Voice of Fear พิชิต ‘เสียงแห่งความกลัว’
Voice of Fear พิชิต ‘เสียงแห่งความกลัว’
- ความกลัวเป็นอารมณ์ตามธรรมชาติที่ประกอบสร้างจากการตอบสนองทางชีวเคมีที่เป็นสากลบวกกับการตอบสนองทางอารมณ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
- โคเรย์ วิลก์ส นักจิตวิทยาคลินิกเสนอว่า ความกลัวที่ขัดขวางการลองทำสิ่งใหม่มี 4 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ ความกลัวความล้มเหลว ความกลัวการล้อเลียน ความกลัวความไม่แน่นอน และความกลัวความสำเร็จ
- เราอาจเผชิญความกลัวหลากหลายรูปแบบ แต่ก็มีหลายวิธีที่จะรับมือไม่ให้ความกลัวครอบงำและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
ความกลัวเป็นอารมณ์อันทรงพลังตามธรรมชาติและสัญชาตญาณ งานวิจัยด้านจิตวิทยาเผยว่าความกลัวเกี่ยวข้องกับการตอบสนองทางชีวเคมีที่เป็นสากลกับการตอบสนองทางอารมณ์ของปัจเจก ความกลัวเตือนให้เราตระหนักถึงสิ่งที่อันตรายหรือแนวโน้มที่เราอาจถูกทำร้าย ไม่ว่าจะเป็นภัยทางร่างกายหรือจิตใจ
ทว่าหลายครั้งเราไม่กล้าทำอะไร ไม่กล้าเสี่ยงเพราะกลัว สุดท้ายเลยไม่ได้ทำอย่างที่ใจต้องการ
เสียงแห่งความกลัว (Voice of Fear) คือเสียงที่ห้ามไม่ให้เราลงมือ ไม่ให้เราเปิดรับสิ่งที่จะเข้ามา เป็นอุปสรรคยักษ์ใหญ่ที่ขัดขวางไม่ให้เราก้าวเข้าสู่ชีวิตที่เราเป็นได้และคู่ควร
จตุอาชาแห่งความกลัว (Four Horsemen of Fear)
โคเรย์ วิลก์ส นักจิตวิทยาคลินิกกล่าวว่ามีความกลัว 4 ประเภทที่พบได้บ่อยและรั้งเราไว้ไม่ให้ทำสิ่งที่มีความหมาย บางประเภทสามารถชี้ชัดได้ง่าย บางประเภทซับซ้อน แต่ไม่ว่าจะแบบใด มันพร่ำกระซิบคำโกหกกรอกหูเรา ยิ่งเข้าใจความกลัวแต่ละประเภทมากขึ้นเท่าใด เราจะจับทางมันได้เร็วขึ้นเท่านั้น
ประเภทแรก: กลัวความล้มเหลว
ความกลัวประเภทนี้สังเกตเห็นค่อนข้างง่าย มันจะปลูกฝังบางความเชื่อ เช่น ฉันดีพอไหมนะ ถ้าฉันดีไม่พอล่ะ ถ้าฉันทำไม่ได้ล่ะจะเป็นยังไง
ความกลัวความล้มเหลวหยุดเราตั้งแต่ยังไม่ทันได้เริ่มทำ แต่ความกลัวอีกแบบที่คล้ายคลึงกับความกลัวประเภทนี้ก็น่ากลัวไม่แพ้กัน
ประเภทที่สอง: กลัวถูกล้อเลียน
หากคุณเคยยอมให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือ “พวกเขา” (เพื่อน ๆ ครอบครัว หรือสังคม) ขวางไม่ให้คุณได้ทำอะไรที่มีความหมายต่อคุณจริง ๆ ความกลัวประเภทที่สองเล่นงานคุณเข้าแล้วละ มันจะกระซิบความกังวลอย่างเช่น ถ้าคนอื่นตัดสินสิ่งที่ฉันทำล่ะ ถ้าพวกเขาไม่ชอบจะทำยังไงดี ความกลัวถูกล้อเลียนจะกดให้เราทำอะไรให้ไม่เตะตาคนอื่นและไม่ยอมเสี่ยงเสียที
ประเภทที่สาม: กลัวความไม่แน่นอน
ความกลัวประเภทนี้บอกเราว่าเรายังมีข้อมูลไม่พอที่จะเดินหน้าต่อ มันจะกระซิบคำถาม เช่น ตัดสินใจแบบไหนถึงจะถูกนะ ต้องเลือกทางไหนถึงจะสำเร็จ ทำให้เราเอาแต่ตามหาอะไรบางอย่างเรื่อยไปไม่สิ้นสุด หาข้อมูลมากกว่านี้ หาทรัพยากรมากกว่าที่มี หาคำตอบมากกว่าที่รู้
เราเปลืองเวลามากมายไปกับการหาแนวทางที่ “ไร้ที่ติ” ก่อนจะเริ่มทำอะไรจนสุดท้ายกลายเป็นไม่ได้ทำ ความกลัวความไม่แน่นอนกักขังเราไว้ในห้วงของการวิเคราะห์ตีความมากเกินความจำเป็น
ประเภทที่สี่: กลัวความสำเร็จ
คนเรากลัวความสำเร็จได้จริงหรือ
คำตอบคือ ได้ เพราะเราส่วนมากเชื่อว่าความสำเร็จแบ่งเป็นสองสถานะ มีช่วงก่อนและหลัง และถ้าเราไม่สำเร็จ เราจะรู้จักตัวเองแค่ในช่วง “ก่อน” ประสบความสำเร็จเท่านั้น ช่วง “หลัง” ประสบความสำเร็จฟังเหมือนเรื่องราวแปลกประหลาดเหลือเชื่อ
ขณะที่เราเคยชินกับสถานะตัวเองในปัจจุบัน เราจะทำร้ายตัวเองโดยไม่รู้ตัวด้วยการอยู่ในขอบเขตที่คุ้นเคย ใช้ชีวิตในโลกที่เราเข้าใจ การได้มาซึ่งความสำเร็จเป็นสัญลักษณ์ของการข้ามผ่านเขตแดนที่เราไม่อาจมองเห็นได้ ซึ่งน่ากลัวไม่น้อย
ความกลัวประเภทที่สี่นี้ซ่อนตัวในความคิดต่าง ๆ เช่น ถ้าทำสำเร็จแล้วเกิดหมดไฟกลางคันล่ะ ถ้าสำเร็จแล้วหมายถึงนั่นคือจุดสูงสุดของชีวิตที่จะไม่เกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่สองล่ะ ถ้าฉันรักษาสมดุลระหว่างอำนาจกับความรับผิดชอบไม่ได้ล่ะจะทำยังไง
ยิ่งกว่านั้น ความกลัวประเภทนี้จะกล่อมเราว่าเราจะเปลี่ยนไปหากทำสำเร็จ กลายเป็นคนที่ตัวเองยังจำไม่ได้ คนใหม่ที่ว่าจะเฉื่อยชา หลงระเริงในอำนาจ ไม่ก็ขาดแรงจูงใจ ความกลัวความสำเร็จจะหลอกให้เราทิ้งภารกิจสำคัญตอนใกล้สำเร็จหรือหยุดวิ่งทันทีที่เข้าใกล้เส้นชัย
ออกจากวังวนความกลัว
ยึดพื้นให้มั่น อกผายไหล่ผึ่ง เชิดหน้าขึ้นท้าทายทุกอย่างที่เข้ามา มาร์ก บันสชิก จิตแพทย์และผู้เขียนหนังสือชุด The Intelligent Divorce ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรับมือความกลัวในชีวิตประจำวันไว้ ดังนี้
อยู่กับคนคิดบวก
โลกนี้น่ากลัว แต่บนโลกที่น่ากลัวนี้มีคนที่ใจดีมากมาย รับพลังงานดี ๆ และทัศนคติดี ๆ จากคนจิตใจดี การอยู่กับคนที่มีความสุขจะทำให้เราสุขมากขึ้นไปด้วย มองหาผู้คนในชีวิตที่เสริมสร้างประสบการณ์และสภาวะจิตใจที่คุณต้องการ ถักทอมิตรภาพกับพวกเขาให้แน่นแฟ้น แสดงออกว่าคุณให้คุณค่าพวกเขามากแค่ไหน ทวนข้อความดี ๆ จากคนที่คุณเคารพรัก เชื่อมั่นในตัวเอง
นึกถึงคำพูดดี ๆ เหล่านั้นในยามที่เสียงแห่งความกลัว ความเคลือบแคลงใจในตัวเอง และเสียงตำหนิดังขึ้นมา เขียนจดหมายให้ตัวเอง ฝึกเป็นมิตรกับตัวเอง อย่างเดียวที่เราต้องการคือรัก ประโยคนี้ดีและอาจจะช่วยได้มากทีเดียว
ฝึกสมาธิหรือสวดมนต์
หาเวลาพักเพื่อดึงความคิดกลับมาสู่ปัจจุบันขณะ มีสติระลึกว่าตัวเราดำรงอยู่ในช่วงเวลานี้ จดจ่อกับลมหายใจ หายใจเอาอากาศเข้าปอดท้องป่อง หายใจออกช้า ๆ และรู้ว่าท้องยุบ สังเกตว่ามีจุดไหนที่ตึงเครียดในระหว่างที่หายใจ สังเกตเสียง กลิ่นที่อยู่รอบตัว จากนั้นปล่อยมันไป เพียงฝึกสมาธิสักวันละห้านาทีก็ช่วยให้ใจสงบและเครียดน้อยลงได้แล้ว
หากนับถือศาสนา อาจจะหาเวลาสวดมนต์ สนทนากับพระเจ้าประจำใจคุณ ตระหนักว่าท่านคอยมองและสอดส่องดูแลเราอยู่เสมอ ให้อำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ช่วยคลายความกลัว หรืออย่างน้อยก็สวดมนต์แผ่เมตตา ระลึกถึงสิ่งดี ๆ ทุกอย่างที่คุณมีในชีวิต
หวนนึกถึงความทรงจำดี ๆ มีความสุขกับปัจจุบัน และจินตนาการถึงอนาคตที่สดใส
หาเวลาเพียงไม่กี่นาทีเขียนถึงความทรงจำแสนหวานในอดีตและวางแผนอนาคต การทำอย่างนี้จะช่วยปรับโครงสร้างสมองให้เป็นไปในทางบวกมากขึ้น การเขียนถึงความทรงจำดี ๆ หรือความคิดดี ๆ จะเสริมความแข็งแรงให้กับวิถีประสาทที่ทำหน้าที่ประมวลผลความคิดเชิงบวก อีกทั้งยังเป็นวิธียินดีกับมัน โดยธรรมชาติ สมองของคนเรามักตอบสนองต่อด้านลบของสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่เพื่อให้เราปลอดภัย แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้คือฝึกสมองให้สังเกตเห็นความคิดน่ารื่นรมย์และดีต่อใจ
ยอมรับว่าความกลัวเป็นแค่ความรู้สึกหนึ่ง
เรื่องแย่ ๆ เกิดขึ้นในชีวิต แต่มันไม่จำเป็นต้องส่งผลกระทบต่อคุณโดยตรงเสมอไป เมื่อรู้ตัวว่ากังวล ลองสังเกตความรู้สึกของตัวเองดู รับรู้ว่ามันคือความรู้สึกอะไรแล้วปล่อยมันไป จินตนาการว่าความรู้สึกไหลผ่านคุณไปเหมือนเมฆบนฟ้าหรือใบไม้ในลำธาร อย่าจมจ่อมกับความรู้สึกนั้น เห็นมัน ตั้งชื่อให้มัน แล้วปล่อยมันไปเสีย เมื่อคุณผละจากอารมณ์ความรู้สึกได้มากขึ้น จิตใจจะเข้าสู่สภาวะที่สงบ มีประสิทธิภาพและพร้อมแก้ไขปัญหา
ยินดีกับทุก ๆ วัน
ยินดีกับผู้คน สถานที่ และกิจกรรมที่ชุบชูใจแม้แต่เรื่องเล็กน้อย ใส่ใจในทุกรายละเอียดของชีวิต แสดงให้คนอื่นเห็นว่าคุณยินดีที่มีพวกเขาอยู่ คุณไม่ได้รู้สึกแย่อยู่คนเดียว อารมณ์แง่ลบเป็นปกติของชีวิต อารมณ์เหล่านี้เทำให้การขอบคุณสิ่งที่มีอยู่และถนอมมันนั้นสำคัญเสมอ
เติมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ
การยิ้มกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมในกล้ามเนื้อ ฮอร์โมน และกระแสประสาทที่เกี่ยวข้องกับความสุข เวลาที่ยิ้มจึงยากที่จะยึดติดกับความรู้สึกแย่ ๆ ส่วนการหัวเราะสัมพันธ์กับการเสริมภูมิต้านทาน ลองยิ้มดูสิ ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นได้แน่นอน
หันไปสนใจอย่างอื่นบ้าง
ยิ่งเราใช้พลังงานและเวลาไปกับการคิดเรื่องลบ ๆ มากเท่าใด เรายิ่งป้อนพลังให้มัน ข่าวดีคือเราแก้ได้ด้วยพฤติกรรมเชิงบวกต่าง ๆ ทำอะไรที่เราจะยิ้ม ออกไปเดินเล่น ใช้เวลากับเพื่อน ๆ ครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน ให้รางวัลตัวเองด้วยการดูรายการโปรดทางโทรทัศน์ ออกไปลิ้มรสอาหารโปรด ไปนวด หรือไปเรียนโยคะ ทำอะไรตรงข้ามกับความรู้สึกลบในใจ เพราะเราต่างสมควรได้รับความสุข
มั่นคงไว้
ว่ากันตามจริง โลกนี้มีอะไรให้เรากลัวมากมาย โลกไม่ได้ปลอดภัยอย่างสมบูรณ์แบบ และคำเตือนอันชาญฉลาดต่าง ๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตที่ดี เราควรคาดเข็มขัดนิรภัยให้คนที่รักด้วยความเป็นห่วง แม้จะไม่มีกฎหมายบังคับเราก็พึงกระทำ ทว่าการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังไม่เหมือนกับใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัว
หาฐานที่มั่นของตัวเอง สนุกกับชีวิต สนิทสนมกับคนที่รัก ตระหนักเสมอว่าความกลัวจะทำให้ทุกอย่างดูยิ่งใหญ่เกินจริง และเราควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้น้อยกว่าที่เราคิด หากจับความกลัวไปไว้ถูกที่ ชีวิตก็จะมีอิสรเสรีมากขึ้น
อ้างอิง
https://www.psychologytoday.com/us/blog/the-intelligent-divorce/201501/overcoming-fear
Writer
ศิริกมล ตาน้อย
อยากเกิดใหม่เป็นแมงกะพรุน
illustrator
ลักษิกา บรรพพงศ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรีส์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเป็นทาสแมว