ผืนผ้า คุณย่า คุณทวด และความทรงจำในประวัติศาสตร์ไม่อาจลืม คุยกับ ยัสมิน โต๊ะมีนา ทายาทรุ่นที่ 4 ของหะยีสุหลง เมื่อ ‘ผู้หญิง’ ก็ทำหน้าที่และต่อสู้อยู่เช่นกัน

ผืนผ้า คุณย่า คุณทวด และความทรงจำในประวัติศาสตร์ไม่อาจลืม คุยกับ ยัสมิน โต๊ะมีนา ทายาทรุ่นที่ 4 ของหะยีสุหลง เมื่อ ‘ผู้หญิง’ ก็ทำหน้าที่และต่อสู้อยู่เช่นกัน

ปลายสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา พวกเราเดินทางไปยังดินแดน ‘ปัตตานี’ เพื่อร่วมงาน Pattani Decode งานที่ก่อร่างขึ้นจากคนในพื้นที่อย่างกลุ่ม Melayu Living ที่อยากสร้างสรรค์และนำเสนอหลากด้านซึ่งซุกซ่อนอยู่ข้างในพื้นที่ออกมาสื่อสารในรูปแบบต่างๆ และดำเนินการต่อเนื่องมาได้ถึงปีที่ 3 ในปีนี้ นับว่าเป็นงานสำคัญของคนปัตตานีที่ยืนหยัดอยู่ได้อย่างแข็งแรงมากขึ้นในทุกปีด้วยการริเริ่มจากสองมือสองขาของผู้คนในพื้นที่เอง ขนานกันไปในช่วงเวลาที่พวกเราเดินทางอยู่ที่นี่หลายวัน ในหลายพื้นที่ของปัตตานีก็มีเทศกาลศิลปะในชื่อว่า Kenduri Seni Patani ซึ่งรวบรวมงานศิลปะที่ชวนถกถามกับสังคมและโลกที่เรามีลมหายใจร่วมกันนี้ได้อย่างทรงพลัง 

นอกจากนั้นพวกเราก็ได้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ ‘มัสยิดกรือเซะ’ ที่ผนังเต็มไปด้วยร่องรอยของเขม่าสีดำเป็นจุดวงกลมกระจายอยู่รอบๆ ฝังแน่นย้ำเตือนว่าบาดแผลเหล่านั้นยังคงปรากฏไม่หายไปไหนจากเหตุการณ์กรือเซะในปี พ.ศ. 2547 และในห้วงเวลาเดียวกันเมื่อนับจากเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567 ที่พวกเรายืนอยู่ที่ปัตตานีในวันนั้น ก็นับว่าอีกเพียงไม่ถึง 2 เดือนที่ ‘คดีตากใบ’ ใกล้จะหมดอายุความลง(และหากนับจากวันที่เผยแพร่บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ก็คงอีกเพียงไม่กี่วัน-ไม่กี่ชั่วโมง-ไม่กี่นาที) โดยกว่า 20 ปีที่ผ่านมาความยุติธรรมต่อผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เหล่านั้นยังคงพร่าเลือนไม่ปรากฏ 

ในเส้นทางทั้งหมดของการเดินทางมาปัตตานีครั้งนี้ พวกเรายังได้พบเจอและพูดคุยกับผู้คนในพื้นที่หลายคนที่ทำให้ได้ทำความรู้จักกับดินแดนแห่งนี้ในแง่มุมต่างๆ ผ่านเรื่องบอกเล่าของพวกเขาเหล่านั้น และหนึ่งในนั้นคือ ผู้หญิงสายตาแน่วแน่ในชุดมลายูคนนี้ ซึ่งรอพูดคุยกับพวกเราใน ‘บ้านไม้หลังหนึ่ง’

เธอมีนามว่า ‘ยัสมิน โต๊ะมีนา’ นับเป็นหนึ่งในทายาทรุ่นที่ 4 ของ ‘หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์’ บุคคลในประวัติศาสตร์ปัตตานีผู้มักได้รับการกล่าวขานถึงในฐานะนักสู้และนักขับเคลื่อนสังคมเพื่อคนมลายูมุสลิมชายแดนใต้คนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

“สิ่งที่ หะยีสุหลง เรียกร้องตั้งแต่ 60 -70 ปีก่อน มันก้าวหน้ามากในยุคนั้นในหลายประเด็น ซึ่งรัฐบาลไทยมองว่าเป็น ‘กบฏ’ ก็เลยโดนจับข้อหากบฏ 4 ปี พอพ้นโทษมากลับกลายเป็นว่าไม่ได้ผิดข้อหากบฏ แต่ตัดสินว่าผิดข้อหาหมิ่นรัฐบาล ต่อมาหลังจากช่วงนั้น หะยีสุหลงก็ถูกเชิญตัวไปสันติบาลที่สงขลา ตอนนั้นเป็นช่วงพ้นข้อหาแล้ว ด้วยความที่ท่านรู้ว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิดก็เลยไป ซึ่งไปกัน 4 คน มีลูกชายคนโตไปด้วย เพราะหะยีสุหลงเขียนไทยไม่ได้ก็เลยพาลูกไปเป็นล่าม และมีผู้นำศาสนาอีก 2 ท่านไปด้วยกัน”

หลังจากนั้นพวกเขาก็หายสาบสูญ

 “ภรรยาของหะยีสุหลงก็ได้ไปตามหาที่สงขลาด้วยตัวเอง หลังจากที่หะยีสุหลงไม่กลับบ้านมา 2 วัน ตอนนั้นไม่ได้ความอะไรเลย จนที่บ้านสืบไปสืบมาจึงได้รู้ จากตอนแรกสอบถามจากคนในชุมชนก่อน มีคนรับสารภาพว่า ตำรวจจ้างให้เขาเป็นคนเอาศพไปทิ้ง ศพ 4 ก้อนโดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือครูของพวกเรา แต่กว่าที่บ้านจะได้ค้นหาศพก็เป็นระยะเวลา 2 ปีหลังจากนั้นแล้ว คือคุณปู่(ลูกชายคนที่สอง)เข้าไปเป็น ส.ส. เราถึงได้มีการเรียกร้องในสภา แล้วก็ขึ้นกระบวนการศาลเลย ตำรวจสารภาพวิธีการฆ่าทุกขั้นตอน วิธีการฆ่าคือการฆ่ารัดคอทีละคน แล้วคว้านท้องยัดซีเมนต์ แต่ว่าไม่เจอศพหะยีสุหลง เพราะว่าทิ้งในน้ำทะเลลึก”  

ยัสมินตั้งต้นเล่าเรื่องราวผ่านความทรงจำอันเจ็บปวดของครอบครัวที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงเธอ ในขณะที่เรานั่งคุยกันภายในบ้านไม้หลังนั้น

‘บ้าน’ ที่เธอเล่าว่า “ครั้งหนึ่งเคยเป็นบ้านอยู่อาศัย เป็นพื้นที่ของครอบครัว”  

‘บ้าน’ ซึ่งในวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2497 หะยีสุหลงและอาหมัด โต๊ะมีนา(ลูกชายคนโตของเขา)ไม่เคยได้กลับมาอีกเลย 

“หลังจากช่วงเวลานั้น บ้านเราโดนเพ่งเล็งตลอด ไม่ว่าใครจะเข้ามาในบ้านก็คือจะโดนมองว่าเกี่ยวข้องอะไรหรือไม่ ตำราของหะยีสุหลง และรูปภาพก็ไม่เหลือเลย เหลือแค่รูปหน้าตรงรูปนี้ อย่างอื่นก็โดนค้นและยึดไปหมด”

 60-70 ปีผ่านไป บ้านไม้หลังนี้ติดป้ายด้านหน้าว่า ‘ศูนย์การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ปราชญ์ท้องถิ่น มูลนิธิฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา’ ปรับปรุงโดยลูกหลานของหะยีสุหลง เพื่อเป็นหนึ่งในพื้นที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ปาตานียุคใหม่  

ทั้งนี้ยัสมินยังชี้ให้เห็นว่าการต่อสู้ของหะยีสุหลง มาจนถึงรุ่นปู่ และรุ่นต่อๆ มาของครอบครัวเธอ ไม่อาจละลืมการกล่าวถึง ‘ผู้หญิง’ ซึ่งมีส่วนสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันในการทำหน้าที่และต่อสู้ร่วมกันไปกับครอบครัว  

“ผ้าผืนนี้คุณย่ายังไม่ได้ใช้เลย  ยังไม่ได้เย็บแบบปิดตาย เมื่อก่อนแกชอบแต่งตัว ด้วยความที่เป็นลูกพ่อค้า และเมื่อก่อนทางโก-ลกกับมาเลย์เป็นเหมือนพี่น้องกันในตอนที่ยังไม่ได้แบ่งประเทศ แล้วแกก็จะย้ายไปอยู่ตามพ่อแม่จะเป็นฝั่งมาเลย์ พอทางฝั่งนู้นน้ำท่วมก็ย้ายมาโก-ลก แกเป็นลูกพ่อค้าก็เลยชอบค้าขาย กระทั่งต่อมาแต่งงานเป็นสะใภ้บ้านนี้”

ยัสมินหยิบผ้าโสร่งผืนสีแดงที่ตกทอดจากคุณย่ามาถึงเธอขึ้นมา แล้วเล่าถึงความเป็นมาเป็นไปของคุณย่าก่อนจะมาเป็นสะใภ้ของหะยีสุหลง เธอยังบอกเล่าให้เราฟังว่าการเติบโตมาเป็นผู้หญิงในครอบครัวนี้ ทำให้เธอเห็นบทบาทของผู้หญิงในการขับเคลื่อน ทำหน้าที่ และต่อสู้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้ชายเลย 

“เราคุ้นเคยกับการที่ผู้หญิงกับผู้ชายที่บ้านเราไม่มีใครเหนือกว่าใครอย่างชัดเจน  เพราะว่าครอบครัวเราเติบโตมาแบบที่ผู้หญิงมีบทบาท เราทำงานได้ เราออกไปเที่ยวได้ เราไปงานสังคมได้ เราแต่งตัวได้ เราไปไหนได้หมด”

การเติบโตมาในครอบครัวนี้ทำให้คุณเห็นบทบาทผู้หญิงในแง่มุมไหนบ้าง 

เราเห็นว่าไม่ใช่แค่ผู้ชายทำหน้าที่และต่อสู้เท่านั้น แต่ผู้หญิงก็ทำหน้าที่และต่อสู้เช่นกัน เพียงแค่ผู้หญิงมักไม่ถูกบันทึกเท่านั้น หลังจากที่ ‘หะยีสุหลง’ จากไป ทางการจะสร้างอนุสรณ์หลังหนึ่ง แล้วมาขอกับคุณทวด(ภรรยาของหะยีสุหลง) คุณทวดท่านหนักแน่นมาก ‘เราไม่เอาสิ่งก่อสร้างอนุสรณ์ เราขอแค่ความยุติธรรมให้สามีกับลูกชายที่หายไป’ นี่คือคำพูดของคุณทวด แล้วทุกวันแกจะมานั่งรอสามีกับลูกชายที่หน้าบ้าน นี่ก็คือการต่อสู้ที่เข้มแข็งมากอย่างหนึ่ง

นอกจากนี้ตลอดมา ทั้งคุณทวด คุณย่า และผู้หญิงในบ้านก็จะเป็น ‘คนสำคัญ’ ที่คอยเชื่อมโยงครอบครัวกับเครือญาติมาโดยตลอด จะเป็นคนไปพูดไปสื่อสาร สานสัมพันธ์ เพราะศาสนาอิสลามสอนว่า ความสำคัญของชีวิตบนโลกนี้ คือการไปมาหาสู่กับเครือญาติ นั่นคือการขับเคลื่อนจากผู้หญิง

หรืออย่างคุณย่าของเราเอง ช่วงเวลาหลังจากที่หะยีสุหลงสูญหาย ต่อมาคุณปู่ของเราคือ หะยีอามีน โต๊ะมีนา บุตรชายคนที่สองของหะยีสุหลง ท่านได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นคณะกรรมการอิสลามต่อ แล้วก็โดนจับ เข้าคุกเหมือนกันเลย พอคุณปู่เข้าเรือนจำนครศรีธรรมราช คุณย่าที่คลอดลูกเล็กก็ไปดูแลสามีที่เรือนจำ ในขณะที่มีลูกก็จะต้องฝากคนที่นี่  ไปๆ มาๆ นครศรีธรรมราช-ปัตตานี แล้วคุณปู่ก็ย้ายไปเรือนจำบางขวาง คุณย่าก็ตามไปส่งข้าวส่งน้ำเสมอในขณะที่อุ้มท้องคุณน้าของเราอยู่อีกคน 

เหมือนคอยเคียงข้างอยู่ในทุกสถานการณ์

ใช่ ตั้งแต่เราจำความได้ คุณย่าเป็นคู่ชีวิตที่ยังอยู่ด้วยกันกับคุณปู่ตลอด คุณย่าตามไปกรุงเทพฯ พอคุณปู่ออกมาจากเรือนจำก็มาเป็นสมาชิกเทศบาล ยังทำงานการเมืองขับเคลื่อนปัตตานีอยู่เหมือนเดิม แล้วช่วงนั้น คุณเด่น โต๊ะมีนาก็เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ทางบ้านเราก็ได้ทราบข่าวว่าจะมีการสั่งเก็บอีกแล้ว มันก็มีประเด็นอย่างนี้มาเรื่อยๆ ในพื้นที่สามจังหวัดฯ มันไม่ใช่เรื่องแค่ปี พ.ศ. 2547 แต่มันมีความไม่เข้าใจกัน มีการที่ประชาชนโดนกระทำมาตั้งแต่ยุคก่อนแล้ว 

ตอนที่คุณปู่ได้ข่าวมาว่า คุณปู่อยู่ในแบล็กลิสต์ที่จะโดนเก็บ ที่บ้านก็มาประชุมกันว่าเราจะอยู่สู้ไหมในเมื่อเราไม่ได้ผิด แต่ว่าเหมือนตอนนั้นที่บ้านก็คุยกันว่ามีบทเรียนจากเรื่องหะยีสุหลง และลูกชายคนโตที่หายไป คุณปู่ของเราเลยตัดสินใจทิ้งทุกอย่าง ไม่เอาข้าวของอะไรไปเลย เอากระเป๋าเสื้อผ้าใบเดียวไปมาเลย์ และแน่นอนว่าไปพร้อมกับคุณย่า ส่วนคุณพ่อของเราก็อยู่ปากีสถาน เรียนปริญญาโทอยู่ พอรู้ว่าคุณปู่จะลี้ภัยคุณพ่อก็รีบบินกลับมาเลย

ความรู้สึกตอนนั้นของเราเป็นอย่างไรบ้าง

สถานการณ์ตอนนั้นทำให้เรารู้ตั้งแต่เด็กเลยว่า ทำไมปู่ไม่ได้กลับบ้าน เรารู้ว่าเรามีบาดแผลกับรัฐราชการไทย แล้วมีบาดแผลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ คนในเครื่องแบบ เพราะว่าบ้านเราโดนกระทำ ไม่ใช่ว่าเราต่อต้านหรืออะไรเลย แต่มันเป็นบทเรียนที่เราเจอมา แม้กระทั่งลี้ภัยไปมาเลย์แล้ว ยังโดนเจ้าหน้าที่ตามขึ้นไปบนบ้าน จนคุณปู่ต้องลี้ภัยไปสวีเดนต่อ พอไปอยู่สวีเดนก็มีรัฐบาลไทยไปตามตัวให้กลับถึงที่นั่นอีก แต่ดีที่รัฐบาลสวีเดนคุ้มครอง     

พอแก่ตัวคุณปู่กลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่มาเลย์ คุณปู่เป็นผู้ชายที่ใจดี เป็นผู้ใหญ่ที่ใจดี เราไปนั่งตักได้ตลอด ตั้งแต่เราเกิดจนคุณปู่เกษียณตอนเราอายุประมาณ 13 ปี ปู่ก็ชวนให้ไปอยู่ด้วยที่มาเลย์ แต่ว่าท่านเสียชีวิตก่อน ชีวิตวัยเด็กเราจะไปหาคุณปู่ทุกสัปดาห์ พอช่วงปิดเทอมยิ่งเป็นช่วงที่รอคอย เพราะจะได้ไปอยู่ที่นั่นยาวๆ แกจะอยู่ที่กันตัง คุณย่าก็คือจะอยู่ด้วยกันตลอด ส่วนการไปอยู่มาเลย์นั้น ไม่ได้สบายเลย เพราะมันไม่ใช่บ้านเรา บอกเลยว่าเราเข้าใจคนที่โดนคดีลี้ภัยแล้วไม่ได้กลับบ้าน อย่างปู่เราแม้กระทั่งปัตตานีใกล้แค่นี้ (300 กิโลเมตร) พอมีกฎหมายเส้นแบ่งเขตแดน การจะกลับมาที่ที่เราเรียกว่า ‘บ้าน’ ก็ไม่ง่าย ปู่ไม่ได้กลับบ้านมาอีกเลยจนวาระสุดท้ายของชีวิต

จากเรื่องราวประวัติศาสตร์ของครอบครัวที่รับรู้มาและได้สัมผัสด้วยตัวเองตั้งแต่จำความได้ ส่งผลต่อความสนใจในประเด็นสังคมการเมืองของคุณไหม 

ใช่ อย่างที่บอกว่า เรารู้ตั้งแต่เด็กเลยว่าบ้านเรามีบาดแผลกับรัฐ แล้วพอถึงยุคเราที่เราได้เจอเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2547 ตอนนั้นเราอายุ 14 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (เรียนเร็วหนึ่งปี) เรายืนมองทุกอย่างเป็นไปที่ระเบียงโรงเรียน ระเบิดครั้งแรกๆ ใกล้บ้านเรามาก ตูมแรงมาก มากจนบ้านสั่น แรงเหมือนที่เรานึกว่าไฟชอร์ตบ้านอย่างนั้นเลย พอรับรู้ว่ามันคือ ‘ระเบิด’ นั่นเป็นครั้งแรก(วันที่ 4 มกราคม 2547) ที่รับรู้ว่ามีคนตายจากระเบิด และรู้สึกว่าเกิดความไม่ปกติที่บ้านเราแล้ว 

จนกระทั่งในปีเดียวกัน วันที่ 28 เมษายน 2547 ก็เกิดเหตุการณ์ยิงถล่มที่มัสยิดกรือเซะ มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เพื่อนหลายคนไม่มาเรียน เรายืนมองบรรยากาศโดยรอบที่ระเบียงหน้าห้องเรียนกับเสียงออดที่ดังขึ้นพร้อมกับเสียง‘ไม่ยอมให้ใครมาทำร้ายเธอ เป็นไปได้ไง(แม้ตายก็ต้องยอม) รักเธอประเทศไทย..’ (เพลงรักเธอประเทศไทย) นี่คือวิธีที่รัฐไทยเลือกใช้ เช่นเดียวกับวิธีการเดิมๆ นั่นคือการกลบความจริงและพยายามหลอกคนมลายู ไม่ต่างจากการจัดการปัญหาในอดีต

และต่อมาก็มีเหตุการณ์ตากใบต่ออีกในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 สิ่งที่เราคิดตอนนั้นคือ แล้วภาพปัตตานีที่เราฝันล่ะ เพราะก่อนหน้านี้มันมีวิวัฒนาการนะ พ่อแม่จากที่เขาไม่มีเงิน เขาส่งลูกเขาเรียนจนพอมาตอนนั้นพ่อแม่เริ่มตั้งตัวได้ พ่อแม่ส่งลูกเรียนหนังสือแล้วมีการศึกษา พอเจอสถานการณ์ตอนนั้น เราก็แบบ อ้าว…แล้วอนาคตเด็กพวกนี้จะเป็นยังไง อนาคตเราจะอยู่ตรงไหน คือเรารู้เลยว่าถ้ามันเกิดขึ้นแล้วมันไม่จบง่ายๆ แม้ว่าเราจะเฝ้ารอตลอดว่ามันจะจบลงเมื่อไรก็ตาม

ยิ่งด้วยความที่เราเป็นคนในยุคที่เห็นระหว่าง ‘การมีป้อมด่าน’ กับ ‘ไม่มีป้อมด่าน’ และ ‘การไม่มีทหาร’ กับ ‘การมีทหาร’ ซึ่งพูดแล้วเศร้า  

จำได้ว่าตอนนั้นตำรวจมาตั้งด่านหน้าบ้านเราด้วย แล้วเราก็ออกไปเลย ‘ทำไมมาตั้งตรงนี้ ขออนุญาตใคร’ ซึ่งเราเป็นผู้หญิง แม่ก็มีเตือนเราบ้าง แต่เราเห็นแบบนั้น เราทนไม่ได้ ก็เลยเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ตั้งด่าน เขาบอกว่าเขาทำอะไรไม่ได้ ต้องไปคุยกับเจ้าหน้าที่ที่โรงพัก ตอนนั้นเราถึงขั้นขี่มอเตอร์ไซค์ไปโรงพักเลย แล้วเจ้าหน้าที่ถึงบอกว่าจะคุยให้ 

แล้วคุณเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมืองมาตั้งแต่นั้นเลยไหม

ใช่ๆ แต่น่าจะเริ่มจริงจังตั้งแต่ช่วงมหาวิทยาลัย ตอนปี 4 เป็นช่วงเสื้อแดงพอดี เราก็ไปนะ แม้ว่าจะเรียนที่ปัตตานี แต่พอปิดเทอมหรือว่าไปฝึกงาน เราก็จะอยู่กรุงเทพฯ แล้วไปร่วมตลอด อาจเพราะเราเรียนรัฐศาสตร์ด้วยก็เลยรู้สึกว่าระบบการเรียกร้องที่มันถูกต้อง มันไม่ใช่วิธีการที่ผิด การจัดม็อบไม่ใช่เรื่องที่สังคมควรตีตราว่าเป็นสิ่งเลวร้าย มันคือการแสดงออกอย่างหนึ่ง อันนี้โดยพื้นฐานก็คือเรารู้อยู่แล้ว แต่ว่าภาพจำของคนบางกลุ่มทำให้มุมมองของม็อบเป็นผู้ที่ก่อเหตุความรุนแรง ซึ่งไม่ใช่เลย มันคือการแสดงออกบางอย่างเฉยๆ โดยที่ไม่ได้มีความรุนแรงมาเกี่ยวข้องเลย 

นอกจากนี้ก็มีจัดกิจกรรมต่างๆ ด้วย มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราไปเป็น ‘แกนนำไล่ลุง’ ก็โดนคุกคาม โดนดักเสียงโทรศัพท์ โดนตาม คือด้วยความที่รัฐบาลนั้นรัฐประหารเข้ามา แล้วทำให้มีทหารปกครอง เรารู้สึกว่ายังจะเอาทหารมาเป็นรัฐบาลอีกหรือ เพราะเรารู้ได้เลยในฐานะคนสามจังหวัดฯ ที่มีทหารคุมมานานแล้วว่ามันเป็นอย่างไร  

คุณรับรู้เรื่องบาดแผลของครอบครัวกับรัฐมาโดยตลอด ตอนที่คุณออกไปเคลื่อนไหวประเด็นการเมือง ทำให้รู้สึกกลัวบ้างไหม

ตอนที่เป็นวัยรุ่นไม่ได้กลัวเลย แต่พอถึงจุดหนึ่งเราก็นึกถึงครอบครัวเหมือนกัน อย่างตอนที่จัดม็อบแล้วโดนคุกคาม ตอนนั้นเราก็นึกถึงครอบครัว พ่อถึงกับต้องบอกว่าพอไหม คือเราเห็นเรื่องแบบนี้ตั้งแต่บรรพบุรุษเรา  

การเป็นผู้หญิงแล้วลุกขึ้นมาขับเคลื่อนสังคมการเมืองเป็นเรื่องยากไหม หรือมีความท้าทายอย่างไร 

ยาก อย่างช่วงวันก่อนๆ เราไปพูดบนเวทีเสวนาหนึ่ง แล้วเขามีบอร์ดให้แสดงความเห็นต่อประเด็นที่ว่า คุณเห็นด้วยที่ผู้หญิงจะเป็นผู้นำทางการเมืองหรือไม่’ มันมีคนติดว่า ‘ไม่เห็นด้วย’ เราก็ได้แต่ถามในใจ คือเราไม่ได้จะไปตัดสินเขาว่าการไม่เห็นด้วยมันผิด แค่อยากรู้ในมุมของเขาว่า ‘ทำไมผู้หญิงถึงมาเป็นผู้นำไม่ได้  ทำไมผู้หญิงมาทำงานทางการเมืองไม่ได้’  

เพราะว่าเราเติบโตมาในแบบที่ผู้หญิงกับผู้ชายได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน สิ่งที่เราเห็นมาตลอดก็คือคุณทวด คุณย่า คุณแม่ ผู้หญิงในบ้านมีบทบาทในการขับเคลื่อนครอบครัวและสิ่งต่างๆ ไม่น้อยไปกว่ากัน 

มันจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เหมือนกับว่าผู้หญิงต้องเรียกร้องกลุ่มสตรี ซึ่งเราก็คิดว่าทำไมต้องเรียกร้องเฉพาะกลุ่ม ตอนนั้นมันก็เกิดคำถามกับเรา แต่เราก็ต้องเข้าใจ บางเรื่องสิทธิของผู้หญิงในร่างกฎหมายมันมาช้ากว่าผู้ชายจริงๆ เพราะว่าแม้กระทั่งการเลือกตั้ง ผู้หญิงยังเลือกได้หลังผู้ชาย แม้กระทั่งประเทศแรกที่มีการเลือกตั้งก็ให้สิทธิผู้ชายเลือกตั้งก่อน แม้กระทั่งสิทธิพวกนี้ผู้หญิงยังตามหลังผู้ชาย กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับแรกของพวกเรา ผู้ร่างทั้งหมดทั้งคณะก็มีแต่ผู้ชาย ก็เป็นหลายประเด็นที่น่าตั้งคำถาม 

หลายเหตุการณ์ในความทรงจำและบาดแผลที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตรงนี้ ในวันนี้ทำไมคุณถึงยังยืนยันที่จะยังใช้ชีวิตอยู่ที่ปัตตานี

เอาจริงๆ ตอนอายุ 20 ปี เราเคยคิดว่าถ้าอนาคตเรามีลูก ลูกเราต้องโตมาเห็นตำรวจทหารถือปืนในทุกๆ วันแบบนี้หรือ แค่คิดภาพก็ไม่อยากให้ลูกอยู่ที่นี่แล้ว แต่พอกลับมาถามตัวเองว่า ทำไมยังอยู่ที่ปัตตานี ก็ได้คำตอบว่า เพราะที่นี่เป็นบ้านของเรา สิ่งที่คิดได้ก็คือเราจะต้องอยู่กับมัน  

คือเราเคยมีความคิดอยากย้ายไปอยู่ประเทศอื่นด้วยนะ แต่ช่วยยกแผ่นดินปัตตานีไปด้วยได้ไหม คือเราก็รักบ้านของเรา มันเป็นความก้ำกึ่งในใจ บอกตรงๆ เลยว่า เราไม่ได้พูดในแบบ ‘ฉันรักบ้านเกิด ฉันไม่ไปไหน’ ไม่ใช่ มันคือความคับแค้นที่ไปได้ฉันไปแล้ว แต่ว่าเราทิ้งบ้านเราไม่ได้เหมือนกัน

ปัตตานีวันนี้ต่างออกไปจาก 20 ปีที่แล้วไหม  

จะบอกว่าบรรยากาศที่นี่ช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา หลังเวลา 20.00 น. เงียบมาก ไม่มีนักท่องเที่ยวมาเกือบ 20 ปี ไม่มีคนมาเลย์เข้ามาเที่ยวเลย ไม่ใช่แบบทุกวันนี้ แต่ถ้าถามว่านี่คือสิ่งที่รัฐจัดการให้หรือ ก็ต้องบอกว่า ‘ไม่ใช่’ แต่เพราะพอหลังโควิดมา วัยรุ่นอยู่กรุงเทพฯ ไม่ได้งาน ไปมาเลย์ก็ค่าเงินตก ส่วนหนึ่งก็กลับมาพัฒนาบ้านเรา พวกเขาเริ่มเปิดคาเฟ่ เริ่มสร้างบรรยากาศ คือพวกเราอยู่ด้วยตัวเราเอง เราพึ่งพาตัวเอง

อย่าง Pattani Decoded นี่ก็เกิดจากการเติบโตของคนในพื้นที่เองที่พวกเราก็ผ่านกระบวนการสร้างบาดแผลมาด้วยกัน ไม่ใช่แค่เฉพาะครอบครัวเรา แต่ว่าคนอื่นๆ เขาก็เจ็บปวดมาเหมือนกัน แต่ทุกคนก็ยังเลือกที่จะมาช่วยผลักดันที่นี่ให้บรรยากาศมันหลากหลายและส่งเสียงได้มากขึ้น นี่คือหนึ่งสิ่งที่พวกเราทำได้ในเจเนอเรชั่นของเรา  

สิ่งที่อยากจะให้คนข้างนอกได้รู้จักปัตตานีจริงๆ คืออะไร

‘ผู้คน’ คือเสน่ห์ของที่นี่อย่างหนึ่งเลย คนต่างถิ่นที่เข้ามาเยี่ยม เขาก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามาสามจังหวัดฯ คนชอบชวนกินข้าว มันคือการทำความรู้จักผู้คน การได้สัมผัส ‘ความเป็นมนุษย์’ ของกันและกัน  

สิ่งที่คาดหวังให้เกิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คืออะไร 

เราคาดหวังกับกระบวนการเสรีภาพ เรายังคาดหวังกับสิ่งนี้ได้ไหม เราพูดเรื่องนี้บนโต๊ะเจรจามาเกือบ 20 ปีแล้ว ก็ยังต้องมาคุยกันอยู่เช่นเคย   

ในมุมมองของคุณ นิยามของคำว่า ‘เสรีภาพ’ คืออะไร   

เสรีภาพคือการไม่ปิดกั้นทางความคิด นี่คือเสรีภาพของเรา จริงๆ มันแค่นั้นเลย แม้กระทั่งตำราเรียนไทยที่กรอกหูมาตลอดว่าเรามาจากสยาม เราก็ไม่ได้บอกว่านั่นคือสิ่งที่ผิด เพราะมันก็คือข้อมูลชุดหนึ่ง แต่การที่เราจะเรียนรู้จากข้อมูลอีกหลายๆ ชุด มันไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่ผิดเหมือนกัน 

เหมือนช่วงแรกๆ เวลาเราจัดงานจะมีทหารมาสอดส่องตลอดที่บ้านนี้ มาแบบนอกเครื่องแบบแต่หัวเกรียน เราก็รู้เลยว่า ‘นี่ไงมาสืบ’ แต่ในขณะเดียวกันเราก็รู้สึกดีใจเหมือนกันที่เขามา เพราะว่าเขาจะได้มาเห็น ได้มาฟังว่า ความจริงอีกชุดกับสิ่งที่เขารู้มามันมีอีกหลายด้าน 

เหมือนเวลาที่คนกรุงเทพฯ มา นักท่องเที่ยวมา เราจะดีใจมากว่าอย่างน้อยคุณได้มาเห็นที่นี่เองแล้วว่า มันไม่ได้มีแค่มุมในภาพจำแบบเดียวนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้พอเรารู้แล้ว เราจะกล้าที่จะเข้าไปรับรู้ข้อมูลใหม่ๆ เราจะไม่ได้รู้สึกว่าอันไหนถูกอันไหนผิดแบบขาวดำ มันอาจจะมีบางเรื่องที่อยู่ในตำรา แต่มันก็อาจมีเรื่องที่ไม่ได้ถูกบันทึก

สิ่งที่ไม่ได้ถูกบันทึก มันก็คือชุดความรู้เหมือนกัน และการพูดถึงมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด

อ้างอิง :
หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ นักต่อสู้เพื่อมุสลิมชายแดนใต้ที่ถูกอุ้มหาย. นิตยสารสารคดี, 40 (ฉบับที่ 472), 118-121.

Writer
Avatar photo
ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

Photographer
Avatar photo
ณัฐวุฒิ เตจา

เปรี้ยว ซ่า น่าลัก

illustrator
Avatar photo
Arunnoon

มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด

Related Posts

Related Posts