สนทนากับ “อพาร์ตเมนต์คุณป้า” ว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ ชีวิต และการเติบโต
สนทนากับ “อพาร์ตเมนต์คุณป้า” ว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ ชีวิต และการเติบโต
- อพาร์ตเมนต์คุณป้ากลับมาพร้อมซิงเกิลใหม่ God of the Cold Land ที่ตั้งคำถามกับความเป็นไปรอบตัว ทั้งเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง รวมทั้งประเด็นเรื่องปัญญาประดิษฐ์ ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ไปแล้ว
- มนุษย์อาจเป็น “ปัญญาประดิษฐ์” ที่ถูกกำหนดด้วยระบบค่านิยมและบรรทัดฐานของสังคม ให้มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไปในสังคม ไม่ต่างจากปัญญาประดิษฐ์ที่มีอัลกอริทึมควบคุมการทำงานอยู่
- ในวัย 21 ปี ของอพาร์ตเมนต์คุณป้า ที่พวกเขากล่าวติดตลกว่าถ้าเป็นคนก็คงต้องไปเกณฑ์ทหาร หวังจะได้กลับมาทำเพลงที่ถนัด ความคาดหวังลดน้อยลงแต่ความสุขมากขึ้น และพวกเขาก็ยังจะตั้งคำถามกับสังคมและความเป็นไปของบ้านเมืองนี้ต่อไป
เดินทางมาถึงปีที่ 21 ปี “อพาร์ตเมนต์คุณป้า” วงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อคแอนด์โรลคุณภาพของเมืองไทย หากเปรียบเป็นมนุษย์คนหนึ่ง วันนี้อพาร์ตเมนต์คุณป้าก็คือเด็กหนุ่มที่เพิ่งจะ “บรรลุนิติภาวะ” เป็นผู้ใหญ่ที่ได้เรียนรู้โลกมาสักระยะ และกำลังตั้งคำถามกับความเป็นไปรอบตัว ทั้งเรื่องสังคม การเมือง และชีวิต ทว่า เวลา 21 ปีในวงการดนตรีของอพาร์ตเมนต์คุณป้า ส่งให้พวกเขากลายเป็น “รุ่นเก๋า” ที่ฝีมือแพรวพราว และอาจจะเป็น “เทพเจ้า” ของน้องใหม่ที่เพิ่งก้าวเข้ามาในวงการ
อพาร์ตเมนต์คุณป้ากลับมาอีกครั้ง หลังปล่อยเพลงโรคาภิวัตน์ ไปเมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้ต้องเบรคการผลิตงานเพลงในช่วงโรคระบาด และกลับมาพร้อมซิงเกิล สามัญ ที่เป็นเหมือนซีรีส์ภาคต่อ ที่ดำเนินเรื่องราวกับหนังไซไฟ ที่ซิงเกิลใหม่ล่าสุด God of The Cold Land ที่หยิบยกเอาเรื่องปัญญาประดิษฐ์มาเล่าผ่านดนตรีร็อคในแบบฉบับของวง ด้วยเหตุนี้ Mappa จึงแวะไปสนทนากับ ตุล ไวฑูรเกียรติ (ร้องนำ), ปั๊ม – ปิย์นาท โชติกเสถียร (กีตาร์) และ บอล – กันต์ รุจิรงค์ (กีตาร์) ถึงการเติบโตในวงการเพลงไทย ในวันที่ขวบวัยมากขึ้นและการใช้ชีวิตที่มีอัลกอริทึมชักนำ
เพลงแห่งการเติบโตของอพาร์ตเมนต์คุณป้า
กว่า 2 ทศวรรษที่อพาร์ตเมนต์คุณป้าโลดแล่นอยู่ในวงการเพลง พวกเขาสร้างผลงานดนตรีออกมาสู่หูคนฟังมากมาย ซึ่งเพลงเหล่านั้นก็ได้สอดแทรกความหมายและสะท้อนความคิดของพวกเขามาตลอด เราจึงเริ่มต้นด้วยการให้พวกเขาเลือก 5 เพลงที่สะท้อนการเติบโตของอพาร์ตเมนต์คุณป้ามากที่สุด
“เพลงแรกคือเพลงกำแพง มาจากอัลบั้มบางกอกเลิฟสตอรี เพราะมันเป็นเพลงที่ทำให้คนรู้จักเรามากที่สุด” ตุลเริ่มต้น
เพลงกำแพงถือเป็นเพลงแรกที่ทำให้คนฟังเพลงได้รู้จักชื่ออพาร์ตเมนต์คุณป้า และทำให้พวกเขาได้เข้ามีชื่อชิงรางวัลในสาขาต่าง ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ยังเป็นเพลงแรก ๆ ที่ได้ทำลายกำแพงค่ายเพลงและแนวดนตรี เนื่องจากเป็นเพลงที่มีหลายแนวดนตรีอยู่ในเพลงเดียวกัน ถือเป็นการตัดริบบิ้นเส้นทางในวงการเพลงให้กับพวกเขาได้อย่างดงาม
“เพลงที่สองมาจากอัลบั้มยัวร์เฟิร์สคิสส์ น่าจะเป็นเพลงด้วยน้ำลาย เพลงนี้เป็นเพลงที่เราเล่นบ่อย แล้วก็เป็นเพลงที่คนชอบ เพลงด้วยน้ำลาย จะพูดถึงเรื่องของคนที่ไม่แคร์คำวิพากษ์วิจารณ์ คือเมื่อก่อนในเว็บบอร์ดก็จะมีคนมาพูดว่าเขียนเพลงหรือร้องเพลงได้เหี้ยมากเลย เพลงอะไรวะเนี่ย หรือวงการเพลงไทยต้องพังแน่ถ้ามีวงแบบอพาร์ตเมนต์คุณป้าเยอะ ๆ (หัวเราะ) ถึงขนาดนั้นเลยนะ ด้วยความเป็นวัยรุ่น เราก็เลยทำเพลงนี้ตอบโต้ แล้วไปด่าเขากลับด้วยว่าเขาเป็นพวกปีศาจ คือเราก็ยังบ้า ๆ บอ ๆ มุทะลุกันอยู่”
ต่อมาคือเพลง “ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ” จากอัลบั้มโรแมนติกคอมเมดี ซึ่งถูกนำไปเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องสายลับจับบ้านเล็ก ก่อนจะกลายเป็นเพลงที่ส่งให้ชื่อของอพาร์ตเมนต์คุณป้าเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น จึงถือเป็นเพลงที่มีความสำคัญในแง่ของการเติบโตของวง
“ผมว่าวงเริ่มมานิ่งตอนอัลบั้มสมรสและภาระ เรามีเพลงสิ่งที่อยู่นอกใจ ซึ่งผมเชื่อว่าเพลงนี้ตอบโจทย์อะไรหลาย ๆ อย่างในฐานะของคนทำเพลง เป็นสิ่งที่พูดว่าคนเราที่แท้ก็มีความต่าง ทุกชีวิตจึงดูน่าสนใจ เพราะมันว่าสรุปทุกอย่าง มันทำให้เราได้เห็นและเริ่มเข้าใจแล้วว่า ไม่ใช่เราที่ถูกต้องเสมอไป ทุกคนมีความแตกต่าง และความแตกต่างนี่แหละที่เป็นเสน่ห์ของชีวิตมนุษย์หรือศิลปะ”
มนุษย์และปัญญาประดิษฐ์
มาถึงผลงานที่อพาร์ตเมนต์คุณป้ายกให้เป็นเพลงที่สะท้อนการเติบโตในขวบปีที่ 21 ของพวกเขาได้ดีที่สุด นั่นคือ 3 ซิงเกิลที่ถูกปล่อยออกมาใกล้ ๆ กันในช่วงปี 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งโรคาภิวัตน์ สามัญ และ God of the Cold Land ที่ตั้งคำถามกับความเป็นไปรอบตัว ทั้งเรื่องโรคระบาด สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง รวมทั้งประเด็นเรื่องปัญญาประดิษฐ์ ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ไปแล้ว โดยเพลงโรคาภิวัตน์ เป็นการเล่าเรื่องสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากเกิด “โรคระบาด” พร้อมสะท้อนบริบทของสิ่งรอบตัวในเมืองไทยได้อย่างคมคาย ขณะที่เพลงสามัญก็กลับมาตั้งคำถามกับตัวตนและคุณค่าของตัวเอง ในยุคที่มนุษย์ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก
“ต่อมาเป็นเพลง God of the Cold Land ที่มีมู้ดคล้ายกัน ด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง มันเป็นความกดดันของยุคสมัย โควิด-19 ทำให้เราต้องเจอกับคำว่า Disruption หลายสิ่งหลายอย่างก็มีเข้ามาในชีวิิตที่แตกต่างกันไป คนเริ่มใช้แอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ในชีวิต มีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาในชีวิต แอพสตรีมมิ่งที่มากำหนดรสนิยมการฟังเพลงของเรา ไปไหนก็ต้องเปิดแอพนำทาง ดังนั้น ปัญญาประดิษฐ์มันจึงเข้ามามีส่วน จนทำให้เราต้องมาตั้งคำถามกับตัวเอง ว่ามนุษย์คืออะไร เราคิดว่าเราวิเศษมากหรือเปล่า ก็เปล่า คือเราทุกคนก็เหมือนกับปัญญาประดิษฐ์ กว่าเราจะเป็นเราในวันนี้ มันไม่ได้เกิดจากเจตนารมย์ของเรา 100% เราก็รับเอาอัลกอริทึมมาเหมือนกัน หนังที่เราดู เพลงที่เราฟัง สิ่งที่ครูสอน มันคือ Big Data ที่เราเก็บมาประมวลผลทั้งนั้น”
“จริง ๆ ที่เราคิดว่าเรามีอิสระแล้ว อาจจะไม่ใช่ก็ได้ เราบอกว่าเราคือเจตจำนงค์เสรี เราเลือกทุกอย่างด้วยอิสระภาพ ก็อาจจะไม่ใช่ก็ได้ หรือบางทีคุณอาจจะถูกเขียนขึ้นมาให้เป็นแบบนี้ คุณอาจจะมีบทบาทที่ให้คุณมาแสดง”
เมื่อเปรียบเทียบ Big Data ที่อพาร์ตเมนต์คุณป้ากล่าวถึง กับระบบค่านิยมและบรรทัดฐานของสังคม ที่กำหนดบทบาทหน้าที่ให้กับคนในสังคม พวกเขาพยักหน้าและระบุว่านี่แหละที่ชี้ว่ามนุษย์ก็ไม่ต่างจากปัญญาประดิษฐ์ที่มีอัลกอริทึมควบคุมอยู่
“คุณเป็นลูก คุณต้องทำแบบนี้ คุณเป็นประชาชน คุณต้องทำแบบนี้ คุณเป็นพุทธศาสนิกชน คุณต้องทำตัวแบบนี้ ทุกอย่างเป็นได้หมด อย่างเราโตขึ้น เราจะทำอะไรหนึ่งอย่าง เราจะตั้งใจทำอะไร มันก็มาจากข้อมูลที่เรารับมาตั้งแต่เด็ก แล้วบางครั้งเราอาจจะไม่รู้ตัว เป็นปมในวัยเด็ก สิ่งที่มันเป็นบาดแผลในใจ หรือจิตใต้สำนึก”
ดนตรี เทคโนโลยี และชีวิต
ในฐานะของวงดนตรีที่อยู่ในวงการมานานกว่า 20 ปี อพาร์ตเมนต์คุณป้ามองว่า “เทคโนโลยี” ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงซีนดนตรีเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่แอพพลิเคชันสตรีมมิ่ง ที่ทำให้วงการดนตรีเปิดกว้างหลากหลายมากขึ้น จนกลายเป็นไม่มีพรมแดนของประเทศ และเพลงหนึ่งเพลงก็สามารถเข้าไปอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วโลก
“ภาษาไม่ใช่กำแพงอีกต่อไป คุณจะทำเพลงภาษาอะไรก็ได้ มันมีคนฟัง เหมือนกับว่าทุกคนมีสิทธิ์หาคนฟังเพลงของตัวเองเจอ ไม่ว่าจะกลุ่มเล็กหรือใหญ่ อาจจะมีคนฟัง 20 คน แต่คุณหาเขาเจอแน่นอน ตรงนี้มันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนโลกไปเยอะเหมือนกัน”
แน่นอนว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้การหาข้อมูลศิลปินทำได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีตมาก แต่พวกเขาก็สะท้อนเรื่อง “มาเร็วไปเร็ว” เพลงถูกใจมาก แต่กลับไปหาชื่อศิลปินหรือชื่อเพลงไม่ได้แล้ว เพราะในโลกที่ท่วมท้นด้วยข้อมูล การจะมุ่งไปหาข้อมูลเฉพาะบางอย่างก็กลายเป็นเรื่องยากได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม แค่เรื่องการฟังเพลงและอัลกอริทึมเลือกเพลงที่ถูกใจ ก็เปรียบเสมือน “สิ่งควบคุม” มนุษย์ในปัจจุบันแล้ว
“มันก็เหมือนประเด็นเรื่องปัญญาประดิษฐ์ที่คุยกันไป ที่ว่าแอพสตรีมมิ่งมันมากำหนดรสนิยมการฟังเพลงของเรา มันไม่ต้องเป็นอะไรที่แอดวานซ์เลยนะ แค่อัลกอริทึมเลือกเพลงให้เรา มันก็ควบคุมรสนิยมเราได้แล้ว เพราะพอเราฟังเพลงแบบนี้ มันก็จะนำทางให้เราไปทางนี้ คนแบบนี้จะถูกชี้นำให้เป็นแบบนี้ มันทำให้เราไม่ได้ไปเจอดนตรีนอกกรอบ”
“หรือแอพพลิเคชันดูหนัง หนังเรื่องเดียวกัน แต่คนละปก เขารู้เลยว่าคุณชอบพระเอกหรือนางเอก เขารู้ขนาดที่ว่า เวลาเล่นโทรศัพท์เรามักจะหยุดสายตาอยู่ที่ใคร มันบันทึกเอาไว้ แล้วก็รู้ว่าชอบดูแบบนี้ ไม่ต้องกดไลก์ก็ได้ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามันจะเข้ามาอยู่ในแง่มุมหนึ่งของชีวิต แล้วตอนนี้มีแอพวาดรูป แอพเขียนหนังสือ หรืออาจจะมีแอพเขียนเพลง พอทุกสิ่งมันเข้ามาแบบนี้ เราก็ต้องมาตั้งคำถามว่าชีวิตในอนาคต จะเหลืออะไรให้เราทำบ้าง”
21 ปีของการเติบโตและอนาคตที่ไม่ต้องรอดู
จากบทเพลงที่สะท้อนให้เห็นการตั้งคำถามกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และบทบาทของ AI ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คล้ายกับว่าอพาร์ตเมนต์คุณป้ามีความเข้าใจในสัจธรรมของชีวิตมากขึ้น พวกเขาหัวเราะร่า ก่อนบอกเราว่าพวกเขาไม่เข้าใจมันเลยสักนิด
“ไม่ใช่ว่าเราเข้าใจอะไรมากมายหรอก มันคือการตั้งคำถามไปเรื่อย ๆ ไม่มีใครรู้อนาคต เราก็เหมือนกัน เราก็เฝ้าดูอนาคต แล้วก็เล่าออกมาว่ามันมีแบบนี้อยู่นะ แล้วคนฟังเพลงของเราก็ไม่ต้องคิดเหมือนเรานะ ไปตีความกันเอาเอง เพลงของอพาร์ตเมนต์คุณป้าปลายเปิดมาก ๆ สามารถนำไปประกอบอะไรก็ได้ที่จะพอใจ บางครั้งทีคนมาถามว่า เขาฟังเพลงนี้แล้วคิดแบบนี้ เขาคิดถูกไหม ผมก็จะบอกเลยว่าอย่าให้ผมอธิบายดีกว่า เผื่อมุมของผมมันจะทำให้ความรู้สึกของคุณเปลี่ยน เก็บไว้เถอะครับ”
“วงของเราวางแผนกันน้อยมาก เอาเข้าจริง ๆ เรามานั่งวิเคราะห์กันทีหลัง บางทีที่เราเห็นว่าทุกอย่างเป็นแบบนี้ เราต้องมองย้อน ว่าที่เราคิดแบบนี้ เพราะตอนนั้นมันเป็นแบบนี้ไง เรารู้ว่าทำไมอัลบั้มนี้ถึงเป็นแบบนี้ ก็เพราะชีวิตตอนนั้นมันพาให้เป็น อย่างชุดแรกเราดุเดือด มุทะลุมาก แต่กลาง ๆ เราก็นุ่มนวลลง แล้วก็ค่อยกลับมามีเอเนอร์จี้ ชีวิตคนเรามันต่างกัน มันเป็นไป อย่างตอนนี้หลังจากเกิดโควิด-19 ทุกคนมีหน้าที่การงาน อพาร์ตเมนต์คุณป้าก็เหมือนจุดรวมใจ เราไม่ได้คิดเรื่องต้องได้เงินเยอะ ๆ แล้ว คือได้ก็ดีแหละ แต่สุดท้ายมันคือการกลับมาทำเพลงที่ถนัด แล้วก็พอใจ ความคาดหวังน้อยลงเยอะ แต่ความสุขมากขึ้น” ตุลกล่าวสรุป
ในวัย 21 ปีของอพาร์ตเมนต์คุณป้า ที่พวกเขากล่าวติดตลกว่าถ้าเป็นคนก็คงต้องไปเกณฑ์ทหาร ก็ยังเป็นช่วงวัยที่นักดนตรีกลุ่มนี้จะยังตั้งคำถามกับสังคมและความเป็นไปของบ้านเมืองนี้ เพราะอย่างที่พวกเขากล่าวไปก่อนหน้าว่า “ไม่มีใครล่วงรู้อนาคต”
ไม่แน่ว่าในช่วงการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง เราอาจจะได้ฟังเพลงใหม่ของอพาร์ตเมนต์คุณป้าก็ได้
Writer
ณัฐฐฐิติ คำมูล
วัยรุ่นปวดหลังที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง
Photographer
ฉัตรมงคล รักราช
ช่างภาพ และนักหัดเขียน
illustrator
ลักษิกา บรรพพงศ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรีส์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเป็นทาสแมว