ลวดลาย-สายสัมพันธ์ ในความทรงจำผืนใหม่ คุยกับ ‘ซอฟะ บินรัตแก้ว’ เมื่อ ‘กะปิเยาะห์ของพ่อ’ กลับมามีชีวิตอีกครั้งบนงานศิลปะของเธอ 

ลวดลาย-สายสัมพันธ์ ในความทรงจำผืนใหม่ คุยกับ ‘ซอฟะ บินรัตแก้ว’ เมื่อ ‘กะปิเยาะห์ของพ่อ’ กลับมามีชีวิตอีกครั้งบนงานศิลปะของเธอ 

“เวลาเห็นคนใส่กะปิเยาะห์ของพ่อตามสถานที่ต่างๆ เราภูมิใจมาก เพราะรู้สึกว่า มันมีชีวิต” 

คือบางส่วนจากบทสนทนาที่เต็มไปด้วยการบอกเล่าเรื่องราวผ่านน้ำเสียงนุ่มนวล ทว่าหนักแน่นในทุกถ้อยคำ ขนานไปกับแววตาอ่อนโยนที่เปี่ยมความเข้มแข็งต่อความหนักเบาของเรื่องราวทั้งหมดที่อยู่ในทรงจำแห่งชีวิตของเธอ 

Mappa เดินทางไปยังปัตตานีพูดคุยกับ ‘ซอฟะ บินรัตแก้ว’ ศิลปินหญิงรุ่นใหม่ที่กำลังจบการศึกษาจากรั้วคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี เจ้าของผลงานศิลปะผ้าละหมาดหลากหลายลวดลายที่ต่อยอดไอเดียจาก ‘กะปิเยาะห์(หมวก)ของพ่อ’  

“เราเกือบลืมไปเลยว่าพ่อเราเคยทำกะปิเยาะห์”

เธอชวนทบทวนความทรงจำในชีวิตเรื่องพ่อ โดยเริ่มต้นจากความทรงจำอันรางเลือนว่าด้วย ‘กะปิเยาะห์’ ของพ่อที่ถูกเก็บไว้ในกล่องมายาวนาน ก่อนจะถูกแกะออกมาอีกครั้งในวันที่เติบโตขึ้น โดยเธอเล่าถึงความเป็นมาเป็นไปของกะปิเยาะห์ในลวดลายหลากสีสันของพ่อให้เราฟังด้วยแววตาเป็นประกายที่สะท้อนความภูมิใจต่อคนในความทรงจำคนนี้

พ่อของซอฟะเติบโตที่จังหวัดสงขลา เข้าศึกษาที่ปอเนาะอาชิช จังหวัดปัตตานี ก่อนที่จะไปเรียนต่อและทำงานไปด้วยที่เมกกะห์ ที่นั่นพ่อเกิดความรู้สึกว่ากะปิเยาะห์ที่พบเจอมีเพียงสีขาวและสีเรียบๆ จึงอยากลองทำลวดลายหลายๆ แบบบ้าง เขาจึงเริ่มทำขาย จากเล็กๆ ขยายจนมีชื่อเสียงสูงสุดถึงขั้นถวายให้ราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย ก่อนที่เส้นทางชีวิตจะดำเนินมาสู่ทางเลือกอีกทางคือการกลับมายังประเทศไทย ปักหลักที่จังหวัดปัตตานี และสร้างอาชีพด้วยกะปิเยาะห์จนกลายเป็นสินค้าโอท็อปในเวลานั้น และเป็นที่นิยมของผู้คนทั้งในปัตตานีและส่งออกไปยังประเทศต่างๆ 

ซอฟะ เกิดที่ปัตตานี มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน เธอเติบโตมาในบรรยากาศครอบครัวที่กำลังค้าขายรุ่งเรืองจากสินค้าที่ออกแบบโดยพ่อของเธอ ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้จำนวนมาก ยังสร้างลูกศิษย์ที่มาถอดถ่ายวิชาความรู้เรื่องการทำกะปิเยาะห์ในลวดลายที่ไม่เหมือนใครจากพ่อของเธอจำนวนมาก จนวันหนึ่ง ชีวิตกลับพลิกผันทันทีทันใดจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจของที่บ้านครั้งใหญ่จนไม่สามารถมีทุนและคนในการทำกะปิเยาะห์ต่อไปได้ 

บรรยากาศในชีวิตเธอและพี่น้องเปลี่ยนไปนับจากนั้น   

“ตอนนั้นเราเองก็เป็นเด็ก แล้วก็อยากกินไอติมตามปกติ แม่ก็บอกว่าแม่ไม่มีเงิน ซึ่งไอติมประมาณ 4 บาท  ส่วนถ้าเป็นข้าว แม่กับพ่อจะให้พวกเรากินก่อน ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าคืออะไร เราก็กินก่อนตามที่เขาให้กิน แล้วพวกเขาก็มากินทีหลัง ซึ่งมันเหลือน้อยแล้ว ใช่ เราเพิ่งมาเข้าใจทุกอย่างทีหลัง”

จากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจของบ้านที่หนักหน่วง เจ้าของลายกะปิเยาะห์อันลือเลื่องก็เริ่มล้มป่วย แม่ที่อยู่เคียงข้างในการทำกะปิเยาะห์มาตลอด ก็เริ่มกลายมาเป็นเสาหลักในการทำงานเพื่อหาเงินมาประคองสถานการณ์ที่บ้านเอาไว้ให้ได้  

“ตอนนั้นพ่อไม่สามารถหาเงินได้แล้ว กลายเป็นว่าแม่ต้องหาเงิน ทำทุกอย่างเลย บางวันก็ไปกรีดยางตอนตีหนึ่งตีสอง” ซอฟะเล่าถึงชีวิตในความทรงจำของเธอด้วยน้ำเสียงโดยปกติ 

แล้วชีวิตก็พลิกอีกตลบ ในวันที่ซอฟะเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก่อนเข้าสู่รั้วมัธยมในอีกไม่กี่วัน พลบค่ำวันนั้น เธอวิ่งสุดแรงไปที่ตู้โทรศัพท์เพื่อโทรหาแม่แล้วถามว่าพ่อเป็นอย่างไร ก่อนไร้เสียงตอบกลับแล้ววางสายไปในความเงียบงัน  

“เรารู้สึกว่า เขาแค่ไม่อยู่ที่บ้าน เพราะว่าเสื้อผ้า ผ้าโสร่งของเขายังอยู่ที่เดิมอยู่เลย และกลิ่นของเขาก็ยังอยู่ในบ้าน ก่อนที่มันเหมือนจะค่อยๆ หายไปเอง หายไปโดยที่ไม่รู้ตัว หายไปจนกระทั่งลืมไปเลยว่ามีเรื่องเหล่านี้” 

จากวันนั้นกะปิเยาะห์ของพ่อก็ถูกเก็บเอาไว้ในกล่อง บางส่วนมีญาติที่มานำออกไป ทำให้เหลืออยู่เพียงไม่กี่ใบ แต่ก็ยังมี 1 ใบที่พี่ชายของเธอสวมใส่อยู่ตลอดในชีวิตประจำวัน 

จนวันหนึ่ง ซอฟะในวัยนักศึกษา กะปิเยาะห์ของพ่อก็กลับเข้ามาทำงานกับความทรงจำของเธออย่างเข้มข้นอีกครั้งจากการหันไปเห็น 1 ใบนั้นที่พี่ชายสวมใส่อยู่ไม่สร่าง  

วันที่นึกถึงกะปิเยาะห์ของพ่อ

ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ซอฟะกำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะศิลปกรรม 

“อาจารย์ถามว่า จะทำโปรเจกต์อะไร ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร หาตัวเองอยู่สักพัก แล้ววันหนึ่งก็เห็นพี่ชายใส่กะปิเยาะห์ตราแผ่นดินซาอุฯ ที่เป็นต้นปาล์มดักฝ้ายสีน้ำเงิน ก็คุยกันกับพี่ชายว่ากะปิเยาะห์พ่อสวยดี

“พี่ชายบอกว่า เขาไม่ใส่กะปิเยาะห์คนอื่นเลย เพราะรู้สึกว่าหมวกของพ่อสวยที่สุดแล้ว แล้วเราก็ไม่เคยเห็นเขาใส่กะปิเยาะห์แบบอื่นเลยจริงๆ นอกจากอาจจะเป็นแบบซอเกาะก์ เป็นทรงดำ เป็นแบบมลายู

“แล้วเราก็รู้สึกว่า ใช่! เรามีลายกะปิเยาะห์พ่อ น่าจะเอามาต่อยอดได้ แล้วเราก็คิดต่อว่า จะเอาลายเหล่านี้ไปต่อยอดอยู่บนอะไรดี ตอนนั้นเราไปละหมาดพอดี พอละหมาดเสร็จก็ขอพรต่อ  เราขอพรให้คนที่ยังอยู่และคนที่เสียไป แล้วนึกถึงพ่อ ก็คิดขึ้นมาว่า ผ้าละหมาดสามารถใส่ลายเพิ่มได้อีก ถ้าเราเอาลายพ่อไปต่อยอดบนผ้าละหมาดก็ได้เหมือนกันนี่นา”

ซอฟะเลยตัดสินใจว่าโปรเจกต์นั้นของเธอ จะเอาแพตเทิร์นลายของพ่อมาออกแบบต่อบนผืนผ้าปูรองละหมาด โดยใช้ทักษะกราฟิกที่ตัวเองมีเข้ามาช่วย นั่นคือการตัดสินใจที่ทำให้กะปิเยาะห์ของพ่อหวนกลับมาทำงานกับความทรงจำอย่างเข้มข้น 


เธอยังเล่าอีกว่า ที่จริงแล้วหากไม่ใช่เรื่องโปรเจกต์ในการเรียน ช่วงเวลาที่มักจะนึกถึงพ่อมากเป็นพิเศษก็มีอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะตอนที่พบเจอคนใส่กะปิเยาะห์ลายที่พ่อออกแบบตามสถานที่ต่างๆ 

“มีลูกค้าคนเก่าของพ่อคนหนึ่ง เขาเป็นคนในปอเนาะ เขาใส่มาตั้งแต่รุ่นแรกๆ ที่พ่อเริ่มทำเลย ตอนนี้เขาน่าจะอายุ 70 ปีแล้ว เวลาเดินสวนกัน เขามักจะทักทาย แล้วบอกเราว่า เขายังขอพรให้พ่อเราอยู่นะ เราใส่กะปิเยาะห์ของพ่อคุณอยู่นะ” ซอฟะเล่าด้วยแววตาเป็นประกาย 

นอกจากนี้ เวลาที่ไปตลาด หรือไปสถานที่ต่างๆ หากได้เดินสวนกับคนที่ใส่กะปิเยาะห์ลายคุ้นเคยและสังเกตได้ว่าคล้ายลายของพ่อ เธอมักจะตื่นเต้นเป็นพิเศษ และถ้ามีโอกาสก็จะเข้าไปทักทาย ซึ่งเธอบอกว่า ลักษณะลายที่ทำให้สังเกตได้ว่าเป็นลายของพ่อ “เป็นการปักดิ้นเงินดิ้นทอง การใช้สี การใช้ผ้า แล้วก็แพตเทิร์นลวดลายที่เฉพาะตัว” 

ช่วงเวลาที่นึกถึงกะปิเยาะห์ของพ่อ แล้วค้นพบความรู้สึกและความทรงจำระหว่างกันยิ่งเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโปรเจกต์ของเธอเริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการไปตามหาชายคนหนึ่งในจังหวัดยะลา เธอบอกว่า เขาคือลูกศิษย์หนึ่งเดียวที่มีความทรงจำเรื่องลายและการทำกะปิเยาะห์ที่ใกล้เคียงและถอดถ่ายออกมาจากพ่อได้มากที่สุด

ปะติดปะต่อความทรงจำ (ผืน) ใหม่

เมื่อไอเดียก่อร่างและความทรงจำก่อรูป ซอฟะเริ่มปะติดปะต่อความทรงจำที่เลือนหายไปกว่า 15 ปีอีกครั้ง  โดยการติดต่อลูกศิษย์ของพ่อที่เหลืออยู่เพียงคนเดียว ซึ่งในวันนี้เขาอายุมากถึง 72 ปีแล้ว การพูดคุยและพบเจอครั้งนั้นทำให้เธอ “ยิ่งรู้สึกว่ามันมีค่ามากสำหรับเรา การได้นำเรื่องราวการทำกะปิเยาะห์ของพ่อมาเล่าใหม่” 

“ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่ไปเจอลูกศิษย์พ่อคนนั้น หลังจากที่หายกันไปถึง 15 ปี พอเดินทางไปบ้านเขา แค่ผ่านธรณีประตู เราก็ได้กลิ่นด้าย กลิ่นผ้า มันรู้สึกเหมือนกลับบ้านตัวเองเมื่อสมัย 15 ปีที่แล้วเลย กลิ่นน้ำมันที่เอาไว้หยด มันมีชีวิต แล้วยิ่งพอเขาเดินออกมาเขาก็ทักเรา  ‘สวัสดีซอฟะ’ เรารู้สึกว่าเหมือนกำลังคุยกับพ่อเลย แล้วเขาก็ใส่กะปิเยาะห์ลายของพ่อ

“จำได้เลย เขาพูดว่า ‘คิดถึงจังเลย ถ้าพ่อเธออยู่ คงนั่งกินน้ำชากับฉันทุกวัน’ ยิ่งเขาพูดถึงพ่อ แล้วในบ้านเขามีเครื่องจักรแบบตอนบ้านเราทำกะปิเยาะห์ เขายังบอกว่า ตัวเขาเองเห็นเราแล้วก็รู้สึกนึกถึงพ่อ เห็นภาพที่พ่อพกเราไปนั่งด้วย โอ้ ยิ่งคิดถึงไปใหญ่”

เธอเรียนรู้เรื่องลายของพ่อกับลูกศิษย์คนนี้ อีกทั้งมีความตั้งใจจะฝึกปักลายเพื่อใช้การปักในการออกแบบต่อยอดงานชิ้นต่อๆ ไป เพราะงานผ้าละหมาดของเธอเน้นใช้เทคโนโลยีและกราฟิกในการออกแบบลาย แต่เธอก็อยากหาทางออกแบบงานที่มีงานปักด้วย เธอเล่าให้เราฟัง ดังนั้นเธอจึงคอยหาโอกาสที่จะมาร่ำเรียน เพื่อเชื่อมโยงลวดลายในสายสัมพันธ์ระหว่างเธอกับพ่อที่นี่ 

นอกจากนี้ ซอฟะยังทำงานเรื่องนี้ผ่านการพูดคุยกับคนรอบตัวเพื่อเชื่อมโยงถึงพ่อ และเข้าใจพ่อเพื่อทำความเข้าใจเรื่องลายที่ปรากฏบนกะปิเยาะห์

“พออยากสื่อสารเรื่องลาย เราเลือกคุยผ่านแม่ ผ่านพี่ๆ คุยผ่านคนที่เคยทำงานกับพ่อ แต่ไม่ได้คุยกับเขาโดยตรง อย่างตอนที่อาจารย์ถามว่า ‘ทำไมพ่อคิดลายนี้’ เราตอบให้เต็มร้อยไม่ได้ 

“แม่บอกว่า พ่อจะร่างภาพรอบเดียว แล้วลงมือทำบนกะปิเยาะห์เลย ไม่ได้มานั่งบอกว่า ชอบแบบนี้ จะทำแบบนี้ แต่ถ้าสังเกตดู พ่อจะชอบลายสับปะรด ดาบซาอุฯ รั้วมัสยิด และดอกไม้ ต้นปาล์มดาบไขว้ ตราแผ่นดินซาอุฯ

“และโดยส่วนตัว ถ้าเรามองและตีความลายพ่อ สิ่งที่เราคิดคือ เขาน่าจะแบ่งแพตเทิร์นก่อน แล้วก็เท่าที่สังเกต เขาจะประยุกต์ใช้เถาวัลย์ด้านล่าง บางทีก็ใช้ลายเดียวกัน แต่ว่าประยุกต์ใช้คนละแบบ เขาประยุกต์กันไปมาแต่มันได้ลายใหม่ คู่สีใหม่” 

ซอฟะจะค่อยๆ ตีความแล้วแกะลายจากกะปิเยาะห์ของพ่อ ก่อนจะนำไปทำลายลงบนผ้าละหมาด ออกมาในลวดลายต่างๆ อย่างลงตัว 

ลวดลาย-สายสัมพันธ์ 

สายสัมพันธ์ที่ยึดโยงถึงกันผ่านงานศิลปะ ยังผสานอยู่ในกระบวนการทำงานของซอฟะอย่างแนบแน่น เธอบอกว่า ตอนตั้งต้นเลือกลายจากกะปิเยาะห์ของพ่อมาทำลายผ้าละหมาด เราจะเลือกลายที่เราจำเขามากที่สุด ลายที่เป็นภาพติดตาของเรามากที่สุด ลายที่เขาใส่บ่อยที่สุด” 

การทำงานที่ละเอียดลออกับความรู้สึกและการเชื่อมโยงถึงกัน เราจึงถามซอฟะต่อว่า การทำงานกับลายกะปิเยาะห์ของพ่อ ทำให้เราเข้าใจมุมมองวิธีคิดของพ่อมากขึ้นไหม เธอตอบกลับมาอย่างเรียบง่ายและตรงไปตรงมาว่า

เราไม่ได้มีความเข้าใจขนาดนั้นหรอก แต่สิ่งที่มีแน่นอนคือคำว่า ‘พ่อเก่งจังเลย’ เก่งจังเลยที่เลือกสีแบบนี้ ทำไมเลือกสีดีจัง เก่งจังเลย เลือกผ้าแบบนี้กับด้ายสีนี้  เวลาเราแกะลายของพ่อนะ  โห เรารู้สึกว่า ถ้าพ่อมีคอมพิวเตอร์คงจะทำอะไรต่อได้แบบสุดๆ”

“แล้วเชื่อไหม ตอนเราแกะลายจากกะปิเยาะห์พ่อมาทำลายผ้าละหมาด  โน้ตบุ๊กนี่เปียกเลย เพราะว่าน้ำตาไหล มันเหมือนการทำงานที่ได้คุยกับเขาไปด้วย  เหมือนพอเราทำเส้นด้ายทรงแบบนี้ แล้วเราก็นั่งดูมันในความเงียบ แต่กลับได้ยินเสียงในหัวว่า ‘ลองเปลี่ยนเป็นแบบมนๆ ดูสิ’ มันไม่ได้มีเสียงคำพูดหรอก แต่เรารู้สึกว่าการไกด์พวกนี้มันมาจากพ่อ”

“ตอนเราทำผ้าละหมาดลายพวกนี้แรกๆ เราลองใช้งานเอง แต่ใช้งานแทบไม่ได้  เพราะเวลาละหมาดเราเอาแต่นึกถึงพ่อ” 

ในบทสนทนาที่ชวนให้การพูดคุยยาวนานไม่รู้จบ เธอพาเราเดินชมผ้าละหมาดลายต่างๆ ที่เธอออกแบบต่อ พร้อมเล่าลักษณะของแต่ละผืนให้เราฟัง ซึ่งสะท้อนความตั้งใจในงานนี้ของเธออย่างชัดเจน เธอบอกว่าผ้าปูรองละหมาดของเธอมีทั้งแบบที่หนา บาง นิ่ม พกพาสะดวก สามารถนำไปไหนมาไหนด้วยได้ นอกจากนี้ก็มีคนสนใจที่จะใช้ลายผ้าละหมาดของเธอสั่งทำเข้ามาเรื่อยๆ รวมถึงคนรอบข้างและทั้งครอบครัวก็ใช้กันแล้วบางลาย 

“เวลาละหมาดที่มัสยิด บางคนเดินผ่านมาก็มาจับ แล้วบอกว่าลายสวย คนที่นี่ที่อายุทันกับพ่อก็แบบ ‘เฮ้ย ลายแบโซะนี่’  เราภูมิใจมาก ครอบครัวเราก็ภูมิใจ” 

เมื่อถามถึงเรื่องการทำงานศิลปะเกี่ยวกับผ้าและสายสัมพันธ์ ซอฟะบอกว่า 

“เล่าเรื่องผ้าง่าย เพราะว่าคนก็ใช้งานในชีวิตประจำวัน แล้วการได้หยิบผ้ามาจับใส่บนหัวของเรา หรือใช้ในชีวิตเรา มันก็เหมือนสวมใส่เรื่องราวไปด้วย”

“แล้วสำหรับงานของเรา การได้ลายผ้าละหมาดนี้มา ได้รูปทรงเส้นด้ายแบบนี้มา มันก็ต้องผ่านกะปิเยาะห์ของพ่อมาก่อน ซึ่งแปลว่าใช้ระยะเวลาเป็นสิบๆ ปีในการเดินทาง ตั้งแต่พ่อจากไป แต่ก็ยังเดินทางมาถึงตอนนี้และตรงนี้ได้  การทำงานชิ้นนี้ จึงเป็นทั้งเรื่องราวของพ่อ แล้วยังผ่านเรื่องราวของลูกศิษย์พ่อ และยังมีเรื่องราวของแม่เราอีก พี่เราอีก ตัวเราอีก น้องเราอีก งานที่ทำออกมามันเลยไม่ใช่แค่ผืนผ้าหนึ่งผืน” 

โปรเจกต์นี้ ไม่ใช่งานชิ้นสุดท้ายระหว่างพ่อกับซอฟะ เธอตั้งใจที่จะไปเรียนปักกับลูกศิษย์ของพ่อต่อ เพื่อสามารถทำงานปักแล้วนำมาต่อยอดกับงานชิ้นอื่นๆ ได้ เพื่อให้ความทรงจำในลวดลายของสายสัมพันธ์ที่เกือบร้างรางเลือนกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งในความทรงจำรูปแบบต่างๆ ด้วยงานศิลปะของเธอ

ซอฟะเล่าถึงความภูมิใจในครอบครัวของตัวเอง พ่อที่เป็นแรงบันดาลใจ แม่ที่ลุกขึ้นมาทำงานอย่างหนักท่ามกลางวิกฤตและความสูญเสียของครอบครัว พี่น้องรวมถึงเธอที่ทั้งเรียนและทำงานเพื่อก้าวผ่านเรื่องยากในชีวิตไปด้วยกัน จนสามารถทำให้ได้เรียน เติบโต พบโอกาส และสร้างสรรค์งานที่มีความหมายชิ้นนี้ออกมา ซอฟะบอกกับเราว่า

แม่เขาส่งลูกเรียนทุกคนเลย แม้มีพี่อีกคนที่เขาไม่อยากเรียนเอง เขาเลยเลือกทำงาน แม่บอกว่าเหตุผลที่ส่งลูกเรียนทุกคนรวมถึงลูกผู้หญิง เพราะว่า สมัยก่อนถ้าเป็นผู้หญิงแล้วคนเขามักมองว่า ‘เดี๋ยวก็มีครอบครัว ก็อยู่บ้านผัวแล้ว เดี๋ยวก็มีลูก ไม่ต้องเรียนหรอก’  แต่แม่บอกว่า แม่ชอบเรียนมาก แม่มีความสุขกับการเรียนแต่ตัวเองไม่มีโอกาส จึงไม่อยากให้ลูกๆ เป็นอย่างนั้น ยิ่งช่วงที่มีปัญหา แล้วพ่อเสีย แม่ก็ทั้งทำงาน ทั้งหยิบยืมเพื่อมาส่งลูกเรียน เขาเก่งไม่ต่างจากพ่อเลย” 

ซอฟะเล่าพร้อมทิ้งท้ายประโยคสั้นๆ ด้วยรอยยิ้มว่า

“สุด พ่อแม่เรานี่ สุดยอดมาก”

Writer
Avatar photo
ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

Photographer
Avatar photo
ณัฐวุฒิ เตจา

เปรี้ยว ซ่า น่าลัก

illustrator
Avatar photo
Arunnoon

มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด

Related Posts

Related Posts