นี่แหละเผด็จการ : เผด็จการไม่ใช่แค่การปกครอง แต่ซ่อนอยู่ในทุกการตัดสินใจ แม้แต่ในครอบครัว

นี่แหละเผด็จการ : เผด็จการไม่ใช่แค่การปกครอง แต่ซ่อนอยู่ในทุกการตัดสินใจ แม้แต่ในครอบครัว

  • นี่แหละเผด็จการ คือ หนังสือภาพจากสเปนและเป็นหนังสือแปลเล่มแรกของมูลนิธิคณะก้าวหน้า พานักอ่านเข้าสู่ความคิดของท่านผู้นำและโลกการปกครองระบบเผด็จการ
  • เผด็จการไม่ใช่แค่ชื่อระบบการปกครอง แต่ซ่อนอยู่ในทุกเรื่องของชีวิต รวมถึงการอยู่ร่วมกันในครอบครัว
  • เปิดหนังสือภาพและเข้าใจว่า ‘นี่แหละเผด็จการ’ จากงานเปิดตัวหนังสือภาพเล่มนี้ไปพร้อมกัน

“ผู้นำเผด็จการคือคนที่ออกคำสั่ง คือกฎหมาย และคือความยุติธรรม”

ความเป็นผู้นำในมุมมองของเอกิโป ปลันเตล ผู้เขียนหนังสือ ‘นี่แหละเผด็จการ’ หนังสือจากประเทศสเปนที่เขียนขึ้นหลังจากนายพลฟรังโก้ ผู้นำเผด็จการสเปนเสียชีวิตลงเพื่ออธิบายให้คนรุ่นหลังเห็นภาพชีวิตภายใต้ระบอบเผด็จการ  

หนังสือเล่มนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 45 ปีที่แล้วในปี 1977 ก่อนที่มิเกล กาซาล นักวาดภาพประกอบที่เติบโตในช่วงเวลาที่นายพลฟรังโก้ยังมีชีวิตอยู่จะมาแต้มสีสันและเติมองค์ประกอบให้หนังสือเล่มนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

“การอ่านคือรากฐาน จินตนาการถึงสังคมที่ดีขึ้น และชวนตั้งคำถาม”

ประโยคเปิดงานของ ‘ครูจุ๊ย’ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ บรรณาธิการและผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า ในงานเปิดตัวหนังสือภาพ ‘นี่แหละเผด็จการ’ หนังสือแปลเล่มแรกของมูลนิธิคณะก้าวหน้า เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา มองว่า จุดประสงค์ให้หนังสือเล่มนี้เป็นเครื่องมือเปิดสู่ประชาธิปไตยและเปิดบทสนทนาร่วมกันในครอบครัว

สนทนาร่วมกับมานา ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้แปลหนังสือนี่แหละเผด็จการ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และ ‘อั๋น’ภูวนาท คุนผลิน พิธีกร และนักจัดรายการ ขยายมุมมองโลกของระบบการปกครองแบบเผด็จการ

อย่างน้อยๆ เรื่องหนักอย่างเรื่องการเมืองที่ถูกเคลือบด้วยสีหวานๆ ของตัวละครจากหนังสือภาพเล่มนี้อาจช่วยเตือนใจเราว่า “ระบอบการปกครองที่เหมือนกับการเขียนคำบอก ต้องทำตามเพราะแค่ต้องทำนั้นเป็นอย่างไร”

 ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เราโตมากับคำว่าได้แค่นี้

“สังคมไทยพยายามโลกสวยกับเรื่องเผด็จการเรียกว่า เผด็จการโดยชอบธรรม แต่พอเป็นประชาธิปไตยเราตั้งคำถาม เราตื่นตัว แต่พอเป็นเผด็จการเราจะให้โอกาส อดทน และไม่ตั้งคำถาม”

ความเห็นของประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า จุดร่วมของเผด็จการทั่วโลก คือ ปกครองด้วยความกลัว ความเท็จ และเลี้ยงดูเครือข่ายบริวาร

ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

‘อั๋น’ ภูวนาท คุนผลิน พิธีกร และนักจัดรายการ เห็นด้วยและเสริมต่อว่า บางครั้งเราเผลอพอใจ ประนีประนอม และแก้ตัว แต่สุดท้ายเราก็อยู่ที่เดิม แต่อ้างว่า ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราก็รอด

“บางครั้งประเทศเราที่ไปไม่ถึงไหน ไม่ใช่ว่าเราตั้งความหวังไว้สูงแล้วเราไปไม่ถึง แต่อาจจะเป็นเพราะเราตั้งความหวังต่ำไป แล้วเผลอพอใจกับมัน เพราะคิดว่าแค่นี้ก็พอ เกิดมาได้แค่นี้ก็พอแล้ว ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เราโตมากับคำว่าได้แค่นี้”

‘อั๋น’ ภูวนาท คุนผลิน พิธีกร และนักจัดรายการ

“หลายคนถามว่าแล้วเราผิดอะไร ไม่หวังสูงก็ไม่ผิดหวัง พอใจในสิ่งที่มีไง ซึ่งผมคิดว่ามันไม่มีระบบไหนที่ดี 100 เปอร์เซ็นต์ เรื่องคอรัปชันผมก็เชื่อว่ามีในระดับแตกต่างกัน และมันคงจะดีกว่านี้ในช่วงเวลาที่ประเทศเรามีประชาธิปไตยมากกว่านี้ และมันก็มีระบบที่คืนอำนาจให้กับเรา”

อั๋นยังเสริมต่อว่า เผด็จการไม่ใช่แค่การปกครอง แต่ซ่อนอยู่ในทุกเรื่องที่เราต้องตัดสินใจ เพื่ออยู่อย่างชอบธรรมและมีอิสรภาพในทุกด้าน แม้แต่การอยู่ร่วมกันในครอบครัว

“ครอบครัวผมคุยได้ทุกเรื่อง ทุกวันนี้ผมฟังเขา เขาไม่เห็นด้วยเพราะอะไร เขามีสิทธิในตัวเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐาน สำหรับผมเรื่องนี้มันเรียบง่ายมาก ไม่ซับซ้อน” อั๋นเล่า

หนังสือภาพ เครื่องมือตั้งคำถามและต่อบทสนทนาร่วมกันในครอบครัว

ในฐานะบรรณาธิการหนังสือภาพ ‘นี่แหละเผด็จการ’ ครูจุ๊ยบอกว่า หนังสือไม่ได้ถูกผลิตเพื่ออ่าน แต่มีไว้เพื่อต่อบทสนทนาระหว่างคนอ่านด้วยกัน

“บทสนทนาที่ผู้คนมาคุยกันว่าเราเคยเห็นไหม มันจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ทำอย่างไรให้มันไม่เป็นแบบนี้ บทสนทนาแบบนี้ ที่อยากเกิดขึ้นในทุกบ้าน ในพื้นที่ชีวิตประจำวันของทุกคน หยิบมาแล้วก็คุยกัน เพราะมันคือคุณค่าของหนังสือที่เป็นหนังสือภาพ”

‘ครูจุ๊ย’ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ บรรณาธิการหนังสือนี่แหละเผด็จการและผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า

ส่วนอั๋นบอกว่า ไม่จำเป็นต้องเชื่อสิ่งที่หนังสือภาพเล่มนี้บอก แต่ควรชวนตั้งคำถามและหาคำตอบร่วมกัน

“ดูแล้วเราไม่จำเป็นต้องเชื่อทั้งหมด แต่ต้องตั้งคำถามที่ดีแล้วนั่งคุยและหาคำตอบด้วย เพราะทุกคนควรตั้งคำถามและหาคำตอบ แล้วเราจะพบว่าหลายครั้งมันไม่มีคำตอบให้หลายคำถามของเรา ทั้งๆ ที่มันเป็นคำถามที่ดี”

เบื้องหลัง ‘นี่แหละเผด็จการ’

แนวคิดและเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้มาจากนักเขียนนิรนาม 3 คนที่อยากสื่อสารเรื่องชีวิตของพวกเขาภายใต้การปกครองระบบเผด็จการ

มานา ผู้แปลหนังสือเล่มนี้ เล่าว่า หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นหลังจากนายพลฟรังโก้ตายไป 2 ปี ช่วงเวลาสำคัญที่สเปนกำลังผลัดใบจากระบบฟรังโก้เป็นประชาธิปไตย

มานา ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้แปลหนังสือนี่แหละเผด็จการ

ฟรังโก้คือใคร

ฟรังโก้ คือ คนที่ลุกขึ้นมารัฐประหารหลังจากฝ่ายซ้าย (แรงงานภาคอุตสาหกรรม) ได้รับชัยชนะและลุกขึ้นมาเปลี่ยนรูปแบบการปกครองด้วยความรวดเร็วทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจ

แต่ข้อแตกต่าง คือ แม้จะทำรัฐประหารสำเร็จด้วยแรงสนับสนุนจากอดอล์ฟ ฮิตเลอร์จากเยอรมนี และ เบนิโน มุโสลินี แต่ฉากหลังคือสงครามการเมือง ความเสียหาย และการกวาดล้างการปกครองจากฝ่ายซ้าย

หลังจากนั้นประชาชนสเปนต้องอยู่ภายใต้ระบอบฟรังโก้อีก 40 ปีต่อมาจนเขาตายไป 

การศึกษาในประเทศนี้ เด็กไม่เคยได้บอกว่าอยากได้อะไร

“เรารวมกันเป็นประเทศ เราอยากจะให้ประเทศเราเป็นแบบไหน”

ครูจุ๊ยเล่าว่า นี่คือบทสนทนาของชาวฟินแลนด์หลังผ่านยุคสมัยมาหลายปี แต่สะท้อนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน

ซึ่งแตกต่างกับประเทศไทยที่ใช้กฎหมายในการควบคุม และกฎหมายกลายเป็นกำแพงสูงที่ทำให้เข้าถึงกลไกจัดการศึกษาได้ยาก

“มันคือความตั้งใจที่ทำให้เราไม่มีส่วนร่วม ดังนั้นสิ่งสำคัญที่นโยบายการศึกษาจำเป็นต้องทำ คือ การทำให้การศึกษาเข้าถึงทุกคนและมีส่วนร่วมได้ในแบบตัวเอง บอกได้ว่าเราอยากได้แบบไหน”

เพราะในประเทศแบบนี้ ประชาชนถูกกีดกันไม่ให้คิดเพราะต้องคิดแบบผู้นำ เอกิโป ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้บอกไว้

“ระบอบเผด็จการทุกที่ห้ามไม่ให้คนใช้ความคิด อนุญาตให้คิดตามที่ท่านผู้นำต้องการเท่านั้น ทั่วประเทศสงบเรียบร้อย เพราะไม่มีใครบ่น ไม่มีใครประท้วง”

นี่แหละเผด็จการ จึงไม่ได้ทำหน้าที่แค่พาคนอ่านเดินเข้าสู่ความคิดของท่านผู้นำและโลกเผด็จการเท่านั้น แต่ชวนตั้งคำถามที่ลึกซึ้งขึ้นว่า ภายใต้ของความสงบเรียบร้อยที่ใครเขาบอกกัน ประชาชนถูกคืนความสุขตามคำสัญญาแล้วหรือยัง พร้อมกับตอบคำถามท้ายหนังสือ ‘นี่แหละเผด็จการ’ ในข้อสุดท้ายได้ว่า

“ประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีความสุขภายใต้ระบบเผด็จการได้หรือไม่”

จงแสดงความคิดเห็น

Writer
Avatar photo
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

illustrator
Avatar photo
กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts

Related Posts