

Bologna Children’s Book Fair: งานหนังสือเด็กที่เคารพเด็กๆ ในฐานะผู้อ่านที่คิดและตีความได้เอง ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือสั่งสอนของผู้ใหญ่
Bologna Children’s Book Fair: งานหนังสือเด็กที่เคารพเด็กๆ ในฐานะผู้อ่านที่คิดและตีความได้เอง ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือสั่งสอนของผู้ใหญ่
ปีนี้ Mappa ได้ตามสำนักพิมพ์สานอักษร ไปร่วมงาน Bologna Children’s Book Fair ที่อิตาลีด้วยนะ!
ในช่วงปลายเดือนมีนาคมของทุกปี เมืองโบโลญญา ประเทศอิตาลี จะกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักเขียน นักวาดภาพประกอบ บรรณาธิการ ผู้จัดพิมพ์ และนักการศึกษาจากทั่วโลก เมืองที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของประวัติศาสตร์และศิลปะอย่างโบโลญญาจะคึกคักด้วยผู้คนนับพันที่มารวมตัวกันในงาน Bologna Children’s Book Fair (BCBF) งานแสดงหนังสือเด็กที่ใหญ่ที่สุดในโลก งานนี้ไม่ใช่เพียงเวทีซื้อขายลิขสิทธิ์ธรรมดา แต่เป็นเหมือน “หัวใจ” ที่ทำให้วงการหนังสือเด็กทั่วโลกได้เต้นเป็นจังหวะเดียวกัน
ปี 2025 นี้ งาน BCBF ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 62 โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 33,000 คนจากทั่วโลก และมีการจัดแสดงหนังสือเด็กที่หลากหลายจากผู้จัดพิมพ์กว่า 80 ประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมและเวิร์กช็อปต่าง ๆ ที่เน้นการพัฒนาทักษะของนักเขียนและนักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่
Mappa ได้ร่วมเดินทางไปกับสำนักพิมพ์สานอักษร ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ไทยแห่งแรกที่ได้รับเชิญเข้าร่วมในพื้นที่พิเศษที่เรียกว่า World Lounge ที่รวบรวมผู้จัดพิมพ์ชั้นนำจากทั่วโลกไว้ในพื้นที่เดียวกัน นี่คือจุดเริ่มต้นของการเดินทางที่จะทำให้เราเห็นว่าหนังสือเด็กในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิมมากแค่ไหน
บรรยากาศภายในงานและโลกของหนังสือเด็กที่เปลี่ยนไป
เมื่อก้าวเข้าสู่พื้นที่จัดแสดงของ Bologna Children’s Book Fair สิ่งแรกที่สัมผัสได้คือ ความหลากหลายและความสร้างสรรค์ที่แสดงผ่านภาพประกอบจากนักวาดภาพนิทานเด็กทั่วทุกมุมโลก ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนจากหนังสือนิทานเด็กที่เราเห็นตามร้านหนังสือในประเทศไทย บรรยากาศในงานนี้ชวนให้รู้สึกราวกับกำลังเดินชมงานศิลปะที่นักวาดแต่ละคนตั้งใจรังสรรค์ขึ้นอย่างพิถีพิถัน โดยมีผู้ชมตัวจริงคือเด็กๆ เป็นเป้าหมายสำคัญ
เราได้เห็นเทคนิคการนำเสนอที่หลากหลาย บางภาพใช้สีเพียงสองสี บ้างก็เลือกใช้เพียงลายเส้นเรียบง่าย หรือบางชิ้นก็ใช้สื่อผสมที่ซับซ้อน นักวาดแต่ละคนดูจะเน้นการสื่อสารอารมณ์และจินตนาการผ่านการใช้สีสัน ลายเส้น และองค์ประกอบของภาพ มากกว่าที่จะยึดติดกับการนำเสนอความน่ารักสดใส หรือภาพตัวละครตาแป๋วที่เราคุ้นชินในตลาดหนังสือเด็กไทย ความแตกต่างนี้เองสะท้อนให้เห็นว่าหนังสือภาพสำหรับเด็กในเวทีระดับโลกกำลังเปิดพื้นที่ให้กับการตีความและจินตนาการที่กว้างขวางขึ้น และทำให้เราได้เห็นศักยภาพที่แท้จริงของหนังสือภาพที่สามารถเป็นงานศิลปะได้อย่างไม่ต้องสงสัย
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของคำถามที่ว่า “เขามีมุมมองต่อหนังสือเด็กอย่างไร” “และเขามีมุมมองต่อเด็กอย่างไร”
คำตอบที่ปรากฏชัดผ่านภาพแต่ละภาพที่จัดแสดงก็คือ นักสร้างสรรค์หนังสือภาพ (Picture Book Maker) เหล่านี้ไม่ได้มองว่าหนังสือเด็กเป็นเพียงสื่อหรือเครื่องมือในการสั่งสอนจากผู้ใหญ่ไปสู่เด็กอีกต่อไป แต่กำลังมองว่าหนังสือคือพื้นที่สำคัญที่เปิดโอกาสให้เด็กได้คิด วิเคราะห์ และจินตนาการอย่างเสรี พวกเขามองว่าหน้าที่ของพวกเขาคือการสร้างสื่อจากภาพและคำเพื่อส่งต่อไปให้เด็กๆ ตีความและสร้างความหมายด้วยตัวเอง ภาพประกอบเหล่านี้เองที่สะท้อนให้เห็นว่า หนังสือภาพในเวทีระดับโลกกำลังเปลี่ยนสถานะจากเพียงสื่อการเรียนรู้ธรรมดา ไปสู่การเป็นงานศิลปะที่มีศักยภาพในการกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการทางความคิดและจินตนาการของเด็กได้อย่างแท้จริง
เป้าหมายของงาน Bologna Children’s Book Fair : ไม่ใช่เพียงซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือเด็ก แต่เป็นการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรมของเหล่า Picturebook Makers
เสน่ห์สำคัญของงานนี้ยังอยู่ที่การรวมตัวของ Picturebook Makers ทั้งนักเขียน นักวาด บรรณาธิการ และนักแปล ที่นำผลงานมาแบ่งปัน แลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจ และพูดคุยกันอย่างลึกซึ้ง ทั้งในเวทีเสวนา โต๊ะกลม ไปจนถึงเวิร์กช็อปเฉพาะทาง เพื่อพัฒนาทักษะ ส่งเสริมศักยภาพ และเปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ได้เติบโตในวงการหนังสือเด็กอย่างมีคุณภาพและความเข้าใจในศิลปะของการเล่าเรื่องผ่านภาพสำหรับเด็ก
ในการพบปะเหล่านี้ นักสร้างสรรค์แต่ละคนจะนำผลงานที่กำลังพัฒนามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เล่าแรงบันดาลใจ ประสบการณ์ และปัญหาต่างๆ ที่เผชิญในการทำงาน สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้น แต่ยังช่วยให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะผลักดันวงการหนังสือเด็กให้เติบโตต่อไปอย่างมีพลัง
พื้นที่เหล่านี้จึงไม่เพียงเป็นที่สำหรับ “แสดงผลงาน” แต่เป็นพื้นที่ของการเติบโต ทั้งทางวิชาชีพและวิธีคิดของผู้ที่ทำหนังสือให้กับเด็ก ซึ่งไม่ใช่เรื่องของภาพหรือคำเท่านั้น แต่คือการสร้างโลกอีกใบให้เด็กๆ ได้เข้าไปมีพื้นที่เป็นของตัวเอง
หนังสือเด็กยุคใหม่ที่เคารพศักยภาพของเด็กๆ
เพราะการเรียนรู้ที่แท้จริงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน แต่สามารถเกิดขึ้นได้จากหนังสือที่เด็กๆ อ่าน เพราะหนังสือเด็กที่ดีไม่เพียงแค่บอกเล่าเรื่องราวที่สนุกสนาน แต่ยังสามารถสอนแนวคิดที่มีคุณค่าให้กับเด็กๆ เช่น ความเข้าใจในความหลากหลายของมนุษย์ การรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึก การมองเห็นความแตกต่างในสังคม หรือการพัฒนาทักษะต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเติบโตในชีวิตจริง การอ่านหนังสือเหล่านี้ช่วยปลูกฝังพื้นฐานความคิดที่สำคัญสำหรับเด็ก และเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับพวกเขาสู่ชีวิตที่ซับซ้อนขึ้นในวัยผู้ใหญ่
หนึ่งในแนวโน้มสำคัญที่ชัดเจนในงาน Bologna Children’s Book Fair ปีนี้คือ การเปิดพื้นที่ให้เด็กมีส่วนร่วมในการตีความเรื่องราวมากขึ้น หนังสือภาพปลายเปิด (open-ended picture books) เป็นหนึ่งในรูปแบบที่ได้รับความสนใจอย่างมากในงานปีนี้ หนังสือประเภทนี้มักไม่มีคำบรรยายหรือมีคำบรรยายน้อยมาก เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ใช้จินตนาการและประสบการณ์ส่วนตัวในการตีความเรื่องราวผ่านภาพ
ตัวอย่างเช่น หนังสือจากสแกนดิเนเวียที่ไม่ใช้คำพูดในการเล่าเรื่อง (wordless picture books) กลายเป็นจุดสนใจหลัก เพราะหนังสือประเภทนี้ช่วยให้เด็กคิดวิเคราะห์ ตีความ และสรุปเนื้อหาด้วยตัวเองผ่านการสังเกตภาพ ซึ่งแนวทางนี้ถือเป็นการให้เกียรติศักยภาพทางการคิดของเด็ก โดยให้เด็กๆ ได้มีอำนาจในการตัดสินใจและการรับรู้เรื่องราวตามประสบการณ์ส่วนตัว
งานวิจัยพบว่า การอ่านหนังสือภาพปลายเปิดช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาของเด็ก โดยเด็กที่อ่านหนังสือประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะใช้คำศัพท์และประโยคที่หลากหลายมากขึ้น และแนวทางนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้เด็กๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดสร้างสรรค์และเปิดกว้าง แต่ยังช่วยสร้างสังคมที่เคารพและยอมรับความหลากหลาย
แนวโน้มสำคัญในหนังสือภาพสำหรับเด็กของปี 2025
1. การเปิดโอกาสให้เด็กคิดและตีความเรื่องราวได้เอง
การที่หนังสือภาพยุคใหม่มุ่งเปิดโอกาสให้เด็กเป็น “ผู้ตีความ” มากกว่าจะเป็น “ผู้รับสาร” จากผู้ใหญ่ หนังสือหลายเล่มใช้ภาพเป็นหลักในการเล่าเรื่อง ปล่อยให้เด็กๆ สังเกต คิด วิเคราะห์ และสรุปความหมายด้วยตัวเองโดยไม่มีคำอธิบายตายตัว
แนวทางนี้ไม่เพียงฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ แต่ยังช่วยให้เด็กค่อยๆ สร้างตัวตน (self-identity) ของตนเองผ่านการตีความที่เป็นเอกลักษณ์ เด็กจะเริ่มรู้ว่าความคิดของตัวเองนั้นมีคุณค่า แม้อาจจะแตกต่างจากผู้อื่น ซึ่งเป็นการวางรากฐานที่สำคัญของความมั่นใจในตนเอง
หนังสือที่ปลายเปิดหรือไม่มีคำบรรยายจึงไม่ได้มีเป้าหมายแค่ความบันเทิงหรือการสอนความรู้ แต่กลายเป็นพื้นที่ให้เด็กได้สำรวจมุมมองของตนเองอย่างอิสระ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจบนพื้นฐานของความคิดของตัวเอง ไม่ใช่เพียงลอกเลียนแบบความคิดเห็นของผู้ใหญ่เท่านั้น
2. ภาพและเนื้อหาที่ท้าทาย: เครื่องมือกระตุ้นการคิดของเด็ก
หนังสือภาพสำหรับเด็กในปัจจุบันไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่เล่าเรื่องหรือสร้างความบันเทิง แต่ยังถูกออกแบบให้เป็นเครื่องมือกระตุ้นกระบวนการคิดอย่างลึกซึ้ง เด็กไม่ได้แค่ฟังหรือรับสารจากผู้ใหญ่ แต่ได้มีโอกาสสำรวจเรื่องราวด้วยตัวเอง ผ่านภาพและเนื้อหาที่ไม่ได้เฉลยคำตอบแบบชัดเจน
หนังสือเหล่านี้มักตั้งคำถามแทนการให้คำตอบ เปิดพื้นที่ให้เด็กสงสัย สังเกต และตั้งข้อสังเกตของตัวเอง เป็นการเรียนรู้ผ่านการค้นพบ ซึ่งช่วยพัฒนาแนวคิดแบบเปิดกว้างและฝึกให้เด็กคิดอย่างเป็นอิสระ โดยไม่ต้องรอคำอธิบายจากผู้ใหญ่เพียงฝ่ายเดียว
3.การส่งเสริมความหลากหลายในเนื้อหาและภาพประกอบ
หนังสือภาพสมัยใหม่ไม่เพียงแค่เล่าเรื่องทั่วไป แต่มีเป้าหมายที่ต้องการให้เด็กๆ เข้าใจและเปิดรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ และความเชื่อ เราพบเห็นหนังสือภาพที่ตัวละครเป็นเด็กจากภูมิหลังที่หลากหลาย เช่น หนังสือจากบราซิลที่นำเสนอชีวิตเด็กๆ ในชุมชนชายขอบ หนังสือจากญี่ปุ่นที่นำเสนอชีวิตประจำวันของเด็กที่มีความพิการ หรือหนังสือจากแอฟริกาใต้ที่พูดถึงความเท่าเทียมทางเพศ หนังสือเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการสร้างโลกที่เปิดกว้างสำหรับเด็กๆ ให้พวกเขาเติบโตไปพร้อมกับความเคารพต่อความแตกต่างของมนุษย์ในทุกมิติ
4. ภาพและคำที่ทำงานด้วยกัน ส่งเสริมความเข้าใจตัวเองและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
หนังสือภาพที่ไม่มีคำบรรยายยังช่วยส่งเสริมความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) โดยการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ตีความอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครผ่านภาพ ซึ่งเป็นพลังเงียบที่หนังสือภาพปลายเปิด มอบให้เด็กได้อย่างงดงาม นั่นก็คือการฝึก มองโลกผ่านสายตาของผู้อื่น (perspective-taking)
เมื่อไม่มีคำพูดคอยบอกว่า “ตัวละครนี้รู้สึกอย่างไร” หรือ “อะไรถูก อะไรผิด” เด็กจะต้องใช้ใจของตัวเองค่อยๆ สังเกตอารมณ์จากสายตา ท่าทาง สีหน้า หรือแม้แต่บรรยากาศของภาพ และค่อยๆ ตีความว่า เกิดอะไรขึ้น? ใครกำลังรู้สึกอย่างไร? และทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
สิ่งเหล่านี้คือ “ราก” ของทักษะความเข้าใจตัวเอง และนำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมที่หลากหลาย
5. การผสมผสานเทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลในหนังสือเด็ก
ในปีนี้ งาน BCBF ได้เน้นการผสมผสานเทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลในหนังสือเด็กมากขึ้น ตัวอย่างเช่น โครงการ “La Aldea” จากโคลอมเบีย ที่ใช้ AI ในการสร้างตัวละครจากหนังสือภาพให้สามารถโต้ตอบกับเด็กๆ ผ่านแอปพลิเคชัน WhatsApp ได้ โครงการนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล BolognaRagazzi CrossMedia Awards และได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ LEGO และ UNICEFรวมถึงยังมีการนำสื่อดิจิทัล เช่น เกมและแอปพลิเคชันต่างๆ มาเสริมการเรียนรู้จากหนังสือภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนว่าโลกการเรียนรู้ของเด็กไม่ได้หยุดอยู่ที่ตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ยังเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กอีกด้วย
คำถามสำคัญที่เรากลับมาคิดระหว่างเดินออกจากงาน
การเดินทางไปร่วมงาน Bologna Children’s Book Fair ในครั้งนี้ ไม่เพียงเปิดโลกให้เราได้เห็นพัฒนาการของหนังสือภาพจากหลากหลายประเทศ แต่ยังเปิดมุมมองใหม่ที่ลึกซึ้งถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงของหนังสือเด็ก จากสื่อการสอนที่มุ่งถ่ายทอดความรู้จากผู้ใหญ่ สู่เครื่องมือที่ “เคารพ” ศักยภาพในการคิด วิเคราะห์ และตีความของเด็ก
และเราไม่ได้เดินออกจากงานด้วยความตื่นตาตื่นใจของเทรนด์การทำหนังสือเด็กใหม่ๆ เท่านั้น เราเดินออกมาจากงานด้วยคำถามที่ว่า
“ถ้าเราเชื่อว่าเด็กคิดได้ รู้สึกได้ และมีมุมมองของตัวเอง เราจะสร้างหนังสือให้พวกเขาอย่างไร?”
“ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองจากการเห็นเด็กเป็นผู้ไม่รู้ มาเป็นนักอ่านที่กำลังเรียนรู้ เราจะสร้างพื้นที่แบบไหนในหนังสือ ให้พวกเขาได้สำรวจสิ่งคลุมเครือ และสร้างความหมายของตัวเองได้?”
เพราะสิ่งที่เราได้สัมผัสจากงานครั้งนี้ หนังสือภาพที่เปลี่ยนไปไม่ใช่แค่ “รูปแบบของหนังสือ” แต่เป็น “สื่อที่ผู้ใหญ่ยื่นให้เด็ก ด้วยความเชื่อมั่นว่าเขามีศักยภาพพอจะสร้างความหมายให้กับชีวิตได้ด้วยตัวเอง” ซึ่งไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงของคนในแวดวงการผลิตหนังสือสำหรับเด็กเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของผู้ใหญ่ที่เริ่มยอมละอำนาจการเล่าเรื่องลง เพื่อให้ “เด็ก” ในฐานะผู้อ่าน ได้ลุกขึ้นมาสร้างเสียงของตัวเอง และนั่นไม่ใช่แค่การเปลี่ยนวิธีทำหนังสือ แต่มันคือการเปลี่ยนวิธี “มองเด็ก” เป็นการเปลี่ยนจากผู้เลี้ยงดู มาเป็นผู้ฟัง ผู้เข้าใจ และผู้ร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกัน
Writer

Admin Mappa
illustrator

Arunnoon
มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด