“อย่าปล่อยให้พวกเขาต้องเผชิญคนเดียว” ชวนดูวิธีแก้ปัญหา ‘เด็กรังแกกันในโรงเรียน’ จากประเทศอื่น

“อย่าปล่อยให้พวกเขาต้องเผชิญคนเดียว” ชวนดูวิธีแก้ปัญหา ‘เด็กรังแกกันในโรงเรียน’ จากประเทศอื่น

เมื่อปี 2018 กรมสุขภาพจิตระบุว่า เด็กและเยาวชนไทยถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนติดอันดับ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น ซึ่งมีเด็กไทยประมาณ 6 แสนคนถูกรังแกในโรงเรียน หรือ คิดเป็นร้อยละ 40 จากทั่วประเทศ นอกจากนี้ เด็กในระดับมัธยมศึกษาเป็นผู้เผชิญกับปัญหานี้มากที่สุด

“ความรุนแรงในสถานศึกษาค่อนข้างมากทั้งการกลั่นแกล้ง รังแก โดยเฉพาะทางออนไลน์ ซึ่งเด็กที่ต้องเผชิญกับการกระทำเหล่านี้ จะประสบกับปัญหาทางด้านจิตใจอย่างรุนแรง เช่น เกิดความคิดอยากจะฆ่าตัวตาย หรือ บางคนที่ทนไม่ได้อาจจะเปลี่ยนเป็นผู้ก่อความรุนแรงเสียเอง” รศ.ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

ดังนั้น เราจะพาไปสำรวจพร้อมๆ กันว่า ประเทศอื่นมีวิธีรับมือและแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไรบ้าง

1. ขอเริ่มที่ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบการศึกษาทดีที่สุดในโลกก่อน ซึ่งก็คือ ‘ฟินแลนด์’ ที่ได้สร้างแผนงานต่อต้านการรังแกอย่าง คีว่า (KiVa) ที่เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการฟินแลนด์และมหาวิทยาลัยทัวร์คู (University of Turku) โดยแผนงานดังกล่าวถูกบังคับใช้เกือบทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2009

โดยใจความสำคัญของแผนงานนี้ คือ ทั้งครูและนักเรียนต้องมีความตระหนักรู้ร่วมกันว่า ถ้าสมมติเจอคนกำลังถูกแกล้งจะต้องทำอย่างไร เช่น เข้าไปปกป้องทันที หรือรีบแจ้งเรื่องให้กับผู้ที่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหานี้ได้โดยตรง ซึ่งห้ามเมินเฉยหรือปล่อยผ่านเป็นอันขาด

อย่างไรก็ดี ผู้ที่กลั่นแกล้งผู้อื่นจะไม่ได้รับการลงโทษ แต่จะได้รับการเยียวยาแทน ซึ่งครอบคลุมไปถึงผู้ปกครอง เพราะนักวิจัยที่ทำงานอยู่ในแผนงานนี้เชื่อว่า เด็กที่สามารถรังแก และรู้สึกชอบใจเวลาคนอื่นรู้สึกเจ็บปวดได้นั้นต้องมีปัญหาทางจิตใจอย่างแน่นอน จนต้องแกล้งคนอื่นเพื่อให้ตัวเองได้รับสถานะทางสังคมในหมู่เพื่อนๆ 

ทั้งนี้ หลังแผนงานนี้ถูกบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน พบว่า การรังแกกันในโรงเรียนมีอัตราที่ลดลง และเด็กๆ ก็ประสบปัญหาสุขภาพจิตลดน้อยลงอีกด้วย

2. ‘สหราชอาณาจักร’ แก้ปัญหาเพื่อลดการรังแกกันในโรงเรียนด้วยการออกกฎหมายที่บังคับให้ทุกโรงเรียนต้องมีนโยบายต่อต้านการแกล้งกัน ซึ่งจะมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ 

โดยนโยบายที่เปิดกว้างดังกล่าว ทำให้แต่ละโรงเรียนมีวิธีรับมือได้ดีกว่า เพราะแต่ละโรงเรียนก็จะมีปัจจจัยหลายๆ ด้านที่แตกต่างกันออกไป  อย่างไรก็ดี สถานศึกษาเหล่านี้มีการกำหนดมาตรการตั้งแต่การป้องกัน การขอความร่วมมือจากนักเรียน และการเพิ่มกิจกรรมที่จะช่วยให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันมากขึ้น

3. มาที่ประเทศสุดท้ายที่เราจะยกตัวอย่าง ได้แก่ ‘นอร์เวย์’ ที่ทางภาครัฐมีการสร้างแผนป้องกันการกลั่นแกล้งกันภายในโรงเรียนที่เรียกว่า โอลเวอุส (Olweus) ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกคิดค้นขึ้นมา เพื่อลดและป้องกันการรังแกกันในหมู่เด็กประถม-มัธยมต้น

รัฐบาลจะกำหนดให้โรงเรียนต้องมีคณะกรรมการป้องกันการกลั่นแกล้ง ที่ต้องมีทั้งครู ผู้ปกครอง และชุมชน ร่วมมือกันสอดส่องและอัพเดตข้อมูลให้กันอย่างสม่ำเสมอ ส่วนในระดับห้องเรียนก็มีการตั้งกฎห้ามแกล้งกัน ที่จะมีการคุยเรื่องนี้กันอย่างต่อเนื่องจากทั้งครู ผู้ปกครอง และ เด็กๆ

ท้ายที่สุดแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในประเทศไทย จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่ต้องช่วยกันหาต้นตอของปัญหา วิธีรับมือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อันเลวร้ายขึ้นอีก ดังนั้นผู้ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นลำดับต้นๆ คงหนีไม่พ้นผู้ที่ลงมือกระทำหรือแกล้งเพื่อนนั้นเองว่า ทำไมเขาถึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ 

โดยวิธีสังเกตที่ทั้งครู ผู้ปกครอง และเพื่อนๆ สามารถช่วยกันจับตาดูได้ก็คือ เด็กกลุ่มนี้มักจะมีปัญหาอารมณ์และพฤติกรรม จนต้องหาวิธีระบายความเครียดของตัวเองออกมา และเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วต้องการการยอมรับและความสนใจจากเพื่อน เลยต้องแกล้งคนอื่น เพื่อให้ตัวเองมีตัวตน มีอำนาจ 

หากเด็กที่เป็นฝ่ายแกล้งไม่ได้รับคำแนะนำช่วยเหลือตั้งแต่แรก หรือไม่ได้รับการรักษาซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้มีพฤติกรรมแกล้งคนอื่น เช่น สมาธิสั้น ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ เด็กก็จะมีแนวโน้มที่จะแกล้งคนอื่นไปเรื่อยๆ

ส่วนเด็กที่ถูกแกล้งก็มักจะหวาดกลัว จนบางครั้งไม่กล้าที่จะเล่าให้ผู้ใหญ่ฟัง หรือคิดไปเองว่าเรื่องนี้ไม่มีใครช่วยได้ ทำให้เก็บเรื่องนี้ไว้คนเดียว จนเด็กต้องประสบกับความเครียด ซึมเศร้า ไม่ยอมไปโรงเรียน หากรุนแรงมาก อาจพยายามทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายได้ 

จึงอาจสรุปได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีปัญหาที่ผู้ใหญ่ต้องช่วยกันสอดส่อง พร้อมที่จะรับฟัง และให้ความช่วยเหลือพวกเขา เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียขึ้นอีก

อ้างอิง

https://www.pptvhd36.com/news/อาชญากรรม/215848

https://www.posttoday.com/lifestyle/603557

https://www.thaipbs.or.th/news/content/287222

https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1065620

https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=27485

https://edition.cnn.com/2017/08/11/health/finland-us-bullying-prevention-trnd/index.html

https://www.manarom.com/blog/bullying.html

Writer
Avatar photo
ชลธิชา อินทะชัย

เป็นนักข่าว & คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ฝึกหัด ที่มักใช้เวลาไปกับสารคดีและหนัง จนเคยคิดว่าชาตินี้เราจะดูพวกมันได้ทัังหมดกี่เรื่องกันนะ

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts