ธนชาติ ศิริภัทราชัย : โฆษณาคือมนุษย์และเพื่อนที่กล้าพูดตรงๆ ต่อกัน
ธนชาติ ศิริภัทราชัย : โฆษณาคือมนุษย์และเพื่อนที่กล้าพูดตรงๆ ต่อกัน
- โฆษณาไม่ใช่แค่คอนเทนต์ขายของ แต่ต้องเป็นมนุษย์และเพื่อนที่กล้าพูดตรงๆ
- ทำให้โฆษณาหลายๆ ชิ้นของเบนซ์ คือ การเล่าเรื่องใกล้ตัว ทั้งครอบครัว ความรัก ความสัมพันธ์ไปจนถึงการเสียดสีโครงสร้างสังคมผ่านการ ‘เสียดสี’
- ทั้งหมดนี้ก็เพราะเบนซ์ไม่เชื่อว่า คนดูจะไม่ชอบดูโฆษณา แต่คนดูไม่ชอบโฆษณาที่ไม่เกี่ยวกับตัวเขา
“โฆษณาควรเป็นเพื่อนที่ไม่ใช่ถีบประตูบ้านแล้วบอกว่าของกูดี ลองเลย แต่เดินเข้าไปแบบเพื่อนคนหนึ่ง”
เพราะกฎ 3 ข้อในการคิดโฆษณาของ ‘เบนซ์’ ธนชาติ ศิริภัทราชัย ผู้กำกับโฆษณา Salmon House คือ ตอบโจทย์ลูกค้า เชื่อมโยงกับคน และเป็นมนุษย์
และหนึ่งในการเปลี่ยนโฆษณาให้เป็นมนุษย์คือ การเป็น ‘เพื่อน’
“สังเกตได้ว่า เพื่อนสนิทของเราจะไม่ใช่คนที่พูดจาแต่เรื่องดีงามกับเราตลอดเวลา กล้าที่จะกวนตีนเรา และสบายใจที่จะมาบ่นนั่นนี่กับเรา วันนี้ออฟฟิศสแกนนิ้วยากชิบหาย ฝนตก ฟุตบาทตรงนี้แม่งน้ำท่วมว่ะ”
วิธีการจะเป็นเพื่อนคือ การแทรกประเด็นสังคมเข้าไปในงานโฆษณาจะช่วยให้เราเป็นเพื่อนกับคนดูได้ง่ายขึ้น เมื่อเขารู้สึกเชื่อมโยงก็พร้อมที่จะรับฟังมากขึ้น
“การพูดประเด็นสังคม แนวคิดที่มีน้ำหนักและมีความหมายพอ เรารู้สึกว่ามันทำให้เชื่อมโยงกับคนมากขึ้น”
เบนซ์ไม่เชื่อว่า คนไม่ชอบดูโฆษณา แต่เขาเชื่อว่า คนไม่ชอบดูโฆษณาที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตกับเขา
งานหลายๆ ชิ้นของเบนซ์จึงไม่พ้นเรื่องใกล้ตัว ตั้งแต่ความสัมพันธ์ของเพื่อน ความรัก ครอบครัว ไปจนถึงการสะท้อนภาพใหญ่ของสังคมผ่านการเสียดสี ท่าทีของเบนซ์ที่จะพาโฆษณาเข้าไปนั่งในใจของคนดู
“การเสียดสีคือการพูดในน้ำเสียงที่เป็นเพื่อนสนิทกับเขามากขึ้น ไม่ใช่เพื่อนที่บอกว่า คุณเบนซ์ครับ อาหารอร่อยจังเลยนะครับ แต่จะเป็นเพื่อนที่กวนส้นตีน เจอหมา มีมตลกๆ แล้วส่งให้เขาดู ไม่ได้ด่ากราด ตั้งป้อมด่ากัน แต่เป็นท่าทีที่เรายัง enjoy กับมันได้”
อย่างน้อยโฆษณาคือเครื่องมือสะท้อนของยุคสมัย หากถามว่านอกจากการเปลี่ยนสินค้าให้เป็นเพื่อนแล้ว หน้าที่ผู้กำกับโฆษณาคืออะไรอีก
คำตอบของเบนซ์คือ การมอบความคิดที่ค้างไว้ในใจคนดูและชวนเด็กรุ่นใหม่ตั้งคำถาม ผ่านสื่อ ‘โฆษณา’ ที่อายุสั้นกว่าหลายๆ สื่อ
และคงดี ถ้าโฆษณาจะเป็นมากกว่าคอนเทนต์ขายของ แต่มอบสิ่งดีๆ ให้กับสังคมไม่ว่าจะด้วยท่าทีแบบไหนก็ตาม
ตั้งแต่คลิปคุณลุงเนลสันที่ทำครั้งแรกจนถึงโปรเจกต์ล่าสุด goodhuman ในมุมมองของคุณ วงการโฆษณาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
งานโฆษณาออนไลน์ก็ผ่านมาหลายยุค ช่วงแรกๆ จะเป็นแนวดราม่าแล้วใส่ product ไว้ท้ายเรื่อง ต่อมาเป็นยุคที่อยากขายอะไรก็ขาย ขายตรงเลย แล้วเข้ามาสู่ยุคที่คนอิน Big Data 5 วิแรกต้องปัง หนังต้องยาวเท่านี้ รูปแบบวิดีโอเป็นแนวตั้ง
ส่วนยุคนี้จะเป็นช่วงที่ค่อนข้างบาลานซ์แล้ว ถึงจะมีเรื่อง Big Data แต่ก็เริ่มกลับมาสู่ความคิดที่ว่า แกทำหนังอะไรก็ทำไปเถอะ ถ้ามันคอนเนกต์กับคน ไม่ว่าจะตลก ซึ้ง ผี ถ้ามันดีเดี๋ยวก็ดีเอง เดี๋ยวคนก็แชร์เอง ไม่เกี่ยวกับความยาว มีคนบอกว่าสมัยนี้ ถ้าความยาวเกิน 1 นาทีคนไม่ดูแล้ว แต่ตราบเท่าที่มันดี มันก็จะดี แล้วคนก็จะดู
เหมือนมิสทีนชิ้นล่าสุดที่ผมเขียนบท #ฉายแสงทุกการเติบโต โฆษณานี้ความยาว 5 นาที ถ้าไปเอาเข้ามาตรวัดปกติก็ยาวมาก แต่เรารู้สึกว่า ถ้าดีมันก็ดี หนังยาวกับหนังนานไม่เหมือนกัน หนัง 1 นาทีถ้ามันน่าเบื่อมันก็นาน หนัง 10 นาทีถ้ามันสนุกก็ไม่ใช่หนังที่นาน แต่อาจจะเป็นแค่หนังยาวที่สนุกก็ได้
โฆษณาแบบไหนถึงจะเรียกว่าดี
ดีในความหมายของผมคือ หนังโฆษณาควรจะตอบโจทย์เจตนาของมันคือการขายของและกระตุ้นการขาย ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นหรือระยะยาว อาจจะไม่ต้อง call to action ออกไปซื้อเลยตอนนี้ แต่มันส่งผลต่อแบรนด์ในระยะยาว ทำให้ผู้บริโภคหรือคนดูรู้สึกดีกับแบรนด์มากขึ้น ขณะเดียวกันเล่าเรื่องสนุก คอนเนกต์กับคนหรือเปล่า ไม่จำเป็นต้องตลก สนุกก็ได้ ซึ้งก็ได้ จริงใจก็ได้ เสนอแนวคิดแบบใหม่ก็ได้ แต่คนดูแล้ว เขารู้สึกว่าโอเคว่ะ ดีว่ะ อยากดูต่อ
คนชอบบอกว่าไม่มีใครชอบดูโฆษณาหรอก เราไม่เชื่อ เพราะรู้สึกว่าคนไม่ชอบดูโฆษณาที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตเขา ถ้าเกี่ยว ส่งผล ให้แง่คิด หรือทำให้อารมณ์ดีขึ้น คนจะชอบ เรามองว่าเป็นหนึ่งใน Story telling ใหม่ๆ ที่ขายของหรือรับใช้แบรนด์ แต่ถ้ามันสนุก ถ้าเขารู้สึกว่ามันคอนเนกต์กับชีวิตเขาเป็นเหมือนเพื่อนเขามาเล่าเรื่องสนุกให้ฟัง เขาก็จะดูหรือเห็นเพื่อนแชร์เยอะ อาจคิดว่ากูลองดูบ้างดีกว่า
ทำอย่างไรให้คนดูรู้สึกว่าโฆษณาเป็นเพื่อน
จริงๆ แล้วอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ส่วนตัว การที่โฆษณาเราไปขึ้นบนหน้าจอของลูกค้าเหมือนเป็นการเคาะประตูบ้าน แต่ไม่ได้เคาะแล้วบอกว่า กูดี กูเก่ง ซื้อกูเดี๋ยวนี้ อาจเป็นอีกท่าที ถามเขาตรงๆ ว่า พี่เคยเป็นแบบนี้ใช่ไหม เคยเศร้ากับเรื่องนี้หรือเปล่า พี่เคยตลกกับเรื่องนี้ไหม ถ้าพี่ให้ความหมายและให้น้ำหนักสิ่งนี้ใช่ไหม ผมก็ให้เหมือนกัน
เราอาจจะยังไม่ต้องสนิทกันแต่เราอยู่ในกลุ่มเดียวกันได้และผมคิดว่าผมมีสิ่งที่โอเค พี่ลองดูดิ ชอบหรือเปล่า ไม่ชอบก็ไม่ต้องซื้อ แต่ลองดูก่อน
มีวิธีการเข้าใจเพื่อนคนนี้อย่างไร
โง่สุด คุยกันในทีมก่อน แล้วก็ลองไปหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต แค่เสิร์ชโง่ๆ ก็ได้คำตอบหลายอย่างมาก แล้วมากรองให้มีความเป็นมนุษย์ เช่น โฆษณาขนม อย่าไปถีบประตูบ้านเขาแล้วบอกว่า อร่อย ลองเลย เพราะมันไม่เป็นมนุษย์ เขาจะรู้สึกว่า มึงเป็นใครวะ มี authority ไหนมาบอกว่าอร่อยแล้วลองเลย แต่ทำ product ให้เกี่ยวกับชีวิตเขาสิ ท่าทีที่เข้าไปเหมือนเพื่อนเขามากขึ้น เกี่ยวข้องกับเขามากขึ้น เขาก็พร้อมจะรับฟัง
ส่วนใหญ่งานโฆษณาของคุณมักจะเสียดสีสังคม นี่เป็นวิธีทำให้คนดูรู้สึกว่าโฆษณาเป็นเพื่อนเขาหรือเปล่า
ความเสียดสีคือ one kind of comedy ที่อยู่คู่กับสังคมอยู่แล้ว รวมถึงส่วนตัวเราเป็นคนชอบเสียดสีด้วยแหละ มีความกวนส้นตีน เวลาดูหนังก็จะตลกกับมุก ก็เลยอยากทำโฆษณาแบบนั้นออกมา ถามว่าจำเป็นไหม ก็อาจจะไม่จำเป็น แต่ comedy เป็นทางหนึ่งที่จะ express อะไรได้มั้ง ถ้าเรารู้สึกว่าเราขี้บ่น บ่นอะไร คนอาจจะไม่อยากฟัง แต่ถ้าบ่นให้ตลก บ่นให้สนุก เขาอาจจะโอเคก็ได้
อะไรที่ทำให้คุณเลือกใช้วิธีเสียดสีในงานโฆษณา
การเสียดสีคือการพูดในน้ำเสียงที่เป็นเพื่อนกับเขามากขึ้น เพื่อนที่สนิทกับเรา ไม่ใช่เพื่อนที่บอกว่า คุณเบนซ์ครับ อาหารอร่อยจังเลยนะครับ จะเป็นเพื่อนที่กวนส้นตีน เจอหมา มีมตลกๆ แล้วส่งให้เขาดู
เพื่อนที่เสียดสี กวนตีน เหี้ยๆ แบบนี้ก็มีหลายแบบ คุณมีเส้นแบ่งอย่างไรให้กวนตีนแบบพอดี
ผมว่ามันคือน้ำเสียงและแนวคิดของเรา ไม่ได้ด่ากราดหรือตั้งป้อมด่ากัน แต่เป็นท่าทีที่เราพอจะรับมันได้ กวนส้นตีน นิสัยไม่ดีแหละ แต่มันถูกห่อหุ้มและถูกเล่าด้วยในท่าที บรรยากาศ และการเล่าเรื่องที่เรายังเอนจอยกับมันได้
ขณะเดียวกัน งานของคุณก็เลือกที่จะเสียดสีหรือพูดถึงประเด็นสังคม ในมุมมองคนทำงาน ทำไมโฆษณาต้องพูดถึงประเด็นเหล่านี้
สำหรับผมถ้ามีพื้นที่และโอกาสก็อยากพูดเรื่องสังคม ยุคสมัย และแนวคิดที่มากกว่าการขายของ เพราะจริงๆ โฆษณาอายุสั้นมาก จะแข่งกันแค่ไหน พอมีตัวใหม่มา เสาร์อาทิตย์ก็หายไปแล้ว เหมือนคลื่นไปเรื่อยๆ ยิ่งในยุคที่มี Social Media Platform โจทย์ของเราคือทำยังไงให้เรามอบแนวคิดที่ติดค้างไว้ในหัวคนดู ถึงมันจะเป็นองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ เราก็อยากใส่
เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วเป็นยุคของตัวบุคคล “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” “ทุกอย่างเริ่มได้ด้วยตัวเอง” “คิดดีทุกอย่างดีเอง” แต่สำหรับเราในบรรยากาศของคนรุ่นนี้เขาถูกขับเคลื่อนด้วยสิ่งที่เป็นองค์รวมมากกว่าตัวบุคคล ต่อให้เก่งแทบตาย แต่ถ้าสิ่งรอบตัวมันไม่เวิร์กเราก็จะยังอยู่ที่เดิม
อยาก empower ให้คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว อย่าเพิ่งเชื่อทุกอย่างที่ผู้ใหญ่บ้านเราสอนมาและไม่มากก็น้อยอยากเป็นแรงเล็กๆ ในการ push ตรงนั้น
ก่อนสื่อสาร คุณมีวิธีช่างน้ำหนักระหว่างความต้องการของแบรนด์กับประเด็นที่อยากเล่าอย่างไร เพื่อให้โฆษณานี้ยังทำหน้าที่ของขายของได้แต่ไม่ทิ้งสังคม
แรกสุดคือ มันเข้ากับวาระ agenda ของการทำโฆษณานั้นไหม ถ้าลูกค้าอยากแค่ขายว่า ขนมนี้อร่อยจัง กินอร่อย แค่นั้น แล้วประโยชน์ของขนมและแบรนด์ไม่จำเป็นต้องมาเกี่ยวกับสังคม เราจะไม่ฝืน เพราะ Salmon House ก็จะมีโฆษณาอีกแบบหนึ่งที่เน้นเนื้อเรื่องสนุก แต่อีกสายหนึ่งถ้ามันสอดแทรกอะไรได้ ก็พยายามใส่ เพราะในทีมก็จะคุยกันเยอะมาก ปลอดภัยด้านภาพ และไม่ได้เหยียดหรือ make fun ใคร
รู้สึกว่า ยุคนี้โฆษณาต้อง take side ยิ่งโฆษณาในอินเทอร์เน็ตไม่สามารถทำให้ใครมีความสุขได้ ทุกคนจะแฮปปี้ได้มันต้อง take side อาจจะมีคนไม่เห็นด้วย แต่เราก็เข้าใจและเคารพความเห็นเขา แต่อย่างไรเราก็ take side ไปแล้วที่จะอยู่ด้านนี้เพื่อให้สารที่สื่อออกไปมันมีความหมายและตรงประเด็นมากพอ และเข้าถึงคนที่เป็นทาร์เก็ตของเรา
แล้วจะไม่ใช่โฆษณาที่เห็นแล้วคิดว่า ไอเดียนี้ก็แหงล่ะ เป็นคอมมอนเซนส์ เราไม่อยากพูดตรงนั้น เช่น ต้องออกไปสนุกกับเพื่อน ยิ่งเพื่อนเยอะ ยิ่งดี ก็อาจจะใช่ เป็นไอเดียหนึ่ง แต่เรากลับมองว่าเพื่อนไม่ต้องเยอะก็ได้เว้ย มีเท่าที่แกสบายใจ โอเคกับการดำเนินชีวิต พอแล้ว มีในบรรยากาศที่โอเคกับตัวเรา พอ take side ไปด้านหนึ่งมันจะตรงประเด็นมากขึ้น
พอแนวคิดในการทำงานของเราเป็นแบบนี้ว่า โฆษณาต้อง take side ต้องพูดเรื่องสังคมเพื่อให้ลูกค้ามองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว แล้วเวลาขายงาน ลูกค้าเข้าใจเหมือนคุณไหม
จะเป็นปัญหาช่วงแรกๆ เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว เหมือนลูกค้ายังไม่คุ้น ไม่ชินกับ message เราก็ต้องค่อยๆ educate ว่า พี่ พูดเรื่องใหม่ๆ เถอะ ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องเดิมก็ได้ มันยังมีพื้นที่อีกเยอะเลยนะให้พี่พูดได้ แล้วมันโอเค
เช่น เราเคยทำโฆษณาเครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่ง อยากส่งเสริมให้วัยรุ่นเป็นตัวของตัวเอง ก่อนหน้านั้นโฆษณาวัยรุ่น น้ำอัดลมต้องออกไปเลย! ค้นพบความมันส์ ไปเทศกาลดนตรี กระโดดโลดเต้นกัน นั่งในรถเข็นซุปเปอร์มาร์เก็ตเข็นกันแบบ american teenager เห็นแบบนี้จนเบื่อแล้ว แต่การเป็นตัวของตัวเอง มันก็ไม่ต้องเป็นอย่างนั้นก็ได้
ซึ่งคุยกับลูกค้านานเหมือนกันว่า พี่ดูโฆษณาแบบนี้กันมากี่ปีแล้ว แต่ไม่เป็นไร ถ้าเด็กคนนั้นเป็นเด็กเงียบๆ อยู่กลางห้อง เป็นคนที่ไม่ได้ออกไปกล้า ออกไปซ่ากับเพื่อน ก็ไม่เป็นไรอยู่บ้านแล้วก็เล่นกับแมวไป อยู่บ้านอ่านการ์ตูน นอนดูซีรีส์ นอนโง่ๆ ก็ได้ เป็นวัยรุ่นแบบที่อยากจะเป็นก็เป็นตัวของตัวเองได้เว้ย อย่าให้โฆษณาไหนมาบอกว่า มึงควรจะเป็นวัยรุ่นยังไง ถึงจะใช้ชีวิตคุ้มค่า
แสดงว่าลูกค้าก็เลือก Salmon House ด้วยเหตุผลนี้
คนเข้ามาหา Salmon House จะรู้อยู่แล้วว่า เรา expect อะไรได้ ต้องการรสชาติใหม่ๆ และสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ เขาอาจจะรู้สึกว่าทำโฆษณาแบบนี้มานานแล้ว อยากลองเปลี่ยนใหม่ เราเชื่อว่าทุกโปรดักส์ทุกไลน์จะมีท่าไม้ตาย โฆษณากระบะพันธุ์แกร่งก็จะพลานุภาพเหนือขีดจำกัด น้ำอัดลมก็จะออกไปซ่ากันเถอะ หรือคอนโดก็จะเอกสิทธิ์เหนือระดับที่ดีขึ้น มันจะเป็นชุดคำแบบนี้ คนที่มาหาเราก็เลยค่อนข้างจะรู้อยู่แล้วว่า เราทำอะไรได้ ถนัดด้านไหน อยากให้พูดด้านไหน
เท่าที่เล่ามา หลักคิดในการทำงานโฆษณาของ Salmon House คือ การเปลี่ยนสินค้าให้มีชีวิต มีความเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกันก็ชวนตั้งคำถาม การใส่แนวคิดนี้ลงไปในโฆษณาสำคัญอย่างไรในยุคนี้
ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของ agency หรือผู้กำกับ คือ ทำให้คนดูรู้ว่าแบรนด์ฉันเป็นแบบนี้ มารู้จักกันเถอะ เปลี่ยน message แข็งๆ ตรงนี้สื่อสารออกให้มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เหมือนที่บอกไปไม่มีใครอยากดูโฆษณาที่ไม่เกี่ยวกับเขาหรอก และเป็นคำที่ Salmon House ให้ความสำคัญมาก
การทำให้โฆษณาเป็นมนุษย์คือ การพูดประเด็นสังคมในยุคนี้ การพูดคอนเซ็ปต์ที่ takeside มีน้ำหนักและความหมายพอ เรารู้สึกว่ามันทำให้เชื่อมโยงกับคนมากขึ้น คนชอบบอกว่าโฆษณาต้องพูดแต่เรื่องดีๆ สำหรับเรานั่นมันคือยุคโฆษณาทีวี เรารู้สึกว่าโฆษณาหรือสื่อใดๆ ก็ตามควรใส่ความเป็นเพื่อนที่กล้าพูด negative กับเรา วันนี้ออฟฟิศเราสแกนนิ้วผ่านยากชิบหาย ฝนตก ฟุตบาทตรงนี้แม่งน้ำท่วมว่ะ อย่างน้อยเป็นเพื่อนกับเขาก่อน เวลาจะพูดอะไรพูดกันได้
มุมหนึ่ง โฆษณาก็เป็นตัวแทนของยุคสมัย เราบอกแบบนั้นได้ไหม
เป็นกระจกสะท้อนได้นิดหนึ่งได้ ถ้ากลับไปดูโฆษณาเก่าๆ 10-20 ปี จะเห็นหลายๆ อย่าง ทั้งฉากหรือมุกตลกคนอ้วนลื่นตกบันไดมันอาจจะตลก ล้อสีผิวได้ แต่ตอนนี้มันไม่ได้แล้ว
โฆษณาน่าจะสะท้อนทัศนคติบางอย่างได้ ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น จริงเหรอวะ เราว่าทุกคนมีคนรอบตัวที่พยายามชิบหาย work hard สัสๆ แต่ถ้าเขาไม่มีทรัพยากรและต้นทุนสังคมที่พอ มันก็จะอยู่ตรงนั้นแหละ มันต้องดูโครงสร้างว่ามันเอื้อให้คนคนหนึ่งที่แม้จะพยายามแค่ไหน มันไปไม่ถึงจุดที่เขาต้องการรึเปล่า
แล้วถ้าเปรียบโฆษณาตัวหนึ่งสะท้อนชีวิตคุณ โฆษณาเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
อาจจะเป็นโฆษณาแทนเด็กกลางๆ ห้องมั้ง เราเป็นเด็กที่ไม่ได้เก่ง ไม่ได้เด่น จะเป็นงานโฆษณาสาย happy loser ละกัน เพราะ at least it is happy มันจะมีโฆษณาหรือหนังที่บอกว่า ไม่ต้องไปถึงจุดที่แกคาดหวังก็ได้ แต่ชีวิตปัจจุบันก็พอโอเคดี บริษัทเราก็เล็กๆ ประมาณนี้ ถึงจะไม่ใช่บริษัทโฆษณาใหญ่ๆ แต่เราแฮปปี้มากเลยที่แต่ละงานออกมาแล้วมีน้ำหนักกับสังคมบ้างไม่มากก็น้อย
หากวันหนึ่งแบรนด์ที่ชื่อว่าประเทศไทยมาจ้างคุณทำโฆษณา คุณอยากเล่าเรื่องแบบไหน
มันต้องสื่อให้เห็นว่า จริงๆ เรามีความสามารถ “คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก” โคตรจริง อาจจะไม่ได้เก่งที่หนึ่ง แต่เก่งนะเว้ย เหมือนเราเกิดมา ถ้าเป็นเกมก็เหมือนเราเลือกด่าน hard มาตลอด และเรายอมรับด้วยว่า Hard is good แล้วถ้ามาเล่นด่าน easy กูว่าประเทศไทยแม่งปร๋อเลย
สำหรับคุณ หน้าที่ผู้กำกับโฆษณาคืออะไร
หนึ่งคือเล่าเรื่องและคอนเนกต์กับคน เอา message ที่เป็นโจทย์จากลูกค้ามาทำให้มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น แต่อีกประเด็นหนึ่งคือ ผู้กำกับไม่ได้ออกไปแค่กำกับหนังในวันถ่าย แต่ในงานโฆษณา ก่อนถ่าย เราจะตกลงกับลูกค้ายังไงให้เขามั่นใจและเชื่อในสิ่งที่เราคิด จนกระทั่งว่าผู้กำกับคือคนที่มีภาพในหัวว่า นักแสดงหน้าตาแบบนี้ ตึกโรงเรียนเป็นแบบนี้ ทำยังไงให้ได้แบบนั้นมา คุยกับลูกค้าให้เข้าใจตรงกัน
แพลนต่อไปในอนาคตจะมีทำ good human ไปอีกกี่ตอนหรือมีผลงานอื่นๆ อีกไหม
อยากเขียนหนังสือ ถ้าทันตุลาคมนี้จะมีหนังสือกึ่งๆ บันทึกชีวิต ที่เล่าชีวิตการทำงาน การเป็นผู้กำกับจวบจนอายุ 35 ว่าเป็นยังไงบ้าง แล้วก็เดี๋ยวทำ good human ครับ และรายการกวนส้นตีนๆ อีกเยอะเลย
ปีนี้เป็นปีที่ได้ทดลองทำหลายอย่าง ต้นปีนอกจาก แวน ธิติพงศ์ ที่ปล่อยไล่กันคือสติกเกอร์ไลน์คนเวรี่ตรง เราพยายามบอกตัวเองว่าเป็นนักเล่าเรื่อง แล้วเดี๋ยวลองหาดูว่าศาสตร์ไหน วิธีไหนมันเล่าเรื่อง เล่าไอเดียปนความกวนตีนของเราได้บ้าง ไม่แน่อาจจะทำเสื้อผ้าแบรนด์อะไรขายก็ได้ ถ้ารู้สึกว่าอยากเล่าอย่างนี้ว่ะ
และฝากติดตาม Salmon House มีโฆษณามาเรื่อยๆ แต่ที่อยากฝากให้ติดตามมากกว่าคือ สถานการณ์เหตุบ้านการเมืองครับ ฝากคนรุ่นใหม่ด้วย ผมจะเป็นอีกแรงเล็กๆ ในการผลักดัน แล้วเราจะไปด้วยกัน บ้านเมืองเราจะค่อยๆ ดีขึ้นอย่างมีความหวัง
Writer
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์
ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง
Photographer
ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า