‘อุ่นใจ ปลอดภัย เป็นห่วง คิดถึง โหยหา’ สายสัมพันธ์จะสร้าง “ตัวตน” ให้เราสำคัญกับใครสักคนในโลกอันกว้างขวาง

‘อุ่นใจ ปลอดภัย เป็นห่วง คิดถึง โหยหา’ สายสัมพันธ์จะสร้าง “ตัวตน” ให้เราสำคัญกับใครสักคนในโลกอันกว้างขวาง

หากลองสังเกตดูให้ดี การที่คุณชอบดูภาพยนตร์โรแมนติก สนุกกับการอ่านหนังสือสืบสวนสอบสวน ชอบทักทายหมาแมวจรจัดในที่สาธารณะ หรือกระทั่งมีไอศกรีมรสโปรดเป็นรสช็อกโกแลต ทั้งหมดนี้อาจเป็นสิ่งที่คุณได้รับอิทธิพลมาจากใครสักคน

หรือในแง่ของความรู้สึกเอง อุ่นใจ ปลอดภัย เป็นห่วง คิดถึง โหยหา 

ล้วนเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์บางอย่างระหว่างคุณกับใครสักคน สัตว์สักตัว สิ่งของสักชิ้น หรือสถานที่ใดๆ สักแห่งหนึ่ง

แม้ว่าจะมองไม่เห็นหรืออยู่ห่างไกลเพียงใด แต่ความรู้สึกเหล่านี้ยังคงชัดเจนอยู่เสมอ

เพราะ ‘สายสัมพันธ์’ ทำให้เรารู้สึกถึง ‘คุณค่า’ ของการได้มีตัวตนบนโลกอันกว้างใหญ่ใบนี้

ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Mappa ได้ชวนทุกคนย้อนทบทวนเรื่องราวเกี่ยวกับสายสัมพันธ์ในแต่ละรูปแบบ และในทุกสายสัมพันธ์นั้นๆ มักยึดโยงตัวเรากับอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นการก่อร่างสร้าง ‘ตัวตน’ (Self) ในแบบที่บางครั้งเราเองก็ไม่รู้ตัว และ ‘ตัวตนที่มีอยู่จริง’ ล้วนเกิดจาก ‘สายสัมพันธ์ที่มีอยู่จริง’ เช่นเดียวกัน

ความแตกต่างที่เชื่อมโยงระหว่าง ‘ความสัมพันธ์’ ‘ความผูกพัน’ และ ‘สายสัมพันธ์’

หากกล่าวถึงคำว่า ความสัมพันธ์ (Relationship) ความผูกพัน (Attachment) และสายสัมพันธ์ (Bonding) ทั้งหมดนี้อาจดูเป็นสิ่งที่คล้ายคลึงกันและดูคล้ายกับว่าสามารถใช้แทนกันได้ แต่ที่จริงแล้วทั้งหมดทั้งสามคำนี้มีความแตกต่างกันอยู่หลายประการ

ความสัมพันธ์ (Relationship) หมายถึง การที่คนตั้งแต่สองคนขึ้นไป (หรืออาจเป็นคนหนึ่งคนและอะไรอีกอย่างสักหนึ่งสิ่ง) มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องและหลายรูปแบบ เช่น ครอบครัว เพื่อนฝูง  หรือคู่รัก ซึ่งบุคคลที่อยู่ในความสัมพันธ์นั้นมักมีอิทธิพลทั้งในแง่ความคิด จิตใจ และการกระทำต่างๆ ต่อกันและกัน

ส่วน ความผูกพัน (Attachment) หมายถึง ความเป็นไปในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ซึ่งต่อยอดมาจากความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตามแต่ละลักษณะของความผูกพันจะแตกต่างกันไปตามความสัมพันธ์ โดยตัวอย่างที่บ่อยครั้งถูกหยิบยกมาอธิบายเกี่ยวกับความผูกพันมักเป็น ‘ทฤษฎีความผูกพัน’ (Attachment Theory) ของ จอห์น โบลบี (John Bowlby) จิตแพทย์และนักจิตวิทยาชาวอังกฤษที่ได้กล่าวถึงสิ่งเหล่านี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “การเลี้ยงดูที่เราได้รับมาในวัยเด็ก ย่อมส่งผลต่อการแสดงออกและการตอบสนองต่อรูปแบบความสัมพันธ์ต่างๆ ในตอนที่เราโตขึ้น” 

ทั้งนี้ หลักการที่สำคัญที่สุดของทฤษฎีความผูกพันคือ ‘ผู้เลี้ยงดู’ (ซึ่งมักหมายถึงผู้ปกครองหรือคนในครอบครัว) อย่างน้อยหนึ่งคนที่เปรียบเสมือนเสาหลักหยัดยืนความผูกพันให้กับเด็กๆ ซึ่งความผูกพันนี้จะส่งผลโดยตรงต่อการเรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพวกเขา ที่จะต่อยอดไปที่พัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ให้พวกเขาเหล่านั้นเติบโตได้อย่างสมบูรณ์

และคำสุดท้าย สายสัมพันธ์ (Bonding) หมายถึง การผนวกรวมกันระหว่าง ‘ความสัมพันธ์’ และ ‘ความผูกพัน’ ที่เกิดขึ้นระหว่างกันให้แน่นแฟ้นขึ้น 

นอกเหนือไปจากนั้น การเรียนรู้ถึงการมีสายสัมพันธ์ยังทำให้เราค้นพบว่า สายสัมพันธ์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไม่จำกัดรูปแบบ อาจไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงแค่ระหว่างคนกับคนเสมอไป ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ สิ่งของ หรือสถานที่ ทั้งหมดนี้ล้วนก่อรูปสายสัมพันธ์ให้กับเราได้ทั้งสิ้น

และทุกสายสัมพันธ์ย่อมส่งผลกับ ‘ความเป็นตัวเรา’ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ไม่ว่าจะเป็นจาก…

ครอบครัวที่เลี้ยงดูเราจนเติบโต

ตัวการ์ตูนที่เคยดูตอนเด็กๆ

ตุ๊กตาน้องเน่าที่เราพกติดตัวไปทุกที่

ประโยคจากหนังสือเล่มโปรดที่จำไม่เคยลืม

น้องแมวตัวอ้วนที่นอนรอเราอยู่ที่บ้าน

‘ความเป็นตัวเรา’ ที่สะท้อนไปมาระหว่างสายสัมพันธ์เหล่านี้ และนั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ตัวตน’

มีตัว มีตน มีบุคคล และมี ‘สายสัมพันธ์’

“มันเป็นไปไม่ได้เลยที่พ่อแม่ที่ขาดการตระหนักถึงตัวตน (Self) ของตัวเองจะนำพาลูกๆ ของเขาให้สร้างตัวตนที่แข็งแรงได้” ดาเนียล เอ ฮิวส์ (Daniel A. Hughes) นักจิตวิทยาคลินิกที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กระบุเอาไว้อย่างน่าสนใจในงานวิจัยทางสมองของเขาที่ชื่อ Brain-Based Parenting: The Neuroscience of Caregiving for Healthy Attachment (2012)

ในงานชิ้นนี้ยังระบุถึงข้อมูลสำคัญว่า ‘ประสบการณ์ชีวิต’ ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาสมองของเด็ก และจะยิ่งเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับสมองของเด็กที่มีการประมวลผลรับรู้ถึงการดูแลเหล่านั้น

การยกตัวอย่าง ‘สายสัมพันธ์สร้างตัวตน’ อาจเริ่มจากการพูดถึง ‘แม่กับลูก’ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากที่สุด

‘สายสัมพันธ์แรก’ ที่เกิดขึ้นระหว่างแม่กับลูก อาจหมายถึงสายสะดือที่เชื่อมสายใยการเติบโตของทารกที่อยู่ในครรภ์ ถึงแม้ว่าในแง่รูปลักษณะทางกายภาพนั้นสายสัมพันธ์อาจหายไปเมื่อถูกตัดไปหลังจากคลอด แต่สายสัมพันธ์ระหว่างลูกกับแม่อาจไม่ได้หายไปไหน เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการดูแลและห่วงใยแทนที่

อย่างไรก็ตามเมื่อเราเติบโตขึ้น แน่นอนว่าสายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอย่างแน่นแฟ้นในชีวิตของเรานั้นไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องของครอบครัวเสมอไป

เพลงที่ชอบฟัง หนังที่ชอบดู หนังสือที่ชอบอ่าน และอื่นๆ อีกมากมาย

ทั้งหมดนี้ล้วนประกอบสร้างตัวตนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

อีกทั้งตัวเราเองก็ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในสายสัมพันธ์ของใครสักคนเช่นเดียวกัน

คุณอาจลองมาแกะส่วนต่างๆ ที่ประกอบสร้างความเป็นตัวคุณในวันนี้ดูได้เช่นเดียวกัน เพื่อให้รู้ว่า ‘ตัวตน’ ของคุณมีรูปแบบมาจากใครหรือได้รับอิทธิพลมาจากอะไร

เพราะสายสัมพันธ์คือสิ่งที่เราอาจมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น

แต่รับรู้และสัมผัสได้ว่า ‘มีอยู่จริง’ อยู่เสมอ

อ้างอิง

www.amazon.com/Brain-Based-Parenting-Neuroscience-Interpersonal-Neurobiology/dp/0393707288

mi-psych.com.au/how-attachment-affects-your-emotion-regulation-relationships/

urbancreature.co/a-bond-of-love/

Writer
Avatar photo
รุอร พรหมประสิทธิ์

หนังสือ ไพ่ทาโรต์ กาแฟส้ม แมวสามสี และลิเวอร์พูล

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts