จักรวาล “วาย” ที่ผู้ชายรักกัน: ว่าด้วยซีรีส์วายกับความหลากหลายทางเพศ

จักรวาล “วาย” ที่ผู้ชายรักกัน: ว่าด้วยซีรีส์วายกับความหลากหลายทางเพศ

ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับงาน “Bangkok Pride 2023” งานพาเหรดสุดยิ่งใหญ่ใจกลางสยาม ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลาย พร้อมขับเคลื่อนประเด็นเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) และในปีนี้ก็คราคร่ำไปด้วยชาวไทยและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ที่มาร่วมสะบัดธงสีรุ้ง บอกกล่าวให้ชาวโลกได้รู้ว่าเมืองไทยเป็นมิตรกับกลุ่ม LGBTQIAN+ มากแค่ไหน

ท่ามกลางความสนุกสนานของงานพาเหรด ก็ไม่วายมี “ดราม่า” เกิดขึ้นจนได้ เมื่อปรากฏป้าย “อย่าโปรโมทซีรีส์วายในขบวนพาเหรด” ที่นำไปสู่การถกเถียงในโลกออนไลน์อย่างร้อนแรง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดดราม่าแบบนี้ ประเด็นเรื่องซีรีส์วายกับการเรียกร้องสิทธิให้กับกลุ่ม LGBTQIAN+ ถือเป็น “เรื่องอ่อนไหว” ที่ใครจุดประเด็นเมื่อใด ก็เถียงกันไฟแลบเมื่อนั้น ฝั่งหนึ่งมองว่าซีรีส์วายไม่จำเป็นต้องขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ ขณะที่ฝั่งหนึ่งบอกว่าเธอกำลังฉกฉวยและทำเงินบนอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย และอีกฝั่งก็ยืนยันว่าการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมีอยู่ในซีรีส์วายมาโดยตลอด ทว่า เมื่อความตระหนักรู้ของคนในสังคมต่อเรื่องสิทธิ LGBTQIAN+ มีเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับความนิยมของ “ซีรีส์วายไทย” ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด แล้วจุดตรงกลางของสองประเด็นดังกล่าวควรอยู่ตรงไหน? 

จักรวาล “วาย” ที่ผู้ชายรักกัน

คำว่า “วาย” มาจากคำว่า Yaoi ในภาษาญี่ปุ่น หรืออาจเรียกว่า “บอยเลิฟ (Boys Love หรือ BL)” เป็นการเล่าเรื่องความสัมพันธ์แบบ “ชายรักชาย” โดยเริ่มต้นจากการเป็นผลงานในรูปแบบวรรณกรรม นวนิยาย และการ์ตูนมังงะ ก่อนจะเพิ่มเป็นรูปแบบของภาพเคลื่อนไหวในยุคต่อมา และกลายเป็น “ซีรีส์วาย” อย่างที่คุ้นเคยกันในทุกวันนี้

“สำหรับเรา ซีรีส์วายก็เป็นหมวดซีรีส์แฟนตาซีแบบหนึ่งของวงการ มันเป็นความรักของคนที่อยู่นอกเหนือรูปแบบความรักที่เราเห็นในสังคม อาจจะเป็นชาย-ชาย หรือหญิง-หญิง ซึ่งรายละเอียดของมันก็จะมีความเหนือจริงบางอย่างเหมือนกัน แต่ใด ๆ มันก็คือซีรีส์ความรักอีกแบบหนึ่ง” แนน สาววายผู้ใช้ซีรีส์วายเป็น “ที่ฮีลใจ” เริ่มต้นเล่าให้เราฟัง 

เพราะเป็นการนำเสนอความรักแบบชายรักชาย จึงไม่แปลกนักหากคนดูจะคิดว่านี่เป็นสื่อที่นำเสนอเรื่องราวของกลุ่ม LGBTQIAN+ และเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมให้กับชุมชน LGBTQIAN+ แต่ในความเป็นจริง ซีรีส์วายอาจไม่ได้ทำหน้าที่แบบนั้น หากเป็นเพียง “ความบันเทิง” ของผู้ชมเพียงเท่านั้น ทั้งนี้ ขนบของสื่อวายหรือซีรีส์วายที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ก็ไม่ได้เล่าเรื่องราวความรักของชาย ที่นิยามตัวเองว่าเป็น “เกย์” แต่เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มรูปงามในอุดมคติของผู้หญิง ที่เป็นตัวละครเอกของเรื่อง (พระเอกกับนายเอก) ที่อาจจะไม่เคยชอบผู้ชายมาก่อน หรือเคยมีแฟนเป็นผู้หญิงมาก่อน แต่ในท้ายที่สุดก็ตกหลุมรักกัน และกลายเป็นเรื่องราวความรักที่ชวนให้ “ฟินจิกหมอน” เต็มไปด้วยฉากโรแมนติก และฉากแสดงความรักที่วาบหวาม 

“ตอนแรกเรามองว่าซีรีส์วายมันช่วยขับเคลื่อนชุมชน LGBTQIAN+ นะ เพราะมันเป็นการทำให้สังคมรับรู้การมีอยู่ของคนกลุ่มนี้ แต่ว่าพอเอาเข้าจริง ในสื่อมันมีอะไรบางอย่างที่ทำให้สังคมเข้าใจและรับรู้ผิดแปลกไป เช่น ในสื่อจะมีภาพลักษณ์หรือคาแร็กเตอร์เฉพาะที่เราแยกออกว่าใครเป็นพระเอก เพราะเขาจะมีรูปร่างสูง เป็นคนรุกจีบ เป็นคนปกป้อง หรือว่าใครเป็นนายเอก ก็จะต้องมีลักษณะที่อ่อนแอ อ้อนแอ้น ตัวเล็ก ได้รับการปกป้อง หรือที่ภาษาทั่วไปเรียกว่า “ซอฟท์หวาน” แม้ว่าตอนนี้ซีรีส์วายหลายเรื่องจะพยายามวางคาแร็กเตอร์ให้ต่างไปจากภาพจำเดิม ๆ พวกนี้บ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถสะท้อนภาพชีวิตของกลุ่ม LGBTQIAN+ ได้จริงอยู่ดี” น้ำเปล่า สาววายที่ชื่นชอบการอ่านนิยายวายมากกว่าดูซีรีส์วาย อธิบายให้ฟัง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าซีรีส์วายมักจะ “ผลิตซ้ำ” ภาพจำของตัวละครเอก โดยยังอยู่บนบรรทัดฐานและอุดมการณ์ความรักแบบชายกับหญิง หรือรักต่างเพศ ซึ่งตัวละครเอกพระเอก หรือ “เมะ” มักถูกสร้างให้มีลักษณะที่เป็นชายมากกว่า (Masculine) ในขณะที่ตัวละครนายเอก หรือ “เคะ” จะเป็นตัวละครที่มีความเป็นหญิงมากกว่า (Feminine) หรือไม่เช่นนั้น ตัวละครเอกทั้งคู่ก็ต้องแสดงออกถึงความเป็นชาย หรือต้องไม่ “ออกสาว” จนเกินไป

วงการวายกับการขับเคลื่อนสิทธิ LGBTQIAN+

“ส่วนตัวเราว่าซีรีส์วายยังไม่ช่วยขับเคลื่อนชุมชน LGBTQIAN+ มากเท่าไร เพราะเราไม่ค่อยเห็นในสื่อหรือซีรีส์วายพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQIAN+ หรือตีแผ่ชีวิตของคนในชุมชนจริง ๆ ส่วนใหญ่ที่เราเห็นกันคือเป็นเรื่องที่คนในครอบครัวไม่ยอมรับกับการที่ลูกหลานตัวเองเป็นเสียมากกว่า แล้วมันเป็นประเด็นซ้ำๆ เดิม ๆ ที่สื่อประเภทนี้มักจะเอามาเล่น ซึ่งเราว่ามันยังไม่ได้ช่วยขับเคลื่อนเรื่องสิทธิเท่าที่ควร” หลุยส์ อีกหนึ่งสาววายวัยเริ่มต้นทำงาน ชี้ 

ในแง่หนึ่ง ซีรีส์วายคือ “โลกอุดมคติ” หรือโลกแฟนตาซีที่แยกขาดจากความเป็นจริง เป็นเรื่องแต่งที่เกิดขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียน มีรูปแบบของตัวเอง และอาจจะไม่จำเป็นต้องขับเคลื่อนสังคม ทว่า ประเด็นที่ทำให้ซีรีส์วายถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอ คือไม่ได้ช่วยเป็น “กระบอกเสียง” ในการสร้างความรู้ความเข้าใจ และขับเคลื่อนประเด็นเรื่องสิทธิของกลุ่ม LGBTQIAN+ ถึงขนาดถูกโจมตีว่าซีรีส์วาย “ฉกฉวย” เอาอัตลักษณ์ของคนในชุมชนมาใช้ หรือกำลัง “หากิน” กับเพศสภาพของคนในชุมชน ยิ่งไปกว่านั้นยัง “สร้างค่านิยมผิด ๆ” ที่ส่งผลให้แฟนคลับวายบางกลุ่มปฏิเสธและไม่ยอมรับเพศสภาพของกลุ่ม LGBTQIAN+ ก็มีมาแล้ว และนั่นก็ทำให้แฟนคลับวายบางกลุ่ม “ไม่ลงรอย” กับกลุ่มคนที่เรียกร้องสิทธิให้กับกลุ่ม LGBTQIAN+ มาจนถึงทุกวันนี้

“ซีรีส์วายก็คือสื่อบันเทิงแหละ แต่ในสังคมปัจจุบันที่คนเสพสื่ออาจจะต้องการอะไรมากกว่าสื่อบันเทิง ซีรีส์วายก็ควรจะตระหนักถึงตรงนี้ด้วยนะ แต่เรามองว่าสื่อทุกแบบสามารถช่วยขับเคลื่อนเรื่องสิทธิของกลุ่ม LGBTQIAN+ หรือพูดถึงปัญหาอื่น ๆ ในสังคมได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นซีรีส์วายอย่างเดียว สื่อควรเป็นกระบอกเสียงและสะท้อนความต้องการของประชาชน หรือถ้าจะไม่ช่วยขับเคลื่อน อย่างน้อยก็อย่าให้ข้อมูลผิด ๆ หรือสร้างความเข้าใจผิด ๆ” น้ำเปล่า กล่าว 

“แต่เรารู้สึกว่าการมีซีรีส์วายอยู่บนโลกใบนี้ มันทำให้สังคมเข้าใจและเห็นว่ามันมีความรักอีกรูปแบบหนึ่งอยู่บนโลกใบนี้นะ มันไม่ได้มีแค่ชายกับหญิงเท่านั้น แล้วมันก็อาจจะไม่ได้ตะโกนบอกคนทั้้งโลก แต่มันค่อย ๆ แทรกซึมเข้าไปให้คนค่อย ๆ เปิดใจว่ามันมีความรักรูปแบบอื่น ๆ ด้วยนะ แน่นอนว่ามันอาจจะไม่ได้ช่วยขับเคลื่อนชุมชนขนาดนั้น แต่มันค่อย ๆ ทำให้สังคมไม่รู้สึกตระหนกตกใจกับความรักของชาย-ชาย หรือหญิง-หญิง ที่เมื่อก่อนเขาอาจจะไม่กล้าแสดงออกมา ดังนั้น เรามองว่านี่แหละคือสิ่งที่ซีรีส์วายได้ทำ” แนนสะท้อน 

แน่นอนว่าคนบางกลุ่มยังมองว่าซีรีส์วายเป็น “ตัวร้าย” ที่คอยทำลายชุมชน LGBTQIAN+ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ซีรีส์วายของไทยหลายเรื่องเริ่มขยับมาพูดถึงสิทธิของคนในชุมชนเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับกล้าที่จะพูดถึงประเด็นโครงสร้างสังคม ขณะที่ผู้คนในแวดวงซีรีส์วายก็พยายามลุกขึ้นเป็นกระบอกเสียงในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และประเด็นทางสังคมอื่น ๆ มากขึ้น ดังนั้น การบอกว่าซีรีส์วายของไทยจะไม่ช่วยขับเคลื่อนเลยก็อาจจะ “ใจร้าย” เกินไปเสียหน่อยอยู่เหมือนกัน ยิ่งไปกว่านั้น การเติบโตของซีรีส์วายจนกลายเป็น “Soft power” ของไทย ก็อาจจะกำลังสะท้อนภาพ “การยอมรับ” ความหลากหลายทางเพศของสังคมอยู่ก็เป็นได้ เพราะหากสังคมไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศแล้ว สังคมก็คงไม่ยอมรับซีรีส์วายเช่นกัน หรือในทางกลับกัน ก็อาจจะเป็นแบบที่แนนบอก ว่าซีรีส์วายก็อาจทำให้คนในสังคมคุ้นเคยกับภาพความรักของคนเพศเดียวกัน เหมือนกับขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBTQIAN+ ที่ทำมาหลายปีเช่นเดียวกัน 

จุดตรงกลางที่เราทำได้

สำหรับหลุยส์แล้ว การขับเคลื่อนเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQIAN+ กับการมีอยู่ของซีรีส์วาย “ควรแยกกัน” ไม่จำเป็นต้องหาตรงกลางเพื่ออยู่ร่วมกันได้ อย่างไรก็ตาม แม้ซีรีส์วายจะชูเรื่องความรักของชายกับชายเป็นจุดขาย แต่สิ่งที่ผู้ผลิตทำได้คือการไม่ทิ้งกลุ่ม LGBTQIAN+ ไว้เบื้องหลัง การเล่าเรื่องหรือประสบการณ์ของคนในชุมชน อาจสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมได้ เช่นเดียวกับกลุ่มซีรีส์วายก็อาจจะจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจความหลากหลายทางเพศที่มีอยู่ในชีวิตจริง นอกเหนือจากเรื่องราวที่แต่งขึ้นจากจินตนาการ

เมื่อซีรีส์วายเติบโตในวงกว้าง การเปิดใจรับความแตกต่างหลากหลายก็คงไม่ใช่ “สิ่งไม่ดี” และเป็นไปได้ว่าจะเป็นการยกระดับวงการซีรีส์วายด้วยก็เป็นได้ เพราะอย่าลืมว่าคนในชุมชนก็เจ็บปวดกับการถูกกดทับมาอย่างยาวนาน ความโด่งดังและ “แสง” ที่ซีรีส์วายได้รับ ก็อาจจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้ขบวนการต่อสู้ของพวกเขาไปถึงจุดหมายได้เร็วกว่าเดิม

“เราต้องยอมรับกันก่อนว่าซีรีส์วายคือสื่อบันเทิง และไม่ใช่เรื่องผิดที่จะเป็นสื่อที่ให้แค่ความบันเทิง แต่สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือถ้าในซีรีส์มันนำเสนอข้อมูลผิดพลาด เราสามารถเอามาวิจารณ์ เอามาพูดคุยกันได้ หยิบข้อมูลมาคุยกัน และต้องไม่ใช่การโต้เถียงที่ใช้อารมณ์เพียงอย่างเดียว เราว่าถ้าทำได้ มันก็จะช่วยยกระดับทั้งสองชุมชนได้” น้ำเปล่าแสดงความคิดเห็น

ในขณะที่ซีรีส์วายพยายามปรับตัวและสอดแทรกประเด็นความเจ็บปวดของคนในชุมชนลงไป ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBTQIAN+ ก็อย่าได้ลุกขึ้นมา “ชี้หน้าด่าทอ” กันด้วยอารมณ์อย่างเดียว หากเนื้อหาหรือการแสดงออกของซีรีส์วายไม่ได้ช่วยสนับสนุนประเด็นที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ แน่นอนว่าบางครั้งสังคมก็ขับเคลื่อนด้วย “การด่า” แต่ถ้าเรื่องราวไม่ได้บิดเบือนหรือทำให้คนดูเกิดอคติต่อคนในชุมชน ก็น่าจะเพียงพอแล้วที่จะเป็น “ความบันเทิง” ของใครหลายคน ให้พวกเขาพอได้คลานเข้าไปหลบภัยใน​ “หลุมซีรีส์วาย” สักเสี้ยววินาทีหนึ่งก็ยังดี ในช่วงเวลาที่ทุกอย่างรอบตัวมันเลวร้ายสำหรับมนุษย์คนหนึ่งเหมือนดังเช่นปัจจุบัน 

“ซีรีส์วายส่งผลต่อจิตใจของคนดูมากนะ อันหนึ่งคือมันเป็นสื่อบันเทิงที่ช่วยให้เราหายจากความเหนื่อยล้าจากการทำงาน การใช้ชีวิต ความเครียด การที่เราได้เสพซีรีส์วายมันฮีลใจเรามาก และมันก็เป็นประสบการณ์และความประทับใจที่ดี” แนนกล่าวปิดท้าย

Writer
Avatar photo
ณัฐฐฐิติ คำมูล

วัยรุ่นปวดหลังที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

illustrator
Avatar photo
ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์

ชอบกินลาเต้เย็น

Related Posts

Related Posts