเขียนเป็นข้อๆ ในกระดาษ

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ความแตกต่างหลากหลายนั้นหลายครั้งก็ทำร้ายมนุษย์ด้วยกันเองเพราะเราต่างเห็นใจกันคนละเรื่อง เลือกเกิดไม่ได้ มีสิ่งที่ต้องสู้ มีชีวิตที่ต้องดูแล และหลายคนก็ผ่านอาชญากรรมทางใจมามากพอที่จะยอมแพ้กับความสวยงามของการลุกขึ้นสู้ต่อ

กว่าที่คอนสแตนซ์จะกล้าเขียนหนังสือ ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ออกรายการ และสะท้อนเสียงที่ยังถือว่าเป็นเสียงจากผู้ถูกกดขี่ในสังคมอเมริกัน เธอต้องเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาล และหยุดพักการแสดงในวงการฮอลลีวูด เพราะในเชิงประสบการณ์ เธอสารภาพเรื่องที่โดนคุกคามทางเพศกับเพื่อนนักแสดงชายชาวเอเชียที่ดูเหมือนจะเป็นกระบอกเสียงให้กับชุมชนชาวเอเชียโดยตรง โดยเชื่อว่าเขาน่าจะรับฟังและเชื่อเธอ แต่ต่อมาเขากลับชื่นชมผู้ที่คุกคามทางเพศของเธอออกสื่อเสียอย่างนั้น

“มันทำให้ฉันรู้สึกเหมือนโดนทรยศหักหลัง เพราะถ้าแม้แต่เขายังไม่เชื่อฉัน แล้วใครกันล่ะที่จะเชื่อ และฉันอยากจะบอกผู้ชายชาวเอเชียน-อเมริกันทุกคนว่า ถ้าคุณจะอ้างว่าตัวเองเป็นตัวแทนของชาวเอเชียน-อเมริกัน คุณก็ต้องยืนหยัดเพื่อผู้หญิงด้วย เพราะนั่นคือร้อยละ 50 ของประชากรที่มี”

การกดทับความรู้สึกของการถูกคุกคามของเธอไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายเลยที่จะเล่ามันออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยากขึ้นไปอีกเมื่อคิดว่าการอยากเป็นที่ยอมรับหรือสร้างพื้นที่ของ empathy คือการทำความเข้าใจผู้กดขี่ไปด้วย เพราะในท้ายที่สุดแล้วการเก็บเรื่องราวนั้นไว้คนเดียวไม่อาจทำให้เชือกที่รัดความบอบช้ำนั้นคลายออกใดๆ แค่เพียงเพราะเราอยากให้มันหายไปซะให้สิ้นเรื่อง 

“ฉันเข้าใจแล้วว่าถ้าฉันอยากจะใช้ชีวิตที่เป็นชีวิตของฉันอย่างแท้จริง ฉันก็แค่ต้องพูดมันออกมา หรือแม้กระทั่งเสี่ยงที่จะไปกระทบกับความอึดอัดของใครสักคน แล้วฉันก็รู้ว่าการออกมาพูดตรงนี้จะทำให้หลายคนอึดอัด แต่ฉันคิดว่าความอึดอัดนี่แหละที่มักจะทำให้คุณเติบโต”

ปี 2023 หรือปีใดๆ ก็ตาม ชีวิตของมนุษย์นั้นซับซ้อน เรียบง่าย สวยงาม และเต็มไปด้วยความน่าเกลียดน่ากลัวแตกต่างกันไป หลายคนมีหลุมในชีวิตที่ไม่กล้าไปแตะ หรือไม่อยากไปเฉียดใกล้มันสักนิดเพราะมันมีอำนาจที่จะทำให้เราแตกเป็นเสี่ยงๆ ได้ง่าย 

ผู้เขียนยังมีความหวังว่าการเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ของผู้คนและสังคมที่แตกต่าง ยังมีอำนาจเหนือความเบ็ดเสร็จของทุนนิยมและความโหดร้ายของอำนาจรวมศูนย์ เรายังมีความสามารถในการเห็นอกเห็นใจ และทำความเข้าใจความแตกต่างของอีกฝ่ายโดยที่ไม่ตัดสินจากการกระทำเพียงอย่างเดียวของเขา เพราะนิยามของความเป็นมนุษย์นั้นซับซ้อนเกินกว่าจะใช้ภาษาถกเถียง แต่ในขณะเดียวกันก็เข้าใจเหลือเกินว่า empathy นั้นมีไว้เฉพาะบุคคลและบริบทที่สมควรจะได้รับมันเท่านั้น

“ความอึดอัดนี่แหละที่จะทำให้เราเติบโต” จึงเป็นปรัชญา ณ ขณะที่ผู้เขียนคิดว่า— สำหรับผู้มีใจอ่อนไหว— เมื่อนำไปปรับใช้กับตัวเอง เราจะได้ไม่เปิดช่องว่างให้กับความสบายใจมากเสียจนลืมไปว่า การที่จะจิตใจที่เบาได้หลายครั้งต้องผ่านโศกนาฏกรรมแห่งความอึดอัดมาไม่รู้ตั้งกี่ครั้ง การเติบโตที่จะเรียนรู้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันนั้นไม่ใช่แค่การบอกว่าจะทำแล้วทำได้เลย แต่มันต้องอาศัยการฝึกฝนและความตั้งใจ เห็นตัวเองล้ม เห็นคนอื่นล้ม เห็นตัวเองและคนอื่นล้มแล้วลุก หลายครั้งพวกเขาลุกเองได้ หลายครั้งเราก็ลุกเองได้สบายมาก แต่หลายครั้งเราก็เป็นทั้งฝ่ายที่ยื่นมือและกุมมือคนที่ยื่นออกมาเพื่อรับเราไว้เช่นกัน

ที่มา :

Constance Wu: “Discomfort Is Often Where You Find Growth” | The Daily Show https://www.youtube.com/watch?v=amDXe1wM0NM

Writer
Avatar photo
ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts