“เด็กรู้เรื่องกัญชาอยู่แล้ว” หน้าที่ครู คือ ชวนตั้งคำถาม เปิดพื้นที่แชร์และรับฟัง ‘ครูสอญอ’ สัญญา มัครินทร์

“เด็กรู้เรื่องกัญชาอยู่แล้ว” หน้าที่ครู คือ ชวนตั้งคำถาม เปิดพื้นที่แชร์และรับฟัง ‘ครูสอญอ’ สัญญา มัครินทร์

  • ครั้งแรกที่ ‘ครูสอญอ’ สัญญา มัครินทร์ สอนกัญชาให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ครูเปลี่ยนห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพราะเด็กรู้เรื่องกัญชาอยู่ไม่น้อย
  • วิธีการสอนครูสอญอไม่ได้พาเด็กๆ เปิดหนังสือ จดเล็คเชอร์ แต่พานักเรียนทุกคนเรียนผ่านการเล่นเกม หรือทำกิจกรรม
  • หลังกระทรวงสาธารณสุขปลดล็อกกัญชาเป็นพืชเสรี วันนี้ครูสอญอดึงกัญชากลับสู่ห้องเรียนอีกครั้ง กับโรงเรียนใหม่ คือ โรงเรียนสีชมพูศึกษาหน้าที่ครูจึงต้องชวนตั้งคำถาม แชร์ประสบการณ์ และรับฟัง 

“ถ้าเราจะไปอยู่ในโลกของเขา เราก็ต้องรู้จักโลกของเขา”

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ‘ครูสอญอ’ สัญญา มัครินทร์ ครูวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย สอน ‘กัญชา’ ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในวิชาสังคมศึกษา หลังรู้ว่า นักเรียนบางคนพึ่งกัญชาในชีวิตประจำวัน ด้วยความที่ครูสอญอมองว่า กัญชาไม่ได้แปลว่าไม่ดีเสมอไป ครูจึงเริ่มหาข้อมูลด้วยตัวเอง จากอินเทอร์เน็ต หนังสือสารคดีและประสบการณ์จากคนรอบตัว 

“ไม่อยากให้เขามองทุกอย่างเป็นบวก ขาวหรือดำ ไม่ด่วนตัดสิน แต่ให้ข้อมูล มีทางเลือกใหม่ๆ ในการเลือกหรือรับฟังเพื่อน ไม่ตัดสินว่า เสพกัญชา แล้วจะเป็นคนเลวหรือไม่ประสบความสำเร็จ แต่เขาวิเคราะห์และชั่งน้ำหนักได้เอง”

เพราะการสอนเรื่องกัญชาของครูสอญอไม่อิงตำรา เน้นภาคปฏิบัติ ลดทฤษฎี แล้วชวนเด็กๆ เล่นเกม ทำให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เปิดอกคุยกันได้ทุกเรื่อง

วันนี้ ครูสอญอดึง ‘กัญชา’ กลับสู่ห้องเรียนอีกครั้ง หลังกระทรวงสาธารณสุขปลดล็อกกัญชาให้เป็นพืชเสรี สำหรับครูสอญอ เด็กรู้เรื่องกัญชาอยู่แล้ว หน้าที่ครู คือ เปิดโอกาสให้เด็กตั้งคำถาม เติมข้อมูลที่ควรรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และรับฟังด้วยความเข้าใจ

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ทำไมครูสอญอถึงเลือกเรื่องกัญชามาสอนในวิชาสังคม

ตอนนั้นกัญชากำลังเป็นที่นิยมและอยู่ในกระแส รวมถึงนักเรียนของเราก็อยู่ในชุมชนที่เสี่ยงต่อการใช้ยาเสพติด เพราะโรงเรียนเก่าเราเหมือนเป็นคลองเตยของขอนแก่น เด็กๆ อยู่ในชุมชนแออัดเยอะมาก แล้วเราสอนชั้นม.3 ที่อยู่ในช่วงวัยอยากทดลอง เราก็จะรู้ว่าอาการแบบนี้น่าจะเป็นอาการติดกัญชา หนึ่งหลับ สองตาเยิ้มมาโรงเรียน คุยเรื่องเนื้อ เรื่องเป็ดกันเป็นเรื่องตลก แล้วครูก็ไม่ทันศัพท์ของเด็กว่า เขาสื่อสารอะไร แต่รู้ว่ามันแปลก ๆแต่ถ้าเราอยากจะไปอยู่ในโลกของเขา เราก็จำเป็นต้องรู้เรื่องนี้เหมือนกัน

พอคิดว่าต้องรู้ ครูเริ่มหาข้อมูลจากที่ไหน

อย่างแรกคือสื่อออนไลน์ สองคือมีหนังสือสารคดีเล่ม 404 เดือนพ.ค. ปี 61 ที่พูดถึงเรื่องกัญชา ถามเพื่อนและรุ่นน้องที่มีประสบการณ์เสพด้วย รวมถึงเราก็พยายามทำให้ห้องเรียนปลอดภัยมากพอที่จะทำให้เด็กกล้าพูดเรื่องนี้ได้ เลยตัดสินใจทำเป็นวิชากัญชาศึกษา ทำให้เขาสนุกที่จะแลกเปลี่ยนกัน แล้วครูก็สามารถชวนมองประเด็นอื่นได้นอกจากกัญชา

 ‘ครูสอญอ’ สัญญา มัครินทร์ ครูโรงเรียนสีชมพูศึกษา

ทำอย่างไรให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย

โชคดีที่ความเชื่อเรื่องโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยของโรงเรียนเก่าค่อนข้างแข็งแรง ทุกเช้าจะมีคาบโฮมรูมโฮมใจ ทุกคนมานั่งล้อมวง ให้สายตาอยู่ระนาบเดียวกัน เช็กอินความรู้สึก มีเรื่องสุขทุกข์ เด็กนักเรียนไม่เยอะ แล้วครูก็ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กอยู่แล้ว ความสัมพันธ์ก็เลยค่อนข้างจะรู้จักกันมากกว่าครูนักเรียนในห้องครูกับเด็กเลยสนิทกัน ทำให้เวลาพูดเรื่องนี้ เขาเลยกล้าพูดและต่อประเด็นไปได้ไกล

ครูเริ่มสอนเด็กๆ เรื่องกัญชาอย่างไร 

ผมพาเล่นเกม เริ่มจากส่งต่อปากกาไปเรื่อยๆ เช่น ถ้าพูดถึงสีเขียวนึกถึงอะไร นึกถึงใบไม้ เสื้อยืด ส่งไปเรื่อยๆ แล้วก็ค่อยโยนมา พูดถึงว่า ถ้าเป็นกัญชานึกถึงอะไร หลังจากนั้นชวนเล่นเกมข้ามเส้นว่า เรารู้สึกดี เรารู้สึกลบ หรือรู้สึกเฉยๆ กับเรื่องกัญชา ใครรู้สึกดีมาฝั่งนี้ รู้สึกไม่ดีมาอีกฝั่งหนึ่ง ใครเฉยๆ ก็อยู่ตรงกลาง แล้วเราก็ชวนขยับต่อผ่านคำถาม ฟังคนที่มองว่ากัญชาไม่ดี เขามองเรื่องนี้ยังไง ชวนชักกะเย่อความคิดด้วยการเขียนว่าฉันรู้สึกยังไง แล้วก็ไปแปะ ฝั่งบวก ฝั่งลบ เฉยๆ แล้วเราก็เช็กไอเดียหรือความรู้เก่าของเขา 

หลังจากนั้นก็บอกเขาว่า ถ้าครูจะพามารู้จักเรื่องนี้ อยากให้เด็กๆ ช่วยตั้งคำถามเกี่ยวกับกัญชา แล้วใครมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ช่วยแชร์กันหน่อย เราจะเห็นว่าตัวละครที่เสพมีหลายเฉดมาก มีตั้งแต่ดูด เสพ ขาย กิน เช่น บางคนใช้กัญชาในการรักษา ครูเองก็แชร์ เพราะครูก็ใช้ในการรักษาตัวด้วยเหมือนกัน

พอได้คำถามก็จะชวนจัดหมวดว่า มีคำถามประเภทไหนบ้าง แล้วแต่ละคนมีมุมมองยังไงบ้าง แล้วก็พาไปเรื่องไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์กัญชาว่าระหว่างทางมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคประวัติศาสตร์ ยุคล่าอาณานิคม ยุคที่มันผิดกฎหมายจนถึงยุคที่ทุกคนเรียกร้องให้กัญชากลับมาเสรี 

เกมส่งต่อปากกา พอถามเรื่องกัญชา เด็กๆ นึกถึงอะไรกันบ้าง

หนึ่งเป็นยาเสพติด สองอันตราย พอถูกพูดเป็นยาเสพติด เขาจะมองลบไปเลย ส่วนใหญ่สื่อหรือข้อมูลที่เขาได้รับเป็นด้านลบ แต่พอมามองฝั่งที่มองบวก เขาคิดยังไง เขาก็แลกในมุมที่มีประสบการณ์ตรง แล้วในคาบเรียนเรามีคลิปประมาณ 4 คลิป คลิปละประมาณ 4-5 นาที ให้เขาเห็นด้านบวก ด้านลบ และด้านของคนที่ต่อสู้ให้มันเสรี

พอเขามีข้อมูลอีกมุมหนึ่งที่เขาไม่คุ้นเคยจากตำราหรือข้อมูลเก่า ทำให้เขาเห็นมุมมองใหม่ๆ พอท้ายคาบเราก็มาเช็กว่า ความคิดเปลี่ยนไปไหม ซึ่งแนวโน้มคนมองดีขึ้น แต่ถามว่าลองไหม เขาก็ตอบว่าไม่ลอง คนที่มองลบก็เห็นข้อมูลอีกด้าน ส่วนคนเสพก็เห็นว่าเขาต้องระวังตัวเหมือนกัน เพราะมีผลข้างเคียงจากการขับรถหรือการเรียน เขาก็เล่ามิติด้านลบให้เพื่อนฟัง ทำให้มีการแชร์ข้อมูลหลายด้าน 

ครูสอนเรื่องกัญชากี่คาบ

ทำ 2 ครั้ง ครั้งละ 100 นาที

หลังจากการสอนครั้งแรก ครูนำข้อมูลที่เด็กๆ ตอบในห้องไปทำงานต่ออย่างไร

อย่างแรกเรามีข้อมูลที่เตรียมไว้ จากคลิป หนังสือ บทความสารคดี เราก็ให้เด็กอ่านแล้วย่อยข้อมูลมาช่วยกันทำไทม์ไลน์ แต่จริงๆ แล้วกัญชาเป็นประตูเฉยๆ เพราะเราอยากให้เขาเรียนเรื่องประวัติศาสตร์ แต่พอสอนประวัติศาสตร์แบบเดิมมันก็จะดูแข็งๆ แต่พอเราเลือกเรื่องกัญชา เขาจะรู้สึกเชื่อมโยง แต่เราจะไม่บอกว่าผิดหรือถูก เราอยากให้เขาชั่งน้ำหนักด้วยข้อมูลหรือมุมมองจากเพื่อน จากครู ด้วยการตัดสินใจของเขาเอง 

ไม่มองทุกอย่างเป็นบวก ขาวหรือดำ ไม่ด่วนตัดสิน แต่ให้ข้อมูล มีทางเลือกใหม่ๆ ในการเลือกหรือรับฟังเพื่อน ไม่ตัดสินว่า มึงเสพกัญชา แล้วมึงจะเลวหรือมึงจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่เขาวิเคราะห์ได้เอง

พอกลับมาสอนอีกครั้งกับนักเรียนม.ปลายในโรงเรียนใหม่ เราใช้วิธีการสอนเหมือนเดิมไหม

ใช้เกมเป็นตัวเปิดเหมือนกัน รอบนี้ให้เขาเล่นเกมจับแกะดำ จะมีภาพ 4 ภาพชวนเขาดู เช่น เลข 1 3 5 10 ช่วยดูหน่อยว่าจำนวนเลขนี้มีอะไรบ้างที่เป็นแกะดำ ฝึกให้เขาสังเกต พอทำไปเรื่อยๆ ก็ยกกัญชง กัญชา กระท่อม ฝิ่น เขาก็ช่วยดูว่า  4 ตัวนี้อะไรเป็นแกะดำ บางคนบอกกัญชง เพราะอันอื่นเมา กัญชงไม่เมา ให้เหตุผล พอสุดท้ายเราก็เฉลยว่า จริงๆ เป็นฝิ่นเพราะเป็นพืชที่ยังเป็นยาเสพติด แต่พืชอื่นๆ ปลดล็อกแล้วเป็นสมุนไพรควบคุม 

อีกห้องหนึ่งเริ่มต้นด้วยการใช้กิจกรรมข้ามเส้น คำถามจะค่อยๆ ไต่ระดับ มีคำถามเรื่อง ‘ฉันติดโควิดมา’ ก็ให้แลกเปลี่ยนกัน ไล่มาจน ‘ฉันเคยติดเกม ติดโซเชียล’ แม้กระทั่งว่า ‘ฉันเคยเสพสิ่งเสพติด’ แล้วค่อยโยงเข้ามาเรื่องกัญชา

ให้แบ่งกลุ่ม 5-6 คน กติกาคือ ให้เขาโยนเชือกโดยที่เชือกไม่ตกพื้นเช่น โยนแล้วปรบมือแล้วก็รับ หลังจากนั้นเราก็เอาเชือกมาวาง แล้วให้เขาลองเอาเชือกมาทำเป็นภาพสื่อความหมายร่วมกันกัน เช่น พอพูดถึงความรักเรานึกถึงภาพอะไร บางคนก็วางเป็นรูปหัวใจ แล้วค่อยถามว่า พอพูดถึงยาเสพติดนึกถึงอะไรหรือพูดถึงกัญชานึกถึงอะไร

แล้วค่อยชวนตั้งคำถามแบ่งเป็นฝั่งที่ไม่รู้เลยถามว่า สูบไปเพื่ออะไร ฝั่งที่รู้ก็อยากรู้เพิ่มเรื่องวิธีสูบและผลข้างเคียงของการใช้ ชวนแชร์และจัดกลุ่มคำถาม แล้วเราค่อยเติมความรู้ใหม่ แทนที่จะให้เด็กอ่านเป็นบทความยาวๆ เราก็ย่อยเป็นข้อๆ แล้วใช้วิธีการตัดข้อละ 2-3 บรรทัด ให้พอดีกับจำนวนคน แล้วให้เขาอ่านประมาณสัก 30 วิ แล้วส่งต่อให้เพื่อน ให้เขาแลกเปลี่ยนกันในกลุ่ม

หลังจากฟังคำถามของเด็ก เราก็ให้เขาดูอุปกรณ์กัญชาของจริงมาให้ดู เปิดพื้นที่ให้คนมีประสบการณ์เล่าให้เพื่อนฟัง ให้คนที่รู้บอกเพื่อน แล้วเราก็วิดิโอคอลหาเพื่อนที่เป็นนักวิจัยเรื่องกัญชามาตอบคำถามเด็กๆ ซึ่งจะทำให้เด็กรู้มิติอื่นๆ ของกัญชามากขึ้น

สำหรับเด็กม.ปลายเราชวนดูเรื่องเหตุและผลเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้ความรู้ ข้อมูล ความเชื่อที่เขาเคยรู้เปลี่ยนไปมากกว่า

สิ่งที่เห็นในห้องเรียนม.ปลายที่แตกต่างจากชั้นม.ต้นคืออะไร

ที่น่าสนใจคือ เด็กผู้หญิงเคยมีประสบการณ์เหมือนกัน เพราะครอบครัวใช้ เรื่องนี้ก็ค่อนข้างเปิดมิติ เพราะเราส่วนใหญ่มักจะเหมารวมว่าเป็นผู้ชายใช้ แล้วเรื่องนี้ก็บอกเราในฐานะครูเหมือนกันว่า อย่าด่วนตัดสิน เพราะตอนแรกคิดว่าผู้ชายจะเยอะกว่า พอเราเห็นว่าผู้หญิงหลายคนก็เคยลอง ทำให้เราต้องระวังและให้ความรู้เขาเหมือนกัน เพราะหลายครั้งผู้หญิงก็กลายเหยื่อจากการเอาตัวเองไปอยู่ในจุดที่มีความเป็นห่วง

พอเป็นแบบนี้ การที่เด็กผู้หญิงเคยลองกัญชาส่งผลต่อการออกแบบการสอนไหม

มีนะ พอเป็นเด็กผู้หญิงเราอาจจะต้องจับเสียงคนที่ใช้กัญชาจากฝั่งผู้หญิงบ้าง เพราะว่าถ้าย้อนกลับไป ตัวละครที่มีเป็นผู้ชายหมดเลย เขาใช้แล้วเขารู้สึกบวกหรือลบกับมัน พอฝั่งผู้หญิงที่ใช้แล้วมีผลข้างเคียงกับตัวเขาอย่างไร ผู้ชายพอฟังแบบนี้ ผู้ชายมองอย่างไร หรือผู้หญิงด้วยกันมองอย่างไร 

ในฐานะครู กังวลเรื่องไหนมากที่สุด

กังวลเรื่องนักเรียนไม่มีความรู้แล้วอยากลอง อยากเสพในปริมาณที่ไม่โอเคกับร่างกาย วิธีการเสพ กิน หยอด สูบ แต่ละแบบก็ออกฤทธิ์เร็ว ช้า มีผล แตกต่างกัน แล้วแต่จุดประสงค์ 

ตัวบทกฏหมาย มาตรการ การควบคุม บทลงโทษ การให้กัญชาเสรี การปกป้อง คุ้มครอง เยาวชน ยังไม่รัดกุมพอ กังวลความปลอดภัย และการตกเป็นเยื่อจากคนที่เจตนาไม่ดี จากการปลดล็อคกัญชารอบนี้ 

ในวิชากัญชาศึกษา ครูมีวิธีประเมินอย่างไร 

สำหรับการประเมินความสนใจผู้เรียน อันนี้รับรู้ได้ตลอด ตั้งแต่การนำเข้าการแลกเปลี่ยนกัน ส่วนเรื่องความรู้ประเมินจากที่เขาจับประเด็นแล้วเขาแชร์ให้เพื่อนฟัง ข้อมูลอาจจะเยอะ แต่ให้ลิสต์ประเด็น 3 ประเด็นที่เขารู้อยู่แล้วหรือสงสัย สำหรับผมความรู้เชิงประวัติศาสตร์อาจจะไม่ใช่หัวใจหลัก แต่อยากให้เขามีพื้นที่ปลอดภัยในการแชร์ ในการคุยเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องปกติ แล้วเราก็ช่วยกันหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ แล้วก็เพื่อให้เขาได้เท่าทันมันมากกว่า 

ครูสอญอเรียนรู้อะไรบ้างจากการสอนเด็กๆ เรื่องกัญชา

เด็กไม่ได้เป็นเด็กที่เราตัดสินว่าเขาไม่รู้ จริงๆ แล้วเขารู้ แล้วก็แชร์ข้อมูลและความคิดได้น่าสนใจ แล้วมากกว่าการลอง เราเห็นทัศนคติว่าเขาจะใช้มันยังไงและควรใช้ตอนไหน ซึ่งเด็กก็เปิดกว้าง เขาบอกเลยว่า ไม่อยากเชียร์ให้เพื่อนลอง เพราะบางคนเอาไม่อยู่ แต่สำหรับเขาที่เป็นเด็กเกเร พ่อแม่เขารับรู้และโอเค มองลูกในมุมบวกขึ้น ซึ่งทำให้เขาคิดว่า ต้วเขาก็เป็นคนดีของพ่อกับแม่ได้ พอถึงจังหวะหนึ่ง เขาก็รู้สึกว่าไม่ลองก็ได้ ไม่ใช้ก็ได้ เขาก็เลยไม่ได้ติด

กับอีกอันหนึ่งคือ การคนที่รู้จริงมาสอน เขาจะให้ความรู้ที่จริงแท้กับเด็ก แล้วเปิดโลกของเราเหมือนกันว่า กัญชามันไม่ได้มีแค่มิติสังคม การเมือง วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การแพทย์ และสันทนาการที่เราสนใจ แต่มีมิติด้านวิทยาศาตร์ วิศวกรรม อุตสาหกรรม ทำยานอวกาศ การทำกระสุน ก็ทำให้เรามองมิติอื่นๆ ที่พอมันเล่าแล้วสนุก ก็ทำให้เด็กเริ่มสนใจและอยากศึกษามิติอื่นมากกว่าสิ่งที่รับรู้จากสิ่งที่รู้อยู่แล้ว 

ประสบการณ์ที่เด็กๆ สอนกัญชา ครูเห็นศักยภาพอะไรในตัวเด็กบ้าง 

สิ่งที่เรารับรู้คือ เด็ก ถ้าเขาสนใจอะไรมันก็ไปได้สุดเหมือนกัน ถามว่ากัญชามาได้ยังไง เขาก็บอก ครูมันมาจากเพื่อนคนนี้ แล้วเพื่อนคนนี้ก็ได้ต่อจากคนนี้ พอเขาสนใจเรื่องนี้ก็จะรู้ว่าตลาดหรือแหล่งมันมายังไง 

ถ้าโยงไปสิ่งที่เขาสนใจมิติอื่นๆ 

แบบการสืบหาต้นทางของกัญชา มันจะดีมากๆ

สองพอเป็นเรื่องที่เขามีประสบการณ์ เด็กจะรู้สึกเป็นเจ้าของบทเรียนแล้วสนุกในการแชร์และเล่า การเรียนรู้ การออกแบบบทเรียนรู้ของครูก็ต้องเชื่อมโยงกับประสบการณ์ หรือโลกของเขา หรือเรื่องที่เขาสนใจ เขาจะเล่า และเรียนอย่างมีความสุข  เช่น เรื่องเพศ กีฬา ความฝัน หรือแม้แต่การเป็นติ่งเกาหลี  

พอเอาประเด็นที่เป็นโลกของเขามาเล่า ครูอาจจะต้องวางคอนเทนต์ เอาความสนใจเด็กเป็นตัวตั้ง  แต่หน้าที่ของครูคือเชื่อมไปในแง่คอนเทนต์ที่พูดถึงเรื่องเนื้อหาแกนกลางที่เด็กต้องรู้เพื่อให้เด็กนำความรู้ไปต่อยอดในด้านอื่นๆ 

ตอนนี้มีกระแสกัญชาไม่ควรเสรีแต่ควรเป็นกัญชาปลอดภัยทางการแพทย์ ในฐานะคนทำงานกับเด็กโดยตรง ครูมีความคิดเห็นอย่างไร 

ผมไม่อยากดูถูกวัยรุ่นเท่าไหร่ เท่าที่ผมอยู่กับเด็ก และมีโอกาสคุยกับเพื่อนที่ทำงานเด็กนอกระบบ เราเชื่อในวุฒิภาวะของเด็ก วัยที่มันควรลองก็ต้องให้ลองเหมือนกัน เพื่อให้มีประสบการณ์ แล้วเมื่อถึงวัยหนึ่งเหมือนจะรู้เองว่า กูเลิกว่ะ แต่ส่วนใหญ่คนที่ลองแล้วติด ถอนไม่ขึ้น คือย้อนไปเรื่องความเปราะบางทางความสัมพันธ์ในครอบครัว แล้วก็เป็นเด็กที่ไม่มีภูมิ เด็กพวกนี้จะหลงทาง แล้วไปเลย 

หลายคนโตมาเป็นผู้ใหญ่ใจแตก เพราะตอนเด็กถูกควบคุม ถูกห้าม ผมมองอาจจะโลกสวย แต่ผมว่าตอนเด็กให้โอกาสลองเลย มีประสบการณ์เลย หน้าที่ครู คือ ควรจะให้ข้อมูลเพื่อตอบคำถามบางอย่าง หาตัวเลือก พาเขาตัดสินใจบางเรื่อง ไม่ใช่พาเขาไปเสี่ยงอันตราย แต่จงเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขา 

แต่ว่าในพื้นที่ของโรงเรียน มันไม่ได้มีพื้นที่หรือความคิดแบบนี้ ส่วนใหญ่จะกันว่าเด็กดีต้องมีภาพแบบนี้ เด็กไม่ดี ยาเสพติดมันถูกเหมารวมไปเลย  แล้วโรงเรียนก็ไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่เป็นพื้นที่คัดคน ที่ผิดกติกาออก ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะอยากลองหรือมีบางเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ สิ่งแวดล้อมมันพาไป มันเลยทำให้เด็กถูกออกจากระบบแล้วกลายเป็นคนที่ถูกตีตรา ถ้ามองเป็นขยะ เหมือนเป็นขยะที่ถูกทิ้งจากโรงเรียน กลายเป็นขยะที่อื่น  

แต่เราต้องมองว่าเขาคือทรัพยากร ไม่ใช่ขยะ มันพัฒนาได้ รีไซเคิลได้ แต่ตอนนี้โรงเรียนส่วนใหญ่ และครูส่วนใหญ่ไม่ได้คิดแบบนี้ ก็เลยไม่ได้ทำให้สถานการณ์แบบนี้เป็นเวลาของการเรียนรู้ ชวนหาทางออกร่วมกัน โดยธรรมชาติคนเราไม่ชอบให้ใครสั่ง บังคับควบคุม อยู่แล้ว ยิ่งห้ามยิ่งยุ ถ้าห้ามไม่ได้ ทำไมเราไม่เรียนรู้ไปด้วยกัน 

แล้วถ้ากัญชาควรเข้าไปอยู่ในหลักสูตร เด็กต้องรู้อะไรอีกบ้าง นอกจากรู้ว่าเป็นสารเสพติดประเภทที่ 5 

ผมว่าจริงๆ มันจะมีสารเสพติดชนิดใหม่ๆ ปรากฎขึ้นเรื่อยๆ ผมไม่อยากให้หลักสูตรบอกแค่เนื้อหา แต่อยากชวนให้เด็กมีทักษะการตั้งคำถาม แสวงหาความรู้ ตีความ หรือวิเคราะห์องค์ความรู้ เพราะต่อให้กัญชาเสรี อนาคตก็อาจจะมีอย่างอื่นเสรี  มีฝิ่นเสรีด้วยก็เป็นได้ แต่ครูควรให้ชุดความคิดที่ชวนเขาตั้งคำถาม ชวนสืบค้น ชั่งน้ำหนักเอง หรือตรวจสอบองค์ความรู้เองได้ โดยไม่ด่วนตัดสิน คิดว่าเรื่องนี้น่าเป็นทักษะสำคัญที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ 

เพราะ 4 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลเปลี่ยน กว่าจะมาเป็นตำรา มันใช้กระบวนการเยอะมาก ซึ่งหลายเรื่องกว่าจะมาเป็นตำรา มันก็ไม่ทันแล้ว ซึ่งประเด็นมันเปลี่ยนทุกวัน ครูจะต้องรู้เท่าทันสถานการณ์ แล้วก็เอาสถานการณ์ที่เป็นกระแสที่คนสนใจมาออกแบบน่าจะดีกว่า 

ถ้าครูคนอื่นจะเริ่มสอนเรื่องกัญชาในห้องเรียน เพราะการเริ่มต้นมันยากเสมอเขาควรเริ่มอย่างไรดี 

เริ่มจากเช็กตัวเองก่อนว่าเรารู้สึกกับเรื่องนี้ยังไง เช่น ไม่ชอบเลยว่ะ บางคนอาจจะรู้สึกบวก เก็บความรู้สึกนี้ไว้ จะได้รู้ว่าเรา bias หรือเปล่า ต้องตั้งสติดีๆ เพราะถ้าบวกมันก็จะเทไปทางบวก มันก็จะค่อนข้างเป็นการชี้นำ ถ้าเป็นลบ การออกแบบจะมาเป็นเรื่องการควบคุมกฎหมาย แต่ถ้าเราตระหนักรู้ว่า เรารู้สึกกับเรื่องนี้ยังไงชัดๆ มันจะออกแบบให้มันมีน้ำหนักทั้ง 2 มิติเพื่อที่จะได้ fade กัน เพื่อให้ทุกเสียงได้ทำงาน ให้มันเป็นพื้นที่ของทุกคน

อย่างที่สอง คือ มุมมองของครู เราสนใจประเด็นไหน พอเรารู้ว่าเราสนใจประเด็นไหน มันจะพาไปเอง อย่างผมสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ การเมืองก็จะไปทางนั้น 

และอาจจะมีพื้นที่ให้เด็กร่วมออกแบบ ถ้าเราตั้งต้นจะสอนเรื่องนี้ มันมีทัศนคติแบบไปสอนไหม ถ้าไปสอนอาจจะลดการสอนลง แต่อาจจะเป็นทัศนคติ ไปฟัง ไปเรียนรู้จากเขาไหม มุมครูมีเรื่องนี้ลองแชร์ มันจะมีพื้นที่ของเด็กและมันจะไปไกลกว่าเรื่องกัญชา แต่เป็นเรื่องพื้นที่ปลอดภัย เป็นเรื่องความสัมพันธ์ พอความสัมพันธ์ได้ก็จะไปเรื่องอื่นๆ เดี๋ยวกัญชาจะเบาลง แล้วมันจะมีเรื่องอื่นที่สนุกและคุ้มค่ากับสิ่งที่เราได้ออกแบบร่วมกัน

Writer
Avatar photo
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

illustrator
Avatar photo
กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts

Related Posts